‘พ่อแม่ทุกคน ล้วนคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ’
เรามักได้ยิน ได้เห็นประโยคนี้กันประจำในชีวิตของเรา ซึ่งในโลกของความเป็นจริง เราได้เห็นพ่อแม่ที่เคี่ยวเข็ญ กดดัน หรือแม้แต่พยายามหาช่องทางสนับสนุนให้ลูกๆ ได้เติบโตไปถึงฝั่งฝัน และประสบความสำเร็จกันมากมาย
แต่ในขณะเดียวกัน วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยก็ได้รับ ‘บาดแผล’ จากความคาดหวังเหล่านั้น
ภาพเหล่านี้ สะท้อนให้เราเห็นผ่านซีรีส์เกาหลี ‘SKY Castle’ ของช่อง JTBC ที่กำลังโด่งดัง ทำลายสถิติ และเรทติ้งละครช่องเคเบิลของเกาหลีไปได้ ด้วยเนื้อหาที่เสียดสีสังคมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการศึกษา การเข้มงวดกับการติว เรียนพิเศษ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไปจนถึงปัญหาในครอบครัว และชนชั้นทางสังคม ที่ไม่ว่าดูกันกี่ตอนๆ ซีรีส์ยิ่งสะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้เราได้เห็นชัด และอินไปกับมันยิ่งขึ้น
ซีรีส์เล่าเรื่องราวของ 4 ครอบครัวในหมู่บ้าน SKY Castle ที่เหมือนปราสาทชั้นสูง รวมผู้อยู่อาศัยชั้นนำ และมีหน้าตาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี นายแพทย์ฝีมือดี ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ที่แต่ละครอบครัวต่างก็ใช้ชีวิต เลี้ยงลูกอย่างเข้มงวด เพื่อปูทางให้ลูกๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิธีต่างๆ
SKY Castle ไม่ใช่เพียงชื่อหมู่บ้าน แต่ผู้เขียนบทยังตั้งใจตั้งชื่อ SKY ให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยที่โด่งดัง และมีชื่อเสียงที่สุดในเกาหลีอย่าง Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล), Korea University (มหาวิทยาลัยโคเรีย หรือโคแด) และ Yonsei University (มหาวิทยาลัยยอนเช) ที่ต่างเป็นเหมือนเป้าหมาย และความฝันของนักเรียนเกาหลี เช่นเดียวกับความฝันของเหล่าแม่ๆ และลูกๆ ในเรื่องนี้
ลูกและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ถูกเซ็ตไว้เป็นเป้าหมายชีวิต
เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เรียนหนักที่สุดในโลก และมีนักเรียนเริ่มเรียนพิเศษเฉลี่ยตั้งแต่ 9 ขวบ เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ทำให้นักเรียนวัยรุ่นเกาหลีต้องใช้เวลาส่วนมากกับการเรียนกันมากถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หลายคนไม่มีเวลาแม้กระทั่งออกกำลังกาย หรือใช้กับครอบครัว ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ยิ่งสะท้อนการเรียนหนักของเหล่านักเรียนให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นความเครียดของเด็ก ม.1 ที่ต้องเรียนพิเศษทุกวัน ถึงดึกดื่นหลังเลิกเรียน ภาพของนักเรียนม.ปลายในโรงเรียนหัวกะทิ ที่กว่าจะเลิกเรียนก็เลยเวลาเย็นแล้ว และการรวมกลุ่มติวพิเศษที่บรรดาแม่ๆ จัดหาให้ลูก ไปถึงโค้ชติวเตอร์ส่วนตัวตลอด 3 ปี ในชั้น ม.ปลาย ที่จัดทุกตารางชีวิต การเรียน การทำกิจกรรมอาสา พร้อมการันตีด้วยผลงานติวเด็กติด 100% แต่ก็มีราคาจ้างขนาดที่ต้องขายที่ดิน ใจกลางเมืองเพื่อจ่ายเงินโค้ชเหล่านี้
ซีรีส์ยังเสนอประเด็นเรื่องค่านิยม และการเชิดชูคณะ และมหาวิทยาลัย (ที่ก็คล้ายคลึงกับสังคมบ้านเรา) โดยเฉพาะ ‘คณะแพทยศาสตร์’ ว่าการสอบติดคณะนี้ ยิ่งในมหาวิทยาลัยโซล เป็นเหมือนความสำเร็จยิ่งใหญ่ในชีวิต และเป็นสิ่งที่ลูกๆ ต้องทำให้ได้
มากไปกว่านั้นคือในครอบครัวของตัวหลักของฮันซอจิน ยังโดนความกดดันของแม่สามี ให้ปูทางให้ครอบครัวมีแพทย์ รุ่นที่ 3 ให้ได้ หรืออย่างอีกครอบครัวที่จะภาคภูมิใจในตัวลูกสาวเป็นพิเศษ เพราะเธอสามารถเข้ามหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีค อย่างฮาร์วาร์ดได้
รวมไปถึง การแข่งขันในระหว่างการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เหล่าเด็กๆ ในเรื่องถูกกดดันจากพ่อแม่ว่าต้องเป็นที่ 1 เท่านั้น ทั้งเมื่อเป็นที่ 1 แล้ว ต้องได้คะแนนเต็มในทุกวิชา ต้องมองเพื่อนหรือแม้กระทั้งฝาแฝดของตัวเองเป็นคู่แข่ง ต้องไปให้ถึงยอดปิรามิดแห่งความสำเร็จ ซึ่งในเรื่อง เราเห็นถึงการสอนของชามินฮยอก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายได้พูดกับภรรยาตนเอง ที่พยายามขัดขวางการกดดันลูกว่า “เป้าหมายการศึกษาของเกาหลี คือการให้เด็กทำข้อสอบกันเก่งๆ ความทรงจำด้านความสำเร็จจะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กขยัน และพ่อแม่มีหน้าที่สร้างความทรงจำให้ลูก”
สิ่งเหล่านี้ ล้วนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ กลายเป็นตัวแทนความฝันของพ่อแม่ เด็กรู้สึกว่าจะเป็นลูกที่ดีได้ต้องเรียนให้ดีเท่านั้น และความพยายามในความสำเร็จของพวกเขา ถูกนำไปเป็นเพียงเรื่องเสริมบารมีของพ่อแม่ ซึ่งในเรื่องก็สะท้อนให้เห็นปัญหาและความรู้สึกของเด็กๆ เหล่านี้ ที่สุดท้ายแต่ละคน และแต่ละครอบครัวก็พยายามดิ้นรน หาทางออกที่เป็นจุดร่วมระหว่างลูก และพ่อแม่ที่แตกต่างกันไป
พ่อกับการไขว่คว้าตำแหน่งและอำนาจ
ไม่เพียงแค่เรื่องการศึกษาเท่านั้นที่สะท้อนให้เราเห็นผ่าน SKY Castle แต่ใน generation รุ่นพ่อ ยังมีภาพของการทำงาน ที่ภาพของการแข่งขันยังคงไม่จบ มีการไขว่คว้า หาอำนาจ และตำแหน่ง ซึ่งพ่อจาก 3 ครอบครัวในเรื่อง รับบทเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
ซึ่งการทำงานในทุกๆ วัน นอกจากการผ่าตัด รับเคสคนไข้แล้ว ยังต้องมีการแข่งขันกันเอง เพื่อให้ได้เป็นคนโปรดของ ผอ.โรงพยาบาล เพราะหวังการมอบตำแหน่ง และการสืบทอดตำแหน่ง ผอ. คนต่อไป ที่ต้องใช้ทั้งแผนการเข้าหา การเสนอเส้นสาย ไปจนถึงการเลือกเคสผ่าตัดคนไข้ ให้ครอบครัวผู้มีอำนาจได้เข้าผ่าตัดก่อน และการเข้าข้างหัวหน้า ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เพราะกลัวมีผลต่อการเลื่อนขั้นตัวเองในอนาคต
แต่การไขว่คว้าหาตำแหน่ง ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเป้าหมายที่ถูกตั้งให้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ถูกพ่อแม่เซ็ตไว้ให้ตามรอย อย่างแม่ของคังจุนซัง ที่ถูกแม่ตั้งเป้าให้สอบแพทย์ ม.โซล และต้องไต่เต้าเป็น ผอ.โรงพยาบาลให้ได้ในอนาคตตามรอยพ่อ และลูกของเขาเอง ก็ยังถูกแม่ของเขา ตั้งเป้าให้ตามรอยนี้เช่นเดียวกัน
แม่กับบทบาทผู้อยู่เบื้องหลังทุกอย่างในครอบครัว
“การส่งเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จ คือสิ่งสำคัญสำหรับฉันมากกว่าอะไรทั้งนั้น” – ฮันซอจิน
ตัวละครเหล่าแม่ๆ นี่แหละ คือตัวหลักจี๊ดๆ ในเรื่องนี้ เพราะเราจะเห็นภาพความพยายามทุกอย่างของพวกเธอ ในการเป็นแม่บ้านเต็มเวลา ที่ใช้เวลาเพื่อปูทาง สนับสนุนให้ลูกๆ ประสบความสำเร็จและมีความสุข แม้ว่าจะยอมลดศักศรีดิ์ของตัวเอง เพื่อการเฟ้นหาติวเตอร์ทั่วย่าน ขจัดทุกวิธีทางที่จะมาขวางทางลูกๆ หรือแม่บางคนที่แม้จะมีวิธีการแตกต่างกันไป แต่ล้วนเป็นการดิ้นรนเพื่อลูกๆ ทั้งนั้น
ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าแม่ๆ เองยังต้องมีส่วนในการจัดการชีวิตให้สามี ตั้งแต่อาหาร เครื่องแต่งกายในแต่ละวัน ไปจนถึงการเลือกหมอผ่าตัด ตามแก้ปัญหาทะเลาะของสามี เข้าช่วยเพื่อให้สามีได้ตำแหน่งการงาน และเป็นกระทั่งที่รองรับอารมณ์ด้วย ซึ่งในเรื่อง สามีของบางครอบครัวก็ยังมีแนวคิดว่า แค่การทำงานหนัก หาเงินให้ครอบครัว ก็เป็นหน้าที่พ่อที่มากเพียงพอแล้ว
ซึ่งไม่แปลกที่จะทำให้แม่ๆ เหล่านี้ คิดว่า ความสำเร็จของลูกคือชีวิตของเธอ และการที่ลูกประสบความสำเร็จ ก็เหมือนพวกเธอบรรลุเป้าหมายของตัวเองไปด้วย
ความนิยมของ SKY Castle
อย่างที่เล่าไปว่า ซีรีส์เรื่องนี้สามารถทำลายสถิติเรตติ้งของช่องเคเบิลเกาหลีแล้ว เรตติ้งจากตอนแรก ถึงตอนสุดท้ายยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากแค่ 1.7% ขึ้นมาถึง 23.7% ซึ่งเป็นสถิติที่มากที่สุด โดยมีการวิเคราะห์ว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะสะท้อนเรื่องจริงในสังคมเกาหลีได้อย่างถูกเป้า และยังคงเป็นวงจรการศึกษาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนรุ่นต่อรุ่น ที่ไม่สามารถแก้ไขได้
นอกจากนั้น ยังแฝงปมชวนให้ติดตาม และฝีมือนักแสดงที่ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องฝีมือเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะรุ่นใหญ่ หรือรุ่นลูกๆ ว่าต่างเล่นได้สมบทบาท แต่ตัวซีรีส์ก็ไม่ได้มาในโทนที่เครียดอย่างเดียว พร้อมมีมุขตลก คอมมาดี้แฝงตลอดเวลา
ความนิยมของเรื่องยังเห็นได้จากที่ หลังซีรีส์ออกอากาศไปเพียงไม่กี่ตอน ยอดขายห้องอ่านหนังสือสำหรับคนเดียวเหมือนอย่างในเรื่อง ยังเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า รวมถึงราคาของมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 8.9 แสนวอน (25,000 บาท) มาเป็น 2.4 ล้านวอน (69,000) บาท
ซึ่งไม่เพียงแค่ในเกาหลีใต้ แต่ในจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการเรียนหนัก และมีสังคมการศึกษาที่ตึงเครียดพอๆ กับเกาหลีใต้ ซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน แม้ว่าชาวจีนจะต้องดูผ่านช่องทางผิดกฎหมายด้วย
ความนิยมเหล่านี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นความจริงที่หลายคนไม่ว่าจะในประเทศไหนเคยเผชิญ และรู้สึกร่วมไปกับเนื้อเรื่องจากความเครียด ความกดดัน และรู้สึกถูกทำร้ายจากระบบการศึกษา ไปจนถึงความคาดหวังที่ได้รับจากพ่อแม่ และญาติๆ
ซึ่งตัวซีรีส์และผู้เขียนบทพยายามจะส่งผ่านความรู้สึกผ่านตัวละครหนึ่งในเรื่องตลอดว่า วงจรเหล่านี้ควรหมดไปจากสังคม และไม่ควรมีเด็กๆ คนไหนถูกทำร้ายจากระบบนี้อีก ยิ่งไปกว่านั้นเด็กๆ วัยรุ่นควรได้มีความสุขกับชีวิตในช่วงวัยของเขา ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นปัญหา ที่แม้แต่ประเทศเราเอง ก็พยายามหาทางออกเช่นกัน