“ทำอย่างที่ใจปรารถนาให้สมกับเป็นฉัน ชีวิตที่ไม่เสียใจ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ฉันอยากมีชีวิตแบบนั้น” – พัค แซรอย
*คำเตือน บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Itaewon Class*
แค้นนี้ต้องชำระ หนึ่งในวลียอดฮิตเมื่อพูดถึงความแค้น ซึ่งเรื่องราวของการแก้แค้น ก็มีมากมายหลากหลายวิธี อย่างในซีรีส์เกาหลีที่สร้างจากเว็บตูน ‘Itaewon Class’ หรือในชื่อไทยว่า ธุรกิจปิดเกมแค้น ของช่อง JTBC และ Netflix ก็เป็นภาพซีรีส์อีกเรื่องที่นำเรื่องราวของการแก้แค้น และการแข่งขันมามาเป็นพล็อต แม้หลังๆ เรื่องราวจะหลุดกรอบออกไป เหมือนกลายเป็นการแข่งขันทางความรักแทน
‘Itaewon Class’ พูดถึงชีวิตของ พัค แซรอย คนหนุ่มที่มีความฝันกับการเปิดร้านอาหาร และธุรกิจอาหารให้เป็นที่ 1 ของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้ม ‘ชางกา’ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่ 1 อยู่ ด้วยความแค้นฝังลึกกว่า 10 ปี ที่เคยถูก ‘ชาง แดฮี’ ประธานของชางกา และทายาท ‘ชาง กึนวอน’ ทำลายทั้งอนาคต และชีวิตครอบครัว จนล้มและเหมือนจะเริ่มใหม่ไม่ได้ แต่ความแค้น ที่กลายเป็นเป้าหมายในชีวิต ทำให้แซรอย ลุกขึ้นมาสู้ ปากกัดตีนถีบเริ่มต้นจากศูนย์ จนขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่ ประธานชางยอมรับได้
ซึ่งนอกจากเรื่องราวธุรกิจและความแค้นแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ ยังฉายให้เห็นภาพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น เพศ ชนชาติ และสีผิว ที่เรียกได้ว่า เป็นภาพใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการทีวี และซีรีส์เกาหลีเลยก็ว่าได้ด้วย ทั้งจากเรตติ้งเอง ยังพิสูจน์ความนิยมของเรื่อง ที่จากตอนแรกซึ่งออกอากาศนั้น มีเพียง 4.983% แต่ในตอนอวสาน เรตติ้งก็เพิ่มขึ้นมาถึงเกือบ 4 เท่า ที่ 16.548%
*คำเตือนอีกครั้ง บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Itaewon Class*
อิแทวอน ย่านความหลากหลายที่เป็นต้นกำเนิดทันบัม และบริษัท Itaewon Class
ก่อนจะพูดถึงตัวละคร หรือเนื้อหาในเรื่อง เราอยากพูดถึงสถานที่ ซึ่งเป็นสถานที่หลัก และหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ อย่างย่าน ‘อิแทวอน’ ในเขตยงซาน ของโซล ซึ่งในตอนเริ่มเรื่อง ตอนที่ 1 เอง ตัวซีรีส์ ก็ได้พูดถึงย่านนี้ไว้ว่า เขตยงซานตั้งอยู่ใจกลางเมืองของโซล และพื้นที่ในอิแทวอนเอง ก็มีค่าเช่ากว่า 200 ล้านวอน ถือเป็นอันดับ 3 ของโซลเลยด้วย
นอกจากความเป็นศูนย์กลาง และพื้นที่เมืองที่มีราคาสูงแล้ว ภาพของอิแทวอนที่เราเห็นกันจากซีรีส์เอง ก็ยังสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างการฉลองเทศกาลนานาชาติ ฮัลโลวีนที่เกิดในพื้นที่นี้ ภาพของคนผิวสี ชาวต่างชาติ ไปจนถึงความหลากหลายทางเพศ ที่พัค แซรอย เองก็ยังบอกว่า สัมผัสถึง ‘อิสระ’ และเหมือนทุกอย่างในโลกได้มารวมกันในพื้นที่นี้แล้ว จนทำให้เขาเลือกจะเปิดร้านทันบัม ที่ย่านนี้
ที่มาของความเสรี และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในย่านนี้ ก็มีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้นี่แหละ ที่ตั้งแต่สมัยซึ่งเกาหลี ถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วง ค.ศ.1910 พื้นที่ตรงนี้ถูกใช้เป็นฐานทัพทหารของชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของต่างชาติในบริเวณอิแทวอน และหลังจากนั้นเอง เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เกาหลีถูกแบ่งเหนือ-ใต้ และเกิดสงครามเกาหลี พื้นที่นี้ก็ถูกส่งต่อให้เป็นฐานทัพทหารอเมริกัน ที่นำเอาวัฒนธรรมตะวันตก และความหลากหลายมากมายเข้ามาในบริเวณนี้ จนกลายเป็นย่านท่องเที่ยวยอดฮิตจนถึงทุกวันนี้ แม้ฐานทัพเหล่านั้นจะถูกย้ายออกไปแล้ว
วัฒนธรรมที่หลากหลายชาติทั่วโลกเข้ามาและตั้งอยู่ในอิแทวอน ร้านอาหารประจำชาติ ย่านคนผิวสี มัสยิด ผับ บาร์เกย์ และชนกลุ่มน้อยปรากฎให้เราเห็น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ซีรีส์เรื่องนี้ มีตัวละคร ผู้หญิงข้ามเพศ หรือคนผิวสี ที่มาจากแถบแอฟริกัน แถมยังเป็นตัวละครหลักที่มีบทบาท เรื่องแรกๆ ของเกาหลีใต้
แต่ถึงอย่างนั้น ในซีรีส์เรื่องนี้ก็แสดงให้เราเห็นถึงสภาวะปัญหา ที่ตัวละครทั้ง 2 ต้องเผชิญกับการถูกตีตรา และกำหนดคุณค่าของพวกเขา อย่าง ‘มา ฮยอนอี’ เชฟข้ามเพศของร้านทันบัม ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเธอเป็นทรานส์เจนเดอร์ ก่อนถ่ายทอดสดรอบชิงของรายการแข่งทำอาหารที่เธอเข้าร่วม
ซึ่งภาพในซีรีส์เองก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า การถูกเปิดเผยตัวตนของเธอส่งผลกระทบต่อรายการ และการปรากฏตัวใน TV ของคนข้ามเพศนั้น ก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับเต็มที่ แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็เล่นกับความเสรีของอิแทวอน และแสดงให้เราเห็นว่า ตัวละครทรานส์เจนเดอร์ ที่พูดถึงการไปผ่าตัดแปลงเพศด้วยนั้น เป็นตัวหลักได้
คนผิวสี และความเป็นคนเกาหลีเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่ ‘คิม โทนี่’ ตัวละครผิวสีในเรื่องนี้พบเจอ โดยหนึ่งในบทพูดติดปาก ที่โทนี่พูดเป็นประจำนั้น คือคำว่า “ผมเป็นคนเกาหลี” ซึ่งแม้เขาจะมาจากประเทศในทวีปแอฟริกา อย่างกินี พูดภาษาเกาหลีได้คล่องแคล่ว และมีพ่อเป็นชาวเกาหลีแท้ๆ แต่เมื่อเขาพูดว่าเขาเป็นคนเกาหลี คนรอบข้างเขาต่างไม่เชื่อ และยังมองว่ายังไงเขาก็เป็นชาวต่างชาติ
แม้ว่าในเรื่องไม่ได้ฉายภาพให้เราเห็นว่า มุมมองของคนอื่นที่มีต่อตัวโทนี่ จะเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าเขาคือคนเกาหลีจริงๆ หรือไม่ แต่ประเด็นนี้ก็ดูจบลง และไม่มีการพูดถึง เมื่อโทนี่พบย่า ที่เป็นชาวเกาหลีแท้ๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เขามีเชื้อสายเกาหลีจริงๆ และเตรียมที่จะไปขอสัญชาติเกาหลีด้วย แม้ภายนอกจะเหมือนชาวต่างชาติ
ไม่เพียงแค่ คนข้ามเพศ และคนผิวสีที่ถูกนำมาเป็นตัวละครหลัก แต่เรื่องนี้ได้วางตัวละครในร้านทันบัมให้ล้วนแต่มีคาแรคเตอร์ มีปม และมีความหลากหลาย ทั้งอดีตนักโทษ ที่เป็นนักเลงเก่า เน็ตไอดอลสาว ที่ตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่มาทำงาน และลูกนอกสมรสของบริษัทยักษ์ใหญ่ ชางกาด้วย
คนซื่อตรงอย่างเถ้าแก่ ฉันรักจนแทบคลั่งเลยค่ะ
“ภูเขาคังซานยังเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่เจ้าหมอนี่ไม่เปลี่ยนไปเลย” – ประธาน ชาง แดฮี
นอกจากความคลั่งรักของโช อีซอ ผู้จัดการร้านทันบัม ที่มีให้เถ้าแก่อย่างแซรอยไม่เคยเปลี่ยนไปแล้ว นิสัย และความซื่อตรงของพัค แซรอยเอง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คาแรคเตอร์ของตัวละครนี้ โดดเด่นขึ้นมา จนอาจเรียกได้ว่า สิ่งที่แซรอยยึดถือ และเชื่อมั่นในการใช้ชีวิต ได้สร้างอิทธิพล ให้กับคนอื่นๆ รอบข้าง ไปจนถึงการดำเนินธุรกิจ และการแก้แค้นในเกมนี้ด้วย
แซรอยแสดงให้เห็นถึงนิสัยที่ไม่ยอมต่อความไม่ถูกต้อง และไม่เมินเฉยต่อมันมาตั้งแต่สมัย ม.ปลาย ทำให้เขาเข้าไปยุ่ง และขวางการบูลลี่ของชาง กึนวอน ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปมแค้นในเรื่องนี้ แซรอยที่ได้รับอิทธิพลมาจากการสั่งสอนของพ่อ และยิ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่เขายึดถือมากขึ้นหลังพ่อเสียชีวิต จากการโดนรถชนแล้วหนี ซึ่งหล่อหลอมให้เขาเป็นคนตรงในโลกคด และตั้งใจว่าเส้นทางการแก้แค้นด้วยการเปิดธุรกิจร้านอาหาร จะมีความหมาย ด้วยการแตกต่าง และพิสูจน์ตัวเองด้วยเส้นทางคนละขั้วกับประธานชาง
ซึ่งแซรอยเองก็พูดกับสมาชิกในร้านว่า “ถ้าจะให้ทำธุรกิจแบบนั้น ฉันไม่ทำก็ได้ ถ้าจะทำตัวแบบเขา ฉันไม่เริ่มแต่แรกหรอก”
ดังนั้นตลอดการดำเนินเรื่อง เราเห็นวิธีคิด และการดำเนินธุรกิจ ไปถึงการตั้งเป้าหมายของบริษัท ที่แตกต่างกันของทั้งแซรอย และประธานชาง ที่ด้านชางกาเอง มีแนวคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม ทำธุรกิจเพื่อกำไร และมองว่าการใช้วิธีสกปรกเพื่อบริษัทเป็นสิ่งที่ย่อมทำได้ ทั้งชาง แดฮีที่เคยสร้างชางกามาเพื่อให้ครอบครัวกินดีอยู่ดี ไม่อดอยาก ก็กลายเป็นการยอมทำลายครอบครัวเพื่อรักษาธุรกิจ และรักศักดิ์ศรีตั้งแต่ตอนแรกยันตอนท้ายๆ จนพยายามทำทุกอย่าง เพียงเพื่อแค่ให้พัค แซรอย คุกเข่าให้เขา
ในขณะที่พระเอกอย่างแซรอย เป็นคาแรคเตอร์ที่ถูกวางไว้ว่าเป็นคนดี เป็นคนตรง ทะเยอะทะยาน และยึดมั่นในสิ่งที่เชื่อถือ ในด้านการดำเนินธุรกิจ แซรอยมีคติ และให้ความสำคัญกับผู้คน กับความเชื่อมั่น มากกว่าเรื่องเงิน และกำไร ไม่ยอมทำผิดกฎหมายในครั้งแรก เพราะรู้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีครั้งต่อมาอีกเรื่อยๆ มีน้ำใจช่วยเหลือร้านค้ารอบข้าง โดยมองว่าการจะทำธุรกิจให้รอด จะพยายามแค่ร้านเดียวไม่ได้ แต่ถนนทั้งเส้นต้องรอดด้วย
ทั้งในด้านการใช้ชีวิต แซรอยยังไม่ยอมให้ใครมากำหนดคุณค่าในตัวเขา หรือลดคุณค่าของเขาลงได้ ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองกำหนด และเชื่อ ทั้งยังปกป้องและเชื่อมั่นในเหล่าพนักงานของร้าน ซึ่งจุดนี้ เราก็ได้เห็นอิทธิพลของเขา ที่ส่งออกมาให้กับตัวละครอื่นๆ อย่าง อีซอ ที่เคยมีความคิด ความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่แคร์ใคร ก็เริ่มยอมรับความแตกต่างของคนอื่นๆ, ฮยอนอี ที่กล้าเปิดเผยตัวว่าเป็น LGBT ผ่านรายการทีวี หรือ ซึงกยอน ที่เคยมองว่าตัวเองเป็นอดีตนักโทษ ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ก็เปลี่ยนตัวเอง เพราะความเชื่อมั่นจากเถ้าแก่อย่างแซรอย
แม้ว่าในช่วงหลังของซีรีส์ เราเริ่มจะเห็นความเปลี่ยนไปของแซรอยบ้าง จากการที่มีความคิดเป็นนักธุรกิจมากขึ้น (หรือเปลี่ยนใจจากหัวหน้าโอ ซูอาที่เขารักมาเป็น 10 ปี) แต่ตัวละครพัค แซรอยนี้ เรียกได้ว่าเป็นการประดิษฐ์ภาพคนดี หรือฮีโร่ และถ่ายทอดออกมาผ่านซีรีส์เรื่องนี้ พร้อมกับภาพตัวร้ายอย่างประธานชาง ที่เห็นจุดจบว่า การทุจริตของเขาทำให้ชางกาล้มลง และตัวเขาเองจากคนที่มีทิฐิ ก็ยอมคุกเข่าให้กับแซรอย ในตอนเดียวกับที่เขาเพิ่งจะบอกให้แซรอยเป็นฝ่ายคุกเข่าเขาเองด้วย
ส่วนตัวแล้ว คิดว่า น่าเสียดาย ที่ในช่วงหลังของซีรีส์เรื่องนี้ เริ่มมีความไม่สมเหตุสมผลหลายอย่างของพล็อต และตัวละครที่ทำให้เราได้แต่ตั้งคำถามไปตลอดการดู รวมถึงเนื้อเรื่องช่วงแรกที่รวบรัด และเสนอภาพเหตุการณ์ต่างๆ อย่างกระชับ แต่กลับมายืด และย้อนความถึงอดีตบ่อยในช่วงหลัง ทำให้ส่วนตัวแล้ว ความเชื่อในตัวละครและเนื้อเรื่องลดลง และขออนุญาตตัดคะแนน เพราะความไม่สมเหตุสมผลในหลากฉาก
แต่ก็เรียกได้ว่า Itaewon Class เป็นซีรีส์ที่กล้าพูดถึงมุมใหม่ๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้นในเกาหลีใต้ และได้สะท้อนภาพขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมต่างๆ ในเกาหลี ที่ถูกฉีกและเสนอให้เห็นในมุมที่แตกต่าง รวมไปถึงการนำเอาวัฒนธรรม อย่างย่าน และพื้นที่มาถ่ายทอดผ่านซีรีส์