จะเป็นอย่างไร ถ้ารัฐบาลที่เราคิดว่าทำเพื่อพวกเรา แท้จริงแล้วปกปิด ปิดบัง และกำลังใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องกันเองตลอดเวลา
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญมากๆ ของซีรีส์*
ในเกมการเมือง แต่ละขั้นตอนย่อมมีเบื้องลึก เบื้องหลัง การล็อบบี้ต่างๆ ที่ประชาชนอย่างเราอาจจะไม่รู้ หรือคาดไม่ถึง ซีรีส์แอคชั่น-ดราม่าของเกาหลีใต้ ที่เพิ่งออนแอร์จบไปอย่าง ‘Vagabond’ ของทางช่อง SBS และ Netflix ก็เป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่ง ที่สะท้อนให้เราเห็นเกมการเมือง และการใช้อำนาจของเหล่าผู้นำ รวมถึงการต้องดิ้นรนเพื่อความยุติธรรมของประชาชน
Vagabond เริ่มเรื่องจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ที่ดูเหมือนเป็นอุบัติเหตุ แต่เมื่อมาการสืบสวนและค้นหาไป กลับพบว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เพราะเครื่องบินเกิดขัดข้องด้วยตัวมันเอง แต่กลับมีบุคคลที่จงใจ วางแผน หรือเรียกได้ว่าก่อการร้าย จน ชา ดัลกอน พระเอกผู้เคราะห์ร้าย เป็นญาติผู้เสียชีวิตต้องออกโรง ตามสืบหาเบื้องลึกเบื้องหลัง ของต้นเหตุที่ทำให้หลานชายของเขาต้องตาย
แม้ว่าหลายคน จะแอบบ่นกับตอนจบที่ดูเหมือนยังไม่จบของซีรีส์เรื่องนี้ และต่างก็คาดหวัง รอคอยกับซีซั่น 2 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด 16 ตอนที่ผ่านมา Vagabond พาเราไปลุ้นกับการต่อสู้ และดิ้นรนของตัวหลักอย่าง ‘ชา ดัลกอน’ ที่ถ้าเรื่องนี้ไม่มีเขา เหตุการณ์คงไม่ไปไกล และเราคงไม่ได้ลุ้นกับเรื่องราวในแต่ละตอนได้ขนาดนี้
*เตือนอีกครั้ง บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญมากๆ ของซีรีส์*
การอยู่เป็น และอยู่ไม่เป็น
‘การอยู่เป็น’ และ ‘อยู่ไม่เป็น’ วลีที่การเมืองไทยได้ยกมาพูดถึงอย่างร้อนแรงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ในซีรีส์เรื่องนี้ เราก็ได้เห็นประเด็นนี้เช่นกัน จากบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐมากมาย ทั้งหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ทำเนียบประธานาธิบดี และตำรวจ และสิ่งที่โดดเด่นของตัวละครบางตัวในเรื่องก็คือ ‘การอยู่เป็น’ โดยเฉพาะ ผอ.มิน แจชิก
มิน แจชิก เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่เรียกได้ว่า ไม่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายขององค์กร แต่ใช้องค์กรเพื่อทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจ และผู้มีกำลังเงิน ที่สามารถให้เขาได้เติบโต เลื่อนขั้นในหน้าที่การงาน โดยไม่ได้สนว่าจะถูกต้อง ยุติธรรม หรือทำเพื่อประชาชนหรือไม่ ทั้งยังบอกลูกน้องเสมอว่าไม่ให้ทำเรื่องเดือดร้อน นิ่งเฉยกับเรื่องบางเรื่อง ถ้าหากเป็นสิ่งของผู้มีอำนาจต้องการ
นอกจากมิน แจชิกแล้ว ก็มีตัวละครอีกหลายตัว ที่แสดงให้เห็นถึงความอยู่เป็น อย่างฮง ซึงบอม มือขวาของเจสสิก้า แห่งจอห์น แอนด์ มาร์ค ที่เนื้อเรื่องก็ทำให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยภักดีอยู่กับฝั่งไดนามิก ซิสเทม และย้ายมาเพื่อความก้าวหน้า ก่อนจะทิ้งบอสของเขาอย่างเจสสิก้า เพื่อความอยู่รอด เมื่อเธอจนมุม และถูกจับ ไปหาเจ้านายใหม่ ที่กำลังจะดูก้าวหน้า และเป็นใหญ่กว่าในอนาคตอย่างนายกฯ ฮงด้วย
และถ้าเราเปรียบมิน แจชิก เป็นคนอยู่เป็น ผอ.คัง จูชอล อริคู่แข่งเบอร์ 1 ของมิน ก็คงเป็นภาพแทนของ ‘คนอยู่ไม่เป็น’ เพราะเห็นได้ว่า เขาเคยถูกย้ายงาน ไม่ให้ได้ก้าวหน้า และต้องไปทำหน้าที่แค่ตอบคอมเมนต์ชาวเน็ตที่เข้ามาด่ารัฐบาล เพียงเพราะนิสัยอยู่ไม่เป็นของเขามาก่อน ทั้งการอยู่ไม่เป็นของเขายังโดดเด่นจนลูกน้องมั่นใจ และพึ่งพาได้ว่า ถ้าหากพวกเขาต้องการต่อสู้กับอำนาจของเบื้องบน พวกเขาต้องมาหา ผอ.คัง ซึ่งความอยู่ไม่เป็นของเขานี้ ก็เป็นอุปสรรคกับคนอยู่เป็น อย่าง ผอ.มิน จนถูกวางแผนฆ่ามาแล้ว
คาแรคเตอร์อยู่เป็น และอยู่ไม่เป็นที่ชัดเจนนี้ ไม่ได้มีแค่กับตัวละครที่เล่ามา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกือบทุกตัวในเรื่อง ต้องเจอสถาณการณ์ที่ให้พวกเขาเลือกว่า จะอยู่แบบไหน ซึ่งบางครั้ง พวกเขาก็ต้องเลือกตัดสินใจที่จะอยู่เป็น เพื่อความอยู่รอดด้วย
รัฐคือใคร? เมื่อการฝ่าฝืนคำสั่งรัฐ คือความผิด
หลายครั้งเรามักผูกโยงว่า การรักรัฐบาล แปลว่าเรารักชาติ แต่จริงๆ แล้ว รัฐ ≠ รัฐบาล และรัฐบาลต่างหากที่มักนำคำว่า ชาติ และรัฐมาอ้าง เพื่อความต้องการของพวกเขาเอง
ฉากหนึ่งในซีรีส์ที่ทำให้ตัวละคร และตัวเราเองในฐานะผู้ชมกลับมาย้อนนึกว่า รัฐคือใคร และพวกเขากำลังทำภารกิจเพื่อใครกันแน่ คือฉากที่หน่วยข่าวกรอง ส่งทีมสังหารไปเพื่อฆ่าชา ดัลกอน และผู้ร้ายอย่างคิม อูกี แทนที่จะส่งทีมสนับสนุนไปช่วยเหลือ ทำให้จากภารกิจที่เดินทางไปยังโมร็อกโก เพื่อเอาตัวผู้ร้ายกลับมาขึ้นศาล เปลี่ยนเป็นการฆ่าปิดปากเพื่อไม่ให้ได้กลับมาแทน
ในตอนนั้น กี แทอุง หัวหน้าทีมภารกิจ ตั้งคำถามว่า “คำสั่งนี้ คือคำสั่งของใคร?” ซึ่งเราก็ได้เห็นคำตอบที่ผู้มีอำนาจ เอาชาติ และรัฐมาอ้าง เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง ด้วยคำตอบว่า “เป็นคำสั่งของรัฐ ถ้าไม่ทำ นายจะเป็นคนขายชาติ” ทั้งๆ ที่คำสั่งนั้นคือการสั่งให้ข้าราชการที่รับใช้ประชาชน ฆ่าประชาชนด้วยกันเอง
จากผลประโยชน์ของประชาชน และการเปิดเผยความจริงที่ดูเหมือนเป็นหน้าที่ของรัฐ กลับกลายเป็นการปกปิดเรื่องฉาว ปิดคดีให้ได้อย่างรวดเร็ว เอื้อแก่การคอร์รัปชั่นระดับชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต่างถูกนำคำว่า ‘เพื่อชาติ’ มาเป็นข้ออ้าง และเอาคำว่า ‘คนขายชาติ’ มาเป็นโทษให้กับคนที่ไม่ยอมทำตาม
ใครรักชาติมากกว่า คนนั้นต้องได้เป็นผู้นำ?
ความรักชาติ ในหลายๆ ครั้งมักถูกเอามาพูดถึง และพิจารณาความเหมาะสมในการเป็นผู้นำ แต่การรักชาติในแบบที่ใครๆ ก็พูดได้นั้น ต้องถูกเอามามองด้วยว่า รักในแบบไหน?
การแย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใน Vagabond เอง ก็มีการเอาเรื่องความรักชาติมาขิงกัน ทั้งยังหาความชอบธรรมให้ตัวเองในการรักษาตำแหน่ง และจะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง ด้วยการแสดงออก และคำพูดที่พยายามบ่งบอกว่า ตัวเองทำเพื่อชาติ และฉันทำมากกว่าอีกคนหนึ่ง
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จอง กุกพโย มักพูดว่า สิ่งที่เขาทำคือการทำเพื่อประเทศ ซึ่งแม้ความจริงเรื่องเหตุการณ์เครื่องบินตกจะค่อยๆ ถูกเปิดเผย และเห็นว่ารัฐบาลเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย ประธานาธิบดีเองก็ยังบอกว่า สิ่งที่เขาทำคือการทำเพื่อประเทศ “ผมอยากมอบของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับประเทศ คือการทำให้ประเทศทั้งมั่งคั่ง และเรืองอำนาจ อย่างที่ไม่มีใครมาดูถูกได้” จอง กุกพโยกล่าวในเรื่อง
ในขณะที่เมื่อถูกจับได้ ว่าเขาได้รับสินบนเพื่อการประมูลโครงการเครื่องบินรบแล้ว เขาเองก็ยังอ้างว่าเงินส่วนนั้น ตั้งใจเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย
ด้านนายกฯ ฮง ซุนโจ มือขวา และผู้ได้ฉายาว่าเป็นเหมือนพี่น้องแท้ๆ ของประธานาธิบดี หลังจากสะสมอำนาจ และชื่อเสียงจากการไต่เต้าข้างกายผู้นำประเทศมายาวนาน เมื่อได้โอกาสหักหลัง และมีลู่ทางในการขึ้นสู่อำนาจเสียเอง เขาก็ไม่รอช้า และยังอ้างความชอบธรรมนี้เช่นกันว่า เขาเองก็ทำเพื่อชาติเช่นกัน โดยการโทษว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีทำเป็นเพียงแค่ฉากบังหน้า ความเห็นแก่ตัว แต่เขานี่แหละมาเพื่อฉีกหน้ากาก กำจัดความโลภ และทำให้ประเทศนี้เรืองอำนาจของจริง
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นแพทเทิร์นแสวงหาความชอบธรรมในการขึ้นสู่ตำแหน่ง ด้วยการวางบทบาทตัวเองว่าเป็นผู้มาแก้ปัญหาของผู้นำคนก่อน มาสะสาง จัดการกำหนดอนาคตใหม่ให้ประเทศ และเมื่อเขาถูกเลขานุการประธานาธิบดีถามว่า เขาเป็นคนยังไงกันแน่ จากความพยายามขึ้นสู่อำนาจครั้งนี้ เขาก็ชัดเจน และตอบอย่างมั่นใจว่า เขาคือ “คนรักชาติ คนรักชาติตัวจริงที่ต่างจากจองกุก พโย”
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เราก็เห็นต่อไปว่า เขาทำเพื่ออำนาจ ตำแหน่ง และพร้อมจะรับคำสั่ง ที่เปลี่ยนแปลงระบบ และกลไกของสังคม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุน และคนบางกลุ่มเต็มที่ เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้สนับสนุน หรือผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องบนอีกที
ความรักชาติ และทำเพื่อชาติในแบบของทั้ง จอง กุกพโย และฮง ซุนโจ ต่างก็ออกมาจากปากของพวกเขาอยู่ตลอดทั้งเรื่อง จนมองได้ว่า ความรักชาติกลายเป็นข้ออ้างสนับสนุนการกระทำของพวกเขา โดยที่ไม่ได้มองว่า ชาติ และประชาชนได้ประโยชน์ และมั่งคั่งจริงหรือไม่ด้วย
นอกจากความรักชาติ และอำนาจของผู้นำแล้ว Vagabond เองยังพูดถึงอีกหลายประเด็น และหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของญาติผู้เสียชีวิต ที่ในเรื่องถูกลากออกมาเหยียบย่ำจิตใจซ้ำๆ และเห็นได้ว่า รัฐไม่ได้เยียวยา และอยู่เคียงข้างพวกเขาจริงอย่างที่พยายามพูด แต่กลับใช้ประโยชน์จากความตาย และความโศกเศร้า หรือประเด็นเรื่องช่องทางคอร์รัปชั่น ล็อบบี้ยิสต์