“เธอก็เป็นได้นะ นายกเทศมนตรีน่ะ”
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Queen Maker*
พูดถึงการเลือกตั้ง เราคงนึกถึงภาพการแข่งขันที่มีผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง แคมเปญหาเสียง ประกาศนโยบาย หรือคำมั่นสัญญา เพื่อให้ได้เสียงโหวตจากประชาชน และใครที่ได้เสียงมากที่สุด ก็จะกลายเป็นผู้ชนะไป ซึ่งในซีรีส์เกาหลี
Queen Maker ที่เพิ่งออนแอร์ลงสตรีมมิ่ง Netflix ไปนั้น ก็เปิดตัวและคว้าอันดับ 1 ในหลายๆ ประเทศ ในเรื่องฉายภาพการแข่งขันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซลสุดดุเดือด ทำให้เราได้เห็นการทำงานของเหล่าคนเบื้องหลัง ที่ต้องใช้กลยุทธ์มากมายในการปั้นนักการเมือง 1 คน
Queen Maker ซีรีส์เกาหลี 11 ตอนนี้ เล่าเรื่องของฮวังโดฮี อดีตผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทอึนซอง บริษัทแชบอล (บริษัทเครือสายเลือดยักษ์ใหญ่ของเกาหลี) ที่ได้ผันตัวจากการคนทำงานเยี่ยงสุนัขรับใช้ปกป้องครอบครัวเจ้าของบริษัทจากความผิดต่างๆ มาปั้นโอคยองซุก ทนายความสิทธิมนุษยชนให้เป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซล ที่เบื้องหลังนั้นมีทั้งการล็อบบี้ หาจุดอ่อนคู่แข่ง โจมตีผู้สมัครฝั่งตรงข้าม ปล่อยข่าว เล่นกับกระแสต่างๆ รวมไปประเด็นการเมืองในเกาหลี และผู้หญิงในวงการการเมือง
แชบอล และความสัมพันธ์ทางการเมืองในเกาหลี
ซีรีส์เปิดมาด้วยการเล่าเรื่องการถูกดำเนินคดี ของอึนแชรยอง ลูกสาวคนเล็กของตระกูลเจ้าของบริษัทอึนซอง ซึ่งเห็นภาพ ฉากต่างๆ การก้มหัวขอโทษสื่อ การถูกดำเนินคดีจากความหัวร้อน ทำร้ายพนักงานทำให้เราอดคิดถึงคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเกาหลีไม่ได้ โดยเฉพาะคดีลูกสาวของ CEO สายการบิน Korean Air ที่ปาถั่ว ไล่พนักงานต้อนรับลงจากเครื่องบิน จนเกิดเป็นการฟ้องร้องใหญ่โตในเกาหลีเมื่อปี 2014 ซึ่งเมื่อเราพูดถึงการเมือง สังคม เศรษฐกิจของเกาหลีใต้นั้น ก็ไม่พ้นจะต้องมีตัวละครอย่างแชบอลหรือตระกูลกลุ่มทุน บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่นอกจากมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังพบว่า พวกเขาได้พยายามจะคุม แทรกแซงทางการเมือง ไปถึงระบบตุลาการ เหมือนอย่างในซีรีส์ด้วย
ใน Queen Maker บริษัทอึนซอง ต้องการเปิดห้างปลอดภาษีขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะทำกำไรมหาศาลแต่กว่าจะได้เปิดตัวนั้น ต้องแลกมาด้วยการล็อบบี้ ติดสินบนเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ตำแหน่งเล็กน้อย ไปถึงตำแหน่งใหญ่โต ไม่ว่ากรมที่ดิน กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบดำเนินการต่างๆ แต่เมื่อนายกเทศมนตรี ซึ่งบริษัทเคยหนุนหลัง และมั่นใจว่าเป็นคนที่ตระกูลจะใช้งานได้มีท่าทีเปลี่ยนไป ก็บีบให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส่วนตระกูลซน เจ้าของบริษัทอึนซองก็พยายามส่งคนในครอบครัว ผลักดันลูกเขย อย่างแพคแจมินให้ลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซลแทน
นอกจากการส่งสมาชิกครอบครัวลงชิงตำแหน่ง บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็มีการเข้าหาภาคการเมืองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเงินลับๆ สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง อย่างที่เราเห็นก็มีผู้เสนอเงินทุนให้ผู้สมัคร โอคยองซุก หรือผู้ที่หนุนหลัง ผู้สมัครซอมินจอง มาตั้งแต่แรกเริ่มลงเล่นการเมือง
การติดสินบนแก่รัฐบาลของเหล่าบริษัทมหาอำนาจในเกาหลีนั้น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงหรือมีแค่ในซีรีส์เพราะที่ผ่านมา เกาหลีใต้ก็มีข่าวการจับกุม และตรวจสอบเหล่า CEO ของบริษัทใหญ่ๆ ตลอด ไม่ว่าจะเป็น ลีแจยง แห่ง Samsung Electronic ที่ติดสินบนอดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเย และคนสนิทเป็นเงินกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 281 ล้านบาท) เพื่อให้สนับสนุนการควบรวมบริษัทกับหุ้นส่วนหรือเปิดโอกาสให้บริษัทดำเนินการต่างๆ ทางธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น หรือกรณีที่คล้ายกับในซีรีส์ ของชินดงบิน ประธานกลุ่ม Lotte Group ที่ถูกติดสินจำคุกจากการติดสินบนเพื่อนสนิทของอดีตประธานาธิบดีพัคในขณะที่เขาพยายามขอใบอนุญาตจากรัฐบาลสำหรับธุรกิจปลอดภาษีของ Lotte ด้วย
และนอกจากวิธีเหล่านี้ การสำรวจในปี 2017 โดย Leaders Network ยังพบว่า 30.3% หรือสมาชิกในครอบครัว 94 คนจากทั้งหมด 310 คนของตระกูลมหาเศรษฐีสมาชิกในครอบครัวแชบอล มีการแต่งงานกับคนที่มีภูมิหลังคล้ายคลึงกัน ซึ่งในจำนวนนั้น 14.8% แต่งงานกับลูกหลานของข้าราชการและร้อยละ 4.5% แต่งงานกับลูกของนักการเมือง ซึ่งถูกมองว่าเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจด้วย
และแม้พวกแชบอลทั้งในซีรีส์ และในความเป็นจริง จะคุมทั้งเศรษฐกิจ และการเมืองแล้ว ยังมีเคสที่เราเห็นแชบอล เป็นผู้นำแฟชั่นในเกาหลีเช่นกัน เหมือนตอนเปิดตัวของซีรีส์เรื่องนี้ ที่ระหว่างการเข้าสอบสวนพบอัยการของอึนแชรยอง ทีมกลยุทธ์ได้จัดการกับแฟชั่นของเธอ จนชุดและเครื่องประดับแต่ละชิ้นฮิตติดเทรนด์โซลเอาต์กันถ้วนหน้า โดยในชีวิตจริง หนึ่งในแชบอลที่โดดเด่นในการนำเทรนด์แฟชั่น และเป็นโปรดของสื่อ ก็คือลิมเซรยอง ลูกสาวคนโตของบริษัท Daesung Cooperation และอดีตภรรยาของลีแจยง แห่ง Samsung ที่ไม่ว่าเสื้อผ้า กระเป๋า หน้าผม มักจะถูกจับตามองเสมอ
ไปจนถึง ลีวอนจู ลูกสาววัย 18 ปีของเซรยอง ที่ในปี 2022 แฟชั่นชุดเดรสผ้าไหม Barocco Goddessในแบรนด์ Versace ที่เธอใส่เข้าร่วมงานแต่งงานของลูกสาวคนโตแห่งบริษัท Hyundai Motors Group ก็กลายเป็นไวรัลที่พูดถึงจนติดเทรนด์ในเกาหลีใต้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในเกาหลีใต้นั้น คนมีเงินเท่านั้นที่ Knock everything ไม่ว่าจะวงการการเมือง เศรษฐกิจ หรือแฟชั่น
ผู้หญิงและการเมืองเกาหลีใต้
“การเป็นนักการเมืองหญิงก็ยิ่งเสียเปรียบ” – คาร์ลยุน
หากใครที่ดู Queen Maker ต่างก็ต้องพูดว่านี่มันซีรีส์เพื่อนหญิงพลังหญิง empowered women สุดๆ จากแคมเปญของเพื่อนหญิง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานหญิง หรือทีมแคมเปญเบื้องหลัง ที่คอยผลักดัน สนับสนุนโอคยองซุก ให้ได้กลายเป็นนักการเมือง และนายกเทศมนตรี แต่ถึงอย่างนั้นในการเมืองเกาหลีใต้ จะมีผู้หญิงซักกี่คนที่ได้เป็นโอคยองซุก
จริงๆ แล้ว จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผู้สมัครเพียง 21 คนในการเลือกตั้งสภาแห่งชาติครั้งที่ 15 (1996–2000) ขยับมาเป็นมากถึง 209 คนในการเลือกตั้งสภาแห่งชาติครั้งที่ 21 (2000-2014) และจำนวนสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภา ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 13.4% ในปี 2005 มาเป็น 19% ในปี 2021 แต่ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2022 จำนวนเก้าอี้ของนักการเมืองหญิงในสภา ลดลงเล็กน้อย เหลือประมาณ 18.6% และถึงแม้ว่าสัดส่วนของผู้หญิงในสภาเกาหลีจะเพิ่มขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งทางธนาคารโลกได้เปิดเผยว่าปัจจุบันค่าเฉลี่ยของผู้หญิงในสภาอยู่ที่ร้อยละ 23.96
และในทศวรรษที่ผ่านมา แม้จำนวนผู้สมัครหญิงในการเลือกตั้ง แบบโอคยองซุก หรือซอมินจอง จะมีเพิ่มมากขึ้นในเกาหลีใต้ แต่พวกเธอก็ไม่ได้ถูกให้ความสนใจ หรือมีบทบาทที่โดดเด่น เหมือนทนายโอ และซอมินจองในซีรีส์ ที่ถึงจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวนมาก แต่นักการเมืองหญิงก็ขาดทรัพยากรทางการเมือง และมีอิทธิพลต่อกระบวนการกำหนดนโยบายน้อย นอกจากนี้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีใต้อย่างพรรค the Democratic Party และพรรค the People Power Party ยังมีสัดส่วนผู้หญิงเพียงประมาณ 10% ของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งรัฐสภาและการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา
การศึกษาในเกาหลีใต้ยังพบว่า การขาดแคลนผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงที่โดดเด่นซึ่งทำหน้าที่เป็นแบบอย่างอาจส่งผลเสียต่อแรงจูงใจของผู้หญิงในการรับข้อมูลและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าในเกาหลี ผู้ชายสนใจการเมืองมากกว่าผู้หญิง ได้รับข้อมูลทางการเมืองมากกว่า และกระตือรือร้นในกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เพียงแค่เพราะผู้สมัครหญิง แต่อาจมีผลมาจากมุมมองของประชาชน หรือผู้สามารถลงคะแนนเสียงได้
โดยการสำรวจประชากรเกาหลีจำนวน 909 คน ในปี 2016 พบว่า 69.5% คิดว่าผู้หญิงไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากพอ แม้ว่าเกาหลีจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม และเมื่อถูกถามว่าทำไมพวกเขาถึงคิดว่าผู้หญิงมีบทบาทน้อยในรัฐสภา 26.6% กล่าวว่าเป็นเพราะ “คนเกาหลี (จำนวนมาก) รู้สึกไม่สบายใจที่มีนักการเมืองผู้หญิง” และ 24.5% สะท้อนอคติของสาธารณชนที่ว่านักการเมืองชายควรจะมีความสามารถมากกว่านักการเมืองหญิงด้วย
ด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ และการตีกรอบหน้าที่ผู้หญิงของเกาหลี ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ในซีรีส์ เราจะเห็นโอคยองซุก ต้องถอดความเป็นผู้หญิงบางอย่าง เช่นหน้าที่ความเป็นแม่ การต้องตัดผมสั้น หรือการถอดเสื้อรัดทรง และต้องแทนที่ด้วยการโชว์ความมั่นใจ แข็งแกร่ง และคาแร็กเตอร์ความเป็นเจ้าแรดที่พร้อมท้าชนทุกอย่างแทน เพื่อจะมาเป็นนักการเมือง
สื่อมวลชน พลังแห่งการควบคุมกระแสสังคม
แม้ว่าในซีรีส์จะไม่ได้ฉายบทบาทของนักข่าว หรือสื่อมวลชนให้เราเห็นชัดๆ แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่ากลยุทธ์การปล่อยข่าวโจมตี หรือสร้างกระแสนิยมนั้น ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อรูปล้อเลียนโอคยองซุก การปล่อยข่าวการใช้เงินเข้าสปาทำหน้าของซอมินจอง การสร้างภาพออกข่าวให้ดูรักใคร่ของแพคแจมินและอึนแชรยอง ต่างก็มีเครื่องมือของสื่อมาควบคุม สร้างกระแส และบงการความคิดเห็นของประชาชน จนทีมกลยุทธ์เองต่างก็พูดกันว่า ไม่ว่าความจริงของเรื่องจะเป็นอย่างไร ข่าวจะไหลไปตามกระแสของคน
เช่นเดียวกัน กระแส คะแนนนิยมในการเมืองเกาหลีใต้ ก็ขึ้นอยู่กับสื่อเช่นกัน ด้วยในยุคสมัยของ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มีการเดินขบวน ชุมนุมต่อต้าน และเรียกร้องให้เขาลาออกแทบทุกสัปดาห์ที่กวางฮามุน ใจกลางโซล แต่เมื่อผู้เขียน ได้คุยกับเพื่อนชาวเกาหลีถึงประเด็นนี้ เพื่อนเองก็ยังบอกว่า แน่นอนว่าเราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นข่าวในกระแสหลัก เพราะเป็นที่รู้ๆ ว่ารัฐบาลควบคุมสื่ออยู่ ซึ่งการคุมสื่อของรัฐบาล และพรรคการเมืองเกาหลีใต้นั้น ก็มีรายงานหลักฐาน ออกมาให้เห็นกันด้วย โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง ไม่ต่างจากที่เราเห็นในซีรีส์
ช่อง KBS ได้เผยแพร่บทความอธิบายการบิดเบือนความเห็นของประชาชน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ของพรรคแซนูรี (ชื่อก่อนจะเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น the People Power Party), พรรค the Democratic Party และหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งภายหลังการเลือกตั้ง ในปี 2013 หน่วยงานสายลับของเกาหลีใต้ ยอมรับว่าได้พยายามชักใยประชาชนให้สนับสนุนพรรคแซนูรี โดยเน้นไปที่แคมเปญการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์กับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมุนแจอิน
โดยรายละเอียดเผยว่า ได้มีการสร้างทีมมากถึง 30 ทีม ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ และประชาชน เพื่ออัปโหลดโพสต์เพื่อสนับสนุนนักการเมืองอนุรักษ์นิยมเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน จนถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2012 ทั้งในการเลือกตั้งปีนั้น ที่ถูกขนานนามว่า ‘การเลือกตั้ง SNS’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ เพราะโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ได้รับความสนใจ และมีบทบาทมาก นอกจากนี้ยังพบว่า พรรคการเมืองทั้ง 2 ฝั่ง ได้ใช้วิธีผิดกฎหมายบน Twitter โดยพยายามบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน ด้วยการใช้บอตทวีตข้อความมากมายถึงกว่า 900 ล้านทวีต ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2012
จากข่าวนี้ ไปจนถึงตลอดการดู Queen Maker ยังทำให้นึกถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ตลอดการรณรงค์หาเสียง ก็มีข่าวด้านลบ ของผู้สมัครทั้ง 2 คน จนถูกมองว่าเป็นการหาเสียงแบบสาดโคลน ไม่ว่าจะข่าวการอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ การฆาตรกรรม การยักยอกเงินไปถึงอดีตต่างๆ ของ ยูแจมยอง ผู้สมัครจากพรรค the Democratic Party และข่าวแอนตี้เฟมินิสต์ และข่าวการข้องเกี่ยวกับแคมเปญหาเสียงที่ไม่โปร่งใสของภรรยาของยุนซอกยอล จากพรรค the People Power Party ที่ทำให้สุดท้าย การเลือกผู้นำที่ดี กลายเป็นการถูกมองว่า ไม่ว่าเลือกใครก็แย่ แต่ขอเลือกคนที่แย่น้อยกว่าแทน
แต่สุดท้าย ไม่ว่าจะเงิน สื่อ หรือกลยุทธ์ใดๆ ในระบอบประชาธิปไตย เราเห็นกระบวนการตัดสินใจ และลงคะแนนที่มาจากประชาชน และท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้ผู้นำเกาหลีใต้อย่างยุลซอกยอล ที่เหมือนประกาศตัว ไม่สนับสนุนเฟมินิสต์ ผู้หญิง และยังมีนโยบายจะกดค่าแรงขั้นต่ำ และตัดการสนับสนุนสหภาพแรงงานต่างๆ
ซีรีส์ Queen Maker ก็เป็นเหมือนการสะท้อนเสียงโต้กลับ ทั้งประเด็นของผู้หญิง และแรงงาน ที่ไม่ใช่เพียงแค่นักการเมืองอย่างโอคยองซุก แต่ยังเป็นภาพผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าตระกูล หัวหน้ากลุ่มบริษัท เป็นขบวนการสิทธิแรงงาน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการปั้นนักการเมือง
อ้างอิงจาก
https://www.theglobeandmail.com