ไม่ได้มีแค่โคทาโร่หรอกนะ ที่ผูกลูกโป่งไว้กับตัว
ใจไม่ถึงอย่าดู …จริงๆ นะ
หมายถึงเจ้าอนิเมะซีรีส์ชื่อ ‘Kotaro Lives Alone’ ที่หน้าหนังเหมือนกับเป็นเรื่องป่วงๆ ของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่จู่ๆ ก็มีเด็กน้อยคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นโดยใช้ชีวิตอยู่ลำพัง โดยโทนของเรื่องดูเหมือนจะเป็นอนิเมะที่ออกแนวตลกกับเรื่องแปลกๆ ตามสไตล์การ์ตูนแก๊กของญี่ปุ่น
ทว่า มันไม่ใช่เลยสักนิด Kotaro Lives Alone ดูจะเป็นการ์นตูนญี่ปุ่นอีกเรื่องที่เล่นกับรูปแบบและความเป็นอนิเมะ คือ การมีเด็กแปลกๆ ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมันดูเหนือจริง แล้วในเรื่องก็เล่าเรื่องความซิตคอมในมิติต่างๆ ด้วยสีสัน น้ำเสียงและบทสนทนาที่ชวนหัวตามสไตล์อนิเมะแบบการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ทว่าในระดับเรื่อง Kotaro Lives Alone เองก็กำลังเล่าเรื่องที่มีเงื่อนไขว่า ‘การที่เด็กคนหนึ่งต้องมาใช้ชีวิตอยู่ลำพัง’ ในชีวิตจริงมันเกิดอะไรขึ้น อะไรคือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิตโดยลำพังอันแปลกประหลาดนั้น
ในแง่นี้ วิธีการหนึ่งของการเล่าเรื่อง Kotaro Lives Alone จึงมีลักษณะคลายงานแนวสืบสวนสอบสวน คือเราเองค่อยๆ ได้เรียนรู้ชีวิตของโคทาโร่ผ่านบทสนทนาและเหตุการณ์ปัจจุบันและจากตัวละครที่รายล้อมชีวิตของโคทาโร่ ตัวละครที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิต โดยเฉพาะการสมาชิกในครอบครัวอันเป็นพื้นที่พื้นฐานของเด็ก เหล่าตัวละครที่อาจจะอยู่ใกล้ชิดในเชิงกายภาพเช่นอยู่ห้องข้างๆ หรือมีความสัมพันธ์โดยเงื่อนไขทางอาชีพ เช่น ทนายความ คนส่งหนังสือพิมพ์
ในวิธีการเล่าเรื่องแบบสืบสวน การสืบสวนในที่นี้จึงไม่ได้เล่าผ่านมิติของการฆาตกรรมหรืออาชญกรรม แต่คือการไขปริศนาที่มีบริบทสมัยใหม่และวิถีเมืองเป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่าชีวิตของโคทาโร่นั้นซ่อนโศกนาฏกรรมไว้ แต่นอกจากเรื่องราวของโคทาโร่เอง การเล่าเรื่องของ Kotaro Lives Alone ยังมีกลิ่นอายวิธีการเล่าเรื่องของวรรณกรรมญี่ปุ่นและหนังญี่ปุ่นร่วมสมัย เรื่องราวที่เล่าถึงคนแปลกหน้าและการใช้ชีวิตอย่างเดียวดายในเมืองใหญ่ที่มีวิธีเล่าที่ให้เรื่องราวค่อยๆ ซึมลึกโดยปราศจากความฟูมฟาย
เรื่องราวของโคทาโร่ที่สัมผัสใจคนจนน้ำตาร่วงอาจจะไม่ใช่เรื่องของโคทาโร่ แต่เป็นเรื่องของเรา เรื่องราวของการเก็บงำความร้าวรานอย่างเงียบงัน การก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญจนไร้เดียงสา และเหล่าคนพ่ายแพ้ที่รวมตัวกันโดยมีฉากเป็นเมืองใหญ่อันอึกทึกนี้
กล้าหาญและไร้เดียงสาเกินไปจนใจเจ็บ
ทำไมโคทาโร่ถึงต้องมาอยู่คนเดียว ทำไมถึงพูดจาแปลกๆ และติดทีวี ทำไมถึงไม่ชอบและไม่รังเกียจการร้องไห้ เรื่องราวอันแปลกประหลาดเด็กน้อยมาอยู่ในห้องเช่าระดับล่างที่ไม่มีแม้แต่ห้องอาบน้ำ ไปจนถึงฉากร้ายกาจที่แสนจะธรรมดาที่โคทาโร่ไปขอลูกโป่งฟรีจากคนแจกลูกโป่งบนท้องถนน การเล่าเรื่องที่เราค่อยๆ จับจิ๊กซอว์ในวิถีชีวิตอันธรรมดา (ที่อาจจะนับว่าเป็นเด็กแปลกๆ บ้าง) ในที่สุดภาพที่จิ๊กซอว์ต่อรวมกันได้กลายเป็นเบื้องหลังอันร้าวรานของเด็กวัยสี่ขวบ
จุดเด่นของโคทาโร่จึงอยู่ที่ความ ‘ไม่ฟูมฟาย’ เรื่องราวต่างๆ ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายตั้งแต่ตัวเรื่องทั้งหมดที่ไม่ได้วาดให้น้ำตาท่วมในจอ ในระดับเรื่องเองโคทาโร่ก็พยายามที่จะเป็นผู้ใหญ่ ดำเนินกิจวัตรที่ผู้ใหญ่ทำได้สบายอย่างยากลำบาก แต่ทว่าโคทาโร่เองก็พยายามดำเนินชีวิตต่อไปอย่างแข็งขันด้วยใบหน้าเรียบเฉย เราค่อยรับรู้ปัญหาและความร้าวที่อยู่ภายใต้ความอดกลั้นอันเกินจำเป็นของเด็กคนหนึ่ง
วิธีการที่น่าสนใจของโคทาโร่ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่เราพอนึกภาพได้ในฐานะวิธีการที่เด็กๆ ใช้รับมือกับปัญหาคือการสร้างโลกใบนี้หนึ่งใหม่ วาดให้การใช้ชีวิตโดยลำพังเป็นเหมือนการผจญภัยตามแบบการ์ตูนที่ตัวเองดูเพื่อประโลมใจในทุกๆ วัน ในแง่นี้การเผชิญหน้ากับบาดแผลและวิกฤตของโคทาโร่ในด้านหนึ่งจึงเป็นการใช้ความกล้าหาญที่ประกอบขึ้นด้วยความไร้เดียงสา แต่ทว่าปัญหาที่เราพบว่าโคทาโร่กำลังเผชิญอยู่ แค่ความกล้าหาญตามที่เลียนมาจากการ์ตูนฮีโร่ มันแทบไม่เพียงพอกับการรับมือความเจ็บปวดในสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญเลย
ความกล้าหาญของโคทาโร่นั้นแน่นอนว่าเต็มไปด้วยความกล้าหาญ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าความกล้าของคินทาโร่ช่างใสซื่อจนหัวใจของเราเจ็บแปลบ เจ็บแปลบในความพยายามใช้ชีวิตให้อยู่รอด เติบโต และแก้แผลใจอันสาหัสของตัวเองต่อไป
โคทาโร่ไม่ได้อยู่คนเดียว อยู่คนเดียว
จุดเด่นของ Kotaro Lives Alone คือการเป็นเรื่องเล่าแบบญี่ปุ่นที่เราค่อนข้างคุ้นเคย งานแนวญี่ปุ่นมักเล่าชีวิตของผู้คนที่เดียวดายอยู่ในเมืองใหญ่ ในใบหน้าเรียบเฉย ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ถูกกำกับด้วยมารยาท ระเบียบแบบแผนและหน้าที่การงาน การใช้ชีวิตที่แสนสามัญในชีวิตประจำวันดำเนินไปด้วยการเก็บงำความรู้สึกไว้ภายใน
ในตัวเรื่อง ถ้าเราดูดีๆ แกนของเรื่องคือโคทาโร่มาใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แต่อันที่จริง ไม่ได้มีแต่โคทาโร่ที่ลำพังอยู่คนเดียว ตัวละครหลักเกือบทั้งหมดก็ใช้ชีวิตตามลำพังโดยมีพื้นที่อพาร์ตเมนต์เล็กๆ เป็นศูนย์กลาง กลุ่มคนที่เราเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนชายขอบของสังคมตั้งแต่นักเขียนการ์ตูนหนุ่มที่ไล่ตามความสำเร็จ สาวบาร์โฮสที่มีปัญหาความสัมพันธ์ พ่อที่ดูเหมือนนักเลง
อันที่จริง ความร้ายกาจของ Kotaro Lives Alone คือการพูดถึงปัญหาครอบครัวที่ค่อนข้างรุนแรงตั้งแต่ตัวโคทาโร่และในตัวละครรอบตัวเขา ความพิเศษของชุมชนเล็กๆ ที่โคทาโร่ไปอยู่ด้านหนึ่งจึงเป็นชุมชนของคนพ่ายแพ้จากสังคมและมาสร้างความเป็นครอบครัวขึ้นใหม่ผ่านการเป็นคนแปลกหน้าทางสายเลือดของกันและกัน
ด้วยฐานของเรื่องเล่าที่พูดเรื่องความธรรมดา ความธรรมดาเบื้องแรกที่สุดคือการอยู่ลำพังอันเป็นฐานของการใช้ชีวิตร่วมสมัยที่เราคุ้นเคย ในเฉดของการอยู่ลำพัง ตัวละครต่างๆ ก็ต่างกำลังดิ้นรนอยู่ในเมืองใหญ่ ในความสัมพันธ์ และการเติบโตอยู่ในเมืองอันอึกทึกโดยที่ทั้งหมดนั้นเก็บซ่อนน้ำตา รอยแผลและประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลบางอย่างไว้
เมื่อเราเริ่มดูเรื่องราวแปลกประหลาดทั้งหมดไป พฤติกรรมที่ดูแปลกประหลาดและน่าขันแบบเด็กๆ ของโคทาโร่ ไปจนถึงการเผยปัญหาของตัวละครรายล้อมที่ต่างเดียวดายไปพร้อมๆ กันกับเรา ท้ายที่สุดแล้ว เราเองก็เริ่มรู้สึกว่าเรื่องในการ์ตูนเรื่องนี้มันกลับใกล้ตัวของเรามากกว่าที่คาด เราอาจกำลังติดทีวีเพื่อถมช่องโหว่ของจิตใจ การตื่นกลางดึกอย่างไม่มีจุดหมาย และการมองท้องฟ้าอันเงียบงันยามค่ำคืน
สุดท้ายเราอาจพบว่า ไม่ได้มีแค่โคทาโร่ที่ผูกลูกโป่งไว้กับตัว
ไม่ได้มีแค่โคทาโร่ที่พยายามก้าวเดินอยู่ในเมืองใหญ่ โดยยังคงรักษาความกล้าหาญ รอยยิ้มและความไร้เดียงสาไว้ในโลกที่แสนร้าย
ถ้อยคำที่รำพึงว่าลูกโป่งจะลอยต่อไปได้อีกนานแค่ไหน อาจหมายถึงชูชีพที่เราทุกคนเองใช้บอกตัวเองให้ก้าวต่อไป…ชูชีพที่เราหวังว่าจะไม่ฟุบแฟ่บลงเอาในเร็ววันนี้