“อย่างภาษาอังกฤษนี่พอได้มั้ย?”
ที่เหงื่อท่วมไปทั้งตัวไม่ได้เกิดจากอากาศที่อบอ้าวจนพระเจ้ายังต้องเข้าห้องแอร์ แต่เป็นเพราะเราหัวเราะจนเมื่อยปอดหลังได้ชมโชว์สแตนด์อัพคอเมดี้สุดเซอร์อย่าง The Script
เสาร์-อาทิตย์ที่ 25 และ 26 มีนาคมที่ผ่านมา คอเมเดี้ยนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งของคอมมูนิตี้ยืนเดี่ยว เพิ่งจะจัดการแสดงเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งที่ 2
พี—นิวัฒน์ชัย ทรัพท์ไพศาล หรือชื่อที่รู้จักกันในวงการอย่าง ‘ลินิน’ เริ่มต้นเส้นทางการเป็นคอเมเดี้ยนจากการประกวด Young Man Can Stand-Up 2021 การแข่งขันเล็ก ๆ ที่ทำการเฟ้นหาเดี่ยวไมโครโฟนหน้าใหม่ของเมืองไทย
แม้จะไม่ชนะรางวัล แต่ 2 เดือนให้หลัง เขาก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 คอเมเดี้ยนที่จะได้แสดงฝีมือในงานยืนเดี่ยวครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ LIDO CONNECT 1 สยามสแควร์ ก่อนที่เวทีอีกมากมายจะชักชวนชายคนนี้ขึ้นไปสร้างสีสันอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
หลังสั่งสมประสบการณ์จนเกือบสุกงอม ลินินก็ตัดสินใจจับมือกับร้าน A Katanyu Comedy Club เพื่อเนรมิตการแสดงเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับในระดับ A+ ถึงขนาดต้องเพิ่มรอบการเล่น
ในฐานะเพื่อนร่วมวงการ ลินินเป็นเหมือนปรมาจารย์ของเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเอาดีกับการเป็นคอเมเดี้ยน เสน่ห์ของเขาอยู่ที่ลีลาการเล่าเรื่องที่เนิบช้า ทว่าสร้างเสียงฮาได้แทบทุกประโยค เขามักจะหยิบวัตถุดิบใกล้ตัวมามองมุมกลับและปรับจนเจอความฮาที่ซ่อนอยู่ ก่อนจะส่งมันต่อให้คนดูได้ขำตาม เมื่อประกอบเข้ากับหน้าตาอันจิ้มลิ้มยิ้มแย้มตามแบบฉบับลูกคนจีน คนที่อยู่หน้าเวทีจึงแทบจะฉีกยิ้มตั้งแต่เขายังไม่แม้กระทั่งเปิดปากพูดด้วยซ้ำไป (เฮ้ย! บางทีแกก็เว่อร์นะ555)
เอาล่ะ อย่ารอช้า ตามเรามาสำรวจแง่มุมและความตลกซึ่งหนุ่มหาดใหญ่วัย 26 บอกเล่าให้เราฟังตลอดความยาว 2 ชั่วโมงกันเลย!
Open Mic
คล้ายจะเป็นธรรมเนียมของผู้ที่ทำโชว์สแตนด์อัปคอเมดี้ขนาดยาวที่ต้องเปิดโอกาสหรือชักชวนให้นักเล่าเรื่องตลกหน้าใหม่ขึ้นมาพูดอะไรสั้นๆ เพื่อเปิดเวทีก่อนที่การแสดงจริงจะเริ่มต้น เขาคนนี้มีหน้าที่ละลายพฤติกรรม รวมทั้งอาจจะช่วยแนะนำเจ้าของโชว์ให้ผู้ชมได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะว่าไป ตำแหน่ง Open Mic ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยทีเดียว เพราะถ้าเล่าแล้วคนดูหัวเราะเกรียวกราวก็เป็นเหมือนการก่อร่างสร้างมวล ปลุกเสียงหัวเราะแรกขึ้นจากความเงียบ แต่หากเฟล เล่าแล้วไม่ขำ อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เจ้าของของเวทีกดดันน้อยลง ทำนองว่า ‘ขอแค่ทำให้ดีกว่า Open Mic ก็พอ’ และอีกทางหนึ่งก็เหมือนเป็นจิตวิทยากลายๆ ที่หลอกผู้ชมให้มีความรู้สึกเชิงบวกได้ง่ายขึ้นเพราะมีสิ่งที่ตลกน้อยกว่าเป็นตัวเปรียบเทียบนั่นเอง
อย่างไรก็ดี คืนนี้ Open Mic อย่าง มีนฮับ ทำได้ดีพอสมควร แม้ช่วงแรกจะแสดงอาการตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อตั้งตัวได้ เขาก็ค่อยๆ ทลายกำแพงระหว่างผู้ชมจนสร้างความรู้สึกเป็นกันเองได้ในที่สุด เขาเลือกแบ่งปันมุมน่ารักของคุณพ่อ ผู้ที่ร้องเพลง I Believe I Can Fly ทุกครั้งเมื่อตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เคร่งเครียด
สิ่งที่มั่นใจได้คือคนดูจะรู้สึก ‘เกี่ยวข้อง’ กับเรื่องราวแน่ๆ เพราะผู้ปกครองของทุกคนย่อมต้องมีลักษณะนิสัยแปลกๆ อย่างน้อยหนึ่งอย่างไม่ต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพรรณนาว่าตัวละครพ่อ จู่ๆ ก็ร้องเพลงออกมาเพราะโดนแม่เค้นความลับก็กลายเป็นเหตุการณ์กระอักกระอ่วนชวนหัวที่ดึงรอยยิ้มของคนดูได้ไม่ยาก เอาจริงๆ แค่นึกภาพคนที่ทำตัวมีพิรุธถึงขนาดร้องเพลง I Believe I Can Fly ออกมาก็ตลกแล้ว น่าคิดต่อว่าต้องให้พ่อของมีนฮับร้องเพลงนี้ในบริบทไหนจึงจะตลกที่สุด (หรือว่ามีนฮับได้เกิดมาตอนที่พ่อของเขากำลังร้องเพลงนี้กันนะ…แฮ่!)
เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว
การยกรายละเอียดที่หาได้ใกล้ๆ ตัวขึ้นมาเป็นหัวข้อเล่าเรื่องเป็นท่าทีที่เรียบง่าย ทว่าคือท่าซึ่งชายที่ชื่อลินินถนัดนัก พูดได้ว่ามันคือตัวตนของเขามาตั้งแต่โชว์แรก
ก่อนหน้านี้ เรามีโอกาสได้ฟังเขาเล่าประสบการณ์ของเด็กสงขลาที่ย้ายเข้ามาอยู่เมืองกรุง วันเมาๆ สมัยเรียนมหาลัย และความไม่ง่ายของคนเลี้ยงแมว
คืนนี้หนุ่มแว่นเริ่มเรื่องด้วยการแซวร้านซึ่ง (อุตส่าห์) ให้เขาใช้พื้นที่ในการทำโชว์ เขาถามหาคนดูที่เคยแวะมาที่นี่ ก่อนจะถามต่อว่า แล้วใครเคยมาตอนที่ร้านมีคนไม่ถึง 5 คนบ้าง แล้วจึงพูดตบท้าย…
“ครับ ก็ทุกคนนั่นแหละ ร้านนี้ก็ไม่เคยมีลูกค้าถึง 5 คนหรอก”
เมื่อทุกคนเริ่มผ่อนคลาย เขาก็ลุยต่อด้วยเรื่องตลกในชีวิตประจำวัน เช่น การเผลอผายลมจนเบาะสั่นขณะซ้อนท้ายวินมอเตอร์ไซค์ ที่เลยเถิดไปไกลจนเกิดบทสนทนาเหล่านี้
“เมื่อกี๊ น้องตดเหรอครับ” พี่วินฯ ถาม
“เอ่อ…ครับ ใช่ครับ พี่ได้ยินเสียงเหรอ” ลินินตอบแบบติดเขิน
“อ๋อ เปล่าครับ เบาะมันสั่น”
“ขอโทษทีนะครับ” ลินินตีหน้าเศร้า
“ไม่เป็นไรครับ คือแฟนเก่าพี่ก็ตดแบบนี้แหละครับ ได้เจอน้องแล้วมันคิดถึงแฟนเก่าน่ะ…”
…
“ผมแค่ตดโดยไม่ตั้งใจ แต่ดันไปทำให้เขาเศร้าเฉยเลย เนี่ย ชีวิตเรามันมีแต่เรื่องแปลกๆ” ลินินพูดปิดท้าย
อีกเรื่องที่ทำเราน้ำตาซึม (เพราะขำ) และย้ำว่าเนื้อเรื่องดีอย่างเดียวไม่พอ ประโยคขยี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน คือตอนที่ชายบนเวทีเล่าการต่อสู้ระหว่างผู้ใหญ่ร่างยักษ์กับหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในร้านบุฟเฟ่ต์แห่งหนึ่ง ลำพังภาพที่ใครสักคนตะโกนใส่หุ่นยนต์ว่า “แน่จริงก็เดินอ้อมไปให้ได้ซี่” ก็น่าขำมากแล้ว แต่เมื่อลินินขยี้ต่อด้วยคำพูดที่ถูกจุด พลังของการเล่าเรื่องก็ทวีคูณเป็นเท่าตัว
ลินิน: ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนังเกี่ยวกับหุ่นยนต์ในโลกนี้ถึงเต็มไปด้วยฉากล้างแค้น
คนดู: (หัวเราะ)
ลินิน: ก็เพราะโลกเรามีคนแบบนี้ไง อัลตรอนในหนังอเวนเจอร์สถึงอยากถล่มโลก เอไอจะแค้นมนุษย์ก็ไม่แปลกเหอะ ก็เราไปกวนตีนมันไว้ซะขนาดนั้น
คนดู: (หัวเราะหนักกว่าเดิม)
เล่นกับ ‘Pain Point’ ของสแตนด์อัปคอเมดี้
เมื่อคุณยื่นมือเข้ามาคว้าไมค์เพื่อเล่ามุกตลกบนเวที แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะพูดเป็นสิบๆ นาทีหรือเป็นชั่วโมงโดยไม่มีบท จริงอยู่ที่คอเมเดี้ยนบางคนอาจด้นสดได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงต้องจดเรื่องเป็นข้อๆ อยู่ดี อาจไม่ถึงขั้นระบุดีเทล แต่มีให้รู้ว่าจบเรื่องนี้แล้วต้องไปต่อที่เรื่องอะไร
ปัญหาที่คอเมเดี้ยนหน้าใหม่หลายคนพบเจอคือการลืมบท พูดๆ อยู่จู่ๆ ก็ ‘แบลงก์’ จำไม่ได้ว่าต้องเล่าอะไรต่อ เกิดเป็นคำถามที่ว่าเราสามารถเอาบทขึ้นไปบนเวทีได้มั้ย เพราะหากเอาขึ้นไป ผู้ชมอาจจะรู้สึกว่าผู้พูดเตรียมตัวมาไม่ดีเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี ลินินได้ป่าวประกาศให้ทุกคนรับทราบในโชว์นี้ว่าเราสามารถดูบทได้อย่างสง่าผ่าเผยขอเพียงตั้งชื่อการแสดงให้ถูกต้อง
“คุณคิดว่าผมตั้งชื่อโชว์ว่า ‘The Script’ เพราอะไรล่ะ” หนุ่มจิ้มลิ้มยิ้มเจ้าเล่ห์โดยมีกระดาษจดมุกอยู่ในมือ
อีกหนึ่งจุดอ่อนที่เชื่อว่าคอเมเดี้ยนน่าจะเคยพบเจอคือเรื่องที่เตรียมมาไม่ทำงานกับผู้ชม ว่าไปแล้วก็เป็นความท้าทายที่ยากจะเอาชนะของวงการสแตนด์อัป เพราะหลายครั้งเรื่องที่เราซ้อมมาแล้วหลายสิบรอบ และเพื่อนของเราหัวเราะครืนก็ได้เสียงตอบรับในระดับ 0 เดซิเบลเพราะเส้นความตลกของผู้ชมแต่ละกลุ่มนั้นต่างกัน ผู้ที่จับไมค์หลายคนจึงจำใจเปลี่ยนไปเล่าอีกเรื่องเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งหากว่าเปลี่ยนเรื่องแล้วคนขำก็เท่ากับวิธีการได้ผล แต่หากลองแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ปรากฏในใจผู้ชมอาจจะแย่เป็นทวีคูณ
เป็นอีกครั้งที่ลินินหยิบ ‘Pain Point’ ข้อนี้มาเล่น เขาจงใจแบ่งเรื่องตลกของตัวเองออกเป็น 4 เรื่องแต่แรก แถมยังชักชวนให้คนดูสุ่มเลือกแผ่นป้ายจากหมายเลข 1-4 โดยที่ถ้าคนดูเรื่องเลขไหน ลินินก็จะเล่าเรื่องที่เขียนอยู่หลังหมายเลขนั้นก่อน
สูตรนี้ของลินิน นอกจากจะเป็นการหาจุดที่ผู้ชมจะได้มีส่วนร่วมแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ไปในตัวว่า ไม่ว่าจะตั้งใจมาเล่าแค่เรื่องเดียวที่ร้อยเรียงจนมีเอกภาพ หรือวางแผนมาเล่าหลายเรื่องซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลย ก็สามารถทำให้ผู้ชมอมยิ้มได้ไม่ต่างกัน คำถามสำคัญคือคุณเตรียมตัวมามากพอรึเปล่าเท่านั้นเอง (ออกแนวเก่งซะแล้ว555)
4 เรื่อง 4 รส
การแบ่งบทออกเป็น 4 เรื่องชัดเจนดูจะช่วยเพิ่มไดนามิกในการเล่าได้ไม่น้อย ข้อดีอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือหากคนดูไม่ถูกใจเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ยังมีเรื่องหน้าที่มุกอาจได้ทำหน้าที่ที่ควรทำ โดยภาพรวม เราพอใจกับทั้งสี่รสชาติที่ชายตรงหน้ารังสรรค์ มีเรื่องที่หัวเราะลั่นมากกว่าเรื่องอื่น แต่ก็มีช่วงที่ได้ยิ้มแค่มุมปากร่วมด้วย
ป้ายแรกที่ถูกสุ่มได้บรรจุคำว่า ‘งานแต่งบีม’ เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยการรับหน้าที่พิธีกรในงานแต่งงานของสาวผู้เป็นรักแรกของคนเล่า ลินินพาคนดูถลำลึกเข้าไปในความโศกเศร้าและเจ็บปวด ซึ่งหลายคนก็น่าจะเห็นตรงกันว่า สำหรับความรัก ผลลัพธ์ของการรอคอยอาจจะเป็นรอยน้ำตา คอเมเดี้ยนบทเวทีเองก็เริ่มมีน้ำตาเช่นเดียวกัน นับเป็นความกล้าบ้าบิ่นกับการเอาเรื่องเศร้าจริง ๆ มาเล่าให้เป็นสิ่งตลกขบขัน แปลงเรื่องสำคัญให้เป็นมุกตลกร้าย
“ผมซ้อมเป็นพิธีกรหน้ากระจกทุกวัน…เจ้าบ่าวรู้จักเจ้าสาวมากี่ปีแล้วครับ…เอ่อ 2 ปีครับ โห นานเหมือนกันนะครับเนี่ย น้อยกว่าผมแค่ 17 ปีเอง”
ถัดมา ลินินพาทุกคนไปฟังเรื่อง ‘ดิปช็อกโกแลต’ สำหรับเรา เรื่องนี้ตลกที่สุด แต่เราไม่สามารถถ่ายทอดให้ตลกแบบที่ชมด้วยตาออกมาเป็นตัวหนังสือได้จริงๆ เพราะฉะนั้น หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสนใจ เราก็อยากให้คุณลองไปดูมหรสพประเภทนี้สดๆ ดูสักครั้ง…
แผ่นป้ายที่ 3 คือประสบการณ์การดำน้ำ ฟังก์ชั่นของเรื่องนี้คือการพาคนที่นั่งฟังบนเก้าอี้ไปผจญภัยยังดินแดนอื่น นี่คือช่วงที่เราได้เห็นการแสดงท่าทางของลินินเยอะมาก เขาต้องพยายามอธิบายขั้นตอนการฝึกดำน้ำให้คนที่ไม่เคยเห็นเห็นภาพได้มากที่สุด ฟังจนจบก็เห็นภาพราวกับได้ไปดูหอยเม่นมาจริงๆ
อีกหนึ่งบทบาทของการแสดงประเภทสแตนด์อัปคอเมดี้ คือการเป็นช่องทางในการแสดงออกทางความคิดของผู้พูด บางคนใช้มันเป็นพื้นที่ในการสื่อสารความเป็นตัวเอง บางคนถือโอกาสนี้เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม หรือกระทั่งเสียดสีประเด็นทางการเมือง แต่ใครจะคิดว่าลินินจะใช้เรื่องที่ 4 เป็นพื้นที่ขายของ ใช่ครับ ทุกคนอ่านไม่ผิด เขาจับไมค์ ยิ้มร่า โฆษณาสินค้าของตระกูลอย่างกาแฟโกลด์ คอฟฟี่ ได้อย่างสนุกปาก จนเราได้แต่อุทานในใจว่า ‘แบบนี้ก็ได้เหรอวะ’
เราคงจำกัดความสิ่งที่ออกจากปากของเจ้าของแบรนด์กาแฟแดนใต้ได้ว่า เป็น 4 เรื่อง 4 รสที่อร่อยลงตัว ดูเหมือนจะสะเปะสะปะ แต่กินแล้วกลับให้รสสัมผัสอันกล่อมกลมอย่างไม่น่าเชื่อ แถมมื้อนี้ยังไม่ได้สิ้นสุดแค่เพียงเสียงหัวเราะ เพราะเมื่อพลิกแผ่นป้ายทั้ง 4 แก่นแท้ที่เชฟลินินอยากสื่อก็ปรากฏให้ทุกคนได้เข้าใจโดยทั่วกัน เป็น 4 บทเรียนที่ลินินย้ำว่าคอเมเดี้ยนทุกคนต้องก้าวผ่านให้จงได้
การรับปากเป็นผู้ดำเนินรายการในงานแต่งงานของรักแรกสอนให้คอเมเดี้ยน ‘ยอมรับความเป็นจริง’ แม้มันจะเป็นสิ่งที่แสนเจ็บปวด ในขณะที่การดำน้ำก็ไม่ต่างจากการเล่าเรื่องตลกที่ไม่ว่าจะเจนเวทีแค่ไหน ทุกครั้งที่อยู่ต่อหน้าแสงไฟ คุณก็ต้อง ‘ก้าวข้ามความกลัว’ ไม่ต่างจากตอนเอาตัวเองลงไปในมหาสมุทร เรื่องดิปไอศกรีม (ที่เราขอไม่เล่า) สะท้อนว่าการเล่นสแตนด์อัปเป็นดั่งมายากล ซึ่งนักมายากลต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้ชมคาดเดาไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป และถ้าถามว่าเรื่องของกาแฟให้ข้อคิดอะไร คำตอบที่ทำเอาเราอยากย้อนไปเตะคนถือไมค์คือ ‘หอม เข้ม กลมกล่อม’ แค่นั้น ไม่ได้สาระอะไรเลย แต่ก็บอกเลยว่าคนฮาลั่นห้องตามเคย
อยากให้วงการนี้เติบโต
การแสดงสแตนด์อัปคอเมดี้ที่ชื่อ The Script เดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย เราได้แต่สงสัยว่าลินินเตรียมทางลงไว้อย่างไร เพราะอุตส่าห์ทำได้ดีมาตลอด 115 นาที หาก 5 นาทีสุดท้ายจืดชืดคงเสียดายแย่
ลินินเลือกจบโชว์ด้วยท่าทีจริงจัง เขาพูดตรง ๆ กับผู้ชมและเหล่าผองเพื่อนคอเมเดี้ยนว่าการทำสิ่งนี้ไม่ง่าย และบ่อยครั้ง คนมากมายในโลกโซเชียลก็พร้อมจะถล่มคอมเมนต์ด่าคอเมเดี้ยนยับทั้งที่ไม่รู้จักกัน หลายคนตำหนิราวกับคนในคลิปไปฆ่าใครตาย
“ถ้าเล่นได้แค่นี้ก็อย่ามาเล่นเลย ไม่ตลก ไม่มีใครต้องการมึงหรอก…ผมอยากบอกว่า ผมก็ไม่ได้ต้องการคนแบบนี้เหมือนกัน”
สิ่งที่ลินินอยากสื่อคือ ตลกหรือไม่ตลกเป็นเรื่องของรสนิยม คุณชื่นชมหรือตำหนิได้ แต่อย่างน้อยก็ควรจะอยู่บนพื้นฐานของมารยาททางสังคม จริงอยู่ที่บางการแสดงก็อาจไม่ได้สร้างความพอใจให้คนดูได้อย่างที่คาดหวัง เราที่พอจะมีประสบการณ์ในเส้นทางอยู่บ้างก็เคยทำพลาดเช่นเดียวกัน แต่จนแล้วจนรอด เราก็เห็นด้วยกับชายบนเวทีที่ว่าศิลปะประเภทนี้ไม่เคยง่าย คนพูดต้องยอมรับความเจ็บปวด ก้าวข้ามความกลัว ก่อนจะสร้างสรรค์มันออกมาเป็นโชว์ที่ทำให้คนดูหัวเราะได้ราวกับมีเวทมนต์ มันอาจจะแพงไปสักหน่อยกับราคา 450 บาทในคืนนี้ แต่เราก็เชื่อว่ามันคุ้มกับทุกสุ้มเสียงที่คุณหัวเราะ ทั้งยังมีคุณค่ามากพอหากคุณต้องการสนับสนุนวงการสแตนด์อัปคอเมดี้เมืองไทย…
“วงการนี้ต้องการคนแบบพวกคุณที่นั่งอยู่ตรงนี้ คนที่ชื่นชอบ สนใจ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เปิดใจที่จะรับฟังเรื่องตลกจากคนที่ตั้งใจเล่า” ลินินพูดก่อนที่การแสดงจะจบลง