“การที่คนจะมาเสียเงินกับอะไรเพื่อบันเทิงจรรโลงใจ เขาก็ต้องรอดก่อน เรารู้สึกว่ามันก็อาจจะต้องไปควบคู่กัน”
เมื่อต่างประเทศดูจะมีที่ทางให้เราเข้าถึงโอกาสได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หลายคนจึงเลือกแพคกระเป๋าออกเดินทางไปตามล่าความฝันไกลในต่างแดน เช่นเดียวกับ ‘แตงโม-กิตติพร โรจน์วณิช’ นักแสดง ศิลปิน และคอมเมเดียนชาวไทยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปตามความฝันที่อเมริกา
แล้วการเป็นนักแสดงที่เมืองนอกเป็นอย่างไรบ้าง ที่ทางของคนต่างถิ่นในเมืองนอกเป็นแบบไหน แล้วควรทำอย่างไรให้ประเทศไทยกลุ่มศิลปินต่างๆ มีเส้นทางเติบโตในประเทศนี้? The MATTER ขอชวนทุกคนมาฟังเรื่องราวของเธอกัน
อยากให้แนะนำตัวเองให้ฟังได้ไหม ตอนนี้ทำอะไรอยู่
ตอนนี้ยังเป็นช่วงพักๆ อยู่ ก่อนหน้านี้ทำงานแสดงอยู่ที่สหรัฐฯ ก็หางาน งานคือการหางาน แต่คุณพ่อไม่สบายก็กลับบ้านมา เหมือนกับว่ามาพักด้วย พอกลับมาดูคุณพ่อ เอเจนท์ก็ให้งานมาแคสลำบากเพราะว่าเราก็เริ่มต้น ไม่ใช่คนที่ใครรู้จัก จะต้องไปแคสบทเล็กๆ แล้วพอมันเป็นบทเล็กๆ เล่นวันเดียว ไม่อยู่ตรงนั้นมันก็ออดิชั่นลำบาก เขาก็จะระบุว่าต้องการคนที่อยู่ที่ L.A. นะ หรือว่าบางงานมันวันเดียวสองวัน หรือแปบเดียว บินกลับไปก็ไม่คุ้มอยู่ดี
ตอนนี้ก็อยู่ที่นี่ไปก่อน เขามีงานอะไรก็ส่งมาให้แคสบ้าง งานแบบในอีกหลายเดือนข้างหน้า คือตอนนี้เหมือนดูอาการอยู่ว่ายังไง อยากดูให้เรียบร้อย เดี๋ยวคุณพ่อมี CT scan ด้วย ช่วงนี้ก็มาทำช่องยูทูป ก่อนหน้านี้ทำอยู่แล้ว แต่ว่าเจอปัญหาชีวิตก็หายไป แล้วก็เพิ่งกลับมาทำ ไปออกรายการเพื่อน แล้วมีคนมาตาม ก็เลยเริ่มทำเยอะขึ้น ก็สนุกดี
แปลว่า อาจจะอยู่ไทยนานเลย?
ตอนแรกก็กะมาเดือนเดียว พี่เอากางเกงยีนส์มาสองตัว แล้วก็เสื้อยืด 5 ตัว แล้วก็คิดว่าซักวนๆ ไป ที่บ้านก็อาจจะพอมีเสื้อผ้าบ้าง ปรากฏว่าต้องทิ้งตั๋ว อยู่ไปก่อน แล้วเหมือนกับว่าเรื่องใบเขียวจะมีความต้องห้ามออกนอกประเทศเกิน 6 เดือน ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดกลับ แต่ว่าถ้าจะยังคงเรื่องใบเขียวไว้ ก็น่าจะต้องกลับประมาณพฤษภาคม ของอะไรก็ยังอยู่ที่โน่นอยู่ดี ยังไงก็อาจจะต้องกลับไปอยู่แล้ว
แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ชีวิตแบบ เอายังไงดี ก็งงๆ ยังไม่ได้มีกำหนดกลับที่แน่ชัด แต่ว่าถ้าอยู่เราก็ไม่กล้ารับงานยาว เลยหางานหาอะไรทำที่นี่ไปก่อน อารมณ์ประมาณว่าใครมีงานก็จ้างด้วยนะคะ ก็ทำไปเรื่อย
เล่าเรื่องตอนเริ่มต้นไปอยู่ที่อเมริกาให้ฟังหน่อย
ช่วงแรกๆ ที่ไปก็ต้องผจญใบเขียวนิดนึง ต้องหาที่อยู่ หาเงินมาจ่ายค่าที่อยู่ ต้องหาสปอนเซอร์มาทำเรื่องใบเขียว เพราะว่าตอนแต่งงาน เรากับแฟนก็ยากจน มันก็จะมีช่วงที่แบบว่ามาอยู่โดยที่ยังไม่มีใบทำงาน ต้องแฟนเลี้ยงได้ คู่แต่งงานต้องเลี้ยงเราได้ เรามีอาจารย์มาเป็นสปอนเซอร์ให้ รับประกันว่าเขาจะอยู่ได้ ทำงาน อยู่ไป
ช่วงแรกๆ มันก็เลยยังไม่ค่อยได้ทำงานแอคติ้งเต็มตัวๆ ยังต้องหาทางว่าจะทำยังไงดี เพราะว่าอยู่กรุงเทพฯ อยู่เมืองไทย ก็อยู่บ้านพ่อบ้านแม่มาตลอด เป็นบ้านอยู่ด้วยกัน เราก็ไม่เคยต้องมานึกเรื่องจ่ายค่าเช่า เรื่องค่าน้ำค่าไฟ พอไปอยู่ที่โน่นก็มีช่วงแรกๆ ปีกว่าๆ ที่แบบเอายังไง ปัญหาชีวิตมากมาย พอเจอโควิดเลยกลับมาไทย พี่ก็เลยเอาใหม่ ตั้งตัวใหม่
พอกลับไปใหม่รอบพฤษภาคม 64 มาเต็มตัว จริงจัง ก็ดีขึ้น จากที่เราปูมาเตรียมมาตั้งแต่แรก เราต้องไปสร้างโปร์ไฟล์ในเน็ต สร้าง IMDb สร้างเว็บไซต์ของตัวเอง ทำแพคเกจ มี reels ถ่าย headshot ทำหลายรุ่นมาก เพราะว่าเขาห้ามนานเกิน headshot นี้ถ่ายมาสองปีแล้ว หน้าแก่ขึ้น แล้วผมก็เปลี่ยนทรง มันก็ต้องทำใหม่เรื่อยๆ แล้วก็หาเอเจนท์ หาผู้จัดการ พอเราเริ่มมีคน represent งาน มันก็จะได้งานที่ดีขึ้น ก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่เรารู้สึกว่าเรากำลังเริ่มต้น ช่วงก่อนมาก็คือเพิ่งได้งานไป ซึ่งออดิชั่นมาเป็นปีไม่ได้ ได้แต่งานกิ๊กก๊อกๆ ก็รู้สึกว่ามันยังคงความเป็นฟรีแลนซ์ เป็นนักแสดง ต้องทำอย่างอื่นหาเลี้ยงไปด้วยเรื่อยๆ อย่าง ตอนที่อยู่ตรงนั้นก็ไปเป็นผู้ช่วยให้กับผู้จัดการตัวเอง ทำให้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ได้อดตายไปเสียทีเดียว เพราะว่างานแสดงมันไม่ได้มีรายได้ที่ตายตัวว่าเดี๋ยวเดือนนึงเงินจะเข้า เดี๋ยวอีกสามเดือนจะแคสได้เรื่อยๆ เราก็ลุ้นไปทุกวัน มันก็จะต้องมีค่าอุปกรณ์ ค่าหลายอย่าง
ยากไหม กว่าจะเริ่มเข้าเส้นทางการแสดงได้?
ยาก ทุกวันนี้ก็ยังยาก แต่เป็นความยากที่ต่างกัน ตอนแรกยังทำไม่เป็น ก็จะมีความงงๆ ว่าต้องทำยังไง ไปเรียนรู้ระบบว่าต้องทำแบบนี้ๆ นะ ต้องหาคนมา represent เรา เป็นช่วงที่ต้องทำๆๆ พอมาช่วงทำเสร็จแล้ว จะเริ่มเอาไปแคส ออดิชั่น ต้องทำเทป มันก็ยาก
เราย้อนกลับไปดูคลิปเก่าๆ ก็ทุเรศตัวเองนะ ตายแล้ว มิน่ากูไม่ได้งาน มันเปลี่ยนด้วยแหละ เราเรียนสายละครเวที แล้วพอย้ายมา L.A. ที่เป็นละครทีวี ภาพยนตร์มากกว่า ก็มีเทคนิคที่แตกต่างกันไปในสไตล์ของแต่ละสาย มันก็ทำให้เราก็ต้องปรับตัวเยอะ แต่ว่ามันก็สนุกมากนะ ยาก และท้าทาย คนที่เขาเก่งจริงๆ เขาก็เก่ง เราก็พยายาม ซึ่งบางคนเขาเรียนจบ ป.โท มาแล้ว เขาก็จะไม่เรียนแล้ว พอแล้ว เขาจะทำงาน แต่ว่าอยู่ไป เอเจนท์ ผู้จัดการเขาก็ให้เราเรียนเรื่อยๆ นะ เขาก็จะถามตอนนี้เรียนกับใครอยู่ ทำอะไรอยู่บ้าง เพราะว่าพอเราไม่ได้งานแล้วเรามาแคส มันจะเป็นแบบสั้นๆ 3-5 นาที มันคือการที่เราทำเพื่อหางาน นึกภาพออกไหม ไม่ใช่ว่าเราทำแล้วเราได้เงิน
แต่กลายเป็นว่า บางทีก็หลุดโฟกัส ในแง่ที่ว่าแล้วไม่เอนจอยแล้วเหรอ คราฟต์นี้ในการที่จะสร้างงาน เป็นตัวละคร มีการวิเคราะห์ แต่บางทีมันกลายเป็นว่า มุ่งอยากจะได้งาน อยากจะได้เงิน อยากจะทำต่อ สักพักก็ต้องมาปัดฝุ่น ต้องมาหาครู ไปเจอเพื่อน ก็ต้องมา เอา ไหนมาเล่นโดยที่ไม่ต้องคิดว่าจะต้องได้เงินได้งาน เพื่อที่จะให้เราสนุกอีกครั้งนึง เราได้เอนจอยว่ามาทำตรงนี้ทำไม
บางทีเห็นเพื่อนๆ ที่เขามีอาชีพการงานดีๆ บางคนเป็น CEO เปิดบริษัทเป็นเรื่องเป็นราว แต่เรายังออดิชั่นหางานไม่ได้ทุกวัน เราก็จะเฟล บางทีมันก็ต้องกลับไปทำอะไรเพื่อที่จะให้สนุกบ้าง บางคอร์สที่ไปเรียนก็คือเป็นคอร์สแบบออดิชั่นยังไงให้สนุก เราจะต้องเอนจอยตรงนี้ เพราะว่านี่แหละคือการที่เราได้ทำงาน จะมาหวังให้เขามาเลือกหลังจากอันนี้ แล้วถึงจะได้ทำงาน ก็ไม่ใช่สิ เพราะว่านี่คืองาน งานคือการที่เราทำ self tape อัดไป ออดิชั่น ได้ไปโชว์งาน ได้ไปแบ่งปันความสามารถของเรา แบ่งปันมุมมองของเราให้เขาเห็นว่าอยากจะทำงานด้วยกันมั้ย
แล้วพอกลับมาไทย ช่วงนี้มีงานให้ทำไหม
ล่าสุดเดือนที่แล้ว มีมางานสองงาน ซึ่งถือว่าน้อยถ้าเทียบกับตอนอยู่ที่โน่น คือมันก็อยู่ที่ตัวเราด้วยนะว่าเรา คนเชื้อชาติไหน บทที่ออกมามีมากขนาดไหน เราไม่ได้กำหนดเอง เราไปหางานที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ได้สร้างคอนเทนต์เอง เราพยายามจะไปอยู่ในตลาดเขา ก็ต้องดูว่าเขาต้องการอะไรในตอนนี้ หรือเขาแคสอะไรกันอยู่ เทรนด์คืออะไร ซึ่งช่วงหลังคนผิวสี คนเอเชียเริ่มมีบทบาทเยอะขึ้น สมัยก่อนก็ต้องเล่นเป็นโสเภณี เล่นเป็นต่างด้าว แต่ตอนนี้ก็จะมีบทที่เป็นเพื่อนนางเอก เป็นอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
เราไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ เราก็จะรู้ว่าเพื่อนเราที่เป็นนักแสดงเหมือนกัน เขาได้ออดิชั่นวันนึงกี่งาน แล้วคือโอ้โห คนนี้คือวันละ 5-6 งาน ออดิชั่นทุกวัน ในขณะที่เราอาทิตย์นึง 4-5 ครั้ง มันก็ไม่เท่ากัน มันก็แล้วแต่ด้วย
เชื้อชาติ อายุ หน้าตา ความสามารถ พูดภาษาอะไร เพื่อนพี่พูดสเปนได้ แล้วก็ยังเด็ก คนที่อายุน้อยๆ ก็มีบทเยอะ เพราะว่าส่วนมากเขาก็จะมองว่ายังเทรนด์ได้ ยังหน้าใหม่ ไม่เคยเห็น หรือว่าคนนี้ลุคได้ เอามาลองสิ หรือแม้ว่าจะแบบ งานนี้ยังไม่ได้ งานหน้า เขารู้จักแล้ว เขารู้สึกว่าแอคติ้งโอเค ถ้างานนี้ยังไม่ได้ งานหน้าก็เรียกมาอีก เพื่อนพี่ไปแคสงาน 7 ครั้ง ก็ยังไม่ได้นะ แต่เขาก็เรียกอีก คนแคสติ้งคนนี้ไปทำเรื่องอื่นก็เรียก เหมือนเรียกมาออดิชั่น มันก็คือเป็นโอกาสในการได้งานทำ
ฟังดูแล้วก็มีกำแพงเยอะเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงต้องไปที่อเมริกาด้วย?
ตอนแรกเราไปเรียนแลกเปลี่ยนเมื่อปี 2005 ตอนนั้นอยู่ ม.5 ที่บ้านเราคุยๆ กันว่าไปอเมริกา แบบไม่ได้คิดอะไร แต่พอตอนหลังอยากไปสเปนแทนก็ไม่ทันแล้ว เขาโทรมาแม่ก็บอกไปว่าจะไปอเมริกา ก็ไป แล้วพอเราเคยมาอยู่ประเทศเขา สำเนียง ภาษา ก็ทำให้เรามีความคุ้นเคย พอเรียน ป.ตรี ก็มาเรียนละคร มันก็มีบรอดเวย์ อาจารย์ก็จบมาจากเมืองนอก มาจากนิวยอร์ก มีอังกฤษบ้างแหละ แต่เราไม่เคยไปอังกฤษ เลยไม่ได้นึกถึง ออสเตรเลีย แคนาดา ก็ไม่ได้นึกถึง
แล้วพอนึกว่าอยากเรียน ป.โท แล้วไปสอบ ก็นึกถึงแต่อเมริกา นิวยอร์ก คืออาจารย์จบมาจากแอคเตอร์สตูดิโอ เราก็อยากจะไปเรียนที่ที่อาจารย์จบมา ก็เลยตัดสินใจไปออดิชั่นที่อเมริกา เพราะนึกถึงละครเวทีต่างๆ แล้วภาษาเราก็พูดได้ ไม่ใช่ว่าไปเยอรมันแล้วพี่ก็พูดอะไรไม่ได้ ก็ตายไปอีก ก็เลยไปที่อเมริกา
พอได้มาเรียนมันยากมากเลย เรียนภาษาอังกฤษ ตอนที่ไปเรียนแลกเปลี่ยนกลับมาคนก็นี่สำเนียงอเมริกาหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ เราอยู่เมืองไทย เราก็อยู่ในเกณฑ์โอเคแล้ว แต่พอไปคือยากมาก แค่นิดเดียวเขาก็รู้แล้วว่าไม่ใช่เนทีฟ มันมีคนที่หน้าเหมือนเราแล้วพูดชัดแจ๋วเลย เพราะว่าเป็นเอเชียนอเมริกัน แล้วคือเขาจะเอาคนพูดไม่ชัดมาทำไม เขาก็เหมือน คือคนที่เอามาทำสำเนียงก็คือจริงๆ แล้วพูดชัดนะส่วนมาก แต่ว่าช่วงหลังๆ มันเริ่มเปลี่ยนแล้ว เริ่มเป็นแบบสำเนียงอะไรก็มา ก็เป็นความออริจินอล
แต่นึกภาพว่าถ้าบทของตัวละครที่เป็น คนเอเชียนอเมริกันที่เกิดมาในอเมริกา แต่รู้สึกว่าไม่ belong รู้สึกผิดที่ผิดทาง แล้วมึงพูดไม่ชัดมันก็ไม่ได้ มันก็คือผิด มันก็กลายเป็นว่าก็ต้องเอาคนที่เป็นเอเชียนอเมริกัน หรืออย่างน้อยมึงก็ต้องเนียนว่ามึงได้
ตอนแรกก็แย่มาก หูไม่ดี คือไปแรกๆ เราก็จะไม่รู้ เหมือนฟังสำเนียงของนิวยอร์ก ของชิคาโก ฟังไม่ออกเพราะว่ามันเหมือนกัน จนกระทั่งเพื่อนมาทักว่าจะมาเรียนสำเนียงอเมริกาหรือเปล่า เราก็แบบนี่ฉันไม่ได้พูดอยู่เหรอวะ เราก็เลยฝึกๆ ฝึกหนักมาก ร้องไห้ทุกวันเลยค่ะน้อง แล้วพอฝึกเสร็จ เรียนจบ ฉันก็แบบอ้าว กลับไปเมืองไทยพูดไทยเหมือนเดิม คือนึกภาพออกไหมว่ามันแบบ อุตส่าห์พยายามหนักมาก แล้วพอเรียนจบ เหมือนมันดีขึ้นนะ ดูไม่ออก คือเหมือนถ้าคุยกันแปบเดียว จะฟังไม่ออกว่าไม่ได้อยู่ที่นี่ ไม่ได้เกิดที่นี่ เราก็แบบเดี๋ยวคุยกับกูไปเรื่อยๆ มึงจะรู้ เดี๋ยวจะมีคำหนึ่งมันจะต้องหลุดออกมา เพราะว่าเราก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ฝึกๆ พยายามไป
แล้วพอตัดสินใจว่าขอลองนิดหนึ่ง มันก็เป็น Optional Practical Training (OPT) โปรแกรมที่อนุญาตให้นักเรียนต่างชาติที่มีวีซ่า F-1 ทำงานชั่วคราว เราอยู่ไปปีนึง เราก็เริ่มสร้างๆๆ พอมันสร้างขึ้นมา มันก็มีความต้นทุนจม นึกภาพออกไหมคะ เหมือนเราก็เดินลุยเลือดมาไกลขนาดนี้แล้ว เลยคิดว่างั้นก็อยู่ต่อไป ทำต่อไป ซึ่งจริงๆ แล้วพี่จบสายละครเวทีควรจะไปนิวยอร์ก แต่ว่าตอนนั้นก็คิดโง่ๆ ว่า L.A. มันใกล้ ก็เลยไป L.A. แล้วก็กลายเป็นว่าพอเป็น L.A. ก็เปลี่ยนเป็นทีวี หนัง โฆษณามากกว่า ก็เลยงงไปหมด
เห็นเคยพูดว่า อยากไปถึง Hollywood ด้วย ถือว่านั่นเป็นเป้าหมายของเราหรือเปล่า?
เอาจริงๆ นะ หลายคนอาจจะเห็นจากคลิปยืนเดี่ยว ที่เราพูดเรื่องหาบ้าน เรื่องจะต้องได้ออสการ์ เรารู้สึกว่ามันเป็นภาพจำที่คนรู้ว่า‘ออสการ์’ คืออะไร เหมือนที่คนรู้ว่าสุพรรณหงส์คืออะไร มันเห็นภาพชัดเจนพอพูดถึงรางวัล ไม่ใช่ว่าฉันอยากจะไปเล่นในหนังอะไรบางอย่างที่มีตัวละครที่มีความคิด มีนามสกุล คือมันเข้าใจยาก เราเลยเซทอะไรให้คนเข้าใจง่ายว่าหมายถึงอะไร
แต่จริงๆ แล้ว เราเป็นคนที่คิดว่า ‘ฉันจะต้องได้ออสการ์’ ไม่ได้อะไรขนาดนั้น เราชอบทำอะไรที่ทำแล้วสนุก ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตราวอย่างที่เราหวัง เราอยากทำงานกับคนเก่งๆ เราอยากทำงานที่เราทำแล้วภูมิใจ งานที่เราทำออกมาแล้วไปอวดคนอื่นว่าทำอันนี้มาแก มาดูเร็ว ไม่ใช่ว่าเหมือนเป็นทำงานที่ ไม่ดีเลย มึงอย่าดู เหมือนเพื่อนไปทำงานเขาก็จะ proudly present งานเขา ในขณะที่สมัยก่อนเราก็มีนะ สมัยเด็กๆ เราก็อาย เหมือนไปเล่นเสร็จแล้วเราก็รู้สึกว่าเราทำไม่ดี เราก็จะอายผลงานตัวเอง
แต่พอมาหลังๆ ก็รู้สึกอยากจะทำงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ที่พ่อแม่อยู่ไทยดูได้ เพราะว่าเรามาเล่นละครเวทีอยู่เมืองนอก พ่อแม่ก็ดูไม่ได้นะ ต้องบินมาแล้วฟังภาษาอังกฤษก็ไม่ออก แล้วก็เล่นปุ๊บมันก็จบเป็นรอบๆ คนที่เขามาดูเขาก็กลับบ้านกลับช่องไป เราก็นึกถึงเพื่อนพี่น้อง ตอนนั้นทุกคนฝากความหวังไว้รุ่นเราที่ไปเรียนแอคติ้งไกลถึงอเมริกา ต้องอย่างนู้นอย่างนี้ เราก็มีความฝากความหวัง แต่เราก็ … นั่นแหละเอาจริงๆ เราก็อยากทำงานไปเรื่อยๆ อยากมีงาน ถ้ามันเป็นที่รู้จัก มันดัง มันได้ทำงานหลายๆ อย่าง พอคนเราเขารู้จัก เขาจะเริ่มแคส เขาจะเริ่มเรียกไปทำงาน มันก็เลยเหมือนกับว่า นี่แหละเหตุผลที่อยากจะทำงานมากขึ้น อยากจะให้คนรู้จักมากขึ้น จะได้ไปทำงานต่อไป ไม่ใช่ทำงานนึงแล้วก็จบไป แล้วก็หายไปอีกปีนึงไม่มีงาน ประมาณนี้มากกว่า อยากทำงานที่มันมีความหมายกับเรา
เหมือนเราเซ็ตเป้าหมายเอาไว้กว้างๆ ให้คนเข้าใจง่าย แต่จริงๆ แค่อยากไปอยู่ในที่ที่ล้อมด้วยคนเก่งๆ ทำงานแล้วมีความสุข?
ใช่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่เก่งนะ เราก็รู้สึกว่าคนไทยเก่งมาก แต่ว่าคืออยู่ไทยแล้วไม่สวย บอกใครไม่มีใครเชื่อเลย แต่อยู่ไทยแล้วจะมีความติดตลก ก็จะต้องเล่นเป็นตลกน่าเกลียด พอไปอยู่โน่น เขาก็จะแบบว่า เล่นดราม่าก็ได้นี่ แต่พออยู่นี่คนก็จะรู้สึกว่าเราติดตลกหนักมาก คงจะเล่นดราม่าไม่ได้ เลยคิดว่าต้องชุบตัวสิ ไปอยู่โน่นก็ไปลอง จะได้ลองทำอะไรอย่างอื่น ไปดู ไปเปิดโลกกว้าง ไปดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันไปถึงไหนแล้ว เราก็อยากไปลองดู ก็เลยไป
มันเป็นภาพจำจากความ beauty standard ของวงการบันเทิงในไทยด้วยไหม พระเอกต้องหล่อ นางเอกต้องสวย ทำนองนั้น
เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของค่านิยมด้วยแหละ เราก็โตมาอย่างนี้ พอดูทีวีก็รู้สึกว่าอยากเห็นคนหน้าตาดี อย่างตอนที่เราดูซีรีส์เรื่อง Orange Is the New Black ไปตอนแรก ยังคิดเลยว่า ฉันจะต้องตามดูอะไรวะเนี่ย คนหน้าตาไม่ดีเป็นกลุ่มก้อนมาเล่าเรื่องยาวๆ ปรากฏพอดูไปเรื่อยๆ จากที่บอกว่าเขาหน้าตาไม่ดี มัยสวยทุกคนเลยว่ะ นึกภาพออกไหม เหมือนตามแล้วมันทำให้เราเห็นคนเป็นคนมากขึ้น แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าเราอินกับเรื่องนี้
มันก็จะมีเรื่องหลายแนว เรื่องมันก็หลากหลายเยอะมากด้วย เราก็ชอบแนวนั้น ชอบสไตล์การเล่าเรื่อง แล้วเราขี้ดูซีรีส์ฝรั่งด้วย ทีนี้เรามีโอกาสได้ออดิชั่นเรื่องเก๋ๆ พี่ไม่ได้หรอกนะ แต่เราได้ไปออดิชั่นหนังเรื่องนึงของดิสนีย์จะเอามาทำคล้ายๆ star wars กับอีกเรื่องคือ Glow ซีรีส์ของ Netflixแนท มันเป็นโอกาสที่ให้เราได้ทำอะไรแบบนั้นมากกว่า พออยู่ตรงนี้ นานๆ ทีจะมีหนังนอกเข้ามาที
แต่ก็มีเพื่อนเราที่เป็นคนไทยที่อยู่ที่นี่ ก็เล่นหนังนอกไปไม่รู้กี่เรื่อง เครดิตอเมซิ่งมหาศาล ซึ่งเหมือนกับว่าอยู่ที่เมืองไทยเราก็ไม่ได้มีเอเจนท์ ไม่ได้มีเมเนเจอร์อะไร เราก็หาเองไก่ก่าอาราเล่ไป มันก็ค่อยๆ โต ก่อนที่เราจะไปเรียนต่อ มันเป็นช่วงที่จริงๆ แล้วเราควรจะอยู่ต่อ ถ้าเราอยากจะทำที่นี่แล้วเติบใหญ่เหมือนเพื่อนเรา แต่เราเสือกไปเพราะว่าตอนนั้นก็อยากไปเรียน อยากไปรู้ เป็นพวกอยากไปเรื่อย ก็ไป พอกลับมาเขาก็เป็นเด็กรุ่นใหม่กันหมด ถ้าอยากจะทำอะไรเราก็ต้องพยายามกลับไปใหม่
ตอนที่ไปอเมริกา คิดถึงคำว่า American Dreams ด้วยไหม
ก็เป็นอะไรที่คนพูดถึงกันเยอะนะ แล้วมันก็จริง เราเห็นหลายคนนะที่เล่นละคร แล้วเก่งด้วยนะ แต่จากที่เขาเคยคิดว่าเขาอยากจะเป็นอย่างนี้ๆ เพื่อนๆ เขาก็เป็นดาราไปแล้ว สุดท้ายเขากลับมาเปิดโรงเรียนสอนแล้วเขาก็แฮปปี้ เกิดความความเปลี่ยนแปลงขึ้น เหมือนกับเราแหละ
แต่ก็มีจริงๆ คนที่จากแรกๆ ยังไม่มีอะไร ต้องทำไปเรื่อยๆ เหมือนอย่าง Awkwafina หรือ Constance Wu ที่เป็นนางเอกในเรื่อง Crazy Rich Asians ก็ทำให้คนได้รู้สตอรี่มากขึ้นในแง่ที่ว่า สมัยก่อนเขาเป็น nobody นอนอยู่ในรถ ไม่มีตังค์ เหลือตังค์ 5 บาท แล้ววันนึงก็กลายเป็นคนดัง เราคิดว่ามันคงเป็นอะไรแบบนี้ด้วยแหละที่ยังทำให้หลายๆ คนยังฝันต่อ ยังอยู่ ยังรู้สึกว่าสักวันอาจจะเป็นเรา
แล้วตอนนี้ ไฟในตัวคุณยังแรงอยู่ไหม
ตอนนี้มันมีเรื่องที่เราไม่รู้ว่า สรุปแล้วจะไปลงเอยยังไง ที่ไหน เราเคยคิดว่าอยากจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้ได้มากที่สุด แล้วถ้าสุดท้ายมันจะเปลี่ยนไปกลายเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่ได้กลับไปตามออดิชั่นที่โน่น ไปอยู่ยาวๆ แล้ว เราก็รู้สึกว่าก็คงไม่เลิกเล่นละครอยู่ดี ก็รู้สึกว่าเป็นนักแสดงมึงอยู่บ้านก็แสดงได้ ก็ทำเองก็ได้ หรือว่าไปแอคติ้งกับเพื่อนก็ได้ หรือว่าก็ไปแคสงานที่ไทยหางาน มีงานมาเมื่อไหร่ก็ทำ ก็อาจจะไม่ได้ทำเหมือนที่โน่นที่ต้องออดิชั่นทุกวัน เพื่อที่จะไปเล่นเรื่องนี้ 5 นาที เรื่องนี้ 5 นาที เพื่อที่จะรวมกันเป็นห้าเรื่อง แล้วแคสติ้งไดเรคเตอร์จำเราได้ พาเราไปเล่นบทที่ใหญ่ขึ้น คือเราอาจจะไม่ได้ทำแบบนั้นแล้ว สมมติว่ามาอยู่ที่นี่ แล้วต้องดูแลพ่อแม่ ต้องหาเงิน ต้องทำอย่างอื่น แต่ก็คิดว่าก็คงเล่นละครต่อไปอยู่ดี เพราะคิดว่าก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว
เห็นได้ไปเล่นซีรีส์เรื่อง NCIS: Los Angeles เป็นยังไงบ้าง
ตอนออดิชั่นก็ไม่คิดอะไรเลยน้อง ทำไปก็เอนจอย มันเป็นช่วงที่เราคิดว่าเราจะต้องเอนจอยกับการออดิชั่น ก็ทำๆ ไป แล้วคลิปนั้นก็เอนจอยนะ คลิปออดิชั่นสั้นมากน้อง พี่มีบทสองประโยค พอไปเล่นจริงตัดออกเหลือประโยคเดียว ประโยคเดียวคือ “Nah” คือพูดคำเดียว ซึ่งพอมันเอารูปมาลงโซเชียลมีเดีย มีคนเห็นนึกว่ากูเป็นนางเอก ไม่ใช่นะมึง กูไม่ได้เป็น series regular ไม่ได้อะไร ออกมาตอนเดียว แล้วก็ออกมาเป็นแค่เหมือนตอนเริ่มก็ต้องมีการเล่าเรื่องปูก่อนว่า นี่คือที่ไหน เกิดอะไรขึ้น ให้เห็น foreshadow อะไรประมาณนี้ พี่ก็อยู่ในช่วงนั้น แล้วพอแบบว่าคนในรถโดนจับเป็นตัวประกัน ฉันก็อยู่ข้างหลัง คือเขาก็ถ่ายไอ้คนที่มาปล้นรถ คนที่เป็นตำรวจ เป็นอะไร เราเป็นอะไรเล่นบทคนล้างจานที่มานั่งรถเมล์แล้วเปิดเพลงเสียงดัง เป็นคนไทย
ตอนที่ออดิชั่นก็ไม่ได้คิดอะไร ก็เพราะว่าเวลาที่ออดิชั่นแล้วเราคาดหวังเยอะมาก มันจะผิดหวัง แล้วจะผิดหวังวันนึง 7-8 รอบก็ไม่ไหว เลยออดิชั่นไปไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าได้ เขาก็เลือกเลย แล้วเราก็เป็นงานแรกที่ถือว่าเป็น National Commercial ก่อนหน้านั้นเคยเล่นโฆษณาแล้ว แต่ tactical ยังไม่เคยได้ แล้วได้ไปออกทีวี ได้ไปเล่นซีรีส์ยังไม่เคยได้ของที่โน่น ส่วนมากจะเป็นเกมโชว์ ซีรีส์ก็ไม่ใช่แบบที่มีบทแล้วเราเป็นตัวละครอื่น เป็นเรื่องแบบมี stories ยาวๆ เป็นซีรีส์อะไรแบบนี้ยังไม่เคย เลยตื่นเต้น representation agent manager เขาก็ตื่นเต้น เพราะถือว่านี่ไงเรื่องแรก พอมันมีเรื่องแรกมันเหมือนสามารถที่จะทำลายคำสาปได้ว่ามึงไม่มีงานลงได้ ทีนี้เวลาเขียนเรซูเม่มันจะได้มีเครดิตว่างานในอเมริกามีอันนี้ เพราะว่าเครดิตเก่าคือ 2014 ละครทีวีไทย เขาก็ไม่รู้เรื่อง
พอได้อันนี้มันก็ตื่นเต้น จะได้เครดิตได้ไปทำงานแรกสักที ได้ไปออกกอง ช่วงโควิดจะได้รู้ว่าเขาทำอะไรยังไง ไปเจอดารา ตอนแรกก็ไม่เคยดู NCIS: Los Angeles ฉันดูอย่างอื่น ก็ไปดูก็ได้เห็นระบบ ฉันก็เสือกนะ ไปถามตำแหน่งนี้ทำอะไรคะ เหมือนไม่มีอะไรทำฉันก็ไปถามไปศึกษาว่ากองถ่ายเขาทำอะไรกันบ้าง เพราะว่าก็เคยทำเบื้องหน้าเบื้องหลัง ก็สาระแนอยากไปรู้ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แล้วเขาก็ปฏิบัติกับเราดีเป็นแคสเลย เพราะว่ามันจะแบ่งเป็น extra แล้วก็นักแสดง ส่วนเราก็ได้ขึ้นมาเป็น costar ไม่ใช่ extra มีบทให้อ่าน มีเสื้อผ้าให้ลองก่อน แล้วก็ล้วงโควิดทุกวัน ล้วงก่อนจะไปเล่น ให้ล้วง 5 วันก่อนเล่น ทุกวันต้องเดินทางมาล้วง
พอไปเล่นก็ได้มีที่ของตัวเองเป็นเทรลเลอร์ที่อยู่ โอ้ย ตื่นเต้น ไม่เคยเป็นบ้านนอกเข้ากรุง ตื่นเต้นมาก ก็แฮปปี้ๆ เล่นออกมาก็รออีก เพราะตอนเล่นมันก็บอกใครไม่ได้ เขายังไม่ออน แล้วเราจะเอาคอนเทนต์อะไรของเขามาเปิดเผยมันไม่ได้ เราอยู่เงียบๆ ไป แล้วก็ลืม จนกระทั่งวันใกล้ฉาย ให้โปรโมตได้แล้ว เราก็ลงเฟสบุ๊ก ไอจี คนก็มาดีใจด้วย ก็กลายเป็นพูดขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง มาดีใจอีกระลอกหนึ่ง
ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี
ใช่ คือไม่ได้รู้สึกว่าฉันเป็นดาราฮอลลีวูดแล้วนะ ไม่สิมึง เล่นเป็น costar หนึ่งเรื่อง มึงต้องใจเย็น แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าสมมติว่าไม่รู้นะ…knock on wood ขอ ก็คิดว่าอยากทำอีก อยากได้ไปทำงานอีก แต่ถ้าชาตินี้จะไม่ได้ทำอีกแล้ว อย่างน้อยก็รู้สึกว่าก็ได้ลองทำมาทีนึง ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป
ถ้าอย่างนั้นมีหนังหรือซีรีส์เรื่องไหน ที่ถ้าเลือกได้อยากเล่น
คนชอบพูดเรื่องนี้ แล้วฉันก็ชอบดูจริงๆ ดูเยอะมาก แล้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าฉันจะไปอยู่ในเรื่องพวกนี้ได้ จนกระทั่งผู้จัดการก็บอกว่า ยูต้องรู้นะว่าอยากจะอยู่ในซีรีส์ไหน อยู่ในประเภทไหน มันต้องมีเป้าหมายนิดนึง คือเราก็จะต้องนึกว่าโอเค อย่างน้อยเราอยากจะเล่นซิทคอม อยากจะเล่น single camera comedy อยากจะเล่นซีรีส์ดราม่า คือมันต้องมีนิดนึง เราก็เหมือนคิดว่าอยากจะอยู่ในไหน คือตอนนั้นมันจะเพอร์เฟคมากถ้า Orange Is the New Black มันเพิ่งมา แล้วฉันจะทะยานอยาก แต่หนังก็จบไปแล้ว ที่อยากเล่นเพราะว่ากูสามารถอยู่ในคุกได้ (หัวเราะ)
แต่จำได้ว่าสมัยที่อยู่ ป.ตรี ก็ดู The L Word หนักมาก แล้วก็อยากจะไปอยู่ใน The L Word ซึ่งมันจบไปแล้ว แต่ปรากฏตอนที่ฉันไป มันจะสร้าง The L Word: Generation Q ขึ้นมา แล้วฉันก็ ตายแล้ว ทุกคนเด็กกว่าฉัน แต่ก็ไม่เป็นไร เอเชียเราหน้าเด็กเราต้องสู้ ก็อยากจะไปออดิชั่นเรื่องนั้น แต่ยังไม่ได้ออดิชั่น .. ชาตินี้ชาติหน้า สาธุ
เห็นได้ทำ stand up comedy ที่อเมริกาด้วย เป็นยังไงบ้าง มองจากมุมนี้คิดว่ามันยากมาก เพราะต้องเล่าเป็นภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเราด้วย
ใช่เลย เรื่องมันเริ่มจากที่เราว่าง เป็นช่วงที่เริ่มทำเรื่องบ้าน เรื่องใบเขียว แล้วเราก็ต้องไปเรียนแอคติ้งบ้าง เรียนแอคติ้งมาตั้งแต่ ป.โท มันเหมือนอยากเปลี่ยนบ้าง อยากหาไปเรียนว่าเขาทำอะไรกัน ที่อเมริกาก็จะมี community stand up ยิ่งใหญ่ เราเลยคิดว่า ลองไหม เลยไปลองเรียนดู เขาก็สอนๆ มา แล้วเพื่อนเราเก่งมากนะ เราจะเขินๆ นิดนึง เพราะมันไม่ใช่ภาษาของเรา แต่ก็ได้พูดโชว์เคสของเรา
พอทำเสร็จแล้วก็มีมาอีก มีงานเล็กๆ น้อยๆ เขาก็เรียกเราไป 2-3 งาน แล้วก็เขียนอันใหม่ เรามีความประสาทแดกทุกครั้งที่จะต้องทำ เพราะกลัวๆ มันยังเพิ่งเริ่มๆ เราไป open mic ทุกวัน คือสายนี้ต้องทะยาน ต้องไปทุกวัน ต้องไปเจอคนดู เขายังบอกเลยว่าเราต้องมีชั่วโมงบินมากกว่านี้
อย่างอยู่ไทยเราพูดจาตลกโปกฮากับคนไทย เราชิน แต่พอไปอยู่โน่นเราก็อายมากเลยช่วงแรก พี่ไม่คุยกับใครเลย เพราะฉันก็คิดไปเองว่าเขาจะไม่อยากคุยกับฉันหรือเปล่า เขาฟังฉันไม่รู้เรื่อง หรือเล่นมุขอะไรไปเพื่อนก็จะ “ฮะ ว่ายังไงนะ” แล้วคือมันแป้ก พอเล่นไปแล้ว แล้วมึงไม่เข้าใจจะต้องมาอธิบายมุก โอเค the moment has passed ก็เลยไม่ได้ proudly present ในความสแตนด์อัพอะไรที่อเมริกา
จนกระทั่งไปเรียนแล้วก็ทำโน่นทำนี่ ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตอนนั้นแฟนเขาก็แบบ ทำสิๆ ตลกนะ เราก็พยายามนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้มุ่ง คือถ้ามุ่งมันต้องทำเยอะๆ แล้วเราทำไม่เยอะ เราทำแบบมีโอกาสทำ
แล้วพอมาช่วงก่อนที่จะกลับมารอบสอง มันมีเพื่อนที่เราไปรู้จักไว้เมื่อนานมาแล้ว แล้วเขามาตั้งกลุ่มของตัวเองชื่อว่า Crazy Woke Asian เป็นเหมือน Stand up comedy คนเอเชียหมดเลย มีอินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เกาหลี ตอนแรกก็ไม่ค่อยเห็นคนไทย พอไปเจอก็ดีใจมาก แล้วก็เป็นเวทีสุดท้ายที่ได้ไปทำ ซึ่งมันเป็นเทศกาล 2-3 วัน มีกรรมการ America’s got talent เก๋ๆ เราก็ได้ไปดูคนอื่น ได้ไปดูว่าเขาทำยังไง มันก็ไม่ใช่เทศกาลใหญ่อะไร มีคอมเมเดียนดังๆ บินมาจากแคนาดาก็มี แต่คอมเมเดียนจ่ายตังค์ตัวเอง เพื่อบินไป ให้คนได้รู้จักเราให้สร้างคอนเนคชั่น ให้รู้จักคนจัด รู้จักกันไว้ มันก็ได้คอนเนคชั่นต่อจากนั้นนะ เพื่อนก็เหมือนแบบยู stage presence ดี แต่ต้องมีชั่วโมงบินเลย มาๆ ไอจัดเรื่อยๆ เดี๋ยวเชิญมา ชวนมา เป็นเล่าคอมเมดี้ แล้วก็ร้องคาราโอเกะ แต่ว่าก็ยังไม่ได้ไป กลับมาก่อน ก็เหมือนรู้สึกว่าถ้าจะทำ stand up มันต้องทำเยอะๆ
แล้วส่วนตัวมองว่า มันเป็นที่ทางสำหรับเราไหม
ถ้าที่อเมริกาก็ไม่ขนาดนั้นนะ เพราะว่าเราไม่ได้อินมาก คือเราชอบดูคนอื่นนะ แต่ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะรู้สึกไม่ถนัด ภาษาเขาด้วย มุกหรืออะไรแบบนี้ ไม่รู้ มันยังไม่ไปถึงจุดที่เรารู้สึกว่าฉันจะต้องมากกว่านี้ เหมือนออดิชั่นทีวี หนังอะไรไปตอนนั้น เราก็ทำบ้างเมื่อมีโอกาส พอตัดสินใจว่าจะไปทำโชว์นี้ทีนึง เราก็ไป open mic บ่อยๆ เพื่อที่จะไปได้เจอในคอมมูนิตี้ ไปซ้อมมุก ไปดูรีแอคชั่นคน ไปฝึก interact กับคน ไม่งั้นมันก็จะเหมือนพูดอยู่กับเก้าอี้ มันไม่ได้ ต้องอยู่กับคนดู แล้วเราก็รู้สึกว่าถ้าตรงนั้นก็อาจจะยังไม่คลิก
แต่ที่เมืองไทยสนุก ไม่รู้เหมือนกันมาทำที่เมืองไทยแล้วสนุก ก็คิดว่าอาจจะมีเดี่ยวอีกรอบหนึ่ง เราเคยมีเดี่ยวไปรอบปีที่แล้วที่ทำ Tangmo Bless America ก็เป็นเหมือนกับว่า ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลยเพื่อนมาชวนหลังจากยืนเดี่ยว แล้วก็รู้สึกว่าถ้าไม่เล่าตอนนี้ จะไม่เล่าแล้วนะ เพราะรู้สึกว่าเหมือนแบบ ชีวิตมันก็มูฟออนมาแล้วจะมาเล่าเรื่องเก่าๆ มันก็เบื่อแล้ว ตอนนั้นก็เลยทำเสียหน่อย ได้ทำรอบเดียวก็ทำ ซ้อมอยู่นาน มารอบนี้เพื่อนก็บอกเขียนบทได้แล้ว ทำสองได้แล้ว แต่ก็ยังวุ่นวายชีวิตอยู่ มีไอเดียบ้างแล้วแหละว่าอยากจะเล่าเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งก็รอดูไปว่ามันจะได้เมื่อไหร่พี่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะทันเวลามั้ย สำเร็จมั้ย ต้องยังไง ตอนนี้ชีวิตไม่แน่นอนนิดนึง
หลายคนมองว่าที่ทางสำหรับอาชีพแบบนี้ในไทย ดูมีโอกาสน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ มองว่ายังไงบ้าง
อย่างเรื่องสแตนด์อัพเราว่ายังไงที่โน่นก็มีโอกาสมากกว่า เพราะว่ามันจริงจัง เป็นทัวร์ บางคนเราไม่เคยเห็นเลยนะ แต่เขาก็ดังของเขา มีทัวร์ มีแฟนคลับ มันมีทาง ในขณะที่ประเทศไทยมันเหมือนเป็นการก้าวกระโดด มีกลุ่มยืนเดี่ยวนะ แล้วก็มีพี่โน๊ส-อุดม แต้พานิช ถ้าว่าระหว่างทางมีไหม มีกลุ่มไหนที่จะสแตนด์อัพไปทัวร์ตามจังหวัดต่างๆ ก็ยังไม่มีขนาดนั้น
เหมือนคนก็ไม่รู้ว่าจะเอาตลกไปทำอะไร ตลกก็ไปอยู่ในคาเฟ่ หรือก็ไปทำคลิป TikTok
เราคิดว่ามันอาจจะยังไม่มีที่ลง คนดูก็อาจจะยังงงๆ ว่าแล้วคุณเป็นใคร ฉันจะต้องจ่ายค่าตั๋วมาดู ฉันไม่รู้จักคุณ ฉันรู้จักโน๊ส อุดม ฉันดูเขาได้แล้วทาง Netflix เราอยู่บ้านดูยูทูป ดูติ๊กตอกฟรีๆ ดูละครทีวีมันก็มีเอนเตอร์เทนเมนต์ของเขาแล้ว เขาอาจจะไม่ได้นึกถึงความจะออกจากบ้านมาดูคนเล่าเรื่องตลกกันสดๆ
เรารู้สึกว่ามันอาจจะยังเป็นอะไรที่ต้องสร้าง ต้องบอกว่า คนทำไม่สำคัญเท่าคนดู ถ้ามันมีคนดูยังไงก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้มีคนทำเยอะมาก แต่ว่ากลุ่มคนดูส่วนมากก็ยังอัฐยายซื้อขนมยายกันอยู่บ้าง เหมือนมันก็ต้องไปชวนเพื่อนนอกวงการมาว่า “เห้ย แกมาดู” เพื่อนเราบางคนยังไม่รู้เลยว่าเขามีเล่าสแตนด์อัพกันเหรอ คือมันยังไม่รู้ มันยังไม่กว้างหรือเปล่า ตอนนี้ก็มีหลายคนที่เริ่มทำช่องยูทูป หาช่องเล่าเรื่อง เล่าตลก ให้คนดูได้รู้จักมากขึ้น มันก็อาจจะมีทางไปมากขึ้น เป็นช่วงที่กำลังเติบโตกำลังหาทางต่อ
ที่บอกว่าเกี่ยวกับคนดู คิดว่าทำไมคนดูถึงยังไม่กว้างเท่า เป็นเพราะว่าเรามีทางเลือกน้อยรึเปล่า
เรารู้แล้วว่าทางเลือกเยอะมากเกินไป ไม่หรอกคือมันมีหลายอย่าง ทำอะไรก็ได้แล้วสมัยนี้ คนเรานั่งอยู่บ้านตัด TikTok ไปดิ ตัดไปได้ดูรอบโลกตลกแล้ว เรารู้สึกว่าวัฒนธรรมการดูอะไรสดๆ มันอาจจะยังไม่มากเท่าที่โน่นหรือเปล่า สมัยก่อนเราอาจจะดูลิเก ดูอะไรกันสดๆ แต่อย่างช่วงที่เราโตมา กว่าจะรู้ว่าละครเวทีคืออะไรก็อายุ 20 ปีกว่าแล้วนะ คนอื่นอาจจะรู้แต่อย่างเราเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดา พ่อแม่เราก็ไม่ดูละคร แล้วเราก็ไม่รู้เรื่อง มาเข้าเอกละครก็คืองงๆ ไม่ได้รู้มาก่อน นึกภาพว่าวันหยุดครอบครัวพาไปไหน ไปดูหนังเมเจอร์ ถ้าไม่ได้เรียนเอกละครเราก็คงไม่ดูละครนะ
อย่างของเราก็มาซึมซับทีหลังในการที่จะเริ่มออกไปดูอะไรสดๆ ข้างนอกแล้วชอบ บางคนดูอะไรก็จะดู บางคนไม่ดูก็คือไม่ดู ไม่เอา ไม่ใช่ทาง เรารู้สึกว่าตรงนี้มันก็ต้องค่อยๆ สร้างกันไปให้มันเกิดความเชื่อว่ามาดูแล้วมันไม่ได้ไก่กา
คือนึกภาพว่าถ้าบางทีออกนอกบ้านมาแล้ว เสียค่ารถ แต่งตัวมาดู จ่ายค่าบัตรเอาคืนไม่ได้ มาดูใครก็ไม่ค่อยแน่ใจ ไลน์อัพมีอยู่ 10 คน รู้จักคนเดียว แล้วมาดูบางคนเราไม่ขำ หรือว่าบางคนไม่ใช่แนวของเรา หรือว่าวันนั้นดูแล้วผิดหวัง เขาก็จะไม่อยากมาอีก เราก็เลยรู้สึกว่าบางทีมันก็เป็นรสนิยมด้วย ก็ยากเหมือนกัน เราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปในแนวไหนถึงจะเติบโตได้ ก็นี่แหละค่ะ เมืองไทยก็เลยต้องการ art management ที่จะมีคนมาจัดการเรื่องนี้สักที
หรือว่ามันเป็นเพราะราคาแพง เลยทำให้เข้าถึงยากด้วยหรือเปล่า
ใช่ แต่ว่ามันก็ต้องนึกถึงการสร้างด้วย ถ้าคนเราจะมามีชีวิตอยู่ตรงนี้ได้ มันก็จะมีความก็ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ถ้าทำกันยิ่งโปรดักชั่นเล็กของมันยิ่งแพง สั่งเสื้อ 1,000 ตัว ตัวละเท่าไหร่ สั่งเสื้อ 100 ตัว ตัวละเท่าไหร่ จ่ายค่าบล็อกเพิ่มด้วย แล้วถ้าเขาอยากจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ค่าตั๋วก็ต้องแพง แต่ถ้าทำถูกมากๆ ก็อยู่ไม่ได้อีก เพราะว่าคนก็น้อยอยู่แล้ว ก็ยากว่าเอายังไงดี
อยากให้มีการซัพพอร์ทแบบไหน
ซัพพอร์ทคนดู ให้คนดูมาดูให้ได้ ไปพาคนดูให้มาดูให้ได้ ให้ดูฟรีก็ได้ แต่ว่าเราต้องได้เงินหน่อย คือตอนนี้เอาเงินไปซัพพอร์ทอาร์ติส อาร์ติสก็ทำงาน แล้วยังไง มันไม่มีใครดู คืออาร์ติสมีเงินอยู่ได้ปานกลาง แล้วมันไม่มีคนดู มันไม่สร้างฐานคนดู มันก็ไม่รอด ถ้าคนดูเริ่มออกมาจากบ้านมาดูแล้วชอบ เดี๋ยวก็มา ถ้าเขามาเดี๋ยวอาร์ติสก็มีเงิน คือเรารู้สึกว่าตอนนี้มันต้องสร้างคนดู ไม่รู้นะ ฉันอะไรไม่รู้ฉันรักคนดูก่อน เคยคุยกับอาจารย์ที่ภาควิชาเมื่อนานมาแล้ว อาจารย์พูดเลยว่าเราต้องสร้างคนดู
ถ้ามีเงินก็เอาไปสปอน เอามาให้หมด เด็กมัธยม เด็กมหาลัย ม.ปลายอะไรเอามาให้หมด สร้างตั้งแต่ยังเด็กๆ ให้รู้จักว่ามันคืออะไร ให้รู้จักว่ามันมีสิ่งนี้นะ ออกมาจากบ้านแล้วมาดู มาจอย เราทำได้ โตมาชอยส์นี้มันเป็นชอยส์ที่เราทำงานตรงนี้ได้
แต่ว่าตอนนี้พี่รู้สึกว่าคิดอะไรไม่ออก สร้างคนดูก่อน บางทีคนดูเป็นเด็ก ไม่มีเงิน ก็ไม่มีตังค์มาดู ก็ตัด TikTok อยู่บ้าน ก็เอามาดู ให้เงินบอกว่าดูฟรี ไม่รู้นะ เพราะว่าถ้าเป็นสปอนเซอร์ที่จองมาเป็นรอบๆ เอาไปให้พนักงานตัวเองดู บางทีก็ไม่มา แล้วมันก็กลายเป็นโรงว่าง เล่นให้ผีดู แต่ได้ตังค์นะ ก็ไม่โอเค เรารู้สึกว่าเอาตังค์มาให้เด็กเรียกมาเลยโรงเรียนวัดหนองกุดแก้วอะไรเรียกมา แล้วก็ให้มาดู ก็ให้รู้ มันต้องสร้าง fanbase ตั้งแต่ยังเป็นแต่อ้อนแต่ออก ให้เด็กได้รู้ก็จะได้สืบต่อกันต่อไป เอาไปทำกันที่โรงเรียน ก็จะได้รู้ว่ามันมีอยู่นะสิ่งนี้
ตอนนั้นเราเคยไปทำงานกับกลุ่มละครกลุ่มหนึ่ง ก็เป็นกลุ่มละครของคนแอฟริกัน-อเมริกัน คือเด็กแอฟริกัน-อเมริกัน บางทีก็ครอบครัวยากจนเพราะว่าด้วยโครงสร้างทางวัฒนธรรมหลายอย่างมันถูกกดมาหลายเจนเนอเรชั่น ทำให้เงยหน้าขึ้นมาไม่ได้เร็วเท่าคนขาวที่เป็นนายตั้งแต่เจนเนอเรชั่นแรก เหมือนพ่อแม่รวย ลูกก็มีโอกาสมากกว่าลูกที่มีพ่อแม่จน แล้วเด็กพวกนี้ก็ไม่ค่อยมีโอกาส แล้วก็จะไปติดยา ไปทำอะไรไม่ดี เขาก็บอกว่าไม่ต้องติดยามาอยู่โรงละคร มาดูละคร คิดอะไรไม่ออกมึงแร็ป เสร็จแล้วก็แร็ปสร้างละครเด็กแร็ป คือมันกลายเป็นอะไรที่สร้างสรรค์มาก
มีเด็กหลายคนที่อนาคตจะไม่ไหวแล้ว โดนบุลลี่หนักมาก จะฆ่าตัวตายแล้ว มีเพื่อนเราหลายคนที่ตอนเด็กๆ ไม่ไหวแล้ว แล้วละครมาช่วยชีวิตไว้ได้ สุดท้ายก็เรียน ขยันอยากจะเรียนต่อด้านนี้ จนมาจบ ป.โทที่โรงเรียนเดียวกัน แล้วคือตอนนี้ก็เล่นละครเวที Shakespeare Oregon เก๋ๆ เว่อๆ ไปเลย คือละครมันก็สร้างคนได้ คิดว่าถ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้เด็กไม่ติดยาเสพติด คล้ายๆ กีฬา เหนื่อยเหมือนกันนะ โซโล่ 3 ชั่วโมง เหนื่อยเหมือนเลี้ยงบอลรอบสนาม เลี้ยงไปเรื่อยๆ มันก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่า ก็ควรจะส่งเสริมเยาวชนให้ลองทำอะไรแบบนี้บ้าง ไม่ชอบก็ให้มาเป็นคนดู ส่งเสริมกันไป
เหมือนเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้คนได้เข้าถึงสิ่งนี้ด้วย
คิดดูสิถ้าไม่มีคนเตะบอล ไม่มีคนดูบอล มันจะมีไหมฟีฟ่า ไม่มี ที่มันมีเพราะอะไร เพราะโรงเรียนต่างจังหวัดเมืองไทยเขาก็เตะบอลกัน บอลพลาสติกกิ๊กก๊อกเด็กก็เล่น เล่นเสร็จแล้วยังไง ก็ต้องดู เล่นแล้วก็ไปดูคนเก่งๆ เขาเล่น พอไปดูคนเก่งๆ เล่น สนุก มันอะดรีนาลีนหลั่งไหล เฮฮา อยากจะไปดูทีมเมืองนอกก็ไป นักบอลได้เงินเดือนเท่าไหร่ แต่ว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนั้นเขาก็ทะยานอยากมานาน เขาก็ต้องซ้อมก็ต้องฝึก ไม่ใช่ว่าออกมาจากท้องแม่แล้วก็เดาะบอล ก็เป็นหนทางเหมือนกันนักแสดงทำงานบันเทิงก็เหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าบางสายที่คนยังไม่รู้จัก เป็นเรื่องปกติที่จะไม่มีใครดูมาก
คิดว่าอีกนานไหมกับการที่ภาครัฐเขาจะสนับสนุนให้วงการศิลปะเฟื่องฟูได้จริงๆ ในบ้านเรา
เราก็รู้สึกว่ายังเป็นอย่างที่อาจารย์ท่านนั้นบอกไว้ว่าการที่คนจะมาเสียเงินกับอะไรเพื่อบันเทิงจรรโลงใจ มีเงินมาเปย์ให้กับอะไรเพื่อที่จะมาจรรโลงตัวเอง เขาก็ต้องรอดก่อน มันเป็น #ต้องรอด เราก็เลยรู้สึกว่าอาจจะต้องไปควบคู่กัน เราคงตอบไม่ได้หรอกว่าอีกนานไหมที่มันจะเกิดขึ้น เพราะว่านโยบายอะไรเราก็เปลี่ยนแปลงวันต่อวัน แล้วก็ด้วยสถานการณ์โควิด จะมาเปิดการแสดงสดเยอะๆ มันก็อาจจะเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมาได้
เรารู้สึกว่าถ้าเราค่อยๆ ทำไป ควบคู่กับการที่เศรษฐกิจ ประเทศชาติ ประชาชนมีงานมีการ สามารถเอาเงินเจียดมาส่วนหนึ่งเพื่อที่จะเป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ให้ตัวเอง แล้วเขาจะเลือกตรงนี้ แทนที่จะเอนเตอร์เทนเมนท์ให้ตัวเองจะทำอะไร แล้วมันมีชอยส์ 1-4 ตอนนี้การแสดงสด ละครเวที สแตนด์อัพคอมเมดี้หรือใดใด อาจจะยังไม่ถูกเลือก เราก็เลยรู้สึกว่า มันต้องเลี้ยงไปคู่กัน แล้ววันใดที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยอยู่ในยุคที่คนเขาพอจะมีเลี้ยงตัวเอง แล้วเผื่อแผ่มาในจุดนี้ แล้วเราเป็นชอยส์หนึ่งของเขา เราว่าถึงวันนั้นมันก็จะเกิด
ตอนนี้มันก็มีอยู่ แต่ว่าคนที่ดูทุกวันนี้ก็คือ ไม่กินข้าว อดข้าวมาดู ก็รู้สึกว่าต้องไปด้วยกัน วันใดที่อย่างแรกมันได้ เราก็น่าจะดีขึ้น