ช่วงนี้เราจะได้เห็นการ์ตูนเก่าหลายๆ เรื่องมีโอกาสกลับมาเขียนภาคต่ออีกครั้ง และพอได้เห็นชื่อของมังงะดังเหล่านั้นก็รู้สึกหัวใจพองโตราวกับได้เห็นเพื่อนเก่า
แต่ที่นักเขียนบางคนกลับมาเขียนงานก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘หวังเกาะบุญเก่า’ กันอย่างเดียว การกลับมาของมังงะแต่ละเรื่องมีเหตุผลต่างกัน ทั้งจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลับมาเพื่อต่อยอด หรือการมาถึงของเทคโนโลยีที่ทำให้มังงะเรื่องเก่าๆ ได้คืนชีพ
The MATTER มาพูดถึงมังงะที่ครั้งหนึ่งเคยจบไปแล้ว แต่นักเขียนเอางานเหล่านั้นมาเขียนต่อในช่วงปี 2018-2019 เผื่อใครยังไม่รู้ว่าการ์ตูนที่เคยผูกพันได้กลับมาแล้ว
คินดะอิจิ 37 กับคดีฆาตกรรมปริศนา – กลับมาขยับเนื้อเรื่องให้เหมาะกับฐานลูกค้า
เทียบกับการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่ยกมาพูดถึงครั้งนี้ ความจริง คินดะอิจิ ฮาจิเมะ ผู้มีปู่เป็นนักสืบชื่อดัง (จริงๆ น่าจะรู้กันแล้วแหละว่าคือใคร แต่ช่วงหลังเคยมีการทักท้วงจากภรรยาผู้แต่งและสำนักพิมพ์ของซีรีส์รุ่นปู่ เลยมีการลด/ละ การเรียกชื่อคุณปู่แบบเต็มๆ ไป) ไม่ได้หายหน้าหายตาจากคนอ่านเท่าไหร่นัก เพราะคนเขียนมักจะเขียนภาคแยกออกมาเป็นระยะๆ
จนกระทั่งมีการประกาศในช่วงปลายปี 2017 ว่า คินดะอิจิจะทำการเขียนภาคต่อจริงๆ ของเรื่องนี้ โดยจะมีการข้ามเวลาในท้องเรื่อง หรือ ไทม์สคิป (time skip) เป็นเวลา 20 ปี ทำให้ ก่อนที่จะเริ่มตีพิมพ์ภาคต่อในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 และใช้ชื่อภาคว่า ‘คินดะอิจิ 37 กับคดีฆาตกรรมปริศนา’
ในภาคนี้ คินดะอิจิ ฮาจิเมะ กับนานาเสะ มิยูกิ กลายเป็นคนทำงานเต็มตัววัย 37 ปี เรื่องเริ่มต้นว่า ตัวของคินดะอิจินั้นไม่อยากไขคดีฆาตกรรมใดๆ อีกแล้ว ทั้งที่ในอดีตเขาไขคดีมามากมาย แต่คิดหรือว่าชะตากรรมในการเจอคดีแปลกประหลาดจะหยุดอยู่แค่นั้น เพราะสุดท้ายเขาก็เจอคดีลึกลับเข้าจนได้ และสุดท้ายก็ทำให้คินดะอิจิต้องกลับไปเจอเจ้าตุ๊กตานรกที่ตอนนี้ถูกจับกุมตัวอยู่ในคุกอีกครั้ง แต่ยังทิ้ง ‘สาวก’ ที่ก่อคดีฆาตกรรมได้อย่างฉลาดเฉลียวอยู่ในสังคมภายนอก
เหตุแห่งการปรับภาคต่อให้เปลี่ยนวัยไปเล็กน้อยก็คงไม่ใช่อะไรมากกว่าการที่การ์ตูนเรื่องนี้มีอายุย่างเข้าวัย 27 ปี แล้ว ฐานคนอ่านที่เคยอ่านภาคแรกสมัยเด็ก ตอนนี้ก็กลายเป็นคนวัยทำงาน การปรับเรื่องและย้ายมาตีพิมพ์ในนิตยสารสำหรับวัยนี้จึงเป็นอะไรที่เมกเซนส์กว่า ผลก็คือแรงจูงใจของคดีในภาคใหม่นี้ไม่ได้ออกมาในโทนขาวจัดดำจัด การเขียนภาพบางฉากถึงลูกถึงคนมากขึ้น และเนื้อเรื่องก็สามารถเล่าปัญหาชีวิตแบบคนทำงานได้อย่างไม่รู้จักเคอะเขิน
ที่น่าสนใจนิดหน่อยก็คือ ตอนนี้ที่เรื่องราวดำเนินมาพักใหญ่แล้ว มิยูกิที่เป็นนางเอกยังไม่ได้ปรากฏตัวออกมาแบบเต็มๆ เสียที ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นปมให้คนอ่านติดตามต่อไปว่า บางที 20 ปีในท้องเรื่องอาจจะไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางลงเอยกันเสียทีนั่นละ
ทวินซิกแนล – กลับมาอีกครั้งในยุคที่มี crowdfunding
ทวินซิกแนล เล่าเรื่องของเด็กชาย โอโตอิ โนบุฮิโกะ ที่ย้ายไปอยู่กับปู่นักประดิษฐ์ และกำลังสร้างหุ่นยนต์ต่อสู้ที่ชื่อ ซิกแนล ด้วยความเป็นเด็กทำให้โนบุฮิโกะพยายามเกลี้ยกล่อมปู่ให้แก้โปรแกรมซิกแนล มาเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่พี่ชาย แต่กลายเป็นว่าโปรแกรมเกิดผิดพลาดทำให้ซิกแนลยังคงเป็นหุ่นต่อสู้ และหากโนบุฮิโกะจามขึ้นมา ซิกแนลจะเปลี่ยนร่างเป็นซิกแนลตัวเล็ก โดยหลังจากนั้นโนบุฮิโกะกับซิกแนลก็ต้องจับคู่กันรับมือกับหุ่นยนต์ตัวอื่นและสิ่งประดิษฐ์ประหลาดๆ มากมาย
มังงะแนวตลกไซไฟปนด้วยแอ็กชั่นเรื่องนี้ได้รับความนิยมระดับหนึ่งจนถูกสร้างเป็นอนิเมะความยาว 3 ตอน และจบภาคแรกไปเมื่อปี 2001 แถมยังมีแฟนคลับที่ติดใจกับผลงานการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จนเวลาผ่านไป 17 ปี ในช่วงเดือนเมษายนปี 2018 อาจารย์ Oshimizu Sachi ได้เปิดการระดมทุน (crowdfunding) ผ่านเว็บไซต์ Campfire ของประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าหมายเป็นเงินทุนจำนวน 4 ล้านเยน ก่อนที่การระดมทุนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงด้วยยอดเงิน 17,677,500 ล้านเยน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมปีเดียวกัน Twin Signal Biennial ได้ถูกตีพิมพ์ลงในแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์อ่านการ์ตูนแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม
ในช่วงหลังนี้เริ่มมีนักเขียนมังงะหลายคนใช้วิธีการระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเขียนภาคต่อหรือภาคแยกของมังงะสร้างชื่อของตัวเอง เงินที่รับมาจากการระดมทุนส่วนหนึ่งใช้เพื่อซื้อสิทธิ์ของผลงานภาคต้นให้กลับมาอยู่ในมือของผู้เขียนเอง (ในกรณีที่สิทธิ์ของผลงานเดิมอยู่กับทางสำนักพิมพ์) ใช้เป็นเงินทุนในการเจรจาหาสถานที่ตีพิมพ์ผลงานเรื่องใหม่ เงินทุนในการว่าจ้างผู้ช่วยและอุปกรณ์ ไปจนถึงเงินทุนในการผลิตสินค้าที่จะมอบให้กับผู้ร่วมระดมทุนด้วย
จริงอยู่ว่าวิธีการระดมทุนนี้เป็นวิธีที่ดีสำหรับมังงะเรื่องดังๆ ในอดีตที่คนอ่านหลายคนอยากอ่านต่อ แต่ก็มีมังงะหลายเรื่องที่เปิดระดมทุนแล้วไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน
แฟรี่เทล – กลับมาต่อยอดซีรีส์ให้ขายสินค้าต่อได้
ปี 2017 อาจารย์ Hiro Mashima ได้ทำการเขียนตอนจบของ Fairy Tail ก่อนที่จะเปิดตัวมังงะเรื่อง Eden’s Zero พร้อมกันหลายประเทศทั่วโลกในปี 2018 และก่อนที่งานเรื่องใหม่จะออกตีพิมพ์นั้น อาจารย์ก็เคยบอกเองว่าเขามีแผนจะทำ ‘เรื่องต่อ’ ของ Fairy Tail เอาไว้แล้ว
จากนั้นในเวลาไม่นานนักก็มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในชื่อ Fairy Tail 100 Years Quest แต่เพราะอาจารย์ Hiro Mashima ติดเขียน Eden’s Zero อยู่ จึงทำหน้าที่แค่แต่งเรื่องแล้วยกให้อาจารย์ Ueda Atsuo เขียนภาพแทน
หากถามว่าอะไรคือเหตุผลให้เข็นเนื้อเรื่องต่อออกมา แม้ว่าผู้เขียนท่านเดิมจะไม่ได้วาดแล้วก็ตาม ตรงนี้อาจจะต้องมาดูในฝั่งของสื่ออื่นๆ กันด้วย อย่างเช่น ในส่วนของหนังสือการ์ตูน Fairy Tail ภาคหลักมียอดขายฉบับรวมเล่มเฉลี่ยต่อเล่มอยู่ราวๆ 4-5 ล้านเล่ม หรือถ้าย้อนดูข้อมูลของทาง Oricon ในปี 2016 Fairy Tail ทำยอดขายได้ราว 2,719,478 เล่ม (ซึ่ง Oricon ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลที่ขายผ่านหน้าร้านที่ตรวจสอบได้เท่านั้น ยังไม่นับรวมร้านค้าออนไลน์หรือ e-book หลายเจ้าที่ไม่ได้ร่วมส่งข้อมูลให้) และในปี 2019 นี้ ตัว Fairy Tail ฉบับอนิเมะก็ยังคงฉายทางโทรทัศน์อยู่
เมื่อการ์ตูนยังมีความนิยม แล้วก็ยังมีสินค้าอื่นๆ วางจำหน่ายในตลาดอยู่ไม่น้อย การที่เข็นเรื่องต่อออกมาก็เพื่อให้มีการต่อยอดและยังขายสินค้าได้นั่นเอง กรณีที่ใกล้เคียงกันที่หลายท่านน่าจะคุ้นเคยก็จะเป็นของ Boruto – The Next Generatons ที่ต่อยอดเรื่องราวของ Naruto นินจาคาถาโอ้โฮเฮะนั่นเอง
จังหวะร็อคดนตรีรัก – กลับมาเพื่อเปิดทางให้สื่อในโปรเจกต์ต่อไป
มังงะของอาจารย์ Shinjo Mayu ที่เล่าเรื่องของ ยูคิมูระ ไอเนะ นักแต่งเพลงมือใหม่ที่จู่ๆ ก็โดนวงดนตรีร็อคชื่อดังอย่าง Lucifer เอาเพลงไปใช้อย่างกะทันหัน และเมื่อเธอบุกไปทวงเครดิต โอโคจิ ซาคุยะ นักร้องนำของวงผู้มีดวงตาสีฟ้า ได้เห็นความสามารถของเด็กสาวและเกิดสนใจในตัวเธอขึ้นมา เลยดึงตัวให้ไอเนะมาทำงานต่อโดยใช้นามปากกาเป็นชื่อผู้ชาย และความสัมพันธ์ของทั้งสองคนก็เดินหน้าจากคนร่วมงานกลายเป็นคนรู้ใจในที่สุด แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ขัดขวางทั้งสองคนอยู่
การ์ตูนเรื่องนี้สร้างกระแสอย่างมากเมื่อครั้งที่ตีพิมพ์ และมีการสร้างสื่อผสมแบบจริงจัง โดยมีการฟอร์มวงดนตรี Λucifer และ e.MU ขึ้นมาร้องเพลงประกอบให้กับอนิเมะจากมังงะเรื่องนี้ ก่อนที่วงดนตรีทั้งสองจะโลดแล่นในวงการและแยกย้ายกันไปในภายหลัง
หลังจากนั้นอาจารย์ Shinjo Mayu ก็โยกไปเขียนมังงะเรื่องอื่นๆ จนช่วงหนึ่งเธอผันตัวไปวาดการ์ตูนแนว boy-lover อย่างเต็มตัวอีกด้วย เวลาผ่านไป 18 ปี ก็มีข่าวเกี่ยวกับจังหวะร็อคดนตรีรักอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2018 เกี่ยวกับการเปิดตัวเกม Kaikan Phrase Climax ‐Next Generation- ที่มีการเปิดเผยว่าจะมีตัวละครของมังงะต้นฉบับ และจะมีตัวละครหนุ่มๆ ตัวใหม่เข้ามา เช่นเดียวกับหนุ่มๆ ของวง Lucifer ที่กลับมาพร้อมกับนักพากย์ชุดเดียวอนิเมะ
ต่อมาในช่วงเดือนมกราคมปี 2019 อาจารย์ Shinjo Mayu ก็ได้ประกาศว่ากำลังเขียนมังงะที่เป็นเนื้อเรื่องต่อจากจังหวะร็อคดนตรีรัก โดยจะใช้ชื่อเรื่องว่า Sono Koe De, Sono Uta O ที่ตอนนี้เปิดเผยแค่ว่าจะมีโอโคจิ ซาคุยะ นักร้องนำของวง Lucifer กลับมาพร้อมกับตัวละครหญิงคนใหม่
แม้ว่าจะไม่มีข่าวยืนยันจากทางตัวนักเขียน แต่จากพล็อตเรื่องของมังงะภาคแรกที่ตอนท้ายเรื่องซาคุยะได้กลายเป็นผู้บริหารค่ายเพลงระดับนานาชาติไปแล้ว ก็ดูเป็นไปได้สูงที่เรื่องราวของมังงะใหม่จะเป็นการตามหาตัวโปรดิวเซอร์ และนักแต่งเพลงหน้าใหม่ให้ไปดูแลวงดนตรีในสังกัดของซาคุยะ ตัวพล็อตแนวนี้จะใกล้เคียงกับเกมที่มีตัวละครเป็นนักร้องนักดนตรี และเรื่องราวของมังงะภาคใหม่น่าจะเป็นการปูทางให้คนอ่านได้อินแล้วตามไปเล่นเกมเป็นการต่อไปตามสมัยนิยมนั่นเอง
เสน่ห์สาวข้าวปั้น – กลับมาเติมเต็มผลงานให้สมบูรณ์
เรื่องของ ฮอนดะ โทรุ เด็กสาวที่มองโลกในแง่ดี แม้ว่าจะเสียแม่จนต้องมาอาศัยกับคุณปู่ในช่วงปรับปรุงบ้านพอดี เธอเลยตัดสินใจไปตั้งเต็นท์ในป่าอยู่คนเดียว โดยไม่รู้ว่าป่านั้น…จริงๆ แล้วเป็นแค่สวนของตระกูลโซมะ ตระกูลใหญ่ที่คนในตระกูลต้องคำสาปจากตำนานนักษัตรจีน ซึ่งจะทำให้ผู้ชายในตระกูลนี้กลายร่างเป็นสัตว์ตามตำนานนักษัตรเมื่อถูกเพศตรงข้ามกอดหรือร่างกายอ่อนแอ
ตัวมังงะต้นฉบับนั้นเขียนตั้งแต่ปี 1998 ก่อนจะจบลงในปี 2006 ก่อนที่อาจารย์ Takaya Natsuki จะกลับมาเขียนภาคต่อ Fruits Basket Another ที่เล่าเรื่องของ ซาวะ เด็กสาวที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนเดียวกันกับโทรุ ที่ตามท้องเรื่องโทรุย้ายไปอยู่เมืองอื่นแล้ว มังงะภาคต่อนี้ถูกเขียนมาตั้งแต่ปี 2015 โดยตีพิมพ์ผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ และมีการเขียนตอนอวสานไปในช่วงปลายปี 2018 แต่มีแง้มนิดๆ ว่าอาจจะมีตอนสั้นๆ เพิ่มอีกตอนหนึ่งแถมให้ผู้อ่าน
หลายคนค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมอาจารย์ถึงกลับมาเขียนภาคต่อของเรื่องนี้ออกมา เพราะตัวเรื่องราวนั้นค่อนข้างจะสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว ซึ่งตัวอาจารย์ก็ได้ระบุว่าการเขียนภาคต่อนี้ก็เพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ที่สุด สอดคล้องกับการออกรวมเล่มฉบับสมบูรณ์ของภาคแรกอีกครั้งที่มาพร้อมปกใหม่ และมีภาพสีตามต้นฉบับที่เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสาร เพราะอาจารย์ Takaya Natsuki เคยให้สัมภาษณ์ว่า ณ ตอนที่เขียนภาคแรกนั้น เธอมีอาการป่วยเกี่ยวกับเส้นประสาทจนทำให้ลายเส้นของเรื่องออกมาไม่สมบูรณ์ตามความตั้งใจ
และเหตุการณ์ข้างต้นทำให้ Fruit Basket ฉบับอนิเมะรีเมคที่มีแผนจะออกฉายในปี 2019 และได้ปรับลายเส้นให้สอดคล้องใกล้เคียงกับหน้าปกฉบับสมบูรณ์ที่เพิ่งจัดทำออกมาไม่นานนัก รวมถึงเรื่องราวน่าจะตรงกับมังงะต้นฉบับมากขึ้น เพื่อให้ออกมาสมบูรณ์อย่างที่สุดนั่นเอง
หนุ่มเอ๊าะสะเดาะล็อค – กลับมารีบูทผลงานให้สดใหม่
อาจารย์ Naoki Serizawa เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานหลากหลาย แต่ที่พูดได้ว่าปังที่สุดก็ต้องยกให้เรื่อง Sarulock หนุ่มเอ๊าะสะเดาะล็อค ที่เล่าเรื่องของ ซารุมารุ ยาทาโร่ นักเรียนหนุ่มที่นิสัยทะลึ่งตึงตังและเป็นลูกชายของร้านกุุญแจในกรุงโตเกียว ทั้งยังมีทักษะที่สามารถไขกุญแจทุกรูปแบบ ด้วยความสามารถสะเดาะล็อคทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย งานเรื่องนี้เคยถูกสร้างเป็นซีรีส์คนแสดงในปี 2009 และกลายเป็นภาพยนตร์คนแสดงในปี 2010 และตัวมังงะก็จบลงไปตั้งแต่ปี 2009
แต่จู่ๆ เมื่อช่วงปลายปี 2018 ก็มีการประกาศว่าตัวอาจารย์ Naoki Serizawa จะนำเอา Sarulock หนุ่มเอ๊าะสะเดาะล็อค มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งกับสำนักพิมพ์ Shonengahosha (จากเดิมที่เป็น Kodansha) และจะมีการเขียนภาคใหม่ที่คนเขียนระบุชื่อว่า Sarulock Reboot
รายละเอียดที่มีล่าสุดตอนนี้ คือ ตัวเรื่องนั้นจะใช้กลุ่มตัวละครหลักใกล้เคียงเดิม แต่เรื่องราวจะเปลี่ยนแปลงไป หรือถ้าว่าง่ายๆ ก็คือจะเป็นเรื่องราวสดใหม่ให้ทันยุคที่เทรนด์หลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั่นเอง และอีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นความต้องการของตัวผู้เขียนเองที่อยากจะเล่าเรื่องของตัวละครที่คุ้นเคย
คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม – คุณจะเอาเหตุผลอะไรกับการ์ตูนเรื่องนี้!
กราบเท้าคุณแม่ที่เคารพ คุโรมาตี้ นั้นไซร้เป็นมังงะแนวตลกแซวมังงะแนวนักเรียนนักเลงที่โด่งดังไปทั่วทุกทิศของโลกาในช่วงปี 2000-2006 อีกทั้งยังมีบุญมากพอได้สร้างเป็นอนิเมะ เกมบนเครื่อง PlayStation 2 นิยาย และภาพยนตร์คนแสดง ซึ่งในเล่มสุดท้ายนั้น นักเขียนอย่าง Nonaka Eiji ระบุชัดๆ ว่า…เป็นเล่มตัดจบ
เอาเป็นว่า ความขาดสติขั้นแรงของมังงะเรื่องนี้ยังตราตรึงอยู่ในใจมวลชนนักอ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วก็ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ หรืออาจจะเป็นคำสาปฟ้าสั่ง จู่ๆ ในเดือนตุลาคมปี 2018 ก็มีการประกาศว่า คุโรมาตี้จะมีภาคต่อแหละ
จะบอกว่าภาคต่อก็ไม่ได้ละมั้ง คือเขาก็โฆษณามาว่าเป็น ‘สปินออฟภาคต่อ’ (…อะไรของพี่เค้า) ที่ใช้ชื่อภาคว่า Cromartie Koko Shokuinshitsu (โรงเรียนคุโรมาตี้: ห้องพักครู) ที่ไปเล่าเรื่องของเหล่าครูที่กบดานอยู่ในห้องพักครูของโรงเรียนคุโรมาตี้แทน แต่ในหน้าเปิดดันมีเมกาซาวะอยู่ด้วย รวมกับว่าในความทรงจำของเรา—ไอ้เด็กนักเรียนโรงเรียนนี้มันมีครูมาสอนด้วยเหรอ อ้อ…ที่เปลี่ยนไปนิดหน่อยก็คือตัว Nonaka Eiji ไม่ได้มาเขียนเรื่องนี้เอง แต่จะให้นักเขียนชื่อว่า Ino Ichiban มาเขียนแทน (ซึ่งชื่อก็เหมือนจะเป็นนามปากกาแบบกวนๆ ด้วย)
ถือว่าอย่าไปใส่ใจเหตุผลอะไรมากในการกลับมา แล้วดีใจที่เราจะได้ละลายสมองบั่นทอนปัญญาไปกับภาคต่อของเรื่องนี้ละกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Anime News Network 1, 2, 3, 4, 5, 6