*Trigger Warning: บทความนี้มีภาพน่ากลัว แมลง และเรื่องราวสยองขวัญ*
ความกลัวของเรามาจากไหน?
เวลาเราฟัง อ่าน หรือดูเรื่องราวสยองขวัญ ความกลัวที่เรารู้สึกอาจมากจากหน้าตาที่น่ากลัวน่าขยะแขยง พลังอำนาจที่อยู่เหนือมนุษย์ บรรยากาศที่หลอกหลอน หรือจุดกำเนิดชวนขนหัวลุก และไอคอนของโลกสยองขวัญตั้งแต่ซีโนมอร์ฟ ไปจนเจสัน วอร์ฮีส์มักมีคุณสมบัติแบบดังกล่าว แต่เมื่อเรื่องราวจบลงความน่ากลัวของพวกมันอยู่กับเรานานขนาดไหน?
แน่ล่ะว่ามันไม่ได้หายไปเลยโดยทันที แต่ความกลัวที่ติดตามมาไม่ใช่กลัวเรื่องราวเหล่านั้น มันอาจมาในรูปของการไม่กล้าปิดไฟนอน กลัวการต้องเดินลงไปเปิดตู้เย็นในบ้านเงียบสงัด หรือการพักห้องสุดท้ายในโถงทางเดินที่ต้องดับไฟก่อนรีบเดินเข้าห้อง ความกลัวของเราลงลึกไปกว่าเรื่องราวที่หนังสยองขวัญเล่า
เมื่อมองไปยังงานเขียนของนักเขียนมังงะสยองขวัญ อิโต้ จุนจิ (Junji Ito) บางครั้งคุณสมบัติเกี่ยวกับความสยองขวัญที่เราพูดถึงไปในตอนแรกอาจจะไม่ได้มีครบด้วยซ้ำ ตัวละครเอกก็เหมือนๆ กันทุกเรื่อง เกิดเหตุในชานเมืองญี่ปุ่นที่เราเห็นซ้ำเป็นร้อยครั้ง ความยาวไม่เกิน 30 หน้ากระดาษไม่พอให้สร้างโลกได้ แถมบางครั้งจุดกำเนิดก็งงๆ เขียนเหมือนขอไปที หรือบางครั้งก็ไม่มีเลย
แต่ทำไมกัน ความน่ากลัวในเรื่องราวของเขามันกลับติดตัวเราไปด้วย? แม้ว่าจะไม่บอกด้วยซ้ำว่าสัตว์ประหลาดในเรื่องคืออะไร แต่เรากลับขนหัวลุกไปกับมันได้มากขนาดนั้น
จุดกำเนิดความกลัวจากวัยเด็ก
อิโต้ จุนจิเริ่มสนใจการวาดการ์ตูนตั้งแต่อายุ 4-5 ปี และเขาได้รับสื่อสยองขวัญมาตั้งแต่อายุเท่านั้น ผ่านการ์ตูนที่พี่สาวของเขาอ่าน และการดูภาพยนตร์ เช่น Dracula, Frankenstein และ The Exorcist เขาไม่รู้สึกว่าพวกมันน่ากลัวขนาดนั้น แต่กลับกระตุ้นความสนใจมากกว่า
จุนจิกล่าวในบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Grape ว่า “ผมรักงานของยูเมะซึ คาซึโอะ สัตว์แปลกประหลาด สิ่งน่ารังเกียจ ผมหลงใหลมันผมเลยชอบอ่านงานของเขา” แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่เขาพูดต่อ “แต่ห้องน้ำนั่นน่ะน่ากลัว” เขาพูดต่อเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เขากลัวได้ในวัยเด็ก คือสิ่งที่เขาต้องเจอหลังจากการอ่านหรือดูเรื่องสยองขวัญ นั่นคือการต้องเดินไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน
อิโต้ จุนจิไม่ได้อาศัยอยู่ในเมือง บ้านวัยเด็กของเขาอยู่ในเมืองชนบทขนาดเล็กแถบนากาโนะ ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และห้องน้ำที่ชั้น 1 บ้านของเขาไม่ได้เป็นห้องน้ำแบบที่เรารู้จัก จุนจิอธิบายหนทางการเดินไปสู่ห้องน้ำของเขาว่าเหมือนการเดินใน ‘อุโมงค์ใต้ดิน’ คับแคบ ไม่มีแสงไฟ พื้นไม่ได้ฉาบปูน แต่เป็นดิน และบนดินมีแมลงที่คนในครอบครัวเดาว่าเป็นจิ้งหรีด แต่ก็ไม่อาจรู้ได้แน่ชัดเพราะความมืด เมื่อถามว่ามันส่งผลกับงานเขียนของเขาหรือไม่ เขาตอบว่า “ใช่แน่นอน”
นี่อาจเป็นที่มาของรสชาติความกลัวที่แตกต่างออกไปของอิโต้ จุนจิ เพราะแรงบันดาลใจของเขาไม่ได้มาจากสื่อสยองขวัญอื่นๆ แต่มาจากความกลัวในชีวิตประจำวันนั่นเอง
ความกลัวในชีวิตประจำวัน
เมื่อเราลองอ่านงานของอิโต้ จุนจิ สิ่งที่เรามักเห็นคือความ ‘ตรง’ ของมัน หมายความถึง เรามักเห็นได้ว่าประเด็นของเรื่องและความหมายของ ‘ปีศาจ’ ในเรื่องมาจากไหน อาจจะเป็นธรรมชาติของความถนัดเขียนเรื่องสั้นของเขาที่ทำให้การเล่าข้อมูลต่างๆ ต้องมาอย่างรวดเร็วเพื่อให้รวบรัดจบภายในไม่เกิน 40 หน้ากระดาษ หรืออาจมาจากความคุ้นเคยของเราในฐานะผู้อ่านเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้น เพราะเราพบเจออยู่ในชีวิตประจำวัน เคยสัมผัสสักครั้งในช่วงหนึ่งของชีวิต หรือมองเห็นว่าอาจจะเจอมันในอนาคต
*เปิดเผยเนื้อหาของเรื่องสั้น Honored Ancestors, Army of One และ Glyceride*
ในตอนเริ่มแรก Honored Ancestors เป็นเรื่องราวปริศนา เกิดขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มมากิตะพบกับริสะ แฟนสาวของเขาระหว่างทางกลับบ้าน แต่ริสะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เธอไม่มีความทรงจำอะไรเหลืออยู่ในหัวเลย และเธอยังเห็นภาพหลอนของหนอนผีเสื้อขนาดยักษ์พยายามจู่โจมเธอเมื่อเธอหลับ และน่าแปลกใจ ที่ความรู้สึกหวาดกลัวที่เกิดจากหนอนยักษ์คือสิ่งเดียวที่เธอคุ้นเคย
เมื่อเรื่องค่อยๆ ขมวดปม เราเริ่มรู้ว่ามากิตะไม่ใช่พระเอกอย่างที่เราคิด แต่เขากลับเป็นส่วนหนึ่งของสัตว์ประหลาดในเรื่อง ซึ่งคือสมองของคนในตระกูลเขาที่เชื่อมติดกันรุ่นสู่รุ่น เป็นธรรมเนียมจนทอดยาว หน้าตาคล้ายหนอนผีเสื้ออยู่ภายในบ้าน จุดประสงค์ของการเชื่อมติดกัน คือการสืบทอดเชื้อสายให้มากิตะมีบุตรก่อนจะเย็บหัวตัวเองเพื่อเข้าร่วมกับ ‘หนอน’ ตัวนั้น และแท้จริงแล้ว เหตุผลที่ริสะสูญเสียความทรงจำนั้นมาจากการไปบ้านมากิตะแล้วพบมันนั่นเอง
จุดประสงค์ของหนอนและมากิตะ คือการสืบต่อให้เกิดคนรุ่นถัดไปมาต่อตัวมันให้ยาวขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อคงไว้ซึ่งความทรงจำของคนรุ่นก่อนด้วยทุกวิถีทาง นั่นอาจแปลได้ถึงวัฒนธรรมการสืบต่อเชื้อสาย ค่านิยมที่ทำทุกวิถีทางโดยไม่สนใจว่าใครจะอยากทำหรือไม่ และถ้าถึงที่สุดแล้วไม่อยากทำ การคลุมถุงชนก็ยังเป็นตัวเลือกที่ ‘หนอน’ ยอมรับได้
หรือใน Army of One เกี่ยวกับมิจิโอะ เด็กหนุ่มนักสุมของผู้ติดบ้าน อาศัยอยู่ในเมืองที่เริ่มมีข่าวพบศพผู้คนที่ถูกเย็บเข้าด้วยกันสูงขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งนานไปจำนวนของศพที่ถูกเย็บเข้าด้วยกันต่อครั้งก็ยิ่งสูงขึ้น จาก 2 เป็น จาก 10 เป็น 100 เป็น 1,000 ศพ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ คือการที่เขาโดนเชิญออกไปงานคืนสู่เหย้าโรงเรียน ความกลัวของเรื่องนี้มาจากความวิตกกังวลในการเจอสังคม สำหรับสังคมญี่ปุ่นการเข้าสังคมอาจเป็นหน้าที่ ซึ่งความกลัวนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
และสุดท้ายเรื่องที่ชวนแหวะที่สุดของจุนจิ คือ Glyceride เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านที่บรรยากาศเต็มไปด้วยไขมัน ทั้งคราบมันติดอยู่บนกำแพง พื้น ฟูกนอน เสื้อผ้า จนถึงในอากาศ จากการเปิดร้านปิ้งย่างของพ่อผู้ไม่ใยดีคนในบ้าน มันหนักมากเสียจนยูอิ ลูกสาวไม่อยากกลับบ้าน เพราะบรรยากาศที่เธอคุ้นเคยจนสัมผัสได้ถึงระดับความมันในอากาศ และจากพี่ชายผู้ดื่มกินน้ำสลัดข้นมันที่กลั่นแกล้งเธอ
นอกเหนือจากบ้าน คราบมันยังตามเกาะไปที่ลำตัว ลามไปถึงในจิตใจ แม้แต่ในความฝัน ซึ่งคราบมันในที่นี้ อาจมีความหมายที่เหนือไปกว่าความสกปรก แต่มีความหมายไปถึงความบอบช้ำจากความรุนแรงในบ้านที่แพร่กระจายติดตัวไปในทุกอณู และทุกห้วงเวลาชีวิตของคนคนนั้น
ถ้ารู้จัก ทำไมยิ่งน่ากลัว?
ทั้งการขาดความเป็นส่วนตัวของ Town of no road ความโหยหาตัวตนที่โดนละทิ้งไปแล้วใน Layers of Terror หรือความกลัวฝันที่ไม่รู้จบใน Long Dream ความน่ากลัวของอิโต้ จุนจิ กำเนิดจากสิ่งที่เรารู้จัก ไม่ว่าค่านิยมสังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งระบบภายในร่างกายของเรา เราล้วนแต่รู้จักมันทั้งนั้น แต่ทำไมเราถึงยังกลัวมัน? แน่นอนว่าอาจมาจากทักษะการเล่าเรื่อง การออกแบบ การปั้นพวกมันให้เราจับต้องได้ รวมถึงจังหวะเปิดหน้าจั๊มสแกร์ของเขา แต่นอกจากองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว
มันอาจเป็นเพราะความกลัวเหล่านั้น มักกำเนิดจากสิ่งที่เราหลีกหนีไม่ได้นั่นเอง
เราจะแก้ค่านิยมของสังคม แก้ความคิดที่พ่อแม่ของเรามีได้ยังไง? หรือเราจะทำยังไงถ้าไม่อาจบังคับความฝันของตัวเองได้? แล้วถ้าร่างกายของเรากลายเป็นสิ่งชั่วร้ายน่ารังเกียจ เราจะทำยังไงดี ในตอนจบเรื่องสั้นของอิโต้ จุนจิ ตัวละครเอกจำนวนมากไม่อาจเอาชนะปีศาจได้ และพ่ายแพ้กับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
และไม่ว่าเราจะคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ได้ แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่แพ้พ่ายไปกับมัน และเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่า ในสักวันหนึ่งเราจะแพ้กับมันหรือไม่
อ้างอิงจาก