ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปชมงาน Hirohiko Araki Jojo Exhibition: Ripple Adventure ซึ่งก็เป็นงานแสดงผลงานเรื่อง Jojo no Kimyou na Bouken (Jojo’s Bizarre Adventure) ที่มีชื่อไทยว่า โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ของอาจารย์ Araki Hirohiko ซึ่งมังงะเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ และเป็นเรื่องโปรดในดวงใจเรื่องหนึ่งก็ว่าได้
การได้ชมงานจัดแสดงในครั้งนี้ถือเป็นการเติมเต็มวัยเด็กของตัวเอง เพราะเมื่อครั้งงานจัดแสดงฉลอง 25 ปีเรื่องโจโจ้ (ขอเรียกย่อนะครับ) และครึ่งแซยิด หรือ 30 ปีของการทำงานในฐานะนักเขียนมังงะของอาจารย์อารากิ จัดแสดงในปี 2012 ที่ Roppongi Hills ผมเองอุตส่าห์หาเรื่องไปทำงานที่ญี่ปุ่นให้ตรงกับช่วงจัดแสดงแล้ว แต่กลับพบว่าบัตรเข้างายขายหมดเกลี้ยง กลายเป็นบทเรียนชั้นดีว่าควรเตรียมตัวให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่ไปยืนเสียใจอยู่หน้างานโดยไม่มีปัญญาเข้า ครั้งนี้จึงวางแผนอย่างดี พอรู้ว่าจะได้ไปญี่ปุ่นก็ฝากเพื่อนจองตั๋วตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นละครับ
ทีแรกก่อนไปผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก รู้ว่ามีงาน อยากดูอยู่แล้ว คงจัดที่เดิมนั่นละ แต่พอได้ตั๋ว เช็กสถานที่ อ้าว ไม่ใช่แฮะ กลายเป็นว่า จัดที่ The National Art Center Tokyo สถานที่จัดแสดงงานศิลปะที่ใหญ่สุดของโตเกียวก็ว่าได้ ซึ่งก็ทำให้ผมตื่นเต้นขึ้นมายิ่งกว่าเก่า เพราะกลายเป็นว่ามันไม่ใช่แค่งานแสดงเกี่ยวกับมังงะแบบที่ผ่านมาซึ่งมักจะจัดที่ Roppongi Hills แบบงานโจโจ้ครั้งก่อน หรืองานนิตยสารมังงะจัมป์สามยุคเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่มาจัดในพื้นที่เฉพาะทาง ‘ศิลปะ’ แบบนี้ ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าโจโจ้และตัวอาจารย์อารากิ ได้ก้าวข้ามขอบเขตของมังงะมาสู่โลกของศิลปะเต็มตัว
ตัวผมเองก็คงเรียกได้ว่าเป็นแฟนฮาร์ดคอร์ของมังงะเรื่องนี้มายาวนาน แม้จะไม่ได้เรียลไทม์ขนาดตามอ่านตั้งแต่ภาคแรกตอนออกมาใหม่ๆ เพราะยุคนั้นยังไม่มีลิขสิทธิ์มังงะ แต่ละเล่มก็กระจายๆ กันไป ผมอ่าน Zero เป็นหลักซึ่งก็ไม่มีโจโจ้ ทำให้ไม่ผ่านสายตาเลย แม้จะมีเพื่อนเคยพูดถึงเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้ตามอ่าน จนตอนเรียน ม. 2 แล้วเริ่มซื้อมังงะเองได้ ก็เจอเรื่อง Jojo ในนิตยาสาร X-Tra ของสำนักพิมพ์แนวหน้า ซึ่งตอนนั้นก็เป็นช่วงภาค 4 (Diamond is Unbreakable) ของโจสุเกะแล้ว และพอได้อ่านก็เล่นเอาอึ้งในความแปลกแหวกแนวของไอเดีย ‘สแตนด์’ พลังงานที่เป็นเหมือนวิญญาณปกป้องตัว เรียกออกมาใช้งานได้และแต่ละตัวก็มีทักษะความสามารถต่างกัน ซึ่งแต่ละคนก็ใช้ความสามารถตรงนี้เชือดเฉือนหักเหลี่ยมกันอย่างเมามัน อ่านไปไม่กี่ตอนก็เล่นเอาติดจนต้องไปหาภาคเก่าๆ มาอ่าน ซึ่งหลังจากนั้นทาง NED ก็ได้ลิขสิทธิ์ไป และผมก็ติดเรื่องนี้มาตลอด ขนาดไปเรียนต่อญี่ปุ่นก็ยังพยายามอ่านภาคต่อๆ มาอย่างไม่ขาดสายและเสียเงินกับเรื่องนี้ไปเยอะจริงๆ
สาเหตุที่ทำให้คนติดโจโจ้คงเป็นเพราะความแปลกแหวกแนวของไอเดียการใช้ ‘สแตนด์’ นั่นละครับ เพราะไม่เคยเจอไอเดียแบบนี้มาก่อนเลย แล้วพอยิ่งอ่านไปอ่านมา มันยิ่งมีอะไรมากกว่าสแตนด์
สามภาคแรกของโจโจ้เป็นงานที่เรียกได้ว่าเดินตามสายโชเน็นเอามากๆ คือตัวละครค่อยๆ พัฒนาตัวเองเพื่อต่อสู้ ยิ่งภาค 3 (Stardust Crusaders) นี่ยิ่งเป็นมังงะที่เรียกได้ว่ามาตามขนบคลาสสิกจริงๆ ค่อยๆ เดินทางไปเจอศัตรูทีละตัวแล้วเจอบอสใหญ่ แต่ก็เป็นเทคนิคในการจัดการกับศัตรูด้วยล่ะครับที่สนุก หลังจากนั้นสไตล์ยิ่งแปลกออกไปเรื่อยๆ ภาค 4 กลายเป็นเรื่องของการตามหาฆาตกรต่อเนื่องในเมือง ภาค 5 กลายเป็นเรื่องของแก๊งสเตอร์ในอิตาลี ภาค 6 ตอนท้ายๆ นี่ยิ่งหลุดไปจนเล่นเอาผมงง ส่วนภาค 7 ก็ไม่แพ้กัน ตอนลงใน Jump ใหม่ๆ ใช้ชื่อว่า Steel Ball Run เท่านั้น เหมือนกับเป็นเรื่องใหม่แต่เอาตัวละครเก่ามาผสมบ้าง ความสามารถก็ไม่เชิงว่าเป็นสแตนด์ จนเขียนๆ ไป ได้ย้ายไปลง Ultra Jump ที่ออกรายเดือนแทนถึงใส่คำว่า Jojo ภาค 7 เข้ามา แล้วก็ยอมรับว่ามีสแตนด์ในเรื่อง แต่เซ็ตติ้งก็เป็นอีกโลกนึงไปแล้วหลังจากการรีเซ็ตจักรวาลตอนจบภาค 6 (ยังกับคอมมิค) ส่วนภาค 8 ก็เอาเซ็ตติ้งของภาค 4 มาทำใหม่ กลายเป็นเรื่องลึกลับสอบสวน แทบไม่มีต่อยกันไปมาโหดๆ แบบยุคเดิมแล้ว
ยิ่งอ่านโจโจ้ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสไตล์การเขียนงาน จะบอกว่าแต่ละภาคคือมังงะที่เป็นเอกเทศแต่มีความเชื่อมต่อกันบ้างก็ว่าได้ การเปลี่ยนแปลงสไตล์ของเรื่องแบบนี้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ทำให้โจโจ้อยู่มาได้ยาวนานเพราะมีฐานแฟนหลายต่อหลายรุ่นซึ่งเสพเรื่องนี้ด้วยรสนิยมที่ต่างกันออกไป ขนาดที่ว่าพอเริ่มโปรเจกต์ทำอนิเมะครั้งใหม่ (แบบไม่เหมือนของเดิมที่ทำมา 3 รอบ แล้วจัดว่าล้มเหลวทุกรอบ) แฟนๆ ก็ยังตื่นเต้นกันมาก ทั้งๆ ที่เริ่มทำตั้งแต่ภาคแรกสุดที่มังงะตีพิมพ์เมื่อ 25 ปีก่อน แต่คนก็รอดูเสมอเพราะต้องการชมให้ครบทุกภาค และล่าสุดภาค 5 ก็เพิ่งเริ่มฉายไป ซึ่งเป็นภาคหนึ่งที่คนรอคอยกันอย่างมากเพราะเป็นภาคที่เริ่มต้นสไตล์ ‘หนุ่มสวย’ อย่างเป็นทางการ จนมีสาวๆ กลายมาเป็นแฟนเรื่องนี้ไม่น้อยเลย
แต่ถึงจะเปลี่ยนสไตล์การเล่าเรื่อง แต่ว่าเอกลักษณ์หลายต่อหลายอย่างของโจโจ้ก็ยังคงอยู่อย่างไม่ขาดหายจนกลายเป็นจุดขายไปแล้ว ตั้งแต่เสียงประกอบเรื่องที่ ไม่ใช่แค่ ตู้ม เปรี้ยง แบบเดิม แต่อาจารย์ชอบหาเสียงแปลกๆ มาใช้ในงาน เช่นต่อยกบก็ดัง เมตะ หรือฉากที่ Dio ชิงจูบของ Elizabeth ก็ใช้เสียง สควิซซซซ อย่างดูดดื่ม และอีกหนึ่งเสียงที่เด่นมากที่สุดคงเป็นเสียง Go Go Go ที่คล้ายๆ กับเสียง ครืน ซึ่งกลายมาเป็นเสียงเอกลักษณ์ของโจโจ้ขนาดที่แค่เห็นก็รู้แล้วว่ามาจากเรื่องนี้ (อีกเรื่องที่เด่นระดับเดียวกันคือ Kaiji กับเสียง Zawa Zawa) เวลาอาจารย์เขียนงานก็ชอบทำเสียงไปด้วย และมักจะมองว่าของแต่ละสิ่งก็มีเอกลักษณ์ของมัน การใช้เสียงที่มีเอกลักษณ์ก็ทำให้มันยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก ขนาดปืนยังแยกเสียงตามชนิดเลยครับ
แต่ที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ยิ่งกว่าคือ ท่ายืนแบบโจโจ้ หรือ Jojo Dachi (ジョジョ立ち) ที่เห็นปุ๊บก็รู้เลย
ตัวละครในเรื่องมักจะมีท่ายืนโพสแบบแปลกๆ ไม่เหมือนใคร บางทีก็เล่นเอาสงสัยว่าคนเรามันยืนคุยกันท่านั้นจริงเหรอ แต่ด้วยความแปลกแหวกแนว ท่ายืนแบบโจโจ้จึงกลายเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าที่โพสในปกมังงะแต่ละเล่มที่ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นและเวอร์เข้าไปใหญ่ (สมัยเรียนเพื่อนผมชอบเรียกว่าเอียงเป็นปกอัลบั้มของ RS) เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่ามาจากไหน ในช่วงที่ผมเรียนต่อญี่ปุ่นการโพสท่าแบบโจโจ้ก็เริ่มฮิตในวงกว้างมากขึ้น ขนาดมีคลิปสอนการออกกำลังกายด้วยการโพสท่าโจโจ้เอาฮาด้วย แต่จริงๆ แล้ว ที่มาของท่าโพสต่างๆ ก็มักจะมีอ้างอิงมาจากรูปปั้นงานศิลปะยุคคลาสสิกจากทางยุโรปที่ตัวอาจารย์ชื่นชอบนั่นละครับ—เป็นความประหลาดที่กลายมาเป็นจุดขาย
นอกจากท่ายืนก็คงเป็นแฟชั่นของตัวละครในเรื่องที่ออกแบบมาได้แหวกแนวมากๆ ตัวอย่างก็ชุดสูทของ Fugo ที่เป็นรูทั้งตัว รวมถึงชุดอื่นๆ ของตัวละครที่คิดว่าปกติคงไม่มีใครใส่ได้ง่ายๆ แต่คงเป็นเพราะว่าตัวอาจารย์อารากิเคยอยากจะเป็นดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้ามาก่อน แกเลยเอามาลงที่งานแบบนี้ รวมถึงความชอบต่างๆ ของอาจารย์ก็โผล่มาให้เห็นตลอด ตั้งแต่ชื่อตัวละครในภาคแรกๆ ที่เอาชื่อมาจากวงดนตรีต่างประเทศที่อาจารย์ชื่นชอบ (และแน่นอนว่าทำงานทีก็ต้องเลือกเพลงฟังระหว่างทำงานเสมอ) ส่วนภาค 5 ก็เรียกได้ว่าได้อิทธิพลจาก The Godfather เต็มๆ ชนิดที่เอาส่วนหนึ่งในฉบับนิยายมาดัดแปลงใส่ไว้ในเรื่องด้วย นอกจากนี้ยังมีมุมน่ารักๆ คืออาจารย์มักจะอ้างอิงเมืองเซ็นไดในจังหวัดมิยากิ บ้านเกิดของอาจารย์เสมอ ตั้งแต่การนำชื่อเขตต่างๆ ในเมืองมาตั้งชื่อตัวละคร (Kakyouin และ Hirose) หรือเซ็ตติ้งเมืองในภาค 5 และ 8 ที่มีส่วนหนึ่งของเมืองเซ็นไดนั่นเอง กระทั่งอ้างอิงถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 ในเรื่องก็ทำมาแล้ว
ด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของสไตล์งานของอาจารย์ ทำให้ในช่วงหลัง อาจารย์อารากิถูกเชิญไปร่วมงานกับสินค้าแบรนด์เนมบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพประกอบการโฆษณา หรือกระทั่งเขียนงานสั้นเกี่ยวกับเบื้องหลังการผลิตสินค้าของแต่ละแบรนด์ ซึ่งผลงานที่ออกมาก็เป็นที่ฮือฮาเพราะความโดดเด่นเสมอ รวมไปถึงการเขียนโปสเตอร์ฉลองที่ฮิราอิซูมิในจังหวัดอิวาเตะที่ต่อมาได้รับเลือกเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ วันเปิดตัวโปสเตอร์ในเว็บก็เล่นเอาเว็บล่มเพราะคนแห่นกันเข้าไปดูจนกลายเป็น DDoS แบบไม่ตั้งใจไป หรือกระทั่งข้ามไปวาดปกซีดีให้กับนักร้องเอ็งกะชื่อดัง Ishikawa Sayuri ก็ยังทำออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์
ด้วยการทำงานที่ไม่ยึดติดกับอะไรเดิมๆ แต่มีสไตล์ของตัวเองชัดเจน ทำให้โจโจ้กลายเป็นงานที่ข้ามการเวลาและยังอ่านสนุกต่อเนื่องได้ถึงทุกวันนี้ และยังส่งอิทธิพลไปสู่วงการอื่นด้วย กลายเป็นว่าก้าวข้ามผ่านคำว่า ‘แค่มังงะ’ ไปได้อย่างงดงาม จะว่าเป็นแฟรนไชส์หนึ่งที่แข็งมากๆ ของ Shueisha ก็ไม่แปลกอะไร การจัดการแสดงงานโจโจ้ในสถานที่ระดับ The National Art Center Tokyo จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ตัวงานนิทรรศการเป็นการเอาต้นฉบับเรื่อง โจโจ้มาจัดแสดง ที่ทำออกมาได้ตื่นตาตื่นใจมากๆ คือการนำเสนอโจโจ้กับงานศิลปะต่างๆ เช่นรูปปั้นที่มีการฉายแสงเป็นภาพตัวละครนั้นๆ เป็นระยะ หรืองานนูนสูงที่ตีความตัวละครในเรื่องออกมาได้อย่างสวยงาม และยังมีการนำเอาภาพที่ร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ หรือที่วาดไว้พิเศษตามวาระต่างๆ มาขยายใหญ่เท่าฝาผนัง เมื่อมองไปแล้วก็ดูมีพลังมากจนเราตัวเล็กลงเลยทีเดียว
แต่ส่วนที่เล่นเอาทึ่งจนหมดพลังคือภาพชุดสุดท้าย ภาพวาดตัวละครขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกัน 12 ภาพ เป็นงานวาดขึ้นใหม่ที่ไม่ใช่งานธรรมดาเอามาขยายใหญ่ แต่เป็นการวาดภาพขนาดใหญ่เลย ซึ่งก็มีคลิปเบื้องหลังให้ดูว่าอาจารย์เองก็ลำบากในการวาดไม่น้อย ผสมสีน้อยไปก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่พอขึ้นมา จะผสมใหม่สีก็เพี้ยนแล้ว วาดไปสีก็ไหลไป เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับอาจารย์หลังจากอยู่ในวงการมาสามสิบกว่าปี ซึ่งผลลัพท์ที่ได้ก็คือภาพที่ทรงพลังเอามากๆ ด้วยความงามในรายละเอียดทั้งการลงสีที่สวยงามก็ขับให้ตัวละครยิ่งโดดเด่นออกมาราวกับยืนอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ เป็นงานที่เล่นเอาปากค้าง ได้แต่เดินวนไปมาจนเซฟด้วยสายตาไว้หมดค่อยเดินกลับนั่นละครับ
การได้ชมงานที่ของมังงะที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กซึ่งกลายมาเป็นงานศิลปะในวันนี้ได้ก็เล่นเอาฟินจริงๆ ครับ และก็น่าทึ่งจริงๆ ที่ตัวงานอายุเยอะขนาดนี้ แต่ก็ยังสามารถขายได้อยู่จนถึงปัจจุบัน แล้วยังก้าวออกไปยังวงการอื่นๆ จนกระทั่งมาอยู่ในวงการศิลปะได้ เราก็ได้แต่คอยดูต่อไปว่าโจโจ้และอาจารย์อารากิ ฮิโรฮิโกะ จะไปได้ไกลถึงไหน
ส่วนใครที่อยากชม แม้ที่โตเกียวจะเลิกจัดแสดงแล้ว แต่ก็สามารถไปดูครั้งถัดไปที่โอซาก้าได้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 14 มกราคมปีหน้าเลย ที่ Osaka Culturarium at Tempozan ครับ