เคยคิดหรือเปล่าว่าประวัติศาสตร์จะมองเราเป็นยังไงเมื่อเราเสียชีวิตไปแล้ว?
เรื่องราวของเราจะสำคัญพอให้มีใครจดจำหรือเปล่า? หากถูกจดจำ มันจะสนุกพอจนชีวิตธรรมดาๆ ของเรากลายเป็นตำนานที่เล่าต่อกันได้หรือไม่? หรือว่ามีข้อผิดพลาดมากมายกลายเป็นนิทานเตือนใจในเรื่องต่างๆ? เกิดอะไรขึ้นเมื่อเรื่องราวของเราไม่ถูกเล่าออกมาโดยลมปากของตัวเอง? เรายังเป็น ‘เรา’ อยู่หรือไม่ ในเมื่อตัวตนทุกส่วนของเราถูกเปลี่ยนออก เหมือนกับเรือไม้ที่แผ่นไม้ทุกชิ้นถูกเปลี่ยนออกไป จากการซ่อมแซมให้มันคงอยู่ไปตามกาลเวลา
เราอาจได้รับคำตอบจากการพินิจวิธีที่เรามองผู้คนสำคัญในประวัติศาสตร์ การเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรานั้นตั้งอยู่บนการเรื่องเล่า นั่นอาจหมายถึงตั้งแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไปจนสื่อที่ตีความประวัติศาสตร์เหล่านั้นไปในทิศทางต่างๆ เหตุการณ์และผู้คนถูกทำให้โรแมนติก ถูกทำให้เป็นอุดมคติ ถูกทำให้เป็นตัวร้าย ฯลฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ อาจจะเพื่อให้เรื่องราวเหล่านั้นย่อยง่าย หรืออาจเพื่อแฝงวาระบางประการเข้าไปในเรื่องราวนั้นๆ หนึ่งในกรณีที่ชัดเจนที่สุดคือ พระนางมารี อองตัวแน็ต (Marie Antoinette) ราชินีผู้อื้อฉาวของฝรั่งเศส คนที่เพียงเราเอ่ยชื่อ ภาพจำบางอย่างก็ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
เห็นแก่ตัว ไร้เดียงสา โง่เง่า ไร้พลัง ชั่วร้าย ไม่ซื่อตรง ฯลฯ ภาพจำเหล่านี้ขัดแย้งต่อกันและกัน แย่งยื้อกัน เพื่อวาดภาพของมารี อองตัวแน็ต สรุปแล้วเธอคือใคร? ราชินีหญิงผู้สูงศักดิ์ซึ่งสมควรแล้วที่จะถูกประหารชีวิต หรือหญิงออสเตรียผู้ไร้อำนาจในมือ จึงเดินตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากของอำนาจและการเมือง จนจมหายไปในวันสุดท้ายของชีวิต? บ้างบอกว่าแบบหนึ่ง บ้างว่าอีกแบบ ยากจะบอกว่าแบบใดจริงกว่า เพราะเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ ขาวกับดำมักไม่ใช่คำตอบ เนื่องจากเรากำลังฟังเรื่องเล่าของมนุษย์ โดยมนุษย์อีกหลายๆ คนที่ทำหน้าที่บันทึกและเผยแพร่มัน ทุกขั้นตอนจึงมีความเอียงเอนและการตีความที่แตกต่างอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราเห็นภาพเกี่ยวกับตัวบุคคลในประวัติศาสตร์ได้รอบด้านขึ้น คือการได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักฐานชั้นต้น หลักฐานที่มาจากการบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยตรง ในกรณีของมารี อองตัวแน็ต เราพบหลักฐานรูปแบบดังกล่าวได้ในหนังสือชื่อ อักษรซ่อนรัก ไขรหัสจดหมายลับ มารี อองตัวแน็ต โดยอิซาเบล อรีสติด อาสตีร์ (Isabelle Aristide Hastir) และแปลโดย พี่จี—จิระศักดิ์ อัจฉริยยศ และพี่ป้อง—ชมะนันท์ จันทร์ศรี หากชื่อคุ้นๆ หูก็จะรู้ว่าทั้ง 2 คน เป็นขาประจำจากรายการ ไกลบ้าน และ People You May Know จาก Farose Channel
“เกร็ง” พี่จีพูดกับเราเมื่อเราถามถึงการแปลหนังสือเล่มนี้ “คือตอนแรกอวดเก่งไง อวดเก่งว่า สบาย มาเหอะภาษาฝรั่งเศส พอเจอรูปแบบประโยคแล้ว ตายละ ก็พอสมควรเหมือนกันนะ” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ต้องมาแปล คือคำศัพท์และราชาศัพท์ของฝรั่งเศสเมื่อ 300 ปีที่แล้ว “คือภาษาไทย เวลาจะแสดงความเป็นชนชั้นสูงเนี่ยคือระดับภาษา การเลือกใช้คำใช่ไหม แต่ในภาษาฝรั่งเศสเนี่ย การที่จะแสดงระดับภาษา มันคือโครงสร้าง โครงสร้างยิ่งเยิ่นเย้อ ยิ่งยาว ยิ่งแสดงถึงความมีศักดิ์มีศรี” พี่ป้องพูดให้กระจ่างขึ้นไปอีกเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษานี้ ทั้งคู่ให้คะแนนความยากว่า เต็ม 10 คะแนน คงจะเกิน 10 ไปแล้ว แต่นั่นเป็นแค่เรื่องของภาษา เพราะเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เล่าเองก็ท้าทายมากๆ ด้วย
อักษรซ่อนรักฯ คือ “วรรณกรรมจดหมาย” ตามที่พี่จีเล่าให้เราฟัง เป็นประเภทวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักอ่านชาวฝรั่งเศสอย่างมาก โดยความพิเศษของมันคือ การทำให้เราสามารถเข้าถึงอีกแง่มุมของตัวละครทางประวัติศาสตร์ ที่เรามักไม่ได้เห็นจากการอ่านงานประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ
“อย่างหนึ่งเลยก็คือมันเป็นข้อเท็จจริงแน่นอน เพราะมันเป็นปฐมภูมิ มันเป็นจดหมาย เพราะฉะนั้น เราอ่านจดหมาย เราได้อ่านความรู้สึก เราอ่านมุมมองของมารี อองตัวแน็ตกับแฟร์เซ็นต่อเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง” พี่จีพูด เมื่อเราถามถึงความแตกต่างระหว่างหนังสือเล่มนี้กับการนำเสนอมารี อองตัวแน็ตในรูปแบบอื่น
พี่ป้องเสริมต่อว่า “ปกติแล้วเราชินกับการที่คนเขาเรียบเรียงมาแล้ว และการที่คนเขาเรียบเรียง เขาจะนำพาเราไปสู่ความคิดความคิดหนึ่ง” และปิดท้ายด้วยการที่พี่จีขมวดปมในประเด็นดังกล่าวถึงปัญหาของการเรียบเรียงว่า “ในการเรียบเรียงมันมีการตัดสินเรียบร้อย ในขณะที่เล่มนี้มันไม่มีการตัดสินอะไรเลย มันเป็นมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้ชายคนหนึ่งที่เขียนจดหมายส่งถึงกัน”
ฟังจากชื่อเรื่อง เราอาจคาดคิดว่าหนังสือเล่มนี้คงต้องเป็นการเข้าไปส่องดูจดหมายรัก และเรื่องฉาวโฉ่ของราชินีชื่อเสียคนนี้แน่ๆ แต่เมื่อลองเปิดเข้าไปดู สิ่งที่แสดงออกมาชัดเจนเลยคือ หนังสือเล่มนี้นั้นมีเนื้อหาที่จริงจังอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการอ่านจดหมายน้ำเน่า แต่เป็นการปะทะกันของบริบททางประวัติศาสตร์จากจดหมายที่หลายๆ คนไม่รู้ว่ามี และวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการกู้คืนมันขึ้นมาให้อ่านได้
“มันมาจากโครงการของนักวิจัยของฝรั่งเศสที่ต้องการจะไขรหัส ตามชื่อเลย มันเป็นจดหมายที่เป็นจดหมายลับมาก่อน โครงการนั้นชื่อ REX หอสมุดแห่งชาติก็ไปซื้อจดหมายมาจากสวีเดน แล้วก็มีความพยายามที่จะแกะ มันเป็นจดหมายล่องหน เป็นจดหมายที่เข้ารหัส ก็พยายามใช้วิธีต่างๆ เพื่อที่จะอ่านจดหมายเหล่านี้ได้” พี่จีเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของจดหมาย เขาพูดต่อว่า “ส่วนหนึ่งก็เป็นความลับทางการเมือง แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกส่วนตัวก็มี เรื่องเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางมารี อองตัวแน็ต กับท่านเคานต์อักแซล เดอ แฟร์เซ็น”
“คำว่าซ่อนแล้วกัน ถ้าเกิดอ่านในเล่มแรกก็จะอธิบายว่า คำว่าซ่อน คือช่วงนั้นมันเป็นช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส มีการควบคุมข้อความต่างๆ ดังนั้น เขาก็จะขีดทับข้อความ” พี่ป้องเสริม ตัวหนังสือของคนใหญ่คนโตที่ถูกจับตามองในห้วงเวลาของการปฏิวัติฝรั่งเศส ต้องมีการระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับ 2 ตัวละครที่เรากำลังพูดถึง เพราะหากสังเกตชื่อที่ผู้แปลพูดถึง หนึ่งคือมารี อองตัวแน็ต อีกชื่อคืออักแซล เดอ แฟร์เซ็น ซึ่งเป็นตัวละครที่ไม่ใช่สามีของพระนาง
พี่จีเล่าว่าแฟร์เซ็นเป็นขุนนางชั้นสูงจากประเทศสวีเดน ผู้เดินทางมาราชการที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเขาและมารี อองตัวแน็ต พบกันครั้งแรกในงานเลี้ยงรื่นเริงที่พระราชวังแวร์ซาย “ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นชาวต่างชาติมันเลยคลิก พอคลิกทั้งคู่ก็เลยคุยกัน เป็นคนสนิทของกันและกัน แล้วมันก็มีความสัมพันธ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” พี่จีเล่า จดหมายที่เราได้อ่านกันในหนังสือเล่มนี้นั้นเกิดขึ้นหลังจากการเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสในวันที่ 24 กรกฎาคม 1789 ซึ่งทั้งคู่ไม่อาจเจอหน้ากันได้ เพราะแฟร์เซ็นเป็นคนสำคัญในห้วงเวลานี้ เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยวางแผนให้พระราชวงศ์หลบหนีจากประชาชน
เมื่อเรามองไกลๆ จากปัจจุบัน เราอาจมองการปฏิวัติฝรั่งเศสว่า มันคือห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่เรียบง่าย แต่เมื่อลองเข้าไปสอดส่องจะพบว่า มันคือเวลาที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเทา และการเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่กว่าที่ประเทศจะออกมาจากวิกฤติของห้วงเวลานั้นๆ ได้ “พอเราพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส ทุกคนคิดว่าปฏิวัติปุ๊บ ประชาธิปไตยปั๊บ ไม่ใช่เลย หูย…ปฏิวัติฝรั่งเศสนี่ใช้เวลาเกือบร้อยปีกว่าจะเป็นฝรั่งเศสที่เราเห็น” พี่จีพูดก่อนจะไล่เรียงความเปลี่ยนแปลง “จากในยุคที่คณะปฏิวัติเองก็ถูกฆ่า ถูกกิโยตีน พอเปลี่ยนมาเป็นจักรวรรดินโปเลียนเสร็จ เป็นสาธารณรัฐ ก็กลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกแล้ว ก่อนเป็นสาธารณรัฐอีก”
พี่ป้องดึงให้เรารู้สึกใกล้ตัวเข้ามามากขึ้น “อย่าว่าแต่ปฏิวัติฝรั่งเศสเลย ประวัติศาสตร์ไทยเวลาบอกว่า กรุงธนบุรีล่มเมื่อไหร่ คิดถึงอะไร คิดถึงพระเจ้าตากโดนท่อนจันทน์ทุบ แต่เราไม่เคยคิดว่ามันมาถึงจุดเสื่อม หรือว่าเรามาถึงจุดที่ภูมิประเทศมันไม่เหมาะที่จะสร้างเมือง เพราะมันเป็นเมืองอกแตก หรือเพราะอะไร เรามักจะไม่คิดถึงตรงนั้นเลย จำได้แต่ อ๋อ โดนท่อนจันทน์ทุบ เราจะจำอะไรที่มันดราม่า” ซึ่งเป็นข้อเปรียบเทียบที่ดี เมื่อเราเทียบมันเข้ากับภาพจำของมารี อองตัวแน็ต
“เราเห็นภาพของผู้หญิง ราชินีที่ถูกสปอยล์ แล้วก็ตอนหนีไปนอกฝรั่งเศส เราได้ยินมาว่าเก็บของเก็บสมบัติจนไม่มีเวลา ทำให้คนสามารถมาจับได้ จนในที่สุดก็ถูกจับได้ เรื่องชู้สาวกับลูกตัวเองแล้วก็โดนประหารกับสามี ก็คือหลุยส์ที่ 16 แต่พอเราไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เราก็เริ่มเห็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่มีความสำคัญ มีบทบาทในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วก็หลังจากนั้น และยิ่งพอมาแปลปุ๊บ เราก็จะเห็นอีกมุมหนึ่ง แต่ความคิดของพี่สมัยก่อนก็คือไม่ดีอะ” พี่จีตอบคำถามเกี่ยวข้องกับภาพจำที่มีต่อมารี อองตัวแน็ต ภาพจำซึ่งเปลี่ยนไปเล็กน้อยหลังจากเรียนรู้เพิ่มเติมและทำงานแปลชิ้นนี้
“ก็ถ้าเกิดมองเขาในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งก็เห็นใจ” พี่จีกล่าว ธรรมชาติของงานวรรณกรรมจดหมายนั้น คือการที่เราสามารถเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้เขียนจดหมายเหล่านั้นอยู่ระหว่างบรรทัด เนื่องจากพวกเขาเขียนมันขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับคนสำคัญ โดยไม่ได้คิดว่าจะมีใครต่อใครเข้ามานั่งอ่านด้วย
“การที่เราได้อ่านจดหมายอันนี้ เราจะเริ่ม อาจจะไม่ได้ให้ความชอบธรรมแน่นอน แต่เราจะรู้สึกว่า โอเค เขามีอารมณ์ เขาเป็นคน มันทำให้บุคคลทางประวัติศาสตร์เป็นคน เหมือนกับเราอ่านเรื่องของคนมากกว่า ถ้าเราดึงออกเลยนะว่า มารี อองตัวแน็ต หรือว่าการปูพื้นฐานการเมืองฝรั่งเศสเป็นยังไง เรามองว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังจะถูกตัดสิน เขามีอารมณ์ยังไง แน่นอนถ้าเรากำลังเดือดร้อน เราต้องพยายามดิ้นรน เราก็ต้องกังวล แล้วถ้าเกิดมีใครสักคนที่เขาเข้าใจเรา เราก็จะมีความสุข ถ้ามองในแง่นั้น เราจะมองความเป็นคนมากขึ้น” พี่ป้องตอบเสริม นั่นดึงภาพของมารีที่มักถูกมองว่าไม่ขาวก็ดำ ให้กลายมาเป็นเทามากขึ้น เพราะบ่อยครั้งเรื่องบางส่วนในชีวิตของเธอถูกเล่าน้อยเกินไป หรือที่ถูกเหล่ามากนั้นก็เป็นส่วนที่ถูกบิดเบือนจากการใช้โฆษณาชวนเชื่อ
เรื่องที่มักไม่ถูกพูดถึงอย่างแรกของมารี อองตัวแน็ต คือการมีความคิดเห็นทางการเมือง “เรามักไม่รู้เลยว่า ตกลงนางมีหรือนางไม่มีความคิดเห็นทางการเมือง เราก็นึกว่านางแค่ไปเล่น ดูละคร กินขนมปัง จัดงานเลี้ยงรื่นเริง ในหนังที่เราเห็นจะมีแต่งานรื่นเริง เราไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้ว นางก็มีความคิดทางการเมืองเหมือนกัน แต่ในเล่มนี้คือบอก คือเห็นชัดเจนว่านางเองมีความคิดเห็นทางการเมือง” พี่จีพูด ซึ่งพี่ป้องก็เห็นไปในทางเดียวกัน “เวลาเราให้ความชอบธรรมกับมารี อองตัวแน็ต เราจะใช้ความไร้เดียงสาในการให้ความชอบธรรม แต่เราไม่เคยไม่เอาความคิดทางการเมืองของพระนางเองมาให้ความชอบธรรม” พี่ป้องตอบ ซึ่งทั้งคู่เชื่อว่าภาพลักษณ์ดังกล่าวเป็นการพยายามฟอกขาวตัวตนของเธอ
“พี่ว่ามันเป็นเทรนด์ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เนี่ย เขาจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ใหม่ อย่างเช่น โจนออฟอาร์ก ที่เคยถูกมองว่าเป็นแม่มดในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมันเกิดการตื่นรู้ทางประวัติศาสตร์ มันกำลังเข้าสู่ยุคของ modernity ไง คนเริ่มอยากรู้ว่าสิ่งที่เขาเล่าจริงไหม เกิดการตั้งคำถามกับเรื่องเล่าที่เคยสืบต่อกันมา มันก็เลยมีคำถามเช่นที่ว่า โจนออฟอาร์กสุดท้ายแล้วเป็นแม่มด หรือเป็นวีรสตรี” พี่ป้องพูด สันนิษฐานเกี่ยวกับการวางภาพบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ใหม่ “เช่นเดียวกับพระนางมารี อองตัวแน็ตก็น่าจะเป็นเช่นนี้” พี่จีพูดเสริม แล้วทั้งคู่ก็ไล่เรียงเรื่องที่ไม่จริงเกี่ยวกับมารี อองตัวแน็ต เช่น:
- คำพูดที่โด่งดังที่สุดว่า “Let them eat cake” ไม่ได้มาจากพระนาง
- ไม่มีหลักฐานรองรับเรื่องการกระทำชำเราลูกชายตัวเอง
- ผมขาวชั่วข้ามคืนในคุก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรค Marie-Antoinette Syndrome ไม่น่าจะเป็นจริง
เมื่อคุยกันไปคุยกันมา ตัวอย่างภาพจำที่เปลี่ยนแปลงมากมายในประวัติศาสตร์หลายท้องก็ที่ผุดโผล่ออกมา เช่น แคทเธอรีน เดอ เมดิชี และคลีโอพัตรา ซึ่งข้อสังเกตสำคัญคือ บ่อยครั้งเหลือเกินที่ความเป็นหญิงมักถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ
“เรื่องการมีชู้เป็นโฆษณาชวนเชื่อในสมัยนั้น มันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการที่จะกล่าวหาผู้หญิง” พี่ป้องกล่าว “มันง่ายมากเลย ผู้หญิงไม่มีบทบาททางการเมืองจะไปกล่าวหาทางการเมืองก็ไม่ได้ ผู้หญิงไม่มีบทบาททางสังคมจะไปบอกว่าทำงานผิดก็ไม่ได้ อย่างเดียวก็คือหน้าที่ในฐานะเมีย ถ้าเกิดหน้าที่ในฐานะเมียผิดเนี่ย มันก็หมด หมดคุณค่า” เขากล่าวต่อ ยากจะปฏิเสธเมื่อเรามองไปยังตัวอย่างที่ยกมา ความใสซื่อ ความล้มเหลวในการเป็นแม่และภรรยา ความงามและเสน่ห์ ฯลฯ ทั้งหมดสามารถถูกนำมาเป็นอาวุธได้ทั้งสิ้น
ในบทสนทนากับ 2 ผู้แปลงานโหดชิ้นนี้ สิ่งที่เราพบไม่ใช่การให้ความชอบธรรมต่อราชินีผู้ล่วงลับจากใบมีดของนักปฏิวัติ แต่คือมุมมองใหม่ที่เรามีต่อการอ่านประวัติศาสตร์ บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับใครสักคนผ่านการตัดสินมาแล้วเรียบร้อย แต่ในส่วนของจดหมายเหล่านี้แตกต่างไปอย่างมาก
“ความแปลกใหม่ของมันอยู่กับการที่เราได้อ่านเอกสารชั้นต้น…เวลาเราบอกว่าเรารู้ประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่เรารู้มันจากหนังสือที่เรียบเรียงมาแล้ว” พี่ป้องกล่าวเกี่ยวกับความโดดเด่นของหนังสืออักษรซ่อนรักฯ “เล่มนี้เราอ่านแล้วเรามาตัดสินเองว่า ตกลงเราจะเชื่อตามนี้ เราจะมีอารมณ์โกรธ เกลียด หรือชอบ หรือรักมารี อองตัวแน็ตขึ้นจากนั้นหรือเปล่า เพราะเราเป็นคนคิดเอง อันนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ และมันก็เป็นหนังสือปลายเปิด” พี่จีกล่าวต่อ
เราจะเป็นใครในสายตาของประวัติศาสตร์? การได้สัมผัสสิ่งที่มารี อองตัวแน็ตเขียนเมื่อยามไม่มีใครเห็นนอกเสียจากคนสนิท ทำให้เรารู้ว่า โลกไม่ได้มองเราอย่างที่เราเป็นมากนัก แต่มองเราผ่านเรื่องราวที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เน้นตรงนั้นเสริม เติมตรงนี้ มารี อองตัวแน็ตอาจไม่เคยพูดว่า “Let them eat cake” กับประชาชนที่กำลังอดอยากและไม่มีขนมปังกินก็จริง แต่ว่าตามคำพูดของพี่ป้องคือ “โควตมันเข้าปาก”
ตัวตนของเราทุกคนถูกประกอบสร้างขึ้น ผ่านสายตาและมุมมองของผู้อื่น โดยเฉพาะในวันที่เราเป็นบุคคลสาธารณะ เช่นนั้นแล้วการเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขาผ่านเลนส์ที่อนุญาตให้ตัวเขาสามารถเป็นผู้เล่าเรื่องราวของตัวเองได้ อาจเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ และไม่ใช่เพื่อการฟอกขาวภาพลักษณ์ของใคร
แต่เพื่อเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เห็นภาพชัดและใกล้ชิดขึ้น