คงไม่มีใครคิดว่า มหานครซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความโรแมนติกอย่างปารีสจะถูกปกคลุมไปด้วยกองขยะที่หมักหมมเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์
การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะประชาชนยังโกรธเคืองแนวคิดของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่ต้องการปฏิรูปเงินบำนาญผ่านกลไกการเลื่อนอายุเกษียณ จาก 62 ไปเป็น 64 ปี พร้อมเพิ่มจำนวนปีที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่รัฐบาลไปเป็น 43 ปีด้วย
ความไม่พอใจนี้มีผลลัพธ์คือ ภาพการหยุดงานของแรงงานเกือบๆ 1 ใน 3 ของประเทศ ระบบขนส่งสาธารณะ โรงเรียน โรงกลั่นน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานกำจัดขยะ พร้อมใจไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งสัญญาณให้ประธานาธิบดีพิจารณานโยบายอีกครั้ง ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลยังคงหนักแน่นว่าต้องการจะผลักดันการปฏิรูปนี้ต่อไปเพื่อผลประโยชน์ที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและแน่นอนว่าคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พลเมืองฝรั่งเศสจะออกมาเรียกร้องสิทธิและปกป้องผลประโยชน์ที่ตนพึงได้รับ และอันที่จริงการเดินขบวนและแสดงออกในลักษณะของการประท้วงก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในดินแดนแห่งน้ำหอมซึ่งให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย จนเกิดเป็นข้อสงสัยที่ว่า เพราะเหตุใด คนฝรั่งเศสจึงประท้วงกันบ่อยขนาดนี้ บ่อยราวกับว่าขอแค่มีสักเรื่องที่อยากเรียกร้องก็พร้อมลงถนนทุกเมื่อ
การประท้วงของพวกเขาได้ผลจริงหรือไม่ กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร และอะไรที่หล่อหลอมให้คนในประเทศกล้าออกมาเรียกร้องมากขนาดนี้ The MATTER ชวนชมะนันท์ จันทร์ศรี หรือ ‘พี่ป้อง’ แห่งรายการไกลบ้าน คนไทยที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสร่วม 20 ปีมาไขข้องสงสัยให้เราฟัง
ทุกวันนี้คนฝรั่งเศสประท้วงเรื่องอะไร
ทุกวันนี้เหรอ (หัวเราะ) คือถ้า ณ วันนี้เลยก็ประท้วงไม่พอใจการเปลี่ยนระบบเงินบำนาญของรัฐบาล แต่จริงๆ ฝรั่งเศสมีประท้วงกันเยอะมาก เยอะจนไม่อยากจะนับแล้ว
มีได้รับผลกระทบจากการประท้วงในครั้งนี้บ้างมั้ย
ไม่ขนาดนั้นนะ เพราะเขาประท้วงหนักจริงๆ แค่ตอนกลางคืน และพวกคนขับรถบัสรถไฟก็หยุดงานแค่อาทิตย์ละวันหรือ 2 วันเอง ที่สำคัญเขาบอกล่วงหน้าด้วย จะมีแค่บางอาชีพอย่างคนเก็บขยะแหละที่ประท้วงหยุดยาวเลย
คนฝรั่งเศสประท้วงไปเพื่ออะไร
เขาต้องการสร้างแรงกดดันให้ให้รัฐฯ เอาเข้าจริง บางทียังไม่ได้เจรจาด้วยซ้ำ แต่ก็รวมกลุ่มประท้วงแล้ว ต้องเข้าใจว่าสมาพันธ์หรือสหภาพของที่นี่ค่อนข้างค่อนข้างดุดัน ถ้าเป็นประเทศทางตอนเหนืออย่างฟินแลนด์ เวลามีกรณีเกี่ยวกับแรงงานหรือเศรษฐกิจ สหภาพต่างๆ อาจจะเจรจากับรัฐบาลโดยตรงได้ แต่สหภาพของฝรั่งเศสอาจจะมองการประท้วงเป็นเหมือนภารกิจที่ต้องมีเพื่อคานน้ำหนักกับภาครัฐ เหมือนอยากเขียนเสือให้วัวกลัว
แล้วส่วนตัวเห็นด้วยกับการประท้วงมั้ย
จริงๆ พี่คิดว่า ถ้ามีการประท้วง นั่นเท่ากับสหภาพแรงงานเจรจาไม่สำเร็จนะ ถูกมั้ย ดูเป็นความล้มเหลวมากกว่าน่ายินดี แต่สหภาพแรงงานน่าจะมองว่า การไม่เจรจาแล้วตั้งกลุ่มประท้วงที่มีผู้ประท้วงจำนวนมากคือความสำเร็จ อ๋อ แต่เราต้องห้ามสับสนนะ คือที่ฝรั่งเศสมีทั้งการประท้วงในเรื่องของเศรษฐกิจและการประท้วงเรื่องสิทธิต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องแรงงานการเงิน พี่จะเห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ถ้าเป็นการประท้วงในเรื่องของสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ อันนี้ส่วนใหญ่พี่เห็นด้วยหมดเลย เรื่องเพศ เรื่องความเท่าเทียมใดๆ คือตอนมาใหม่ๆ เรางงนะ เอะอะอะไรก็ประท้วงๆ แต่พออยู่มาเรื่อยๆ เราก็เริ่มเข้าใจคุณค่าที่คนฝรั่งเศสยึดถือ
สภาพแวดล้อมแบบไหนที่หล่อหลอมให้คนฝรั่งเศสกล้าออกมาชุมนุมในแทบทุกเรื่อง
คนฝรั่งเศสถูกสอนและมีภาพจำว่า การจะได้อะไรบางอย่างมาเกิดจากการต้องสู้ ต้องปะทะ ก็ดูได้จากประวัติศาสตร์เขาเนอะ ปฏิวัติฝรั่งเศสอะไรพวกนี้ ทั้งที่จริงๆ นักประวัติศาสตร์ก็พยายามออกมาอธิบายแล้วว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่คนก็อาจจะเผลอจำไปว่า เออ มันต้องต่อสู้ แม้กระทั่งการจะได้วันหยุดประจำปีต่างๆ กฎหมายหลายๆ อย่าง ก็ผ่านกระบวนการในการประท้วงมาเยอะมากเลย
เคยอยู่ในเหตุการณ์การประท้วงบ้างมั้ย
เคยสิ ครั้งแรกที่ใหญ่ๆ เลยคือสมัยเรียนปีท้ายๆ น่าจะ 15-20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีประเด็นเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานจบใหม่ ประท้วงรุนแรงมาก เอาเก้าอี้มากั้นประตูมหา’ลัย เผาตำราเก่าๆ ที่เก็บมาหลายร้อยปี เอาจริง พี่เสียดายมาก
เรื่องมีอยู่ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานของฝรั่งเศสค่อนข้างรัดกุม ถ้าบริษัทรับพนักงานเข้าทำงานแล้วไม่ใช่ว่าจะไล่ออกกันได้ง่ายๆ ต้องมีค่าชดเชยต่างๆ กฎหมายพวกนี้ทำให้บริษัทไม่กล้าจ้างพนักงาน รัฐบาลจึงมีไอเดียว่า งั้นเราปรับกฎหมายให้บริษัทสามารถเลิกจ้างเด็กจบใหม่ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยกันเถอะ เหมือนเป็นช่วงลองงาน ซึ่งตอนนั้นพี่เข้าใจได้นะ เราจบใหม่ ก็ไม่ได้อยากอยู่บริษัทไหนนานๆ อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า เด็กฝรั่งเศสจบใหม่ส่วนมากมองว่าสิ่งนี้ไม่โอเค มันเป็นคุณค่าทางสังคมที่เขาต้องปกป้อง เพราะกว่าจะได้มาซึ่งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คนสมัยก่อนต่อสู้มาเยอะ ถ้าวันนี้กฎหมายคุ้มครองเด็กจบใหม่ถูกยกเลิก วันหน้าข้อคุ้มครองอื่นของวัยอื่นก็อาจถูกแก้ไขได้เหมือนกัน มันอาจจะกระทบสิทธิไปเป็นทอดๆ ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ยอม เพราะเห็นว่านโยบายที่ออกมาไม่คุ้มค่า นักเรียนไม่ซื้อ ก็โอเค ก็ไปต่อได้
ความสำเร็จของการประท้วงในฝรั่งเศสแต่ละครั้งช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและเสียงของตัวเองมากขึ้นมั้ย
ก็คงมีส่วน อย่างตอนที่คนบางกลุ่มต่อต้านการออกกฎหมายให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เราก็ไปร่วมเดินขบวนเพื่อสนับสนุนกฎหมายนี้ พอวันหนึ่งสิ่งนี้ประสบความสำเร็จ เราก็เริ่มมองเห็นไงว่า เฮ้ย นี่ไง เสียงของเรามีคุณค่านะ สิ่งที่เราทำมีอำนาจนะ หลังจากนั้นมาเราก็จะตื่นตัวมากขึ้น พอมีข้อเรียกร้องใหม่ๆ ถึงแม้จะไม่ได้เกี่ยวกับเราโดยตรง เราก็สนใจ เพราะเรารู้แล้วว่าเสียงและความคิดเห็นของเรามีค่า
จริงมั้ยที่ว่า ยิ่งการเรียกร้องบนท้องถนนได้ผลมากเท่าไหร่ การเจรจาตามกระบวนการก็จะสำคัญน้อยลงเท่านั้น
มันเป็นดาบสองคมอยู่แล้ว ก็มีหลายประเด็นที่ประท้วงแล้วเห็นผล แต่จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับประเด็นประชานิยมที่ประท้วงด้วยว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน อย่างกรณีสายการบินแอร์ฟรานซ์ (Airfrance) คนในสังคมก็ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าพนักงานได้รับพรีวิเลจที่ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ทุกการประท้วงจะสำเร็จ มันก็มีแรงต้าน มีกระแสตีกลับเหมือนกัน แหม ไม่งั้นมันก็กลายเป็นสังคมบ้าสิคะ วันๆ ไม่ต้องทำอะไร ประท้วงอย่างเดียว
มีคนฝรั่งเศสที่เบื่อการประท้วงบ้างมั้ย เพราะบางครั้งมันก็อาจสร้างความเดือดร้อนในหลายมิติ
ช่วงที่มาอยู่ฝรั่งเศสแรกๆ พี่เองยังเซ็งเลย โหย ตอนนั้นคือโคตรเกลียดเลยอะ นึกออกมั้ย เรามาจากประเทศที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง พอมาเห็นอะไรแบบนี้คือตกใจมาก (หัวเราะ)
ตอนนั้นเขาประท้วงหยุดงานกันเกือบเดือน แล้วพี่ต้องเดินเท้ากลับบ้านเป็นชั่วโมง โหดมาก แต่ราวๆ 10 ปีมานี้ รัฐก็ออกระเบียบว่าคุณประท้วงได้ แต่ต้องการันตีบริการขั้นพื้นฐาน คืออยู่ดีๆ จะไม่มีรถบริการเลยไม่ได้ อย่างน้อยยังต้องทำงาน เดินรถกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไป ควรบอกล่วงหน้าให้ประชาชนเตรียมตัว อย่างสัปดาห์ก่อน พอรู้ว่าจะมีประท้วง บริษัทพี่ก็สั่งเวิร์กฟอร์มโฮมเลย หรือที่ประท้วงอยู่ตอนนี้ พอขยะไม่ถูกกำจัดมา 2 อาทิตย์ ก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่าอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนรึเปล่า เขาก็แบบ โอเค เดี๋ยวจะรีบมาจัดการให้ มันก็มีขอบเขตของมัน เพียงแต่บังเอิญว่าขอบเขตของที่นี่อาจจะกว้างกว่าการประท้วงของบางประเทศ
คนไทยหลายคนชื่นชมการกระทำของประชาชนฝรั่งเศส ในขณะที่คนบางส่วนตั้งคำถามว่า เราอยากให้ประเทศไทยมีเหตุรุนแรงแบบนั้นเหรอ คิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้
คืออยู่ดีๆ จะไปบอกว่า ถ้าชอบการประท้วงแบบฝรั่งเศส ก็ไปทำแบบเขาสิ พี่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ การต่อสู้หรือวิถีทางการเมืองขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สำคัญด้วยว่าฝ่ายเรียกร้องกับฝ่ายตรงข้ามอยู่ระดับไหน อย่างที่ฝรั่งเศส ประชาชนรู้ไงว่าการประท้วงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ เวลาออกไปเดินถนน อย่างน้อยก็ได้รับเสียงตอบรับจากรัฐบาล รัฐบาลแสดงท่าทีรับฟัง สำเร็จไม่สำเร็จก็อีกเรื่อง แต่สิ่งที่ประท้วงจะได้รับความสนใจในวงกว้าง มีสื่อทำข่าว แต่ถ้าดูในเมืองไทย บางเรื่องเนี่ย โอ้โห คนออกมาประท้วงตั้งเยอะตั้งแยะ แต่สื่อกระแสหลักแทบจะไม่พูดถึงด้วยซ้ำ ไม่เกิดแรงกระเพื่อมเลย เราเข้าใจคนที่ประท้วงในไทยเลยนะ คือคุณต้องจิตแข็งจริงๆ ถึงจะสู้มาได้จนถึงวันนี้
แบบนี้คนไทยควรจะเลิกประท้วง หรือควรต่อสู้ด้วยวิธีการไหนดี
ก็ไม่ควรเลิกประท้วงหรอก พี่ว่าเราก็ต้องสู้ในทุกมิติที่ยังมีช่องทาง แต่มันก็ท้าทายจริงๆ นั่นแหละ เพราะคนที่มีอำนาจในไทยก็อุดรูไว้หมด บางทีเราอยากเปลี่ยนอะไรใหญ่ๆ ก็กลายเป็นสื่อไม่ช่วยนำเสนอ พี่เคยสงสัยนะว่า ทำไมเมืองไทยมีข่าวดาราเยอะจัง พอมานั่งคิดก็อ๋อ อาจจะเพราะไอนั่นก็เล่นไม่ได้ ไอนี่ก็แตะไม่ได้ ก็มีอย่างเดียวแหละที่พูดได้คือใครคบกับใคร ใครเลิกกับใคร เมืองไทยยังห่างอยู่มากจริงๆ การประท้วงมีข้อจำกัด มีคนรอใช้กฎหมายเล่นงานอยู่ คือถ้าเกิดความคิดปะทะความคิด มันก็โอเคไง แต่นี่กลายเป็นความคิดปะทะกับไม้ เราพูด เขาตีหัว มันใช่เหรอ แต่ที่ฝรั่งเศส เราสามารถถกเถียงกันได้แทบทุกเรื่อง
แต่จริงๆ เราก็ยังพอจะเห็นแนวโน้มที่ดีนะ อย่างเรื่องทรงผม 2-3 ปีหลังก็เริ่มมีการประจานโรงเรียนที่บังคับให้ตัดผม มีเด็กออกมาต่อต้านคุณครูที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือก็เริ่มเห็นคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างแรงกระเพื่อมต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะ เพราะที่ไทยไม่ได้มีองค์กรหรือสหภาพอะไรรองรับ ใครก็สร้างแรงกระเพื่อมได้ เพราะฉะนั้นก็อาจจะเป็นแรงกระเพื่อมที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ และต่อให้เป็นการเรียกร้องที่ดี คนที่กล้าออกมาพูดก็อาจจะไม่ถูกการันตีความปลอดภัย เพราะไม่มีองค์กรไหนให้การดูแล
ก็คงต้องติดตามกันต่อว่าบทสรุปของการประท้วงในฝรั่งเศสครั้งนี้จะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด การพูดคุยกับพี่ป้องช่วยให้เราพอจะเข้าใจว่า การประท้วงคือหนึ่งในเครื่องมือหลักที่ประชาชนใช้ในการสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจในสังคมเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งในการก่อร่างสร้างชาติจนฝรั่งเศสเป็นฝรั่งเศสอย่างที่ชาวโลกรู้จักทุกวันนี้ แต่กระนั้น การประท้วงแทบทั้งหมดก็เป็นไปภายใต้ขอบเขตที่พอดีซึ่งเอื้อให้พลเมืองยังพอจะสามารถใช้ชีวิตโดยไม่เดือดร้อนจนเกินไป เป็นภาพการชุมนุมเรียกร้องในอุดมคติที่ไม่อาจตอบได้ว่าเมื่อใดประเทศไทยจะไปถึง