“ในปี 1861 ลินคอล์นพูดตอนเข้ารับตำแหน่งว่า เมื่อใดที่ราษฎรรู้สึกว่าใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้ เมื่อนั้นราษฎรย่อมใช้สิทธิ์แห่งการปฏิวัติเพื่อปลดหรือขับไล่รัฐบาลนั้น”
คำกล่าวของหนึ่งในแกนนำการชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่า สิทธิในการชุมนุมเป็นเรื่องพื้นฐานที่ประชาชนสามารถทำได้ ขณะเดียวกัน เสียงตะโกนก้องของกลุ่มผู้ชุมนุมดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียงว่า “The whole world’s watching!” เบื้องหน้าศาลที่จะพิจารณาคดีเอาผิดแกนนำการชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนาม เพื่อย้ำเตือนว่า ทั้งโลกกำลังจับจ้องมาที่คดีนี้อยู่
ตามหลักพื้นฐานแล้ว อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะแยกขาดออกจากกันเพื่อรักษาสมดุลในการบริหารประเทศเอาไว้ แต่จะเป็นอย่างไร หากเกิดการแทรกแซงกันขึ้นมา
The Trial of the Chicago 7 ภาพยนตร์จาก Netflix กำกับโดยแอรอน ซอร์กิ้น (Aaron Sorkin) ที่สามารถร้อยเรียงเนื้อเรื่องและบทสนทนาออกมาได้อย่างเฉียบคม อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงในช่วงปี 1968 ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาฟ้องร้องแกนนำการชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหาปลุกระดมให้เกิดการจลาจล กลายเป็นคดีการเมืองสุดเลื่องชื่อของสหรัฐฯ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ The Trial of the Chicago 7 เป็นที่จับตามองกันอย่างมาก คือการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2021 ถึง 5 สาขา ได้แก่ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม สาขาตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลใหญ่ที่สุดอย่าง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ยิ่งกว่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนที่จะทำให้เราเข้าใจว่า จะเป็นอย่างไร หากอำนาจบริหารแทรกแซงอำนาจตุลาการ?
[คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง The Trial of the Chicago 7]
.
.
จุดเริ่มต้นของคดี Chicago Seven
สงครามเวียดนาม เป็นประเด็นถกเถียงที่ยิ่งใหญ่ทั้งในสหรัฐฯ และสังคมโลกเอง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยกการพิจารณาคดีระหว่างกลุ่มแกนนำการชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนามกับรัฐบาลขึ้นมาเล่าเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในครั้งนั้น
ต้องเท้าความก่อนว่า เหตุการณ์การประท้วงนี้ เกิดขึ้นในปี 1968 ซึ่งในยุค 60 นั้น มีเหตุการณ์ลอบสังหารคนสำคัญทางการเมืองในสหรัฐฯ ถึง 2 คน นั่นคือประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิตในปี 1963 และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งถูกลอบสังหารในปี 1968 ดังนั้น การเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นจึงมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ในช่วงปีดังกล่าว ยังเป็นยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ส่งทหารจำนวนมากไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม กินงบประมาณของประเทศไปอย่างมหาศาล ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนเกิดคำถามว่า รัฐบาลจะส่งคนไปร่วมรบในประเทศที่ ‘คนอเมริกันไม่สามารถชี้พิกัดบนแผนที่ได้’ ไปทำไม
ในช่วงที่เกิดการประท้วงนี้ เป็นช่วงเดียวกับที่ ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐฯ ผู้เป็นตัวแทนจากพรรคเดโมแครต จะไม่ลงเลือกตั้งในสมัยที่สอง และกำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง ทางพรรคเดโมแครตจึงต้องหาตัวแทนคนใหม่ ไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ตัวแทนจากฝั่งรีพับลิกัน
แน่นอนว่า กลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้พรรคเดโมแครตเลือก ยูจีน แม็คคาร์ธีร์ (Eugene McCarthy) ผู้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการเข้าร่วมสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ประท้วงไปรวมตัวกันกดดันพรรคเดโมแครตที่ ‘ชิคาโก’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุมของพรรคเดโมแครต อันมีเพื่อคัดเลือกตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน
กลุ่มผู้ประท้วงมีหลากหลายกลุ่มและหลากหลายแนวคิด แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือการยุติสงคราม และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จัดชุมนุม ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีคนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาร่วมชุมนุมกันที่ชิคาโกอยู่ดี
แม้จะไม่ได้รับอนุญาต แต่การชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสงบและสันติ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ประกาศเคอร์ฟิวในบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งมีคำสั่งการให้ตำรวจกว่า 12,000 นาย กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งอิลลินอยส์ 5,600 นาย และทหารอีก 5,000 นาย ให้เข้ามาประจำในพื้นที่
ซีนหนึ่งในหนังเรื่องนี้ พาเราไปเห็นเหตุการณ์อันเป็นชนวนให้เกิดเหตุจลาจล เมื่อหนึ่งในแกนนำการชุมนุมถูกจับกุมตัวไป สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก พวกเขาเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจ หวังกดดันให้เจ้าหน้าที่ยอมปล่อยตัวแกนนำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ตรึงกำลังพร้อมรับมือไว้แล้ว แกนนำที่เหลือจึงต้องพาผู้ชุมนุมเดินกลับ เพื่อรักษาความปลอดภัย แต่พอกลับไปยังจุดที่เคยเป็นพื้นที่ประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ายึดพื้นที่ไว้แล้ว กลายเป็นว่า ในวันที่ 28 สิงหาคม ปี 1968 การชุมนุมถูกสลายด้วยแก๊สน้ำตาและกระบองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“ผมไม่รู้คนเก่งหน้าไหนคิดแผนนี้ แต่รู้ไหมว่าจะเกิดปัญหาขึ้นตอนไหน ตอนที่คุณบีบผู้ประท้วงจนหมดทนทางไง”
ขณะเดียวกัน พรรคเดโมแครตก็เลือกแม็คคาร์ธีร์ ผู้ประกาศว่าจะยุติสงครามเวียดนามขึ้นมาเป็นตัวแทน ตามที่ผู้ชุมนุมหวังไว้ ถึงอย่างนั้น ผู้คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็คือ นิกสัน แล้วในปี 1969 รัฐบาลของประธานาธิบดีนิกสัน ก็สั่งฟ้องผู้นำการประท้วงทั้ง 8 คน ในข้อหาสมคบคิดกันก่ออาชญากรรมด้วยการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตรัฐเพื่อจงใจปลุกระดมให้เกิดการจลาจล กลายเป็นคดีที่มีชื่อว่า ‘Chicago Seven’ (ตอนหลัง 1 ใน 8 ที่ถูกฟ้องร้อง ได้รับการพิจารณาว่าคดีแยกต่างหาก จึงเหลือเพียง 7 คน)
ความเอนเอียงของตราชั่งแห่งความยุติธรรม
ก่อนจะไปไกลกว่านี้ ขอเล่าถึงกลุ่มตัวละครผู้ถูกฟ้องร้องในคดีนี้กันก่อน ซึ่งได้แก่
- ผู้นำกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย นำโดย ทอม เฮย์เดน (Tom Hayden) รับบทโดยเอดดี้ เรดเมน (Eddie Redmayne) และเรนนี่ เดวิส (Alex Sharp) รับบทโดย อเล็กซ์ ชาร์ป (Alex Sharp)
- หัวหน้าพรรคเยาวชนนานาชาติ หรือกลุ่ม Yippies นำโดย แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน (Abbie Hoffman) รับบทโดย ซาชา บารอน โคเฮน (Sacha Baron Cohen) และ เจอร์รี รูบิน (Jerry Rubin) รับบทโดย เจเรมี สตรอง (Jeremy Strong)
- ผู้นำกลุ่มรวมใจยุติสงครามเวียดนาม นำโดย เดวิด เดลลิงเจอร์ (David Dellinger) รับบทโดย จอห์น แคร์โรลล์ ลินช์ (John Carroll Lynch)
- สองผู้เข้าร่วม แต่ไม่ได้เป็นแกนนำในการชุมนุม ลี ไวเนอร์ (Lee Weiner) รับบทโดย โนอาห์ ร็อบบินส์ (Noah Robbins) และจอห์น ฟรอย์ส (John Froines) รับบทโดย แดเนียล แฟลเฮอร์ตี (Daniel Flaherty)
ในทั้งหมดนี้ แต่ละคนล้วนมีแนวทาง แนวคิด และเป็นอิสระแยกจากกัน แม้ว่าจะมีเป้าหมายเดียวกันว่าต้องการยุติสงครามเวียดนาม
นอกจากทั้ง 7 คนนี้ ยังมี บ็อบบี้ ซีล (Bobby Seale) รับบทโดย ยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่ 2 (Yahya Abdul-Mateen II) ชายผิวดำจากพรรคแบล็กแพนเตอร์ ที่ถูกพ่วงเข้ามาร่วมในคดีนี้ด้วย ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่มแกนนำ แต่แค่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเป็นเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น
สิ่งที่ฉายชัดในการพิจารณาคดีครั้งนี้คือ อคติของผู้พิพากษาที่มีต่อกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา โดยเห็นได้ตั้งแต่การเรียกนามสกุลของ เดลลิงเจอร์ เป็น ดิลลิงเกอร์ ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ดิลลิงเกอร์นั้น เป็นนามสกุลของผู้มีอิทธิพลมืดในสหรัฐฯ จึงกลายเป็นประเด็นว่า นี่คือการพยายามสร้างความเข้าใจผิดให้กับคณะลูกขุนหรือไม่ ไปจนถึงการนำเอาคดีของบ็อบบี้ ซีล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาร่วมกับการไต่สวนคดีประท้วงนี้ ซึ่งทั้งเรื่องเราจะได้ยินฝ่ายจำเลยย้ำกันตลอดว่า ซีลมีทนายส่วนตัว แต่ทนายของเขายังไม่สามารถมาว่าความให้ได้ ดังนั้นคดีของซีลต้องถูกพิจารณาแยก แต่ศาลก็ปฏิเสธคำร้องนี้อยู่ตลอด
“ตรงนี้มีอยู่ 8 คน แต่ป้ายข้างนอกนั่นเขียนว่า ‘ปล่อยชิคาโกทั้ง 7’ ผมไม่เกี่ยว” ซีลกล่าว
“คุณบอกว่าเราสมคบคิดกัน ผมเคยเจอแค่ไม่กี่คน อัยการคงอยากเอาจำเลย ‘นิโกร’ มาข่มขวัญคณะลูกขุน ผมถูกโยนเข้ามา เพื่อทำให้กลุ่มดูน่ากลัวขึ้น”
หนังยังพาเราไปเห็นถึงพฤติการณ์แปลกประหลาดต่างๆ มากมาย อย่างกรณีปลดคณะลูกขุนออก ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคำตัดสินคดี เนื่องจาก สหรัฐฯ ใช้ระบบลูกขุนในชั้นศาล ดังนั้น ทนายความทั้งฝั่งจำเลยและอัยการจะต้องว่าความเพื่อชักจูงให้ลูกคุณคล้อยตามให้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้เล่าว่า มีคณะลูกขุน 2 คน ที่เอนเอียงมาทางฝั่งจำเลยแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน บ้านของลูกขุนทั้งสอง ก็ได้รับจดหมายข่มขู่ที่ลงท้ายชื่อว่า ‘แพนเตอร์ส’ ซึ่งมีนัยยะถึงกลุ่มแบล็กแพนเตอร์ เป็นการกดดันให้ทั้งสองต้องออกจากการเป็นลูกขุนไป
เหตุการณ์นี้ สร้างความไม่พอใจให้กับ วิลเลียม คันสต์เลอร์ (Willian Kunstler) และเลนนาร์ด ไวน์กลาส (Leonard Weinglass) สองทนายความของฝั่งจำเลยเป็นอย่างมาก ทั้งคู่เชื่อว่า ผู้ที่ใช้ลูกไม้นี้มาจากฝั่งอัยการซึ่งว่าความในนามของรัฐ และก็คับแค้นใจว่า การจะตรวจสอบที่มาของจดหมายนี้ ก็เป็นหน้าที่ของ FBI ซึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นกัน
แต่จุดที่สะท้อนถึงความเอนเอียงอย่างร้ายกาจของศาล คือการที่ผู้พิพากษากดดันจำเลยอย่างหนักหน่วงตลอดการพิจารณาคดี จนซีล ชายผิวดำที่ถูกนับรวมเข้ามาในคดีนี้อย่างไม่เป็นธรรม ทนไม่ไหว และระเบิดอารมณ์ออกมา ทำให้ผู้พิพากษาไม่พอใจอย่างหนัก และสั่งให้ตำรวจศาลนำตัวเขาไป ‘จัดการ’
เมื่อซีลกลับมาที่ห้องพิจารณาคดีอีกครั้ง ทุกคนในห้องต่างตกตะลึงกับภาพที่เขาถูกผ้าอุดปาก และถูกโซ่มัดมือ มัดเท้า พร้อมกับที่ผู้พิพากษาย้ำว่า ตนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ได้มีอคติแต่อย่างใด
แม้ในหนังจะเล่าว่า ซีลถูกมัดไม่นาน แล้วศาลก็ยอมรับคำร้องให้แยกการพิจารณาของซีลออกไปเป็นอีกคดีหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาถูกมัดนานถึง 3 วัน กว่าศาลจะยอมรับคำร้อง ซึ่งภาพที่จำเลยถูกมัดมือเท้า และมีผ้าอุดปากนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในศาลของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ระหว่างการพิจารณาคดีที่หลับตาดูก็รู้ว่าการพิจารณาคดีนี้เอนเอียงแค่ไหน ไม่ว่าจะยื่นหลักฐานว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามที่รัฐกล่าวอ้างอย่างไร ศาลก็ปัดตกไปเสียหมด ยิ่งกว่านั้น พอฝ่ายจำเลยแสดงท่าทีอะไรไป ก็โดนข้อหาหมิ่นศาลกันไปอีกหลายกระทง เช่นเดียวกับทนายคันสต์เลอร์ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นศาลไปทั้งสิ้น 24 กระทง
เมื่อเป็นคดีการเมือง ก็มีคำตัดสินแล้ว
ใครกันแน่ที่เริ่มก่อจลาจล?
จากการจลาจลในการชุมนุม ที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระบองมาสลายการชุมนุม นำมาสู่คำถามใหญ่ๆ เสมอว่า ใครเป็นฝ่ายใช้กำลังก่อน อย่างช่วงแรกของเรื่องที่ริชาร์ด ชูลต์ซ (Richard Schultz) พนักงานอัยการกลาง พูดคุยกับอัยการสูงสุดถึงเรื่องการฟ้องร้องคดี Chicago 7 ชูลต์ซมองว่า ทั้ง 8 คนไม่ได้มีหลักฐานว่าสมคบคิดกัน ยิ่งกับซีลซึ่งมาจากกลุ่มแบล็กแพนเตอร์สแล้วยิ่งห่างไกลไปอีก จึงไม่มั่นใจว่าจะตั้งข้อหาให้คนกลุ่มนี้ได้
ยิ่งกว่านั้น มีหลักฐานจากการสืบสวนที่ชัดเจนมาแล้วว่า ผู้ที่เริ่มการจลาจลก่อน ก็คือตำรวจ แต่อัยการสูงสุดก็ยังยืนยันที่จะให้ชูลต์ซทำตามที่บอกให้ได้ จนชูลต์ต้องถามว่า
“งั้นมีคำถามที่สำคัญกว่า ใครเป็นคนเริ่มจลาจล ผู้ประท้วงหรือตำรวจ”
“ตำรวจไม่ก่อจลาจล” อัยการสูงสุดตอบ
“แต่มีพยานเห็นอยู่นะ” ชูลต์สแย้ง
“งั้นคุณต้องชำแหละมัน แล้วเอาชนะมาให้ได้”
เมื่อรัฐบาลต้องการเอาผิดผู้ชุมนุมให้ได้และเข้าแทรกแซงตุลาการ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้ง คดีนี้จึงกลายเป็นคดีการเมือง อย่างที่ ฮอฟฟ์แมน หนึ่งในแกนนำการประท้วงย้ำอยู่เสมอ และเมื่อตุลาการเอนข้างไปกับฝั่งรัฐ ก็เท่ากับว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ถูกตัดสินไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มพิจารณาคดีเสียด้วยซ้ำ นำไปสู่อคติในชั้นศาลที่ผู้พิพากษามีต่อจำเลยอย่างเห็นได้ชัดเจน
แม้จะศาลจะเอนเอียงหนักแค่ไหน แต่ก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่สิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อสู้คดี อย่าง ‘สิทธิในการประกันตัว’ ของเหล่าแกนนำการชุมนุมไม่ถูกริดลอนไป ทำให้พวกเขาสามารถต่อสู้คดีนอกห้องขังได้ (ยกเว้นซีลที่โดนกล่าวหาว่าฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ)
ถึงอย่างนั้น ศาลก็ขจัดทุกหนทางที่เป็นไปได้ว่าจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับชัยชนะ อย่างตอนที่ แรมซี่ คลาร์ก (Ramsey Clark) อดีตอัยการสูงสุดในยุคของประธานาธิบดีจอห์นสัน ได้ขึ้นให้การในชั้นศาลในฝั่งจำเลย ซึ่งตัวเขานับเป็นพยานปากสำคัญและเป็นความหวังของเหล่า Chicago 7
อดีตอัยการสูงสุด ให้ปากคำว่า เขาเคยได้รับโทรศัพท์จากประธานาธิบดีนิกสันที่ถามว่า จะเอาผิดกับกลุ่มที่ประท้วงไหม แล้วคลาร์กตอบว่า ไม่ เพราะกองคดีอาญาสืบสวนได้ข้อสรุปแล้วว่า กรมตำรวจชิคาโกเป็นผู้เริ่มการจลาจล ทั้งยังช่วยยืนยันว่า แกนนำแต่ละคนไม่ได้สมคบคิดกันตามที่รัฐกล่าวอ้าง
แต่ในตอนที่คลาร์กลงจากตำแหน่ง อัยการสูงสุดคนใหม่ซึ่งไม่ถูกชะตากับคลาร์กก็ส่งเรื่องดำเนินคดีต่อแกนนำการชุมนุม ดังนั้น การที่คลาร์กมาให้การในประเด็นนี้ จึงถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เหล่าแกนนำพ้นผิดได้ และยังเป็นเครื่องสะท้อนว่า คดีนี้มีเรื่องทางการเมืองอยู่เบื้องหลังด้วย
ถึงอย่างนั้น ความเอนเอียงของศาลก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่อีกครั้ง เพราะผู้พิพากษารับฟังการให้ปากคำของคลาร์กโดยไม่ให้คณะลูกขุนเขามาฟังด้วย เขาอ้างว่า หากเห็นว่าเกี่ยวข้องกับคดีเมื่อไหร่ ถึงจะให้คณะลูกขุนเข้ามาฟัง ซึ่งสุดท้าย ผู้พิพากษาก็ปล่อยให้คลาร์กกลับไป โดยไม่ให้เสมียนบันทึกการปรากฏตัวของอดีตอัยการสูงสุดเลยด้วยซ้ำ
ยิ่งกว่านั้น ทุกคนในเรื่องต่างทราบดีว่า ที่ไวเนอร์และฟรอยส์ สองผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่ไม่ได้เป็นแกนนำ ต้องถูกพ่วงมาในคดีนี้ด้วย ก็เพราะว่ารัฐต้องการให้มีคน ‘พ้นผิด’ บ้าง เพื่อจะได้ดูมีความชอบธรรมมากขึ้น
ดังนั้นแล้ว นี่จึงนับเป็นคดีการเมืองที่รัฐมอบคำตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าแล้วนั่นเอง ด้วยอคติที่มีต่อแกนนำการชุมนุม เหมือนอย่างที่ ชูลต์สตั้งคำถามกับฮอฟฟ์แมนว่า
“คุณเกลียดรัฐบาลไหม”
“ผมบอกไว้เลย มันเทียบไม่ได้กับที่รัฐบาลเกลียดชังผม” ฮอฟฟ์แมนตอบ
ชูลต์สยังถามฮอฟฟ์แมนด้วยว่า ก่อนที่จะมายังชิคาโก ฮอฟฟ์แมนได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจใช่หรือไม่? ซึ่งฮอฟ์แมนก็นิ่งไปสักพัก จนชูลต์สกระเซ้าว่า “ดูท่าจะต้องคิดหนักเลยนะ” ฮอฟฟ์แมนจึงตอบมาว่า
“ขอเวลาหน่อย ผมไม่เคยถูกไต่สวนคดีเพราะความคิดของตัวเองมาก่อน”
เรื่องราวของ The Trial of the Chicago 7 ปิดท้ายลงตามข้อเท็จจริงที่ว่า เฮย์เดน, ฮอฟฟ์แมน, เดวิส, รูบิน และเดลลิงเจอร์ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปลุกปั่นให้เกิดจลาจล และต้องรับโทษจำคุกในเรือนจำรัฐบาลกลาง 5 ปี ขณะที่ ไวเนอร์และฟรอยส์พ้นผิดตามที่คาดการณ์ไว้
แต่เหตุการณ์หลังจากนั้น ตามประวัติศาสตร์แล้ว มีการอุทธรณ์คำตัดสินใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่กระแสสังคมเริ่มเห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการต่อต้านสงครามเวียดนาม จนกลายเป็นการกดดันให้รัฐบาลของประธานาธิบดีนิกสัน ต้องประกาศว่าจะถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามโดยไว
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้กลับคำตัดสินและสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งอัยการสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะทำคดีอีกครั้ง แล้วในปี 1972 ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินให้แกนนำทั้ง 5 คนที่ต้องโทษติดคุกพ้นผิดทั้งหมด พร้อมด้วยเหตุผลว่า “ผู้พิพากษามีพฤติการณ์ที่เป็นอคติต่อจำเลย”
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า หากสมดุลอำนาจในการปกครองประเทศไม่แยกขาดจากกันจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เห็นว่ากาลเวลาและกระแสความคิดของคนในสังคม อาจเป็นตัวกำหนดชัยชนะในเหตุการณ์บางอย่างได้เช่นกัน
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก