“ขับรถคนเดียว กินคนเดียว นอนคนเดียว…ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่ามีเพื่อนจริงๆ”
ปี 2548 เป็นปีที่มีหนังไทยน้ำดีและหลากหลายเข้าฉายมากที่สุดปีหนึ่ง เพราะทั้ง มหา’ลัยเหมืองแร่ เพื่อนสนิท จอมขมังเวทย์ แหยมยโสธร เอ๋อเหรอ และต้มยำกุ้ง ต่างก็เป็นชื่อคุ้นหูที่แม้เวลาจะผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี เราก็ยังจดจำมันได้ดีในฐานะภาพยนตร์คลาสสิกขึ้นหิ้ง
หนังโรแมนติก-ดราม่าอย่าง ‘เฉิ่ม’ ก็เข้าฉายในปีนั้นเช่นกัน และถึงแม้มันจะไม่สามารถเบียดบังหนังเรื่องอื่นในปีเดียวกันจนกลายเป็นจุดสนใจได้มากเท่าที่ควร แต่เรื่องราวของชายขับแท็กซี่คนซื่อ รับบทโดยหม่ำ จ๊กมก—เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ที่ดันไปตกหลุมรักสาวร้านอาบอบนวด รับบทโดย นุ่น—วรนุช ภิรมย์ภักดี ก็สามารถบันทึกสภาพความเป็นอยู่ของคนตัวเล็กท่ามกลางความเปลี่ยวเหงาของกรุงเทพมหานคร ณ พ.ศ.นั้นไว้ได้อย่างน่าชมเชย
เช่นเดียวกับผลงานการกำกับอื่นๆ ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี (กอด, Snap แค่…ได้คิดถึง, Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ฯลฯ) แม้การตั้งชื่อเรื่องและท่าทีในการประชาสัมพันธ์ของเฉิ่มจะถูกปูมาว่าเป็นหนังรักตามสูตรสำเร็จ ทว่าคงเดชกลับสามารถพาผู้ชมไปสังเกตและตั้งคำถามได้ไกลกว่านั้นในหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง ค่านิยม สภาพสังคม และสภาวะเศรษฐกิจ ต่างก็ถูกสอดแทรกให้เราคนดูได้ขบคิดตลอดความยาว 100 นาที และยิ่งมันสามารถรับชมผ่านทางแพลตฟอร์มสตีมมิ่ง Netflix ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา การกดดูซ้ำเพื่อซึมซับและสำรวจหนังเรื่องนี้อีกครั้งในปี 2566 ก็ทำให้เราพบว่า บริบทที่แวดล้อมเมืองหลวงไทยในวันนี้ก็แทบไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม ซ้ำร้ายยังอาจอยู่ตรงปากเหวยิ่งกว่าเมื่อปี 2548 เสียอีก
คอนโดคนเดียว
กรุงเทพฯ ปี 2548 (และอาจจะเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่แรก) คือหมุดหมายปลายทางของคนต่างจังหวัดผู้ใฝ่ฝันอยากสร้างเนื้อสร้างตัว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องการมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงปากท้อง พวกเขาตัดสินใจหอบข้าวย้ายของเข้ามาหางานทำในเมืองแห่งโอกาส ซึ่งผลงานของคงเดชเรื่องนี้ เราจะได้เห็นภาพที่ตัวละครหลักทั้ง 2 ต่างก็เลือกย้ายมาอาศัยในกทม. และต้องขวนขวายทำงานปากกัดตืนถีบเพื่อให้อยู่รอด
คนขับแท็กซี่กะดึกอย่างสมบัติอาศัยในห้องเช่าขนาดเล็กที่แทบจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่หนังก็บอกให้คนดูรู้กรายๆ ว่าพนักงานร้านอาบอบนวดอย่างนวล ต้องคอยส่งเงินก้อนใหญ่ให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัดเป็นประจำ ซึ่งสภาวะเหล่านี้ก็มีให้เห็นในโลกความจริง และยังดูไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด
อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 กำลังแรงงานรวมของประเทศไทยมีทั้งสิ้น 39,903,313 คน จากจำนวนทั้งหมดเป็นกำลังแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปแล้วถึง 11,520,885 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.87 ของทั้งประเทศ สถิตินี้ชี้ชัดถึงอัตราการจ้างงานที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งบีบให้คนต่างจังหวัดแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องบอกลาครอบครัวที่รักเพื่อเข้ามาอาศัยและทำงานด้วยตัวคนเดียวในเมืองกรุง ถ้าโชคดีหน่อย เราอาจมีพี่น้อง เพื่อน หรือแฟนเป็นรูมเมต แต่หากโชคน้อย เราคงต้องทำทุกอย่างตามลำพังไม่ต่างจากคำพูดในหนังที่เราใช้เปิดหัวบทความ
กินข้าวคนเดียว กลับบ้านคนเดียว อาศัยในห้องคนเดียว ความเหงาคืบคลานจนกลายเป็นเพื่อนสนิท เป็นชีวิตที่ไม่มีใครให้แชร์สิ่งที่พบเจอมาในแต่ละวัน แถมยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งของตัวเองและทางบ้านไม่มากก็น้อย
โดดเดี่ยวมากเข้า เราก็ต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยว ในภาพยนตร์เรื่องเฉิ่ม สิ่งที่นายสมบัติใช้หล่อเลี้ยงหัวใจให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวันคือวิทยุคลื่นเอ.เอ็ม.ที่เขาเปิดฟังทั้งตอนตื่นและยามหลับ ราวกับว่ามันคือเพื่อนที่มีชีวิต ในขณะที่ยุคปัจจุบัน เราต่างก้มหน้าก้มตาหาสิ่งบันเทิงกันผ่านหน้าจอ จึงไม่แปลกที่สื่อประเภทสตรีมมิ่ง และอาชีพจำพวกยูทูบเบอร์ สตรีมเมอร์ หรือกระทั่งติ๊กต่อกเกอร์จะมีอัตราเติบโตที่ก้าวกระโดด เราต่างรู้ดีว่าพวกเขาเหล่านี้คือเครื่องยึดเหนี่ยวเล็กๆ น้อยๆ ของคนเหงาในเมืองใหญ่
พรุ่งนี้ตอนบ่ายไปเที่ยวห้างกับนวลนะ
นี่คือประโยคที่นวล นางเอกของเรื่องชวนหนุ่มนักขับไปใช้เวลาร่วมกัน แม้หนังจะไม่ได้บอกกับเราตรงๆ ว่าสิ่งนี้นับเป็นการเดตหรือไม่ แต่ไม่น้อยก็มาก ความสนิทสนมคงค่อยๆ เติบโตขึ้นในใจของคน 2 คน อย่างไรก็ดี คำพูดชวนเขินนี้กลับซุกซ่อนปัญหาที่ดูเหมือนว่าไม่เคยจางหายไปจากมหานครเทพสร้าง
ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ปี 2565 ระบุว่า พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มีมากถึง 8,544 จุด แต่กลับมีแหล่งที่เข้าถึงได้จริงในแง่การใช้พื้นที่ไม่ถึง 200 แห่ง ที่สำคัญยังไม่อาจยืนยันด้วยว่าจุดเหล่านี้มีระยะใกล้ไกลจากที่พักอาศัยแค่ไหน และมีวิธีการเดินทางไปง่ายยากอย่างไร เพราะต่อให้เมืองนี้มีสวนหย่อมที่ดีและเปี่ยมไปด้วยบริเวณสีเขียว แต่หากเราอยู่ห่างหลาย 10 โล แถมสวนยังไม่ได้อยู่ติดกับบริการขนส่งสาธารณะ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุดท้ายการออกเดตจะต้องจบลงในห้างสรรพสินค้าของบรรดานายทุนอยู่ร่ำไป และคนรุ่นใหม่ก็ได้แต่บ่นว่า ‘กรุงเทพฯ นี่มันช่างเป็นเมืองที่ไม่โรแมนติกเอาซะเลย’
ทั้งนี้ ฉากหนึ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์ คือคลับลีลาศซึ่งเป็นเหมือนดินแดนแห่งความฝันของสมบัติและเหล่าผู้สูงอายุ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะวันนี้ความบันเทิงรูปแบบดังกล่าวดูจะได้รับความนิยมมากขึ้น สังเกตได้จากคลับลีลาศที่มีอยู่รอบเมืองและเทศกาล Bangkok Design Week 2023 ที่เพิ่งผ่านไปก็มีกิจกรรมเปิดฟลอร์เต้นกลางย่านเยาวราชในชื่อ ‘เติ้ง ลี่ Swing’ เท่ากับว่าอย่างน้อยที่สุด สปอตไลต์ก็กำลังฉายส่องไปยังสิ่งที่เคยเป็นเพียงกิจกรรมนันทนาการกระแสรอง จึงเป็นไปได้ว่าเมืองนี้ในอนาคตอันใกล้ อาจมีกิจกรรมสนุกสนานที่มีความหลากหลายให้คนแต่ละวัยได้เลือกสรรตามรสนิยมมากกว่าในวันเก่าก่อน
Future Perfect สู่พรุ่งนี้ที่ดีกว่า
คือชื่อของขบวนการแชร์ลูกโซ่ที่ตัวเอกของเราตกเป็นเหยื่อ สิ่งนี้สะท้อนความจริงที่ว่าสังคมไทยยังเต็มไปด้วยคนตัวใหญ่ที่จ้องจะเอาเปรียบคนตัวเล็ก ผู้ไม่หวังดีเหล่านี้พร้อมใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ ยอมหลอกลวง ชักจูง และขายฝัน เพื่อให้คนที่มีทางเลือกในชีวิตไม่มากนักกล้าเดิมพันเงินเก็บ (ที่ก็ไม่ได้มากมาย) ทั้งหมดของตัวเอง
การฉกฉวยเหล่านี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ตามหน้าสื่อไม่เว้นวัน ดีไม่ดีอาจจะมีมากกว่าเมื่อปี 2548 ด้วยซ้ำ เพราะระยะหลังมานี้ วิธีในการได้มาซึ่งเม็ดเงินของบรรดาแก๊งต้มตุ๋นก็ซับซ้อนและจับทางได้ยากขึ้น
ทว่ายังมีสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการที่เจ้าของธุรกิจแชร์ลูกโซ่เอาเปรียบความหวังของคนไม่มีทางสู้ นั่นคือหลายครั้งความเน่าเฟะของสังคมก็กดดันให้คนตัวเล็กรังแกคนตัวเล็กกันเอง
การฉกชิงวิ่งปล้นในปริมณฑลยังคงเกิดขึ้นไม่เคยขาด หลายต่อหลายครั้งเหยื่อก็ไม่ใช่คนที่ร่ำรวยมั่งมี แต่เป็นเพียงคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำไม่ต่างจากที่คนร้ายเป็น เพราะว่ากันตามตรง การข่มขู่คนที่ดูอ่อนแอย่อมทำได้ง่ายกว่าการรังแกคนรวย
ไม่ได้ พี่เป็นผู้ชาย
สมบัติกล่าวประโยคนี้หลังจากที่นวลยืนกรานว่าจะซื้อเบอร์เกอร์เลี้ยงเขา ฉากนี้สะท้อนวิธีคิดและความเชื่อในยุคนั้นอย่างมีนัยสำคัญว่า ‘ท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายต้องเป็นคนจ่ายเงินเสมอ’ จะให้ผู้หญิงเป็นคนจ่ายได้ยังไง ถ้าเราเป็นผู้ชาย เราสิต้องเลี้ยง
อีกหนึ่งค่านิยมที่เฉิ่มพาเราไปตรวจดู คือมุมมองที่คนส่วนใหญ่มีต่ออาชีพอาบอบนวด สิ่งนี้ถูกแสดงออกผ่านคำพูดของคนที่ทำอาชีพนี้เองอย่างนวลที่บอกว่า “พี่กลัวติดโรคใช่มั้ย” ตอนที่สมบัติปฏิเสธที่จะจูบเธอ ทั้งที่จริงๆ ผู้ชมคงจะทึกทักได้ว่า ที่สมบัติไม่จูบเป็นเพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่คู่ควร หาใช่เพราะกลัวติดโรค แต่ค่านิยมที่ว่าอาชีพนี้ไม่ปลอดภัย เป็นงานที่ไร้เกียรติได้ฝังรากลึกถึงขนาดคนที่ประกอบอาชีพเองก็รู้สึกโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ตาม ทั้งแนวคิดชายเป็นใหญ่และความเชื่อเดิมที่ชาวไทย (รวมถึงชาวโลก) มีต่อบางอาชีพกำลังปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ความหลากหลายเท่าเทียมกลายเป็นหัวข้อหลักในหลายวงสนทนา เช่นเดียวกับการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคเพื่อชี้ให้เห็นว่าทุกอาชีพต่างก็สำคัญและมีคุณค่าไม่ต่างกัน
กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว?
เนื่องจากตัวเอกเป็นคนขับแท็กซี่ จึงไม่แปลกเลยที่ผู้ชมจะได้ดูภาพการจราจรที่ติดขัดของกรุงเทพฯ ถึงขั้นมีฉากที่สมบัติต้องเปิดกระจกรับลม เพราะไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าที่เขาจะเคลื่อนรถได้
นอกจากปัญหารถติด หนังยังสอดส่องไปยังวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับท้องถนน ทั้งเด็กหญิงในกระโปรงนักเรียนเดินขายพวงมาลัย เด็กชายผู้ทำทีไปเช็ดกระจกรถโดยที่คนขับไม่ได้ร้องขอ หรือการเฉี่ยวชนของยานพาหนะซึ่งนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งต่อยตี ภาพเหล่านี้ไม่ต่างจากแผลเป็นที่เราเห็นจนชินตาจวบจนปัจจุบัน
แต่ที่เราไม่น่าได้เห็นแน่ๆ ในปีนี้หรือเร็วๆ นี้คือฉากที่สมบัตินอนเปิดหน้าต่าง เพราะคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในปี 2566 ไม่เหมือนกับอากาศในปี 2548 อีกแล้ว ปีนั้น เจ้าฝุ่นจิ๋วที่เราเรียกกันว่า PM2.5 คงยังไม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้ บางทีเราก็มีคิดถึงสิ่งแวดล้อมในอดีตบ้างเหมือนกัน เพราะปัจจุบันก็เริ่มไม่รู้แล้วว่า เราสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโควิด-19 หรือฝุ่น PM2.5 กันแน่ ปิดหน้าจนจำหน้าเพื่อนไม่ได้แล้วเนี่ย!
ช่วงหนึ่งของเฉิ่มมีเสียงบรรยายของผู้สื่อข่าวที่รายงานเรื่องการประชุมครั้งสำคัญของภาคพื้นเอเชีย โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่า ‘นี่คือการประชุมที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และจะทำให้ประชาชนไทยทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น’
แม้ไม่อาจฟันธงว่านี่คือคำพูดที่คัดลอกมาจากเหตุการณ์จริงหรือไม่ แต่เราก็คงพอเดาได้ว่ามันคือถ้อยคำแม่แบบที่ผู้นำประเทศมักพูดเสมอยามมีไมค์จ่อปาก ความร้ายกาจของคงเดช คือการปล่อยให้เสียงข่าวนี้รายงานโดยมีภาพความลำบากยากแค้นของคนกรุงเทพฯ เป็นฉากหน้า นับเป็นฉากเสียดสีจิกกัดที่ตรงไปตรงมาจนหลายคนอาจไม่ได้จดจำมากนัก ถึงอย่างไร เราก็มั่นใจเหลือเกินว่าฉากจิกกัดที่ดูไม่มีอะไรนี้เองจะถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศเราไปอีกหลายปี เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขการใช้ชีวิตของคนบางกลุ่มในเมืองเกรด D ที่อะไรๆ ก็ไม่ลงตัวจะคอยลากถ่วงหน่วงรั้งจนเขาและเธอ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นได้เลย ทำนองที่ว่า ‘ต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ไม่มีวันได้ดี’
จากทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา คงพอสรุปได้ว่าเวลาเกือบ 2 ทศวรรษไม่สามารถขจัดปัญหาที่กัดกินคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ได้ จริงอยู่ที่หลายสิ่งอาจหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายไปตามพลวัต ค่านิยมและวัฒนธรรมบางอย่างที่ล้าหลังเริ่มได้รับการชำระ แม้จะยังไม่หมดสิ้น แต่ก็พอจะมองเห็นแสงแห่งความหวังลางๆ ตรงทางออก และเหนือสิ่งอื่นใด การหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียก็ช่วยให้ประชาชนเล็งเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ครั้งหนึ่งเคยถูกซุกไว้ใต้พรมมากขึ้น แต่กระนั้น สิ่งที่สร้างความเจ็บช้ำมากกว่าความพยายามในการเสาะค้นต้นตอของปัญหา คือการที่พวกเรามองเห็นปัญหาอยู่แล้วตรงหน้า แต่ระบบและขั้วอำนาจกลับบังคับให้เราไม่สามารถแก้ไขให้อะไรดีขึ้น
สุดท้าย บทสรุปของความรักอันฝืดเคืองในเมืองนี้ก็คงลงเอยคล้ายกับฉากติดตลกจากหนังที่ออกฉายในปีไล่เลี่ยกับ เฉิ่ม อย่าง หมานคร ที่ว่า ‘ถ้าอยากขับรถไปรับไปส่งคนที่เรารัก แต่ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ยังไม่อนุญาตให้มีปัญญาซื้อรถ เราก็คงทำดีที่สุดได้แค่ทนเป็นคนขับแท็กซี่’
อ้างอิงจาก