ในยุคโลกาภิวัตน์ การที่สิ่งสิ่งหนึ่งจะถูกกล่าวถึงไปทั่วโลกจนกลายเป็น ‘เทรนด์’ แทบไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากสิ่งนั้นมีคุณค่ามากพอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นข่าว แฟชั่น หรือความบันเทิง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘อุตสาหกรรมดนตรี’ ที่ผลงานคุณภาพ หรือศิลปินที่โดดเด่น ไม่จำเป็นจะต้องถูกจำกัดอยู่แค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทวีปใดทวีปหนึ่ง
หนึ่งในนั้นคือ ‘นิกิ’ (NIKI) หรือนิโคล เซฟานย่า (Nicole Zefanya) ศิลปินสาวจากประเทศอินโดนีเซีย ที่แม้จะอยู่ในวัย 21 ปี แต่ความสามารถที่มีกลับล้นเหลือ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง เธอยังเป็นโปรดิวเซอร์ และนักดนตรีอีกหลากหลายชนิด ภายใต้สังกัด ‘88rising’ ค่ายเพลงที่ผลักดันศิลปินเอเชียหลายคนให้เข้าสู่วงการเพลงสากล ไม่ว่าจะเป็น ริช ไบรอัน (Rich Brian), โจจิ (Joji) หรือแจ็คสัน หวัง (Jackson Wang)
แม้จะเป็นศิลปินหญิงคนเดียวในสังกัด แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของการเติบโต เพราะเธอได้ผลิตผลงานเพลงคุณภาพออกมามากมาย จนติดอันดับชาร์ตเพลงอย่าง La La Lost You, Lowkey, I Like U, Indigo และล่าสุด Switchblade กับ Selena ด้วยเสียงนุ่มใสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอ ที่ผสมผสานกับดนตรีแนวอาร์แอนด์บี ถ่ายทอดผ่านเนื้อเพลงที่สละสลวย ทำให้เธอได้รับยอดสตรีมเพลงจากแฟนๆ ในสปอติฟายทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 740 ล้านครั้ง
นอกจากการทำเพลง นิกิเองก็ต้องการเป็นที่ยอมรับในฐานะศิลปินเอเชียที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแบบอย่างให้กับเด็กผู้หญิงทั่วโลกที่ต้องการโอกาสไขว่คว้าความฝัน ซึ่งเธอเชื่อว่าความสามารถที่มีจะทำลายบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม และเป็นตัวแทนคนเอเชียที่จะเอาชนะอุตสาหกรรมดนตรีระดับนานาชาติให้ได้ ซึ่งในที่สุด เธอก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป้าหมายไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลย
The MATTER จึงชวนเธอมาพูดคุยเกี่ยวกับอุปสรรคและการเติบโตในเส้นทางดนตรีระดับนานาชาติ ในฐานะผู้หญิงเอเชียที่กล้าจะหลุดออกจากเซฟโซนเพื่อทำตามความฝันของตัวเอง
ความพิเศษที่คุณใส่เข้าไปในเพลง Switchblade กับ Selene คืออะไร?
Switchblade และ Selena คือ 2 เพลงล่าสุดที่ฉันปล่อยออกมา แล้วก็เป็นเพลงที่ชอบที่สุดตั้งแต่แต่งเพลงมา ซึ่งความแตกต่างจากเพลงก่อนๆ ก็คือ การยกระดับดนตรีและเนื้อเพลงให้โดดเด่นมากขึ้น โดยแนวคิดหลักของเพลงทั้งอัลบั้มนี้คือ ฉันอยากรวบรวมความฉันตลอดระยะเวลาที่เป็นศิลปินมา ฉันค้นพบว่าความอเนกประสงค์คือ จุดแข็งของฉัน ฉันรักการที่ตัวเองทำได้หลายอย่าง และฉันก็ชอบเสียงที่หลากหลายในโปรเจ็กต์นี้
ส่วน Selene พูดถึงช่วงเวลาของความบุ่มบ่าม ไม่ยั้งคิด โดยฉันมีโอกาสได้ร่วมงานกับ จาค็อบ เรย์ (Jacob Ray) เขาเป็นคนที่มีความสามารถมาก และได้ร่วมทำพาร์ทเบสให้กับเพลงนี้ ในตอนแรกฉันไม่แน่ใจว่ามันเป็นไวบ์ที่ถูกต้องของเพลงนี้หรือเปล่า สุดท้ายก็จบลงที่เราลืมเพลงนั้นไปเลยเป็นเดือน แต่แล้วพอเรากลับมาฟังอีกครั้ง ฉันรู้สึกว่า เดี๋ยวนะ ฉันจำเพลงนี้ได้ จริงๆ แล้วมันไม่เห็นเป็นไรเลย น่าทึ่งซะด้วยซ้ำ เรามาทำเพลงนี้กันต่อเถอะ แล้วเราก็ทำจนเสร็จ และได้ออกมาเป็นเพลง Selene
Switchblade ดูจะพูดถึงความกล้าหาญ แล้วความกล้าหาญสูงสุดในชีวิตของคุณคืออะไร?
สิ่งที่กล้าหาญที่สุดที่เคยทำนั่นก็คือ การย้ายไปอยู่อีกซีกหนึ่งของโลก โดยที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีอะไรเลย มีแค่ตัวฉันที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งก็เป็นที่มาของเพลง Switchblade ไปฟังกันได้นะ (หัวเราะ)
การเป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรีถือเป็นความกล้าหาญและเป็นเรื่องที่ยากลำบากด้วยหรือเปล่า?
การเป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมดนตรีนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ต้องการความยืดหยุ่นและความกล้าหาญที่จะยืนหยัดเพื่อตัวเอง สิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่เรารู้ว่าเราสามารถทำได้ เพราะบางทีมันเกิดความเอนเอียงบางอย่าง หรือผู้คนปฏิบัติกับผู้หญิงแบบไม่จริงจังด้วยเหตุผลบางอย่าง
“ฉันคิดว่าผู้หญิงในวงการนี้
ยังคงต้องพยายามมากขึ้นเป็นสองเท่า
เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเราสามารถ
ทำงานได้เหมือนกับที่ผู้ชายทำ”
หลายครั้งฉันเห็นรายชื่อศิลปินในงานเฟสติวัล แทบจะไม่มีรายชื่อนักร้องเดี่ยวที่เป็นผู้หญิงเลย หรือถ้ามี ก็มีแค่ 2-3 คน ซึ่งฉันคิดว่าควรจะมีพื้นที่ได้มากกว่านี้
ได้ยินว่าได้ร่วมงานกับภูมิ วิภูริศจากประเทศไทย เขาเป็นยังไงบ้าง วัฒนธรรมการทำงานของเขาแตกต่างจากของคุณมากมั้ย?
ภูมิเป็นคนที่น่าดึงดูดและร่าเริงมาก ฉันคิดว่าเขาเป็นศิลปินเอเชียที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง หลังจากได้ฟังเพลง Lover Boy ฉันก็ตกเป็นแฟนคลับเขาทันที ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยผ่านอินสตาแกรม หรืออีเมลบ้าง ซึ่งตอนอัดเพลงเราได้อัดแยกกัน ฉันเลยไม่แน่ใจว่ากระบวนการทำงานของเขาเป็นยังไง แต่ที่แน่ๆ คือฉันก็รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำเพลงร่วมกับเขา เขาเจ๋งมาก ฉันรักเขา
อะไรความท้าทายของการแต่งเพลงให้ติดหูคนฟังทั่วโลก?
เวลาแต่งเพลง ฉันไม่เคยคิดเลยว่าฉันจะต้องแต่งเพลงให้ไปไกลระดับโลก ฉันแค่แต่งเพลงในตอนที่ฉันมีแรงบันดาลใจ หรือรู้สึกว่าอยากจะแต่งมันจริงๆ ฉะนั้น ฉันคิดว่าการแต่งเพลงทั่วไปมันก็มีความท้าทายในตัวเองอยู่แล้ว เพราะบางทีฉันก็แต่งเพลงไม่ออก หรือรู้สึกไม่สร้างสรรค์เลย แต่แล้วแรงบันดาลใจนั้นก็กลับมาอีกที ฉันคิดว่ามันเป็นแบบนี้มากกว่า แต่งเพลงเมื่อมีแรงบันดาลใจ
ที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในอุตสาหกรรมดนตรีบ้าง? และคิดว่าจะปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร?
อุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนแปลงไปเยอะเลย โดยเฉพาะสื่อ ที่เริ่มตระหนักถึงการนำเสนอภูมิหลังและชาติพันธุ์ของผู้คนมากขึ้น ฉันคิดว่ามันกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องนะ และคิดว่าเรายังต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำงานให้ครอบคลุมมากที่สุด
เคยคิดมั้ยว่าคุณกำลังสูญเสียตัวตนบางอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของกระแสหลัก? แล้วคุณรักษาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้ได้ยังไง?
“ฉันคิดว่าฉันไม่ได้สูญเสียตัวตน
แต่ฉันกำลังสะท้อนตัวตนออกมา
ผ่านเพลงที่แตกต่างกันต่างหาก”
มีช่วงหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่า นี่คือตัวฉันจริงๆ หรอ? ถ้าฉันเขียนเพลงแบบนี้ออกมา มันจะดูป๊อปเกินไปมั้ย? หรือปล่อยเพลงนี้ออกไปแล้ว มันดูอาร์แอนด์บีมากไปหรือเปล่า? สรุปนี่คือฉันหรือไม่ใช่ฉันกันแน่? แล้วฉันก็ตระหนักได้ว่า ไม่ว่าอะไรที่ฉันปล่อยออกไป ฉันมีส่วนร่วมกับมันทั้งหมด ฉันเป็นคนประกอบชิ้นงานพวกนั้นเข้าด้วยกัน ซึ่งเราทุกคนมีหลายด้านในตัวเองอยู่แล้ว เราสามารถทำเพลงออกมาได้หลากหลายประเภท ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดอยู่กับเพลงประเภทเดียว หรือมุมมองเดียวของตัวเองก็ได้