ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน กระแส แนวเพลง หรือเพลงฮิตที่เราเคยได้ยินได้ฟัง มีอิทธิพลมาจากวงการเพลงจากตะวันตก ที่เพลงมักจะเป็นเมนสตรีม เป็นเพลงกระแสหลัก และติดชาร์ตสากลทั่วไป
แต่ศิลปินในเพลงกระแสหลักของโลก ก็มักจะเป็นศิลปินชาวตะวันตก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ศิลปินเอเชียมักจะมีพื้นที่น้อยกว่าในวงการ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘Sean Miyashiro’ เปิดค่ายเพลง ’88rising’ ที่รวบรวม และโปรโมทศิลปินแนวฮิปฮอป R&B จากทั่วทั้งเอเชียชื่อดังอย่าง Joji, Rich Brian และ NIKI และอีกมากมาย
The MATTER ได้สัมภาษณ์ Sean Miyashiro ชาวเอเชีย-อเมริกัน CEO ของค่ายเพลงนี้ ถึงการเปิดค่ายเพลงเพื่อศิลปินเอเชีย การทำเพลงของศิลปินในค่าย ข้อดี และอุปสรรคของคนเอเชีย ในการผลักดันเพลงให้เป็นกระแสหลักทั่วโลก ไปถึงอัลบั้มล่าสุดของค่ายอย่าง ‘Head In The Clouds II’ ถึงคอนเซ็ปต์ และการทำงานในอัลบั้มนี้
88rising ค่ายเพลงที่อยากเป็นพื้นที่โปรโมทศิลปินเอเชีย
88rising เป็นค่ายเพลงที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดยตั้งแต่แรกเริ่มค่ายนี้เน้นไปที่โปรโมทความสามารถของศิลปินเอเชีย โดย Miyashiro เคยบอกไว้ว่า เป้าหมายของพวกเขาคือ “เป็นกลุ่ม (Crew) ที่โดดเด่นที่สุด” ซึ่งในช่วงแรกนั้นเอง ค่ายก็ได้เน้นไปที่ศิลปินฮิปฮอปอย่าง แร็ปเปอร์อเมริกัน-เกาหลี Dumbfoundead หรือ แร็ปเปอร์เกาหลี Keith Ape
Miyashiro เล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มต้นก่อตั้งค่ายจากการที่เห็นว่า มีศิลปินเอเชียที่มีความสามารถจำนวนมาก แต่ในวงการเพลงไม่ค่อยมีพื้นที่ในการโปรโมทศิลปินเอเชีย จึงทำให้เขาคิดว่าต้องสร้างแพลตฟอร์มตรงนี้ขึ้นมาเอง
“ผมสังเกตเห็นว่า มีศิลปินที่น่าทึ่งมากมายจากเอเชีย แต่ไม่มีแพลตฟอร์มระดับโลกสำหรับพวกเขา ผมรู้สึกว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ที่จะแสดงให้โลกได้เห็นว่า ชาวเอเชียก็มีความสามารถ และเท่ห์เช่นกัน เราไม่เคยมีตัวแทนศิลปินแบบนี้มาก่อน” เขาจึงเริ่มคิดรวมตัวเด็กๆ เพื่อสร้างครอบครัวของศิลปินภายใต้ค่ายเพลง 88rising
“ก่อนจะมีค่าย 88rising มีศิลปินเอเชียที่น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยที่เป็นตัวแทนในด้านดนตรีในอเมริกา ผมจึงอยากจะสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมเอเชีย และอเมริกา โดยการพัฒนา และทำงานกับศิลปินเอเชียเหล่านี้เข้าด้วยกัน”
นอกจากการที่ค่ายเน้นโปรโมทศิลปินเอเชียแล้ว Miyashiro ก็ยังเสริมอีกว่า ชื่อค่าย ‘88rising’ ก็มาจากความเป็นเอเชียด้วย
“ชื่อ 88rising นี้ ก็มาจากเรื่องที่ว่า ตัวเลข ‘88’ ถือเป็นเลขนำโชคในหลายๆ วัฒนธรรมของเอเชีย และยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสุข ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่พวกเราอยากจะโปรโมทออกไปในการทำเพลง” เขากล่าว
ภายหลัง 88rising ก็เริ่มมีศิลปินที่หลากหลาย หลากสไตล์มากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าแค่ฮิปฮอป ทั้ง R&B และอิเล็กโทรนิกส์ป็อปด้วย ซึ่งทำให้เราได้เห็นศิลปินเอเชียที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงผลงานที่ปล่อยออกมาเรื่อยๆ
การกลับมาของอัลบั้ม Head In The Clouds II
แม้ว่าศิลปินแต่ละคนของค่ายจะมีชื่อเสียง และออกอัลบั้มเดี่ยวกัน แต่ 88rising เองก็มีโปรเจ็กต์ในการออกอัลบั้มร่วมกัน ในซีรีส์ Head In The Clouds ซึ่งอัลบั้มแรกประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมถึงมีการจัดงานเฟสติเวิลนี้ในสหรัฐฯ ด้วย
และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 88rising ก็ได้ปล่อยอัลบั้มที่ 2 ในซีรีส์นี้ออกมา กับ ‘Head In The Clouds II’ ซึ่งจะพลาดไม่ได้ที่เราจะถามถึงการทำเพลงในอัลบั้มนี้ โดย Miyashiro ก็บอกกับเราว่า อัลบั้มที่ 2 นี้แตกต่างจากอันแรก ทั้งเรื่องของคอนเซ็ปต์ การทำเพลง และอาร์ตเวิร์ก
“ตอนอัลบั้มแรกของ Head In The Clouds ถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับพวกเรา ในตอนนั้น พวกเราไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไร มันเหมือนเป็นการทดลอง และมีข้อผิดพลาดมากมายในตอนแรก แต่เมื่อพวกเราเริ่มเข้ากับจังหวะทุกอย่างก็เริ่มเป็นไปขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพลง ‘Midsummer Madness’ โด่งดังขึ้น
สำหรับอัลบั้ม Head In The Clouds II ผมคิดว่าพวกเราได้โฟกัสมากขึ้น และรู้ว่าเราพยายามทำอะไรให้บรรลุเป้าหมายในทันที นอกจากนี้เรายังได้ศิลปินชาวญี่ปุ่น Hajime Sorayama มาช่วงออกแบบอาร์ตเวิร์กแนว SCI-FI สำหรับอัลบั้มนี้ ที่ช่วยให้พวกเราได้เห็นภาพเพลงในหัวพวกเราด้วย
พวกเราเป็นแฟนของ Sorayama มานาน และเมื่อเราเริ่มพูดคุยกัน ทั้งเราและ Sorayama ต่างตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้ร่วมงาน และทำบางอย่างด้วยกัน มันเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบเมื่อเราพบกันตอนที่เรากำลังจะเริ่มทำ Head In The Clouds II”
ด้วยคอนเซ็ปต์ของ Head In The Clouds II ที่แตกต่างจากอัลบั้มแรก เราถาม Miyashiro ว่า 88rising อยากจะเล่าอะไรผ่านอัลบั้มนี้
“เราทดลองกับทั้งเสียงที่แตกต่างกัน เอฟเฟคการร้อง และแนวเพลงในอัลบั้มนี้ มันเป็นเรื่องสนุก และน่ายินดี แต่พวกเราก็ทุ่มเทกันหนักมากๆ เพื่อสิ่งนี้ เราต้องการให้ผู้คนได้รู้ว่า มันเป็นเรื่องที่ดีที่จะลองสิ่งใหม่ๆ ออกจากคอมฟอร์ตโซนในขณะที่สนุกไปกับมันด้วย
เรายังทำเพลงที่ไม่มีขอบเขตอย่างแน่นอน เพราะไม่มีข้อจำกัด ซึ่งเรามองว่านั่นเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างงานศิลปะที่แท้จริง”
Head In The Clouds II ยังเป็นอีกหนึ่งอัลบั้ม ที่มีศิลปินเอเชียนอกค่าย 88rising มาร่วมฟีทเจอริ่งมากมาย ซึ่งรวมถึงศิลปินชาวไทย ภูมิ วิภูริศ Miyashiro เองก็เล่าให้ฟังว่าพวกเขาได้เคยร่วมงานกันมาก่อนแล้ว ตั้งแต่อัลบั้มแรก รวมถึง แจ็กสัน หวัง ไอดอลบอยกรุ๊ปวง GOT7 ของเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดี และชวนมาร่วมงานในอัลบั้มนี้ต่อ
เราเล่าให้ Miyashiro ว่าเพลง Indigo ของ NIKI เป็นหนึ่งในเพลงโปรดของเราในอัลบั้มนี้ พร้อมถามว่า เพลงโปรดของเขาคือเพลงไหน ซื่งเขาก็บอกว่า เพลงนี้ก็เป็นเพลงที่เขาชอบเช่นกัน
“ ‘Indigo’ ก็เป็นเพลงโปรดของผมเหมือนกัน มันช่างเป็นเพลงที่ตรงไปตรงมา และเพลงนี้ ก็เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นว่า NIKI สามารถเขียนเพลงทุกประเภทด้วยตัวเอง และเธอจะเป็นราชินีแห่งเอเชียคนใหม่”
ศิลปินเอเชีย กับความพยายามไปถึงระดับโลก
ปกติแล้ว เราไม่ค่อยมีศิลปินเอเชียอยู่ในเพลงกระแสหลักของวัฒนธรรมป็อปอเมริกัน หรือในวงการเพลงโลก Miyashiro เองก็บอกเราว่า พวกเขาพยายามไปสู่ระดับนั้นให้ได้ “โดยการทุ่มเททำงานอย่างหนัก และการทำเพลงที่ดีออกมา”
ทั้งยังบอกว่า การเป็นศิลปินเอเชีย มีทั้งข้อดี และต้องพบอุปสรรคในการไปถึงระดับโลกด้วย
“ผมพูดได้ว่าการเป็นศิลปินเอเชียมีทั้งข้อดี และอุปสรรค เราไม่มีศิลปินเอเชียที่เป็นตัวแทนในเพลงกระแสหลักมากพอ เพราะว่าอุปสรรคในการเข้าไปยังจุดนั้นสูงมาก แต่ในตอนนี้ ผู้คนเริ่มรับรู้ ได้เห็น และได้ยินเพลงของชาวเอเชียมากขึ้นทั้งในเพลงกระแสหลัก ภาพยนตร์ และวงการบันเทิงทั่วไป ซึ่งผมคิดว่านี่ก็เริ่มเป็นข้อดีที่เกิดขึ้นกับพวกเราด้วย”
ซึ่งที่ผ่านมา Miyashiro ได้บอกกับเราว่า ช่วงที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของค่าย คือเฟสติเวิลของค่าย
“ช่วง Head In The Clouds Festival ครั้งแรกในปี 2018 ในลอสแองเจลิส มันเป็นเหมือนโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ และเป็นช่วงที่เหมือนฝันสำหรับผม”
และสุดท้าย เราได้ถามถึง Miyashiro ในฐานะ CEO ถึงแผนของ 88rising ในอนาคต รวมถึงซีรีส์อัลบั้ม Head In The Clouds
“อัลบั้ม Head In The Clouds 3 มีแน่นอน 100% และสำหรับเป้าหมายในอนาคต สิ่งที่ผมพูดได้ในตอนนี้ คือความสนุก และตื่นเต้นจะเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า อยากให้พวกคุณได้ติดตามกัน!”