(คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของการ์ตูนเรื่อง One Piece)
ใน พ.ศ. 2540 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง? วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจไปทั่วเอเชีย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ เล่มแรกของมหากาพย์พ่อมดน้อยออกตีพิมพ์ สหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน และ One Piece ตอนแรก ถูกตีพิมพ์ลงในโชเนนจัมป์
นับจากปีนั้นมาถึงปีนี้ เป็นเวลา 24 ปีแล้ว ที่เหตุการณ์ซึ่งยกตัวอย่างมาข้างต้นส่งผลกระทบต่อชีวิตใครหลายคนมาถึงปัจจุบัน ระยะเวลายาวนาน 24 ปี มันเพียงพอที่ผลกระทบนั้นจะอยู่ในชีวิตเด็กคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนถึงวัยทำงาน
One Piece ผลงานยอดฮิตของ อ.เออิจิโระ โอดะ (Eiichirō Oda) ก็เช่นกัน นับตั้งแต่ตีพิมพ์ในโชเนนจัมป์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.2540 มังงะเรื่องนี้สร้างสถิติไว้มากมาย ทั้งยอดขายที่ติดชาร์ตขายดีติดต่อกันถึง 11 ปี การเป็นมังงะที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น และการถูกโหวตเป็นการ์ตูนที่คนชื่นชอบมากที่สุดตลอดกาลในปี ค.ศ.2021
แน่นอนกับการเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นไม่กี่เรื่องที่ตีพิมพ์ติดต่อกันมานานจนเข้าสู่ตอนที่ 1,000 ทั้งมังงะและอนิเมะ และฉบับรวมเล่มก็ทะลุ 100 เล่มไปเรียบร้อย
จำนวนและสถิตินี้มันบ่งบอกอะไรได้บ้าง?
การที่ผลงานสักชิ้นเขียนติดต่อกันมายาวนานขนาดนี้ ย่อมสร้างผลกระทบทางสังคมอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นงาน Soft Power ระดับฮิตทั่วโลก จึงไม่แปลกใจที่ในงานแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาที่โตเกียว มีนักกีฬาจากหลายชาติ โพสต์ท่าตามตัวละครจาก One Piece มากมาย ทั้งท่าโพสต์ ‘เกียร์สอง’ และ ‘เกียร์สาม’ ของตัวละครมังกี้ ดี ลูฟี่ พระเอกของเรื่อง หรือท่า ‘SUPER’ ของตัวละครแฟรงกี้ ที่นักกีฬาทุ่มน้ำหนักจากสหรัฐอเมริกา ออกท่าโพสก่อนเข้าสนามแข่งขัน
เรียกได้ว่า One Piece กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมของโลกนี้ไปแล้ว รวมถึงได้ส่งต่อแนวคิดหรือมุมมองสังคมให้กับเด็กที่โตมาเป็นผู้ใหญ่จำนวนมากในสังคมโลกนี้
ในโอกาสครบรอบ 1,000 ตอนของ One Piece เราจึงอยากชวนมาวิเคราะห์กันดูว่า สิ่งที่ อ.โอดะ และ One Piece ส่งต่อให้คนอ่านนั้น มีอะไรน่าสนใจบ้าง
1. เราไม่จำเป็นต้องเก่งไปทุกอย่าง
กลุ่มโจรสลัดหมวกฟางถูกขนานนามจากกองทัพเรือว่าเป็นกลุ่มที่ ‘จำนวนไม่มาก’ แต่กลับ ‘ร้ายกาจ’ รวมถึงสมาชิกแต่ละคนมีฝีมือระดับสูง ซึ่งสำหรับคนอ่านอย่างเราย่อมรู้ดีกว่า สมาชิกทุกคนล้วนไม่มีใคร ‘เก่งกาจ’ ถึงที่สุด และต้องพึ่งพากันและกันอย่างมาก เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคไปได้
เนื้อเรื่องช่วงที่ต่อสู้กับมนุษย์เงือกอารอน ลูฟี่ถูกปรามาสว่าเป็นกัปตันที่ไม่เอาไหน ซึ่งใช่ ลูฟี่ยอมรับว่าทำอะไรได้ไม่เก่งเหมือนเพื่อนในทีม ใช้ดาบก็ไม่เป็น เทคนิคการเดินทะเลก็ไม่มี ทำอาหารก็ไม่ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ลูฟี่มั่นใจว่าทำได้คือ
“ก็เอาชนะแกได้ไงล่ะ”
จะเห็นได้ว่าในทีมหมวกฟาง ล้วนไม่มีใครเก่งที่สุด ทุกคนมีความถนัดของตัวเอง และมีข้อด้อยกะพร่องกะแพร่งของตัวเองเช่นกัน ลูฟี่อาจจัดการคู่ต่อสู้ตัวเอ้มาตลอด 1,000 ตอน แต่ความมุ่งมั่น ความแข็งแกร่งในการต่อสู้ของเขา จะไม่มีประโยชน์เลย หากไม่ได้พลังจากเพื่อนฝูงคนอื่นๆ ทั้งการเดินเรือของต้นหน นามิ, ฝีมือการรักษาอาการบาดเจ็บจากหมอประจำเรือ ช็อปเปอร์, อาหารอร่อยๆ จากกุ๊กอย่าง ซันจิ, พลซุ่มยิงที่แก้สถานการณ์วิกฤตหลายๆ ครั้งอย่าง อุซป, ไปจนถึงสมาชิกล่าสุดอย่างนายท้ายเรือ จินเบ ที่ก็มาเติมเต็มทีมให้ครบครันยิ่งขึ้น
ทุกคนในทีมล้วนเอื้อเฟื้อแบ่งปันฝีมือซึ่งกันและกัน ทุกคนรู้ว่าหากมีปัญหาแบบนี้ต้องให้สมาชิกคนไหนจัดการ และยังไว้ใจซึ่งกันอย่างมาก และในศึกตัดสินสุดท้าย ใครก็รู้ว่าต้องผายมือให้กัปตันเรืออย่างลูฟี่ แต่แน่นอนว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้ ทุกคนล้วนสู้ตายแก้ปัญหาสถานการณ์กันมาอย่างสุดฝืมือแล้ว
2. เหรียญมีสองด้าน แต่ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด
ตั้งแต่พ้นช่วงไทม์สกิป 2 ปี (ในเนื้อเรื่อง) เป็นต้นมา เหมือน One Piece จะให้เวลากับปูมหลังที่ค้นไปถึงต้นตอความชั่วร้ายของตัวละครหลายตัวมากขึ้น ให้เห็นว่าผิวหน้าของความเลวนั้น ลึกลงไปก็มีที่มาซับซ้อนและเศร้าสร้อยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น อดีตของดอนกีโฮเต้ โดฟลามิงโก้ เจ็ดเทพโจรสลัดที่เป็นถึงอดีตเผ่ามังกรฟ้า ในวัยเด็กโดฟลามิงโก้มีชีวิตที่สุขสบายอยู่ในแมรีจัว เมืองสวรรค์ของเหล่าเทพเจ้ามังกรฟ้า จนกระทั่งวันหนึ่ง บิดาของเขาที่รักมนุษย์อย่างมากก็ตัดสินใจสละฐานันดรเพื่อลงมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ธรรมดา ในเกาะแห่งหนึ่ง
ในขณะที่เผ่ามังกรฟ้ารังเกียจเดียดฉันท์และเหยียดหยามมนุษย์ เหล่ามนุษย์ก็เกลียดกลัวเคียดแค้นเผ่ามังกรฟ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมีเผ่ามังกรฟ้าลงมาอาศัยอยู่ใกล้ขนาดนี้ จึงไม่แปลกเลยที่ครอบครัวดอนกีโฮเต้ จะถูกเพื่อนบ้านสังหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยความแค้นต่อเผ่ามังกรฟ้า
โดฟลามิงโก้ ที่ไม่เข้าใจในพฤติกรรมของพ่ออยู่แล้ว ว่าทำไมต้องลงมาเกลือกกลั้วกับมนุษย์ด้วย เมื่อถูกทรมานอย่างนี้ก็ยิ่งรังเกียจมนุษย์ธรรมดาที่เขาเข้าใจว่าต่ำต้อยกว่าตนเข้าไปอีก และนั่นก็เป็นต้นกำเนิดของตัวร้ายที่บูชาความแข็งแกร่ง และมองว่าคนล้วนไม่ควรเกิดมาเท่ากัน คนนี้
ซึ่งถามว่าสิ่งที่โดฟลามิงโก้เจอในอดีตนั้นน่าเห็นใจมั้ย – มันก็ใช่ แต่สิ่งที่เขาทำในฐานะเจ็ดเทพโจรสลัด, ราชาแห่งเดรสโรซา, หรือโจ๊กเกอร์ โบรกเกอร์แห่งโลกมืด มันก็ผิดอยู่ดี ทั้งการค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ค้ายา กำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยม
หรือความขัดแย้งระหว่างเผ่าเงือกและมนุษย์ ที่มีต้นเหตุมาจากการเหยียดเผ่าพันธุ์ในอดีต จนสร้างกลุ่มโจรสลัดเงือกที่ร้ายกาจขึ้นมา ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นเช่นกัน ที่บอกว่าความชั่วร้ายมีต้นตอที่มา แต่การกระทำอันเลวร้ายที่เหล่าเงือกทำก็เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้เช่นกัน
3. อนาคตเป็นของรุ่นต่อไป และเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องส่งมอบมัน
แทบจะทุกภาคของเนื้อเรื่อง ตลอด 1,000 ตอนที่ผ่านมา One Piece เล่าเรื่องการ ‘ส่งต่อเจตนารมย์’ และการส่งไม้ต่อนี้แหละที่เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของ One Piece
เราเข้าใจว่า One Piece มีเนื้อหาที่ค่อนข้างสนับสนุนแนวคิดหัวก้าวหน้า การแหกออกไปจากขนบของตัวละครอย่างลูฟี่ก็ค่อนข้างชัดเจนรุนแรง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่า อ.โอดะ และ One Piece ค่อนข้างประนีประนอมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมเช่นกัน แน่นอนว่าค่อนข้างเชื่อในระบบปกครองโดยคนดี รวมถึงเชื่อมั่นในความดี
เห็นได้ชัดในเนื้อเรื่องช่วงเดรสโรซา ที่เมื่อทุกคนรู้ความจริงของพฤติกรรมอันฉ้อฉลของโดฟลามิงโก้ที่เป็นราชาของเกาะแล้ว เมื่อลูฟี่จัดการโดฟลามิงโก้ได้ สิ่งที่ประชาชนทุกคนทำคือการแต่งตั้งราคารุคิ ธรรมราชาองค์ก่อนของประเทศ กลับมาปกครองอย่างผาสุกอีกครั้ง
หรืออย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาะดรัม ที่ราชาวาโปลทอดทิ้งประชาชนหลังจากประเทศถูกโจรสลัดโจมตี ก็นำมาซึ่งการขับไล่วาโปลออกจากเกาะ และแต่งตั้งดอลตัน ผู้นำกลุ่มต่อต้านวาโปล ที่ต่อสู้เคียงข้างประชาชน ขึ้นเป็นราชาคนใหม่แทน
จะเห็นว่า One Piece มีท่าทีเดินตามขนบประเพณี ราชาผู้ปกครองเป็นตำแหน่งที่ต้องมี แต่ประชาชนล้วนไม่อดทนต่อการกดขี่ เมื่อรู้ว่าผู้ปกครองที่มีนั้นเลวร้าย ก็พร้อมจะตั้งคำถามและขับไล่ เพื่อหาผู้ปกครองใหม่ที่ดี
และการตามขนบนี้ก็ยังมีอยู่โดยทั่วทั้งเรื่อง ยิ่งในภาควาโนะนั้นยิ่งชัดเจน โจรสลัดไคโดปิดประเทศวาโนะอยู่นานกว่า 20 ปี แช่แข็งวัฒนธรรมและทรัพยากรในเกาะให้อยู่แค่เมืองหลวงและชนชั้นนำอย่างตนและโชกุนโอโรจิเท่านั้น และกลุ่มหมวกฟางและพวกนี่เองที่มาเพื่อหยุดการแช่แข็ง และตั้งใจจะเปิดประเทศวาโนะ ออกสู่สาธารณะ โดยมีตระกูลโคสึกิที่รอรับช่วงการเป็นผู้ปกครองที่ดีต่อไป
อีกสิ่งที่น่าสังเกตคือ
ทุกความสำเร็จของลูฟี่
ล้วนมีคนแก่สักคนเป็นพลังอยู่เบื้องหลังเสมอ
ตั้งแต่เก็น ตาแก่ที่หมู่บ้านโคโคยาชิ ก็ช่วยเหลือลูฟี่ตอนจมน้ำ ปั๊มหัวใจจนรอดมาได้ และชนะอารอนในที่สุด หรือลุงโตโต้ ที่เมืองยูบา ก็เชื่อมั่นในพลังของลูฟี่ว่าจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของอลาบาสตาได้ น้ำของโอเอซิสที่ให้ลูฟี่มา ก็เป็นทั้งแรงใจและตัวช่วยให้เขาเอาชนะโจรสลัดครอกโคไดล์ได้ในที่สุด
หรือจะให้เห็นภาพชัดกว่านั้น ซิลเวอร์ เรลี่ มือขวาของเจ้าแห่งโจรสลัด โกล ดี โรเจอร์ คือผู้สอนวิชาควบคุมฮาคิให้ลูฟี่ เป็นอาจารย์ที่ลูฟี่เคารพอย่างมาก รวมถึงในภาควาโนะก็มีนายใหญ่เฮียวโกโร่ อดีตยากุซ่า ที่หมดพลังความหวังต่ออนาคตไปแล้ว แต่กลับมีแรงใจสอนวิธีใช้พลังฮาคิราชันให้แก่ลูฟี่ เพื่อนำไปสู้กับไคโด
สำหรับลูฟี่นั้น ความเคารพต่อวัฒนธรรมประเพณีและคนรุ่นก่อนล้วนมีอยู่เสมอ ยกเว้นว่าตาลุงคนนั้นจะเป็นตัวขัดขวางความสุขของเพื่อนเขา และดึงรั้งกาลเวลาให้ไม่อาจหมุนไปสู่อนาคต ไม่ว่าจะเป็นเจ็ดเทพโจรสลัดโดฟลามิงโก้ สี่จักรพรรดิไคโด จอมพลอานาอินุ หรือใครหน้าไหนก็ตาม
เพราะเวลาล้วนเดินไปข้างหน้า อีกทั้งชีวิตของคนรุ่นต่อไปจะเจริญงอกงามได้ ก็เพราะการส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นก่อน และการปล่อยวางจากอดีตที่คร่ำครึ
ทั้งสามข้อดูจะเป็นประเด็นหลักๆ ที่ One Piece ส่งมอบให้แก่ผู้อ่านที่ติดตามมาเป็นระยะเวลากว่า 24 ปี (และดูท่าจะยังมีให้ติดตามไปอีกพักใหญ่ๆ) กลายเป็นแนวคิดที่ติดลงในความคิดและมุมมอง
ซึ่งก็หวังใจว่า 1,000 ตอนที่ผ่านมา จะได้ให้คน ‘Generation One Piece’ อย่างเราๆ ที่เป็นผู้อ่าน เป็นทั้งคนที่รับไม้ต่อจากรุ่นก่อน และส่งไม้ต่อไปสู่รุ่นใหม่ อย่างราบรื่นสวยงามได้จริงๆ
เพราะไม่ว่าจะรุ่นไหน พวกเราก็ ‘We Are One’