หลังจากวันพีซ เวอร์ชั่นคนแสดงกลับมา เชื่อว่าหลายคนที่เคยอ่านแล้วหยุดไป ช่วงนี้อาจจะกลับมาเริ่มอ่านกันใหม่ แถมตอนปัจจุบันของวันพีซอย่างภาควาโนะ หรือวาโนะคุนิ (Wano Kuni) ก็นับเป็นภาคที่เรียกได้ว่า ดุเดือด เพราะลูฟี่เองก็อยู่ในช่วงเฉิดฉาย ปลดล็อกพลัง และเริ่มพุ่งชนกับศัตรูระดับสูงๆ ซึ่งเราจะไม่ขอสปอยล์ในตอนนี้
นอกจากความดุเดือดและความเข้มข้นในภาควาโนะ จากการเดินทางของลูฟี่ที่ไปไกลขึ้นเรื่อยๆ หรือการเริ่มเผยความลับบางอย่างที่ผูกไว้ยาวนานเป็นสิบๆ ปี ให้ค่อยๆ คลี่คลายลง ภาควาโนะจึงน่าจะนับได้ว่าเป็นอีกภาคที่พิเศษ เพราะอาจารย์โอดะ เออิจิโร (Oda Eiichirō) เลือกเล่าแบบมีอาณาจักรญี่ปุ่น พอดูๆ ไป ถ้าคนที่สนใจประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก็จะรู้สึกได้ถึงร่องรอยการอ้างอิงประวัติศาสตร์ และความเป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ซึ่งอาจารย์โอดะก็ไม่ได้นำมาแค่กลิ่นอาย แต่อาจนำแกนความคิดบางอย่างของบริบทญี่ปุ่นมากางไว้เป็นแกนของภาคนี้
จุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือการแบ่งภาควาโนะออกเป็น 3 องก์ และในการแบ่งภาคนี้ก็มีข้อสังเกตว่า อาจจะแบ่งโดยได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงละครโบราณของญี่ปุ่นอย่าง ‘ละครโนห์’ (แถมชื่อตอนก็ชื่อว่า ‘วาโนะคุนิ’ ไปอีก) และในการดำเนินเรื่อง เราสามารถเห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ ไปจนถึงปกรณัมตำนานของญี่ปุ่นที่ถูกถักทอสอดแทรกไว้ตลอดในภาควาโนะด้วย
ดังนั้นในความคุ้นๆ นี้ The MATTER จึงชวนอ่านเกร็ดหรือการอ้างอิงประวัติศาสตร์ และตำนานปรัมปราของญี่ปุ่นบางส่วน ที่เราอาจจะพบได้ในภาควาโนะ เป็นเกร็ดที่ทำให้เราทั้งสนุกกับเนื้อเรื่อง หรือไปค้นคว้าอ่านต่อได้ จากระบบโชกุนที่รวมชาติ โดยโอดะ โนบูนางะ (Oda Nobunaga) แค่ชื่อก็คล้ายกับโอเด้ง แถมยังเป็นคนห่ามๆ ไม่ต่างกัน ทั้งนโยบายโดดเดี่ยวประเทศ ละครโนห์ที่แบ่งออกเป็น 3 องก์ รวมถึงการเล่าเรื่องราวของนักรบผู้ถูกทรมาน และการต่อสู้กับปีศาจร้ายและมังกร ทำความรู้จักนครบุปผา ไปจนถึงจุดเล็กๆ เช่น การเล่าถึงนาฬิกา ที่แม้จะโผล่มานิดหน่อย แต่ก็มีนัยสำคัญจากการรับเทคโนโลยีของญี่ปุ่นด้วย
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ ‘วันพีซ ภาควาโนะคุนิ’ (One Piece-Wano Kuni)
Bakufu—ระบบโชกุน
วาโนะปกครองด้วยระบบโชกุนเป็นประมุขสูงสุด และมีไดเมียวผู้ครองแคว้นต่างๆ อยู่ในอาณัติ ระบบโชกุนเป็นระบบศักดินาของประเทศญี่ปุ่น สมัยหลังยุคขุนศึก (Sengoku) ในการก่อตั้งรัฐบาลที่เรียกว่า บาคุฟุ (Bakufu) ถือเป็นบทบาทการรวมประเทศของโอดะ โนบูนางะ และโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ด้วยการรวมอำนาจไว้ที่เมืองเอโดะ การก่อตั้งรัฐบาลเอโดะจะมีการตั้งโชกุนเป็นประมุขผู้ทำหน้าที่บริหาร ผ่านการสืบทอดจากตระกูลโทกูงาวะ
การสิ้นสุดลงของยุคขุนศึกประกอบด้วยหลายเหตุการณ์ จากการถูกทรยศและเสียชีวิตของโอดะ โนบูนางะ จนมาจบลงที่ศึกสำคัญ ณ ทุ่งเซกิงาฮาระ
ระบบโชกุนถือเป็นการปกครองด้วยระบบชนชั้นที่เคร่งครัด มีการแบ่งแยกชนชั้นผู้ปกครองอย่างไดเมียวในฐานะผู้ครองแคว้น และมีซามูไรเป็นชนชั้นสำคัญ ที่มีอำนาจขึ้นตรงต่อไดเมียวหรือเจ้าครองแคว้นนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ระบบโชกุนได้เริ่มต้นขึ้นราวศตวรรษที่ 17 และสิ้นสุดลงในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อเกิดการปฏิรูปสมัยเมจิ ล้มล้างระบบโชกุน และฟื้นฟูสถานะพระจักรพรรดิ รวมไปถึงยังมีการย้ายเมืองหลวงมายังเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงโตเกียว
Sakoku Policy—นโยบายปิดประเทศ
นโยบายปิดประเทศ เป็นนโยบายหลักในรัฐบาลโชกุนของตระกูลโทกูงาวะ เพราะหลังจากที่รวมอำนาจได้แล้ว ไดเมียวและพื้นที่ต่างๆ ก็ยังคงมีความกระด้างกระเดื่องอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนา รวมถึงความต้องการผูกขาดการค้าของรัฐบาลเอโดะ ญี่ปุ่นจึงจำกัดความสัมพันธ์กับโลกภายนอก กีดกันการเข้ามาของเรือจากชาติต่างๆ และห้ามการเดินทางออกนอกเกาะญี่ปุ่นของชาวญี่ปุ่นเอง ผ่านการออกนโยบายปิดประเทศ ทว่าก็ยังมีบางชนชาติที่เข้ามาได้อยู่ คือเนเธอแลนด์ หรือดัตช์ เพราะรัฐบาลโชกุนในขณะนั้นมองว่า ชาวดัตช์เข้ามาเพื่อค้าขาย และเคยสนับสนุนญี่ปุ่นด้านอาวุธ ซึ่งแม้ชาวดัตช์จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นได้ แต่ก็ยังคงถูกจำกัดบทบาทและพื้นที่ในเมืองนางาซากิ
สำหรับแคว้นวาโนะ การใช้นโยบายปิดประเทศส่วนหนึ่ง ทำให้วาโนะเป็นประเทศอันโดดเดี่ยวจากรัฐบาลโลก ในขณะเดียวกันการเป็นประเทศโดดเดี่ยวที่ลับแลเข้าถึงยาก ก็อาจทำให้เกิดการปกครองภายในที่สัมพันธ์กับผู้ปกครอง เช่น แคว้นที่เคยสุขสงบจากผู้ปกครองที่ดี ก็กลับกลายเป็นนรกบนดินได้ อย่างไรก็ตาม การปิดและเปิดประเทศของวาโนะน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับแกนเรื่องหลักสำคัญของวันพีซต่อไป
Momotaro—ตำนานการเดินทางของ โมโม-โนะสุเกะ และลูฟี่-ทาโร่
นอกจากบริบทประวัติศาสตร์แล้ว ตำนานปรัมปราก็ดูจะเป็นแกนสำคัญของเรื่อง ที่อาจารย์โอดะนำมาเล่าไว้ในภาควาโนะด้วย หนึ่งในตำนานสำคัญซึ่งล้อกับการต่อสู้หลักคือ โมโม-โนะสุเกะ และไคโด ตำนานโมโมทาโร่ ตัวเรื่องของโมโมทาโร่จะเล่าถึงเด็กชายที่เกิดมาจากลูกท้อ และได้เดินทางออกไปยังเกาะโอนิกาชิมะ อันเป็นที่อยู่ของยักษ์ในท้ายที่สุด
เล่ามาทั้งหมดนี้ก็อาจทำให้เราพอเห็นภาพการเดินทางของโมโม-โนะสุเกะ ที่จริงๆ อาจจะรวมกับลูฟี่-ทาโร่ จากการเดินทางเพื่อไปปราบยักษ์ ซึ่งยักษ์ในตำนานโมโมทาโร่ก็ได้ถูกอธิบายไว้ว่า มีหน้าตาคล้ายมนุษย์ ตัวสูงใหญ่ มีเขายาว และเขี้ยวยาว โดยโมโมทาโร่ก็จะรวบรวมพรรคพวกที่เป็นสัตว์ไประหว่างการเดินทาง เช่น สุนัข ลิง และไก่ฟ้า ตามตำนานคุณยายจะมอบขนมคิบิดังโงะให้โมโมทาโร่ติดตัวไปด้วย และเขาก็มอบขนมนี้ให้สัตว์ต่างๆ ที่เป็นพรรคพวกกิน ส่วนในการเดินทางของลูฟี่-ทาโร่ ก็มีหลายเรื่องที่คล้ายกันมาก เช่น การเดินทางไปเกาะโอนิกาชิมะอันเป็นพื้นที่ศึกสุดท้าย และการเจอเด็กมีพลังของผลปีศาจที่ทำให้สัตว์เชื่องได้ ไปจนถึงการโค่นล้มยักษ์อย่างไคโด
Noh Theater—การแบ่งองก์แบบละครโนห์
ในบางช่วงเราจะรู้สึกว่าภาควาโนะนั้นยาวมาก แต่จุดที่น่าสนใจคือ ภาคนี้แบ่งองก์ หรือ Act ออกเป็น 3 ช่วง (เท่าที่เปิดเผยมา) คาดกันว่าน่าจะล้อมาจากวิธีการแบ่งองก์ของละครโนห์ (Noh Theater) รวมถึงละครคาบูกิ (Kabuki) ด้วยที่จะแบ่งช่วงออกเป็น 3 องก์ คือเป็นจังหวะของการแสดงที่ประกอบด้วย 3 ลำดับอย่าง Jo-ha-kyū (Beginning, Break, Rapid) ที่เป็นเหมือนหลักทางสุนทรียศาสตร์ของศิลปะดั้งเดิมญี่ปุ่นในหลายๆ แขนง
สำหรับการแสดงโนห์ คำว่า Jo-ha-kyū หมายถึงจังหวะของการแสดง และมักจะแบ่งย่อยออกเป็น 5 ตอน หรือ 5 ช่วง โดยช่วงที่ 1 คือ Jo เป็นการเปิดเรื่องที่สงบและแช่มช้า ช่วง ha คือตอนที่ 2-4 จะเป็นการเร่ง นำเรื่องราวไปสู่ความเข้มข้น หรือจุดไคลแม็กซ์ ส่วน kyū คือตอนที่ 5 เป็นการนำเรื่องเข้าสู่ตอนจบ ซึ่งควรประกอบไปด้วยความมีชีวิตชีวา ก่อนจะพาเรื่องไปสู่การจบเรื่อง ทั้งนี้ละครโนห์ยังมีจุดเด่นที่การสวมหน้ากากแสดง ใช้ท่วงท่าและการร่ายรำในการสื่ออารมณ์ โดยตัวละครมักเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้า ภูตผี ปีศาจ นักรบ และผู้หญิง
Shura Mono และ Kiri Noh—เรื่องของนักรบและเรื่องของปีศาจ
จากข้อสันนิษฐานว่าการแบ่งองก์ 3 ช่วงของภาควาโนะมาจากละครโนห์ ซึ่งการแบ่งตอนของละครโนห์สำหรับการแสดง ก็มักจะแบ่งออกเป็น 5 ช่วง แต่ละช่วงแสดงบทหลักแตกต่างกันออกไป เช่น ช่วงที่ 1 ช่วงเปิดเรื่อง จะแสดงธีมที่เรียกว่า Kami Mono เป็นเรื่องของเทพเจ้า ในช่วง Jo จะเปิดเรื่องด้วยการสรรเสริญเทพเจ้าที่แปลงกายลงมา สำหรับเรื่องในภาควาโนะก็คาดกันว่า น่าจะนำแก่นเรื่องในตอนที่ 2 และ 5 ของละครโนห์มาใช้เป็นแกนเรื่อง โดยตอนที่ 2 ของละครโนห์คือ Shura Mono เป็นเรื่องของการรบ (Fighting Play) ที่ตัวละครหลักจะเป็นนักรบซามูไร และความน่าสนใจของตอนนี้อยู่ที่การเล่าถึงวิญญาณซามูไรที่อยู่ในนรก หรือภพอสูร (Asura) ซึ่งสะท้อนความเชื่อเรื่องภูมิทั้ง 6 แบบพุทธศาสนา
ในเรื่องราวตอนที่ 2 ของ Shura Mono มักให้ภาพความทรมานของวิญญาณนักรบ มีการไถ่บาป ไปจนถึงการจำลองภาพอดีตต่างๆ ในตอนที่ยังไม่ตาย ถ้าเราดูธีมของภาควาโนะในองก์ที่ 2 ก็จะมีลักษณะคล้ายกัน เช่น การพูดถึงดวงวิญญาณซามูไรที่ตายไปแล้ว การทรมานตัวละครนักรบ ไปจนถึงการประหารชีวิต และการสละชีวิตของวีรบุรุษ โดยในองก์ที่ 3 ของภาควาโนะ คาดว่ามีลักษณะล้อไปกับละครโนห์ในตอนจบ คือบทส่งท้ายตอนที่ 5 เรียกว่า Kiri Noh หรือ Oni Mono เป็นเรื่องของปีศาจ (Demon Plays) ที่ในช่วงจบมักเล่าเกี่ยวกับการสู้รบขับไล่ หรือการให้ภาพอสูรหรือปีศาจที่มีความตระการตาและเต็มไปด้วยสีสัน โดยอสูรและปีศาจที่เล่าถึงก็ถูกนำมาแสดงอยู่หลายเรื่องที่ ซึ่งบางเรื่องก็พูดถึงเทพเจ้ามังกรด้วย
Hannya—หน้ากากอสูรสตรี
องค์ประกอบเล็กๆ อีกประการที่น่าจะเชื่อมโยงภาควาโนะเข้ากับละครโนห์ได้ คือหน้ากาก เพราะละครโนห์เป็นละครที่แสดงด้วยการสวมหน้ากาก แต่ละหน้าก็จะแสดงถึงบทบาทต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป โดยบางช่วง เช่น การแสดงของโคมุราซากิที่เป็นโออิรัน ก็มีการพูดถึงการสวมหน้ากากเช่นกัน ซึ่งนอกจากเหตุผลในการปิดบังความรู้สึกแล้ว การสวมหน้ากากแสดงยังคล้ายคลึงกับการแสดงในละครโนห์อีกด้วย ตรงนี้อาจจะมีสปอยล์นิดหน่อย คือในช่วงเกาะโอนิกาชิม่า จะมีตัวละครยามาโตะ นักรบคนสำคัญที่ปรากฏตัวขึ้น โดยสวมหน้ากากที่คล้ายกับหน้าฮันเนีย (Hannya) หน้ากากของปีศาจหญิงที่เต็มไปด้วยความคุมแค้นในละครโนห์
Hanamachi—นครบุปผา
แคว้นวาโนะ หรือแคว้นวะมีเมืองหลวงคือ นครหลวงบุปผา (The Flower Capital-Hana no Miyako) เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครอง และเป็นที่อยู่ของโชกุน ชื่อเมืองนี้น่าจะอ้างอิงมาจากย่านบุปผา (Hanamachi) ซึ่งเป็นชื่อเรียกย่านเริงรมย์ของญี่ปุ่น นครบุปผาถือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของเหล่าเกอิชา ปัจจุบันย่านนี้ที่มีชื่อเสียงก็คือย่านบุปผาทั้ง 5 เขตของกรุงเกียวโต เป็นย่านที่มีความเฉพาะ มีรูปแบบการใช้ชีวิต เป็นที่ฝึกฝนและทำงานของเหล่าโออิรันและไมโกะ
สำหรับนครหลวงบุปผาในภาควาโนะเอง ก็ปรากฏย่านโคมแดง มีการเดินขบวนของโออิรัน และจ้างเกอิชาเข้าไปให้ความบันเทิงแก่โชกุนด้วย นอกจากนี้หลังจากย่านฮานะมาจิของกรุงเกียวโตกลายเป็นย่านสมัยใหม่แล้ว ทุกๆ ปีจะมีการแสดงระบำของแต่ละเขต โดยเขตที่ขึ้นชื่อที่สุดอย่างกิออนโคบุ จะมีระบำแห่งนครหลวงคือ มิยาโกะ โอโดริ (Miyako Odori) ซึ่งก็ดูล้อไปกับชื่อนครหลวงบุปผาด้วย
Honnō-ji Incident—เหตุการณ์ลอบสังหารและวางเพลิงที่วัดฮนโนจิ
จุดพลิกผันสำคัญในเรื่องราวของแคว้นวาโนะ คือเมื่อไคโดเผาปราสาทเมืองคุริ หรือปราสาทโอเด้ง ในกองไฟที่คาดว่าจะเป็นการกำจัดศัตรูโดยเฉพาะเหล่านักรบ รวมไปถึงภรรยาและลูกของโอเด้งด้วย การสังหารนี้คล้ายกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ อย่างการสังหารและเผาวัดฮนโนจิ เป็นเหตุการณ์ที่โอดะ โนบุนางะถูกทรยศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงท้าย และถือเป็นหนึ่งในจุดสิ้นสุดยุคขุนศึก
โอดะ โนบุนางะ เป็นไดเมียวที่ทรงอิทธิพลและกำลังดำเนินการรวมญี่ปุ่น ในช่วงท้ายของชีวิต เขาถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวอย่างอาเกจิ มิตสึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide) การทรยศเกิดขึ้นที่วัดฮนโนจิกลางกรุงเกียวโต ในพื้นที่เขตแดนของโนบุนางะ ด้วยความที่เขตแดนไม่ได้มีกำลังคุ้มกันเหมาะสมในขณะนั้น สุดท้ายเมื่อถูกผลักดันเข้าไปภายในวัด ทางกลุ่มต่อต้านจึงจุดไฟเผาอุโบสถ จนทำให้โอดะ โนบุนางะต้องกระทำการคว้านท้อง
Hyakki Yagyō—ขบวนร้อยอสูร
ขบวนร้อยอสูร เป็นชื่อของกลุ่มโจรสลัดไคโด ในนามไคโดร้อยอสูร นอกจากในวันพีซแล้ว เราอาจได้ยินคำว่า ขบวนร้อยอสูรจากหลายๆ ที่ เช่น ในเรื่องมหาเวทย์ผนึกมาร ก็มีพูดถึงขบวนร้อยอสูร คำว่าขบวนร้อยอสูรเป็นความเชื่อเรื่องภูตผี (Yokai) ของญี่ปุ่นที่เชื่อว่า ในบางค่ำคืน (แล้วแต่ตำนานและความเชื่อ) อสูรทั้งร้อยชนิดจะออกมาเดินขบวนบนเส้นทางหรือบนท้องถนน ใครที่พบเห็นจะมีอันเป็นไป บ้างก็ว่าขบวนร้อยอสูรมาจากการรวบรวมตำนานท้องถิ่นเรื่องภูตผีปีศาจได้ครบ 100 ชนิดพอดี เมื่อเผยแพร่ออกไป ก็ทำให้มีการวาดภาพอสูรทั้งร้อยชนิดนั้น และกลายเป็นตำนานขบวนร้อยอสูรขึ้น
Japanese Clock—นาฬิกาและประวัติศาสตร์นวัตกรรมญี่ปุ่น
ประเด็นสุดท้าย เป็นจุดเล็กๆ ที่ปรากฎขึ้นเพียงนิดเดียว คือในตอนที่โอเด้งถูกประหารด้วยการต้มในน้ำมัน ได้มีการท้าให้จำกัดเวลา ถ้าโอเด้งรอดไปได้ ไคโดจะต้องยกโทษและปล่อยพรรคพวกของตัวเองไป ในช่วงนี้เองไคโดจึงได้เรียกหานาฬิกา อีกทั้งในตอนนี้ยังมีชื่อที่เรียกว่า เป็นโมงยามแห่งตำนาน (The Legendary Hour)
นาฬิกาเป็นหนึ่งในสิ่งของที่ขุนพลสำคัญอย่างโอดะ โนบูนางะ, โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และโทกูงาวะ อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu) ได้รับในช่วงศตวรรษที่ 16 กลไกเหล่านี้นับเป็นเรื่องน่าสนใจของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญและชอบกลไกมาตั้งแต่ก่อนติดต่อกับวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว จนการรับความรู้จากตะวันตกถูกจำกัดในสมัยเอโดะ นาฬิกาจึงถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายกีดกันชาวต่างชาติ ทว่าญี่ปุ่นเองก็ยังรับนวัตกรรมจากดัตซ์ และนำมาดัดแปลงเป็นเทคโนโลยีของตัวเองคือ Wadokei นาฬิกาที่ออกแบบเพื่อบอกเวลาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเอง เพราะไม่ได้นับเป็นชั่วโมงและนาทีอย่างตะวันตก แต่เป็นระบบโมงยามที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาหรือฤดูกาล
อ้างอิงจาก