ลองนึกภาพว่าคุณกำลังอยู่ในห้องเรียน ครูที่หน้าชั้นเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถามกับบทเรียนที่เพิ่งจบไป คุณมีคำถามและข้อสงสัย แต่ลังเลที่จะยกมือขึ้นถาม
ถ้าเป็นคุณ คุณจะยกมือขึ้นถามหรือนั่งเงียบๆ ต่อไป?
สำหรับ Pyra—พีรลดา สุขวัฒก์ เธอเลือกที่จะเป็นแบบแรก
“เราโดน ตัดสินจากคนรอบข้างบ่อยมากว่าเราเป็นคนแปลก บางครั้งก็เคยถูกเพื่อนบางคนหมั่นไส้” Pyra บอกเราแบบนั้น
ในเบื้องหน้า เราอาจจะรู้จัก Pyra ในฐานะศิลปินที่มีสไตล์โดดเด่น มีเพลงที่ล้ำหน้ายุคสมัย รวมถึงเป็นศิลปินไทยที่ได้รับโอกาสไปแสดงที่เทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Burning Man
แต่ในชีวิตเบื้องหลัง เธอเล่าให้เราฟังถึงชีวิตที่อยู่กับความรู้สึกแปลกแยก เป็นคนนอกของจุดที่ยืนอยู่เสมอ ความรู้สึกที่ไม่ fit in กับสังคมรอบตัว ตั้งแต่โรงเรียนจนถึงอุตสหกรรมดนตรีไทย สิ่งเหล่านี้อยู่กับเธอมาตลอดการเติบโตเป็นศิลปิน
แน่นอน, เส้นทางชีวิตของทุกคนล้วนไม่เคยง่าย เรื่องราวการเติบโตของ Pyra เองก็เช่นเดียวกัน จากเด็กที่อยู่นอกกรอบ สู่ชีวิตวัยรุ่นที่ต้องต่อสู้กับวิกฤตการเป็นผู้ใหญ่ การเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้า จนถึงการยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อเดินตามหาความฝันของตัวเอง
นี่คือเรื่องราวของ Pyra ศิลปินไทยที่เราอยากให้ทุกคนได้รู้จักเธอมากยิ่งขึ้น
วัยเด็กของคุณเป็นยังไง
เราจำกัดความตัวเองว่าเป็น outcast คือเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไหนเลย แต่ละโรงเรียนก็จะมีคนที่เป็นเด็กเรียน เด็กกิจกรรม หรือเด็กที่กินข้าวกันเป็นกลุ่มใช่ไหม ซึ่งเราไม่ได้อยู่กลุ่มไหนเลย แต่สามารถไปนั่งกินข้าวกับทุกกลุ่มได้โดยที่เขาไม่ได้เกลียดเรา เป็นคนประหลาดๆ หน่อยแต่ก็ไม่ได้แย่จนเขาไม่คบ เป็นเพื่อนได้กับทุกคนแบบผิวเผิน
เราโตมาในแบบครอบครัวชนชั้นกลางไทย ที่บ้านส่งไปเรียนพิเศษเยอะมาก หนึ่งสิ่งที่ได้เรียนเพิ่มเติมคือการร้องเพลง แล้วครูในโรงเรียนสอนร้องเพลงก็มีโอกาสหยิบยื่นให้เด็กๆ อยู่ตลอด เช่น ส่งเดโม่ไปประกวดตามงานต่างๆ ซึ่งเราก็ได้เป็นหนึ่งในเจ็ดคนที่ได้ร้องเพลงคู่กับพี่เบิร์ดในอัลบั้มวันแม่ด้วย
รู้เลยไหมว่าชอบร้องเพลงตั้งแต่ตอนนั้น
ไม่รู้ตัวเลย อาจจะเพราะว่าตอนนั้นเรายังเด็กเลยไม่รู้ว่าชอบอะไร แต่รู้สึกเพียงแค่ว่า พอทำสิ่งนี้แล้วเราทำได้ดีที่สุด เราจึงค่อยๆ ต่อยอด ขอเรียนอย่างอื่นไปเรื่อยๆ เช่น ขอเรียนเปียโน เรียนกีต้าร์ เรียนโปรดิวซ์เพลง
ชีวิตวัยเด็กแบบนั้น หล่อหลอมให้เป็นตัว Pyra ในวันนี้เยอะแค่ไหน
เยอะนะ เราเรียนโรงเรียนอินเตอร์ที่มีคนไทยเยอะมากๆ แต่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราก็ไม่ใช่คนที่ไปเรียนเมืองนอกมา ทำให้เราก็ดูเป็นเด็กที่ไม่สุดสักทาง ทำให้เรายิ่งเป็น outcast กว่าคนอื่น ไปอยู่ในสังคมไทยล้วนๆ ก็อยู่ไม่ได้ หรืออยู่ในสังคมฝรั่งเลยก็อยู่ไม่ได้อีก คือเราไม่ fit in ตรงไหนเลย
ยกตัวอย่างความไม่ fit in ให้ฟังอีกหน่อยได้ไหม
ตอนอยู่ในสังคมคนไทย เราก็ถูกหมั่นไส้ เพราะด้วยลุคที่เราเป็นคน RBF (resting bitch face) คือหน้าดุ เราเป็นคนไม่ค่อยยิ้ม เราก็โดนตัดสินบ่อยๆ จากใบหน้าของเรา การนั่งเฉยๆ ของเรา การกล้าพูด กล้าถามครูในห้องเรียน ก็ทำให้เราโดนหมั่นไส้เหมือนกัน แต่พอได้รู้จักกันจริงๆ ก็มีคนมาขอโทษในตอนหลังนะว่าเข้าใจผิด
อยู่กับความไม่ fit in อย่างนี้นานแค่ไหน
ตลอดชีวิต ตอนนี้ก็ยังเผชิญอยู่เรื่อยๆ
ความเป็นคน outcast แบบนี้มันหล่อหลอมหรือมีอิทธิพลต่อการทำงานดนตรีในตอนนี้แค่ไหน
หล่อหลอมมากเลย ความรู้สึกหลายอย่างมันออกมาเองแบบไม่ต้องตั้งใจมา คือมันมาโดยตัวมันเอง เรารู้สึกว่างานศิลปะส่วนใหญ่บนโลกนี้มันมาจากความทุกข์ของคน ศิลปะมันเลยเศร้า ทุกอย่างมันเหมือนน้ำตาของศิลปินหมดเลย
Pyra เริ่มคิดว่าตัวเองต้องแน่วแน่กับเส้นทางศิลปินจริงๆ เมื่อไหร่
เราไม่ได้เด็ดขาดหรือแน่วแน่อะไรขนาดนั้น จนกระทั่งอายุ 25 ที่รู้สึกว่าต้องทำเพลงแล้ว เพราะตอนนั้นเราทำอาชีพอื่นด้วย เราเริ่มมี quarter life crisis แล้ว ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าการที่ไม่เอาแน่กับอะไรสักอย่าง มันก็จะได้รับผลลัพธ์ที่ครึ่งๆ กลางๆ กลับมาเสมอ ดังนั้น ถ้าอยากทำอาชีพศิลปินจริงๆ เราก็ต้องเริ่มทำตอนนี้แล้ว เพราะถ้าไปเริ่มตอนอายุ 30 มันก็อาจจะช้าเกินไป เราเลยเลือกที่จะมาทุ่มกับดนตรีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
เป็นการเลือกที่ยากไหม
เรียกว่ามันต้องก้าวผ่านความกลัวดีกว่า สมมติว่าเราทำดนตรีอย่างเดียว ช่วงแรกอาจจะได้เงินน้อย แต่เรารู้สึกว่า คนที่เขาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เขาก็ต้องก้าวข้ามความกลัวนี้ไปได้ มันคือการยอมเสียสละวิถีชีวิตบางอย่างไป มันต้องพร้อมแลก
แล้วคุณแลกไปเยอะแค่ไหน
แลกเยอะมาก ตอนทำธุรกิจเราก็ได้เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ถูกเลือกให้ไปเทรนนิ่งที่อาลีบาบา เราเคยไปถึงขั้นที่ได้ไปยืนข้าง แจ็ค หม่า มาแล้ว ในวันที่เราได้เจอเขา เราถามเขาว่า เรามีเพื่อนที่ร่ำรวยเยอะ แต่เขาไม่มีความสุขเลย ช่วยบอกความลับในความสุขให้เราหน่อยได้ไหม
แจ๊ค หม่า ตอบคุณว่าอะไร
เขาตอบว่าคุณพูดถูกแล้ว ทุกคนที่ประสบความสำเร็จก็จะไม่มีความสุขหรอก เขาเสียสละมาเยอะมากๆ เพื่อบริษัท แต่ความสุขที่แท้จริงมันคือความสุขกับเพื่อน การอยุ่กับครอบครัว
พอได้ยินคำตอบแบบนั้น เราคิดได้ว่าแล้วเราจะแสวงหาเงินทองไปทำไมถ้าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่แพชชั่นจริงๆ เพราะเขารวยให้ตายยังไง หลายๆ คนอยากรวย แต่การเป็นเขาไม่ได้มีความสุขเลย เราเลยตัดสินใจได้ว่า เรามาเป็นคนที่มีความสุขกับตัวเองดีกว่า ถึงเวลาที่จริงใจกับตัวเองว่า เราต้องการทำอะไรแล้วทุ่มให้กับมันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
เมื่อก่อนทำงานเป็นศิลปินอิสระ มันยาก มันง่าย ยังไง
ตอนเป็นศิลปินอิสระ คืออิสระมาก (หัวเราะ) คือทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างมันฟรีสไตล์ แต่มันก็พาเราไปไกลได้แค่ประมาณนึงเท่านั้น ซึ่งถ้าเราจะมีก้าวใหญ่ๆ ก้าวใหม่ในชีวิต เราก็อยู่ตรงนั้นต่อไปไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เราอยากนำเสนอ มันต้องใช้ทีมทำ มันต้องมีงบ ไปคนเดียวไม่น่ารอดแล้ว อย่างเมื่อก่อนที่ไปทัวร์ต่างประเทศ เราต้องไปเอง ขนของลงรถไฟฟ้าใต้ดินเอง ทำทุกอย่างเองเกือบทั้งหมด ซึ่งจะให้ทำอย่างนั้นต่อไป เราก็จะมีโชว์ที่ไม่ดี เพราะสูญเสียพลังงานไปกับงานพวกนั้นไปหมดแล้ว ถึงอย่างนั้น เราก็เข้าใจความสำคัญของมันนะ เพราะมันคือก้าวแรกที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีเราในวันนี้
ประสบการณ์สี่ปี่ในฐานะศิลปินอิสระ มันทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นยังไงบ้าง
เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราคิดโดยการไม่ทำตามสิ่งที่เขาบอกให้ทำกัน เราค่อนข้างมีอุดมการณ์ของตัวเอง เพราะเชื่อว่า ถ้าเราทำตามทุกคน เราก็ไม่สามารถเดินไปถึงในจุดที่ที่เราอยากไปถึงได้ เราคิดว่าเป้าหมายของเราในการไปเล่นที่เมืองนอก มันมีการเดินทางที่ต้องต่างจากศิลปินอื่น เราจะไปทำตามผู้ใหญ่ในวงการแนะนำก็ไม่ได้ เพราะถ้าเราทำในแบบที่คนอื่นเคยทำ เราก็จะได้ผลลัพธ์เดิมๆ กลับมา ถ้าอยากให้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง เราก็ควรทำอะไรที่แตกต่าง
ยากไหมในการหาความแตกต่างในตัวเอง
มันยากนะ แต่ต้องหา ทุกคนควรจะมองที่ตัวเอง แทนที่จะมองว่าจะเป็นคนอื่น ทุกคนมีตัวตนอยู่แล้ว แต่เราแค่ลืม เรามักจะคิดว่าเราควรจะเป็นอะไรดี แต่ลืมไปว่านี่ตัวเราเองก็มีเป็นตัวเราอยู่แล้ว
คุณคิดว่าอะไรคือความยากลำบากที่สุดในการเป็นศิลปินอิสระ
การทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ถ้าเราไม่เคยเรียนศิลปะร่วมสมัยหรือไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน เราคงมาไม่ถึงตรงนี้ พอสกิลในสิ่งที่ต้องทำในการเป็นศิลปินอิสระ มันไม่ใช่แค่ดนตรี แต่มันคือการมีวินัย มันต้องใช้มุมคิดแบบธุรกิจด้วย เราไม่สามารถทำเพลงไปวันๆ ได้ ต้องทำแบรนด์ดิ้ง ต้องคิดอีเว้นต์ ต้องมีวินัย เพราะถ้าไปสายในงานนึง เราก็อาจจะไม่ได้ขึ้นโชว์กับผู้จัดงานนั้นอีกต่อไปเลยในชีวิตก็ได้ การมีวินัยมันจึงเป็นสิ่งสำคัญแต่คนก็มองข้ามมันอยู่บ่อยๆ
แล้วความโหดที่สุดคือตอนไหน
การได้ไปแสดงที่ Burning man คือโหดสุดแล้ว ไปยากมาก อยู่ก็ยาก ตอนเรากลับมาคือต้องรักษาโรคไซนัสอักเสบเป็นปีๆ เพราะฝุ่นมันเต็มไปหมด เราไปเจอฝุ่นที่เล็กกว่า PM2.5 แล้วก็ไม่ได้ใส่หน้ากากด้วย
พอพูดถึง Burning Man เรารู้มาว่า Pyra ก็ผลักดันตัวเองหนักมาก ส่งอีเมลไปหาผู้คนมากมายเพื่อให้ได้รับโอกาสไปเล่นดนตรีที่นั่น
เรารู้สึกว่า ตอนโตมาไม่ว่าจะเรื่องอะไร เราอยากทำมันให้ได้ดี ตอนเรียนเราก็ตั้งใจเรียนจนได้เกียรตินิยม หรือเรื่องธุรกิจ เวลาทำก็ต้องทำให้สุด
คือเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสประมาณนึง
ใช่ เคยมีจิตแพทย์บอกเราตอนเด็กๆ ว่าเราเป็นคนที่ติดกับความเพอร์เฟ็กต์
แล้วโอเคกับมันไหม
ไม่โอเคเลย (ตอบทันที) ตอนเด็กๆ เราร้องไห้ทุกวันเพราะอยากเป็นคนที่เพอร์เฟ็กต์ ยกตัวอย่าง แค่ลืมหนังสือเรียนไว้ที่บ้าน เราก็จะร้องไห้แล้วเพราะรู้สึกว่าชีวิตพัง แต่ตอนโตเราดีขึ้นมากและไม่ได้รู้สึกขนาดนั้นแล้ว ถึงอย่างนั้นเราคิดว่าการเป็นมืออาชีพคือสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่เนี้ยบ เป๊ะ หรือตรงเวลา เราก็คงไม่มีอนาคตแบบนี้
ที่ผ่านมาคุณก็เข้าๆ ออกๆ ระหว่างการเป็นศิลปินอิสระกับการสังกัดค่ายอยู่บ่อยๆ เลยอยากรู้ว่า โจทย์ในการเป็นศิลปินของคุณยังเหมือนเดิมอยู่ไหม
โจทย์เดิมมาตลอด นั่นคือเราอยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น
ซึ่งเวลามีใครมาสัมภาษณ์ คุณก็จะตอบแบบนี้เสมอๆ
ต้องขอบคุณทุกคนที่ถามเราในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นคำถามที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองด้วยนะ ซึ่งทำให้เรารู้ว่า มิชชั่นของเรามันเหมือนเดิมมาตลอด มันเปลี่ยนไปแค่สเกลที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างตอนทำเพลง levitate เราาพูดถึงความฝันของตัวเองซึ่งมันก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นที่มีความฝันได้ หรืออีพีที่แล้ว better being: suriya เราพูดถึงการพัฒนาจิตใจภายใน รวมถึงเราทำมันขึ้นมาเพื่อที่จะรักษาโรคซึมเศร้าของตัวเองแล้วมันก็ช่วยเยียวยาเราจากโรคนี้ได้
ที่บอกว่าเยียวยาได้ การทำเพลงมันช่วยเยียวยาคุณยังไง
มันเหมือนเราได้ก้าวข้ามอะไรบางอย่างมาได้ แต่ก็เราก็ทำงานปกติ พอตัดสินใจว่าจะไม่ทำงานประจำ ด้วยความที่เราปรับทัศนคติใหม่ในตอนที่เขียนเพลงด้วยนะ อย่างตอนเขียนเพลง let it go เราคงเขียนขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาบางอย่างในชีวิตไปได้ เราทำไปเพราะว่าเราเข้าใจแล้วว่าชีวิตมันต้องปล่อยวางบ้าง
คุณโอบกอดความอ่อนแอ และความดาร์คของตัวเองได้ยังไง
ยกตัวอย่างในช่วงกักตัวเพราะโควิด น่าจะเป็นช่วงที่ทุกคนได้เจอความดาร์คของตัวเองที่สุด เป็นภาวะที่อ่อนแอ และได้ทบทวนชีวิต มันคือโอกาสที่ดี เพราะชีวิตจะไม่เปลี่ยนถ้าไม่มี จุดพลิกผัน เราเปลี่ยนมากๆ ถ้าไม่มีตกต่ำมากๆ มันจะไม่ได้เติบโต เรารู้สึกว่าทุกการเริ่มใหม่มันมาจากจุดจบของอะไรบางอย่าง
ฟังดูแล้วเป็นกระบวนการที่ยากมาก ก่อนที่จะปล่อยวางจากสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น
เราเคยอ่อนแอมากๆ มาก่อน เคยร้องไห้วันละแปดชั่วโมง เพราะโรคซึมเศร้าด้วย เราเคยมีแฟนตลอด หมายถึงไม่ได้มีช่วงที่อยู่คนเดียวนานมากนัก แต่เราก็อยากรู้จักตัวเอง ไม่อยากพึ่งพาคนอื่นเหมือนเดิม อยากจะยืนด้วยสองขาของตัวเองให้ได้ เพื่อเป็นคนที่แข็งแรง เราเลยเลิกทำธุรกิจที่ไม่ใช่แพชชั่น เพื่อมาทำดนตรีอย่างเต็มที่
ในเวลาต่อมา ก็มีคนฟังที่บอกเราว่าเพลงของเรามันช่วยเยียวยาเขาจากโรคซึมเศร้านี้ได้เหมือนกันนะ ตอนที่เราไปทัวร์คอนเสิร์ต เราก็ได้รับรู้รีแอคชั่นจากคนดูว่า เพลงของเราที่เราเคยทำเพื่อรักษาตัวเอง มันก็สามารถส่งพลังงานไปให้กับคนดู แล้วพวกเขาก็มีพลังงานที่ดีส่งกลับมาให้เรา มันทำให้เรารู้สึกว่า อัลบั้มต่อไป เราจะทำเพลงเพื่อคนอื่นแล้ว
มาถึงวันนี้ เราอยากพูดแทนคนอื่น อยากเป็นกระบอกเสียง เพราะเรารู้สึกว่าคนที่ไม่ได้เป็นศิลปินที่ไม่มีคนฟัง เขาคงอัดอั้นมากกว่าเราเยอะ เราเลยอยากช่วยเป็นตัวแทนพูดในสิ่งที่คนไม่สามารถพูดได้หรือคิดอยู่
ทำไมคุณถึงตัดสินใจมาทำงานเป็นศิลปินในค่าย Warner Music
เมื่อก่อนเรายังไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวเองเป็นศิลปินขนาดนั้น เรายังไม่รู้ทิศทางที่ควรจะเดินไปที่ชัดเจน ยังไม่มี branding ที่ชัด นี่คือเหตุผลที่มาทำอิสระ ที่อยากสร้างทางเดิมของตัวเอง สี่ปีนี้ทุกคนต้องเข้าใจว่า Pyra คืออะไร จากนั้นจึงเอาตัวตนเราไปต่อยอดอีกทีหนึ่ง ถ้ามีอะไรที่พร้อมก็จะมีอำนาจในการต่อรองกับค่ายได้ แล้วค่ายนี้ให้เราได้เป็นตัวเอง อยู่ที่นี้เรามีอิสระในเรื่องความคิดสร้างสรรค์เหมือนเดิม
ความเป็นอิสระของการทำดนตรีมันยังมีอยู่ไหม
มีในเชิงที่ถึงแม้จะทำงานกับผู้คนเป็นร้อยคน แต่เราก็ยังมีอิสระมากกว่าศิลปินทั่วไปหลายคน ทุกคนส่วนใหญ่เคยจะบอกว่า เมื่อสังกัดค่ายแล้วจะเสียการควบคุมตัวเองไป แต่เรารู้สึกว่าพอเรามาอยู่กับค่ายนี้ เราไม่ได้เสียอะไรแบบนั้นไปเลย
คุณเพิ่งปล่อยเพลงใหม่อย่าง plastic world ออกมา อยากรู้ว่าต้องการจะพูดเรื่องอะไรผ่านเพลงนี้บ้าง
มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทุนนิยม มันก็มีประเด็นเรื่องโลกร้อนในเพลงนี้ด้วย ตอนแรกเราเห็นภาพเป็นพลาสติกที่คนใช้กันโดยไม่จำเป็น แต่พอมาพูดเรื่องทุนนิยม การที่เราต้องซื้อของฟุ่มเฟือยเยอะแยะ โดยที่เราไม่ได้ต้องการของเหล่านั้นจริงๆ หรอก เราอาจจะแค่ซื้อมาเพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนที่เราไม่ได้รู้จักเท่านั้น นอกจากนั้น เราก็คิดว่ายิ่งเราจับจ่ายซื้อสิ่งของที่ไม่สำคัญมันก็ยิ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนด้วยอีกทางหนึ่ง
ยกตัวอย่างปัญหาเรื่อง fast fashion ต่างๆ ความเชื่อที่ในสังคมนี้อาจจะเชื่อว่า เราไม่อยากซื้อเสื้อผ้ามือสองเพราะคิดว่ามันมีผีสิงอยู่ แต่ความคิดแบบนี้มันควรโดนล้มล้างไป เพราะถ้าคุณมัวแต่จะซื้อเสื้อมือหนึ่งอยู่อย่างเดียว มันทำให้โลกร้อนนะ เพราะไปเพิ่มของที่ไม่จำเป็นบนโลก แต่ถ้าเราทำให้คนมา reuse หรือ recycle ได้มากขึ้น โลกก็จะดีขึ้น
ซึ่งถ้าเคยฟัง Pyra มาก่อน ก็จะรู้ว่าไม่ใช่สไตล์ Pyra เลย เพราะเพลงของ Pyra ไม่ได้สดใสหรือป๊อปขนาดนั้น
ใช่ เพราะเราทำมาเพื่อที่เสียดสีโดยเฉพาะ คือถ้าโลกต้องการความป๊อปใช่ไหม นี่คือสิ่งที่ทุนนิยมที่สุดที่เราจะส่งออกมาผ่านเพลงได้ทั้งด้านเสียงและภาพลักษณ์ แต่ว่า comfort zone ของเราจริงๆ เลยมันคือเพลง dystopia ที่ปล่อยออกมาคู่กัน ซึ่งนี่คือเพลงโปรดของเราในอัลบั้มนี้เลย
อีกเพลงหนึ่งที่ปล่อยออกมาคู่กันคือ dystopia
มันคือเพลงที่เราชอบที่สุด เราอยากเล่าว่าโลก dystopia แบบที่เห็นกันในหนังเรื่อง Blade runner หรือโลกในนิยายของ จอร์จ ออร์เวล เรื่อง 1984 นำเสนอ มันอาจจะอยู่ไม่ไกลจากพวกเรา ปี 2020 อาจจะเป็นปีของการเปิดตัวโลกแบบนี้ก็เป็นได้นะ
ซึ่งก็ออกมาในปี 2020 ที่โลกเราเจออะไรมากมายเต็มไปหมด
เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเป็นปีนี้เลย เราแค่เอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง บังเอิญปี 2020 มันทำให้ทุกคนรู้ว่าหายนะมันมาถึงแล้ว ถึงอย่างนั้น ตัวเราเองก็รู้สึกว่า พวกเราอาจจะอยู่ในโลกแบบ dystopia กันมานานมากแล้วนะ แต่ทุกคนแค่ไม่เคยรู้สึกถึงมัน
เห็นว่าเป็นแนวเพลงแบบ dystopian pop ด้วย มันคือยังไง
มันคือความดาร์คที่นำเสนอง่ายๆ ในแบบป๊อปคัลเจอร์ เมื่อก่อนทุกคนอาจจะมองว่าตัวเราเป็นศิลปินในกลุ่ม avant garde electronic ซึ่งค่อนข้าง niche แต่เราย้ายมาทำเพลงป๊อป เพราะเราต้องการผู้ฟังที่มากขึ้น เนื่องจากเราพูดในเรื่องที่สำคัญและอยากให้คนกลุ่มมากได้ยิน
ฟังดูต่างจากเมื่อก่อน เพราะคุณเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า มักจะทำเพลงที่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาคนฟังเป็นตัวตั้ง แต่พอได้มาคุยกันในวันนี้ เหมือนกันว่าจุดยืนที่ว่านั้นเปลี่ยนไปพอสมควร
พอเราได้ออกไปเล่นคอนเสิร์ตและได้รับความรักจากผู้ฟังมากมาย ทำให้เรารู้สึกว่า ตอนนี้มันถึงตาเราแล้ว ที่เราต้องทำอะไรเพื่อคนอื่นและโลกนี้บ้าง เราต้องเลิกคำนึงถึงตัวเราเองอย่างเดียว เลิกเห็นแก่ตัว และแคร์คนอื่นบ้าง อีโก้เราลดลงเรื่อยๆ เพราะโตขึ้น
คือสิ่งที่เราทำมันก็ยังเป็นแนวทางเลือกอยู่นะ ซาวน์ที่ใช้เป็นอะไรที่คนอื่นไม่ได้ใช้ แต่กระบวนการในการเขียนเพลง หรือสิ่งที่เราอยากถ่ายทอดออกไป มันทำไปเพื่อคนอื่นมากขึ้น ตอนนี้มันเหมือนเจอกันตรงกลาง
จนถึงตอนนี้แล้ว คุณรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกออกไปจากวงการดนตรีไทยไหม
รู้สึกและตอนนี้เราก็ยังคิดว่าตัวเองเป็น outcast ของวงการอยู่ เรียกได้ว่าโตขึ้นมาในแบบนี้ มันก็ทำให้เราคุ้นชินกับสิ่งนี้ไปแล้ว ทำให้รู้สึกว่า เราเองก็ไม่ได้อยากจะเหมือนคนอื่นเขาด้วย เพราะเราหมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรก็ได้ ที่ยังไม่มีใครเคยทำ เราอาจจะกลายเป็นคนที่ชอบความ outcast ก็ได้นะ
เรารู้สึกว่า การเป็นคน outcast คือความพิเศษที่เรามี เราควรจะภูมิใจกับมันได้ การบอกว่าคุณเป็นคุณแปลก เป็นคนประหลาด มันควรเป็นคำชมได้แล้วนะ เราคิดว่าการเป็นคนที่เหมือนคนอื่น เป็นเหมือนๆ กันหมด มันไม่เห็นจะเท่เลย ทุกคนชอบความพิเศษ ทุกคนอยากเป็นคนพิเศษ เราคิดว่าความ weird หรือความ strange มันทำให้คุณพิเศษได้ เพราะฉะนั้นควรจะโอบกอดมัน
เป้าหมายในอนาคตของคุณคืออะไร
หนึ่งในความฝันคืออยากไปเล่นที่ Coachella ซึ่งเราคิดว่าน่าจะไปถึงได้ มันเป็นไปได้ และมันต้องได้อยู่แล้วถ้าเรายังไม่ตายไปก่อน มันขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วช้า มันอยู่ที่ความคิดเรา ถ้า Pyra ยังสงสัยในตัวเอง ไม่เชื่อในตัวเอง แล้วใครจะมาเชื่อในตัวเรา
แล้วความสุขของ Pyra ในช่วงเวลานี้คืออะไรบ้าง
ความสุขและการโฟกัสเดียวคือความอยากตื่นมาทำงานทุกวัน มันไม่ใช่เรื่องที่ดีนะ มันเป็นดาบสองคมมากๆ เพราะในวันไหนที่เราไม่มีงานทำ เราก็จะรู้สึกว่าชีวิตเราคืออะไร ซึ่งโปรดิวเซอร์เราก็บอกว่านี่มันอันตรายนะ ควรพยายามหาความสุขจากสิ่งอื่นบ้าง
ถ้าจะสรุปชีวิตในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา คุณคิดว่าประสบการณ์ไหนที่ล้ำค่ามากที่สุด
คือการเลิกพึ่งพาคนอื่น เราเลิกกับแฟน แล้วก็เลิกแบบพึ่งที่บ้าน การได้ทำตามความฝันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ กล้าทิ้งทุกอย่าง ทิ้งพื้นที่ปลอดภัยที่มี ในขณะที่เป็นโรคซึมเศร้า เพื่อเริ่มใหม่ด้วยตัวเองคนเดียว นั่นคือสิ่งที่เราเจอตอนในอายุ 25
ตอนไหนที่คุณรู้สึกว่าควรจะช่างแม่งบ้างได้แล้ว
ตอนอายุ 25 นี่แหละ เพราะเรารู้สึกว่าการที่เราแคร์ทุกคนมากเกินไปมันทำลายเรา ความที่เราแตกต่าง เราไม่เหมือนคนอื่น เราก็ต้องมานั่งเสียใจกับการที่สังคมไม่ยอมรับเราอีก มันทำให้เราเสียเวลา มันทำให้เราซึมเศร้า พอคิดแบบนี้ได้เราเลย don’t give a shit กับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขึ้น เอาเวลามาทำสิ่งที่ตัวเราเองอยากเป็นและอยากทำดีกว่า
มันคือการแคร์สิ่งที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง เราซึมเศร้า โลกของเราพังทลาย เราเลยไม่อยากพึ่งคนอื่นแล้ว เราอยากยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง