หากพูดถึงของวงการ T-POP ในไทย เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะนึกถึงชื่อวงอย่าง 4EVE และ ATLAS กันเป็นชื่อแรกๆ ในฐานะวงที่ช่วยผลักดันเพดานมาตรฐานทั้ง performance และในเชิงดนตรีให้สูงขึ้นกันอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความสนใจถึงที่มาที่ไปของทั้งสองวงว่า เกิร์ลกรุ๊ปและบอยแบนด์แห่งค่ายนี้มีจุดเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร และกำลังจะเดินต่อไปในทิศทางไหน เราจึงได้ไปพูดคุยกับ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานของค่าย XOXO Entertainment ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ปลุกปั้นทั้งสองวงนี้ขึ้นมา
อะไรคือความท้าทายของการทำศิลปินไอดอลในทุกวันนี้ และทิศทางของวงการ T-POP ไทยกำลังจะเป็นอย่างไร? ติดตามจากได้จากคำตอบของเขากัน
ได้รู้มาว่าตอนเริ่มทำ 4EVE พี่กรณ์อยากทดลองทำดูว่ามันจะไปได้แค่ไหนหรือมาตรฐานโลกเป็นยังไง ณ ตอนนี้พี่กรได้ลองทำมาแล้ว ผลสรุปมันเป็นยังไงบ้าง
เริ่มเห็นอะไรมากขึ้นแต่ก็ยังยากอยู่ ยังไม่ได้ง่าย คือต้องบอกว่าจริงๆ T-Pop กับ 4EVE สำหรับพี่ มันมีไอเดียเริ่มมาพร้อมๆ กัน T-Pop เป็นเรื่องที่มองหาเวทีหรือหาอะไรสักอย่างเพื่อให้มันเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา เพราะรายการที่เป็นสเตจเดี๋ยวนี้ไม่มีเลยน่ะ แล้วก็ศิลปินเขาก็ไม่มีที่มีทางกันมากนัก ในการแนะนำเพลง แนะนำตัว แนะนำงานใหม่ ในวงกว้างส่วนมากก็ไปตามอีเวนต์บ้างอะไรบ้าง วิทยุบ้าง ช่องทางออนไลน์ส่วนตัวกันบ้าง พอมีที่มีทางชัดเจนทางทีวี ก็เป็นอีกเครื่องมือให้คนรู้จัก เป็นที่ที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ผสมด้วยคนก็มีโอกาสได้เห็นมากขึ้นอีก
ตอนเราเริ่มคิดทำ T-Pop ก็เลยคิดเผื่อไว้ว่าอาจจะต้องมีศิลปินเอาไว้สักจำนวนนึงเพื่อจะได้รู้ว่าคนที่เขาทำค่ายเพลงหรือศิลปินเองเขาเจอกับความท้าทายแบบไหนบ้าง เผชิญอะไรกันอยู่บ้าง เราก็เลยมาเริ่มที่ 4EVE นี่แหละ เพราะว่าเคยคุยกับพวกโปรดิวเซอร์ต่างประเทศแล้วเขาบอกว่าเกิร์ลกรุ๊ปนี่ทำยากสุดแล้ว เพราะมันมีองค์ประกอบอื่นๆผสมอีกเยอะมากนอกจากเรื่องทำเพลง
จากที่บอกว่าการทำเกิร์ลกรุ๊ปยากสุด แต่ก็อยากลองดูว่าจะเจออะไรบ้าง แล้วสรุปเจออะไรบ้าง
ก็หลายเรื่องนะ พอเป็นเกิร์ลกรุ๊ปมันก็มีหลายอย่าง เสื้อผ้า หน้า ผม แฟชั่น การเต้น แล้วก็การฝึกซ้อม สารพัดเรื่องเลย รวมถึงการถูกเปรียบเทียบกับอะไรอื่นๆ อีกหลายๆเรื่อง ก็ยังเป็นอยู่ มันอาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นปัญหาแต่ว่าก็ทำให้พอรู้ว่า เขาคาดหวังอะไรกันแบบไหนอยู่บ้างนะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องจัดการทุกๆอย่างได้ตามความคาดหวังของทุกคนในระยะเวลาอันสั้นในช่วงนี้นะ
ตอนที่ 4EVE เปิดตัวมา คนค่อนข้างพูดถึงโปรดักชั่น เอ็มวี และการลงทุนค่อนข้างเยอะ พี่กรคิดยังไงกับตอนนั้นที่ทุ่มทำกับสิ่งนี้อย่างเต็มตัว
มีความคาดหวังอยู่มากพอสมควรไม่ว่าใครก็ตามที่จะทำ คือถ้าเป็นศิลปินกลุ่มในลักษณะแบบนี้เขาก็คาดหวังไปไกลมากเลย อาจเพราะว่ารวมๆ แล้วของบ้านเรามันยังไม่ได้เติบโตแข็งแรงต่อเนื่องเหมือนต่างประเทศขนาดนั้น ทีนี้พอจะลองทำก็คิดแค่ว่าลองทำให้ใกล้ที่สุดแบบนั้นดูสักทีสิว่า ต้องออกแรงขนาดไหน เท่าที่เราพอทำไหว แล้วก็ทำกันได้ขนาดไหน เราก็พยายามหาทางอยู่มาตั้งแต่เอ็มวีตัวแรกตามมาจนตัวหลังๆ
พอได้ลองไปเรื่อยๆ เส้นมันขยับไปถึงเส้นที่พี่กรคิดว่ามันควรจะเป็นหรือยัง
ก็ยังนะ คือจริงๆ ยิ่งทำไปเรื่อยๆ คนก็ยิ่งคาดหวังไปเรื่อยๆ ในขณะที่บริบทรายล้อมมันยังไม่ได้เอื้อกับเราขนาดนั้น และหลายๆบริบทมันก็แตกต่างกันกับที่อื่นๆ พอสมควร หรืออย่างการขายอัลบั้ม เขาแทบจะขายก่อนปล่อยเพลงเลยสำหรับวงที่แฟนเพลงเยอะๆ ทำอัลบั้ม แล้วก็ทำ MV ในอัลบั้ม ไม่กี่เพลง ใช้เพลงเดินสายออก Stage ของรายการทีวีต่างๆ เรายังต้องหาส่วนผสมที่พอดีกับบ้านเราให้เจอน่ะ เราก็ยังต้องทำงานอีกเยอะ และยังต้องทำงานหนักอยู่อีกมากเลย
ฟังดูเป็นภารกิจที่ยาวนาน แล้วอย่างนี้พี่กรตั้งเป้าว่าเมื่อไหร่จะถึงเส้นชัยนั้นได้
พี่ไม่เคยตั้งเป้าเลยเรื่องเส้นชัย แค่แบบว่าชิ้นนี้อยากได้อะไร เรื่องนี้อยากได้อะไร แล้วก็ทำไปตามนั้น ทีละเรื่องน่ะ
อย่าง T-Pop ตอนนี้ก็อยากแค่ ขีดเส้นใต้ให้ชัดๆว่า Thai Music มันน่าสนใจนะ มีของดีๆเยอะนะ โอเค โลกมันอาจจะ Globalization มากขึ้น ก็อยากให้คนได้อินกับมันมากขึ้นอีกหน่อย ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นเพราะอย่างน้อยแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเขาก็เริ่มมีแบบเพลย์ลิสที่ขึ้นว่า T-Pop แล้ว
อย่างน้อยมีแบบนี้ก็ทำให้คนไทยหรือคนต่างชาติได้เห็น playlist TPOP, Thai Music กันบ้าง ในขณะที่ ที่ผ่านมามันก็จะมีลิสต์ K-Pop J-Rock J-Pop , BritPop แต่กลับไม่มีอะไรเรียกรวมๆ ว่า T-Pop, ThaiMusic เลย ก็เลยคิดว่า อย่างน้อยขอให้มีคำเรียกอะไรไว้ก่อน มันต้องได้ชื่อก่อน แล้วค่ายไหน วงไหน ศิลปินคนไหน ได้มีที่มีทางให้เขาหน่อย เผื่อเขาอาจเจอโอกาสอะไรกัน หรืออย่างศิลปินในค่าย ก็ตั้งใจทำงานให้เขาเต็มที่ก่อน แค่นั้น
ในฐานะที่ Workpoint เป็นคนกลางในการนำค่ายหรือศิลปินเข้ามาอยู่ร่วมกันภายใต้ T-Pop เป็นไปอย่างยากลำบากไหม
ก็ง่ายบ้าง ยากบ้าง ที่ง่ายคือเราเป็นสถานีทีวี มานานสักระยะ ค่าย หรือ ศิลปิน เขาอยากมาออกทีวีเพื่อ แนะนำตัว แนะนำเพลงกันอยู่ แล้ว บางคนก็อาจไม่เหมาะมาเล่นเกมอะไร เพราะเขาอาจไม่ถนัด แต่ถ้าออกทีวีได้เขาก็อยากออกมาแนะนำตัว แนะนำเพลง แนะนำงานใหม่ พอมี TPOPStage เขาก็เลยสนใจกัน อยากมากัน
มีบ้างที่อาจจะมองมาว่าเริ่มมีค่ายเพลงแล้ว ก็คงจะทำรายการขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตค่ายรึเปล่า ความจริงเราไม่ได้มีศิลปินเยอะขนาดนั้น แล้วก็ถ้าดูกันจริงๆจะพบว่าใครมาส่วนใหญ่เราก็ยินดีหมด ไม่ใช่แค่รายการนี้ หลายๆรายการในช่องด้วยซ้ำ ถ้าเหมาะเจาะกัน เวลาตรงกัน โอกาสเอื้อเฟื้อกัน จริงๆแทบไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย
เวลาเราขอเอาวงไปออกรายการทีวีที่อื่นๆ ยังมีเงื่อนไขมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ บางทีก็เงื่อนเวลา บางทีก็อาจจะยังไม่น่าสนใจพอ บางทีรายการก็ไม่สะดวกในช่วงนั้น ซึ่งเราเข้าใจหมดเลยนะ เพราะเราก็ทำรายการทีวีอื่นๆอยู่ด้วยไง เราเข้าใจคนทำรายการทีวีเลยนะ เราถึงพยายามให้ถ่ายรายการทุกสัปดาห์เพื่อลดเรื่องเงื่อนไขเวลาลงสำหรับศิลปินที่จะมา จะได้จัดสรรง่ายขึ้น
แล้วก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องตัวรายการ T-Pop อยู่บ้าง คือ เรามีรายการอาทิตย์ละวัน คิวถ่ายก็คือระบุว่าอาทิตย์นึงถ่ายวันไหน เต็มที่ก็ได้สัก 6-7 เพลง ซึ่งเราอาจจะไม่รู้กันว่าเดือนๆ นึง มีเพลงปล่อยเป็นร้อยเพลงเลยนะ มันแปลว่าเราก็ไม่สามารถเอามาออกรายการทั้งหมดได้อยู่ดี สมมติเดือนนึงอย่างน้อยมี 200 เพลง ซึ่งเฉพาะตัวรายการอย่างน้อยเดือนนึงก็ได้ไม่เกิน 30 เพลง นี่ยังไม่นับข้อจำกัดที่ว่าเราพยายามถ่ายรายการทุกวีค แบบพยายามไม่stock ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เพื่อให้วางแผนกันง่ายขึ้น เพราะรายการทีวีเมืองไทย ส่วนมาก ทำ stockกันล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ๆ และถ่ายครั้งละเยอะหน่อยเพื่อลดค่าใช้จ่าย นี่เราก็พยายามให้ได้วีคต่อวีคเพื่อง่ายและสะดวกต่อการจัดการของค่ายเพลง
ความท้าทายและกำแพงที่เจอของการทำ T-Pop Stage คืออะไร
โดยรวมๆ ก็จะมีอยู่ 2-3 เรื่องที่ยังวนๆ ซ้ำๆ อยู่ เช่นว่า คนที่ดูก็คาดหวังกันหลายเรื่อง เช่นโปรดักชั่นส์ ที่อยากให้มีลูกเล่นเยอะๆ บ่อยๆ
ซึ่งพอเรามานั่งนึกดูสมัยก่อนเรามี 7สีคอนเสิร์ต, โลกดนตรี มันก็เป็นสเตจโล่งๆ ที่ให้ ศิลปินขึ้นมาก็แสดงกัน สัปดาห์ละ1-2ศิลปิน แค่นั้น หรืออย่าง MTV ก็มาแนะนำให้ดูMusic Video เพลงใหม่ๆ กัน แค่นี้
อาจเพราะว่าในวันนี้ คนดูบางส่วนเขาเห็นจาก Stage ต่างประเทศทำเขาก็จะคาดหวังแบบนั้น เยอะๆ หรือ อยากได้อะไรแบบนั้นกันบ่อยๆ ซึ่งเราอาจจะยังทำไม่ได้ แบบนั้นทุกครั้ง ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกค่าย ไม่ใช่ทุกศิลปิน รวมถึงคนทำสเตจ(รายการ)เองด้วย ที่จะมีกำลังทรัพย์ไปทำแบบนั้นได้บ่อยๆ ตลอดเวลา
ตอนนี้ก็ขอแค่ว่าเราเริ่มมีสเตจแล้วนะ มีเพลงไทย มีศิลปินไทยเยอะนะ มีเพลงไทย น่าฟังเยอะนะ เขาแสดงกันดีนะ มาลองดูกัน ชอบใครเข้าก็ลองไปสนับสนุนผลงานเขาต่อ กันได้
แล้วการทำสเตจมันก็มีค่าใช้จ่ายของมันอยู่ จริงอยู่ที่ว่ามันอาจจะได้คอมมูนิตี้ของวัยรุ่นที่น่าสนใจมากลุ่มใหญ่ ซึ่งก็ค่อนข้างมีความหลากหลายพอสมควร มาด้วย แต่ก็เป็นช่องทางสื่อสารที่ดีสำหรับทุกๆศิลปินนั่นละ
หรือกระทั่งเรื่องโหวตเราก็แบ่งรายได้คืนกลับศิลปินหรือค่ายเพลงเสียด้วยซ้ำ ซึ่งปกติเวลามี vote อะไรกัน ส่วนมากหลายๆ งานมักไม่ได้มีแบ่งกลับคืนไปที่ศิลปิน หรือ ค่ายเพลงของเราตั้งใจตั้งแต่แรกว่า มันอาจช่วยให้เขามีรายได้เพิ่มจากแฟนๆเขาในทางอ้อมได้ ศิลปินบางส่วนเผลอๆมีรายได้ตรงนี้ในช่วงที่เพลงอยู่ในรายการมากกว่ารายได้สตรีมมิ่งก็มี ถ้าแฟนๆอยากสนับสนุนหรือให้กำลังใจเขาก็ถือว่ามีช่องทางเพิ่มอีกนิด นี่ก็กำลังจะเพิ่ม exposure อะไรบางอย่างให้กับศิลปินและแฟนเพลงอีก
รวมๆ ก็คิดว่าคงยังต้องใช้เวลาอีกพักให้คนเข้าใจว่า โดยรวมแล้ว Stage มันมีประโยชน์มากนะ กับภาพรวม เข้าใจดีว่าคงมีชอบใจบ้าง และก็ยังมีที่อยากได้นั่นนี่กันอีกบ้าง แต่ก็อยากขอให้ ให้กำลังใจกันก่อน สนับสนุนกันก่อน
อยากรู้ว่ารายได้ T-Pop Stage มาจากไหนบ้าง
ถ้าเป็นรายการทีวีมันมีรายได้ได้แค่จากโฆษณาอยู่แล้ว ก็เริ่มมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีขึ้นเพราะ อย่างที่บอกไปว่า มันเป็น คอมมูนิตี้ ของวัยรุ่นกลุ่มใหญ่อยู่นะ แน่นอนว่า พอเป็นรายการทีวี มันก็จะถูกตรวจวัดด้วยมาตรฐานนึง ซึ่งมันก็มีส่วนอยู่บ้างที่ทำให้ รายการเพลงที่มันเป็นสเตจมันเลยมีอยู่รายการเดียวตอนนี้ หรือมียากนั่นละ
stage มันต่างจาก รายการเพลงที่เป็นเกมส์โชว์ หรือ เป็นโชว์ๆ หรือ เป็น การแข่งขัน ที่มันมีดีไซน์ให้มีลูกเล่น ให้น่าติดตาม ให้มีหลายๆอารมณ์ รายการแบบนั้นก็จะเรตติ้งอีกแบบนึง อาจเพราะมีความน่าสนใจหลากหลายขึ้น
แต่อันนี้หลักๆมันเป็นพื้นที่ ให้ศิลปิน มาแนะนำตัว มาแนะนำผลงานกัน ความตั้งใจหลัก ตั้งใจไว้แบบนี้ ความหลากหลาย มันก็จะเป็นเรื่องของความหลากหลายศิลปิน รวมๆก็มาดูศิลปินโชว์เพลงใหม่กัน มีคะแนนความนิยม จากโหวต จาก music streaming จาก Video Streaming ซึ่งถ้าแยกดูก็จะแตกต่างกันออกไป หรือ ถ้าดูภาพรวม ทั้ง 3 องค์ประกอบ ก็พอจะเห็นภาพอะไรบางอย่าง ซึ่งจริงๆยังเชื่ออยู่ว่า จากการที่กลุ่มคนดูมันค่อนข้างชัดเจนและเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มของอนาคต ซึ่งถ้าได้ใจเขาวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
บริหารจัดการความคาดหวังที่มาทางนึง กับ สิ่งที่เรามีอยู่เป็นอีกแบบนึงอย่างไร
ส่วนมากจะกลับไปที่คนทำงานก่อน ว่าเขาทำกันไหวแค่ไหน โดยเจตนาคนทำงานเขาตั้งใจทำงานกันมากทุกคน พอเห็นว่าเขาตั้งใจทำงานกันเต็มที่ ก็เลยคิดว่า เราก็ต้องเอาที่เขาทำไหวกันก่อน อุตสาหกรรมบ้านเราด้านนี้ยังไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น อย่างเกาหลีที่เขาแข็งแรงต้องยอมรับว่า เขายังขาย physical กันอยู่อย่างเป็นกอบเป็นกำ เขานับยอดขาย อัลบั้มกันเลย (บ้านเราไม่ใช่ทุกศิลปินจะขาย อัลบั้ม หรือ ทำอัลบั้ม) และ เขามี Stage กันเกือบทุกช่องทีวีเลย
ในบ้านเรานี่ศิลปินพอมีรายได้จาก ยอดสตรีมบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้กันเยอะเป็นกอบเป็นกำ ทุกๆคน ทุกๆ ค่าย ที่เหลือก็เป็นเรื่องงานจ้าง งานโชว์ตามผับบาร์ หรือ ร้านอาหาร ซึ่งมันก็เหมาะกับศิลปินบางประเภท บางลักษณะ แล้วก็มีงานอีเว้นท์บ้าง ซึ่งบางทีพื้นที่ก็ไม่ได้เหมาะกับศิลปินในบางลักษณะ พื้นที่เวที แสงสีก็ไม่ได้เอื้อเฟื้อแบบนั้นทุกที่
แฟนๆ ก็อาจจะเห็นบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปหน้า ศิลปินใหม่ ไปเล่นให้ชมฟรี ตามงานต่างๆกันบ้าง แต่ถ้ามาลองนึกๆดูละเอียดๆ ศิลปินหน้าใหม่ที่ไปเล่นให้ชมกัน ฟรีตามงานต่างๆ หลายๆ งาน ถ้าตามๆ ดูจะพบว่า มีหลายครั้งที่ผ่านไปสักระยะ เขาก็อาจจะหมดแรง หรือ ค่ายหมดแรง เพราะว่าเวลาเขาไปแสดงมันมีค่าใช้จ่าย เสื้อผ้า แต่งหน้า ทำผม มีค่ารถค่าเดินทาง มีค่าใช้จ่ายกันของมันอยู่ ในแง่หนึ่ง มันอาจถือเป็นการลงทุนเพื่อโปรโมทให้คนรู้จักมากขึ้น แต่เขาอาจไปทุกๆ งานไม่ไหว เพราะทุกๆครั้งที่ไปมันมีค่าใช้จ่าย เขาก็ต้องเลือกและจัดสรรเวลากัน
แต่บางทีแฟนๆ บางคนเขาก็ คาดหวัง อยากให้ไปออกงานเยอะๆ ซึ่งเขาก็พยายามจัดสรรกันนั่นละ แต่บางเวลาศิลปินเขาก็ต้องไปทำงานอื่นเพื่อให้มีรายได้กันบ้าง เขาก็อาจจะต้องเลือกไปงานที่พอมีรายได้ ผสมบ้างหรืองานที่พอจะมีค่ารถ ค่าอะไรกันก่อนบ้าง แต่ละค่ายเขาก็พยายามบริหารจัดการกันอยู่ ก็อาจไม่ได้ไปหลายงานตามความคาดหวังแฟนๆ เวลาเห็นข่าว อันนั้นปิด อันนี้ยุบ อันนี้พัก ทั้งๆที่เขาออกงานกันบ่อยๆ ก็พอเข้าใจและเห็นใจเขากันนะ
แต่เวลาถ้ามา T-pop stage มันมีค่ารถ อะไรให้ พยายาม ช่วยถ่ายทำสวยๆเท่าที่พอจะทำให้ได้ มีคนดูที่รอชมกลุ่มใหญ่ มีให้ตามดูย้อนหลังได้ มี app ให้คนคอยเช็คว่ามีเพลงอะไรใหม่บ้าง มีศิลปินใครบ้าง พอกดเข้าไป ก็ไปยังที่พื้นที่ของศิลปินเขา ถ้าไปลองฟังเพลงทาง streamingของเขารายได้มันจะกลับไปที่เขากันนั่นละ
ส่วนใหญ่เวลาพี่จัดงานไม่ว่าจะ T-Pop หรืออีเว้นท์อะไรก็ตามก็พยามจะมีค่าใช้จ่ายให้คนที่มาแสดง เท่าที่พอจะไหว อย่างน้อยก็ค่ารถ
งานลักษณะนี้ มันก็เลยค่อนข้างยากเพราะว่าเวทีมันก็ไม่ได้มีเยอะ มันก็จะมีคนอยากดูจำนวนนึงที่เขาก็จะไปรอดูอยู่ตามห้างหรือตามอีเว้นท์ ต่างๆ แต่ว่าบางเวทีมันก็ไม่ได้เอื้อขนาดนั้น ส่วนใหญ่ศิลปินใหม่ๆก็พยายามหาที่ไปแสดงกันอยู่ประมาณนึงในช่วงระยะเวลานึง แล้วเขาก็มักหาองหาวิธีบาลานซ์กัน
บางที่ เจ้าของพื้นที่เขาต้องการ traffic เขาก็อาจจะเสียพื้นที่ในการจัดงาน เขามีค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องเสียง เรื่องเวที เรื่องไฟฟ้า ฯลฯ ไปแล้ว ในมุมเขาก็อาจจะรู้สึกว่าเสียสละไปแล้ว แสงสีเสียงสเตจเขาก็ต้องเตรียมให้แล้วก็มาโปรโมทกันได้เลย แต่มันก็จะถูกคาดหวังอยู่ดี มันยังต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันให้พอดี บางงานคนจัดก็อาจจ่ายมากๆไม่ไหวก็มีเพราะต้องเตรียมหลายๆเรื่อง ค่าใช้จ่ายไม่น้อย แต่ในแง่ความคาดหวัง แฟนๆ เขาก็อยากเห็นศิลปินที่เขาชอบในหลายๆงาน คาดหวัง Stage ที่เนี๊ยบทุกๆงาน ซึ่งก็นั่นละ มันก็ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไปกัน
ความคาดหวังที่คนฟังเพลงมีต่อตัวศิลปินและค่าย ทำให้เราต้องเพิ่มมาตรฐานให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ไหม
เราก็พยายามทำเต็มที่ในทุกๆ ชิ้นที่เราทำ พี่ว่าศิลปินหรือทุกค่ายเหมือนกันหมดนะ เขาก็ตั้งใจทำงานเขาเต็มที่ ทำกันเต็มที่ แล้วที่เหลือก็คนจะชอบ ไม่ชอบ ก็เป็นอีกเรื่องนึง ทุกค่ายเพลงก็จะเจอความคาดหวังแตกต่างกันออกไป สำหรับพี่ก็พยายามตั้งใจทำไปก่อน จะถูกใจไหม ได้ตามความคาดหวังไหม ก็อีกเรื่อง แต่ตั้งใจทุกชิ้น ทุกงาน
มีมุมมองที่มีต่อ T-Pop ที่เพิ่งโตได้ไม่นานอย่างไร
พี่รู้สึกว่า พี่อาจจะแค่เป็นคนที่ให้ขีดเส้นใต้ ชื่อ มันอย่างชัดๆแค่นั้นนะ ซึ่งจริงๆ แล้วเหมือนว่าจะมีคนให้ชื่อมาก่อนนะ แต่อาจจะไม่ได้ถูกตีฟูเหมือนเวลาพี่พูด
พี่อาจจะเสียงดังกว่าคนอื่นหน่อย เหมือนตอนพี่ทำแร๊ปเปอร์ ฮิปฮอปมันก็มีมานานแล้วนะ แร๊ปเปอร์เขาก็ทำกันมานานแล้ว พี่แค่แบบมาตีฟูให้นะ มาบอกให้ช่วยๆกันตะโกนนิด มาตีปี๊ปเรียกแขก เรียกคนให้หันมาฟังหน่อยน่ะ
T-Pop ก็คล้ายๆ กัน เดี๋ยวจะตีฟูให้นะ จะตีปี๊ปเรียกแขกให้นะ ที่เหลือจะเป็นยังไงก็ต้องลองจัดการ จัดสรรกันดู อันนี้พูดรวมๆ
แล้วก็เริ่มรู้สึกว่า บรรยากาศ ของเพลงไทย มันคึกคักขึ้น ไม่รู้ว่ารู้สึกเข้าข้างตัวเองไหม เพราะมันอาจจะคึกคักกันอยู่แล้วก็ได้ แค่อาจติดขัดกันเพราะโควิด เพราะเริ่มทำ T-Pop Stage ตอนบรรยากาศโควิดพอดี พอตอนนี้บรรยากาศมันเหมือนดีขึ้น และรู้สึกว่า คำว่าTPOP มันเริ่มคุ้นปากกันขึ้น เลยรู้สึกว่าคึกคักน่ะ อ้อ แล้วก็มีเรื่องลักษณะของวง หรือ ลักษณะของศิลปิน หรือประเภทของเพลงเข้ามาเกี่ยวพันอยู่บ้าง อาจทำให้บางส่วนมอง TPOP ต่างกันออกไปบ้าง ซึ่งสำหรับพี่ส่วนตัวไม่ได้มองแยกออกไปขนาดนั้นนะ แต่ก็เข้าใจ เพราะบางส่วนจำ K-POPมาเลย จำภาพ ลักษณะ idol, boyband, girl Group มาเลย ก็เป็นเรื่องต่างความคิดเห็นน่ะ พี่มองรวมๆก่อนเลย มองภาพรวมก่อนเลย TPOP (ThaiPOP) น่ะ ไม่ได้หมายถึงประเภท แบบ POP, ROCK, RAP, HipHob, indie, r&b แยกไปด้วย มองรวมๆถึง Thai Music น่ะ ก็ดูรวมๆเหมือนจะคึกคักกันดีนะ
ส่วน ของ 4EVEที่ทำมาสักปี ถ้าตัดรายการทีวีออกน่ะนะ ก็เป็นปีที่อยู่กับโควิด เสียด้วย ทุกครั้งที่ปล่อยเพลงใหม่จะโดนโควิด รอบนี้ก็โดนอยู่ ศิลปินก็ติดโควิดกัน ซึ่งรอบนี้คนอาจรู้สึกว่าโควิดมันซาแล้วนะ เอาจริงๆ เราจัดอีเว้นท์ก็ไม่ได้ง่ายมากนะ หรือปล่อยเพลง ก็ไม่ได้ง่ายมากนะ ไปอีเวนต์ ก็ลุ้น จนวันงานทุกรอบเพราะ ถ้ามีใครสักคนติดโควิดปุ๊ป คิวอะไรต่างๆรวนเลยทันที อีเวนต์อะไรก็รวนเลย นัดหมายอะไรไว้ หรือ นัดหมายรายการอะไรไว้ บางอย่างอาจพอเลื่อนได้ บางอย่างก็ต้องงดไปเลย เพราะคนอื่นๆเขาก็มีงานของเขาที่ต้องทำต่อเนื่องตามคิวเขากัน
มันก็เป็นอุปสรรค์ท่ามกลางโควิดแหละ แต่พี่ว่าที่น้องๆ หรือคนทำงานก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคเยอะหน่อย เพราะว่างานมารวนและส่งผลระยะยาว งานที่รับกันมาในช่วงโควิดก็มีทำๆหยุดๆไปบ้าง มันเลยไม่เสร็จตามเวลา เลยมามะรุมมะตุ้มกันอยู่บ้าง นั่นละ กระทั่ง TPOP เองก็มีช่วงถ่ายๆ หยุดๆ ก็มี บางคนก็เสียโอกาสไปก็มี
พี่คิดว่าสักก่อนสิ้นปีนี้น่าจะคลี่คลายทั้งหมดแหละ ตอนนี้ก็ทยอยจัดสรรให้มันเรียบร้อย แต่ว่าระหว่างการจัดสรรเราก็พยายามมาซ้อมและทำเพลงกันไปเรื่อยๆ อย่างเพลง 4EVE และ ATLAS ปีนี้เสร็จแล้ว เหลือแค่ทยอยปล่อย ตามเวลาที่จัดสรรไว้ งานโชว์จริงๆ ก็ล็อคไว้พอสมควรเลยทั้งสองวง แต่ช่วงนี้แฟนๆอาจจะใจร้อนกันหน่อยเพราะเขารู้สึกกันว่าเมืองเปิดแล้ว หลายๆศิลปิน ออกไปโชว์กันแล้ว ทุกคนเขาก็อยากเห็นแล้ว ก็กำลังทยอยจัดสรร ส่วนรวมๆก็คิดว่า 4EVE , ATLAS พอจะมีที่ทางของเขาใน TPOP แล้วละนะ
แล้ว รวมๆพี่ก็เชื่อว่า ปลายปีนี้ ยาวไปยันปีหน้า TPOP น่าจะคึกคักต่อเนื่องนะ ใครมาอ่านเจอเข้า ก็อยากฝากไว้ให้สนับสนุนกัน ศิลปินไทยคนไหนก็ได้ค่ายไหนก็ได้ที่ชอบ ในระยะยาวข้างในกันเองต้องแข็งแรงต่อเนื่องด้วยน่ะ นี่ปลายเดือนตุลาคมนี้ก็จะจัดงาน ก็คงต้องฝากไว้ด้วย คิดว่าผู้คนก็คงคาดหวังอยากเห็นนั่นนี่กันอีก
ความท้าทายในการทำวง ATLAS กับ 4EVE แตกต่างกันยังไงบ้าง
คือพอทำ ATLAS นี่ก็เพิ่งมาคิดได้ว่าเออว่ะ เรากลายเป็นคนที่ทำวงดนตรีบอยแบนด์เกิร์ลกรุ๊ปไปแล้วเหรอ (หัวเราะ) ตอนทำ 4EVE คือคิดว่าอันนี้คือของที่ยากที่สุดก็ลองทำดูซิว่าจะเป็นยังไง โอเครู้แล้วว่าต้องทำยังไงต่อและยังต้องทำงานหนักกันไปอีกตลอด พอเป็น ATLAS ก็คิดว่าต้องทำยังไงให้มันไม่เหมือนกัน และทำยังไงที่ให้คนเห็นเขาเยอะๆ
คือของ 4EVE นี่มันมีเรื่องรายการทีวีมาก่อน มีคนดูประมาณนึง แล้วช่วงโควิดเราก็ถ่ายVideo กันอย่างบ้าคลั่งเพราะว่าไปไหนไม่ได้มากนัก ทำอะไรก็ไม่ได้มากนัก พอเริ่มมีงานต่อเนื่องเราก็เริ่มถ่ายvideoน้อยลงบ้าง ก็จัดสรรตามเวลาตามงานที่มีและก็พยายามจัดการเรื่องอื่นๆไปด้วย
แต่พอเป็น ATLAS มันไม่ได้มีรายการทีวีมาก่อน ก็คือมีศิลปินกลุ่มมา 7 คนที่เขาตั้งใจกันมาก งั้นจะทำยังไงดี เราก็เริ่ม เอามาซ้อม มาดู เริ่มทำเพลงแรกก่อน โปรดักชั่นเนี๊ยบๆ เลย แล้วมาลองดูสิว่าเป็นยังไง ผู้คนว่ายังไงกัน ก็พบว่า คล้ายๆ เดิม คือคนก็ยังเปรียบเทียบกับมาตรฐานเกาหลีอยู่ซึ่งคงเลี่ยงยาก จากนั้น เราก็ทำเพลงอีก ต่อเนื่อง เพื่อเตรียมทำอัลบั้ม แล้วก็ถ่าย Video เรื่อยๆ เพื่อที่จะให้คนได้เห็นเขาในหลายๆมุม เพื่อที่จะทำให้ได้รู้จักพวกเขาเยอะขึ้น
สำหรับพี่อีกเหตุผลต้องทำเพลงเยอะๆเพราะค่ายมันใหม่ ไม่มีเพลงเลย จะไปไหนทีไม่มีเพลงให้ร้องเลย เวลาร้องเพลงมันมีเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ถ้าอยู่ค่ายที่มีเพลงเยอะๆก็สะดวกขึ้นหน่อย ถ้าค่ายใหม่ไม่มีเพลงก็ต้องคอยไล่ติดต่อขอเพลงมาร้องดู เพราะถ้าร้องเพลงอื่นก็ต้องคอยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องคอยติดต่อไปขอ และก็แอบห่วงว่า ถ้าศิลปินใหม่ คนอาจจำไม่ค่อยได้ คนที่ไม่ใช่แฟนคลับ อาจคิดว่าเป็นนักร้อง cover หรือ นักเต้น cover (อันนี้หมายถึงในแง่ของการเป็นศิลปินน่ะนะ) ก็เลยต้องทำเพลงไว้เรื่อยๆ ให้พอมีเพลงของตัวเองเยอะสักหน่อย อีกอย่าง พอจะขายเป็นอัลบั้มก็อยากให้มีหลายเพลงหน่อย ด้วยน่ะ
คุยกับน้องในวงบ่อยไหม
ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยบ่อยแต่หลังๆ นี้บ่อยขึ้นมากแล้วนะ คือถ้าเราเคยดูสัมภาษณ์พี่สุกี้ของป๋าเต็ดTalk จะรู้สึกคล้ายๆ ว่า คนทำค่ายเพลง ซึ่งอาจจะเป็นยุคก่อนนะ เขาก็พยายามไม่ค่อยคุยกับศิลปินในค่ายเยอะ เขาจะพยายามรักษาระยะห่างไว้นิด เขาก็จะมีผู้จัดการดูแล มีคนทำงานคอยจัดการ ให้หลายเรื่องเลย
แต่พอเป็นศิลปินในค่ายพี่มันเหมือนกับว่าถ้าเรานั่งคุยกับเขาบ้าง เขาจะสบายใจกว่า เหมือนเลี้ยงลูกเลย วันก่อนไปนั่งคุยกับย้ง (นาดาว) ก็มีส่วนที่คล้ายกันอยู่บ้าง แต่ว่าย้งเขาจะแพชชั่นแรงกว่าพี่เยอะนะ
พี่คิดว่าที่ก่อนนี้บางค่ายเพลงไม่ค่อยได้ยุ่งกับศิลปินเยอะ พี่คิดว่าว่ามันเป็นเรื่องการรักษาระยะห่าง คือการทำงานเพลงมันค่อนข้างเป็นงานกลุ่ม พอในงานกลุ่มมันก็จะมีเรื่องเห็นตรงกันหรือไม่ตรงกันอยู่บ้าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนพี่ว่ามันง่าย ศิลปินค่อนข้างมั่นใจและไว้ใจว่าค่ายจะพาเขาไปทางไหน เพราะค่ายเพลงมันค่อนข้างใหญ่ และมี roadmap ของความสำเร็จอะไรอยู่
แต่ศิลปินยุคหลังๆ เขาอยากมีส่วนร่วมเยอะ ซึ่งในความมีส่วนร่วมเขาก็มีข้อดีมากนะ เพียงแต่ว่าในการทำงานมันจะมีหลายอย่างทั้งเรื่องเงิน เรื่องเวลา เรื่องการจัดการต่างๆอีกสารพัดเรื่อง ทีนี้พี่ก็เลยคิดว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่หน่อยแล้วกันไปคุยด้วยบ่อยๆ บรรยากาศน่าจะดีขึ้น เพราะบางทีคนเราทำงานกันก็เหนื่อย ทีมงานก็เหนื่อย ก็เลยเข้าไปคุยเล่นกันกับเขาบ้าง น่ะ บางทีก็ แค่ไปอยู่ด้วยตรงนั้นแหละ ก็ไม่ค่อยมีใครเขาทำกันนะ เช่น ถ้าพี่รู้ว่าวันนี้หกโมงเย็นเลิกแน่ๆ พี่ก็อาจจะไม่ได้อยู่จนเลิก แต่ถ้าวันไหนพี่รู้ว่าเขาจะถ่ายกันดึก หรือซ้อมกันดึกพี่ก็จะไปอยู่ดึกด้วยจนเลิก เขาจะได้รู้ว่าทีมงานก็ทำงานหนักเป็นเพื่อนเขาอยู่นะ อะไรแบบนี้น่ะ
ได้รับฟังความคาดหวังหรือความรู้สึกของน้องๆ มาว่ายังไงบ้าง
ส่วนใหญ่น้องๆ ไม่ค่อยมีอะไร เยอะ น้องเขาอยากทำงานเยอะๆ อยากมีรายได้ คือ ศิลปินไทย หลายคน มันยากตรงนี้ คือ เขายังจะต้องเรียนหนังสืออยู่ด้วย หรือ ถ้าเรียนจบแล้วเขาก็อยากมีรายได้ที่พอจะแลตัวเองได้ด้วยให้เร็ว เพราะเขาก็อยากให้ครอบครัวเขาสบายใจด้วย ช่วงเริ่มต้นปีแรกๆ แบบนี้ เราเลยต้องบาลานซ์หลายอย่างมากเลย
สำหรับของพี่มันจะต่างจากเกาหลีหรือที่อื่นๆ หน่อยคือจะไม่ค่อยให้ช่วงฝึกยาวนานมากนักแบบเป็นปีสำหรับคนที่เรียนจบแล้วน่ะนะ จะพยายามหาอะไรให้ทำเพื่อให้พอมีรายได้ไปด้วย ก็เลยอาจจะหนักหน่อยน่ะ คืออย่างปีที่แล้วค่อนข้างปลอดโปร่งโล่งสบาย ในความลำบากของการมีโควิด มันยังมีข้อดีอยู่ที่ว่าการเรียนออนไลน์ เรียกใครมาทำงานมันก็พอเป็นไปได้มาก เพราะมันเรียนที่ไหนก็ได้
แต่พอเป็นเรียน ออนไซต์แล้วนี่เขายังต้องไปทำงานกลุ่มกับเพื่อน เขายังต้องมีกิจกรรมที่ไม่สามารถขาดได้ บางคนเขาก็ต้องเริ่มมีงานที่ต้องมีรายได้อื่นไปด้วย และเขาก็ยังต้องทำเพลงกับเรา มันต้องบาลานซ์หลายอย่างมากเลย ซึ่งพี่จะพยายามบาลานซ์เรื่องพวกนี้ให้
ในขณะที่เมื่อตอนก่อนเรานั่งคุยกัน เราเพิ่งคุยกันว่าคนทำงานออนไลน์ มันเหนื่อยเนอะ เหมือนวิ่งมาราธอน ที่ต้องมีช่วงเร่งสปีด ช่วงผ่อน และต้องวิ่งอยู่เรื่อยๆ
ค่ายเพลงก็เริ่มคุยกันแล้วว่า เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วพีค ตู้ม เหมือนเมื่อก่อน แล้วลากยาว มันอาจเป็นยุคของความสม่ำเสมอเสียแล้ว เพราะมันมีอะไรต่อมิอะไรมาโผล่ตลอดเวลาเต็มไปหมด ไม่เห็นจากเพลง ก็ต้องเห็นจากอะไรสักอย่าง
เรายังทำกันเรื่อยๆ ช่วงแรกที่พี่ปล่อยเพลงไปคนยังไม่เข้าใจว่าพี่จะขยันทำเพลงอะไรกันนักหนา (หัวเราะ) แต่เราตั้งใจว่าทุกๆ เดือนขอมีงานอย่างน้อยสักสองชิ้น จะเป็นเพลงหรือจะเป็น vlog ก็ได้ video อะไรก็ได้ แต่ถ้ามีเพลง งาน video ก็อาจจะลดลง หน่อย พี่ก็ตั้งใจทำแบบนี้กับทุกวงที่ทำอยู่แล้ว
บทบาทของค่ายเพลงในยุคนี้ที่จะมีศิลปิน ความสัมพันธ์ควรจะเป็นแบบไหน
เท่าที่เห็นส่วนใหญ่คนบริหารค่ายจะใกล้ชิดกับวงเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะเลย น่าจะเป็นกันหมดนะจากที่พี่ไปนั่งไล่กินข้าวกับหลายๆค่ายมา น่ะนะ มันเหมือนจะใกล้ชิดกันมากขึ้น อย่างเวลา พี่ทำเพลงให้ 4EVE หรือ ATLAS ก็จะถามๆ เขาก่อน คุยกับเขาก่อน แล้วก็ไปทำ เดโม่ มาก้อนนึงแล้วมาเปิดให้ฟังทีละเพลง ที่ละเพลง แล้วก็ให้พวกเขามาบอกกันว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อันที่ชอบก็เก็บไว้ อันนี้ไม่ชอบก็เอาออก บางอันก็เอาไปแก้ ก็มีการมาคุยกัน เอามาเปิดให้ฟัง เอาไปทำให้เนี้ยบ ให้เขาไปร้องมาให้ฟัง แล้วค่อยไปเข้าห้องอัดเสียง
เวลาทำงานร่วมกับน้องรุ่นใหม่ๆ อยากรู้ว่าพี่กรได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาบ้าง
ในแง่คนทำงานก็ตอบยากเพราะพี่รู้สึกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเลยนะ คือโดยรวมๆ นะ ทุกอุตสาหกรรม พี่รู้สึกว่า คนรุ่นใหม่อยากประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ซึ่งในมุมนึงไม่ได้ผิดอะไรเลยนะ แต่ในความเร็วขึ้นนั้นอาจจะต้องดูบริบทรายล้อมนิดนึง แล้วก็คนรุ่นใหม่ฝีมือดีเยอะขึ้น เขาใช้เครื่องมือใหม่ๆ ดีและเก่งกว่าคนรุ่นเก่า
ส่วนสิ่งที่เป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อที่บอกคือเป็นเรื่องของ work life balance ที่ชอบพูดกัน พี่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่หาความพอดี ถ้าเป็นคนรุ่นพี่อาจจะรู้สึกว่าต้องทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จ แต่คนรุ่นใหม่เขาอาจรู้สึกว่าเขาทำงานให้คุ้มค่า แต่ไม่ต้องทำงานหนักตลอดเวลาก็ได้ก็จะประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
ตรงนี้แหละที่อาจจะต่างกันแต่ก็ไม่ได้มีอันไหนวัดว่าถูกก็ต้องบาลานซ์มันให้ได้ ส่วนใหญ่พี่ก็จะเป็นเรื่องทำยังไงก็ได้ ขอให้งานเรียบร้อยและเสร็จตรงเวลา ซึ่งบางคนจะโหมแรงสุดตัวและก็ว่างเลย หรือบางคนก็จะค่อยๆ ปั้นไปเรื่อย หรือบางคนก็จะชอบหนักไปเรื่อยๆตลอดเวลา ซึ่งคนสองจำพวกเขาต้องทำงานด้วยกัน บางทีมันเลยหาบาลานซ์กันไม่เจอ
พอนึกออกใช่ไหม ที่คนนึงจะทำงานหามรุ่งหามค่ำและทำงานหนักไปเรื่อยๆ จนเขาเติบโตและแข็งแรงด้วยความขยัน และความชำนาญ คือเมื่อขยันมากก็มักจะชำนาญมากขึ้นและประสบการณ์มากขึ้น
ส่วนคนรุ่นใหม่เขามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือว่าใช้เครื่องมือเก่งและแม่นยำ เขาทำแบบนี้ บางทีอาจไม่ได้ใช้เวลายาวนานเท่าคนอีกรุ่น แต่พอคนสองพวกเขามาทำงานด้วยกันก็อาจจะมีว่า ทำไมต้องทำงานโหดยาวนาน อะไรขนาดนี้นะ อะไรแบบนี้
เป็นเรื่องบริบทด้วย ต้องยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตมันส่งผลต่อความคิดนะ คือพอมีอินเตอร์เน็ตมันทำให้คนรุ่นใหม่เขาได้อ่านเยอะ ได้เห็นเยอะ ซึ่งอาจจะเห็นของที่อื่นๆ ที่ประเทศนั้นหรือที่นั่นที่นี่เวิร์ค เลยอาจจะเข้าใจว่าเห็นไหมมันมีตัวอย่างที่เวิร์ค แต่พอเป็นบ้านเรา ด้วยบริบทบางอย่างอาจจะแตกต่างกันออกไปมันก็เลยอาจจะเวิร์คและไม่เวิร์ค ก็ได้ มันก็ต้องค่อยๆ จูนกันไปน่ะ
พี่กรทำมาแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่งานทีวีจนค่ายเพลง งานแบบไหนที่โหดที่สุด
โหดหมด ยากหมด ยากคนละแบบนะ ทำช่อง ทีวี กับ ค่ายเพลง อาจจะโหดกว่า หนัง สำหรับพี่นะ เนื่องจากมันยาวนานต่อเนื่อง และทีมมันใหญ่มาก
หนังมันเครียดเรื่องใช้เงินเยอะแต่เวลาวัดผลสั้น มีเวลาทำงานที่ยาวประมาณนึง ซึ่งพอจบไปเรื่อง ก็ใช้เวลาก้าวข้ามความรู้สึกเดิมสักระยะ แล้วก็ฮึบ มาลุยใหม่
คือ อย่างหนัง มันจะมี ช่วงวีคที่หนังเข้าฉาย มันจะมีมวลท้องอาการหนักกันไปสักอาทิตย์นึง นายทุนและผู้กำกับเอาเข้าจริงๆ เขามักจะไม่ค่อยอยากดูหนังรอบ press เพราะมันมักมีอารมณ์มวลท้องอย่างบอกไม่ถูก คนที่มางานรอบ press เขาอาจจะดูสนุกกันวันรอบ press เพราะเขาอยากให้กำลังใจเราก็ได้
ส่วนมากก็มักพยายามจะเลี่ยงโซเชียลมีเดียในช่วงนั้นกันสักพักหนึ่ง เพราะลุ้นรายได้ก็มวลท้องพอแล้วน่ะ แต่ก็มักจะมีโทรหาคนนู้นคนนี้ที่รู้จักไว้ใจเพื่อคุยหารือบ้างว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งเขาบอกไม่ชอบได้นะ แต่เวลาได้ฟัง มันจะคนละความรู้สึกกับเวลาเราอ่านเจอจากโซเชียลมีเดียน่ะ ไม่รู้สึกโหดร้ายเท่า
มันเหมือนที่พี่เคยบอกว่า ถ้าโซเชียลมีเดียมันใช้ชื่อจริงกันทั้งหมดได้มันจะช่วยได้เยอะ เพราะถ้าเรารู้ว่าเป็นใครอะไรยังไงเราจะพอเข้าใจ ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบ เราจะเข้าใจขึ้น
และก็พอเป็นชื่อตัวเองน่ะ พี่เชื่อว่าผู้คนจะมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่พูดหรือเขียนออกไปมากขึ้น อาจลดทอนเรื่องอารมณ์และความคึกคะนองลง เพราะในการทำงานระหว่างทางของคนทำงานที่มันมีเออเร่อเกิดขึ้นได้ ในหลากหลายข้อจำกัดน่ะ เราอาจจะตระหนักเรื่องนี้กันมากขึ้นเพราะผู้คนก็จะรู้ว่าเราเป็นใครทำอะไรอยู่บ้าง สิ่งที่เราทำเป็นยังไงด้วย
รวมๆ คือ หนังมันพอมีระยะเวลาของการจบ เพื่อเริ่มใหม่ มีระยะเฉลิมฉลอง หรือระยะทำใจ มีความเป็นชิ้นๆ อยู่เยอะหน่อย
ส่วนการทำงานอย่างช่องทีวี ช่องออนไลน์ หรือ ค่ายเพลง ก็เป็นคล้ายๆ กับการวิ่งมาราธอน ที่อาจถูกกคาดหวังตลอดเวลา แถมตัวงานต้องมีต่อเนื่อง มีอยู่เรื่อยๆ เพราะมันมีสารพัดสิ่งมาสลับสับเปลี่ยนให้คนสนใจทุกวัน ตลอดเวลา
ซึ่งพี่อาจจะโชคดีตรงที่พอทำใจได้และพอคุ้นชินในเรื่องความคาดหวัง หรือเวลาที่เกิดอะไรไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ กันขึ้นมาบ้างน่ะ อาจเพราะเราไม่ได้ทำงานกันแค่วันนี้พรุ่งนี้น่ะ เรายังต้องวิ่งมาราธอน ต้องทำกันไปเรื่อยๆ นั่นแหละ เร่งบ้าง ผ่อนบ้าง พักบ้าง ค่อยๆ ไปบ้าง มันยังต้องทำงาน เครียดก็พัก ไปหาขนมกิน หาอะไรเล่นแล้วก็ต้องกลับมาทำงาน