เมื่อสังคมบิดเบี้ยวรุนแรง เราจึงกลายร่างเป็นหนามที่ทิ่มแทงกันเอง
ผู้ชมชาวไทยอาจคุ้นชินกับวลี ‘ค่ายหนังอารมณ์ดีจีดีเอช’ แต่จะเป็นอย่างไร หากจีดีเอชตั้งใจปลุกปั้นภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่อาจไม่ ‘อารมณ์ดี’ เหมือนดั่งภาพจำที่ผ่านมา…
วิมานหนาม หรือ The Paradise of Thorns คือภาพยนตร์เรื่องที่ว่านั้น ผลงานการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของ บอส—นฤเบศ กูโน จาก Project S the Series ตอน SIDE BY SIDE พี่น้องลูกขนไก่ และ แปลรักฉันด้วยใจเธอ บอกเล่าเรื่องราวของ ทองคำ (เจฟ—วรกมล ซาเตอร์) กับ เสก (พงศกร เมตตาริกานนท์) คู่รัก LGBTQ+ ที่ช่วยกันทำสวนทุเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เสก ‘ลงแรง’ หว่านไถ หวังให้พืชผลงอกงาม ขณะที่ทองคำ ‘ลงทุน’ นำเงินเก็บทั้งหมดมาปลดจำนองที่ดินสวนทุเรียน ใช้โฉนดเป็นดั่งทะเบียนสมรสในวันที่กฎหมายยังไม่รองรับความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ แต่แล้วเสกกลับประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต สิทธิ์ในสวนทุเรียนและบ้านจึงตกเป็นของ แสง (สีดา พัวพิมล) แม่ของเสกผู้มี โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่เก็บมาเลี้ยงคอยดูแล การเชือดเฉือนแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งบ้านและโฉนดที่ดินจึงอุบัติขึ้น
ทองคำใช้เงินเก็บทั้งหมดที่มีและช่วงเวลากว่า 5 ปีในการประคบประหงมสวนทุเรียนที่เขากับแฟนรัก ส่วนผู้เป็นแม่ก็ให้ชีวิต พร้อมเลี้ยงดูปูเสื่อลูกมากว่า 3 ทศวรรษ ขณะที่ลูกสาวเก็บมาเลี้ยงผู้ไม่ได้จดทะเบียนบุตรบุญธรรมก็ตรากตรำดูแลแม่เลี้ยงผู้เป็นอัมพาตครึ่งล่างมานับ 10 ปี ทั้ง 3 จึงเชื่อมั่นว่าตนเองมีความชอบธรรมมากพอที่จะถือครองสวนทุเรียนและบ้าน ทว่าเงื่อนไขทางกฎหมายและค่านิยมอาจไม่เอื้อให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริงได้
โดยผิวเผินอาจรู้สึกว่า เรื่องราวในวิมานหนามก็ไม่ต่างอะไรกับละครแนวแย่งชิงมรดกซึ่งถูกทำออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่แทบไม่เหลือแง่มุมให้บอกเล่า ทว่าเมื่อดูจนจบจะพบว่า ภาพยนตร์ได้หยิบยื่นแง่มุมร่วมสมัยแก่ผู้ชมได้อย่างน่าสนใจและมีชั้นเชิง ไม่มากก็น้อย มันทำให้ตั้งคำถามถึงความบิดเบี้ยวของกฎหมายและค่านิยมในสังคมที่เราอยู่ สังคมที่อาจเปลี่ยนผิวหนังของคนธรรมดาให้กลายเป็นหนามทิ่มแทงคนอื่นเพื่อความอยู่รอดโดยที่เราเองไม่ทันรู้ตัว…
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของวิมานหนาม*
วิมานหนามเปิดเรื่องด้วยความงดงามของสวนทุเรียนที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคู่รัก LGBTQ+ อย่างทองคำกับเสก สถานที่ซึ่งใช้ชื่อ ‘แม่ฮ่องสอนหมอนทองคำเสก’ คือหลักฐานแสดงการมีอยู่ทางความรู้สึกของคนสองคน ซึ่งความเขียวขจี เสียงลม และร่มไม้ที่ถูกถ่ายทอดโดยผู้กำกับภาพอย่าง ตั้ง—ตะวันวาด วนวิทย์ ก็ให้ความรู้สึกราวกับเป็นสรวงสวรรค์บนผืนดิน ซึ่งก็คงต้องชื่นชมไปยังทีมจัดหาสถานที่ถ่ายทำด้วย
อย่างไรก็ดี สรวงสวรรค์แห่งนี้หาได้มีความจีรัง เมื่อเสกประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ และต้องอาศัยการเซ็นอนุญาตจากญาติเพื่อเข้ารับการผ่าตัด ทองคำแต่งงานกับเสกแล้วก็จริง ทว่าในทางกฎหมาย พวกเขาก็เป็นได้เพียงเพื่อนสนิทผู้ไม่มีสิทธิจดทะเบียนสมรสหรือเซ็นยอมรับการรักษา หน้าที่นั้นถูกสงวนไว้ให้กับแม่ของเสกอย่างแสง ที่อยู่ห่างจากโรงพยาบาลไปไกลกว่า 3 ชั่วโมง
นี่คือฉากเปิดเรื่องที่สะท้อนความอยุติธรรมของกฎหมาย ฉายภาพปัญหาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องประสบ พวกเขาที่ไม่สามารถเซ็นยอมรับการรักษาให้กับบุคคลอันเป็นที่รักได้ ทองคำพยายามขอร้องแพทย์ทุกวิถีทาง ทว่าไม่อาจเปลี่ยนผลลัพธ์ เขายกทุกหลักฐานความรักถึงขั้นที่ผู้ชมน่าจะตกใจในการกระทำของตัวละคร เราคงบอกได้ยากว่า เงื่อนไขทางการรักษานั้นผิดหรือถูกอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ข้อจำกัดนี้บีบให้หนึ่งชีวิตไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที
อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามในฉากเปิดเรื่อง คือ ระบบสาธารณูปโภค เส้นทางระหว่างบ้านแม่แสงถึงโรงพยาบาลเต็มไปด้วยดินโคลน ไม่ใช่ถนนคอนกรีตยางมะตอย ชนชั้นฐานะก็เรื่องหนึ่ง แต่ภาพยนตร์ชี้ว่า สิ่งที่คนในหลายท้องที่ยังเข้าไม่ถึงคือความเจริญ ไม่ต้องเรียกร้องไกลถึงระบบขนส่งสาธารณะ เพราะลำพังเพียงถนนที่เอื้อให้คนไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา บางคนก็ยังหาไม่พบ
ไม่ทันถึงครึ่งเรื่อง การปะทะกันของตัวละครในวิมานหนามก็ปรากฏให้เห็น ซึ่งหนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นแยกซีนกว่าใครเพื่อนคงหนีไม่พ้นแม่แสง เธอถ่ายทอดภาพของแม่ที่ทำงานหนักจนพิการครึ่งล่าง ไม่เคยสัมผัสความสุขกายสบายใจในชีวิตออกมาได้ชนิดที่ผู้ชมไม่อาจละสายตา ดูน่าค้นหา บางครั้งก็ใจดี บางทีก็โหดร้าย เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อที่เราพบเห็นได้ในโลกความจริง
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากตัวละครนี้คือแนวความเชื่อของคนรุ่นก่อน หลายความเชื่อที่ฝังลึกยิ่งกว่ารากของต้นทุเรียน ทั้งบั่นทอน ทั้งกัดกินสถาบันครอบครัวไทยมาหลายยุคหลายสมัย หนึ่งในคำพูดที่หลายคนเห็นด้วย ขณะที่หลายคนเบะปาก ไม่อยากยอมรับ คือ
“ลูกคือสมบัติของแม่ ของของลูกก็คือของของแม่”
ประโยคนี้อาจเป็นจริงสำหรับใครบางคน แต่เราต้องไม่ลืมว่าผู้เป็นลูกไม่ได้เลือกเกิด และถ้าเลือกได้ เขาก็คงไม่อยากเกิดมาพร้อมการแปะป้ายแสดงความเป็นเจ้าของชีวิตโดยบุพการี ทุกคนต่างต้องการมีอิสระในชีวิตทั้งสิ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ความเชื่อที่ว่าลูกคือสมบัติของพ่อแม่ยังนำไปสู่แนวคิดอีกหลายประการ ทั้งค่านิยมความกตัญญู ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งไม่อาจแน่ใจว่า ค่านิยมนี้แข็งแกร่งเข้มข้นเพราะความรักความห่วงใยของสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นเพราะรัฐใช้มันเป็นข้ออ้างในการถ่วงเวลาระบบรัฐสวัสดิการ ทำนองว่า ‘ถ้ามีรัฐสวัสดิการ ลูกอาจจะไม่กลับมาเลี้ยงดูพ่อแม่’ หรือไม่แน่อาจจะเป็นทางกลับกัน นั่นคือ ที่ลูกยังถูกมองเป็นข้าวของของบุพาการี เป็นเพราะประเทศของเราไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีพอ พ่อแม่หวังพึ่งใครไม่ได้นอกจากลูกในไส้ของตัวเอง
นอกจากนี้ แม่แสงยังแสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องของเวรกรรม ภพชาติ การบวชทดแทนคุณ และอคติต่อเพศสภาพตามคำพูดทำนองว่า เพราะเสกมาอยู่กินกับทองคำ กรรมจึงตามสนอง ต้องชดใช้ด้วยชีวิต และทั้งหมดนี้จะไม่ผิดเลยหากทองคำเกิดมาเป็น ‘ผู้หญิง’
ความหลากหลายทางเพศไม่เพียงยึดโยงกับตัวบทกฎหมาย ทว่ามันยังผูกติดอยู่กับค่านิยม ความเชื่อ และหลักธรรมคำสอนทางศาสนา ทั้งหมดถูกหลอมรวม ผสมปนเปไปมา และหลายครั้งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ
อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสงสารไม่แพ้ใครคือโหม๋ เธอคือเด็กสาวที่แม่แสงเก็บมาเลี้ยง เป็นดั่งน้องสาวต่างสายเลือดของเสก เธอไม่มีทรัพย์สินใดๆ ติดตัว ทำงานหนักเพื่อประทังชีวิต ทั้งยังต้องดูแลแม่บุญธรรมโดยไร้ซึ่งเอกสารยืนยันการเป็นลูก
“ตั้งแต่เกิดมา ฉันยังไม่เคยเห็นใครน่าสงสารเท่าฉันเลย”
คือประโยคที่เธอใช้ตัดพ้อโชคชะตาอันน่าเศร้า แม้เธอจะไม่มีส่วนในการรดน้ำพรวนดินสวนทุเรียน แต่เธอก็ทุ่มแรงกายและเวลากว่าค่อนชีวิตให้กับแม่ของเสกโดยแทบไม่ได้รับสิ่งใดกลับคืน เพราะฉะนั้น เธอจึงเป็นหนึ่งตัวละครที่น่าเห็นใจ เธอมีเหตุผลและแรงจูงใจในการครอบครองที่ดินไม่น้อยไปกว่าทองคำ และคงไม่อาจปฏิเสธว่า เธอเองก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งในประเทศที่สวัสดิการผู้สูงอายุไร้ประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้ลูกอย่างน้อยหนึ่งคนต้องดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ที่ชราภาพ จนไม่อาจเลือกประกอบอาชีพอย่างที่ใจปรารถนาได้แท้จริง
ถึงตรงนี้ หากมองไปยังเนื้อหาของวิมานหนามดีๆ เราอาจพบว่า มันกำลังบอกเล่าเรื่องราวของ 2 คนจนตรอก (ทองคำกับโหม๋) ที่พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ที่ไม่มีอยู่จริง หนังจงใจฉายภาพความเชื่อมั่นและเคารพในกฎหมายของตัวละคร บอกให้คนดูรู้ว่า ถ้าคนกลุ่มนี้ต้องการความยุติธรรม พวกเขาจะหันหน้ามองหากฎหมาย และเมื่อเชื่อไปแล้วว่ากฎหมายคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาก็ยินดีแหกกติกาทุกข้อ ยอมทำผิดกฎทุกกระทง เพื่อให้ได้ความศักดิ์สิทธิ์นั้นมาเป็นของตน เกิดเป็นเกมฆ่ากันให้ตายของคนชายขอบ โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเชื่ออาจไม่ใช่ความยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น หรือพูดง่ายๆ คือ หากกฎหมายอนุญาตให้ทองคำเซ็นยินยอมการรักษาให้เสกได้ เรื่องราวทั้งหมดอาจไม่เลยเถิด การแก่งแย่งอาจไม่เกิดขึ้น และสวนทุเรียนคงไม่ต้องเปื้อนเลือด มิหนำซ้ำ การช่วยเหลือแบ่งปันอาจงอกงามตามพืชผลในสวน เพราะโดยเนื้อแท้ของทั้งทองคำและโหม๋ล้วนแล้วแต่มีความห่วงใยให้เพื่อนมนุษย์ มีความดีซุกซ่อนอยู่ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง หากแต่ความไม่เท่าเทียมบีบให้พวกเขาสร้างหนามมาทิ่งแทงกันเอง…
หากเปรียบตัวละครเป็นดังผลทุเรียน แท้จริงแล้วทุกตัวก็เป็นทุเรียนเนื้อดีที่จำต้องสร้างหนามแหลมเพื่อเป็นเกราะกำบัง แต่หากปรับเปลี่ยนตัวละครในเรื่องให้เป็นผู้มีอันจะกิน อาศัยในคฤหาสน์หรูแทนที่จะอยู่ในสวนทุเรียน เป็นชนชั้นนำแทนที่จะเป็นคนชายขอบ ไม่แน่ว่าบางที พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องยอมจำนนต่อกฎหมาย หรืออาจถึงขั้นสร้างความยุติธรรมให้กับตัวเองได้เพียงดีดนิ้ว
เจฟ ผู้รับบทที่แสนท้าทายอย่างทองคำ เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ 20 ยังจอย เอาไว้ว่า “ก่อนเล่นวิมานหนาม เราเข้าใจเรื่องความไม่เท่าเทียมแบบผิวเผิน ไม่ได้ลงลึกในเรื่องความรู้สึกและประสบการณ์จริง แต่พอได้เล่นเรื่องนี้ เราเข้าใจแบบถึงแก่น ได้รู้ว่าความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมเป็นยังไง ทั้งความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศ เรื่องฐานะ การปฏิบัติที่คนอื่นมีต่อเรา และการปฏิบัติของเราที่มีต่อคนอื่น…
“เราอยากพูดสิ่งนี้ให้คนได้ยินมากขึ้น มันมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นตรงนี้จริง ๆ อยากให้ทุกคนได้เห็น และตระหนักถึงมัน”
ประเด็นสุดท้ายที่อยากกล่าวถึง ไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจของผู้สร้างหรือไม่ แต่ในภาพยนตร์แทบไม่มีการเล่าถึงตัวละครเพศชาย (สเตรท) เลย มีเพียงหนึ่งตัวละครที่อาจมีบทไม่มาก ทว่าส่งผลโดยตรงต่อเนื้อเรื่องคือตัวละครปลัด
ปลัดเข้าหาโหม๋โดยมีเป้าประสงค์ค่อนข้างชัดเจน ท้ายที่สุดทั้งคู่ได้เข้าพิธีวิวาห์ ซึ่งเมื่อเป็นพิธีของชายกับหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายชายรับราชการ งานแต่งย่อมใหญ่โตโอ่อ่า เอิกเกริก ปรากฎฉากที่สะท้อนความเชื่อเก่าก่อนซึ่งอ้างถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของอาชีพข้าราชการ มีการยกยอว่าสูงส่งกว่าอาชีพอื่น และยิ่งงานแต่งของโหม๋และปลัดหรูหรามากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งหดหู่ใจมากเท่านั้นเมื่อต้องเห็นว่า พิธีสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศมีเพียงความเงียบสงัด ปราศจากการยอมรับและคำยินดี
สักขีพยานในงานแต่งของหนุ่มสาวคือผู้คนคับคั่ง ขณะที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเห็นแค่เพียงลำต้นและผลทุเรียน ทะเบียนสมรสแห่งการเกี่ยวดองหนีไม่พ้นเมล็ดทุเรียนในสวน น้ำสังข์อันศักดิ์สิทธิ์ไม่ต้องคิดฝัน แค่ได้น้ำรดต้นไม้มารดมือทั้ง 2 คู่ก็สวยหรูมากแล้ว
อาจเป็นการเทียบเคียงที่ตื้นเขินไปสักนิด แต่กระนั้นก็นับเป็นฉากที่สะท้อนความเจ็บปวดของคู่รัก LGBTQ+ ที่สำคัญในโลกภาพยนตร์
จนแล้วจนรอด วิมานหนามไม่ได้ฉายภาพบทสรุปของตัวละครปลัด ไม่อาจแน่ใจได้ว่า เขาได้รับโทษอย่างที่สมควรได้รับหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ผู้ชมรู้ว่าเขาจากไปพร้อมเงินสินสอดทั้งหมด และดีไม่ดี เสื้อข้าราชการสีกากีอาจเป็นเกาะป้องกันที่ช่วยให้ตัวละครชายเพียงหนึ่งเดียวในเรื่องพ้นผิดในที่สุด
ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน แม้จะต้องรออีก 120 วันเพื่อการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ
สิทธิที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างตัวละครทองคำกับเสกจะได้จากร่างกฎหมายนี้คือ
1) การแต่งงานจดทะเบียนเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย-การหย่า
2) การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน
3) สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส
4) การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล
การมาถึงของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ถึงอย่างนั้น ประเทศนี้ก็ยังมีปัญหาอีกมากมายซุกซ่อนอยู่ใต้พรม
เพราะประเทศไทยอาจไม่ใช่สยามเมืองยิ้มอย่างที่เราถูกบังคับให้เข้าใจ แท้จริงแล้ว ดินแดนแห่งนี้อาจไม่ต่างอะไรกับวิมานแห่งเขี้ยวหนามที่ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมบีบให้เราต้องทิ่มแทงแก่งแย่งช่วงชิงเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ
ในมุมหนึ่ง วิมานหนามคงถือเป็นก้าวย่างสำคัญของจีดีเอช ค่ายหนังที่ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยพล็อตเรื่องอารมณ์ดี แต่วันนี้พร้อมเดินหน้าสู่พรมแดนที่หลากหลาย ขณะที่ในอีกมุม ภาพยนตร์ก็ตอกย้ำว่า ประเทศนี้หาได้มีเพียงรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพราะอคติทางเพศสภาพ ความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย และความเลวร้ายของสังคมยังคงปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่เรามองเห็นมันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
อ้างอิงจาก
facebook.com
bbc.com
youtube.com