“ขอบคุณมากๆ ถ้าไม่เจอกันเรื่องดีๆ แบบนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น” – รักแห่งสยาม
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา The Momentum และ SF Cinema จัดกิจกรรมชมภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ หนังไทยซึ่งเป็นประตูบานสำคัญ ที่หยิบยกเรื่องราวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาไว้บนจอใหญ่ มีทั้งเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ การยอมรับในอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับจัดเสวนาหัวข้อ ‘Empower Your Pride’ โดยมี มะเดี่ยว—ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์รักแห่งสยาม จีน—ธัญวรัตน์ สมบัติวัฒนา ตัวแทนสหภาพแรงงานสื่อสร้างสรรค์ และ ธัญ—ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ว่าที่สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล มาร่วมกันถกประเด็นความหลากหลายทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
‘รักแห่งสยาม’ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2550 เป็นยุคสมัยที่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้างเรื่องเพศมากเท่าปัจจุบัน การตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อให้บุคคลทั่วไปสนใจและมาดูหนังเรื่องนี้ จึงถูกโปรโมตไปด้วยเรื่องราวความรักของวัยรุ่นหนุ่มสาวธรรมดา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ที่มีทั้งชอบและไม่ชอบ แต่หากตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือซีรีส์ ก็ล้วนนำเสนอเรื่องราวของ LGBTQ+ อย่างเปิดเผย ผ่านการสร้างกระแส ‘คู่วาย’ ที่มีต้นกำเนิดมาจาก ‘การจิ้น’ และด้วยแรงซัปพอร์ตของแฟนคลับนี้เอง ที่ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย มีรายได้และเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในวงการนี้อย่างมหาศาล
หากย้อนดูจำนวนซีรีส์วายที่ฉายช่วงปี 2565 จะพบว่ามีจำนวนมากกว่า 50 เรื่อง แสดงให้เห็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดจากปี 2550 ที่รักแห่งสยามเข้าฉาย แต่ในขณะเดียวกัน ที่วงการซีรีส์วายกำลังเติบโต ก็ยังคงมีประเด็นเรื่องความไม่หลากหลายของพล็อต และการสร้างภาพจำถึง LGBTQ+ ที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงผ่านตัวละครต่างๆ อยู่เช่นกัน และบางครั้งการตั้งคำถามของผู้คนในสังคมที่ว่า “โลกนี้มันดำเนินไปถึงไหนแล้ว แต่ทำไมพล็อตซีรีส์วายหลายๆ เรื่องถึงยังเป็นแบบนี้?” ก็อาจสะท้อนให้เห็นภาพของคำว่าอุตสาหกรรมได้ในแง่หนึ่ง
การสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์สักเรื่องหนึ่ง ย่อมต้องยึดโยงกับทุนและมูลค่าการตลาด ฉะนั้นเนื้อเรื่องแบบไหนที่ขายได้ เราก็ยังจะเห็นมันวนเวียนอยู่ในหน้าจอเรื่อยๆ เพราะหนังที่ถูกผลิตออกมาก็เพื่อต้องตอบสนองผู้บริโภค และแหล่งทุนไปพร้อมกัน
แม้ความหลากหลายทางเพศกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จะยังประสบกับปัญหาในแง่ของเนื้อหาที่ไม่หลากหลาย การนำเสนอ LGBTQ+ ไม่รอบด้าน หรือแม้กระทั่งเงินทุนสำหรับผู้ผลิตที่มีอิทธิพลต่อการทำหนัง แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ทีมงานเบื้องหลัง’ ที่เราควรจะให้พื้นที่แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แสดงศักยภาพทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากขึ้น พร้อมทั้งรับฟังเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ จวบจนสร้างสรรค์และผลิตผลงานออกมาให้สังคมได้เข้าใจ ดังนั้น การมีสวัสดิการดีๆ หรือมีนโยบายที่พร้อมจะพัฒนาสวัสดิภาพชีวิตของคนทำงานเบื้องหลัง จึงควรเป็นทางออกที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยสร้างคุณภาพให้แก่คนทำงานได้
จากอดีตที่สังคมยังไม่เปิดรับเรื่องเพศ สู่ปัจจุบันที่สื่อสามารถนำเสนอเรื่องราว LGBTQ+ ได้อย่างเปิดเผยแล้ว แน่นอนว่าในอนาคตความหลากหลายทางเพศจะยังคงถูกนำเสนออยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่จะถูกนำเสนอมากขึ้นในแง่ของการสร้างบรรทัดฐานใหม่ และขจัดค่าความคิดชายเป็นใหญ่ที่กดทับอยู่ รวมไปถึงนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย รอบด้าน และให้คุณค่าแก่คนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป