ถ้าพูดถึงพิพิธภัณฑ์ คุณจะเห็นภาพแบบไหน? บางคนอาจนึกภาพสถานที่ซึ่งมีบรรยากาศเคร่งขรึม เป็นเหมือนพื้นที่ของผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยประวัติศาสตร์และความเป็นมายาวนาน หรือความใหญ่โตของพิพิธภัณฑ์ หลายครั้งที่เราก้าวเท้าเข้าไปสำรวจด้วยความไม่กล้า หรือกระทั่งคิดอยู่นานที่จะส่งเสียงเล็ดลอดให้ใครได้ยิน
หลายปีมานี้ พิพิธภัณฑ์จำนวนไม่น้อยกำลังปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเหตุผลที่ต้องปรับเพื่อ ‘อยู่รอด’ ด้วยการดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ ให้กล้าเข้ามาชมงาน หรือด้วยเหตุผลที่ฐานคิดบางอย่าง ตลอดจนวิธีนิยามสิ่งที่เรียกว่าศิลปะเปลี่ยนไปจากเดิม
พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเริ่มหันมาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ระหว่างผู้เข้าชมงานและชิ้นงานศิลปะต่างๆ กันมากขึ้น ‘Mori Building Digital Art Museum: teamLab Borderless’ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือหนึ่งในนั้น
The MATTER ได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ดิจิทัลล้วนๆ แห่งแรกของโลกโดยมี คุโด้ ทาคาชิ Communication Director แห่ง teamLAB เป็นผู้นำทางให้เราเข้าไปหลงทางในพื้นที่อันไร้ขอบเขตนี้ด้วยกัน
หลงทางในป่าแห่งแสงไฟ
“เราอยากให้ผู้เข้าชมหลงทาง บางทีเขาอาจจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ กลับออกไปก็ได้” คุโด้ เล่าให้เราฟังถึงเป้าหมายสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
จึงไม่แปลกที่พิพิธภัณฑ์จะไม่มีแผนที่แจกผู้เข้าชม ไม่มีการจัดลำดับการเดินตามห้องต่างๆ ว่าต้องเริ่มต้นจากจุดใดแล้วไปจบที่จุดใด ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราได้สัมผัสประสบการณ์แบบใหม่ๆ
“ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีพรมแดนกั้นระหว่างชิ้นงานศิลปะชิ้นหนึ่งกับชิ้นอื่นๆ พวกมันสามารถเคลื่อนไหวได้อยู่ตลอดเวลา ในบางครั้ง ผู้เข้าชมอาจกลับมาที่ห้องเดิม แต่ชิ้นงานที่เขาเคยเห็นมันอาจไม่อยู่ตรงนั้นอีกต่อไปแล้ว” ระหว่างที่เขากำลังเล่า เราก็เหลือบมองไปเห็นภาพฝูงผีเสื้อที่กำลังบินผ่านผนังดิจิทัล จากสุดขอบห้องหนึ่งไปสู่อีกห้องหนึ่งอย่างอิสระ
ไอเดียที่คุโด้ว่านี้ สะท้อนออกมาในห้อง ‘Flower Forest’ ที่มีลักษณะคล้ายกับเขาวงกตดิจิทัล เพดาน พื้น ผนัง แทบทุกพื้นที่ในห้องถูกตกแต่งด้วยศิลปะจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นป่าขนาดย่อมๆ มีดอกไม้นานาชนิดๆ เคลื่อนไหวไปมา คอนเซ็ปต์สำคัญคือให้เราสัมผัสถึงโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในทุกวินาที พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงไม่หยุดนิ่ง หากแต่มีสิ่งใหม่ๆ ให้ได้ค้นพบตลอดเวลา
“ถ้าพวกเขารู้สึกกับงานศิลปะได้ การที่ชิ้นงานจะมีตัวตนให้เราได้จับต้องหรือไม่นั้นก็ไม่สำคัญแล้ว จริงอยู่ที่ศิลปะแบบดิจิทัลมันไม่ได้ดำรงอยู่ในเชิงกายภาพ แต่มันสร้างประสบการณ์ความรู้สึกให้กับเราได้ แม้ว่าผู้เข้าชมงานจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม แต่มันจะติดตรึงอยู่ในใจของพวกเขาแทน” เราฟังแล้วได้แต่เลิกคิ้วสงสัยกับคำอธิบายของคุโด้ จนกระทั่งเขาพาเราเข้าสู่โซนต่อไปของพิพิธภัณฑ์
สถาปัตยกรรมแห่งแสง
“นี่คือห้องโปรดของผมเลยนะ” คุโด้ พูดขึ้นก่อนที่จะเปิดม่านพาเราเข้าไปในห้องขนาดสี่เหลี่ยมหน้าตาแปลกๆ ทุกมุมของห้องถูกติดตั้งอุปกรณ์ยิงแสงไฟจากมุมหนึ่งถึงอีกมุมหนึ่ง
ทีมงานสั่งการผ่านคอมพิวเตอร์ แสงไฟเหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนรูปร่าง จากเส้นตรงที่แข็งทื่อ กลายเป็นรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนและสวยงาม หากแต่โมเมนต์ต่อมา แสงเหล่านั้นย่นย่อรูปร่างสร้างการเคลื่อนไหวคล้ายกับนกที่บินอยู่ในห้องพร้อมกับเสียงดนตรี นี่คือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น
แม้เราไม่สามารถบรรยายความรู้สึกเป็นคำพูดออกมาให้ชัดเจนได้ แต่นี่ก็คือประสบการณ์แบบใหม่ ที่เราไม่เคยสัมผัสในพิพิธภัณฑ์แห่งไหนมาก่อน
อีกหนึ่งความสนุกคือ เรายังสามารถนำพาร่างกายเข้าไปมีส่วนร่วมกับแสงไฟเหล่านั้นได้ เช่น ถ้ามือเข้าไปใกล้กับแสงตามจุดที่เคลื่อนไหวอยู่ มันก็จะเคลื่อนที่หนีห่างเราออกไป ราวกับผีเสื้อที่รู้ตัวว่ากำลังจะถูกจับ นี่ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ teamLAB พยายามชวนให้งานศิลปะกับร่างกายผู้เข้าร่วมได้มีความสัมพันธ์กันจริงๆ จนเราเชื่อแล้วว่าทำไมคุโด้ถึงหลงรักในห้องแห่งนี้อย่างที่เขาพูดเอาไว้
“ชิ้นงานของเรามันไม่มีอยู่จริง ในแง่ที่มันถูกออกแบบมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เราสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้คน และทำให้พวกเขามีประสบการณ์ที่แปลกใหม่ออกไป นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” คุโด้ย้ำอีกครั้ง
“สิ่งที่พวกเราทำไม่ใช่งานแบบ 2 มิติ แต่เราอยากทำให้มันเป็นโลกแบบ 3 มิติ เราพยายามชักชวนผู้คนเข้ามาในโลกแห่งนี้ โลกที่พวกเขาจะได้ค้นพบอะไรบางอย่างผ่านประสบการณ์ที่แปลกใหม่”
ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีอีกหลายห้องที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ‘Universe of Water Particle’ เป็นน้ำตกที่ถูกจำลองขึ้นมากลางห้อง สายตาไหลจากด้านบนลงมาสู่พื้นในแบบดิจิทัล เราสามารถลองขึ้นไปอยู่บนเนินที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับธรรมชาติจริงๆ
Forest of Lamps ห้องแห่งโคมไฟ ที่แสงเปลี่ยนไปตามจังหวะการก้าวเดินของผู้เข้าชม
EN TEA House ห้องน้ำชา ที่ลวดลายดิจิทัลเกิดขึ้นบนชาญี่ปุ่น
the Nest ให้ความรู้สึกเหมือนได้นอนบนรังของนก แถมยังได้ชมงานเคลื่อนไหวอันน่าตื่นตาบนเพดาน
พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล กับ อนาคตของเมืองยุคใหม่
หลังจากการทัวร์พิพิธภัณฑ์จบลง คุโด้เล่าถึงมุมมองของเขาต่อการมีพิพิธภัณฑ์ดิจิทัล ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งการศึกษาของคนรุ่นใหม่ และทิศทางต่อไปของเมืองในอนาคต
“ในระบบการศึกษาวันนี้ เราไม่ได้สอนให้เด็กนักเรียนคิดแบบ 3 มิติ แต่คิดกันเป็น 2 มิติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ยากมากเหมือนกันนะที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา พวกเราเลยคิดว่า ถ้าเป็นแบบนั้น พวกเรามาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกำลังตัวเอง ผ่านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันดีกว่า” คุโด้ อธิบาย
“เราอยากสร้างเมืองด้วยศิลปะดิจิทัล ในเมืองแบบที่ว่านี้ ผู้คนจะเป็นมิตรต่อกันและกัน อย่างที่คุณเห็นว่า ในโลกเล็กๆ กว่า 10,000 ตารางเมตรภายในพิพิธภัณฑ์ ทุกคนดูเหมือนจะได้ยิ้มและมีความสุขกับสิ่งต่างๆ รอบข้าง เพราะได้พวกเขาได้มีโอกาสสร้างดอกไม้และความสวยงามขึ้นมา โดยแต่ละคนก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสวยงามพร้อมกับคนอื่นๆ
“ผมอยากอยู่ในเมืองแบบที่ว่านี้ เป็นเมืองที่ผมอยากเลี้ยงดูลูกชายวัย 4 ขวบของผม ให้เติบโตขึ้นมาในโลกที่ไร้พรมแดน”