Notting Hill, Bridget Jones’s Diary, Love Actually… ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีหนังแนวนี้ให้ดูเลยนะ
ท่ามกลางโลกภาพยนตร์สารพัดประเภท คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนไม่น้อยที่เกิดและโตมากับหนังโรแมนติกคอเมดี้ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า ‘หนังรอมคอม’
เราเคยร้องไห้โฮตอนที่นางเอกคนดังเดินเข้ามาในร้านหนังสือย่านน็อตติงฮิลล์ เพื่อสารภาพรัก เราเคยรู้สึกอกหักไม่ต่างจากตัวละครทอมในหนัง (500) Days of Summer และเราอาจได้เจอกับรักแรก โดยมีเพลง Can’t Take My Eyes Off You จาก 10 Things I Hate About You เปิดคลอ
เราเรียนรู้ความสัมพันธ์ หลีกหนีจากโลกความจริง และมีรอยยิ้มส่งตรงจากหัวใจทุกครั้งที่ได้ดูหนังโรแมนติกคอเมดี้ แนวหนังที่ผู้ชมสามารถหัวเราะและร้องไห้ไปพร้อมๆ กันได้ โดยไม่รู้สึกอายคนข้างๆ แนวหนังที่เราแอบวาดฝันให้เกิดขึ้นจริงกับตัวเองสักครั้งในชีวิต แนวหนังที่เราไม่คาดคิดว่าจะกลายเป็นของหายากหลังจากปี 2010
ครั้งหนึ่ง หนังรอมคอมพาผู้ชมไปรู้จักนักแสดงมากความสามารถอย่าง ทอม แฮงก์ (Tom Hank) กับเมก ไรอัน (Meg Ryan) ก่อนจะรับไม้ต่อโดยฮิวจ์ แกรนต์ (Hugh Grant) จูเลีย โรเบิร์ตส (Julia Roberts) คอลิน เฟิร์ต (Colin Firth) เรเน่ เซลวีเกอร์ (Renée Zellweger) ฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger) อดัม แซนด์เลอร์ (Adam Sandler) รีซ วิทเทอร์สพูน (Reese Witherspoon) ฯลฯ และในช่วงท้ายยุคทองของหนังรอมคอม เราก็ยังได้เชยชมผลงานการแสดงของไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) เอ็มมา สโตน (Emma Stone) เคียรา ไนต์ลีย์ (Keira Knightley) และเรเชล แม็คอดัมส์ (Rachel McAdams)
นักแสดงเหล่านี้ คือมรดกตกทอดที่หนังโรแมนติกคอเมดี้มอบไว้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งถ้าจะให้ไล่เรียงกันจริงๆ พิมพ์ทั้งวันก็คงไม่หมด อย่างไรก็ดีในช่วง 10 ปีหลังนี้ กลับมีดาราแจ้งเกิดจากหนังรอมคอมแบบนับคนได้ ราวกับว่าแนวหนังที่ช่วยให้เราเติบโตมากำลังจะตายไปจากโรงภาพยนตร์
เกิดอะไรขึ้นกับฮอลลีวูดกันแน่ หรือจริงๆ เราแค่คิดมากไปเอง….
จากผู้เล่นหลักสู่ส่วนเกิน?
จากวันชื่นคืนสุขในอดีต นับตั้งแต่ The Philadelphia Story ในปี 1940 และ Roman Holiday ในปี 1953 หนังโรแมนติกคอเมดี้ก็ค่อยๆ เติบโต และก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนังกระแสหลัก ซึ่งถูกใจทั้งนักวิจารณ์และคนดู ค่ายหนังเองก็เดินหน้าเต็มกำลังเข็นเส้นเรื่องรักปนฮาขึ้นจอ จนถึงยุคที่ตลาดหนังรอมคอมสุกงอมเต็มที่ ณ ช่วงเวลาไม่นานก่อนปฏิทินย่างเข้าสู่ปี 2000
ถึงตลาดภาพยนตร์จะถูกครอบครองโดยหนังแอ็กชั่น ไซ-ไฟ แถมยังเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่หนังอนิเมชั่นเข้ามาขอส่วนแบ่ง แต่ทั้งปี 1998-1999 กลับมีหนังโรแมนติกคอเมดี้ถึงปีละ 3 เรื่อง ติดอันดับ 20 หนังทำเงินแห่งปีได้สำเร็จ ซึ่งสะท้อนอย่างเด่นชัดว่า ต่อให้ใครจะมองว่าหนังแนวนี้เป็นเพียงนิยายน้ำเน่า ไร้แก่นสาร แต่เรื่องราวความรักทั้งหลายก็ทำงานกับคนดูจริงๆ จนเกิดเป็นภาพจำว่า ปลายยุค 90 คือยุคทองของหนังรอมคอม พร้อมส่งนักแสดงนำไปเฉิดฉายในหนังฟอร์มยักษ์แนวอื่นๆ
จากการเก็บสถิติจำนวนหนังแบบจำแนกตามประเภทของเว็บไซต์ the-numbers.com พบว่าในปี 1995 ที่เริ่มเก็บข้อมูล มีปริมาณหนังโรแมนติกคอเมดี้ 7.1% ของปริมาณหนังทั้งหมดที่เข้าฉายในปีนั้น ก่อนจะไต่อันดับจนพีกสุดในปี 1999 ที่มีหนังรอมคอมมากถึง 11.4% แล้วค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ จนกระทั่งในปี 2023 จำนวนหนังรอมคอมลดเหลือเพียง 0.8% ของหนังทั้งหมด
เพราะฉะนั้นจากคำถามข้างต้นที่ว่า “หรือจริงๆ เราแค่คิดมากไปเองว่าหนังรอมคอมลดลง” คำตอบที่แม้จะไม่น่าอภิรมย์นัก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันลดลงจริงๆ แถมยังลดลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะถูกแปลงสภาพจากผู้เล่นหลัก ไปสู่ส่วนเกินของฮอลลีวูด
แฟรนไชส์ครองโลก
ภูมิทัศน์ภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไปหลังการเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ มีส่วนอย่างมากต่อการล้มหายตายจากของหนังรอมคอม หนังแฟรนไชส์ อาทิ The Lord of the Rings, Harry Potter หรือหนังตระกูล Fast ค่อยๆ ได้รับความนิยม ประกอบกับคุณภาพที่สูงขึ้นของเทคนิคซีจีไอ (Computer-Generated Imagery – CGI) ที่ช่วยให้หนังแอ็กชั่น แฟนตาซี และไซ-ไฟ น่าตื่นตาตื่นใจกว่าที่เคย อีกทั้งหนึ่งในแนวหนังที่เดิมทีอาจจะมีแฟนคลับเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อเทคโนโลยีสามารถเนรมิตความสมจริง เปลี่ยนภาพวาดบนหน้าหนังสือการ์ตูน ให้ออกมาโลดแล่นบนโลกความจริงได้โดยไม่เคอะเขิน ก็ช่วยให้ซูเปอร์ฮีโร่กลายเป็นหนังอีกหนึ่งประเภท ที่แทบจะฉีกทุกตำราภาพยนตร์เท่าที่โลกเคยมี
หนังซูเปอร์ฮีโร่ช่วงต้นปี 2000 อย่างตระกูล Spider-Man กับ X-Men ว่าเปรี้ยงปร้างแล้ว แต่นั่นยังเทียบไม่ได้เลยกับปรากฏการณ์หลังปี 2012 ที่มาร์เวล สตูดิโอ สามารถเชื่อมต่อจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของตัวเอง โดยนำยอดมนุษย์คนนั้นมาปรากฏตัวต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนักสู้คนนี้ เกิดเป็นเทรนด์ใหม่ที่เนรมิตทศวรรษถัดมาของฮอลลีวูดให้เต็มไปด้วยหนังภาคต่อ ไม่ก็หนังขยายจักรวาล เพราะทุกค่ายเห็นแล้วว่า โมเดลของมาร์เวลประสบความสำเร็จมากขนาดไหน และทั้งเทคนิคซีจีไอ ภาคต่อ หรือกระทั่งการก่อร่างสร้างแฟรนไชส์ที่เนื้อหาของแต่ละเรื่องเชื่อมโยงกัน ก็แทบจะไม่ใช่ไวยากรณ์ที่หนังโรแมนติกคอเมดี้จะนำมาปรับใช้ได้ง่ายนัก
“เมื่อหนังซูเปอร์ฮีโร่กลายเป็นหนังแนวเดียวที่สตูดิโอเลือกจะใส่ใจ ประสบการณ์การทำหนังของฉันก็อาจจะไม่สำคัญอีกต่อไป”
แนนซี เมเยอร์ส (Nancy Meyers) ผู้กำกับหนังโรแมนติกคอเมดี้ เจ้าของผลงานอย่าง The Holiday และ Something’s Gotta Give ให้สัมภาษณ์ไว้ ทั้งยังพูดอีกว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสตูดิโอไฟเขียวให้เธอกำกับหนังรอมคอมเรื่องต่อไป อย่างน้อยก็คงไม่ใช่ใน 2-3 ปีนี้ แม้ปัจจุบันเจ้าตัวจะยังไม่ปิดประตูการทำหนังโรแมนติก แต่คำสัมภาษณ์ของเธอก็เป็นภาพสะท้อนชั้นดีถึงภูมิทัศน์ของฮอลลีวูดยุคใหม่ ที่ไม่เหลียวแลหนังแนวรอมคอมอย่างที่เคยทำเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
“ตอนที่เพิ่งสร้าง The Intern เสร็จใหม่ๆ ฉันแอบคิดกับตัวเองจริงๆ นะว่า ชีวิตการทำหนังรอมคอมของฉันอาจจะจบที่ตรงนี้แหละ”
ไม่เชื่อรักแท้ ไม่แคร์พรหมลิขิต
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่เพียงช่วยให้ผู้สร้างสรรค์สามารถดลบันดาลภาพเคลื่อนไหวที่วิจิตรตระการตา แต่ยังทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แถมยังเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่ผู้รับสาร สามารถเลือกได้เองว่าจะเสพที่ไหนและเรื่องอะไร นำมาสู่การมีความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมความชอบส่วนตัว ที่ไม่ถูกตีกรอบด้วยค่านิยมแบบใดแบบเดียว
ครั้งหนึ่งเนื้อหาว่าด้วยรักแรกพบอาจทำงานกับคนทุกกลุ่ม แม้วันนี้จะไม่ถึงขนาดที่ทุกคนผลักไสไล่ส่งความเชื่อดังกล่าว แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ ‘ทุกคน’ อีกแล้วที่จะเชื่อถือ และให้คุณค่ากับเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งนั่นคือความท้าทายชิ้นโตที่เจ้าของสตูดิโอภาพยนตร์ต้องรับมือ เหล่าผู้สร้างตระหนักแล้วจริงๆ ว่า การจะสร้างหนังรักเพื่อตอบโจทย์คนหมู่มากในยุคนี้นั้นทำได้ยาก
นอกจากอุปสรรคเรื่องรูปแบบความรักดั้งเดิมที่เริ่มไม่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ไม่แพ้กันคือ ความหลากหลาย ทั้งในด้านเพศวิถี เชื้อชาติ และศาสนา แน่นอนว่าก็คงมีกลุ่ม LGBTQ+ ชื่นชอบหนังรอมคอม ซึ่งคู่พระนางเป็นชายกับหญิง แต่สิ่งหนึ่งที่คงปฏิเสธไม่ได้ คือเขาและเธอคงหวังอยู่ลึกๆ ว่าจะมีหนังรักสักเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
จนเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา สตูดิโอใหญ่อย่างยูนิเวอร์แซลก็เข็น Bros หนังรอมคอมของคู่เกย์ที่เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ตัวละครมีความเป็นมนุษย์สูง และไม่สร้างภาพจำว่าตัวละครจะต้องนิสัยดีน่าคบ ผลปรากฏว่านักวิจารณ์ให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม แต่ผู้ชมส่วนมากไม่ปลื้ม รายได้จึงไม่ปัง พูดง่ายๆ คือแม้หนังจะถูกใจชาว LGBTQ+ แต่ก็ไม่ใช่เนื้อหาที่เหล่า Cisgender จะซื้อตั๋วเข้าไปดู เพราะไม่รู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับตัวละครในเรื่อง
ทั้งรูปแบบความสัมพันธ์อันซับซ้อน ค่านิยมที่เปลี่ยนไป รวมถึงความหลากหลายที่คนแต่ละกลุ่มตามหา จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับนักทำหนังรัก ที่จะผลิตงานซึ่งตอบสนองรสนิยมคนทุกกลุ่ม เพราะงั้นไม่ทำมันซะเลยน่าจะง่ายกว่า
สตูดิโอหยุดสร้างหนังทุนปานกลาง
“ทั้งที่ใช้ทุนไม่มาก โอกาสทำกำไรก็ง่าย แล้วทำไมสตูดิโอถึงไม่อยากสร้างหนังแนวนี้ล่ะ?”
เชื่อว่ากลุ่มคนดูที่คิดถึงหนังรอมคอมช่วงต้นยุค 2000 น่าจะคิดอะไรทำนองนี้เหมือนๆ กัน แต่เรื่องของเรื่องคืองบประมาณส่วนใหญ่ที่หนังแนวนี้เคยได้รับ เป็นงบประมาณขนาดกลาง หรือเป็นหนังทุนสร้างปานกลาง คือไม่ถึงกับใช้ทุนน้อยขนาดที่ค่ายจะไม่ต้องประเมินความเสี่ยง
ประจวบเหมาะกับการที่แฟรนไชส์ซูเปอร์ฮีโร่ครองโลก และผู้บริโภคเข้าไปดูหนังในโรงน้อยลง (จากทั้งปัจจัยเรื่องโรคระบาดและการแย่งตลาดของแพลตฟอร์มสตรีมมิง) สุดท้ายทางออกที่สตูดิโอใหญ่ๆ เลือกใช้ จึงเป็นการลดปริมาณหนังที่ใช้ทุนสร้างปานกลาง ถ้าไม่ทุ่มทุนไปกับหนังภาคต่อที่มีฐานแฟนคลับชัดเจน สร้างแล้วได้กำไรแน่ๆ ก็ขอเจียดเงินไปผลิตหนังขายไอเดียทุนต่ำที่ทำกำไรง่ายดีกว่า เพราะต่อให้ฉายแล้วเจ๊ง ยังไงค่ายก็ไม่เจ็บตัวมาก
กลยุทธ์ดังกล่าวบีบบังคับให้คนสร้างหนังรอมคอม เหลือทางรอดเพียง 2 ทาง หนึ่งคือบนบานศาลกล่าว ขอร้องสตูดิโอให้ยอมอนุมัติสร้างหนังทุนปานกลาง (บางเรื่องก็ประสบความสำเร็จ เช่น Crazy Rich Asians) หรือการยอมปรับบท ลดต้นทุนทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้หนังโรแมนติกคอเมดี้ที่ใช้ทุนน้อยที่สุด
คิมเบอร์ ไมเออร์ส (Kimber Myers) นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่ง The Los Angeles Times อธิบายว่า สตูดิโอโดยเฉพาะเจ้าเก่าแก่ สร้างหนังโรแมนติกคอมเมดี้น้อยกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด เพราะหนังรอมคอมไม่สามารถการันตีตัวเลขบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศให้กับสตูดิโอได้อีกต่อไป ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า
“นี่คือสถานการณ์ ‘ไก่กับไข่’ ที่วนไปเป็นวัฏจักร สตูดิโอผลิตหนังรอมคอมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แถมยังลงทุนกับหนังประเภทนี้น้อยมาก ส่งผลให้คุณภาพหนังออกมาแย่ สุดท้ายคนก็ไม่ไปดู แล้วพอคนไม่ไปดู สตูดิโอก็ยิ่งผลิตหนังแนวนี้น้อยลง ให้งบน้อยลง เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ”
หนังรอมคอม(ที่ไม่เหมือนเดิม)กำลังจะกลับมา
ถึงความหวังของหนังรอมคอมจะดูริบหรี่ แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่รางๆ เพราะอันที่จริงแม้สตูดิโอใหญ่ๆ จะให้โอกาสหนังแนวนี้น้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่หลงเหลือผู้สร้างที่อยากทำหนังแนวนี้เลย ปัจจุบันแพลตฟอร์มสตรีมมิง ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับสารพัดโปรเจ็กต์รักฮาน้ำตาไหล ยกตัวอย่างหนังในปี 2018 อย่าง Set It Up ที่ทีแรกค่าย MGM ตั้งใจจัดจำหน่ายผ่านโรงภาพยนตร์ แต่ก็เปลี่ยนใจย้ายไปเผยแพร่ทางเน็ตฟลิกซ์แทน และนับแต่นั้นเน็ตฟลิกซ์ก็ป้อนหนังรอมคอมเข้าปากผู้ชมทางหน้าจอเป็นระยะ เพราะจับทางได้แล้วว่ามีกลุ่มคนมหาศาลที่ต้องการดูหนังแนวนี้ เพียงแต่พวกเขาอาจจะคิดว่า หนังแนวนี้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าตั๋วเข้าไปดูในโรงก็ได้
ในปี 2023 สตรีมมิงเจ้าอื่นๆ เองก็ลงแข่งในตลาดหนังรอมคอมไม่ต่างจากเน็ตฟลิกซ์ เว็บไซต์ looper.com อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยใช้คำว่า ‘Streamers got into the rom-com game’ มุมหนึ่งก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งยังเป็นตัวการันตีว่า อย่างน้อยผู้ชมจะยังพอหาหนังโรแมนติกคอเมดี้ดูได้หากต้องการ
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ทำตัวกึ่งผูกขาดการสร้างหรือจัดจำหน่าย ก็จะทำให้สตูดิโอหนังโรงที่แต่เดิมก็มีความต้องการทำหนังแนวนี้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีแรงกระหายน้อยลงไปอีก และก็คงไม่แปลกหากวันหนึ่งค่ายหนังยักษ์ใหญ่ จะพากันคิดว่า ‘จะทำหนังรอมคอมไปทำไม ในเมื่อผู้บริโภคเริ่มชินกับการดูหนังแนวนี้ที่บ้านไปเรียบร้อยแล้ว’
อย่างไรก็ดี แม้หนังโรแมนติกคอเมดี้จะต้องพยายามสร้างสรรค์เรื่องราวให้ลึกซึ้งมากขึ้น เฉพาะกลุ่มมากขึ้น และถ้าหากอยากฉายในโรงก็อาจจะต้องลดต้นทุน ไม่อย่างนั้นคงต้องลุ้นเอากับเน็ตฟลิกซ์หรือดิสนีย์พลัสแทน แต่ความเป็นไปได้หนึ่งซึ่งอาจกระตุ้นให้กระแสรอมคอมกลับมาอีกครั้ง คือผู้บริโภคเองก็เริ่มเบื่อหนังฮีโร่และหนังภาคต่อ สังเกตได้จากตัวเลขบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศของผลงานจากมาร์เวลหลังปี 2019 เป็นต้นมา มีเพียง Spider-Man: No Way Home เรื่องเดียวที่สามารถทำเงินแตะหลักพันล้าน ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นไปตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เมื่อหนังประเภทใดประเภทหนึ่งได้รับความนิยมมากๆ ค่ายต่างๆ ก็จะพากันเข็นหนังแนวนั้นออกสู่ท้องตลาด จนโรงภาพยนตร์เต็มไปด้วยพล็อตเรื่องที่ซ้ำซากจำเจ และท้ายที่สุดผู้ชมก็จะเสาะหาหนังทางเลือกที่ตัวเองคิดถึง
และวันนี้เราในฐานะผู้ชมก็เป็นหนึ่งในคนที่คิดถึงทั้ง Notting Hill, Bridget Jones’s Diary, Love Actually รวมถึงหนังโรแมนติกคอเมดี้ฉายโรงยุคใหม่อย่าง The Big Sick
จึงได้แต่ภาวนาว่าหนังรอมคอม รวมถึงหนังทุนสร้างปานกลางแนวอื่นๆ จะกลับมามีช่วงเวลาของตัวเองในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ส่วนตอนนี้ก็คงต้องหวังไปก่อนว่า พวกเราจะไม่โดนหนังภาคต่อและหนังซูเปอร์ฮีโร่ทับตาย
อ้างอิงจาก