คนกลุ่มใหญ่ที่เดินไปบนถนนในเครื่องแต่งกายแปลกตา พร้อมวิกผมสีฉูดฉาดที่พ่วงมาด้วยสไตล์ที่ไม่ธรรมดา บางคนอาจถืออาวุธไม่ก็อุปกรณ์ขนาดใหญ่เอาไว้ กิจกรรมนี้เรียกว่า ‘คอสเพลย์’ ซึ่งเป็นแต่งกายเลียนแบบ ตัวละครจาก การ์ตูน, แอนิเมชั่น, และเกม ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกตาสำหรับหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกอีกต่อไปแล้ว

ภาพจาก – Facebook Fanpage World Cosplay Summit Thailand
ถึงอย่างนั้นการจัดงานที่รวบรวมเหล่า ‘เลเยอร์’ หรือคนแต่งชุดคอสเพลย์ ราว 70 คน จาก 34 ชาติ ให้มารวมตัวกันบริเวณศาลเจ้าโอซุ เมืองนาโกย่า ที่จังหวัดไอจิ ในช่วงเดือนสิงหาคมได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังมีนายกเทศมนตรีของเมืองนาโกย่ากับผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิออกมาแต่งชุดคอสเพลย์แข่งกันอีก เหตุการณ์นี้คงไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ แน่นอน แต่ที่พูดมานั้นเป็นไปได้ในงาน ‘World Cosplay Summit’ ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ งานแข่งขันคอสเพลย์ระดับโลกนั่นเอง
World Cosplay Summit คืออะไร?

ภาพจาก – Worldcosplaysummit.jp
เราขอสรุปนิยามโดยคร่าวถึงที่มาของงานนี้ว่า หลังจากการเบิกบานของวัฒนธรรม ‘มังงะ’ และ ‘อนิเมะ’ จากญี่ปุ่นทำให้เกิดการ ‘คอสเพลย์’ กระจายไปทั่วโลกแล้ว สิ่งที่เลเยอร์อยากลองไปให้ไกลกว่าการแต่งตัวเป็นตัวละครที่ชอบก็คือการสวมบทบาทเป็นตัวละครที่เหมือนหลุดมาจากเรื่องนั้นจริงๆ จุดนี้จึงทำให้มีเรื่องของการแสดงขึ้นมาด้วย และการแข่งขันของเวทีนี้ก็คือการรวมกันของการแต่งตัวเป็นตัวละครที่ผสานเข้ากับการแสดง ซึ่งตัวงานก็มีเป้าหมายให้การแสดงที่จะต้องมีทั้งการแสดงกับการกำกับศิลป์ที่ดีไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะทางการแสดงชิ้นหนึ่ง
เดิมที World Cosplay Summit เป็นงานที่บุคลากรในวงการการ์ตูนของญี่ปุ่นจัดกันเอง เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2003 ที่มีประเทศเข้าร่วมไม่มาก คณะกรรมการที่เข้ามาร่วมงานก็ยังไม่ใช่คนดังมากนัก ชาติที่เข้าร่วมก็มีเพียง 4 ประเทศ ระยะเวลาจัดงานก็สั้น กิจกรรมในงานก็ยังไม่มีการแข่งขันคอสเพลย์แต่อย่างใด จากนั้นตัวงานก็ได้รับความสนใจจากเลเยอร์หลายประเทศ จนมีคนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีการแข่งขันคัดเลือกตัวแทนของแต่ละประเทศในปี 2005 และมีการแข่งขันเกิดขึ้นจริงจัง ตัวกิจกรรมยังได้รับความสนใจในฐานะกิจกรรมร่วมภายในงาน Expo 2005 ที่จัดขึ้นในจังหวัดนาโกย่า ส่งผลให้ตัวงานมีสปอนเซอร์อย่างชัดเจน (เช่น บริษัทในเมืองไอจิ และจังหวัดนาโกย่าที่กระโดดมาเป็นโต้โผคนสำคัญ) เซเลบทั้งในสายงานการ์ตูนและสายงานอื่นๆ ก็เริ่มมาร่วมงานมากขึ้น
จนกระทั่งปี 2008 ทาง กระทรวงต่างประเทศ, กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว , และกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น เห็นแล้วว่างานนี้ช่วยเพิ่มความนิยมของวัฒนธรรมโอตาคุ และเพิ่มรายได้เข้าประเทศ (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) ได้เข้ามาสนับสนุนตัวงานอย่างเป็นทางการ จนงาน World Cosplay Summit กลายเป็น ‘สถานที่แสวงบุญ’ แหล่งสำคัญของเหล่าเลเยอร์ไปโดยปริยาย และการแข่งขันบนเวทีนี้ก็มีการพัฒนามากขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน
ชาวไทยกับงาน World Cosplay Summit
อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนักสำหรับเรื่องนี้ เห็นได้จากการที่คนไทยที่นิยมชมชอบการ์ตูนกับอนิเมะของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และงานการ์ตูนที่เปิดพื้นที่ให้มีการคอสเพลย์ก็อยู่ในเมืองไทยได้ราวๆ 20 ปีแล้ว (ยังไม่นับการแต่งแฟนซีในยุคก่อนหน้าอีก) ซึ่งปีแรกที่เลเยอร์ชาวไทยไปไกลจนถึงขั้นได้ร่วมเวทีการแข่งขัน World Cosplay Summit ก็เป็นปี 2006 นั่นเอง
และชาวไทยก็ไม่ได้ไปแบบเล่นๆ เพราะในปี 2010 ทีมเลเยอร์ไทยก็สามารถคว้ารางวัลอันดับ 2 และรางวัลอุปกรณ์คอสเพลย์ยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในปี 2010 (หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลนั้นคือ ปฐวิกรณ์ อุทธิเสน ที่เราเคยมีโอกาสได้ฟังเขาบอกเล่าวิธีการทำงานมาแล้ว) ก่อนจะมีโอกาสไปคว้ารางวัลอันดับสามอีกครั้งในปี 2013 และก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเล็กน้อยที่ไทยเรายังไม่เคยไปถึงแชมป์ และในปี 2017 นี้ก็น่าเสียดายที่ไม่ผ่านเข้าไปถึงการแสดงรอบสุดท้าย
เสวนากับคนในวงการคอสเพลย์ไทยเกี่ยวกับ World Cosplay Summit
เมาท์มอยถึงงาน World Cosplay Summit มายาวแล้ว แต่เราคิดว่าคนที่คลุกวงในมน่าจะพูดเรื่องนี้ได้ดีกว่าเราที่เป็นผู้ชม ด้วยเหตุนี้เราจึงแวะไปพูดคุยกับ คุณ ‘คม กุญชร ณ อยุธยา’ หรือ กิ๊ก ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Props&Ops Cosplay Site และเป็นกรรมการคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในงาน World Cosplay Summit
The MATTER : ในฐานะที่เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการคอสเพลย์มาหลายปี คิดว่างานนี้มีความสำคัญกับวงการคอสเพลย์ทั้งไทยและเทศอย่างไร
กิ๊ก : ในระดับนานาชาตินั้น World Cosplay Summit ค่อนข้างจะเป็นงานที่สามารถสร้างรูปธรรมได้ชัดเจนว่า วัฒนธรรมคอสเพลย์นั้นได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมทั่วโลกจริงๆ คือ เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเอเชีย ยุโรป อเมริกา ฯลฯ ต่างก็มีตัวแทนคอสเพลย์มาร่วมแข่งขัน และแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคต่างๆกัน โดยไม่มีอะไรขวางกั้น ไม่ว่าจะเชื้อชาติ หรือศาสนาที่แตกต่าง
ส่วนในไทยนั้น ก็ค่อนข้างมองว่าเป็นเวทีที่มีความหมายอยู่เหมือนกัน เพราะก็เป็นโอกาสดีที่เราจะสามารถไปแสดงศักยภาพ โชว์ให้เห็นถึงความสามารถของคอสเพลย์ชาวไทยได้อยู่เหมือนกัน ทั้งยังเป็นเวทีที่เป็นรูปธรรมที่สุดงานหนึ่งที่แสดงให้คนทั่วๆmไปได้รับรู้ว่า เด็กและเยาวชนไทย ก็มีความสามารถไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นๆ เลย และแน่นอนว่า การได้ไปแข่งที่ญี่ปุ่นนั้น ก็มีความหมายในตัวมันเองในแง่ที่ว่า ได้มีโอกาสไปคอสเพลย์ ณ ประเทศต้นตำรับคอสเพลย์เลยทีเดียว
The MATTER : ไฮไลต์สำคัญอย่าง World Cosplay Summit คือการแข่งขันการแสดงบนเวที คิดว่าระดับของการแข่งขันอยู่ในระดับที่สามารถดึงดูดคนที่ไม่เคยติดตามการคอสเพลย์เลยได้หรือไม่
กิ๊ก : ถ้ามองในแง่ระดับความสามารถ ประสิทธิภาพการแสดง ส่วนตัวผมถือว่ามากเกินพอนะครับ เพราะปัจจุบันเทคนิคการแสดงนั้น เรียกได้ว่ามีการประยุกต์เทคนิคละครเวที และมายากลแทรกเข้ามาด้วย หลายๆ ทีมมีเทคนิคที่คนที่ดูต้องมีคิดในใจว่า ‘ทำได้ไงเนี่ย’ ขนาดนั้นเลยครับ
แต่ถ้ามองในแง่ ช่องทางการติดตามข่าวสารหรือรับชม ว่าเผยแพร่ถึงคนทั่วๆ ไปไหม ผมยังมองว่าช่องทางค่อนข้างน้อยและเข้าถึงยากไปสักหน่อย คือ ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจ ตั้งใจจะดูจริงๆ เป็นการยากมากๆ ที่คนทั่วไปจะบังเอิญเปิดมาเจอครับ
The MATTER : แล้วคิดว่าศักยภาพของเลเยอร์ชาวไทยมีโอกาสไปไกลจนถึงระดับแชมป์ในเวทีนี้ได้ไหม
กิ๊ก : ถามว่ามีโอกาสไหมก็ต้องบอกว่ามีครับ เพราะความสามารถเราไม่ได้ด้อยไปกว่าแต่ละประเทศเลย เราเองก็เคยไปถึงตำแหน่งที่ 2 และ ที่ 3 มาแล้ว เรียกว่าเหลืออีกฮึดเดียวเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญกว่าคือเราอาจจะต้องคิดจริงจังว่า เราจะทำยังไงให้คว้าโอกาสตรงนั้นได้มากกว่าครับ
อย่างตัวผมเองก็ได้มีโอกาสเป็นกรรมการคัดเลือกตัวแทนไทยในปีนี้ ก็ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงานและกรรมการท่านอื่นๆ อยู่ตลอด สิ่งหนึ่งคือ ระบบการประกวดคอสเพลย์ที่นิยมในบ้านเรานั้น ค่อนข้างเอื้อกับรูปแบบประกวด World Cosplay Summit ไม่มากนัก เพราะที่นิยมในบ้านเราจะเป็นลักษณะประกวดเดี่ยวเป็นหลัก คือ เดินขึ้นเวทีมาแล้วโพสท่าราวๆไม่เกินนาที หรือไม่ก็จะเน้นประกวดทีมไปเลย คือ เป็นทีมระดับ 3-5 คนขึ้นไป และมีการแสดงราวๆ 3-5 นาที
ในขณะที่ World Cosplay Summit จะเป็นรูปแบบประกวด 2 คนหรือคู่ ในเวลาจำกัด 2:30 นาทีครับ ซึ่งรูปแบบนี้ในบ้านเราไม่ค่อยมีนัก ถ้าจะสรุปง่ายๆคือ เรื่องชุดและอุปกรณ์เราเจ๋งทัดเทียมกับทุกประเทศครับ แต่เทคนิคการแสดงสองคนในเวลาจำกัดนั้น เรายังไม่ค่อยมีเวทีที่ขัดเกลาในไทยมากครับ
The MATTER : ขณะที่ผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นยอมรับ ‘พลังอ่อน’ (Soft Power) จนถึงขั้นที่นายกเทศมนตรี กับ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งคอสเพลย์ต้อนรับการแข่งขัน World Cosplay Summit แล้ว คิดว่าในไทยเปิดพื้นที่รับพลังอ่อนมากขนาดไหน
กิ๊ก : ถ้าเทียบกะเมื่อราว 10 ปีก่อนนั้น ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเปิดรับในส่วนของคอสเพลย์มากขึ้นพอควร เริ่มรู้จักและยอมรับว่ามันมีสิ่งนี้นะในประเทศไทย จะเห็นได้จากห้างร้าน, สำนักพิมพ์, และร้านค้าต่างๆ ที่เริ่มจัดงานคอสเพลย์ของแต่ละที่เป็นระยะๆ
ยอมรับว่ามีหลายภาคส่วนที่เล็งเห็น และสนใจในกิจกรรมคอสเพลย์ครับ แต่แน่นอนว่า เลเยอร์ไทยก็ต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองให้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนมากขึ้นด้วย โดยจะเห็นได้ว่าหลายภาคส่วนที่เราพูดถึงนั้นจะเป็นเอกชนเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่ภาครัฐยังไม่ได้เข้ามาเต็มตัวนัก
ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่ได้เป็นโจทย์แค่เฉพาะคอสเพลย์เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเหล่า Soft Power กิจกรรม Pop Culture อีกมากในไทยที่ต้องพยายามเช่นกันครับ คือ นอกจากจะเป็นกิจกรรมสันทนาการแล้ว จริงๆ มันก็เป็นช่องทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนกันหากเราหาช่องทางเจอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นประเทศญี่ปุ่น ที่ธุรกิจในส่วนการ์ตูนและอนิเมะนั้นกระจายไปทั่วโลก และกระจายวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปพร้อมๆกันอีกด้วย
สรุปแล้ว สังคมไทยยอมรับมากขึ้นต่อเนื่องทุกปีครับ เพียงแต่เราทุกคนต้องร่วมมือกันค่อยๆ หาทางต่อยอด พัฒนา เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยครับ