เพื่อนคนนี้ไม่เห็นอ่านหนังสือเลย แต่ทำไมได้เกรดดีจัง แล้วคนที่นั่งข้างหลังนั่นเที่ยวบ่อยกว่าเราอีก แต่ไหงได้เกียรตินิยม
The MATTER ขอส่งท้ายวันเด็กด้วย 9 วิธีเรียนยังไงให้ดี จากคนเรียนเก่ง 9 คน ทั้งที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่และทำงานแล้ว ตั้งแต่วิธีเบสิค ไปจนวิธีที่เซ็ทมาเป็นระบบตั้งแต่ก่อนเริ่มเรียนและการพักผ่อน ที่สำคัญ ยังเอาไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อีกแหละ
1. มนสิชา รุ่งชวาลนนท์
อาชีพ : นักวิจัยและผู้จัดการโครงการพหุวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล
“เราจะไม่คิดว่ามีเวลาแค่หนึ่งวันแต่คิดว่ามีเวลาตั้ง 24 ชั่วโมง เพราะงั้นทั้งเรื่องงานทั้งอ่านหนังสือมันต้องทันดิ แล้วเราก็จะทำมากกว่าที่ถูกขอ สมมติอาจารย์สอนมาเท่านี้เราต้องรู้เยอะกว่า เพราะถ้าตอบเท่าที่อาจารย์สอนทุกคนจะตอบเหมือนกัน เช่น เขาสอนเรื่องญี่ปุ่นหลังสงครามโลก แล้วเขาเล่าเรื่องอเมริกามายึดครอง คนอเมริกันไม่เข้าใจคนญี่ปุ่นเลยส่งนักมนุษยวิทยาไป ทำให้มีหนังสือญี่ปุ่นศึกษาเล่มนึงออกมาคือ ‘ดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร’ เราก็จะต้องไปหาเล่มนี้มาอ่าน ถึงมันไม่เกี่ยวกับคลาสแต่เราต้องรู้
ถ้าเขาบอกว่าคอมมิวนิสต์จีนพยายามปล่อยนักโทษการเมือง ทำภาพการปฏิวัติให้ซอฟต์ ทำภาพคอมมิวนิสต์ให้ดีขึ้น มีนักเขียนหลายคนเขียนหนังสือชมคอมมิวนิสต์ออกมา อย่างอดีตจักพรรดิปูยูก็เขียนเรื่องความทรงจำสมัยเป็นจักพรรดิว่ามันฟุ้งเฟ้อ คอมมิวนิสต์ดีกว่ายังไง แบบนี้เราก็ต้องไปหาปูยีมาอ่าน เพราะเราอยากรู้ว่าเขาเขียนอะไร 5555”
2. วณัฐย์ พุฒนาค
อาชีพ : Content Writer
“เรียนในสิ่งที่ชอบ ความชอบทำให้เราสนใจและสงสัยกับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่เสมอ อีกอย่างคือสนุกไปกับการเรียนด้วย”
3. ณัฐวิภา สุขโสภี
อาชีพ : Project Coordinator
“ก็ต้องขยัน อดทน ตั้งใจอ่านหนังสือ ดีที่สุดก็พยายามเรียนในห้องให้เข้าใจ แล้วก็จดโน้ตเอาไว้อ่านทบทวนอีกที หรือถ้าไม่เข้าใจก็ถามครู ถามเพื่อน เกาะเพื่อนไว้ หรือหาข้อมูลเอาเองจนกว่าจะเข้าใจ”
4. ชัญญานุช รัตนบำรุง
อาชีพ : SAP programmer (Abaper)
“แบ่งเวลาให้เป็น เรียนก็คือเรียน เที่ยวก็คือเที่ยว ถ้าเที่ยวแล้วเหนื่อยก็นอนเถอะ แล้วพาตัวเองไปอยู่ในสังคมเพื่อนดีๆ ให้เพื่อนช่วยสอน ช่วยเตือนสติ ถ้าในกรณีมีแฟน ก็ให้คบแฟนที่ช่วยให้เรื่องเรียนดีขึ้น ถ้าคบแล้วแย่ลงก็คิดดีๆ ก่อนเลิก เพราะผัวหายาก จบ”
5. ภัสสร เฟื่องกำลูน
อาชีพ : พนักงานบริษัทเอกชน
“ของเราคือต้องอิน เป็นเด็กขี้อิน ตอนได้เข้าเอกจีน ก็เฉยๆ แต่พอได้เรียนคือ ต้องรักในสิ่งที่เราเรียน แล้วพออินกับมันก็จะรู้สึกสนุกไปเอง อยากพูดได้เก่งๆ ก็ท่องศัพท์ หาหนังสือมาอ่าน ศึกษาไวยากรณ์ รากศัพท์ ว่าแต่ละคำมีที่มายังไง และก็เริ่มดูหนังจีนไม่มีซับ เลียนแบบเสียงตัวเองเป็นนางเอก พออิน ทุกอย่างจะลงดีเทลไปเอง”
6. ณิชกมล ตันเสถียร
อาชีพ : นักศึกษา
“เคล็ดลับ คือ ‘ความพยายาม’ จริงๆ ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง แต่อาศัยความพยายามมากกว่า อะไรที่ไม่รู้ก็พยายามอ่าน ทำความเข้าใจ ใส่ใจกับมัน อ่านวนไปจนกว่าจะเข้าใจ อะไรที่ไม่รู้ก็พยายามค้นหา เดี๋ยวก็ได้คำตอบเอง”
7. ทัศนะ หงส์กาญจนกุล
อาชีพ : หมอ
“วิธีการเรียนของผมคืออ่านทบทวนบ่อยๆ หลายๆ รอบ แล้วถ้ามีเวลาเหลือก็ไปติวหนังสือกับเพื่อนด้วยครับ”
8. ณัฏฐนิช จิระชัยประสิทธิ
อาชีพ : นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โครงการปริญญาตรีบริหารบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ (BBA International Program)
“1. Find your passion or at least motivation : อันนี้สำคัญ บางคนมีได้ด้วยตนเองด้วยความใฝ่รู้อยู่แล้ว แต่บางวิชาต้องเอาอย่างอื่นมาช่วย เช่น หน้าพ่อหน้าแม่ เป็นต้น
2. Set your calendar : สำหรับเทอมที่กิจกรรมแน่นควรมี planner ไว้ เพื่อวางแผนการอ่านแบบกักตุนไว้ก่อน แต่ถ้าเทอมไหนเรียนชิลก็วางตารางอ่าน 2 อาทิตย์ก่อนสอบตามปกติ
3. Effective study style : พอเซ็ทแล้วว่าต้องอ่าน ก็ให้อ่านแบบฉลาด วิชาไหนควรอ่านแบบไหน เน้นฝึกโจทย์ เน้น speed หรือถ้าวิชาไหนอ่อนมากควรไปอ่านกับเพื่อน จะได้นัดกันก่อน
4. Supernote : วิชาจำควรอ่านแล้วเขียนเป็นรูป pictorial technique จะช่วยมากกว่าจดออกมาเป็นพรืด หรือถ้าวาดไม่ได้ก็ mindmap ก็ได้ ช่วยให้จำดีและเป็น logic กว่า
5. Surrounded by the smart one : นั่งติดด้วยตั้งแต่ตอนเรียนยิ่งดี ดูวิธีการตั้งคำถามระหว่างเรียนของเขา ดูการจด lecture
6. Set achievable goal : อันนี้ไม่ได้เพื่อกดดันตัวเอง ควรเซ็ทให้ realistic ที่สุด เพราะแต่ละเทอมจะเจอวิชายากง่ายไม่เท่ากัน เวลาในการเรียนและกิจกรรมไม่เท่ากัน มันจะช่วยในการจัดสรรเวลา และชี้เป้าว่าควรทุ่มหรือทิ้งอันไหน นอกจากนี้จะได้ไม่ stress out ด้วย
7. Study hard, play harder : รู้สึกเรียนอย่างเดียวมันง่อยๆ ให้ออกไปทำงานด้วย กิจกรรมบางทีก็เป็นส่วนที่ทำให้ skill ในชีวิตดีขึ้น เช่น priortizing skill, human skill เชื่อว่ามันจะกลับมาส่งเสริมการเรียนเราเอง บางทีทำกิจกรรมไปด้วยทำให้เรา productive มากกว่าด้วยซ้ำ”
9. ศุทธลักษณ์ เตชะวรุตมะ
อาชีพ : FX Options trader ที่ Goldman Sachs
จบการศึกษาจาก Stanford University : B.A. Economics M.S. Management Science & Engineering
“ความจริงเราไม่ได้ใช้เวลาอ่านหนังสือเยอะขนาดนั้น อย่างพวกวิชาเลข เคมี ฟิสิกส์ คือส่วนใหญ่จะพยายามทำความเข้าใจตลอดเทอม ไม่ให้ fall behind ก่อนสอบก็ไม่ต้องอ่าน แค่อาศัยทำโจทย์ฝึกเยอะๆ ส่วนบางวิชาที่อาจจะต้องจำรายละเอียด อย่างประวัติศาสตร์ ก็จะทำสรุปไว้สักวีคเอนด์หนึ่งก่อนสอบ แล้วอ่านที่ทำสรุปเอาไว้ก่อนสอบหนึ่งวันหรือก่อนเข้าห้องสอบ ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ถูกต้องมากๆ เพราะเหมือนเป็นการทดสอบความจำมากกว่าทดสอบความเข้าใจเนื้อหา
“ตอนอยู่อเมริกาเวลาเรียนประวัติศาสตร์ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก จำรายละเอียดไม่ได้ทุกอย่างหรอก แต่ต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอะไร แล้วเขียนเปเปอร์ส่ง ไม่ใช่ท่องๆ ไปเหมือนที่ไทย แต่โชคดีเป็นคนความจำดีเลยทำให้ดูเหมือน ‘เรียนเก่ง’ ในวิชาที่ไม่ได้ทดสอบความเข้าใจจริง (หลายครั้งตอนเรียนอเมริกาได้ A มา แต่จริงๆ อยากให้ตัวเอง C หรือ D ก็พอ) แต่เมื่อข้อสอบมันออกแบบมาให้ท่องจำก็คือเอาให้ productivity เยอะที่สุด เราเห็นเพื่อนหลายๆ คนอ่านอย่างเดียว แบบอ่านผ่านๆ สุดท้ายอ่านจบปุ๊บ ก็ลืมแล้วว่าบทแรกเกี่ยวกับอะไร อย่างงี้ไม่โอเค เราว่าอ่านช้าๆ ทำความเข้าใจแล้วให้จบทีเดียวดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาอ่านซ้ำๆ 5 รอบแล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร
“ปล. สิ่งที่เราเสียใจตอนเรียน แม้ว่าหลายๆ คนบอกว่าเรา ‘เรียนเก่ง’ คือบางวิชาเรารู้สึกว่าไม่ได้เข้าใจหรือได้ความรู้เพิ่มขึ้น (ที่จำได้แล้วลืมหมดหลังสอบเสร็จไม่นับเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นนะ) อยากให้ใส่ใจตรงนี้ด้วย ก็เข้าใจว่า คะแนนสอบสำคัญ ใช้วัดผลเพื่อเข้าคณะที่อยากเรียน และมีผลต่อการสมัครงานระดับหนึ่ง แต่พอทำงานแล้วถ้าต้องมาเรียนทำความเข้าใจสิ่งที่เคยเรียนตอนมหาวิทยาลัยม.ปลาย ใหม่ มันก็ทำให้เราเสียเวลาฟรีแทนที่จะได้ต่อยอดจากความรู้ ทักษะที่ควรจะได้มาตอนเรียน”