ปกติแล้วหากพูดถึงงานอาร์ต NFT หลายคนอาจนึกถึงภาพวาดเป็นอย่างแรก หรืออาจจะเป็นภาพถ่าย ตัวคาแรคเตอร์ต่างๆ อะไรก็ตามที่เป็นภาพให้เราได้มองเห็นมันได้ แต่จริงๆ แล้วโลก NFT มีอีกหลากหลายตัวเลือก อีกหนึ่งงานศิลปะที่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างเท่าไหร่นักอย่าง ‘ดนตรี’ ก็มีคนซื้อ-ขายและสะสมกันในระบบนี้เหมือนกัน
The MATTER อยากชวนมาทำความรู้จักกับ 5 คอลเลกชั่นดนตรีบนโลก NFT การขายเพลงบนโลก NFT นอกจากจะต้องขายดนตรีที่ได้ฟังแล้ว ยังมีภาพกระกอบที่เข้ามาช่วยสื่อสารให้เสียงนั้นน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วย ตาดูหูฟัง ชมภาพประกอบไปพร้อมกับเสียงดนตรีแบบเพลินๆ
มาดูกันว่าในแขนงนี้มีศิลปินบ้านเราคนไหนทำผลงานเจ๋งๆ ไว้บ้าง งานของแต่ละคนมีไอเดียยังไง แล้วถ้าเราจะขายเสียงดนตรีแต่ต้องมีภาพประกอบเข้ามาด้วยจะต้องเริ่มต้นจากไหน มีอะไรเป็นเทคนิกการขาย และงานดนตรีในตลาดนี้กระแสตอบรับดีแค่ไหน
TDKILL Beat
โดย TDKILL
ผลงานคอลเลกชั่น TDKILL Beat โดย ‘เบน—TDKILL’ ปกติแล้วทำอาชีพ beat maker มีผลงาน NFT อยู่ 3 คอลเลกชั่นที่อยู่บนเว็บ OpenSea และกำลังสร้างคอลเลกชั่นใน Foundation กับ Crypto.com เพิ่มเติมอีกด้วย
The MATTER: เวลาผลิตงานแต่ละชิ้น ส่วนมากได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากไหน?
แรงบันดาลใจสำหรับคอลเลกชั่นงานดนตรีจะมาจากความชอบส่วนตัวของผมเองครับปกติเป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ฟังทุกแนวเลย แล้วผมก็อยู่กับงานด้านดนตรีมานาน 10 กว่าปีแล้ว ก่อนจะมาทำงานในโลก NFT ผมเป็นนักดนตรีที่ทำเพลงเองและเล่นกลางคืน
TDKILL Beat เป็นคอลเลกชั่นหลักของผม ที่ทำเกี่ยวกับงานเสียงดนตรีหลากหลายสไตล์ โดยแต่ละงานจะทำขึ้นมาใหม่ทุกเพลง และบางงานจะจับมือกับศิลปินด้านภาพด้วยครับ โดยงานที่ทำร่วมกันจะออกแบบดนตรีตามมูดของภาพที่วาดบนปกเทปของคอลเลกชั่น และงานเพลงในคอลเลกชั่นนี้ คนซื้อจะได้รับการอนุญาตให้นำไปประกอบกับผลงานอื่นๆ ได้ด้วยครับ
The MATTER: ปกติแล้ว เทคนิกที่ชอบใช้ในการทำงานมีอะไรบ้าง?
เทคนิกที่ชอบในการทำงานดนตรีใน NFT คือ การทำภาพประกอบให้มีการเคลื่อนไหวครับ ซึ่งมันทำให้ดูแตกต่างกับงานศิลปะที่ไม่ได้อยู่ในโลก NFT และผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนซื้อ หรือนักเก็งกำไรสนใจกับงานเพลงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมมองว่า ศิลปะด้านดนตรีนำเสนอได้ยากกว่างานศิลปะด้านภาพพอสมควร เลยต้องใช้งานด้านภาพเข้ามามีส่วนในการนำเสนองานเพลงด้วย ส่วนนี้ทำให้ผมต้องฝึกฝนสกิลการวาดภาพและการทำภาพเคลื่อนไหวเพิ่ม แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองไปด้วย
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
ตอนตัดสินใจมาทำงานศิลปะใน NFT คือ พูดตรงๆ เลยนะครับ เริ่มมาจากการตกงานอาชีพนักดนตรีกลางคืนของผม คือต้องหาทางดิ้นรนทำอะไรสักอย่างเพื่อให้อยู่รอดในยุค(เฮงซวย)นี้ ที่ผมผิดหวังอย่างรุนแรงมาก ซึ่งไม่มีการช่วยเหลือกลุ่มคนกลางคืนหรืออาชีพนักดนตรีเลยแม้แต่น้อย และแม้ตอนนี้จะเริ่มมีมาตราการช่วยเหลือแล้วผมก็ยังมองว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลย พูดตรงๆ คือสายเกินไปแล้วครับ
บางคนถึงขั้นต้องเปลี่ยนอาชีพแม้รายได้จะลดน้อยลงมากก็ตาม รวมถึงตัวผมเองด้วย สำหรับผมตอนนี้ก็ปาไปเกือบจะ 2 ปีแล้วครับที่ไม่มีรายได้ แต่ยังโชคดีที่ไม่มีหนี้สินและไม่มีค่าใช้จ่ายที่มาก ผมเลยนำทักษะด้านดนตรีที่ผมมีมาพัฒนาฝึกเขียนบีต ทำเพลง ทดลองขายในเว็บไซต์ต่างๆ จนมาลงเอยที่ตลาด NFT นี่แหละครับ ทำให้ผมสร้างรายได้จากการทำเพลงครั้งแรกในโลกอินเทอร์เน็ต
ส่วนโอกาสในตลาด NFT นี้ยังมีอีกมาก ผมว่ายังทำอะไรได้อีกนอกเหนือจากงานศิลปะและเกม ตอนนี้มันยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น ก็ต้องรอดูกันไปครับ สำหรับสายดนตรีอย่างผมก็ต้องอดทนรอเช่นกัน งานส่วนใหญ่ในตลาดตอนนี้จะเป็นการขายและเสนองานเกี่ยวกับภาพมากกว่า ผมหวังว่าสักวันจะมีแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ที่ดันเรื่องดนตรีในตลาด NFT เป็นหลัก”
The MATTER: กระแสตอบรับงานดนตรีในตลาด NFT เป็นไงบ้าง?
กระแสตอบรับงานดนตรีตอนที่ผมเริ่มเข้ามาขายใน NFT ดีมากครับ 3 วันขายหมดคอลเลกชั่น แต่พอราคาค่าแก๊สพุ่งขึ้น ก็ขายไม่ออกอีกเลย (หัวเราะ) งานราคาถูกกว่าค่าแก๊สเสียอีก และตอนนี้เท่าที่สังเกต ตลาด NFT อาจซบเซาลงบ้าง แต่ผมว่ามันจะกลับมาอีกครั้งครับ หลังจากที่ ETH ทำการอัพเกรดเป็น 2.0 ที่จะช่วยให้ค่าแก๊สลดลงอย่างมาก ตลาดน่าจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง
ติดตามผลงานของ TDKILL ได้ที่
OpenSea: OpenSea.io
Twitter: twitter.com
IG: instagram.com
MoLam
โดย beinggu
ผลงานคอลเลกชั่น MoLam โดย ‘beinggu’ นักดนตรีอิสระ ที่มีผลงานบนโลก NFT มา 2 คอลเลกชั่นแล้ว ได้แก่ MoLam และ Molam mini stage ที่หยิบเอาเครื่องดนตรีของภาคอีสานมาใช้ร่วมกับเพลงแนวอื่น หลุดจากกรอบเดิมๆ ที่ว่า เครื่องดนตรีอีสานนั้นจะต้องอยู่กับเพลงอีสานเท่านั้น
The MATTER: เวลาผลิตงานแต่ละชิ้น ส่วนมากได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากไหน?
เครื่องดนตรีอีสานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวพอสมควรเลย แต่ยังยึดโยงอยู่ในวงแคบ ๆ อย่างเพลงลูกทุ่งอีสาน หมอลำ การนำเครื่องดนตรีอีสานมาผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นๆ ที่ต่างออกไป เช่น บูลส์, ฟังก์, ซิตี้ป๊อป น่าจะสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้กับคนฟังได้ เลยเกิดเป็นคอลเลกชั่นหมอลำขึ้นมาครับ
The MATTER: ปกติแล้วเทคนิกที่ชอบใช้ในการทำงานมีอะไรบ้าง?
การวางโครงเพลงที่แข็งแรง มีท่อนฮุก ท่อนเวิร์ส การเลือกซ้ำท่อน สร้างความจดจำที่มีต่อเพลงโดยไม่รู้สึกถูกยัดเยียด
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
ส่วนตัวมองว่า NFT ทำให้งานเราเข้าถึงคนได้ง่ายกว่าวิธีอื่นมาก มันเป็นโลกอนาคตที่เราสามารถจับต้องได้แล้วในปัจจุบัน กระแสตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดี เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ดีสำหรับการหารายได้ครับ
ติดตามผลงานของ beinggu ได้ที่
OpenSea: OpenSea.io
Twitter: twitter.com
Lofi Roomies
โดย heart00486
ผลงานคอลเลกชั่น Lofi Roomies โดย ‘ฮาร์ท—heart00486’ นักศึกษาที่เลือกพักจากการเรียนที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต มาลองผลิตผลงาน NFT ของตัวเองจากห้องของตัวเขาเองในช่วงกักตัว ทั้งภาพและมูดโทนนั้น ล้วนมาจากไอเดียในห้องสี่เหลี่ยม
The MATTER: ส่วนมากได้แรงบันดาลใจหรือไอเดียมาจากไหน?
Lofi Roomies เป็นไอเดียที่คิดตอน COVID-19 ไม่ได้ออกไปไหน ไอเดียมันก็มาจากหน้าคอมพิวเตอร์ มาจากในห้องผม พอเราไม่ได้ออกไปไหนเลย มันก็เลยต้องมาจากในห้อง บางชิ้นผมก็หยิบเอาของในห้องมาวางจริงๆ อย่างเพลง lo-fi ตอนที่ผมทำ YouTube ผมจะเขียนบีตอะไรใหม่หมดเลย แล้วดัดแปลงให้เป็น lofi อย่าง artwork ก็มาจากห้องผมเลย
ผมเรียนแจ๊สอยู่แล้ว ผมก็ improvise เอา ดนตรีผมทำไม่นาน แต่ที่นานคือตอนทำอนิเมชั่น ที่เพิ่งมาเริ่มฝึกตอนทำ NFT ตอนแรกแค่วาดรูปเป็นเฉยๆ เลยไปถามเพื่อนว่าทำยังไงให้ภาพมันขยับได้ ถ้าสังเกตนะ งานผมทำเป็นไม่กี่อย่าง อย่างควันบุหรี่ หางแมว ต้นไม้
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
ผมทำ NFT full-time เลยครับ จริงๆ ผมต้องขึ้นปีสี่ แต่ดร็อปมาทำตรงนี้แบบ full-time จริงๆ ผมมีหลายคอลเลกชั่น มีที่เป็นภาพวาดด้วย แต่ยังจับทางมันไม่ค่อยได้ ก็เลยเลิกทำไปแล้ว ตอนนี้เลยมาทำเป็น Lofi Roomies เป็นห้องที่มีมูดต่างกันออกไปตามเพลงเลย ปีหน้าจะมี midi art ด้วยครับ วันแรกที่ผมรู้จัก มันคือตีสองกว่าๆ เกือบตีสาม ผมฟังข่าวงานที่แคปฯ ภาพทวิตเตอร์แล้วขายได้ราคาดี ผมเลยลุกขึ้นมาเปิดคอมพิวเตอร์ศึกษามันเลย ตอนนี้แค่เพิ่งเริ่มเท่านั้น ในอนาคตข้างหน้ายังมีอะไรอีกเยอะเลย
The MATTER: กระแสตอบรับเป็นยังไงบ้าง?
ตอนแรกๆ ยังขายไม่เป็นเลย ผมยังไม่เล่นทวิตเตอร์ด้วยซ้ำ ผมเพิ่งรู้ว่ามันต้องมาโปรโมต แต่งานชิ้นแรกก็มีคนไทยมาซื้อนะครับ พอผมเริ่มลงในทวิตเตอร์ ผลตอบรับค่อนข้างดี ผมลงสัปดาห์ละ 5 ชิ้นได้ ประมาณ 30 นาทีก็หมดแล้ว มันจะมีช่วงที่หายไปด้วย ขายไม่ออกไปเดือนสองเดือน แต่มันก็ได้เกินคาดที่ผมคิดไว้แล้ว ตอนแรกกะว่าได้เดือนละหมื่นกว่าสองหมื่นก็พอแล้ว พอผมได้มาเยอะมาก ผมซื้องานคนอื่นมาขายต่อ มันเกินคาดผมมากๆ ต่อให้เดือนนี้ผมขายไม่ได้ ผมก็ยังทำต่อ
มันไม่ได้มั่นคงว่าจะได้เดือนเท่านั้นเท่านี้เป๊ะๆ มันมีเดือนที่ได้เยอะ เดือนที่ไม่ได้เลย มันอาจไม่ได้เป็นอาชีพได้ขนาดนั้น แต่ผมมองว่าในอนาคตมันอาจเป็นอาชีพได้
ติดตามผลงานของ heart00486 ได้ที่
OpenSea: OpenSea.io
Twitter: twitter.com
Vinylplay
โดย bennyy99
ผลงานคอลเลกชั่น Vinylplay โดย ‘เบนซ์—bennyy99’ นักศึกษามหาวิทยาลัย ผู้ชื่นชอบในดนตรีมากเสียจนลุกขึ้นมาทำผลงานของตัวเอง
The MATTER: เวลาผลิตงานแต่ละชิ้น ส่วนมากได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากไหน?
เบนซ์เลือก record player เพราะมันเป็นสิ่งที่อยากได้มาตลอด อยากมีไว้ติดบ้านสักตัวหนึ่งไว้ฟังเพลง แต่ไม่มีตังค์ครับ (หัวเราะ) ราคาของเครื่องค่อนข้างแพงมากก เลยสร้างของตัวเองไปเลย
เอาจริงๆ เป็นคนที่ชอบฟังเพลงมากๆ เลย ชอบมากถึงขั้นว่า เวลาฟังเพลงอะไรเจ๋งๆ สนุกๆ จะเริ่มแยกเสียงในเพลงนั้นเลยว่า มีเสียงอะไรบ้าง เขาใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง ตอนนี้ก็เข้าปีที่สองแล้วที่เริ่มหัดทำดนตรีเอง เรียนรู้กับมันมาตลอด ถือว่าเป็นงานอดิเรกเลยก็ว่าได้ (หัวเราะ) ในระหว่างที่ทำดนตรีก็ได้ฝึกเรียนปั้นโมเดลแบบง่ายๆ ไปด้วย และได้พี่ชายช่วยเรื่อง shading ต้องขอบคุณพี่ชายเลยครับไม่งั้นผลงานคงน่าจะเป็นภาพนิ่งไปเลย
The MATTER: ปกติแล้ว เทคนิกที่ชอบใช้ในการทำงานมีอะไรบ้าง?
เบนซ์ทำเพลงเยอะมากๆ เลยครับแล้วจะมาเลือกว่าเพลงไหนเราชอบบ้าง เพลงบางเพลงก็ดีบางเพลงก็ไม่ดี อันไหนที่ไปต่อได้ก็จะต่อยอดให้มันเป็นเพลงที่เราชอบไปเลย เรามีไอเดีย เราใส่ได้ทุกอย่างเลยครับ เบนซ์เลือกใช้ FL Studio ในการทำดนตรีทั้งหมด แล้วก็ใช้ Blender ในการปั้นโมเดล
The MATTER: กระแสตอบรับงานดนตรีในตลาด NFT เป็นไงบ้าง?
ตอนนี้ตลาดค่องข้างเงียบเลยครับ การทำเพลงขายในรูปแบบ NFT ไม่ค่อยเป็นที่สนใจสำหรับนักสะสมมากเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่า แพลตฟอร์มที่ผมลงก็ได้ครับ ด้วยความที่ว่า OpenSea ถอดหมวดดนตรีออกไป ทำให้ไม่สามารถจัดประเภทงานของเราไปในหมวดหมู่เพลงได้เลย เพราะงั้นเกิดคนที่เขาสนใจหรืออยากสะสมเพลง เขาก็จะเข้าไปในหมวดหมู่ของเพลง แต่ของสะสมเช่นผลงานของผมจะไม่อยู่ในหมวดหมู่นั้น เลยพึ่งขายจากทวิตเตอร์แทนไปเลย
ติดตามผลงานของ bennyy99 ได้ที่
OpenSea: OpenSea.io
Twitter: twitter.com
Lion Heart
โดย Tachyon.win
ผลงานคอลเลกขั่น Lion Heart โดย ‘วิน—Tachyon.win’ ที่มีอาชีพคลุกคลีในวงการดนตรีมานาน อยากส่งต่อพลังบวกและความรู้สึกดีๆ ผ่านผลงาน NFT ที่สื่อสารได้ทั้งภาพและเสียง
The MATTER: เวลาผลิตงานแต่ละชิ้น ส่วนมากได้ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากไหน?
ผมเองเป็นคนที่เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า งานเพลงอาจเปลี่ยนชีวิตคนได้ และมันเปลี่ยนชีวิตผมมาก่อน เวลาทำเลยใส่ความรู้สึกอะไรบางอย่างเพื่อให้คนรู้สึกเหมือนเรา อย่างงาน Lion Heart เนี่ย ความรู้สึกกำลังท้อ แต่เราก็มีใจที่สัมผัสได้ว่า ต่อให้เราอ่อนแอ แต่เราก็สามารถมีจิตใจที่กล้าหาญได้เหมือนราชสีห์ เป็นเพลงที่ผมให้กำลังใจตัวเอง
เพลงนี้ไม่ได้แค่แสดงความรู้สึกที่ผมมี แต่ผมเชื่อว่าคนที่เสพงานนี้จะได้พลังบวกไปด้วย มันเลยเริ่มต้นจากตรงนี้ ที่ผมอยากให้คนฟังได้รับความรู้สึกแง่บวกไปด้วย เพราะถ้าหากมันไปเปลี่ยนแปลงชีวิตใครสักคน ผมว่างานนั้นมันประเมินค่าไม่ได้
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
หลักๆ จะมีอยู่สองเรื่องเลย เรื่องแรก ผมมองว่า NFT มันเป็นตลาดที่ใหม่ คนจะให้ความสนใจ พอเราเข้าไป มันเป็นช่องทางสื่อสารที่ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น พอเข้ามาปุ๊บ สายวาดรูปก็อยากรู้จักผมเยอะเลย มันไม่เคยมีคอมมูนิตี้ไหนทำได้มาก่อน สายวาดรูปก็จะวาดรูปไปเลย คนที่ทำเพลงก็ทำเพลงอย่างเดียว ไม่ค่อยเจอกัน ผมเชื่อว่าในอนาคตมันเป็นโอกาสที่ทำให้คนรู้จักเรา
เรื่องที่สอง ผมมองว่าบล็อกเชนมันทำให้ศิลปะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในมุมมองของผมนะ ก่อนจะมีระบบบล็อกเชน สมมติดู YouTube หรือดูอะไรที่เป็นยอดวิว คนจะตัดสินคุณค่าจากยอดวิว แต่ NFT ไม่ใช่ มันจะตัดสินจากคนที่พร้อมให้คุณค่ากับมันมากที่สุด อาจจะเป็นคนเดียวในโลกก็ได้ ถ้าเขามองว่ามันมีค่า 5 ETH หรือ 10 ETH เขาพร้อมจะจ่ายให้มัน ในแง่ของซาวด์แทร็กนะครับ แต่ก่อนมันจะออกแนว เพลงที่ดีคือเพลงที่มีคนฟังเยอะ แต่มันก็ไม่ใช่เสมอไป นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นมาตั้งนานแล้ว
The MATTER: กระแสตอบรับงานดนตรีในตลาด NFT เป็นไงบ้าง?
ตอนแรกผมค่อนข้างใหม่ เลยปล่อยออกไปเป็นชิ้น ไม่ได้ป็นคอลเลกชั่น แต่พอปล่อยออกไป ได้รับความสนใจประมาณหนึ่ง ผมก็พอเข้าใจผู้บริโภคแล้ว เริ่มรู้ว่าเขาจะซื้อเพราะอะไรบ้าง น่าจะต้องมีกลยุทธ์บ้างแล้วล่ะ ตัวแรกที่ปล่อยไปก็ถือว่าให้คนได้รู้จักเราว่ามีคนทำเสียงด้วยนะ
“โดยภาพประกอบจะเป็นของพาร์ตเนอร์ ส่วนผมตั้งตัวไว้ว่าผมทำแค่เสียงนะ เรื่องภาพผมไม่รู้เลย จริงๆ ผมเคยมีประสบการณ์ปล่อยเพลง ปล่อยงานลง YouTube มาก่อน เลยคิดว่าภาพสำคัญมาก อย่างแพลตฟอร์มวิดีโอ คนไม่ได้ฟังเพลงอย่างเดียว มันจำเป็นต้องมีภาพด้วย พอมี NFT มาผมเลยคิดว่าต้องทำซาวด์แทร็กที่มีภาพด้วย ให้คนได้รู้ว่าเรากำลังจะสื่อออกไปยังไง
ติดตามผลงานของ Tachyon.win ได้ที่
Foundation: foundation.app
Twitter: twitter.com