ในตอนเด็ก หลายคนคงเคยได้หยิบกระดาษสีมาตัดแปะในห้องเรียนวิชาศิลปะกันมาบ้าง เทคนิกนี้ ไม่ได้มีไว้ฝึกกล้ามเนื้อของเด็กเพียงเท่านั้น แต่สามารถใส่ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเล่าเรื่องได้ด้วย วีธีการคอลลาจ หรือ ‘collage art’ เป็นเทคนิกที่ตัดแปะองค์ประกอบต่างๆ จากหลากหลายที่มา เอามารวมกันไว้ในที่เดียวกัน อาจมีทั้งหลายวัสดุ หลายพื้นผิว ที่คุ้นตาที่สุดคงจะเป็นการตัดแปะจากนิตยสารต่างๆ มาสร้างเป็นองค์ประกอบใหม่ อาจมีการวาดและลงสีเข้าไปประกอบด้วย
นานวันเข้า การคอลลาจขไม่ได้จำกัดอยู่บนการใช้วัสดุจริงที่จับต้องได้เท่านั้น งานศิลปะดิจิทัลก็สามารถใช้เทคนิกคอลลาจได้เช่นกัน ด้วยความกว้างใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราหาวัสดุและองค์ประกอบ มาร้อยเรียงเป็นงานคอลลาจได้แบบไม่จำกัด ยิ่งทำให้เราได้เห็นงานคอลลาจในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น
เราเลยอยากชวนทุกคนมาส่องผลงาน 5 ศิลปินคอลลาจ NFT ที่มีการนำองค์ประกอบจากที่ต่างๆ มาร้อยเรียงเล่าเป็นเรื่องราวใหม่ในรูปแบบของตนเอง แม้เราจะเห็นว่าเทคนิกนี้คือการตัดแปะเหมือนกัน แต่ผลงานของแต่ละคนนั้น ต่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง และถูกถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองที่แตกต่างกัน
The Parallel
โดย nvntayoth
หน้ากระดาษที่บรรจุความเซอร์เรียลไว้อย่างเต็มเปี่ยม ผลงานจาก ‘ภูมิ–นันทยศ หันจันทร์’ ที่งานส่วนใหญ่ของเขาจะมักจะเกิดจากหน้ากระดาษที่จับต้องได้จริง ด้วยเทคนิก analog collage
The MATTER: งานคอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากอะไร?
“ภาพรวมของงานคอลลาจที่ทำจะเน้นไปทาง surreal landscape ครับ ไอเดียของงานส่วนใหญ่จะได้มาระหว่างที่กำลังเปิดหนังสือหารูปมาทำงาน พอเจอรูปภาพที่เราสนใจแล้วก็จะมาคิดต่อว่าเราสามารถเพิ่มรายละเอียดหรือตัดทอนอะไรออกไปได้อีกบ้าง คิดและทำไปด้วยในเวลาเดียวกัน หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น
“แต่บางครั้งก็จะมีคอนเซปต์งานไว้ก่อนแล้ว อาจเป็นแค่คำหรือประโยคสั้นๆ หรือมาจากเหตุการณ์ที่พบเจอในสังคมหรือชีวิตประจำวัน เพื่อเอาไว้ไกด์หรือวางขอบเขตของงาน โฟกัสกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารจริงๆ ไม่ให้งานเราดูออกทะเลมากเกินไป
“ส่วนผลงานชุด Fragments เป็นโปรเจกต์ที่ชาเลนจ์ตัวเองให้ใช้แค่เศษกระดาษที่เหลือจากงานชิ้นก่อนๆ มาประกอบร่างเป็นงานชิ้นใหม่ครับ เพราะทุกครั้งที่ทำงานคอลลาจจะมีพวกเศษกระดาษที่เราต้องทิ้งค่อนข้างเยอะ เลยใช้เวลารวบรวมเศษกระดาษอยู่สักพักนึงหลังจากนั้นก็เริ่มทำงานและรวมผลงานทั้งหมดไว้ในสมุดสเกตช์เป็นโปรเจกต์ระยะยาว รีไซเคิลขยะไปในตัว รูปแบบและสไตล์ของงานชุดนี้ก็เลยแตกต่างจากผลงานชิ้นก่อนๆ ที่เคยทำไว้อย่างสิ้นเชิงแต่ก็สนุกมากครับ เหมือนเป็นอีกด้านนึงของเหรียญ ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เยอะเลย”
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจลงขายในตลาด NFT?
“ศิลปินได้มีวิธี ทางเลือก และตลาดใหม่ๆ สำหรับขายผลงานและแสดงงานของตัวเองมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อน ที่เราอาจจะมีตัวเลือกในการขายผลงานของเราแค่ไม่กี่แบบ คือ งาน physical และ print ส่วนกระแส metaverse ก็ทำให้โลกของ NFT ดูน่าสนุกและน่าสนใจขึ้นอีกมาก”
The MATTER: กระแสตอบรับเป็นไงบ้าง?
“กระแสตอบรับค่อนข้างดีครับ ได้เจอคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ที่ศิลปินไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็พร้อมเข้ามาช่วยกันซัพพอร์ตคนอื่นๆ และแชร์งานให้กันตลอด ทำให้มีคนเข้าถึงและเห็นผลงานของเราเยอะขึ้น โอกาสที่ศิลปินหน้าใหม่หรือคนที่แค่ทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรกจะสามารถสร้างรายได้จากผลงานของตัวเองและประสบความสำเร็จในอนาคตก็ดูจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว”
ติดตามผลงานของ nvntayoth ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: www.instagram.com
Twitter: twitter.com
collage – by Dev482
โดย Dev482
ผลงานคอลเลกชั่น collage – by Dev482 จาก ‘เปรม–อิสระ เทวาหุดี’ อาร์ตไดเรกเตอร์และกราฟิกดีไซเนอร์ที่พาเรากลับไปสู่ยุคเรเนสซองส์และบาโรก ผ่านความเซอร์เรียลของชิ้นงานภายใต้ชื่อของ Dev482 โดยหยิบเอาข่าว ภาพถ่าย ดนตรี และหนัง มาเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องราว
The MATTER: ส่วนมากเลือกใช้เทคนิกไหนในการทำงาน?
“ด้วยความสนใจที่หลากหลายประกอบกับทักษะในการใช้โปรแกรมในการทํางาน จึงเลือกใช้เทคนิก digital collage เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานของ Dev482 ครับ เพราะมันจะสามารถตัด ติด ซ้อนทับ ประกอบร่างความสนใจหลายๆ อย่างของผมเองเข้าด้วยกันได้
“ซึ่งผมคิดว่ามันก็สะท้อนความเป็นจริงและการเป็นอยู่ของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งเปิดกว้างมาก และในวันวันหนึ่งเราได้รับข้อมูลจากทุกอย่างอยู่แทบจะตลอดเวลา สมมติบางวันเราออกไปข้างนอกเจออะไรน่าสนใจเราก็จะถ่ายเก็บไว้ หรือเจอภาพเขียน ที่เราชอบจากยุคเก่า เราก็จะบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อนํามาสร้างสรรค์งานศิลปะต่อ”
The MATTER: ทำไมถึงตัดสินใจลงขายในตลาด NFT?
“โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันดีในแง่ของการสร้างคอมมูนิตี้ของศิลปิน บางคนรวมถึงตัวผมเองก็ได้เห็นงานที่หลากหลายสไตล์ และมองเห็นโอกาสที่กว้างขึ้นไปอีกสเต็ปในการทํางาน”
The MATTER: กระแสตอบรับเป็นไงบ้าง?
“ปัจจุบันผมกําลังอยู่ในช่วงทดลองลงงานและศึกษาตลาด NFT คิดว่าเป็นช่องทางอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการขายงาน ผมคิดว่าตลาดนี้มันก็ดูสนุกและมีประโยชน์มากในการหาและเรียนรู้เทคนิกใหม่ๆ รวมถึงเทคนิกเรื่องการขายและนําเสนอผลงานด้วย”
ติดตามผลงานของ Dev482 ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: www.instagram.com
Wink Card
โดย COLLAGECANTO
ผลงานคอลเลกชั่น Wink Card จาก COLLAGECANTO ศิลปินอิสระ ที่ตอนนี้มีงาน NFT 2 คอลเลกชั่น คือ My micro collection_my micro food และ Wink card ที่เราได้ส่งสายตาปิ๊งๆ ให้กับดวงตาที่อยู่บนการ์ด
The MATTER: งานคอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากอะไร?
“เดิมคืองานนามบัตรทำมือที่ตั้งใจทำเก็บไว้สำหรับให้ลูกค้าและขายในบางโอกาส เราใช้เทคนิกคอลลาจและตัดกระดาษ ตัดแปะทีละใบ บางส่วนก็แจกไปบ้างแล้ว พอดีอยากทำคอลเลกชั่นใหม่ก็เลยคิดว่าน่าจะหยิบลายจากนามบัตรที่มีอยู่มาทำ และลองใส่กิมมิกเล็กๆ ลงไปด้วย ก็มาลงเอยที่การทำเป็น animated GIF ให้ตัวละครในงานเราขยิบตาได้ จนในที่สุดก็กลายเป็นคอลเลกชั่น Wink card ค่ะ”
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
“เราลองทำ NFT เพราะเห็นเพื่อนๆ ทำกันแล้วก็สนใจค่ะ เราคิดว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการทำ NFT คือมันช่วยทำให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องกังวลมาก และงานมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เราได้คอมมูนิตี้ใหม่ๆ นอกจากจะเพิ่มช่องทางให้มีคนเห็นงานของเราแล้ว เราเองก็เห็นงานของคนอื่นมากขึ้น และมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินที่เราสนใจ มันมีความเป็นไปได้มากขึ้นในโลกของ NFT ค่ะ”
The MATTER: กระแสตอบรับเป็นไงบ้าง?
“สำหรับเราเหมือนได้มาเริ่มต้นใหม่ในแพลตฟอร์มใหม่ด้วย ทั้งการโปรโมตและการติดตามครีเอเตอร์และนักสะสม กระแสตอบรับอยู่ในระดับกลางๆ ไม่หวือหวามาก ต้องยอมรับว่าลูกค้าของเราค่อนข้างจะเป็นคนละกลุ่มกับตลาด NFT แต่แน่นอนมันก็เป็นอีกทางเลือกทั้งในการสร้างงานและขายงานของเรา”
ติดตามผลงานของ COLLAGECANTO ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: www.instagram.com
Twitter: twitter.com
DunkDeep Collage
โดย dunkdeepink
งานคอลลาจที่เหมือนกับเราได้บังเอิญเปิดเจอในหนังสือเก่าๆ สักเล่ม ผลงานจาก ‘ดุ๋ย–ศุภฤกษ์ สินเติม’ ช่างสักร้าน Dunk Deep Ink ที่ตอนนี้มีผลงาน NFT ใน OpenSea ทั้งหมด 4 คอลเลกชั่น คือ dunkdeepink, DEEP SHADOW, Crypto Amulets Coin, และ DunkDeep College ที่เราได้เห็นในตอนนี้
The MATTER: งานคอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากอะไร?
“DunkDeep College เป็นงานออกแบบที่เกี่ยวเนื่องมาจากอาชีพที่ตัวเองทำคือช่างสัก และเป็นสไตล์ที่ตัวเองถนัด เรียกว่า collaboration style คือการนำเอาเทคนิกหลายๆ เทคนิกมารวมกันอยู่ในภาพเดียว เช่น ภาพเหมือน ลายเส้น หรืองานแอ็บสแตรก โดยการหยิบยืมองค์ประกอบต่างๆ มาจาก ภาพวาด ภาพถ่าย งานสถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ หรือลายเส้นจากการปาดสีด้วยแปรงพู่กัน นำมาจัดองค์ประกอบให้เหมาะและตามอารมณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งบางงานอาจมีความหมาย หรือไม่มีก็ได้”
The MATTER: เทคนิกส่วนตัวที่ชอบใช้ในงาน?
“ผมมักจะเลือกใช้งานลายเส้นมาเป็นองค์ประกอบเสมอ เหมือนการวาดรูปด้วยดินสอ และมักจะเป็นงานขาวดำ ไม่ถนัดการใช้โปรแกรม ภาพที่ออกมาเลยมักจะไปในทางการดรอว์อิ้งเป็นหลัก”
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
“โดยส่วนตัวมองว่า NFT เป็นอีกช่องทางในการโพสต์งานให้ผ่านสายตาผู้คนมากขึ้น และเพิ่มตัวเลือกในการเข้าถึงงานของเราให้มากกว่าการเป็นแค่รอยสักบนผิวหนัง หรือ แค่วาด แล้วโพสต์ทิ้งไว้ในอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก โดยอาจจะไม่เกิดรายได้ หรือแม้กระทั่งการลงขายใน NFT ถึงจะขายไม่ได้ แต่ก็เป็นอีกเครื่องมือที่เราจะได้โปรโมตผลงาน และได้ทำอะไร วาดอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากวาด ไร้โจทย์ ไร้กรอบ โดยปกติแล้วงานสักต้องออกแบบเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่ไอเดียของเรา 100% และมันก็สนุกดี การขายได้ก็ถือว่าเป็นกำไร”
The MATTER: กระแสตอบรับในตลาด NFT เป็นไงบ้าง?
“ฮ่า ยังขายไม่ออกสักงานครับ แต่ได้ปลอบตัวเองไว้แล้วว่าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทำเอาสนุก แต่บางทีเห็นคนขายได้ ก็อยากจะขายได้เหมือนเขาบ้าง ก็เป็นธรรมดา แต่จุดประสงค์หลักที่สนใจตั้งแต่แรกคือเพิ่มช่องทางในการโปรโมตตัวเองเพิ่มขึ้นเท่านั้นเองครับ ช่วงนี้แทบไม่ได้เข้าไปดู หรือสร้างงานใหม่เพื่อลงเลย แต่ก็ยังคอยอัพเดตกระแสอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีไอเดียใหม่ หรือคอลเลกชั่นใหม่ ก็อาจจะลงเพิ่มเรื่อยๆ ครับ”
ติดตามผลงานของ dunkdeepink ได้ที่
OpenSea: opensea.io
Instagram: www.instagram.com
Twitter: twitter.com
Frame Mood
โดย collage addict1
เรื่องราวมากมายภายใต้กรอบ ผลงานคอลเลกชั่น Frame Mood จาก ‘โย–Collage Addict1’ ที่เราจะได้เสพทั้งความสวยงามขององค์ประกอบและอารมณ์ที่ถูกสื่อออกมานอกกรอบที่กั้นอยู่
The MATTER: งานคอลเลกชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากอะไร?
“งานหลักเราจะได้เเรงบันดาลใจมากเรื่องรอบๆ ตัวที่เจอ ความรัก ความผิดหวัง ความเป็นอยู่ หรือพวกความไม่เท่าเทียม เเนวทางงานเราจะเป็น ‘drama collage character’ หากให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกงานชิ้นล่าสุดที่ลงไวใน Hic et Nunc งานชิ้นนี้ชื่อว่า ‘Love in cage’ คอนเซปต์ว่าด้วยการรักมากเกินไปจากครอบครัว ถูกบีบบังคับ อ้างการกระทำว่า ‘ความรัก’ บางครั้งเป็นเเค่บริบทของการดำรงชีวิต เเต่ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตคนคนหนึ่ง”
The MATTER: ส่วนมากเลือกใช้เทคนิกไหนในการทำงาน?
“เทคนิกที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นดิจิทัล ทำตั้งเเต่ไดคัต (die cut) จากคอมพิวเตอร์ จนถึงเทคนิกฉีกกระดาษ บางชิ้นงานทำงานที่ทำเสร็จเเล้วมาวาดเพิ่ม ตัวอย่าง จากงานที่ชื่อว่า ‘KING OF DEAD LOVE’ งานในแพลตฟอร์ท Foundation หรือเทคนิกการใช้ทรานสิชั่นต่างกับงานในแพลตฟอร์ท OpenSea ที่ชื่อว่า collection ‘Collage Error’”
The MATTER: ตอนตัดสินใจลงตลาด NFT มองเห็นอะไรในตลาดนี้?
“ครั้งเเรกที่ตัดสินใจลงเกิดจากการอยากลองให้คนเห็นงานเรามากขึ้น เพราะงานในเพจเราจะค่อนข้างรุนเเรงเเละจุดยืนชัดเจน เราจึงต้องปรับตัวงานให้ดูเเมสมากขึ้น เเละอยากลงไปลองสู้กับตลาด เพราะใน NFT มีคนเก่งๆ เยอะมาก จึงอยากลงไป เพื่อจะได้มองเห็นข้อเด่นข้อด้อยของเราเเละนำมาปรับใช้ให้ชิ้นงานของเราได้ดีขึ้นกว่าเดิม”
The MATTER: กระแสตอบรับในตลาด NFT เป็นไงบ้าง?
“กระเเสการตอบรับถือว่าดีในระดับหนึ่ง ถือว่ารายได้ที่ได้รับจากการทำ NFT ไม่ได้มากเกินไปเเละไม่ได้น้อยเกินไป ซึ่งตัวงานของเราบางชิ้นใช้เวลาทำงานนาน อาจจะทำให้การสม่ำเสมอของการลงงาน การขาย ไม่ค่อยเเน่นอน บางชิ้นลงไปขายได้เลย บางชิ้นก็ขายไม่ได้เลย ถือว่าสนุกดี ขายได้เราก็ดีใจ ขายไม่ได้ก็ขึ้นชิ้นงานใหม่ปรับให้เหมาะสมที่สุด”
ติดตามผลงานของ collage addict1 ได้ที่
Hic et Nunc: hicetnunc.art
Instagram: www.instagram.com
Twitter: twitter.com