คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยกับชิ้นงาน NFT Art เป็นภาพคาแรกเตอร์สุดไฮป์ doodle งานละเอียด หรือผลงานวาดอื่นๆ ในแนวที่เราคุ้นเคย แต่ตลาดนี้ยังกว้างใหญ่กว่าที่เรามองเห็น เพราะเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ไม่ได้ตั้งแผงกันแค่งานวาดเจ๋งๆ แต่ยังมีสารพัดของแปลก ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น พาให้ชวนตั้งคำถามว่า “แบบนี้ก็มีด้วยหรอ?”
หูของฟานก็อกที่ถูกตัด สำเนาบัตรประชาชนคนที่ไม่มีตัวตน เฟอร์นิเจอร์หลอน อวัยวะเป็นชิ้น ทั้งหมดนี้สามารถหาได้ในตลาด NFT Art เช่นกัน ใครมาสายของแปลก ไม่เหมือนใครเอาไว้ก่อน ขอเชิญมาชมผลงานของ 5 ศิลปิน NFT ที่พร้อมใจนำเสนอของแปลกสารพัดแบบให้เราได้เลือก
ถ้ามีมาตรวัดความแปลกในใจแล้ว อาจจะแปลกกว่าที่คิดไว้อีกหลายเท่า
Lost Identity Card : สำเนาบัตรประชาชนขนหัวลุก
โดย llYll
ใครจะไปคิดล่ะว่า เราจะสามารถซื้อสำเนาบัตรประชาชน (ของคนที่ไม่มีตัวตน) ได้จากตลาด NFT
หลุยส์-จิรายุส เหลืองรุ่งนภา ที่เพิ่งเรียนจบจากพระจอมเกล้าธนบุรี มาหมาดๆ มาวาดฝีมือให้เราได้ชมในคอลเล็กชั่น Lost Identity Card ที่หยิบเอากิมมิกของอนาล็อกเฮอเรอร์ มาปรับใช้กับผลงาน เพื่อเพิ่มความแปลกปนความหลอน
“ก่อนสร้างอยากทำอะไรที่มันไม่น่าเหมือนที่คนอื่นทำ แรงบันดาลใจมากจาก การสแกนเอกสารสำเนาบัตรประชาชนแล้วมีปัญหาเรื่องเลเซอร์ของปริ้นเตอร์ หรือเครื่องสแกน ทำให้สแกนออกมาแล้วแล้วดูคอนทราสแล้วดูมืดเกินไปหรือสว่างเกินไปทำให้ดูน่ากลัว ดูเป็นอนาล็อกเฮอเรอร์”
เพราะหลุยส์มองเห็นว่าผลงานแนวนี้ยังไม่มีมาก่อนในตลาด การได้ลงมือทำก่อน ยิ่งเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วยตลาด NFT แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายไปเสียทั้งหมด
“ผมมองว่าเป็นไปได้ แต่ว่าก็ต้องพยายามหน่อย เพราะรู้สึกว่าคนขายมีเยอะกว่าคนซื้อ คนที่ขายผลงานได้เท่าที่ผมเห็น จะเป็นประเภทที่ขยันอัพผลงาน การสร้างคอมมูนิตี้ แต่ปัญหาก็มี อย่างการขโมยผลงานมาขาย เลยยังต้องดูกันต่อไป”
ติดตามผลงานของ llYll ได้ที่
Opensea: https://opensea.io/collection/lostidentitycard1-
Twitter: https://twitter.com/myhappywasstole
Instagram: https://www.instagram.com/le.louisalem_
LongRuai Lottery : วันนี้รวย!
โดย MaRuai
ล็อตเตอรี่ไม่ใช่ของแปลกสำหรับชีวิตจริงของเรา แต่บนโลก NFT ก็สามารถมีล็อตเตอรี่ได้เหมือนกันงั้นหรอ? ผลงานจาก MaRuai ผู้อยากเห็นชิ้นงาน NFT เป็นได้มากกว่าของสะสมหรือเก็งกำไร
“เริ่มจากที่ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วงาน NFT เป็นได้มากกว่าการสะสมไหมนะ เป็นได้มากกว่างานภาพวาดศิลปะไหมนะ ด้วยสิ่งที่กำหนดรูปแบบของงานศิลปะเอาไว้ มันถูกทลายลงในโลก NFT มันมีความสนุก มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ศิลปะยุคก่อนๆ ไม่สามารถทำได้”
เราเลยได้เห็นล็อตเตอรี่ NFT ในชื่อ ‘LongRuai Lottery’ ที่แม้จะย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนโลกดิจิทัลหรือจะมองว่าชิ้นงาน NFT กลายร่างเป็นล็อตเตอรี่ก็ตาม แต่ใจความสำคัญของมันจะยังคงอยู่ที่ความรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้ซื้อไป ไม่ว่าจะในแง่ NFT หรือ หวยก็ตาม
“ผมเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง แต่อยากจะเข้าถึงคนซื้อ ให้เขารู้สึกอะไรกับงานของเราบ้าง อย่างล็อตเตอรี่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ เข้าใจมันได้ อย่างเวลาที่เราซื้อมาใบหนึ่ง มันให้ความรู้สึกที่หลากหลายกับเรามากๆ เลย มันไม่ถูกให้คุณค่าในเชิงศิลปะ แต่ถูกให้คุณค่าในเชิงการพนันด้วยซ้ำไป
ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อมาเราลุ้น เราตื่นเต้น เราอาจจะดีใจหรือเสียใจ ความรู้สึกระหว่างทางเหล่านี้มันโคตรอาร์ตเลย มันคือศิลปะที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ ที่เรามองข้ามมันไป”
ติดตามผลงานของ MaRuai ได้ที่
Opensea: https://opensea.io/collection/longruailottery
Twitter: https://twitter.com/ruckkids
Muybridge and Me : เฟอร์นิเจอร์เขย่าขวัญ
โดย Jnnamet
Jnnamet หรือ แต๊บ-สุทธิศักดิ์ กลิ่นแก้วณรงค์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ เจ้าของผลงานเฟอร์นิเจอร์เขย่าขวัญ ที่เลือกเอาบรรยากาศขมุกขมัวในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มาประกอบเป็นผลงานแต่ละชิ้น เราจึงได้เห็นการเอาสิ่งอื่นๆ ที่ไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ มาประกอบร่างอยู่ด้วยกันอย่างแนบเนียน เหมือนกับช่วงเวลานั้นที่มีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย
“ปกติเป็นคนชอบคิดว่าถ้าภาพถ่ายเก่าๆ ที่เราเห็น มันเคลื่อนไหวได้ จะเป็นอย่างไร? จะเป็นอย่างที่เราคิดไหม? ในคอลเลคชั่น Muybridge and Me เลยใช้เทคนิคหลักๆ จากการนำภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม ภาพถ่ายแขนขาของตัวเอง ไปจนถึงภาพจากหนังสือเก่า
เอามายำจนเกิดของแปลกๆ ขึ้นมาใหม่ และทำให้ภาพมันเคลื่อนไหวได้ เหมือนปลุกให้ภาพมีชีวิตขึ้นมา คือภาพเคลื่อนไหวที่ได้จริงๆแล้ว มาจากภาพนิ่งหลายๆภาพ เอามาเพิ่มแสงเงา ปรับแต่งให้เป็นบรรยากาศที่คิดไว้ทีละภาพ”
เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่เราเห็น จึงเป็นการสร้างขึ้นใหม่จากสิ่งเก่า จับมันขยับนิดขยับหน่อย จนออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ปนความหลอน แม้การขายของที่ไม่คุ้นตานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตลาด NFT นี้ก็สามารถเปิดโอกาสให้กับทุกไอเดียได้แบบไร้ขีดจำกัด
“ได้รับการตอบรับพอประมาณครับ ทำให้รู้ว่างานในรูปแบบของเรายังมีคนที่ชื่นชอบ เข้าใจในสิ่งที่เราจะสื่อสารไป และรู้สึกสนุกไปกับภาพเคลื่อนไหวของเรา อย่างที่บอกว่า NFT เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์และเข้าถึงกลุ่มเพื่อศิลปินด้วยกันและนักสะสมจากทั่วโลกมันเลยเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มันเลยทำให้มีการพัฒนา เอาไปปรับใช้ในการสร้างงาน จนเกิดช่องทางในการเข้าถึงนักสะสมได้เป็นอย่างดี”
ติดตามผลงานของ Jnnamet ได้ที่
Opensea: https://opensea.io/collection/muybridgeandme
Twitter: https://twitter.com/jnnamet
Instagram: https://www.instagram.com/j_nname_t/
Ha_Ning+_Mini Organs : ตา ลิ้น จมูก ปาก อวัยวะเป็นชิ้นๆ
โดย Ha_Ning
Haningwaslost หรือ หนิง-ศนิกุล Interior Architect มีผลงานบน Opensea ในชื่อ Ha_Ning+_Organs ที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากความเครียด วาดเส้นจากเหตุการณ์เจ็บปวดที่ต้องเจอ ให้ออกมาเป็นภาพที่เราสามารถสัมผัสความรู้สึกเจ็บปวดแต่งดงามนี้ได้
แต่ Ha_Ning+_Mini Organs ที่เป็นอวัยวะชิ้นเล็กชิ้นน้อยนี้ กลับอยู่ในฝั่งตรงข้ามกัน เพราะมันเป็นพื้นที่ให้หนิงได้ผ่อนคลาจากการวาดในคอลเลคชั่นหลัก แต่ความรู้สึกที่สัมผัสได้นั้น มันค่อนข้างเด่นชัดไม่ต่างจากคอลเลคชั่นหลักเลย
“เรา drawing สานเส้นจริงๆ เลย เราเลือกสีแดงเพราะอยากให้ดูเจ็บปวดจริง แล้วอยากให้ภาพสื่อสารกับคนดูได้ง่าย เราจะคิดตลอดว่า Core ของงานนี้คืออะไร ทำยังไงให้เค้าสงสัยในงานเรา”
จากงานภาพชิ้นใหญ่ที่มีองค์ประกอบหลากหลาย สู่อวัยวะรายชิ้น ที่ถูกหยิบจับมาเป็นพระเอกเพียงชิ้นเดียวต่อหนึ่งงาน แต่ยังคงให้ความรู้สึกถึงความเจ็บปวดไม่ต่างกัน กระแสตอบรับของคอลเลคชั่นนี้เป็นอย่าไรบ้าง?
“กระแสตอบรับดีมาก ไม่คิดว่าคนจะชอบเยอะ แต่พอมาลงให้โลกเห็นแล้วใจฟูมาก ฝรั่ง ญี่ปุ่น เสปน อินเดีย มาทุกชาติเลย เราประทับใจมากๆ และเพื่อนใหม่คนไทยก็ช่วยกันสุดๆ ประทับใจ NFT Commutiny มากๆ ค่ะ ตอนนี้ทำมา 2 เดือนกว่าแล้ว จากที่ว่าจะเอางานที่เคยวาดมาขายเฉยๆ ต้องวาดใหม่ทุก 2 วัน เพราะมีคนคาดหวัง รอดู รอสะสมอยู่”
ติดตามผลงานของ Ha_Ning ได้ที่
Opensea: https://opensea.io/collection/haningminiorgans
Twitter: https://twitter.com/haningwaslost
Instagram: https://www.instagram.com/haningwaslost
AREEYA FREAK SHOP : ร้านขายสารพัดของแปลก
โดย AREEYA_FREAK_SHOP
ผลงานจาก จ๊ะจ๋า-อารียา ใฝ่โสภา ศิลปินอิสระ ที่ตอนนี้กำลังทำหาแรงบันดาลใจหาข้อมูลเขียนหนังสือสักเล่ม พร้อมวาดภาพประกอบด้วยตัวเอง โดยคอลเล็กชั่นที่เราเห็นนี้ ร้านขายของแปลก ‘AREEYA FREAK SHOP’ ที่เราจะได้เห็นสารพัดของแปลก อย่างหางนางเงือก หูของฟานก็อก และอื่นๆ อีกมากมาย โดยคอลเล็กชั่นนี้จะเป็นซีรีส์ยาว เปลี่ยนโลเคชั่นที่ตั้งของร้านไปเรื่อยๆ ตาม Road Map แต่กว่าจะเดินทางได้ในแต่ละก้าวนั้น เราไปสรรหาของแปลกเหล่านี้มาจากไหนบ้าง?
“มันมาจากการมองโลกของจ๋าในตอนนั้น ว่าทุกคน ทุกสิ่งบนโลกล้วนแตกต่างกัน แต่กลับอยู่ร่วมกันแล้วสวยงาม มันเลยคิดคำหนึ่งออกมาได้ว่า ‘Different is Beautiful’ มันต้องมีสักที่นึง ที่ทุกคนสามารถเดินเข้ามาแล้วมีของไว้สำหรับทุกคน
จ๋าทำด้วยความสนุกมากและจริงจังมาก หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต คุยกับผู้คน เพื่อหาไอเดียที่นอกเหนือจากความคิดตัวเอง เพราะจ๋าจะมีสมุดสเก็ตช์ส่วนตัวที่วาดอะไรแปลกๆเพี้ยนๆ สิ่งของบ้าง สัตว์บ้าง แต่ไม่เคยให้ใครดู รู้สึกเขินๆ เหมือนไอเดียเด็กๆ ใครจะไปคิดว่าวันนึงจะต้องเอามาใช้ในโลกที่กว้างมากๆ อย่าง NFT”
นั่นหมายความว่า ตลาด NFT Art สามารถเปิดทางให้กับทุกผลงาน แม้ว่าจะเป็นภาพวาดชิ้นเล็กๆ ที่มาจากไอเดียเพี้ยนๆ จนไม่กล้าเปิดให้ใครเห็นในสมุดสเก็ตช์ ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตรงนี้ได้
“จำได้ว่าลงงานไปแค่วันสองวัน ขายได้ครั้งแรก 7 ชิ้นเลยค่ะ เป็นคนไทยเขาทักมาส่วนตัวในทวิตเตอร์ บอกเห็นงานแวบแรกแล้วสนใจมาก ไม่ใช่งานตามกระแสหลัก แต่มันน่าเก็บ ตอนนั้นไม่เข้าใจเลย งงมากค่ะ เพราะทำสนองความต้องการ สนองความสนุกตัวเองแทบจะล้วนๆ แล้วที่เห็นจากคนอื่นคือเค้าใช้เวลาในการขาย เราทำใจไว้แล้ว ตอนนั้นดีใจจริงๆค่ะ รีบบอกทุกคนที่ช่วยเหลือเรา บางคนเค้าดีใจยิ่งกว่าเราอีก หลังจากนั้นก็มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา มันเป็นพลังบวกที่ดี ทำให้แน่ใจว่าควรทำทางนี้ต่อค่ะ”
ติดตามผลงานของ AREEYA_FREAK_SHOP ได้ที่
Opensea: https://opensea.io/collection/areeyafreakshop
Twitter: https://twitter.com/areeyafreakshop
Instagram: https://www.instagram.com/jajah_areeya