ท่ามกลางกระแสชายแท้ Red flag ในวงการบันเทิงเกาหลี ฝั่งเกิร์ลกรุ๊ปหรือศิลปินหญิงในวงการเดียวกัน กลับมีกระแสของการพูดถึงการ empowering women หรือคอนเซ็ปต์ของสาวเกิร์ลครัช สาวมั่นใจ สาวไม่กลัว ที่ต่างออกเพลงที่พูดถึงประเด็นเฟมินิสต์ หรือ empowering ผู้หญิงออกมาด้วยกันมาเรื่อยๆ
และถ้าคุณชอบเกิร์ลกรุ๊ป รวมถึงชอบเพลงแนวนี้ The MATTER อยากขอแนะนำมีเกิร์ลกรุ๊ปอย่างวง tripleS (ทริปเปิ้ลเอส) ที่กำลังมาแรง เป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่ในวงการเคป๊อป ทั้งในแง่ของจำนวนสมาชิกที่มีมากถึง 24 หรืออาจเรียกว่ามากที่สุดในบรรดาวงเกิร์ลกรุ๊ป รูปแบบวงที่มีการแบ่งเป็นยูนิต ไปถึงการทำกิจกรรม ที่จะได้รับการโหวตจากแฟนคลับและการขายสินค้าในระบบบล็อกเชน เป็นรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในวงการเคป๊อปเลยด้วย
tripleS : Idol of All Possibilities
tripleS เป็นเกิร์ลกรุ๊ปเคป๊อปที่มีสมาชิก 24 คน ภายใต้ค่าย Modhaus ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ Idol of All Possibilities หรือแปลไทยได้ว่า ไอดอลแห่งทุกความเป็นไปได้ ที่ฉีกกฎความเป็นไอดอลเคป๊อปเดิมๆ โดยระบบของวงนั้นสมาชิกแต่ละคนจะมี S ตามด้วยหมายเลขที่เป็นลำดับในการเข้ามาร่วมวงตั้งแต่ ซึ่งสมาชิกคนแรก หรือ S1 ถูกเปิดตัวตั้งแต่เดือนพฤษฎาคม ปี 2022 ก่อนสมาชิกจะทยอยเข้ามาร่วมวงในระยะเวลาที่แตกต่างกันจนครบ พร้อมมินิอัลบั้ม ASSEMBLE24 และเปิดตัวทั้ง 24 คนครบร่วมกัน
tripleS ใช้เวลาถึง 2 ปี ที่วงสมบูรณ์ และยังเป็นวงที่มีสมาชิกหลายเชื้อชาติ นอกจากสมาชิกชาวเกาหลีแล้ว ยังประกอบไปด้วยชาวญี่ปุ่น 4 คน ชาวจีน 1 คน ชาวไต้หวัน-เวียดนาม 1 คน และเป็นอีกครั้งที่ชาวไทยได้เดบิวต์ในเกาหลี กับคนไทยคนเดียวในวง S22 หรือซอลลิน—พิรดา บุญรักษา
นอกจากการเป็นวงที่มีสมาชิกจำนวนมากแล้ว ค่าย Modhaus ยังตั้งใจสร้างไอดอลเคป๊อปที่มีรูปแบบ decentralize กลุ่มแรกของโลก โดยมีระบบ DIMENSION ที่สมาชิกในวง จะหมุนเวียนระหว่างยูนิตย่อย และกิจกรรมเดี่ยวต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การเลือกจากค่ายว่าใครจะได้อยู่ยูนิตไหน แต่เป็นการกำหนดโดย Gravity หรือก็คือการโหวตจากแฟนๆ
“Modhaus ได้สร้างระบบการกำกับดูแลแบบมีส่วนร่วมของแฟนๆ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน เพื่อนำแฟนๆ เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ” นี่คือคำกล่าวของค่ายต่อคอนเซ็ปต์นี้
กิจกรรมการลงคะแนน หรือ Gravity นี้ จะมีการจัดขึ้นเรื่อย และมีระยะเวลาให้แฟนคลับได้เข้าร่วม เช่น Grand Gravity ที่ให้แฟนๆ โหวตว่าสมาชิกคนไหนควรเดบิวต์ในแต่ละยูนิต และใน Event Gravity ที่ให้เลือกเพลงไตเติ้ลสำหรับอัลบั้มเต็มชุดแรก และไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการโหวตเลือกชื่อแฟนคลับ แท่งไฟของวง ลำดับการปล่อยเพลง รวมไปถึงชื่อสเตจเนมในวงการของสมาชิกบางคนด้วย เรียกได้ว่า ในทุกๆ กิจกรรม แฟนๆ มีสิทธิ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ ซึ่งสำหรับการมีส่วนร่วมในการโหวตนั้น แฟนๆ จะใช้เหรียญโทเคนสกุลเงิน COMO ในการลงคะแนนโหวต
ส่วนเหรียญ COMO นี้ ก็จะเกี่ยวข้องกับอีกกิจกรรมยอดฮิตในวงการติ่งเกาหลีอย่างการซื้อและเก็บสะสมการ์ด ที่สำหรับวง tripleS นั้น สิ่งที่แตกต่างจากวงอื่นๆ คือมีการสะสมการ์ดดิจิทัล ที่เรียกว่า object ในรูปแบบ NFT ผ่านแอปฯ cosmo ที่เมื่อแฟนคลับซื้อการ์ด จะได้รับโทเคน COMO สำหรับการโหวตได้ ทั้งนอกจากการ์ดแบบดิจิทัลแล้ว การ์ดจริงๆ ที่มีการวางจำหน่ายนั้น ยังสามารถแสกนคิวอาร์ให้กลายเป็น NFT ได้ด้วย ทั้งยังสามารถตกแต่งการ์ด และถ่ายรูปการ์ดตามเทรนด์ต่างๆ โดยใช้แอปฯ ได้เลย ไม่ต้องพกการ์ดจริงๆ ไปไหนมาไหน
แน่นอนว่า Modhaus เป็นค่ายเพลงในวงการเคป๊อป แต่ในมุมหนึ่ง ก็มีการมองว่า บริษัทนี้ทำงานคล้ายคลึงกับการเริ่มต้นเทคโนโลยีคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งในด้านคำศัพท์เรื่องคอนเซ็ปต์และระบบต่างๆ ของวงอย่างที่เล่าไปด้านบน ไม่ว่าจะเป็น การเรียกยูนิตว่า DIMENSIONs เรียก NFT เป็น Objekts การใช้สกุลเงินสำหรับการลงคะแนนเสียงหรือโทเคนคือ COMO รวมถึงกิจกรรมการลงคะแนนแบบเปิดคือ Gravity แม้ว่าบริษัทก็ยังคงทำงานด้านการผลิตเพลงและสิ่งบันเทิงก็ตาม
นอกจากการขายการ์ดในระบบดิจิทัล หรือ NFT ที่แปลกใหม่แล้ว ค่ายของ tripleS ยังต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเงินแบบไม่เป็นธรรมให้กับไอดอล ที่โดยปกติการสร้างวงไอดอล 1 วงขึ้นมา มีต้นทุนหลายอย่าง ไม่ว่าจะการทำเพลง ถ่ายเอ็มวี ผลิตอัลบั้ม ไปถึงค่าโปรโมทต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไอดอลเคป๊อป มักได้รับค่าจ้างครั้งแรกหลังจากที่สามารถทำเงินคืนทุนให้กับค่ายได้แล้ว ซึ่งระบบนี้ทำให้แต่ละวง ได้รับเงินค่าจ้างครั้งแรกในระยะเวลาที่ต่างกัน บางวงที่โด่งดังไว อาจจะได้คืนทุน และได้รับเงินอย่างรวดเร็ว แต่กลับบางวง อาจใช้เวลาหลายปี ไปถึงไม่ได้รับเงินเลย ตลอดระยะเวลาการเป็นไอดอลจนถึงการยุบวง
ในขณะที่ tripleS เป็นวงสมาชิก 24 คนและใช้ต้นทุนในการสร้างวงมากกว่า 260 กว่าล้านบาท แต่วงนี้มีระบบจ่ายเงินให้ไอดอลก่อน แม้จะยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน โดยเงินที่ได้จากการขายการ์ด NFT ที่เรียกว่า Objekt ซึ่งมีราคาใบละ 2.99 ดอลล่า หรือ 99 บาทนั้น เงินจะเข้าศิลปินแต่ละคนโดยตรงเลย ตั้งแต่ก่อนและหลังเดบิวต์
ถึงอย่างนั้น ก็มีการถกเถียงว่า อาจมีความแตกต่างของรายได้ระหว่างสมาชิกที่โด่งดังที่ขายการ์ดได้มาก กับสมาชิกคนอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า แต่ก็มีการระบุว่า เงินจำนวนนี้ สมาชิกที่ได้รับความนิยมนั้น อาจจะได้เงินเท่ากับเงินเดือนตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทใหญ่ ในขณะที่สมาชิกที่อาจจะได้รับความนิยมน้อยกว่านั้น ก็ได้เงินในจำนวนที่มากพอ และมากกว่าพนักงานพนักงานใหม่ในบริษัทใหญ่ของเกาหลีด้วย
Girls Never Die, Girls Never Cry
ไม่เพียงแค่คอนเซ็ปต์ สมาชิกวงที่เยอะ และรูปแบบวงที่ไม่ซ้ำใคร แต่ tripleS ยังเป็นที่พูดถึงกับเพลงไตเติ้ลล่าสุด กับเพลง Girls Never Die ที่เนื้อเพลงพูดถึงชีวิตของเด็กสาวที่เผชิญสิ่งต่างๆ ในชีวิต และชวนให้หลายๆ คนได้ย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตในวัยรุ่น ที่อาจจะไม่สวยงาม มีความยากลำบาก แต่ก็ลุกขึ้นมา และมีชีวิตถึงทุกวันนี้
พวกเราจะไปให้ถึงที่สุด และไม่ยอมแพ้ ต่อให้ล้มลง ก็จะลุกขึ้นมาอีกครั้ง
Girls Never Die, ไม่มีทาง Never Cry
หลังจากเพลงนี้ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพลงนี้กำลังไต่ชาร์ตเพลงเกาหลีขึ้นมาสูงเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าเป็นกระแสที่ดีสำหรับเกิร์ลกรุ๊ปที่มาจากค่ายที่ไม่ใช่ค่ายใหญ่ ทั้งยังเป็นกระแสที่คนฟังต่างมาคอมเมนต์ในมิวสิควิดีโอเพลงถึงความรู้สึกร่วมของการเป็นวัยรุ่น ที่เคยเจ็บปวด และรู้สึกได้รับการปลอบโยนจากเพลงนี้ด้วย
หนึ่งในท็อปคอมเมนต์ ได้เปรียบเทียบเพลงนี้ของ tripleS กับเพลงของวง New Jeans ที่ทั้งสองวงต่างพูดถึงความรู้สึกของวัยรุ่นในมุมที่แตกต่างกัน “ในช่วงวัยรุ่น (วัยเลข 10) ฉันไม่ได้สดใสและมีพลังเสมอไป ฉันอยู่ในวัยที่มีความกังวลมากที่สุดและได้รับบาดแผลต่างๆ จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในวัยเด็กของบางคนอาจเป็น New Jeans แต่ของฉัน และคนอื่นๆ เป็นเหมือนกับ tripleS ที่แม้ว่าฉันจะรู้สึกเหมือนถูกทิ้ง เจ็บปวด แต่ฉันก็ดิ้นรน อดทนและพูดว่า ‘มาลองกันอีกครั้งเถอะ’ ตอนนี้ฉันกำลังฟังเพลงนี้อยู่…และฉันจะไปให้สุดทาง ฉันจะไม่ยอมแพ้”
อีกหนึ่งคอมเมนต์กล่าวว่า “หลังจากที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศเมื่อยังเด็ก ฉันเกลียดการอยู่บนโลกนี้มาก แต่ฉันคิดว่าวันที่ฉันต้องทนอย่างสิ้นหวังจนไม่อยากตาย ช่วยให้ฉันกลายเป็นคนในทุกวันนี้ ที่ยังต้องการเพื่อมีชีวิต” ทั้งช่องคอมเมนต์ยังได้กลายเป็นเหมือนพื้นที่ที่หลายคนมาพูดถึงชีวิตที่เจ็บปวด และก้าวผ่านมาได้ในช่วงวัยรุ่น และมิวสิควิดีโอเพลงก็ทำหน้าที่ส่งข้อความถึงวัยรุ่น ไปถึงผู้ใหญ่ให้อยู่รอด และเบ่งบานเหมือนกุหลาบด้วย
ซึ่งไม่ใช่แค่เพลงนี้เท่านี้ เพราะเพลงก่อนหน้านี้ ในยูนิตย่อย LOVElution กับ EVOLution ที่ส่งพลังบวก หรือข้อความในการ empowering ออกมาด้วย ซูมิน หนึ่งในสมาชิกพูดถึงเพลงในยูนิตทั้งสองนี้ ที่ปล่อยออกมาในช่วงเวลาพร้อมๆ กันว่า ทั้งสองยูนิตต่างออกเพลงถึงพูดถึงการรักตัวเอง “EVOLution แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง รักตัวเองในแบบคูลๆ เข้มแข็ง และมั่นคง” และเพลงไตเติ้ล Invincible ยังพูดถึงความท้าทายที่ต้องเจอ แต่สุดท้าย เราก็ผ่านมาได้ อย่างเข้มแข็ง ราวกับเพชรเม็ดงาม
ขณะที่ยูนิต LOVElution แสดงออกถึงความรักตนเองอย่างชัดเจนและสดใสขึ้น ผ่านเพลงชื่อ “Girls’ Capitalism” ที่เนื้อเพลงพูดถึงบิวตี้ แสตนดาร์ด หรือค่านิยมความงามว่า ฉันสวย ฉันรักตัวเอง และฉันมีค่านิยมความงามในแบบของฉันเอง โดยมีเนื้อเพลงภาษาอังกฤษที่พูดว่า I love myself อยู่ในท่อนฮุค และสมาชิกวงยังบอกว่า คอนเซ็ปต์ของเพลง คือ “be (you) tiful” (being yourself is most beautiful)
ตามชื่อยูนิต โซฮยอน หนึ่งสมาชิกวงยังบอกว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า LOVElution กล้าประกาศ ‘No Love?’ ตามหลักการของ LOVElution ที่ว่า ‘เรื่องของความรักไว้ทีหลัง’ ตอนนี้ฉันสนใจจะวาด และสร้างเรื่องราวในชีวิตฉันที่เป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองด้วย”
ซึ่งแน่นอนว่า ข้อความเหล่านี้ ก็ทำให้คนพูดถึงความรู้สึกร่วม ไปถึงตัวมิวสิควีดีโอของวง ที่มักฉายภาพของการเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ทำให้คนดู และแฟนๆ รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ และอินไปกับเพลง เหมือนเนื้อหาของเพลง คือหนึ่งในเรื่องราวชีวิตของผู้ฟังด้วย
อ้างอิงจาก