ถึงแม้ว่าในทศวรรษนี้ จะมีเทศกาลดนตรีให้เลือกไปเยือนเยอะกว่าตัวเลขในบุ๊กแบงก์ แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าลิสต์ท็อป 5 เทศกาลดนตรีที่ดีที่สุดในยุคนี้ ต้องมีชื่อ Primavera Sound อยู่แน่นอน นอกจากนี้ บางสำนักข่าวดนตรียังยกให้เป็นเทศกาลดนตรีนอกกระแสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปอีกด้วย
Primavera Sound เป็นเทศกาลดนตรีที่จัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงแดดกำลังดีปลายพฤษภาคม ถึงต้นมิถุนายนของเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน วงดนตรีแทบทุกวงในยุคเคยผ่านเวทีนี้มาหมด ทั้ง Sonic Youth, Pet Shop Boys, The White Stripes, Pixies, Kendrick Lamar, The Cure, Portishead, Tame Impala, My Bloody Valentine ฯลฯ
และจากที่เคยเล่าไปเมื่อรอบที่แล้วถึงช่วงอุ่นเครื่องก่อนเข้างาน และวันแรกของงานที่ฟินจนตัวตาย เราก็อยากพาไปฟังเรื่องของวันต่อไปกันเลย
DAY TWO
จากความเหนื่อยแต่สนุกในวันแรก เราคืนสู่สภาพคนอีกครั้งในวันที่สองของเฟสติวัล วันนี้ไม่มีอะไรต้องรีบมาก เรามาถึงงานตอนเย็นๆ เพื่อไปดู Mitski อินดี้ร็อกหญิงเชื้อสายเอเชียเท่ๆ ที่เวที Pitchfork ซึ่งนางโชว์แบบไม่ต้องบิวด์อารมณ์คนมาก ปล่อยให้คนดูทำความรู้จักกับเพลงเธอเอง
ยืนดูได้สักพักใหญ่ ก็ต้องรีบวิ่งไปเวทีใหญ่เพื่อดู Whitney วงขวัญใจเด็กแนวไทย Whitney โชว์เรื่อยๆ ตามสไตล์เพลงของพวกเขา และเรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดได้ใหญ่โต กับการมีเซอร์ไพรส์ในเพลง Red Moon ที่ Mac DeMarco ขึ้นมาแจม โอ้โห นี่มัน orgasm ของเด็กแนวที่แท้จริง
จากนั้นเราไปขยับเบาๆ สไตล์คนดำต่อกับ Sampha ด้วยความที่ตัวอัลบั้มไม่ได้ครื้นเครงนัก เพราะเน้นฟังๆ เพราะๆ หลับๆ เราเลยมีความหวั่นใจว่ามันจะน่าเบื่อมั้ย สรุปว่า Sampha เอาอยู่มาก มีทั้งช่วงพักให้คนพริ้วเนียนๆ กับช่วงขยับสนุกสนาน เขาปิดท้ายโชว์ด้วยเพลง (No One Knows Me) Like The Piano บัลลาดเศร้าๆ ที่แต่งให้กับชีวิตวัยเด็กและแม่ของเขา
จริงๆ แล้ว ไฮไลท์ของวันที่สองจะหนักอยู่แต่กับที่เวทีใหญ่ หลังจากเรายืนดู The Growlers วงปั้นของ Julian Casablanca แห่ง The Strokes อยู่ไกลๆ ก็ถึงคราว Mac DeMarco ที่คนเยอะมาก
เราไม่รู้ว่าตา Mac DeMarco กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนมาเล่นไทยก็เล่นที่คอสมิคคาเฟ่ มีคนดูแค่น้อยนิด แต่แล้วอยู่ๆ ตอนนี้เขาก็กลายเป็นศิลปินที่ดังที่สุดในค่าย Capture Tracks ถึงแม้จะมีคนค่อนขอดว่าโชว์ของ Mac คนสนใจแค่ว่าเขาจะทำอะไร ไม่มีใครจำหรอกว่าเขาเล่นเพลงอะไร แต่เรายังยืนยันว่า โชว์พวกเขาเป็นวงที่เล่นกันดีและรับประกันความเพราะเหมือนเดิม
นอกจากนี้ยังรับประกันความจัญไรของแท้และแน่นอน มีทั้งเอาเกงเกงในมายัดตูดให้เป็นจีสตริง เอาไฟแช็กมาเผาขนจั๊กแร้ เผาขนเพขรตัวเอง อีมือกลองก็แก้ผ้า เห็นมั้ยว่าโชว์สนุกมาก ฮากรามค้างจนลืมว่ามันเล่นเพลงอะไร อ้าว—ล้อเล่น
เวทีฝั่งตรงข้างถึงคิว The Xx เราใช้สิทธิ VIP เพื่อมายืนอยู่หน้าเวทีใกล้มากระยะดมกลิ่นจั๊กแร้ พวกเขาดีไซน์เวทีให้เป็นกระจกทั้งหมดตรงคอนเซ็ปต์อัลบั้ม I See You และเปิดเวทีด้วยเพลง Say Something Loving เล่นเพลงเก่ากับอัลบั้มใหม่สลับไปมาแบบฟินกันไปข้าง ถ้าใครตามอินสตาแกรมวงนี้จะรู้ดีกว่าพวกเขาเป็นวงที่โรแมนติกกันเองมาก ระหว่างที่เล่นกันอยู่ก็บอกรักกันไปมาตลอดเวลา และที่สำคัญเราได้ฟัง Loud Places ของ Jamie Xx แบบเต็มวงด้วย!
สลับฝั่งมาอีกเวที Run The Jewel ขึ้นต่อ วงดนตรี Hip Hop รุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงมาก พวกเขาทำ Primavera แทบแตกด้วยมวลมหาชนชาวฮิปฮอปที่กินพื้นที่ไปไกลถึงอีกฝั่ง เมื่อความเดือดจบ เรามาต่อกันที่ Jamie Xx ที่มาเล่นแทน Frank Ocean ซึ่งไหนๆ มึงไม่มา กูขอแซวสักหน่อย
ความแสบของ Jamie Xx คือเปิดโชว์เพลง White Ferrari ของ Frank Ocean มิกซ์เข้ากับ I Know There’s Gonna Be (Good Times) และปิดท้ายด้วย Nikes ของ Frank Ocean ที่มิกซ์เข้ากับ Gosh มันซะเลย แสบจริงๆ
จากนั้นเราไปปิดท้ายวันที่สอง ด้วยการไปต่อที่เวที Ray-Ban เวทีที่มีเล่นกันถึงเช้า คนที่ยังไม่ตายก็จะมารวมกันแถวบริเวณเวทีนี้ เราดู Flying Lotus กำลังหวดเพลงอย่างสนุก ชวนตื่นตาด้วยวิชวลหลากหลายรูปแบบ ถือเป็นการปิดวันที่ดีทีเดียว
DAY THREE
เริ่มวันด้วยการบุกเวทีใหม่ ที่ยังไม่เคยไปมาก่อนอย่าง Auditori Rockdelux ที่เป็นโรงละครใหญ่ มีสองชั้นสูงมากและแอร์เย็นย่ำ เพื่อมารอดู The Magnetic Fields ที่คราวนี้ดีไซน์โชว์ให้ออกมาเล่นเป็น Musical ย้อนยุค ดูเรื่อยๆ เพลินๆ จนต้องสะกิดเพื่อนข้างๆ ที่หลับเพลินเหมือนกัน จบจากการพักผ่อน เราวิ่งตรงเข้างานไปดู Weyes Blood นักร้องสาวเสียงละมุนที่ชวนเคลิ้มทั้งโชว์ นางปิดโชว์ด้วยการคัฟเวอร์เพลงของวงรุ่นใหญ่แบบ Can
ดูจบมีเวลาว่างได้เดินเล่นบ้าง แต่เราติดสินใจไปยืนดู Pond ดีกว่า วงนี้คือวงดนตรีไซคีเดลิคแก๊งเดียวกับ Tame Impala เราเคยดู Pond เมื่อสองสามปีก่อนที่สิงคโปร์ ตอนนั้นแรดยังไง ตอนนี้ก็ยังแรดเหมือนเดิม
ยอมรับว่าไม่ได้ฟังอัลบั้มใหม่ของพวกเขาที่เพิ่งออกไปเลย แต่พอดูแล้วประทับใจมากๆ ซาวด์ของพวกเขาจะแรดกว่า Tame Impala พอสมควร บวกกับการแสดงของฟรอนต์แมน ที่เมื่อเป็นไลฟ์แล้ว ต้องบอกว่าควรค่าแก่การไปดูเป็นอย่างยิ่ง
เราไปต่อที่เวทีของ Angel Olsen ศิลปินหญิงอินดี้ร็อกที่ติดอัลบั้มยอดเยี่ยมแทบทุกสำนักในปี 2016 เธอที่มาในชุดเดรสขาวยาว ดูเหมือนชุดงานแต่งป้าสมัย 40 ปีที่แล้ว ตัดฟีลกับเพลงร็อกของนางมาก แต่ให้อภัย เพราะเมื่อนางสับกีตาร์แล้วร้องเมื่อไหร่ จิตวิญญาณร็อกจะเข้าสิงทันที ไม่มีอะไรต้องผิดหวัง
และน่าเสียดายอีกครั้งเราอดดู Hamilton Leithauser อดีตนักร้องนำ The Walkmen เพื่ออยู่ดู Grace Jones ผู้เป็นปูชนียบุคคลของวงการเพลง และเป็นแรงบันดาลใจมากมายให้กับวงการแฟชั่น
Grace Jones มาแบบบอดี้เพนต์เต็มตัว พร้อมเครื่องหัวครบครันงานสร้าง ขณะร้องเพลงอยู่ มีโมเมนต์น่ารักแบบเดินมาจับมือกับแฟนเพลงที่นั่งวีลแชร์ด้วย โชว์ของป้าบ้าพลังมากๆ มีเล่นฮูล่าฮูปประกอบการร้อง เปรี้ยวมาตั้งแต่ดาวดวงไหน ไม่น่าเชื่อว่านี้คือคนอายุจะ 70 แล้ว สมแล้วที่เป็นตัวแม่ของวงการ
เข้าช่วงปลายของเฟสติวัล ช่วงเวลาแบบนี้แหละที่เริ่มเป็นช่วงลำบากใจ เพราะวงมันเล่นชนกันไปหมด เราสาปแช่งผู้จัดงานที่จัดเวลาให้ Arcade Fire เล่นชนกับ King Krule และ Wild Beasts แน่นอนว่าเราเลือก Arcade Fire เพราะรอคอยมาสิบกว่าปี และเป็นโชว์แรกของ Arcade Fire หลังจากปล่อยซิงเกิลแรกในอัลบั้มใหม่ด้วย Arcade Fire เปิดตัวด้วย Wake Up ที่ปกติจะเป็นเพลงเล่นปิด สร้างความฮึกเหิมและน้ำตาคลอไปตามๆ กัน เสียงร้องของคนในบริเวณเวทีใหญ่ ช่วยยืนยันว่าเพลงนี้คือหนึ่งในเพลงชาติของอินดี้ร็อกที่แท้จริง
โชว์ของ Arcade Fire เต็มไปด้วยพลังที่ล้นเหลือ พวกเขาพาเราไปเจอกับเพลงฮิตจาก 4 อัลบั้มแบบบ้าพลัง เล่นเพลง Neon Bible ครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเพลงจากอัลบั้มใหม่สองเพลง เพลงแรกคือ Everything Now และเพลงที่สองคือ Creature Comfort ที่เราฟังครั้งแรกก็รักเลย
Win Bulter นักร้องนำวิ่งลงจากเวที เพื่อบิลด์ความมันให้กับแฟนเพลง ส่วน Regine คือตัวแทนของผู้หญิงที่ไม่ต้องมีดีทางหน้าตา แต่เสน่ห์ล้นเหลือมาก นางคือจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ Arcade Fire ไม่เหมือนวงอินดี้ร็อกทั่วๆ ไป สำหรับเราที่เป็นแฟน Arcade Fire ตั้งแต่ชุดแรก การได้เห็นวงเดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นสิ่งที่ปลื้มปิติไม่น้อย เขียนไป ซับน้ำตาไป
เทศกาลปิดเวทีใหญ่ด้วย Skepta ฮิปฮอปจากอังกฤษ เจ้าของรางวัล Mercury Prize ปีล่าสุด – Mercury Prize คือรางวัลสำหรับอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งเกาะบริเทน แจกเป็นประจำทุกปีให้เพียงหนึ่งอัลบั้ม วงดังๆ แบบ Arctic Monkeys, Pulp, The Xx, Alt-J ต่างผ่านการได้รับรางวัลนี้มาหมดแล้ว
ต้องบอกว่าปีนี้ Primavera มีศิลปินผิวสีเยอะมาก เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา ถือเป็นขาขึ้นของวงการเพลงผิวสีเลยก็ว่าได้ เรายืนดู Skepta อยู่ไกลๆ แต่เห็น Energy คนดูโดดกันบ้าคลั่งมาก
เวทีใหญ่ปิดอย่างเรียบร้อย เรามุ่งหน้าไปเวที Pitchfork เพื่อดูขวัญใจ Post-Punk ลัทธิเสด็จพ่อ Joy Division อย่าง Preoccupations พวกเขาไม่ใช่วงดนตรีเล่น Post-Punk ฮิปๆ ทั่วไป แต่พวกเขาคือสายดุ เล่นดีเยี่ยม กลองเน้นๆ กีตาร์ทึมๆ กับซินธ์เย็นๆ Post-Punk มันต้องดุแบบนี้ล่ะเว้ย มันต้องไม่ประนีประนอมกับอะไรทั้งสิ้น
ในระหว่างนี้ทุกคนไปยืนรอดู Haim ที่มาเล่นเซอร์ไพรส์ เราเคยดู Haim มาแล้วรอบหนึ่งแต่เฉยๆ แต่พอดูคราวนี้ขอคืนคำว่าวงเล่นสดดีขึ้นมาก วงขนเพลงจากอัลบั้มใหม่มาให้ฟังกันเพียบ นักร้องนำทำซึ้งระหว่างโชว์ด้วยการบอกว่า “หลายปีก่อน ชั้นเคยยืนดูวง Darkside อยู่ที่เวทีนี้ แล้วบอกกับตัวเองว่าวันหนึ่ง ฉันต้องขึ้นมาอยู่บนนั้นให้ได้ แล้ววันนี้เราก็ได้ยืนอยู่ตรงนี้แล้ว!” เรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดจากแฟนๆ ไม่น้อย หลังจาก Haim เล่นจบ วง !!! (Chk Chk Chk) วงดนตรี Disco Dance-Punk ก็ต่อให้คนโดดจนจบเฟสติวัล ในสภาพที่เรากลับมาเป็นซอมบี้อีกครั้ง
ตอนนั้นไม่มีแรงจะเต้น ได้แต่นั่งคิดว่าถ้าเงินปลูกได้ก็คงดี จะได้มีเงินมาเฟสติวัลแบบนี้ทุกๆ ปี