เมื่อได้ยินว่านิทรรศการของศิลปินอาว็องการ์ดชื่อดังอย่างยาโยย คุซามะ (Yayoi Kusama) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ‘คุณป้าลายจุด’ กำลังจะจัดขึ้นที่ National Gallery Singapore เราจึงจัดแจงซื้อบัตรเข้างานและจองตั๋วเครื่องบินในทันที
จะไม่ให้ตื่นเต้นได้ยังไง เพราะนี่คือนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคุซามะ ซึ่งรวบรวมผลงานกว่า 120 ชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นตลอด 70 กว่าปีของศิลปินชื่อดัง อีกทั้งยังมีผลงานชิ้นใหม่ที่วาดขึ้นเพื่อนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
อันที่จริงก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้ว่ายาโยย คุซามะคือใคร แต่ได้เห็นชื่อเธอในบทความเกี่ยวกับศิลปะอยู่บ่อยๆ แถมยังได้ฟังเรื่องเล่าจากคนที่เคยไปยืนต่อแถวนานถึง 8 ชั่วโมงเพื่อใช้เวลา 1 นาทีในห้องกระจกของเธอ เพียงแค่นี้ก็รู้แล้วว่าเธอไม่ใช่แค่คุณป้าธรรมดาที่เอาจุดกลมๆ มาใช้แบบสวยเพลนๆ แต่ยังมีอะไรที่ลึกล้ำสะกดคนดูได้กว่านั้นมาก ไปทำความรู้จักกับเธอกัน
ยาโยย คุซามะคือใคร?
‘คุณป้าลายจุด’ คือศิลปินอาว็องการ์ดชาวญี่ปุ่นผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างชื่อเสียงไกลถึงนิวยอร์กตั้งแต่ยุค 60s ด้วยผลงานที่แปลกใหม่ ทั้งยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยลายจุด ตาข่าย ฟักทอง กระจก และลึงค์ ปัจจุบันนี้เธอยังคงสร้างสรรค์ผลงานใหม่ออกมาเรื่อยๆ และรั้งตำแหน่งศิลปินหญิงผู้มีมูลค่ารวมสูงที่สุดในโลก
คุซามะฉายแววศิลปินตั้งแต่ยังเด็ก เธอเริ่มวาดรูปตอนอายุ 10 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เธอเริ่มเห็นภาพหลอนของ “แสงไฟวูบวาบ แสงออร่า หรือลายจุดที่เรียงตัวกันหนาแน่น” ด้วยความกลัวและกังวล เด็กน้อยจึงวาดรูปลายจุดเหล่านั้นลงไปบนทุกพื้นผิวเท่าที่จะหาได้
อันที่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธออาจไม่ใช่เรื่องโชคดีทั้งหมด เพราะชีวิตวัยเด็กของคุซามะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด อย่างที่เธอเองเคยเล่าว่า “ฉันไม่ชอบเซ็กซ์และมีปัญหากับมัน เพราะฉันเรียนรู้เรื่องนี้จากการที่แม่ให้ฉันแอบไปสืบเรื่องพ่อกับชู้ มันทำให้ฉันกลัวเซ็กซ์ไปหลายปีทีเดียว”
เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว คุซามะเกลี้ยกล่อมให้พ่อแม่ผู้ไม่เห็นด้วยยอมให้เธอไปเรียนศิลปะที่เกียวโต แต่เรียนได้ไม่นานเธอก็เบื่อหน่ายกับศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่น แล้วตัดสินใจเดินทางไปนิวยอร์กเพื่อหนีจากสภาพแวดล้อมในวงการศิลปะญี่ปุ่นที่เธอบรรยายไว้ว่า “คับแคบ เลวทราม แบ่งชนชั้น และเหยียดหยามผู้หญิง”
ที่นิวยอร์ก คุซามะสร้างสรรค์ผลงานออกมาผ่านหลายแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ผืนผ้าใบ รูปปั้น ภาพถ่าย วิดีโอ installation art ไปจนถึง happening art เธอกลายเป็นหนึ่งในศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับ art movement อย่าง pop art รวมทั้งถือเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานของ Andy Warhol, Claus Oldenburg และ George Segal ด้วย
ด้วยความเจ็บปวดและมวลหนักๆ ต่างๆ ที่พุ่งพล่านอยู่ในตัว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้งานของเธอไม่เหมือนใครและไม่มีใครที่สามารถทำได้เหมือน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตของเธอไม่น้อย
หลังจากอยู่นิวยอร์กและสร้างงานศิลปะมานานหลายปี ในปี 1973 คุณป้าลายจุดตัดสินใจเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ญี่ปุ่นและยังคงอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน ด้วยปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เรื้อรัง คุซามะสมัครใจย้ายเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชอย่างถาวร แล้วทำสตูดิโอไว้ใกล้ๆ ในระยะเดินถึง เพื่อให้ตัวเองยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ทุกวันตามต้องการ เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ BBC ว่า “…ความใฝ่ฝันอันแรงกล้าที่สุดของฉันคือการเป็นศิลปินต่อไปตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”
นิทรรศการใหญ่ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งที คุณป้าลายจุดจึงขนผลงานชิ้นสำคัญมาแสดงตัวอย่างพร้อมเพียง โดยสถานที่จัดนิทรรศการอยู่บนชั้น 3 ของ National Gallery Singapore แบ่งออกเป็น 3 แกลเลอรี่ คือ A, B, C และจัดเรียงผลงานลำดับตามไทม์ไลน์ชีวิตของคุซามะ ในแกลเลอรี่ A จึงเป็นผลงานระยะแรกเริ่ม
เช่น ผลงานชุด Infinity Nets อันเป็นงานที่สร้างชื่อให้เธอหลังจากจัดแสดงครั้งแรกในมหานครนิวยอร์กเมื่อปี 1959 ช่วงแรกตาข่ายเหล่านี้เป็นสีโมโนโครมอย่างขาวและดำ เช่น White No.28 (1960) ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินหญิงที่มีราคาสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่หลังจากนั้นคุณป้าก็เริ่มใช้คู่สีสดใสอย่างที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน
Infinity Nets คืออะไร?
ภาพตาข่ายนี้เป็นหนึ่งในตัวแทนภาพหลอนที่คุซามะมองเห็น เธอวาดโดยระบายสีพื้นทั่วผืนผ้าใบ ก่อนจะวาดเส้นสายลายโค้งต่อกันอย่างบรรจงจนเป็นเน็ต (ไม่ได้วาดจุดลงไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ) อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของ ‘ความเป็นนิรันดร์’ (infinity) และ ‘การลบเลือนตัวตน’ (self-obliteration) ซึ่งเป็นปรัชญาที่คุซามะเชื่อมั่น ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอที่ชื่อว่า Infinity Nets คุณป้าเล่าถึงความรู้สึกขณะสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ไว้ว่า “ฉันคลุมทั้งผืนผ้าใบด้วยตาข่าย แล้ววาดเลยไปบนโต๊ะ บนพื้น และในที่สุดบนตัวของฉัน เมื่อฉันทำขั้นตอนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตาข่ายเหล่านี้จะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยไร้ที่สิ้นสุด ฉันหลงลืมตัวตน ณ ขณะที่มันกลืนกินร่างกายฉัน โอบรัดแขน ขา เสื้อผ้า และปกคลุมทั้งห้อง”
นอกจากนี้ในแกลเลอรี่ A ยังเป็นที่ตั้งของ The Spirits of the Pumpkins Descended into the Heavens (2017) งาน installation art ที่ให้ผู้ชมโผล่หัวเข้าไปดูด้านในห้องกระจกขนาดจิ๋วซึ่งเต็มไปด้วยฟักทองสีเหลืองลายจุด มองไปเหมือนมีฟักทองอยู่นับร้อยนับพันลูก โดยห้องกระจกนี้ตั้งอยู่ในห้องสีเหลืองลายจุดอีกทีด้วย การเข้าชมห้องนี้ต้องต่อคิวซึ่งยาวแต่ขยับเร็ว เพราะเจ้าหน้าที่ด้านในจะคอยไล่ให้แต่ละคนดูได้ราวๆ 15-20 วินาทีเท่านั้น
ทำไมมีฟักทองเต็มไปหมด?
ฟักทองเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ในงานของคุซามะที่ทุกคนจดจำได้ และปรากฏอยู่ทั่วไปบนภาพวาดในนิทรรศการ ทั้งยังมีรูปปั้นฟักทองจัดวางอยู่ระหว่างแกลเลอรี่ A และ B ด้วย คุณป้ายาโยยเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Louisiana Channel ว่า “ฉันรักฟักทองเพราะรูปทรงตลกๆ และความรู้สึกอบอุ่นของมัน รวมทั้งคุณสมบัติและรูปทรงที่คล้ายกับมนุษย์”
สิ่งแรกที่เราเจอในแกลเลอรี่ B คือห้องที่เต็มไปด้วยกระจกนูน (แบบที่ใช้ดูทางเวลาเลี้ยวรถ) ทั้งบนผนังและบนเพดาน ส่วนจุดถัดไปคือไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้อย่าง Infinity Room – Gleamed Light of the Soul (2008) อีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อของคุซามะ เราโชคดีที่ไม่ต้องต่อคิวรอถึง 8 ชั่วโมง แค่ราวๆ 20 นาที ก็ได้เข้าไปยืนอยู่ท่ามกลางหลอดไฟดวงกลมสีสันต่างๆ แล้ว แต่เสียดายที่ได้อยู่แค่ 20 วินาทีเท่านั้น (เจ้าหน้าที่ที่ดูแลหน้าห้องจริงจังเรื่องเวลามาก ถึงขั้นใช้เครื่องจับเวลาเลยทีเดียว)
ส่วนตัวเราชอบห้องนี้มากๆ เพราะมันทำให้รู้สึกเหมือนยืนอยู่ในอวกาศที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลก็เป็นหนึ่งในธีมที่คุณป้าคุซามะถ่ายทอดผ่านลายจุด เธอเคยให้สัมภาษณ์กับ BBC Newsnight ไว้ว่า “จุดคือสัญลักษณ์ของโลก ของจักรวาล โลกเป็นจุด ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และเหล่าดวงดาวก็เป็นจุด คุณกับฉัน เราก็เป็นจุด”
นอกจากนี้เธอยังเคยเล่าไว้อีกว่า “โลกของเราเป็นเพียงจุดหนึ่งจุดท่ามกลางดวงดาวนับล้านในจักรวาล ลายจุดเป็นหนทางสู่ความเป็นนิรันดร์ เมื่อเราลบเลือนธรรมชาติและร่างกายของเราด้วยลายจุด เราก็จะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสภาพแวดล้อมรอบตัว”
ลำดับต่อไปคือแกลเลอรี C ซึ่งประกอบด้วยภาพวาดชุด Life is the Heart of the Rainbow อันเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ คุซามะเริ่มต้นวาดผลงานชุดนี้ตั้งแต่ปี 2009 และตั้งใจวาดเพียง 100 รูปเท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าคุณป้าแกวาดไปแล้วกว่า 500 รูป โดยในบรรดา 24 รูปที่จัดแสดงในงานนี้มีหลายชิ้นที่เพิ่งจัดแสดงที่นี่ครั้งแรกและมีชิ้นที่เพิ่งวาดขึ้นในปีนี้ด้วย
นอกจากงานบนชั้น 3 แล้ว บริเวณชั้น 1 ของ National Gallery Singapore ยังมีงาน installation art เป็นลูกบอลสีเหลืองลายจุดสีดำขนาดใหญ่ห้อยลงมาจากเพดาน รวมทั้งมีผลงานชื่อดังอย่าง The Obliteration Room ที่ให้ผู้เข้าชมเข้าไปแปะสติกเกอร์สีสันสดใสให้ทั่วทั้งห้อง (สติกเกอร์ไม่ฟรีนะจ๊ะ ต้องบริจาคเงิน ซึ่งเท่าที่สังเกตขั้นต่ำอยู่ที่ 2 SGD ใครจะบริจาคมากกว่านั้นก็ได้ตามศรัทธา)
ที่เราเล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้ามีโอกาสอยากให้ได้ไปดูด้วยตนเองจริงๆ 🙂
Life is the Heart of the Rainbow เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 3 กันยายน 2560 ณ Nationtal Gallery Singapore (Singtel Special Exhibition Gallery, City Hall Wing, ชั้น 3)
บัตรราคา 25 SGD แต่ถ้าต้องการเล่น The Obliteration Room ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ Children’s Biennale อีกนิทรรศการใน National Gallery Singapore เราแนะนำให้ซื้อ All Access Pass ในราคา 30 SGD จะได้ชมงานอย่างทั่วถึง
และขอแนะนำให้ซื้อตั๋วล่วงหน้าที่นี่ เวลาไปต่อแถวรับตั๋วจะรวดเร็วกว่าไปซื้อหน้างานจ้ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
BBC Newsnight Yayoi Kusama Interview
Yayoi Kusama Interview: Let’s Fight Together
Photo Courtesy of Thanawan Mitrpakdee & Matthavee Polveerasurat
Photo cover : All the Eternal Love I Have for the Pumpkins,” 2016, Courtesy of HIRSHHORN MUSEUM