ลูกแมวสองตัวกระโดดไปมาระหว่างเรานั่งจิบชาคุยกัน—ตัวหนึ่งขาว อีกหนึ่งดำ ทั้งคู่เพิ่งถูกโอ๊ต มณเฑียรและคนรักรับมาเลี้ยง โดยเริ่มจากการเพ่งจิตแล้วมองเห็นตัวสีดำก่อน จึงออกตามหาแล้วรับมาเลี้ยง และนี่คือวิธีการใช้ชีวิตของเขา ที่เราอยากพูดคุยให้กระจ่างแจ้งกับตัวเองมากขึ้น
โอ๊ต มณเฑียร คือท็อปลิสต์ในใจเรา ในแง่ของคนที่ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นตัวเองและมีสุนทรียะเสมอ นึกภาพเขาในชุดกรุยกราย นั่งวาดภาพในสตูดิโอกรุ่นกลิ่นกำยาน ในห้องนั้นเต็มไปด้วยหนังสืออาร์ต งานวาด ผ้าม่านลวดลายเอ็กซอติก นกยูงสตัฟฟ์ ของตกแต่งประดามี และสมาชิกห้องล่าสุดคือจระเข้ดองม้วนตัวอยู่ในโหลแก้วใบเขื่อง ฯลฯ หรือในคืนพระจันทร์เต็มดวง เขาจะรับพลังจากดวงจันทร์ ซึ่งส่งผลต่อน้ำ อันเป็น 75% ของร่างกายมนุษย์
หากให้จะนิยาม โอ๊ตเป็นหลายอย่างเท่าที่ใครคนหนึ่งจะหลากหลายได้ เขาคือนักเขียน นักวาด เพอร์ฟอร์มเมอร์ อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ผู้สอนวาดภาพนู้ด ผู้ศึกษาพิพิธภัณฑ์ สมาชิกสมาคมโหรแห่งประเทศไทย เขายังเป็นหลานของหมอผี แถมอยากเป็นแม่มดอีกด้วย
ด้วยแบ็คกราวด์อย่างนั้น—ลูกหลานของหมอผี ผู้ทำงานอาร์ตและไปร่ำเรียนที่ลอนดอน ความแปลกแยกที่รู้สึกทำให้เขาหยิบหัวข้อดังกล่าวมาทำงานวิจัย โดยเชื่อมโยงพิธีกรรมและ performance art ผ่านแนวคิดของศิลปินโดยเฉพาะในช่วง 60s-70s ผลคืองานวิชาการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่เขายึดถือในการดำเนินชีวิตโดยอิงกับพลังของธรรมชาติและดวงดาว ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เกิดก่อนศาสนาและวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน
สำหรับเขาแล้ว การมุ่งหาเหตุผลว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริงไหม ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นมากเท่ากับการศึกษาว่ามันมี effect อย่างไรบ้างกับมนุษย์และสังคม—ซึ่งแน่นอน อย่างน้อยสำหรับเขา มันมี และทรงพลังมากทีเดียว
Life MATTERs : คุณเริ่มเชื่อเกี่ยวกับพลังงานหรือพิธีกรรม หรือเริ่มรู้สึกถึงมันตั้งแต่ตอนไหน
โอ๊ต : มันไม่ใช่ความเชื่อ (หัวเราะ) พระจันทร์ทำให้น้ำขึ้นน้ำลงได้ทั้งทะเลนะ ตัวมนุษย์เรา 75% เป็นน้ำ เราพูดเสมอ มันจะไม่เอฟเฟ็กต์ได้ยังไง ถ้าถามว่ารู้สึกตอนไหน คือโตมากับเรื่องอะไรแบบนี้ตลอด ด้วยความที่ปู่ทวดเราเป็นหมอผี เราโตมากับความเชื่อ พิธีกรรม ถึงจะไม่คุ้นเคยมากแต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตั้งแต่เด็ก
Life MATTERs : ซึ่งพอคุณทำงานศิลปะแล้วยิ่งรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นไหม
โอ๊ต : มาก เรารู้สึกว่างานศิลปะก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง คือลักษณะของพิธีกรรมจะมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน 1 คือ exodus เป็นการออกไปจากที่ที่คุ้นชิน เข้าไปสู่สถานที่ที่เป็น virtual space ขั้นที่ 2 ก็คือการทำพิธีกรรมในพื้นที่พิเศษ ไม่ว่าจะเป็น บ้านหมอผี วัด กลางป่า อย่างชาวกรีกโบราณก็จะออกกันไปกลางป่า ออกจากกรุงเอเธน
ซึ่งพิธีกรรมก็คือการเพ่ง หรือเชื่อมโยงกับวัตถุ สิ่งของ หรือ ภาพลักษณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัวศักดิ์สิทธิหรือว่ารูปเคารพ เราก็จะทำอะไรบางอย่างกับสิ่งของเหล่านั้น เอาจิตเราไปอยู่ในของชิ้นนั้น แล้วทำพิธี เช่น การฆ่า การ sacrifice หรือการลอยกระทง ก็คือการปล่อยสิ่งไม่ดีออกไป
พอเราเอาจิตเราไปอยู่กับของอย่างหนึ่ง แล้วเราก็ทำอะไรกับมัน ไม่ว่าจะปล่อยไป ทิ้งไป เผา หรืออย่างอื่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับของชิ้นนั้น ในขณะเดียวกัน เราจะรู้สึกว่าในตัวเราเนี่ยเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย
พอเปลี่ยนแปลงเสร็จปุ๊บ ก็คือกลับเข้ามาเป็นพาร์ตที่ 3 สุดท้ายคือการ return to the normal society ก็คือการกลับเข้ามาสู่สังคมทั่วไป และใช้ชีวิตอย่างเปลี่ยนไป เพราะผลของพิธีกรรมนั้นๆ แล้วเราก็กลับมาเป็นแม่บ้าน หาเช้ากินคำ่เหมือนเดิม แต่ข้างในเราก็รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
อันนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเกิดขึ้นในงานศิลปะเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ performance art ซึ่งมีคนเคยเขียนไว้ด้วยซ้ำว่า ในยุคโมเดิร์นที่มี white cube (การจัดแสดงศิลปะในแกลเลอรี่ห้องสี่เหลี่ยม) เกิดขึ้น มันกลายเป็นว่าพื้นที่จัดแสดงศิลปะต้องนิ่ง ต้องพื้นขาว กำแพงขาว ทุกอย่างต้อง neutral ที่สุด แล้วให้ตัวศิลปะพูดเอง ดังนั้นการเข้าไปในพื้นที่แบบ white cube ก็คือการตาย เป็น death experience
การเดินเข้าแกลเลอรีคือการเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคย เหมือนออกไปจากร่างปกติ ไปเจอ สัญลักษณ์ของอะไรบางอย่าง เพื่อให้เกิดผลกระทบจากสิ่งนั้น คนก็เคยเปรียบเทียบเรื่องศิลปะกับพิธีกรรม (ritual) ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในยุค 60s-70s ตั้งแต่ Marina เริ่มทำงาน performance หรือ Eve Klein ทำสีน้ำเงิน
หรือพวกสายเฟมินิสต์อย่าง Yoko Ono อะไรงี้เนี่ย ก็จะเข้าใจว่า performance space มันเหมือน ritual space เหมือนการพาคนเข้าไปในพิธีกรรมบางอย่าง คือถ้าเราพูดว่าพิธีกรรม คนอาจจะไม่อินเนาะ ก็เลยใช้คำว่า performane art แทน แต่ถ้าเราดูแก่นของมันแล้ว มันเหมือนกันเลย
โดยเฉพาะ Joseph Beuys ศิลปินเยอรมันที่ขังตัวเองไว้กับหมาป่าโคโยตี้โดยเอาแผ่นหนังหุ้มตัวเอาไว้ เขาก็จะมีโค้ดมีภาษาของเขา โดยตัวเขามี myth ว่าเคยถูกยิงขณะไปเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเขาก็บอกว่าชาวเผ่าช่วยเขาไว้ด้วยขี้ผึ้ง
ซึ่งพอดูในบันทึกแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาโดนยิงตกจริงรึเปล่า แต่ทุกคนก็ เฮ้ย นี่คือ myth ของคนที่ผ่านประสบการณ์ near death experience พอเขามาทำงานเพอร์ฟอร์มที่ขังตัวเองกับหมาป่า มันก็จะเข้าใกล้ความเป็นพิธีกรรมมากยิ่งขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วเวลาผ่านไปหมาป่าตัวนั้นก็เชื่อมโยงและยอมใกล้ชิดกันเขาได้
Life MATTERs : คุณศึกษาเรื่องศิลปะกับพิธีกรรมเหล่านี้มาจากไหน
โอ๊ต : เราทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อะ ก็เลยจะอิน โดยเฉพาะกับแบ็กกราวด์ของตัวเองด้วย ตอนทำเราก็จะคิดว่า อยากจะตอบโจทย์ว่าปู่ทวดของเรากับเรา น่าจะมีอะไรที่คล้ายกัน เค้าเป็นหมอผี เราเป็นศิลปิน อย่างน้อยมันก็น่าจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกัน
เราก็เขียนเรื่องมารินา ไปถึงเลดี้กาก้า การใช้พิธีกรรมในศิลปะร่วมสมัย เรื่องงานพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) อาจารย์เขาก็บอกกับเราตลอดว่าไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องไปกลัว มันไม่ใช่สิ่งใหม่ คนเคยทำมาแล้ว มันโอเค แบ็กกราวด์ของยูอาจจะให้อะไรใหม่ๆ เข้ามาด้วย ก็สนุกดี
แล้วอีกอย่าง เราทำวิจัยเรื่องนี้เพราะเรารู้สึกแปลกแยกจากคนอื่นมากๆ ที่เมืองนอก เขาจะรู้สึกว่าทำไมยูงมงาย เหมือเวลาเรากินข้าวเราก็จุดธูปเรียกเตี่ย ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติมาก (เน้นเสียง) แต่สำหรับเขามันเป็นเรื่อง what the fuck
เราเลยรู้สึกว่าเอ๊ะ หรือจริงๆ แล้ว เราไม่ได้ post modern แบบที่คิด แต่เราอยู่ในโลกสัจจะนิยมมหัศจรรย์เนอะ มีความ magical realism รัฐบาลทหารก็บริหารประเทศได้ แปลกดี (หัวเราะ)
Life MATTERs : พอทำเป็นงานวิจัย ต้องมีคำอธิบายให้สิ่งที่คนมองว่า ‘เหนือธรรมชาติ’ ไหม
โอ๊ต : สมมติมีคำถามว่า “คุณเขียนเรื่องผีได้ยังไง?” โอเค คำอธิบาย มันไม่ได้จะจำเป็นต้องบอกว่าสิ่งนี้มีอยู่หรือไม่มีอยู่ แต่คำอธิบายอาจจะพูดถึง effect ของมัน วิธีที่มันทำงานกับมนุษย์และสังคม เช่น ทำไมคนไปรักษากับหมอผี? คำถามของเราไม่ใช่ว่าทำไมถึงหาย มันไม่จำเป็น เออ ในเมื่อเค้าหายก็คือหาย แต่กระบวนการทำงานของมันคืออะไรล่ะ อย่างงี้ proof มันอาจจะไม่ได้มีแค่อันเดียวแล้ว
แล้วเราค่อนข้างสนใจในพิธีกรรมกับอัตลักษณ์ เราคิดว่าทุกคนล้วนผ่าน ritual ที่ทำให้เขาเป็นเขาในทุกวันนี้ ถ้าย้อนกลับไปมองชีวิตเรา เราจะรู้ว่ามันมีช่วงใดช่วงหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหมือนพิธีกรรมซึ่งมันส่งผลต่ออัตลักษณ์เรา
ไม่ว่าจะเป็นบวช หรือว่าการอกหักอย่างร้ายแรง (หัวเราะ) ร้องไห้ใต้ฝักบัว การเปลี่ยนรูปลักษณ์ตัวเองอะไรอย่างนี้ หรือว่าเป็นเรื่องเชิงโลกีย์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เราว่ามันมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติอะไร แค่เราเรียนรู้ที่ใช้มัน
Life MATTERs : พิธีกรรมอะไรที่ทำให้คุณเปลี่ยนไปมากที่สุดตั้งแต่เกิดมา
โอ๊ต : บวช (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็น ritual ที่เราทำประจำก็วาดรูปนี่แหละ วาดรูปผู้ชาย วาดรูปนู้ด แล้วก็ดูไพ่ ก็ตรงดี ไม่รู้ว่าเราเป็นตามไพ่หรือว่าไพ่เป็นสิ่งที่กำหนดอัตลักษณ์เรา หรือว่าไพ่มันออกมาตามจิตเรา ก็สนุกดี ไม่ได้คิดเยอะ ซึ่งจริงๆ เราเป็นสมาชิกสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เบบี๋แล้วนะ ตอนนั้นน่าจะสัก 11-12 ปี
Life MATTERs : การเป็นสมาชิกสมาคมโหรแห่งประเทศนี่ต้องทำอะไรบ้างคะ?
โอ๊ต : ก็เรียน เรียนดูไพ่ เรียนตาราง 9 เลข ดูฤกษ์ ดูดาว แล้วพอเรียนไปสักพัก เค้าก็ครอบครูให้ ซึ่งเค้าไม่ค่อยครอบครูให้เด็กๆ หรอก พอครอบครูเสร็จก็ไปออกงาน ดูไพ่ตามงานเกษตรแฟร์อะไรพวกนี้ ก็ดีนะ สนุกดี
แล้วในฐานะศิลปิน เราก็ได้ฝึกการอ่านสัญญะ เหมือนเป็น visual excercise การดูไพ่ทาโรต์มันคือสัญศาสตร์จริงๆ ถ้าดูในภาพ อะไรที่มันมาจากด้านซ้ายบน หมายถึงสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของเรา ถ้าเป็นด้านขวา จะเป็นสิ่งที่มาจากตัวเราเอง หรือสังคมใกล้ชิด ถ้าเป็นดาบก็จะอีกความหมายหนึ่ง หรือเอเลเมนต์ไหนอยู่ส่วนไหนของภาพ ก็จะให้ความหมายต่างๆ กันไป
Life MATTERs : นอกจากไพ่ทาโรต์แล้ว คุณยังรู้สึกผูกพัน เชื่อมโยงกับดวงดาวด้วยเหมือนกัน?
โอ๊ต : ไพ่กับดาวจริงๆ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเราดูมันจะมีสัญลักษณ์ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ไพ่บางใบก็จะเป็นสัญลักษณ์ของดาวแต่ละดวง จริงๆ มันก็จะมีตรรกะที่โยงกัน มันก็เลยสนุกไปอีก เราเองผูกพันกับเรื่องดาวมาเสมอ เราราศีมังกร คาบกับราศีธนู เพราะเกิดต้นปี ซึ่งมันลำบาก เพราะว่า เป็นคนที่ต้องเดินทาง ทำนู่นนี่ ทำอะไรเยอะตลอดเวลา ตามแบบคนราศีธนู แต่ใจจริงๆ แล้วด้วยความเป็นราศีมังกรจะอยากจะอยู่ติดบ้าน อยากกลับบ้าน ความทรมานตลอดชีวิตก็บังเกิด อย่างนี้แหละ (หัวเราะ) ก็สนุกดี
แต่เหนือดาวก็คือเรา เราพูดเสมอว่าเราศึกษาได้ว่ามันมีผลอย่างไร ถ้าพูดตามหลักโหราศาสตร์ในฝ่ามือเราเนี่ย มีเนินศุกร์ เนินเสาร์ พุธ อังคาร พฤหัส เนินจันทร์ ครบ นั่นแปลว่าทั้งระบบสุริยะอยู่ในมือเรา เราจะทำอะไรก็เป็นอำนาจของเรา มันไม่ใช่อำนาจของดาว คิดอย่างนี้ก็จะโอเค (หัวเราะ) ไม่แพ้ ไม่ยอมศิโรราบ
มันคือการเข้าใจระบบของโลกนี้ก่อนวิทยาศาสตร์ ก่อนสิ่งที่เราเรียกว่า modern science มันมีหลายวิธีที่พยายามจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ทั้งแร่ธาตุ ดวงดาว เราคิดว่ามันเป็น system เดียวกัน
Life MATTERs : ดูเหมือนว่าหลักการของโหราศาสตร์ จะเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้ในบ้างข้อ
โอ๊ต : มันก็เรื่องเดียวกัน (หัวเราะ) มันคือการเข้าใจระบบของโลกนี้ก่อนวิทยาศาสตร์ ก่อนสิ่งที่เราเรียกว่า modern science มันมีหลายวิธีที่พยายามจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ทั้งแร่ธาตุ ดวงดาว เราคิดว่ามันเป็น system เดียวกัน รวมถึงตัวคนด้วย กายหยาบ กายละเอียด จิต มันมีคลื่นพลังงานที่ดึงให้เราเกิด การเล่นแร่แปรธาตุ
นั่นแหละมันคือการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุ ของพลังงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงดึงดูด การแผ่รังสี เราคิดว่ามันเป็นอะไรที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น เราเลยไม่แปลกใจว่า ทำไมพลังงานของพระจันทร์ถึงอยู่ในไข่มุก ทำไมพลังงานดาวพฤหัสอยู่ในตาเสือ นั่นเป็นพลังงานคลื่นเดียวกัน หรือว่าการใช้หินควอทซ์เพื่อรักษา ปรับสมดุลพลังงาน เราว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย
Life MATTERs : แบบนี้แล้ว คุณมองเรื่องโลกหลังความตายอย่างไร
โอ๊ต : ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าโลกมันเป็นไปตามสิ่งที่เราหวังดีมันก็ดีเนอะ
ก็กลับไปสู่คำถามที่ว่าผีมีจริงไหม เราควรหาเหตุผลหรือเปล่า คือเราก็ไม่รู้ว่าเหตุและผลของมันคืออะไร เราแค่เข้าใจการมีอยู่แล้วมันก็เอฟเฟ็กต์เรา
Life MATTERs : แล้วคุณหวังว่ามันจะเป็นอย่างไร
โอ๊ต : มันก็คงไม่จบมั้ง มันคงเป็นการไปต่อของสิ่งที่เราเรียกว่าวิญญาณ อาจจะเป็นพลังงานบางอย่าง เราเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ตลกเนอะ เราคิดว่าตัวเองแก่กว่ากาย คิดว่าจิตเราแก่กว่ากาย ใหญ่กว่ากายหยาบ รู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น ก็เลยเป็นปัญหามาตลอด เหมือนตอนที่เราทำสมาธิ รู้สึกว่ามันคับแคบ ร่างกายเหมือนเป็นกรงขัง เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คิดว่าตัวเองน่าจะเป็นพลังงานที่ไปได้ไกลกว่านี้
เราเชื่อการมีอยู่ของคนที่ตายไปแล้วด้วย ถึงกายเขาจะตายไปแต่พลังงานเขายังอยู่ อาจจะถูกส่งผ่านทางลูกศิษย์ลูกหา ความรัก สถานที่ เราคิดว่ามันยังคงอยู่ ก็กลับไปสู่คำถามที่ว่าผีมีจริงไหม เราควรหาเหตุผลหรือเปล่า คือเราก็ไม่รู้ว่าเหตุและผลของมันคืออะไร เราแค่เข้าใจการมีอยู่แล้วมันก็เอฟเฟ็กต์เรา
เมื่อมันมีเอฟเฟ็กต์เกิดขึ้น ว่าคนเขาไปหาชาแมน เขาถวายชุดไทย นั่นหมายความว่ามันมีอยู่จริงในแง่นั้น
Life MATTERs : ในขณะที่แฟนคุณ ซึ่งเติบโตมาจากอีกวัฒนธรรม ก็ชื่นชอบในเรื่องพิธีกรรมเหมือนกัน
โอ๊ต : มาก (เน้นเสียง) มากกว่าเราอีก เราว่ามันอยู่ในทุกวัฒนธรรมแหละเพียงแต่ในฟอร์มที่ต่างกัน เค้ามองว่ามันน่าสนใจและบันดาลใจ เค้าชอบดูดาว ชอบหิน เค้ารู้สึกว่าธรรมชาติมัน amazing ซึ่งก็ไม่แปลก นักดนตรีใช้อะไรพวกนี้เป็นแรงบันดาลใจอยู่แล้ว
Life MATTERs : อีกอย่างหนึ่ง เราแวดล้อมด้วยหลายศาสนาเหลือเกิน แล้วความเชื่อทางศาสนามันตีกันเองไหม
โอ๊ต : เราว่ามันเหมือนกันหมดเลยนะ มันเป็นระบบความเชื่อของคน มันเป็นการถ่ายทอดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้ทำความดี การตามอุดมคติบางอย่าง การถ่ายทอดผ่านบทสวดมนต์ การทำความเคารพ มันมีฟอร์มคล้ายๆ กัน
มันไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง คือเราแค่เรียนกันคนละสาย จะขัดแย้งก็ต่อเมื่อมันเป็นศาสนาแบบที่รุนแรงก้าวร้าว แต่เราว่า ในนิยามของมันเองจริงๆ มันไม่มีอะไรแบบนั้นหรอก แต่คนเขาเอาไปทำให้มันเป็นอะไรไม่รู้ ตัวศาสนาไม่ใช่ปัญหา
แต่คือตอนนี้อยากทำเป็นแม่มดจริงจัง เริ่มมีคนมาขอใช้เซอร์วิส ทำพิธีรรมก็สนุกดี ความเป็นแม่มดสำหรับเรามันคือการพยายามทำความเข้าใจระบบของโลก ทั้งโลกนอกเรา และโลกในเรา ด้วยองค์ความรู้ที่เก่ากว่าศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ มันคือการทำความเข้าใจและใช้พลังงานเหล่านั้นในการมีชีวิตอยู่ ให้เราอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างแฮปปี้ นี่คือนิยามความเป็นแม่มดของเรา
Life MATTERs : คุณคิดว่าตัวเองสามารถเป็น shaman ได้ไหม
โอ๊ต : เราว่างานที่เราทำมันก็เป็นเชิงนั้นอยู่แล้ว แต่คือตอนนี้อยากทำเป็นแม่มดจริงจัง เริ่มมีคนมาขอใช้เซอร์วิส ทำพิธีรรมก็สนุกดี ความเป็นแม่มดสำหรับเรามันคือการพยายามทำความเข้าใจระบบของโลก ทั้งโลกนอกเรา และโลกในเรา ด้วยองค์ความรู้ที่เก่ากว่าศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ มันคือการทำความเข้าใจและใช้พลังงานเหล่านั้นในการมีชีวิตอยู่ ให้เราอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างแฮปปี้ นี่คือนิยามความเป็นแม่มดของเรา เรารู้สึกว่าเรามองอะไรลงไปลึกกว่าสิ่งที่เราถูกสอนมา
เราเชื่อในเวทย์มนตร์นะ แต่สำหรับเรามันอาจจะไม่ใช่ไสยศาสตร์ สำหรับเรามันคือการผลิดอกแรกของฤดูใบไม้ผลิ หรือความรู้สึกบางอย่างขณะที่เราดูพระจันทร์ ความสมมาตรในใยแมงมุมที่มันเป็นเชปเดียวกับโมเลกุลในร่างกายเรา คือมันแมจิกมากมากสำหรับเรา เป็นแม่มดสายเขียวไปอีก (หัวเราะ)
นั่นแหละ บางทีมันก็เหมือนการกลับมาหาธรรมชาติ เหมือนทุกคนกลับมาฮีลตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองกลวง รู้สึกว่า เฮ้ย ฉันคือใครในโลกที่อัตลักษณ์ไม่มีจริง โลกที่ทุกคนอยากเป็นณเดชน์ โลกที่ทุกคนเกาหลี ทุกคนซื้ออิเกีย ฮิปส์เตอร์คุณจะบอกว่าคุณยูนีคก็จริง แต่คุณก็ยูนิฟอร์ม มันคืออะไรวะ เราว่ามันว่าคือการ struggle for identity
จริงๆ เราไม่เข้าใจผืนแผ่นดินที่เราอยู่เลย เราไม่รู้เลยว่าต้นไม้อะไรมันโตที่นี่ ไม่รู้เลยว่าภูมิอากาศที่นี่ทำให้ต้นไม้ออกดอกฤดูไหน ผลไม้อะไรกินหน้าไหน ทำไมเราไม่รู้เลย ทำไมเราไม่รู้ว่าร่างกายเรามัน response ยังไงกับที่นี่ มันกลายเป็นเรื่องธรรมดามากจนไม่รู้เลย ว่าจริงๆ แล้วเราต่างจากคนสแกนดิเนเวียอย่างไร เพราะก็ใช้อิเกียเหมือนกัน
Life MATTERs : นอกจากเป็นแม่มดแล้ว การเป็นศิลปินทำให้คุณแฮปปี้ในโลกปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน
โอ๊ต : Oscar Wilde บอกว่าศิลปินคือเส้นทางแห่งการฆ่าตัวตายดีๆ นี่เอง เพราะเราหลงใหลกับสิ่งที่ทำให้เราพังพินาศ ไม่ว่าจะเป็นความรักที่เจ็บปวด หรือว่าสุนทรียะที่ไม่ยั่งยืน ความสวยงามที่อจีรัง
สำหรับเรา นี่ก็เป็นอีกสิ่งนึงที่ว่าทำไมศิลปะกับ shamanism เหมือนกัน ศิลปะก็คือการเยียวยา ศิลปะคือการรักษา เราอ่านหนังสือก็คือการรักษาอะไรบางอย่างในตัวเรา อย่างความสัมพันธ์ที่เราทำพัง ความรู้สึกผิด ความเจ็บปวด หรือการได้ดูรูป การได้วาดรูปผู้ชายที่เราเคยรัก มันก็อาจจะรักษาตัวเราจากทุกๆ ความเจ็บป่วยของการเป็นคน ความเจ็บป่วยของการที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้น
แฟนได้ยินแบบนี้ก็พูดว่า อย่างนี้แปลว่าเธอไม่รักฉันเท่าคนที่ทำให้เธอเจ็บปวดใช่ไหม เราก็พูดว่าคนละแบบ เราไม่อยากตาย เราเคยอยู่ตรงนั้นแล้ว วันที่เรากำพาราฯทั้งขวด เราอยู่ตรงเส้นนั้นมาแล้ว เราไม่อยากกลับไปอีก เราเลยเลือกทำตรงนี้
จริงๆ ความเจ็บปวดสวยงามนะ ทำไมถึงต้องทำให้ความเจ็บปวดสวยงาม ก็เพื่อให้เราอยู่กับมันได้ไง มันอาจจะเป็นความคิดที่ fuck up นะ ที่คิดว่าเราวิ่งหาความเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ใช่ มันคือขั้นตอนการรักษาเช่นกันด้วยการทำให้มันสวย ทำให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีอะไรที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นมาได้ มันไม่ใช่ว่าเราโหยหาความพังพินาศ มันไม่มีใครโหยหาอะไรแบบนี้หรอก มันอาจจะตื่นเต้นในช่วงนึง บางคนอาจจะเสพติดการตื่นเต้นนั้น แต่สุดท้ายไม่มีใครอยากจะไปอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา นอกจากคุณกำลังวิ่งหนีอะไรบางอย่าง
อย่างคนที่มีเซ็กส์กับคนอื่นตลอดเวลา คนที่ไม่อยากจะผูกมัดอะไรทั้งนั้น เขาอาจจะใช้คำว่าอิสรภาพเป็นข้ออ้าง แต่เราคิดว่าที่สุดแล้วทุกคนต้องหาความสงบสุขข้างใน ไม่ว่าจะวิธีอะไรก็ตาม
Life MATTERs : แล้วนอกจากงานวาด งานเขียนของคุณคือการเยียวยาด้วยไหม
โอ๊ต : เวลาเขียน มองกลับไปมันก็สวยงามนั่นแหละ แต่ให้กลับไปเป็นอีกก็ไม่เอา และเราคิดว่าเราในตอนนี้ยังเด็กมาก (เน้นเสียง) ยังมีความรู้สึกแค่นี้ รออีกสัก 10 ปี 20 ปี คุณจะเจอความหฤหรรษ์แบบทีไม่มีทางคิดออกในตอนนี้ ดังนั้น เราจะไม่นอสตัลจิกเลย ไม่โหยหาอดีต เราเขียนด้วยความรักก็จริง แต่เราอยากกลับไปตอนนั้นไหมก็ไม่นะ ถามว่าเราอยากกลับไปลอนดอนไหม ก็ไม่ เพราะลอนดอนของเรามันจบไปแล้ว ตอนนี้มันก็เป็นอีกลอนดอนนึงไปแล้ว
และที่เปลี่ยนไปมากที่สุดก็คือตัวเราเอง แล้วเอาเรากลับไปตรงนั้นเราไม่อยากกลับไปแล้ว คือช่วง 20 กว่าๆ รู้สึกว่าฉันเป็นคลื่นแห่งอารมณ์ สารแห่งประสบการณ์ชีวิตมันเปิดโลก แต่นี่พอจะเข้า 30 แล้ว คุณก็จะรู้สึกว่านี่เป็นอีกเลเวลหนึ่ง ความรักก็เช่นกัน เราว่าเราไม่รักเหมือนเดิมแล้ว เรารักในแบบที่เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ตอนนี้การได้เลี้ยงแมวเป็นเรื่องใหม่ การที่ต้องดีลกับความเจ็บป่วย การที่ต้องมีความรับผิดชอบกับพ่อแม่ ต้องมาทำความรู้จักเขาใหม่ ต้องมาคิดว่าเราเป็นลูกเขาใหม่ ดังนั้นสเปกตรัมของความรู้สึกที่ยังต้องเขียนถึงต่อไปในวันข้างหน้ายังมีอีกมาก แล้วก็ยังต้องผ่าน ritual บางอย่างไปอีกหลายๆ ครั้งด้วย
Photos by Adidet Chaiwattanakul