ผมถูกแนะนำให้ไปเจอหมอผี ไม่ใช่ในเชิงคุณไสยฯ อะไรหรอก แต่ก่อนอื่น ขออนุญาตเท้าความสักนิด
ไม่กี่ปีมานี้ วงการเครื่องดื่มมึนเมาบ้านเราคึกคักกันมาก โดยหนึ่งในสิ่งที่เป็นตัวชูโรงคือเครื่องดื่มที่มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า ‘คราฟต์เบียร์’ หรือเบียร์ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบหลากหลาย ให้รสชาติแตกต่างจากเบียร์ทั่วไปตามท้องตลาด
ช่วงแรก คราฟต์เบียร์ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่เพียงเวลาไม่นาน เมื่อนักดื่มรู้ว่าการทำเบียร์ไม่ใช่เรื่องยาก จุดกำเนิดของคราฟต์เบียร์ไทยเลยถูกต้มขึ้น
เบียร์มากหน้าหลายตาถูกคิดค้นให้นักดื่มได้ลิ้มลองไม่ขาดสาย เกิดเป็นกระแสปากต่อปากว่าต้องลองตัวนั้นชิมตัวโน้น และท่ามกลางเบียร์จำนวนมากมาย ก็มีเสียงลือเสียงเล่าถึงเบียร์ ผีบอก (Pheebok) ที่นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว ผีบอก ยังขึ้นชื่อในเรื่องวิธีการนำเสนอที่เป็นไปในทางเดียวกับชื่อของผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การเรียกเบียร์ว่า น้ำมนต์ การตั้งมั่นว่าจะต้มเบียร์ในวันพระ การทำฉลากโดยใช้ภาพวาดการ์ตูนผี ไปจนถึงการคล้องมาลัยให้กับเบียร์แต่ละขวด
หลายคนอาจรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ดูน่ากลัว แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าองค์ประกอบพวกนี้ยิ่งทำให้ ผีบอก โดดเด่น น่าลอง และแทนที่จะออกตามล่าหา ผีบอก มากินสักขวด ผมตัดสินใจออกตามหาว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อจะได้คุยกับเขาให้รู้เรื่อง และ
นี่คือสิ่งที่ ‘พ่อหมอ’ บอกเล่าให้ผมฟัง
เหมือนเบียร์ไม่ใช่วัฒนธรรมที่แท้จริงของคนไทยเท่าไหร่ เราไม่เข้าใจมันเหมือนผัดกะเพราหรือก๋วยเตี๋ยวที่เวลาสั่งสามารถลงลึกได้ เช่น จะกินแห้งก็เลือกได้ว่าจะเอาแห้งใส่ซีอิ๊วดำหรือแห้ง เบียร์ก็มีเรื่องแบบนี้ แต่เราแยกไม่ออก
Life MATTERs : ทำไมคุณถึงสนใจคราฟต์เบียร์
พ่อหมอ : คล้ายกับคนทำเบียร์หลายคนในประเทศไทยตอนนี้ เริ่มจากว่าผมชอบดื่มเบียร์ก่อน ทีนี้บ้านเรามันมีแต่เบียร์ประมาณนี้ คือเบียร์แต่ละชนิดก็มีที่ทางของมัน ส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่าโลกนี้มีเบียร์ดีเบียร์เลว เบียร์บางแบบอาจเหมาะกับการดื่มเพื่อรีเฟรช ดื่มเพื่อความสดชื่น หรือดื่มกับอาหารคาวแล้วอาจจะอร่อย ผมเองก็ดื่มหมด จนประมาณสามสี่ปีก่อนไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นเบียร์ยี่ห้ออื่นแล้วสนใจ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่าเป็นเบียร์จากต่างประเทศ ราคาสูง ร้อยกว่าบาทถึงสองร้อย ตอนแรกก็ไม่คิดจะซื้อมากิน เพราะสมัยนั้น ราคามันสูงเกินไปถ้าเทียบกับค่าครองชีพ อาหาร หรือเบียร์ที่เรากินอยู่เดิม
วันดีคืนดีผมลองกิน แล้วก็พบกับรสชาติที่แตกต่าง เราเลยเริ่มหาข้อมูลว่ามันคืออะไร เรียกว่ายังไง แรกๆ ก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง เหมือนเบียร์ไม่ใช่วัฒนธรรมที่แท้จริงของคนไทยเท่าไหร่ เราไม่เข้าใจมันเหมือนผัดกะเพราหรือก๋วยเตี๋ยวที่เวลาสั่งสามารถลงลึกได้ เช่น จะกินแห้งก็เลือกได้ว่าจะเอาแห้งใส่ซีอิ๊วดำหรือแห้ง เบียร์ก็มีเรื่องแบบนี้ แต่เราแยกไม่ออก ผมเองใช้เวลาสักพักกว่าจะจับภาพกว้างๆ ได้ เริ่มเข้าใจว่าแต่ละชนิดประกอบด้วยอะไร จากนั้นก็กินเยอะขึ้นๆ แต่พอมันแพง เราก็เริ่มไม่ไหว
เคยทำสารคดีเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทย แล้วมันมีพาร์ตหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินดื่ม ลงพื้นที่แล้วได้เจอคนกินเหล้ากับอาหารเย็นกันทุกวัน ผมเลยสนใจว่ามันคือวัฒนธรรมอะไรหรือเปล่า คือไม่ได้มองว่ามันถูกหรือผิด แต่มองว่ามันเป็นวัฒนธรรม
Life MATTERs : คุณเลยลองลงมือทำเอง?
พ่อหมอ : ช่วงนั้นมีร้านนำเข้าเบียร์เปิดสอนทำเบียร์ในราคาย่อมเยาพอดี ผมเลยสมัครไปดู เขาก็สอนพวกเบสิค จนเรารู้สึกว่าการทำเบียร์มันง่าย ยิ่งใช้ผงสำเร็จรูปนี่อารมณ์คล้ายทำมาม่าเลย บวกกับก่อนหน้านี้ ผมสนใจเรื่องเกี่ยวกับของหมักที่ทำให้เกิดแอลกอฮอล์อยู่แล้ว เพราะเคยทำสารคดีเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทย แล้วมันมีพาร์ตหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินดื่ม ลงพื้นที่แล้วได้เจอคนกินเหล้ากับอาหารเย็นกันทุกวัน ผมเลยสนใจว่ามันคือวัฒนธรรมอะไรหรือเปล่า คือไม่ได้มองว่ามันถูกหรือผิด แต่มองว่ามันเป็นวัฒนธรรม
พอรู้ว่าทำเองได้ปุ๊บ ผมก็ไปคุยกับเพื่อนที่กินเบียร์นอกเหมือนกัน คุยไปคุยมาก็ควักตังค์ หารกันสี่คน ซื้ออุปกรณ์มาทำจนได้เบียร์ตัวแรกที่ทำเองกับมือ ทำไปได้สักสองสามครั้งก็เริ่มมีความคิดว่าอยากมีชื่อเรียก อยากเอาชื่อไปใช้เป็นชื่อกรุ๊ปที่คุยกันในเฟซบุ๊ก สักพักมีเพื่อนคนหนึ่งโพล่งขึ้นมาว่าเหมือนยาผีบอก เลยเรียก เบียร์ผีบอก มาตั้งแต่ตอนนั้น
Life MATTERs : การทำฉลากให้เป็นรูปการ์ตูนผีมาตอนไหน
พ่อหมอ : หลังจากได้ชื่อ ผีบอก สักพัก ผมก็นึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง เป็นนักวาดการ์ตูน คืองานที่เขาวาดจะมีความเป็นลูกครึ่ง ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ จะไทยก็ไม่เชิง ผมเลยยื่นโจทย์ให้เขา บอกว่าทำเบียร์ชื่อนี้ วาดฉลากให้หน่อย บอกเขาแค่ว่าเบียร์ตัวนี้สไตล์ประมาณนี้ กลิ่นแบบนี้ รสชาตินี้ สีอย่างนี้ สตอรี่น่าจะประมาณนี้ เขาก็วาดกลับมาให้ ผมไม่ได้แก้อะไรเลย หลังจากนั้น เราก็เริ่มหาวิธีการสื่อสารกับคนอื่น กิมมิกต่างๆ อย่างการต้มเบียร์ทุกวันพระหรือการเรียกเบียร์ว่าน้ำมนต์เกิดขึ้นช่วงนี้ คือเราไม่ได้เป็นนักขาย แล้วก็ไม่ได้เก่งพอจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาด แต่ผมเคยทำงานเขียนมาก่อน เลยพอรู้ว่าควรสื่อสารยังไง ต้องสื่อแบบไหนถึงจะโดนใจคน
ผมว่าสังคมไทยเป็นสังคมผี เรามีผีอยู่เต็มไปหมด ผู้คนแถบนี้ดั้งเดิมนับถือผีกันอยู่แล้ว แม้แต่ปัจจุบัน เราก็ยังเห็นคนมากมายไปขูดขอหวย เวลาคนซื้อรถมาใหม่ก็เอาไปให้พระเจิมเพื่อป้องกันจากภยันตราย แม้แต่การกราบไหว้พระพุทธรูปก็เป็นเพราะเราเชื่อว่ามีวิญญาณพระพุทธเจ้าสิงอยู่ในนั้นด้วยซ้ำ
Life MATTERs : การใช้ผีเป็นตัวแทนต่างๆ แบบนี้ คุณเคยคิดว่าคนจะกลัวบ้างมั้ย
พ่อหมอ : ผมว่าสังคมไทยเป็นสังคมผี เรามีผีอยู่เต็มไปหมด ผู้คนแถบนี้ดั้งเดิมนับถือผีกันอยู่แล้ว แม้แต่ปัจจุบัน เราก็ยังเห็นคนมากมายไปขูดขอหวย เวลาคนซื้อรถมาใหม่ก็เอาไปให้พระเจิมเพื่อป้องกันจากภยันตราย แม้แต่การกราบไหว้พระพุทธรูปก็เป็นเพราะเราเชื่อว่ามีวิญญาณพระพุทธเจ้าสิงอยู่ในนั้นด้วยซ้ำ
จริงๆ คอนเซ็ปต์ของ ผีบอก ก็ไม่ใช่ผีขนาดนั้น เราอยากเล่นกับเรื่องจิตวิญญาณที่อยู่รอบตัวกับความลึกลับมากกว่า คือคนสมัยก่อนเขาไม่รู้ว่าเบียร์เกิดขึ้นได้ไง เขาก็คิดไปว่าเบียร์เกิดขึ้นมาโดยพระเจ้าที่อำนวยพรให้เกิดเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วมีความสุข เชื่อกันว่ามันเป็นสิ่งลึกลับ ผีบอก เลยอยากเล่นกับความลึกลับนี้
เช่น การ์ตูนผีเล่มละบาทสีสันฉูดฉาดที่เราเคยเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก จริงๆ มันก็เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในพื้นฐานของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นของสำคัญ เราเลยอยากหยิบเรื่องดั้งเดิมที่ไม่มีใครสนใจมันขึ้นมานำเสนอเท่านั้น
นอกจากนั้น ไทยก็มีผีหลายชนิด เช่น ผีปอบ ผีเปรต ผีกระสือ เรามีทั้งผีที่เป็นมอนสเตอร์ และผีที่เป็นวิญญาณ อย่างเช่นคนที่ตายไปแล้ว เราก็ตีว่าเป็นผี มันเลยเป็นสิ่งที่พูดกันติดปาก เข้าใจได้ง่าย พอบอกว่าเป็นเบียร์ผีคนก็จะสนใจ ซึ่งมันก็ดันไปลิงก์กับสิ่งที่เราชอบหลายอย่าง เช่น การ์ตูนผีเล่มละบาทสีสันฉูดฉาดที่เราเคยเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก จริงๆ มันก็เป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในพื้นฐานของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นของสำคัญ เราเลยอยากหยิบเรื่องดั้งเดิมที่ไม่มีใครสนใจมันขึ้นมานำเสนอเท่านั้น
Life MATTERs : ความสุขในการทำสิ่งสิ่งนี้คืออะไร
พ่อหมอ : ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าความสุขของผมไม่ใช่การขาย ไม่ใช่ตอนที่คนกินแล้วชมว่าอร่อย ความสุขของผม…พูดแล้วจะตลก…คือตอนที่ยีสต์กำลังทำงาน
หลักการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกอย่างทั่วโลก เราจะต้องมีน้ำหวาน แล้วในอากาศเรามีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่เรียกว่ายีสต์ลอยอยู่เต็มไปหมด ซึ่งยีสต์มีลักษณะธรรมชาติคือกินน้ำตาลเป็นอาหาร แถมยังเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้
ทีนี้ หลักการที่เราจะเอาน้ำตาลออกมาจากเบียร์ก็มาจากข้าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี หรือข้าวไรย์ เราเอาข้าวมาสกัดเป็นน้ำ จากนั้นใส่ยีสต์ที่เลือกมาลงไป หลังจากนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยายีสต์เริ่มทำงาน กินน้ำตาลเข้าไป เริ่มคาย หายใจออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ มีกลุ่มฟอง มีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นในถัง ซึ่งตอนทำเบียร์ใหม่ๆ เห็นสิ่งเหล่านี้ก็จะตื่นเต้นมาก
ผมเลยบอกทุกคนว่าผมไม่ได้เป็นคนทำเบียร์ ผมเป็นเกษตรกรเลี้ยงยีสต์ ผมมีความสุขในการทำให้ยีสต์มีความสุข เพราะถ้าเราทำให้เขามีความสุข สิ่งที่เขาตอบแทนเราก็คือเบียร์ที่ดี เบียร์ที่มีคุณภาพ
ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ มันไม่มีวิธีการไหนในโลกนี้นะครับที่จะเปลี่ยนน้ำตาล แป้ง หรือของอื่นให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ มนุษย์ทำได้เก่งที่สุดคือเปลี่ยนเป็นเมทิลแอลกอฮอล์ที่ดื่มไม่ได้ วิธีการทำเอทิลแอลกอฮอล์ต้องใช้ยีสต์เท่านั้น
Life MATTERs : ทำไมถึงกลายเป็นสนใจยีสต์ไปได้
พ่อหมอ : ยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ มันไม่มีวิธีการไหนในโลกนี้นะครับที่จะเปลี่ยนน้ำตาล แป้ง หรือของอื่นให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ มนุษย์ทำได้เก่งที่สุดคือเปลี่ยนเป็นเมทิลแอลกอฮอล์ที่ดื่มไม่ได้ วิธีการทำเอทิลแอลกอฮอล์ต้องใช้ยีสต์เท่านั้น
อีกอย่างคือการที่ผมนั่งเฝ้ายีสต์ ได้ดูมันทำงาน ทำให้ผมพบกับสัจธรรมบางอย่างในชีวิต ยีสต์ทำให้ผมเข้าใจว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เราต้องปล่อยให้คนอื่นเขาทำบ้าง ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เบียร์ก็จะยังไม่เป็นเบียร์ เราต้องปล่อยให้ยีสต์ใช้เวลาของเขาไป สิ่งที่เราทำได้คือต้องใจเย็น ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เอาง่ายๆ มันก็เหมือนเวลาเราทำงาน เราต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดก่อน จากนั้นค่อยส่งต่อให้เพื่อนร่วมงาน ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเขา เราทำได้แค่เชื่อใจ และรอดูเมื่องานเสร็จ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานที่ดีไม่ดียังไง หรือเป็นเบียร์ที่ไม่ว่าจะดีจะเลวสักเท่าไหร่ มันก็คือเบียร์ เรากินแล้วก็เมาเหมือนกัน รสชาติจะดีบ้างผิดบ้าง ก็ให้อภัยกัน
การทำเบียร์ทำให้ผมได้เจอปรัชญาหลายอย่างมากๆ ผมเลยคิดว่ามันไม่ใช่แค่การทำเบียร์แล้วแหละ
Life MATTERs : แล้วมันคืออะไร
พ่อหมอ : เบียร์ทำให้ผมได้รู้หลักการของธรรมชาติ เบียร์บางตัวต้องเก็บไว้หกเดือนหรือหนึ่งปีถึงจะมีรสชาติที่ดี การทำเบียร์เลยสอนให้ผมใจเย็น สอนให้ผมรู้ว่าไม่สามารถทำทุกอย่างในโลกได้ด้วยตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติ เราต้องปล่อยให้มันเดินหน้าต่อไปโดยธรรมชาติของมัน บางอย่างมันไม่สามารถเร่งได้ด้วยตัวของเราเอง เราต้องรอเวลาที่มันสุกงอม ต้องรอเวลาที่บ่มเพาะเหมาะสมจริงๆ มันถึงจะเกิดออกมาเป็นเครื่องดื่มที่เป็นของขวัญให้กับเรา
ผมว่าเบียร์ก็ไม่เลวร้ายไปกว่ากินชาบูดิปชีสหรอกครับ คุณก็รู้ว่าหมูสันในหรือชีสยืดๆ มีผลอะไร แต่คุณก็กิน แล้วเอาเข้าจริง ในต่างประเทศ เบียร์ถูกมองว่าเป็น liquid bread หรือขนมปังเหลวด้วยซ้ำ
Life MATTERs : คุณมองเบียร์เป็นของขวัญ แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มองเบียร์เป็นของไม่ดี แถมภาพลักษณ์คนดื่มก็ยังเป็นขี้เหล้าเมายาด้วยซ้ำ
พ่อหมอ : ถ้าผู้ใหญ่มอง ผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แม้แต่ที่บ้านผมก็บ่นด้วยซ้ำ คือจะบอกว่าเบียร์ไม่มีข้อเสียก็ไม่ได้ ข้อเสียมันก็มี ส่วนภาพที่ว่าเป็นคนขี้เหล้าเมายาก็อาจใช่อีก แต่ผมว่าคนกินเบียร์ทุกวันนี้คือคนขี้เหล้าเมายาที่เข้าใจว่าสิ่งที่เรากินคืออะไร ผมว่าเบียร์ก็ไม่เลวร้ายไปกว่ากินชาบูดิปชีสหรอกครับ คุณก็รู้ว่าหมูสันในหรือชีสยืดๆ มีผลอะไร แต่คุณก็กิน แล้วเอาเข้าจริง ในต่างประเทศ เบียร์ถูกมองว่าเป็น liquid bread หรือขนมปังเหลวด้วยซ้ำ
Life MATTERs : ที่คราฟต์เบียร์ได้รับความนิยม คิดว่าเป็นเพราะเทรนด์หรือเปล่า
พ่อหมอ : ก็อาจใช่ แต่คราฟต์เบียร์คือกระแสที่เป็นสากลนะครับ มันไม่ใช่กระแสที่มาแล้วจะไปง่ายๆ เพราะนอกจากจะคงค้างอยู่ในสังคมแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่พร้อมจะดำดิ่งและพร้อมที่จะอยู่กับมัน
Life MATTERs : นักดื่มยังถือว่าพอมีที่ทาง แต่สำหรับคนทำล่ะ มีที่ทางอยู่บ้างมั้ย
พ่อหมอ : ตอนนี้ทางออกหรือที่ทางของคราฟต์เบียร์ไทยจำนวนหนึ่งคือไปทำที่ต่างประเทศแล้วส่งกลับเข้ามา ซึ่งตอนแรกผมก็มีไอเดียจะทำแบบนี้เหมือนกัน เตรียมเงินไว้แล้ว กะจะทำสักตัวหนึ่ง แต่ภรรยาถามว่า “เธอชอบทำเบียร์หรือขายเบียร์” ผมนั่งคิด พูดไม่ถูกเหมือนกัน
ผมชอบทำเบียร์นะครับ แต่ถามว่าชอบขายมั้ยก็อยากขาย เพราะเอาจริง ทุกวันนี้ผมไม่สามารถคุยกับผู้ใหญ่หรือใครได้เลยว่าเป็นคนทำเบียร์ แต่คิดไปคิดมา ผมก็พบว่าเรายังไม่พร้อมจะขาย ผีบอก ขนาดนั้น เราพร้อมที่จะสื่อสารกับคน พร้อมกับการเล่าเรื่องที่ไปพบเจอมามากกว่า แต่ในอนาคตถ้าหลายๆ ปัจจัยลงตัวกว่านี้ก็พร้อมครับ
Life MATTERs : เหมือนคนทำคราฟต์เบียร์ต้องอยู่กันแบบหลบๆ ซ่อนๆ
พ่อหมอ : จริงแค่ครึ่งเดียว เพราะเรายังมีคนทำเบียร์อีกจำนวนมาก แต่ไม่ได้จำหน่าย ไม่ได้ขาย ไม่ได้ติดแบรนด์ ก็คือ homebrew หรือการทำเบียร์กินเองที่บ้านอยู่อีกเยอะมากในประเทศเรา คนที่ต้องผลุบๆ โผล่ๆ จริงๆ คือคนที่ต้องการขายมันมากกว่า ผมไม่พูดถึงเรื่องกฎหมายแล้วกัน แต่ผมเชื่อว่าคนทำเบียร์ทุกคนอยากผลิตหรือสร้างสรรค์งานศิลปะบางอย่างเพื่อจะสื่อสารกับนักดื่มด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และนอกจากสื่อสารได้แล้ว ก็ต้องเลี้ยงชีพได้ด้วย
เบียร์ทำให้คนเท่าเทียมกัน คือเวลาเราเจอหน้ากัน ผมดื่มเบียร์ คุณดื่มเบียร์ ไม่ว่าในแก้วคุณจะเป็นเบียร์ถูกหรือเบียร์แพง เรามีค่าเท่ากัน
Life MATTERs : ทำไมคุณถึงจริงจังกับเบียร์ขนาดนี้
พ่อหมอ : อาจเพราะผมเป็นคนดื่มเบียร์อยู่แล้ว เวลาไปทำงานต่างจังหวัด ถ้าทำงานทั้งวันก็รู้ว่าเหนื่อยใช่มั้ย แล้วการอยู่ต่างถิ่น เราก็ไม่ต้องการอะไรนอกจากกินเบียร์ชิลๆ เพื่อให้หลับสบาย จะกินคนเดียวหรือกินกับชาวบ้านก็ได้ ซึ่งเบียร์มันเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงง่ายที่สุด
หนึ่ง—เราไม่ต้องการมิกซ์เซอร์ แค่เดินเข้าไปในร้านขายของชำก็มีเบียร์ขาย
สอง—เบียร์ช่วยให้สื่อสารง่าย เราหยิบเบียร์กระป๋องเย็นๆ ยื่นให้ชาวบ้านหรือใครสักกระป๋อง มันก็เหมือนใจเชื่อมใจกันแล้ว
สาม—เบียร์ทำให้คนเท่าเทียมกัน คือเวลาเราเจอหน้ากัน ผมดื่มเบียร์ คุณดื่มเบียร์ ไม่ว่าในแก้วคุณจะเป็นเบียร์ถูกหรือเบียร์แพง เรามีค่าเท่ากัน
ทุกคนมีความมึน ความเมา ความสุขเท่ากันหมด
Life MATTERs : สรุปว่ามันเลี้ยงชีพได้มั้ย
พ่อหมอ : (เขาหัวเราะ แล้วยกเบียร์ขึ้นดื่ม)
Text by ปฏิกาล ภาคกาย บ.ก.บห. สำนักพิมพ์ปลา ผู้พยายามหลบหลีกความจำเจในชีวิตประจำวันด้วยการพาตัวไปพบผู้คนในแวดวงต่างๆ
Photos by Adidet Chaiwattanakul