“ไคท์บอร์ดมีเสน่ห์ตรงที่มันให้ความรู้สึกถึงอิสระ อยู่กับแสงแดด สายลม ทะเล และการที่เราเป็นผู้หญิง พอเราเล่นได้ก็รู้สึกเท่ และภูมิใจในตัวเอง”
โอลิมปิก ปารีส เกมส์ 2024 (Olympic Games Paris 2024) มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส
ในปีนี้นักกีฬาไทยได้โควตาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 51 คนจาก 16 ชนิดกีฬา ซึ่งไคท์บอร์ดดิ้ง (kiteboarding) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งกีฬาดังกล่าวเพิ่งถูกบรรจุเข้าลิสต์ในโอลิมปิกปีนี้เป็นปีแรก แต่นักกีฬาไคท์บอร์ดทีมชาติไทยได้ตั๋วไปแข่งขันที่ปารีสถึง 2 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ฝน–เบญญาภา จันทวรรณ เจ้าของเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ครั้งปี 2023 และอีกหลายรางวัลมากมาย
The MATTER จึงพูดคุยกับเธอตั้งแต่เอกลักษณ์ของไคท์บอร์ด แรงจูงใจ และความฝันของเธอ ต่อการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปเยือนในมหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ไคท์บอร์ดคืออะไร?
ไคท์บอร์ดดังกล่าวเป็นประเภท ฟอร์มูล่า (Formula) เป็นกีฬาที่อาศัยแรงลมธรรมชาติ เล่นที่ทะเล หรือแม่น้ำก็ได้ โดยที่จะมีว่าวไซส์ใหญ่เป็นตัวกินลม และเป็นพลังที่จะลากผู้เล่นไปกับบอร์ด ส่วนตัวบอร์ดจะมีตัวไฮโดรฟอยล์ที่ช่วยสร้างความเร็ว
“ดังนั้น เราใช้ว่าวเพื่อดึงเรา พอยืนบนบอร์ดเราก็จะถูกลากไปด้วยความเร็ว ซึ่งเราต้องคอยกดบอร์ดไว้ ยิ่งเรากดเท่าไหร่บอร์ด เราก็จะเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งควบคุมว่าวไปด้วยในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นแล้ว คนเล่นต้องแข็งแรงพอสมควร”
รูปแบบการแข่งขันก็คล้ายกับฟอร์มูล่าวัน
ทั้งความเร็วที่ใช้ รูปแบบ และกติกา ของการแข่งขันไคท์บอร์ดในโอลิมปิกล้วนคล้ายกับฟอร์มูล่าวัน “ไคท์บอร์ดวิ่งอ้อมทุ่น เริ่มออกไปพร้อมกัน วิ่งอ้อมทุ่นให้ครบ ใครเข้าเส้นชัยก่อนก็เก็บแต้มหนึ่ง สอง สาม สี่ ไป วันหนึ่งแข่ง 4-6 รอบ เก็บรอบไปเรื่อยๆ เก็บแต้มไปเรื่อยๆ”
ความเร็วขณะเล่นอยู่ 70-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลมทีก็เจ็บ และหากลงแข่งหรือซ้อมขณะมีกระแสลมแรงมาก ก็จะพบกับคลื่นที่ใหญ่ด้วย บางทีก็แข่งกับคลื่น 2 เมตร ดังนั้นมันต้องใช้ความอดทนสูง ด้วยความที่ไคท์บอร์ดเป็นกีฬาเร็ว การตัดสินใจต้องเร็วด้วย
จุดเริ่มต้นในการเล่นกีฬานี้
เบญญาภากล่าวว่า เธอเริ่มต้นจากความอยากรู้ว่าแฟนเก่าหายไปไหนทั้งวัน ก็เลยตามไปที่ทะเล และพบว่าเขากำลังเล่นกีฬานี้อยู่ ซึ่งในช่วงแรกเราก็ไม่ได้ตัดสินใจที่จะเล่นตาม แต่เราอยู่ตรงนั้นแทบทุกวัน จน 1 ปีผ่านไปก็เลยลองเล่นดู พอเล่นแล้วก็ติดใจ
จำได้ว่าครั้งแรกๆ บังคับไม่ค่อยเป็น ตอนขึ้นบอร์ดก็กระโดดออกจากบอร์ด เพราะว่ายืนไม่เป็น แต่เราก็แบบสนุกดี ไม่ได้กลัว จึงพยายามไปเรื่อยๆ ล้มลุกคลุกคลาน
“เพราะด้วยเสน่ห์ของมัน ที่มีความยากเฉพาะตัวที่เราจะต้องผ่านไปทีละสเต็ป ซึ่งกว่าจะเราผ่านไปได้แต่ละขั้นมันค่อนข้างยาก แต่ในระหว่างเดียวกันเราก็รู้สึกชาเลนจ์ และพื้นเพเป็นคนชอบเอาชนะ เลยไม่ยอมแพ้ง่ายๆ”
อุปสรรคในการเล่นไคท์บอร์ด
เบญญาภา เล่าว่า หนึ่งอุปสรรคสำคัญคือ อุปกรณ์แพงมาก ราคาหลักหลายแสนบาท และอุปสรรคที่สองสำหรับผู้หญิงไทยหรือผู้หญิงเอเชียคือ กลัวฝา กลัวไม่สวย อันนี้เป็นอุปสรรคหลักๆ แต่พอได้ลองเล่นแล้วติดใจ เลยลืมคิดเรื่องสีผิวไปเลย ดังนั้นแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ควรขายฝันด้วย
“เพราะการมาเป็นนักกีฬาทีมชาติไม่ทำให้ใครรวย กลับกลายเป็นว่าต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการลงทุน”
การลงสนามแข่งครั้งแรก
เธอระบุว่า ตอนแรกไม่เคยคิดอยากจะลงแข่งอะไร แต่มีรายการการแข่งขันไคท์บอร์ดระดับโลกมาจัดที่หาดหัวหิน คือจัดตรงหน้าบ้าน เธอจึงตัดสินใจลงแข่งเพื่อแค่อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร
“ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ตื่นเต้น และยังสับสนว่าเขาทำอะไรกัน แต่ก็ตามๆ เขาไป และความจริงเรามีโอกาสได้เหรียญ แต่ด้วยที่ความไม่รู้เรื่อง เลยให้คนอื่นไปก่อน ทั้งนี้ ก็ถือเป็นเป็นประสบการณ์ที่ดี”
เราได้รางวัลจากรายการเดียวกันในปีถัดไป พอเราได้รางวัลครั้งแรก ก็คิดกับตัวเองทันทีว่า “เฮ้ยเราก็ทำมันได้นี่” จนไปแข่งอีกหลายรายการนับตั้งแต่นั้นมา
ต้องเตรียมตัวและรักษาวินัยอย่างไรบ้าง?
ในหนึ่งวันซ้อมเสร็จก็คือต้องนอนเลย นอนดึกมากไม่ได้ เพราะรูทีนเราเริ่มตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง ออกกำลังกายตอน 6 โมงเช้า จนถึงทุ่มสองทุ่ม หลังจากนั้นก็ไม่มีเอเนอร์จี้ ไปไหนแล้วก็เลยต้องนอนอย่างเดียว
“ซ้อม 7 วัน ไม่มีวันหยุด นอกจากหมอสั่งให้หยุด ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว เราต้องซ้อม และเตรียมความพร้อมตลอดเวลา หนึ่งเพราะเราอายุเยอะสุดในคลาส จึงต้องมีวินัยค่อนข้างสูง ไม่งั้นร่างกายเราจะไม่ไหว”
ไคท์บอร์ดให้อะไร?
“ความอดทน เพราะว่ากีฬานี้มันสมบุกสมบัน ไม่ใช่กีฬาสวยๆ บางทีโดนว่าวลากดึงลงไปใต้น้ำ ฉะนั้นแล้วเราจำเป็นต้องสู้กับจิตใจเราเองว่าจะยอมแพ้ไหม ถ้าไม่ยอมแพ้ ก็พยายามก้าวผ่านจุดที่ยากให้ได้ จนเราเกิดความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง”
นอกจากนี้ ยังนำมาปรับใช้กับหลายๆ อย่าง ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน เรื่องธุรกิจ เพราะกีฬานี้เล่นกับธรรมชาติ เราจึงคิดว่าไม่ใช่ทุกสิ่งจะได้ดั่งใจเราเสมอไป
เป้าหมายหลักๆ ที่ตั้งไว้กับตัวเอง
ย้อนไปหลายปีก่อน เคยเกือบจะเลิกแข่งแล้ว แต่เราลองตั้งเป้าหมายใหม่ โดยผ่านการแนะนำของสปอนเซอร์หรือพี่โอ็ต อันดับแรกเขาถามกับเราก่อนว่า “อยากหยุดไหม อยากเลิกไหม เพราะเราดูไม่มีความสุข” เราคิดอยู่ 10 นาที และตอบกลับไปว่า “ไม่ เราจะไม่เลิก” หลังจากนั้นเราก็ตั้งเป้าหมายว่าจะไปต่อ
ครอบครัวก็คอยซัพพอร์ตเช่นเดียวกัน และเดิมทีแม่ไม่เข้าใจว่ากีฬานี้มันคืออะไร ตอนแรกแม่จึงไม่ชอบให้เล่น เพราะกลัวลูกดูไม่สวย แต่พอเราได้เหรียญเอเชียนเกมส์มา แม่ก็รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ
“เราอยากเป็นผู้หญิงที่ไปโอลิมปิก เป้าหมายตรงนี้ทำให้เราจึงพยายามตลอดมา แม้ว่าระหว่างทางจะค่อนข้างโหดก็ตาม”
เคยคิดไหมว่าจะมาไกลขนาดนี้
จาก Day 1 ที่เพิ่งเคยลงแข่ง ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาไกลขนาดนี้ ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่าทุกคนสามารถทำได้เช่นกัน ถ้าตั้งใจและแน่วแน่กับเป้าหมายของตัวเองอย่างเต็มที่
ในหัวบอกตลอดว่า เราไม่ใช่คนเก่ง ยังมีคนเก่งอีกเยอะบนโลกนี้ เลยคิดว่าทุกวันคือการเรียนรู้ มันเลยอาจกลายเป็นจุดแข็งที่เราไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นคนเก่ง เราพยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
ถ้าเราตั้งเป้าหมายชัดเจน เห็นภาพตัวเองชัดเจน แน่นอนมันอาจใช้เวลานาน บางคนโชคดีอาจใช้เวลาไม่นาน แต่เราใช้เวลา 10 ปี ในการมาถึงจุดนี้ หากย้อนไปบอกตัวเองตอนนั้นได้คงบอกว่า “เธอเจ๋งเนอะ คำเดียวเลย”
“ถ้าสมมติเราได้เหรียญ เราคงร้องไห้ไม่หยุด คงไม่มีคำพูดอะไรจะพูดกับตัวเองในช่วงเวลานั้น ได้แค่ร้องไห้กับกรี๊ดก่อนเท่านั้น”