ฤดูแห่งความผิดหวังหวนกลับมาหาเราได้เสมอ
มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่บนวัฏจักรของการเติมเต็มความต้องการสักรูปแบบ ทั้งการหาความรัก การหาอาชีพ แม้แต่การเลือกตั้งเพื่อเติมเต็มภาพอนาคตของประเทศ ความต้องการเหล่านั้นมักมาพร้อมความหวัง เราต้องมีหวังก่อนจึงจะผิดหวังได้ แต่ขณะเดียวกันหากเจอความผิดหวังบ่อยเข้า อะไรหลายๆ อย่างในตัวเราก็เปลี่ยนแปลงไป
“ไม่คาดหวัง ก็ไม่ผิดหวัง”
นั่นแทบจะเป็นคำพูดประจำวัน ก่อนที่เราจะออกใช้ชีวิตทุกๆ วันในประเทศไทยราวๆ 20 ปีที่ผ่านมา แต่มันจะมีทางเดินอื่นบ้างไหมที่จะมาพร้อมกับความหวัง?
ความผิดหวังเกิดจากอะไร? นั่นอาจอธิบายได้ผ่านขั้นตอนการรับรู้และการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิต หากมองโลกของเราเป็นกล่องทดลองสกินเนอร์ เราคือหนูที่อยู่ในกล่องซึ่งถูกวางเงื่อนไขมาว่า หนูสามารถถูกควบคุมโดยการกดปุ่ม ปุ่มหนึ่งคือการให้อาหาร อีกปุ่มหนึ่งคือการลงโทษผ่านการชอร์ตไฟฟ้า แล้วถ้าหากลองเปลี่ยนหนูตัวนั้นเป็นคน เปลี่ยนการกดปุ่มคำสั่งเป็นการกระทำอื่นๆ และเปลี่ยนอาหารกับไฟฟ้าเป็นสิ่งตอบแทนนับแสนล้านที่เราจะคิดได้ล่ะ? เราต่างคนต่างถูกวางเงื่อนไขอะไรบางอย่างมา เพื่อให้รู้ว่าเมื่อเราทำอะไร จุดจบมันต้องออกมาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ ไม่ว่าจะผ่านการศึกษา การปลูกฝัง หรือการซึมซับจากสังคมที่เราอยู่ก็ตาม
เราจ่ายเงินมาก สินค้าและบริการที่ควรได้รับก็ต้องมีคุณภาพตามราคา เราให้ใจใครไป เขาก็ควรจะจริงใจต่อเรา เราเคารพใคร เราก็อยากได้ความเคารพกลับ เราเลือกตั้งอย่างถูกต้อง เราก็ต้องได้นายกฯ ที่เราเลือก พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด ก็ควรมีอำนาจต่อรองเยอะที่สุด เพราะสูงสุดแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความคาดหวัง เป็นตัวอย่างที่แม้เราจะสามารถมองเห็นมันจริงๆ แต่เรากลับรู้กันอยู่ว่า
มันน่าเศร้าและยากเหลือเกินที่จะเป็นไปตามสิ่งที่เราหวังอยู่ตลอด
โวลฟรัม ชัลซ์ (Wolfram Schultz) ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา คณะสรีรวิทยา จากสถาบัน Behavioural and Clinical Neuroscience Institute ประเทศอังกฤษ เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า Reward Prediction Error (RPE) หรือการตอบสนองต่อรางวัลที่พยากรณ์คลาดเคลื่อน เรียกง่ายๆ คือผลของสิ่งที่ทำไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เดาไว้ว่ามันจะเกิดขึ้น ในขณะที่ความคลาดเคลื่อน มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ความผิดหวังก็คือรางวัลที่ออกมาเป็นลบกว่าที่คาดหวังไว้เท่านั้น
ในกระบวนการเรียนรู้ด้วยวิธีเหล่านี้ สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นแง่บวกหรือแง่ลบนั่นคือ ‘โดปามีน’ หากทำงานดีแล้วได้รับคำชม โดปามีนจะบอกเราว่า สิ่งนี้ดีนะ ทำต่อไปล่ะ แต่เมื่อสิ่งที่เราทำไม่นำไปสู่ความพึงใจที่เราหวัง มันจะเป็นสัญญาณบอกเราว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ต้องเกิดการปรับแก้อะไรบางอย่าง และนั่นคือความผิดหวังนั่นเอง
เมื่อเจอความผิดหวังบ่อยๆ เข้า มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา? จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราถูกพ่อแม่ปฏิเสธมากๆ? จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรารู้สึกไร้ตัวตนในที่ที่เราต้องการจะเป็นที่จับจ้อง? จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าความเคลื่อนไหวของเราดูไม่มีผลกระทบกับอะไรเลยในโลกที่อยู่รอบตัวเรา?
ความเครียดสะสมของการผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ตัวเราต้องหาหนทางใหม่ๆ ทั้งปรับมุมมองความคิด การเริ่มถามตัวเองว่าเป็นเพราะอะไร? มันไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด แต่อาจเพราะความคาดหวังของเราเองหรือเปล่าที่สูงเกินไป? คาดหวังว่าเราต้องเป็นที่รัก คาดหวังว่างานที่เราทำมีความหมาย คาดหวังว่าเสียงของเรามีความหมายอะไรบางอย่าง แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นมันไม่มีอะไรจริงเลยล่ะ มันหมายความว่าเราไม่เหมาะไม่ควรจะเป็นที่รักของใครหรือเปล่า? หรือทั้งหมดนั้นหมายถึงว่า ทุกอย่างที่ไร้ความหมายในโลกไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้?
รูปแบบลำดับการคิดดังกล่าวเรียกว่า Doom Spiral นั่นคือเมื่อความผิดหวังแปลงสภาพเป็นความสิ้นหวัง เราอาจจะมีชีวิตปกติธรรมดาของเราอยู่ แต่สักห้วงความคิดหนึ่งเราจะเริ่มคิดว่า ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นสามารถผิดพลาดได้ และเราจะนึกถึงซ้ำๆ อย่างไม่อาจหลีกหนีได้ เพราะมันเป็นเสียงในหัวของเราราวกับว่า ความคิดเกี่ยวกับทั้งอดีตและอนาคตอันเลวร้ายกำลังบีบอัดปัจจุบันของเราจนแทบระเบิด เป็นวงจรความเครียดที่พูดคุยกับเสียงในหัวของเรา แล้วทำให้เราเครียดขึ้นไปอีก
หากจะให้ยกตัวอย่างการคิดแบบ Doom Spiral อาจจะเริ่มจากลองคิดว่า หากการไปบอกรักใครสักคนแล้วถูกปฏิเสธ การปฏิเสธทำให้เราผิดหวังต่อสิ่งที่เราทำให้เขานั้นว่า ที่เราทุ่มเทให้ไปมันเยอะมากๆ นะ มันไม่พอเหรอ? หรือเรายังทุ่มเทน้อยเกินไปจริงๆ เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ? หรือนี่คือเหตุผลที่ทำให้เราไม่เคยมีแฟน? แล้วสิ่งที่เราทำต่อคนรอบตัวล่ะ เรารักพวกเขาพอแล้วหรือยัง? พวกเขาจะจากเราไปหรือเปล่า? นั่นแปลว่าเราต้องตายไปคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวสินะ
ลำดับขั้นของการคิดแบบ Doom Spiral อาจเชื่อมโยงระหว่าง 1 ไป 2 หรือ 2 ไป 3 แต่หากเรามองจากความคิดแรกแล้วเชื่อมไปยังความคิดสุดท้าย ก็จะเห็นว่ามันอาจจะเกินเลยไปสักหน่อย ถ้าเสียงในหัวของเราใจร้ายแบบนี้ เราอาจลองแก้ไขมันด้วยการหายใจลึกๆ แล้วถอยออกมาสักก้าว หรือลองหาใครสักคนที่ห่างจากปัญหาที่เราเผชิญเป็นที่ปรึกษาได้
แม้จะรู้อย่างนั้น แต่เราก็อาจคิดมากไปแล้ว และเมื่อเราเปลี่ยนวิธีการคิด พฤติกรรมก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย สำหรับการอธิบายเรื่องการตอบสนองต่อรางวัลที่พยากรณ์คลาดเคลื่อนของชัลซ์ บอกว่าเมื่อความคาดหวังและผลที่ได้รับของเราคาดเคลื่อนไปในแง่ลบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะไม่กลับไปมองที่การกระทำของตัวเอง แต่เราจะมองไปยังการพยากรณ์ต่างหาก พูดง่ายๆ คือเราจะลดความคาดหวังของเราลงนั่นเอง
การทำในลักษณะที่ว่าไปข้างต้นก็ดูเป็นเหตุเป็นผลที่ดี ถ้าผลลัพธ์ไม่อาจเปลี่ยนได้ เราก็ต้องเปลี่ยนที่ความคาดหวังของตัวเอง แต่บางครั้งโลกแห่งความเป็นจริง ก็ไม่ได้สวยงามตามจินตนาการอยู่แล้ว เหตุผลเดียวที่เราไปไม่ถึงฝั่งฝัน ก็เพราะว่าเราตั้งหมุดหมายผิดแห่งหรือเปล่า? หรือถ้าเราตั้งหมุดหมายไว้ใกล้ขึ้น เราจะสะสมชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ไว้ได้ แล้วทำให้ไม่ผิดหวังอีกต่อไปใช่ไหม? ซึ่งชัลซ์มองต่างออกไปว่า
การลดบาร์ในการคาดหวังลง ไม่ได้ทำให้เราไม่พบเจอกับความผิดหวัง
ในการสัมภาษณ์ของชัลซ์กับนิตยสารวิทยาศาสตร์ CellPress เขายกตัวอย่างวิธีที่คนเราคิดเกี่ยวกับความคาดหวังและความผิดหวังผ่านการไปร้านอาหาร หากอาหารมื้อหนึ่งดีเกินกว่าที่เราคาดหวังเอาไว้ มันจะยกระดับความหวังของเรา ทำให้เรามีมุมมองต่อคำว่าอาหารที่ดีในเงื่อนไขนี้เปลี่ยนไป และนั่นเองที่ทำให้ความคาดหวังต่ออาหารครั้งหน้าของเราเปลี่ยนไป หากเราได้รับอาหารที่มีคุณภาพต่ำกว่าหรือเท่าเดิม เราจะไม่มองว่าสิ่งนี้คือมื้ออาหารที่ดีเกินหวังอีกแล้ว ส่งผลให้ต้องหามื้ออาหารที่ดีกว่านั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา เมื่อบาร์ถูกยกขึ้นสูงแล้ว มันจึงไม่อาจลดลงได้
หากนึกย้อนไปถึงทุกครั้งที่เรามักพูดกับตัวเองว่า “ไม่คาดหวัง ก็ไม่ผิดหวัง” แล้วลองนับดูว่ากี่ครั้งกันที่คำพูดนี้เป็นเรื่องโกหก ซึ่งเราใช้มันเหมือนกับเป็นยาโดสต่อไปเพื่อให้เราผ่านความผิดหวังไปได้ ลึกๆ ในใจเราเองก็ไม่อาจโยนความหวังนั้นออกไปไหนได้เสียด้วยซ้ำ มันแค่เจ็บปวดที่จะคาดหวังต่ออะไรบางอย่าง มันเจ็บปวดเมื่อเราหกล้มไม่เป็นท่า เราจึงพยายามฝังความผิดหวังลงไปใต้ความคิดว่า พอแล้วกับการหวัง
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับมื้ออาหารที่ดี ทางเดียวที่จะเติมเต็มช่องว่างโหวงในใจได้ไม่ใช่การยอมแพ้ แต่คือการลุกขึ้นเดินต่อไปเมื่อเราไหว ต่อสู้เพื่อความหวังเหล่านั้น Doom Spiral อาจเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในหัวของเรา ทว่าอนาคตเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะมนุษย์เคยมีช่วงเวลาที่ไม่รู้แม้แต่วิธีทำให้เกิดเปลวไฟ แต่ท้ายที่สุดเราก็สามารถไปเยี่ยมเยียนถึงดวงจันทร์ได้ และเมื่อมองไปยังการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศไปจนปฏิวัติฝรั่งเศส โลกของเราแม้จะแย่ลง แต่ก็ดีขึ้นในทุกวันไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งก็คือความหวังและการลงมือทำนั่นเอง ที่จะนำพาความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
ฤดูแห่งความผิดหวังจะมาเยี่ยมเยียนเราเสมอ นั่นคือความจริง
แต่หากเราไม่หยุดเดิน ฤดูใบไม้ผลิแห่งความหวังก็จะมาหาเราเช่นกัน
อ้างอิงจาก