ช่วงนี้เรามีอนิเมะเรื่องเกี่ยวกับ ถ้าวันพรุ่งนี้โลกถึงกาลอวสานและทุกคนกลายเป็นซอมบี้ ในแง่หนึ่งชีวิตอาจจะสนุกขึ้นเพราะอย่างน้อยเราก็ไม่ต้องทนทำงานอันน่าเบื่อจำเจอีกต่อไป
อันที่จริงเนื้อหาหลักจากหนังซอมบี้ที่ว่าไปข้างต้น ค่อนข้างตอบประเด็นบางอย่างในใจเรา คือรู้ว่าโลกยังไม่ถึงจุดหายนะ หนังหรือหนังสือเป็นแค่เรื่องแต่ง แต่งานเขียนแนวที่เราเรียกว่า ดิสโทเปีย (Dystopia) ก็ยังดูจะเป็นงานเขียนยอดฮิตในยุคปัจจุบันของเรา จากการมีซอมบี้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปทำงาน และก่อนหน้านี้เราก็มีเดอะลาสต์ออฟอัส (The Last of Us) และเดอะวอล์กกิงเดด (The Walking Dead) หนังในแต่ละยุคเหมือนว่าจะมีงานแนวดิสโทเปียที่ได้รับความนิยมเรื่อยมาอยู่เสมอ ตั้งแต่ยุคเดอะฮังเกอร์เกมส์ (The Hunger Games) ย้อนไปจนถึงวรรณกรรมขึ้นหิ้งอย่าง 1984 หรือเบรฟนิวเวิลด์ (Brave New World)
ทำไมเราถึงชอบเรื่องราวหายนะของเผ่าพันธุ์เรานัก? อะไรคือความสนุกของเรื่องเล่าแนวดิสโทเปีย? ในช่วงเวลาที่เราอาจจะรู้สึกว่าความหวังค่อยๆ หายไป หรือในเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง แต่มันอาจจะเป็นที่ที่เราจะพบเจอความหวังได้
เมื่ออนาคตไม่เป็นไปตามสัญญา
นิยามของดิสโทเปียโดยความหมาย คือเรื่องราวหรือวรรณกรรมที่จินตนาการถึงโลกหรืออนาคตที่มืดมน คำว่า ดิสโทเปีย เป็นคำที่มาคู่กับงานเขียนประเภทยูโทเปีย (Utopia) ซึ่งอ้างอิงวรรณกรรมสำคัญชื่อเดียวกันของเซอร์โทมัส มอร์ (Sir Thomas More) งานยูโทเปียเผยแพร่ในปี 1516 เป็นการวาดภาพรัฐในอุดมคติอันค่อนข้างปรากฏร่วมในวัฒนธรรมของเรา ทั้งในระดับรัฐที่ให้ภาพสมบูรณ์พูนสุข หรือในระดับศาสนาซึ่งนึกถึงดินแดนพิเศษที่มีความเป็นอุดมคติ เช่น พุทธศาสนาที่พูดถึงอุตรกุรุทวีป
จากงานของเซอร์โทมัส มอร์ นำไปสู่การก่อตัวขึ้นของงานแนวดิสโทเปียที่เป็นกระแสราวทศวรรษ 1900 และกลายเป็นกระแสสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 21 ต่อมา และหนึ่งในภาพสำคัญของยุคสมัย คือการเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงคำมั่นสำคัญของมนุษยชาติในขณะนั้น คืออนาคตของเราจะดีขึ้นเมื่อวิทยาการก้าวหน้า ภาพอนาคตบางส่วนจะมีความสะดวกสบายและสมบูรณ์พูนสุข
ในช่วงศตวรรษที่ 20 งานเขียนแนวดิสโทเปียจึงเป็นเหมือนความกังวลต่อโลกอนาคตที่โลกวิทยาศาสตร์สัญญาไว้ บริบทสังคมในยุคนั้นคือการเกิดสงครามโลก วิทยาการความก้าวหน้าถูกใช้ไปกับการฆ่าฟันและภาพความตายอันน่าสยดสยอง งานเขียนอย่างเบรฟนิวเวิลด์ เองก็เขียนขึ้นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1-2 และ 1984 ที่ก็เขียนขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน
โดยทั่วไปงานแนวดิสโทเปียค่อนข้างจัดอยู่ในงานแนวไซไฟ แต่ในระยะหลัง วรรณกรรมวัยรุ่น (Young Adult) เองก็มีกระแสเขียนงานแนวดิสโทเปีย ส่วนใหญ่ดิสโทเปียมักพูดถึงอนาคตที่โลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิวัฒน์ไปตามที่เราวาดฝันไว้ จากความก้าวหน้าของโลกดิสโทเปีย บางครั้งก็กลายเป็นโลกยูโทเปียจอมปลอม นวัตกรรมต่างๆ อย่างการสื่อสาร บรรษัทขนาดใหญ่ ไปจนถึงเทคโนโลยี เช่น ไบโอเทคโนโลยี ก็อาจกลายเป็นหอกกลับมาทิ่มแทง โดยเฉพาะการที่เราถูกควบคุมสอดส่องจากระดับความประพฤติ ไปจนถึงเรือนร่างและความคิดที่อาจมาจากระดับเซลล์
งานเขียนสำหรับวัยรุ่นอย่างฮังเกอร์เกมส์ ส่วนหนึ่งการจินตนาการถึงโลกอนาคตที่มืดมนมักพูดถึงการต่อต้านและการต่อสู้กับระบบ งานแนวดิสโทเปียจะให้ภาพระบบหรือสังคมที่ก้าวไปสู่ภาวะสุดโต่ง การต่อสู้กับระบบที่บิดเบี้ยวจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง รวมถึงการพูดถึงเรื่องแนวคิดของความถูกต้องและอุดมคติอื่นๆ เช่น การเสียสละ มิตรภาพ และครอบครัว
บริบทล่าสุดของงานแนวดิสโทเปียก็ยังค่อนข้างอยู่ในกรอบของไซไฟ แต่จะเป็นแนวหลังการเกิดหายนะ หรือ Post Apocalypse ที่ฮิตมากก็คือแนวซอมบี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะว่าด้วยความผิดพลาดของมนุษย์ หรือการถูกรุกรานจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น เห็ดราในเดอะลาสต์ออฟอัส หรือเอเลี่ยนในดินแดนไร้เสียง (A Quiet Place)
กลับสู่สามัญ จิตวิทยาต่อเหตุการณ์หายนะ
สำหรับงานแนวดิสโทเปียมีหลายเงื่อนไขที่ทำให้เราชื่นชอบ ภาพที่ชัดเจนขึ้นของผู้คนทั้งดีและร้าย รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ด้านหนึ่งเราเองก็เชื่อมโยงภาพที่ชัดเจนขึ้นเหล่านั้นเข้ากับโลกแห่งความจริงได้
ความซับซ้อนต่างๆ อาจทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับพื้นที่สีขาวและดำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ความพิเศษของงานดิสโทเปีย โดยเฉพาะงานแนวหลังจากเหตุการณ์หายนะ มีคำอธิบายทางจิตวิทยาที่น่าสนใจว่า ส่วนหนึ่งคล้ายกับประเด็นของอนิเมะซอมบี้ที่ทำให้เราไม่ต้องทำงาน แต่โลกแห่งความจริง คือโลกสมัยใหม่ของเรามีลักษณะเป็นการวนลูป เป็นวงจรที่แสนน่าเบื่อ ไร้จุดหมาย ไร้ระบบระเบียบของสังคม การไปทำงานหรือวันหยุดวนเวียนไปจนเป็นสิ่งที่น่าเบื่อและซ้ำซาก การจิตนาการถึงวันที่โลกอันน่าเบื่อสิ้นสุดลง จึงเป็นขอบเขตของความคิดที่เราเองก็แอบคิดถึงวันที่โลกอันแน่นอนของเราจะก้าวไปถึงวันสิ้นสุด
หนึ่งในจิตวิทยาจากโลกดิสโทเปีย คือความผิดพลาด มนุษย์เราถูกสอนเรื่องความผิดพลาดและถูกห้ามเพื่อป้องกันความผิดพลาดต่างๆ เช่น เราถูกสอนไม่ให้จับของร้อนไปจนถึงการรักษาระเบียบ การไม่แตะต้องพื้นที่ต้องห้าม และความรู้หรือการทดลองบางอย่างที่เราไม่ควรข้ามไป แต่เราเองต่างครุ่นคิดถึงผลจากการละเมิดข้อห้ามต่างๆ นั้นอยู่เสมอ ภาพของดิสโทเปียจึงอาจเป็นผลลัพธ์หนึ่งจากการถูกห้ามไม่ให้ทำ เป็นสิ่งที่เราคิดถึงจากความผิดพลาดที่เราได้แค่คิดและหยุดความผิดพลาดไว้ งานแนวดิสโทเปียทำให้ผลของความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นและประจักษ์ขึ้นจริงๆ ซึ่งเป็นความปรารถนาลึกๆ อย่างหนึ่งของเรา
นอกจากนี้ ดิสโทเปียยังมักเป็นงานเขียนหรือเรื่องราวที่พาเราย้อนกลับไปยังเงื่อนไขดั้งเดิม เช่น การล่มสลายของอารยธรรม จินตนาการของเราในการเอาตัวรอด ภาพของทฤษฎีแบบดาร์วินที่เป็นรูปธรรม การกลับไปสู่การเอาชีวิตรอดแบบพื้นฐาน การต่อสู้ที่ทุกวันนี้กลายเป็นภาพอุปมาย้อนกลับไปสู่การต่อสู้และการเอาชีวิตรอดจริงๆ การหาที่กินที่อยู่ และการต่อสู้กับศัตรู การให้ภาพของการมีชีวิตรอดเหล่านี้ ตรงกันข้ามกับโลกที่มีอำนาจอันซับซ้อนและไม่เป็นธรรมของเรา มีเงื่อนไขต่างๆ แต่โลกของเนื้อตัวและระบบที่ถูกล้มล้าง อาจเป็นโลกที่มีความยุติธรรมบางอย่างปรากฏขึ้น
ข้อสำคัญที่สุดของงานแนวดิสโทเปีย คือทุกเรื่องมักจะให้ภาพโลกอันมืดมนแสนสาหัส แต่การดำเนินเรื่องในที่สุดของโลกที่สิ้นหวังก็มักจะเกิดการต่อสู้ มีการต่อต้าน และมีการปฏิวัติ เพื่อโค่นล้มระบบอันเข้มแข็ง หรือในดินแดนล่มสลายก็อาจมีความยุติธรรม ต่างจากโลกยุคปัจจุบันที่ยุ่งเหยิงและเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์แห่งความไม่เท่าเทียม
บางครั้งแสงของความหวังนั้นจะสว่างขึ้นหรือจะถูกค้นพบได้ เราอาจต้องมองหาจากพื้นที่ที่มืดมนที่สุด ซึ่งมันอาจเป็นบทบาทสำคัญของวรรณกรรมแนวดิสโทเปีย หรืออาจรวมไปถึงเรื่องเล่าทั้งหลายที่ล้วนเป็นดินแดนของความหวังให้กับเรา
อ้างอิงจาก