เรารู้สึกยังไงเมื่อเราได้รับสิ่งที่เคยคิดว่าจะเปลี่ยนชีวิตของเราได้?
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อารยธรรมหนึ่งสร้าง Deep Thought ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังการประมวลผลสูงส่งขึ้นมา ด้วยเหตุว่าพวกเขาต้องการให้มันหาคำตอบที่เรียกว่า “คำตอบสุดท้ายของชีวิต จักรวาล และทุกสรรพสิ่ง” เนื่องจากพวกเขาอยากหยุดถามหาความหมายของชีวิตกันเสียที คอมพิวเตอร์จึงรับคำท้า แต่ปัญหาคือระยะเวลาประมวลผลคำตอบที่ซับซ้อนเช่นนี้ กินเวลาถึง 7.5 ล้านปีเลยทีเดียว ในห้วงเวลาการรอคอย อารยธรรมนั้นได้สืบสานพิธีกรรม และสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยการถกเถียงจากการคาดเดา ด้วยความคาดหวังต่อคำตอบนั้นๆ
7.5 ล้านปีถัดไปจากนั้น ท่ามกลางบรรยากาศการเฉลิมฉลองของการได้รับคำตอบสุดท้ายของชีวิต จักรวาล และทุกสรรพสิ่ง Deep Thought พูดออกอากาศกับประชาชนนับล้าน ผู้รอคอยคำตอบที่จะปลดเปลื้องพวกเขาออกจากความทรมานของชีวิตว่า “42” เลขสองหลักไม่มีที่มาที่ไป และนำไปใช้อะไรไม่ได้
เรื่องเล่าดังกล่าวมาจากหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ The Hitchhiker’s Guide To The Galaxy โดยดักลาส อดัมส์ (Douglas Adams) เรื่องราวการผจญภัยโปกฮาของชายธรรมดาๆ คนหนึ่งในวันที่ดาวโลกสูญสลายไปด้วยระบบราชการห่วยแตก และฉากดังกล่าวมีความหมายมากมายในบริบทของหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราอยากหยิบออกมาคือ ความรู้สึกของการเป็นหนึ่งในคนนับล้านกับการรอบางสิ่ง ที่เชื่อว่าจะมีผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อชีวิต เพื่อพบว่าเมื่อได้มันมา มันกลับเป็นแค่อีกสิ่งที่เราจะเจอในชีวิตก็ดี แต่ไม่ได้อิมแพคอะไรมากขนาดนั้น ดังนั้นเราจึงจะมาพูดถึง “ความคาดหวัง” กันว่า ทำไมเราถึงสร้างมันขึ้นมา? ทำไมเราถึงไม่หยุดหวัง? และจะคาดหวังยังไงไม่ให้ผิดหวัง?
มุมมองต่อโลกสร้างมาจากความคาดหวัง
ต่อให้เราฉลาดล้ำขนาดไหน มนุษย์รู้ได้เพียงจากสิ่งที่ตัวของเราได้พบเจอ ประสบการณ์ส่วนตัว เรื่องเล่าที่ได้ยินมา การศึกษา หนังสือและเอกสาร ฯลฯ นั่นแปลว่าเรารู้เพียงในสิ่งที่เราเคยเจอในอดีต ที่เหลือข้างหน้าคือการคาดเดา เราเรียนรู้ความเป็นพ่อเป็นแม่จากพ่อแม่ที่เราเคยเจอ เราเดาความคิดของคนอายุน้อยกว่าจากความคิดตัวเองที่เคยอายุเท่านั้น ข้อสังเกตสำคัญของการคาดเดาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน คือเราจำต้องมีหลักฐานอ้างอิงสักอย่างเป็นหลักเอาไว้ก่อน แล้วใช้หลักฐานนั้นๆ คำนวณความเป็นไปได้ของอนาคต ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวคือตัวอย่างของวิธีการวัดความน่าจะเป็นผ่านทฤษฎี Bayesian Theory
แอนน์ ทราฟตัน (Anne Trafton) นักเขียนสายวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก MIT News เรียกการคาดเดาแบบดังกล่าวว่า ‘ความคาดหวัง’ ผ่าน How expectation influences perception? บทความของเธอที่รวบรวมงานวิจัยของผู้จบปริญญาเอกสาขาประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย MIT เพื่ออธิบายวิธีการทำงานของสมองเมื่อเราคาดหวัง และวิธีที่ความคาดหวังก่อร่างมุมมองที่มีต่อโลกของเรา
งานวิจัยที่ผุดขึ้นมาในงานเขียนชิ้นนี้คือ Bayesian Computation through Cortical Latent Dynamics โดยฮันเซม โซห์น (Hansem Sohn), ดาวิกา นารายณ์ (Devika Narain) และนิโคลัส เมียฮาร์ (Nicolas Meirhaeghe) เป็นการมองการคาดเดาอนาคต ผ่านประสบการณ์ของสิ่งมีชีวิตในมุมประสาทวิทยาและสถิติ โดยผู้วิจัยใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติ Bayesian Theory เข้ามาเพื่ออธิบายพฤติกรรมการคาดเดาอนาคต จากหลักฐานทางประสบการณ์ของตัวเอง และสืบหาวิธีการที่พฤติกรรมรูปแบบนั้นส่งผลต่อสมอง
“สภาวะปกติเชิงสถิติในสภาพแวดล้อมของเราสร้างความเชื่อเดิม (Prior Belief) ที่พวกเราใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราให้เหมาะสมที่สุด เมื่อข้อมูลทางประสาทสัมผัสของเราไม่แน่นอน” ผู้วิจัยเขียนหลังทำการทดลองชื่อ Ready-set-go โดยพวกเขาใช้ลิงในการตรวจวัดเวลาจากการกะพริบไฟคล้ายไฟจราจรว่าพวกเขาควรวิ่งเมื่อไร ในขั้นตอนการฝึกฝนจะมีการยืดหดการตั้งเวลาเอาไว้ และจะสอนลิงก่อนว่าแบบใดคือการตั้งเวลายาวหรือสั้น เพื่อสร้างความเชื่อให้พวกมัน
ผู้วิจัยพบว่าในการทดลองจริง พฤติกรรมของลิงเปลี่ยนไปตามความคาดหวังของพวกมัน ไม่ใช่สัญญาณที่ถูกตั้งเอาไว้ ซึ่งความเชื่อของลิงนั้นบิดเบือนสิ่งที่เรารับรู้ในสมองส่วนหน้า และเมื่อพวกมันไม่มั่นใจว่าต้องวิ่งออกตัวเร็วหรือช้า สมองจะยืดหดเวลาเพื่อหาจุดกึ่งกลาง
การใช้ชีวิตของเราเองก็ไม่ต่างกันจากลิงที่ไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งเมื่อไร เราไม่ได้มองโลกของเราผ่านเลนส์ที่ใสสะอาด แต่ประสบการณ์บิดเบือนโลกรอบตัวในสายตาเรา และมุมมองที่มีต่อโลกของเรานั้นเกิดจากความคาดหวัง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรามีหวัง เพราะว่าเราไม่รู้ชัดว่าอะไรรอเราอยู่ข้างหน้า เรารู้เพียงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และการไม่รู้นั้นน่ากลัวเสียยิ่งกว่าอะไร
หวังหรือไม่หวัง?
โลกเหวี่ยงความผิดหวังมาให้เราอยู่บ่อยครั้ง คนบางคนไปไม่ถึงสิ่งที่เราคาดหวังให้เขาเป็น ความอดทนของเราไม่ได้นำมาซึ่งผลตอบแทนที่ควรค่า หรือการซื้อสินค้าที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้ ก็กลับไม่ได้ทำให้มีอะไรเปลี่ยนไปมากกว่าการพูดว่า “อืม ก็ดีนะ” ก่อนจะย้ายไปหาสิ่งใหม่มาเติมเต็มเราต่อ มากมายหลายครั้งที่เราผิดหวัง มากเสียจนเราต่างต้องเคยคิดแล้วแหละว่า เราควรจะยังคาดหวังกับอะไรอยู่บ้างหรือเปล่า? การไม่คาดหวังจะนำมาสู่ความสุขที่แท้จริงแน่หรือไม่?
เราคุยกันไปแล้วว่า ความคาดหวังคือปัจจัยสำคัญในวิธีการที่เราคาดเดาอนาคต เช่นนั้นแล้วสิ่งที่เราอาจต้องถามคือ แล้วเราคาดหวังกับอะไรมากที่สุด หากไม่ใช่ตัวเราเอง? เราแต่ละคนกลัวการไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนในชีวิต ไม่รู้ว่าเราต้องเดินไปที่ไหนต่อ ฉะนั้นสิ่งเดียวที่เราอาจใช้เป็นดาวเหนือในเส้นทางชีวิตของเราได้ คือความคาดหวังนั่นเอง ซึ่งในมุมมองจิตวิทยาเราเรียกมันว่า ความรู้สึกขัดแย้งภายใน หรือ Mental Contrasting
ความรู้สึกขัดแย้งภายใน เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกาเบรียล เอิตทินเกน (Gabriele Oettingen) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแฮมเบิร์ก ซึ่งเป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้ความคาดหวังต่อการหาทางเดินในอนาคตของตัวเอง สมมติว่าเรามีความฝันอยากที่จะได้ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงขณะนี้เรายังทำงานกินเงินเดือนอยู่ที่ไทย ย่อมเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เราเศร้าอย่างแน่นอน และนั่นคือเวลาที่มนุษย์จะเริ่มทำการสร้างความรู้สึกขัดแย้งภายใน
เพื่อจะไปให้ถึงฝันของเรา เราจะวางความคาดหวังเอาไว้ที่หนึ่ง นั่นคือการไปอยู่ต่างประเทศ หวังสูงหน่อยคือการได้เป็นพลเมืองของประเทศนั้น หวังต่ำลงมาคือการได้ไปเรียน หรือทำงานสักปีสองปี หลังจากนั้นเราจะเริ่มมองไปยังรอบข้าง เราจะเริ่มเห็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความคาดหวังที่เรามี และหากเราหวังสูง เราก็ต้องวางแผนเพื่อจะไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้ ในระดับหนึ่งการมีความคาดหวัง คือการกำหนดธงในใจของเราเองว่าเราจะไปที่ไหน
หวังให้เป็นจริง
คำถามที่ต้องตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ ถ้าคาดหวังสูงแล้วผิดหวังล่ะ?
การผิดหวังเป็นสิ่งที่อาจจะน่ากลัว เหมือนเราตกจากการเดินเพื่อไปถึงยอดเขาสูง ลงมาในทะเลมืดมิดชื่อความผิดหวัง แล้วดำดิ่งไปพร้อมกับความเชื่อมั่นในตัวเองของเรา แล้วแบบนั้นแปลว่าการไม่หวังอะไรเลย คือทางที่ดีกว่าหรือเปล่า?
การคาดหวังสูงอาจสร้างกำลังใจให้เราเดินไปข้างหน้า ให้เราสามารถเริ่มใหม่ได้เรื่อยไป แต่ในขณะเดียวกันเราต่างก็ต้องถามว่า ความคาดหวังที่สูงของเรานั้นเป็นไปได้จริงขนาดไหน? การจะพบเจอคนรักที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบตามภาพในหัวเรา นี่เป็นไปได้จริงหรือเปล่า? เราคาดหวังให้โลกนี้เป็นโลกที่ทุกคนรักกันโดยไม่มีความขัดแย้งอีกสักวินาทีเดียว นี่เป็นไปได้หรือไม่? บ่อยครั้งเมื่อเราคาดหวังสูงมาก เราอาจวาดเส้นทางเดินตัวเองไปสู่ความผิดหวังได้
ภายในตัวของเรามีสิ่งที่เรียกว่า ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned helplessness) เมื่อมนุษย์ทำให้เราผิดหวังบ่อยครั้ง เราก็เรียนรู้ที่จะไม่คาดหวัง อย่างไรก็ดี การตกอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ นานเข้า ก็บิดเบือนสายตาเราออกจากภาพความเป็นจริงเช่นกัน ในขณะนี้เราอาจไม่มีคนรัก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่มีโอกาสที่จะมีคนมารักเราเลย และแม้ว่าการคาดหวังให้โลกไร้ความขัดแย้งจะเป็นไปไม่ได้ แต่การคิดว่าโลกจะไม่ดีขึ้นกว่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องจริงตามสถิติ เพราะโลกของเราดีขึ้นในบางแบบอยู่เสมอ การหยุดคาดหวังอาจแปลได้ถึงการหยุดเดินไปยังสิ่งที่เกินกำลังสำหรับเรา มากกว่าการมองโลกอย่างเรียลๆ
การหาคำตอบว่าเราจะคาดหวังหรือไม่คาดหวัง อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ตอบได้ว่าซ้ายหรือขวาขนาดนั้น แต่หากลองทบทวนดู วิธีการคาดหวังที่อาจปกป้องเราจากความผิดหวังได้มากที่สุด คือการคาดหวังให้อยู่กับความจริง เรียนรู้เรื่องต่างๆ และปัจจัยรอบๆ ความคาดหวังของเรา ทบทวนเกี่ยวกับตัวเราและอคติที่เรามี ทบทวนเกี่ยวโลกและอคติของโลก ฯลฯ
การทำเช่นนั้นอาจช่วยให้เลนส์มองภาพของเราต่อโลกที่เรายืนนี้ ชัดเจนพอจะสร้างความคาดหวังที่เป็นจริง
อ้างอิงจาก