เตรียมการแข่งขันกันมาเป็นปี แต่ฝนตกทีกลับต้องยกเลิกการแข่ง…แล้วสนามกีฬาในต่างประเทศเขารับมือกับปัญหาพวกนี้ยังไงกันนะ?
“อนาถใจสุดๆ กับคุณภาพ ‘สนามกีฬาแห่งชาติ’ รู้ถึงไหน อายถึงนั่น นี่ควรจะเป็นวาระแห่งชาติได้หรือยังในการบูรณะสนามให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับมาเลย์ อินโด หรือสิงคโปร์…ขอเถอะ ใช้ชื่อ Thailand’s National Stadium แต่สภาพได้ดีสุดแค่นี้อะนะ? อายเป็นบ้าเลย”
ประโยคดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในเสียงวิจารณ์ที่มีต่อคุณภาพของสนามราชมังคลากีฬาสถานจากเฟซบุ๊กแฟนเพจซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 4 แสนคนอย่าง วิเคราะห์บอลจริงจัง และอันที่จริง อีกหลายพันความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ก็ดูจะเห็นด้วยกับข้อความข้างต้นอยู่ไม่น้อย
ช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา แฟนบอลชาวไทยต่างเฝ้ารออย่างตื่นตาตื่นใจ เพราะสโมสรฟุตบอลจากศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษอย่างท็อตเทนแนม ฮ็อตสเปอร์มีคิวลงฟาดแข้งกับเลสเตอร์ ซิตี้ ณ สนามกีฬาแห่งชาติใจกลางสยามประเทศ ทว่าการรอคอยของชาวไทยกลับไร้ความหมาย เพราะสายฝนตามฤดูกาลดันเทลงมาอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นเหตุให้พื้นหญ้าที่จะใช้ทำการแข่งขันมีน้ำขังจนไม่สามารถใช้งานได้อย่างที่ควรจะเป็น
หลังจากเลื่อนเวลาเพื่อตรวจสอบคุณภาพของพื้นหญ้าอยู่พักใหญ่ ทั้งสองสโมสรก็มีความเห็นตรงกันว่า การเล่นฟุตบอลในสนามราชมังฯ ที่มีน้ำขังสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของบรรดานักเตะ การยกเลิกน่าจะเป็นทางออกที่ดีสุด ผลลัพธ์จึงมีเพียงภาพของเหล่ากองเชียร์หน้าเศร้าในเสื้อกันฝนที่ต้องจำทนเดินกลับบ้านโดยไม่ได้ดูฟุตบอลเลยแม้แต่นาทีเดียว
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยถึงปัญหาของสนามราชมังคลากีฬาสถานที่เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2541 เอาไว้ว่า จริงๆ แล้วสนามมีการดูแลและซ่อมบำรุงในส่วนต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะระบบระบายน้ำที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ก็ยอมรับว่า ด้วยอายุที่ค่อนข้างมากของสนามน่าจะทำให้ถึงเวลาที่ต้องบูรณาการครั้งใหญ่ โดยได้ปรึกษาหารือกับทางกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป นอกจากนี้ ทางกกท.ก็มีแผนที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาทในการปรับปรุงสนามครั้งถัดไป
ในเมื่อปัญหาการระบายน้ำดูจะยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยง่าย และนี่ก็น่าจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่การแข่งขันจะต้องถูกยกเลิก The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาลองสำรวจว่า สนามกีฬา โดยเฉพาะสนามกีฬาแห่งชาติในประเทศอื่นๆ มีวิธีบริหารจัดการพื้นที่แข่งขันในวันฝนตกอย่างไร และทำไมเราจึงแทบไม่เคยการประกาศยกเลิกการแข่งเพราะปัญหาฝนตกมาก่อน
เริ่มต้นสำรวจกันที่สนามฟุตบอลในศึกพรีเมียร์ลีก ประเทศอังกฤษ ที่ต้องบอกเลยว่า ทีมงานของแต่ละสนามมีวิธีรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และไม่ได้แก้ปัญหาได้เฉพาะสายฝน แต่เหตุหิมะตกก็ยังจัดการได้ในระดับยอดเยี่ยม
สนามต่างๆ อาทิ ท็อตเทนแนม ฮ็อตสเปอร์ส สเตเดียม เอติฮัด สเตเดียมของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สแตมฟอร์ด บริดจ์ของเชลซี ฯลฯ ต่างก็มีการวางแนวท่อน้ำไว้ใต้พื้นหญ้าอย่างเพียงพอ ช่วยให้ทุกครั้งที่ฝนตก มวลน้ำก็จะสามารถซึมผ่านชั้นดินและทราย ก่อนจะระบายออกจากตัวสนามได้อย่างรวดเร็ว ไม่ท่วมขังจนเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน
หรือต่อให้วันดีคืนดี มีหิมะตก ระบบทำความร้อนที่ฝังอยู่ใต้ดินก็พร้อมที่จะละลายเกร็ดน้ำแข็งที่เกาะอยู่ตามต้นหญ้า ส่งผลให้เกมกีฬาต่างๆ ดำเนินต่อไปได้โดยที่แฟนบอลไม่สูญเสียอรรถรสในการรับชม
สนามเหย้าของลิเวอร์พูลอย่างแอนฟิลด์คือหนึ่งในสนามที่เพิ่งปรับปรุงระบบระบายน้ำได้ไม่นานนัก โดยทีมหงส์แดงอาศัยทีมงานของ SELSports ในการติดตั้งนวัตกรรมการระบายน้ำใต้สนามหญ้า พร้อมเพิ่มระบบที่เรียกว่า ‘Air Blanket’ หรือ ‘ผ้าห่มอากาศ’ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยสร้างช่องว่างระหว่างเนื้อดิน ป้องกันไม่ให้น้ำฝนแทรกซึมอยู่ในเนื้อดินโดยไม่ยอมไหลผ่านไปสู่ท่อ อีกทั้งระบบผ้าห่มอากาศนี้ยังเอื้ออำนวยให้ทีมงานสนามสามารถเติมลมเพื่อเพิ่มปริมาตรอากาศในผิวดินได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่มีการป้องกันใดที่สมบูรณ์แบบ ครั้งหนึ่งการแข่งขันระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เปิดเอติฮัด สเตเดียม พบกับฟูแล่มในปี 2555 ก็จำต้องเลื่อนเวลาลงเตะในช่วงครึ่งหลัง เพราะพายุหิมะเปลี่ยนให้ทั้งสนามกลายเป็นสีขาวโพลน และบริเวณหลังประตูก็ยังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ละลายหิมะเอาไว้ เจ้าหน้าที่จึงต้องเสียเวลาพอสมควรไปกับการนำพลั่วมาตักหิมะออกจากบริเวณดังกล่าว
แต่ในที่สุด เมื่อจัดการกับกองหิมะหลังประตูเสร็จเรียบร้อย นักเตะทั้งสองทีมก็กลับมาทำการแข่งขันกันต่อจนจบได้ สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่สนามสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที
อีกหนึ่งวิธีการป้องกันน้ำฝนที่มีประสิทธิภาพคือการสร้างหลังคาที่ครอบคลุมทั้งสนาม ซึ่งสนามกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียวคือหนึ่งในนั้น การได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจยกระดับสนามครั้งใหญ่ จากที่ครั้งหนึ่ง ตัวสนามเคยมีหลังคาเพียงฝั่งเดียว ก็ลงทุนทุบทิ้งทั้งหมด แล้วสร้างสนามรูปแบบใหม่ให้มีหลังคา 100% ครอบคลุมหญ้าทุกต้นและผู้ชมทุกคน เรียกว่าไม่ต้องห่วงพื้นสนามจะกลายเป็นดินโคลน แถมยังไม่ต้องกังวลว่าแฟนกีฬาจะต้องนั่งตากน้ำฝนแม้แต่หยดเดียว
ถึงตรงนี้ทุกคนอาจมองว่า การสร้างสนามกีฬาให้มีคุณภาพทัดเทียมกับสนามฟุตบอลของอังกฤษ หรือสนามกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่นคือสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ทว่าในประเทศใกล้เคียงซึ่งมีขนาดเล็กและความสามารถเชิงลูกหนังไม่สูงเท่าไทยอย่างสิงคโปร์ก็ยังมีสนามกีฬาคุณภาพสูงถึงขั้นกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการมาเตะกระชับมิตรของทีมฟุตบอลระดับโลก และอันที่จริงหลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนประเทศไทย ทีมอย่างท็อตเทนแนม ฮ็อตสเปอร์ก็จะมีคิวไปแข่งขันต่อที่สนามแห่งนี้นี่เอง
คำถามที่น่าจะคาใจทุกคนมาตั้งแต่ย่อหน้าแรกคือ มันพอจะมีทางไหนมั้ยที่สนามกีฬาแห่งชาติของไทยจะสามารถระบายน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่แฟนบอลไม่ต้องมาลุ้นเอาหน้างานว่า วันนี้จะได้ดูหรือไม่ได้ดูนักกีฬาที่เรารักลงแข่ง
คำตอบของคำถามนี้น่าจะมีด้วยกัน 2 ทาง
ทางแรกคือสร้างสนามที่มีความทันสมัยแห่งใหม่ แต่หากเลือกทางนี้ก็อาจต้องใช้งบประมาณมหาศาล อีกทั้งยังต้องหาพื้นที่ที่กว้างมากพอจะบรรจุผู้ชมจำนวนมาก พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะสร้างสนามแห่งใหม่ก็เป็นไปได้ยากที่สนามแห่งนั้นจะอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมืองที่แทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับสิ่งปลูกสร้างอย่างสนามกีฬาแล้ว
ส่วนอีกหนึ่งทางคือการปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถานให้สามารถใช้การได้ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับทางเลือกนี้ กฤษณะ ยินดี วิศวกรผู้มีประสบการณ์ออกแบบสนามฟุตบอลในไทยลีก ได้ให้สัมภาษณ์กับ Main Stand เอาไว้ใจความว่า มีความเป็นไปได้ที่สนามราชมังฯ จะเพิ่มระบบระบายน้ำที่สอดคล้องกับสภาพอากาศ โดยเขาได้ให้แนวทางคร่าวๆ เอาไว้ 4 ขั้นตอน ได้แก่
- สำรวจพื้นที่ใกล้เคียงที่สามารถใช้เป็นแหล่งพักน้ำ ถ้าไม่มีอาจต้องสร้างอุโมงค์หรือถังเก็บน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนก่อนจะทยอยระบายไปยังแหล่งอื่นๆ
- เก็บสถิติปริมาณน้ำฝนบริเวณสนามราชมังฯ อย่างน้อย 20 ปีย้อนหลัง
- นำสถิติดังกล่าวมาคำนวนหาจำนวนและขนาดของท่อที่เหมาะสม
- ติดตั้งท่อใต้สนาม
ก็คงต้องติดตามกันต่อว่า สนามกีฬาแห่งชาติของไทยจะได้รับการปรับปรุงเมื่อไหร่และอย่างไร แต่ระหว่างนี้ เราทุกคนคงทำได้เพียงภาวนาให้สโมสรดังๆ จากต่างประเทศยังให้โอกาสประเทศไทย
แม้การแข่งขันที่ราชมังฯ จะเพิ่งยกเลิกไปเพราะฝนตกหนักก็ตาม
อ้างอิงจาก