ในช่วงปี 1981 – 1986 U.S. Marshals Service หรือ USMS หน่วยงานขึ้นตรงกับกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทั่วประเทศ ได้ออกปฏิบัติการตามจับอาชญากรที่หลบหนีหลายพันคนในสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นกว้างใหญ่เกินกว่าจะไล่ตามหาแต่ละคนในแต่ละรัฐ และมันอาจต้องใช้เวลา ใช้กำลังคนที่มาก และค่าใช้จ่ายมหาศาล ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ที่รวดเร็วและประหยัดที่สุด นั่นคือการใช้ ‘เหยื่อล่อ’ เรียกให้คนเหล่านี้เผยตัวเองออกมา และ ‘เหยื่อล่อ’ ที่ว่าก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละกิเลส ความโลภของคน และตามฤดูกาลยอดฮิต
ตัวอย่างเช่น ส่งจดหมายปลอมจากไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ของผู้ต้องหาหลบหนีล่าสุดที่ได้ข้อมูลมา ให้มารับสินค้า ‘มีค่า’ ด้วยตนเองที่ไปรษณีย์ หรือส่งจดหมายไปแจ้งว่าพวกเขาว่าถูกลอตเตอรี่ 10,000 ดอลลาร์ หรือแม้กระทั่งปลอมจดหมายจากตัวแทนศิลปิน ว่าพวกเขาชนะเลิศรางวัลตั๋วคอนเสิร์ตรวมอาหารค่ำและรถลีมูซีนรับส่ง
แน่นอนว่ารางวัลเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง และเมื่ออาชญากรที่หลบหนีเปิดเผยตัวตนออกมาเองเพื่อไปเอาของเหล่านั้น ตำรวจที่ปลอมตัวอยู่รอบๆ ก็สามารถจับกุมได้อย่างง่ายดายราวกับเบ็ดตกปลา การจับกุมในพื้นที่นอกบ้านของอาชญากรก็มีข้อดีอีกอย่าง คือปลอดภัยกว่าการจับกุมที่บ้าน ที่อาจเต็มไปด้วยอาวุธการอาจระวังตัวที่มากกว่า
ในช่วงปี 1985 เนชั่นแนลฟุตบอลลีก (National Football League) หรือที่เรียกกันว่า NFL ลีกกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับอาชีพในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 32 ทีมจากเมืองต่างๆ ตั้งขึ้นปี 1920 ในชื่อ ‘American Professional Football Association’ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘เนชั่นแนลฟุตบอลลีก’ ในปี 1922 กลายเป็นลีกกีฬาที่มีคนดูสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา มันคือกีฬาที่ 1 ใน 3 ของชายชาวอเมริกันหลงรักและชื่นชอบที่สุดในบรรดากีฬาทั้งหมดบนโลก ผู้คนต่างบ้าคลั่ง และใฝ่ฝันที่จะได้ดูมันสดๆ ในสนามสักครั้งในชีวิต และยิ่งแมตช์สำคัญเท่าใด ราคาตั๋วยิ่งแพงหูฉี่มหาศาล หรือแย่งกันซื้อจนแทบไม่มีโอกาสได้ลุ้น
ในปี 1985 ตั๋ว NFL ได้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ล่อเหยื่อของ USMS พวกเขาหวังจะใช้เหยื่อล่ออาชญากรผู้รักในอเมริกันฟุตบอลอันเย้ายวนใจนี้ลงในแหขนาดใหญ่ และจับกุมให้อยู่หมัดในทีเดียว
และเรียกปฏิบัติการนี้ว่า ‘Operation Flagship’ โดยการจับมือกันระหว่าง United States Marshals Service และกรมตำรวจในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ในช่วงเวลา 7 สัปดาห์ก่อนถึง Super Bowl (รอบชิงชนะเลิศประจำปีของทีมอเมริกันฟุตบอล NFL) ช่วงเวลาที่ผู้คนต่างกำลังบ้าคลั่ง และไม่มีใครที่ไม่พูดถึงมัน กรมตำรวจกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ได้เริ่มปฏิบัติการ พวกเขาส่งเอกสารไปตามที่อยู่ล่าสุดของอาชญากรหลบหนีเท่าที่ทราบ อ้างตัวเป็นช่องสถานีกีฬาแห่งใหม่ในสหรัฐอเมริกานามว่า ‘Flagship International Sports Television’ และระบุในจดหมายว่า “ขอแสดงความยินดีด้วย คุณคือผู้โชคดีที่ได้รับตั๋วฟรี 2 ใบ สําหรับเกมระหว่าง Redskins-Bengals ในวันที่ 15 ธันวาคม 1985 เพื่อเป็นการโปรโมตช่องโทรทัศน์ใหม่ของเรา เราจึงอยากให้คุณมารับด้วยตนเองที่ศูนย์การประชุมวอชิงตันในเช้าวันก่อนแข่ง เพราะในงานเช้าวันนั้น เราจะยังมีการสุ่มผู้โชคดี 10 คนที่จะได้รับตั๋วตลอดฤดูกาลปี 1986 อีกทั้งยังมีการจับรางวัลใหญ่สําหรับการเดินทางไปชม Super Bowl ในนิวออร์ลีนส์จำนวน 20 ที่ แบบออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดอีกด้วย”
จดหมายจาก Flagship International Sports Television นี้ ส่งไปยังผู้ต้องหาหลบหนีคดีกว่า 3,000 คนโดยหวังว่าอย่างน้อย 1 ใน 100 คนน่าจะหลงกลและเดินเข้ามารับรางวัลอย่างไม่สงสัยอะไร
และในเช้าวันที่ 15 ธันวาคม.1985 ศูนย์การประชุมวอชิงตันถูกตกแต่งประดับประดาไปด้วยป้ายชื่อสถานีปลอมๆ ลูกโป่ง โต๊ะลงทะเบียน เวทีที่ตกแต่งเป็นโลโก้ทีมอเมริกันฟุตบอล เพลงร็อคเปิดเสียงดังผ่านลำโพง ตั้งทีวีที่เปิดเทปของเกมซูเปอร์โบวล์ ปี 1982 รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่USMS 166 คน ที่ปลอมตัวเป็นพนักงานต้อนรับที่สวมชุดทักซิโด้ เชียร์ลีดเดอร์ พิธีกร พนักงานจัดเลี้ยง พนักงานซ่อมบำรุง มาสคอตไก่สีเหลืองสดใสและชุดชนพื้นเมืองอเมริกา เพิ่มความน่าสนใจและสมจริงเข้าไปด้วยแฟนบอลปลอมๆ ของทั้ง 2 ทีมที่ใส่เสื้อชุดแต่ละทีมพร้อมโหวกเหวกโวยวายร้องเพลงประจำทีม
ผู้ต้องหาเริ่มติดแห พวกเขาทยอยเดินเข้าไปที่ศูนย์การประชุมวอชิงตัน พนักงานต้อนรับหญิงในชุดทักซิโด้ที่รออยู่ด้านหน้าก็พาพวกเขาไปที่โต๊ะลงทะเบียน หลังจากแจ้งชื่อของตนเอง ก็มีการตรวจสอบตัวตนด้วยบัตรประจำตัว เมื่อชื่อถูกต้องพนักงานต้อนรับก็ติดป้ายชื่อบนเสื้อของของเขา จากนั้นก็ถูกพนักงานต้อนรับอีกคนพาขึ้นบันไดเลื่อนไปยังห้องจัดเลี้ยง ก่อนที่จะได้รับการต้อนรับจากพิธีกรที่สวมหมวกสูงและสูททรงยาวด้วยน้ำเสียงอันอ่อนหวานและไพเราะ
เมื่อถึงเวลา อาชญากร 101 คนที่มารวมตัวกันในห้องโดยมิได้นัดหมาย ก็ได้ยินเสียงจากพิธีกรบนเวที “ผมขอขัดจัดหวะสักหน่อยนะ ผมมีเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ให้กับคุณ” พิธีกรพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“พวกคุณถูกจับทั้งหมด!” เขาพูดด้วยน้ำเสียงที่ดังแกมตะโกน สิ้นเสียง เจ้าหน้าที่ทีมปฏิบัติการพิเศษของ US Marshals Service และ กรมตำรวจกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ปรี่เข้ามาในห้องจัดเลี้ยงทุกประตู พร้อมกับปืนลูกซอง ปืนช็อตไฟฟ้า และอาวุธอื่นๆ จ่อไปยังทั้ง 101 คนที่กำลังมึนงงด้วยความตกใจ
“หมอบลง แล้วเอามือวางไว้บนหัวของคุณซะ!” พิธีกรสั่งผู้ถูกรางวัลทั้งหมด เสียงความเป็นพิธีกรได้หายไปแล้ว เหลือแต่ความดุดันของตำรวจวอชิงตัน ดี.ซี. ที่เกรงขาม
การจับกุมเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีใครขัดขืนหรือพยายามหลบหนี จาก 101 คน มี 2 คนที่ถูกหมายจับในข้อหาฆาตกรรม 5 คนในข้อหาปล้น 15 คนในข้อหาทําร้ายร่างกาย 6 คนในข้อหาลักทรัพย์ คน1 คดีข่มขืน คน 1 คดีลอบวางเพลิง และคดีจุกจิกมากมาย
ปฏิบัติการนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการจับกุมผู้ต้องหาหนีคดีครั้งใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา
United States Marshals Service และกรมตำรวจในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สรุปว่าปฏิบัติการของพวกเขาประสบความสําเร็จ ไม่เพียงแต่สามารถการจับกุมคนหนีคดีได้เป็นจํานวนมากเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายยังถูกมากกับคน 101 คนด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียง 22,100 ดอลลาร์ หรือ 218 ดอลลาร์ต่อคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนในปีเดียวกันของการจับกุมต่อผู้ต้องหาหลบหนีหนึ่งคนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1,295 ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าถึงเกือบ 6 เท่าเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก