จำได้ไหมว่าครั้งล่าสุดที่เราพูดว่า “ไม่รีบ” คือเมื่อไร?
พอใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกที เราก็โตมาโดยที่คำว่า ‘ยังพอมีเวลา’ แทบจะไม่ได้อยู่ในความคิด แต่แทนที่ด้วยความรู้สึกว่าต้องใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่า จนบางทีต้องทำหลายอย่างพร้อมกันตลอดเวลา กลายเป็นมนุษย์ multitasking เพื่อจะรีบวิ่งไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด แต่จริงๆ แล้วก็ฟังดูย้อนแย้งเหมือนกัน เพราะในขณะที่มนุษย์มีอายุขัยยืนยาวขึ้น ทว่าเรากลับไม่มีท่าทีจะใช้ชีวิตช้าลงไปด้วยเลย
อะไรทำให้คนเราเร่งรีบตลอดเวลา?
คำตอบคงมีหลายปัจจัย แต่หากมองในภาพรวม ดูเหมือนว่าเราเจอความเร่งรีบมาตั้งแต่ ‘วัยเด็ก’ ตั้งแต่การศึกษาที่มีคุณภาพกลายเป็นเหมือนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จนต่างคนต่างต้องถีบตัวเองให้ดีขึ้น เก่งขึ้น ต้องแข่งขันสอบเข้าโรงเรียนอันดับต้นๆ จนเต็มไปด้วยบรรยากาศของการแข่งขั้น ซึ่งกระตุ้นให้เด็กๆ รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่า ซึ่งเราไม่ปฏิเสธว่าการขยันและตั้งใจเรียนเป็นเรื่องที่ดี แต่คงเป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อเราเร่งรีบไปเรียนพิเศษ ทำการบ้าน อ่านหนังสือ จนไม่ได้วิ่งเล่นสนุกในวัยที่ควรจะวิ่งเล่นสนุก ไม่ได้ค้นหาตัวตนและลองผิดลองถูกในวัยแห่งการค้นพบตัวเอง ไม่มีโอกาสได้สร้างความทรงจำและดื่มด่ำกับห้วงเวลาที่ไม่อาจย้อนคืนมากับเพื่อนๆ ในช่วงวัยรุ่น และต่อให้เรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย ความเร่งรีบก็ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น
เมื่ออยู่ในประเทศที่ไม่ได้อนุญาตให้คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตช้าๆ ลองค้นหาตัวเองดูก่อน ทำให้เรารู้สึกกดดันที่ต้องมีงานทำไวๆ ต้องแข่งขันกันหางาน พัฒนาตัวเองให้เติบโต ก้าวหน้า จนดูเหมือนว่าเราวิ่ง วิ่ง และวิ่ง เข้าสู่เดดไลน์ใหม่ๆ ที่ดูจะไม่มีวันสิ้นสุดลงสักที
นอกจากความกดดันเรื่องการเรียนและการทำงานแล้ว พอมองลึกลงมาในชีวิตประจำวัน อีกเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนเวลาชีวิตลดน้อยลง คือการเดินทาง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีผลการวิเคราะห์ในปี 2022 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่รถติด อันดับ 2 ของเอเชียและอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งเราใช้เวลาไปกับท้องถนนนานถึง 67 ชั่วโมง หรือเกือบๆ 3 วันเลยทีเดียว เลยไม่น่าแปลกใจถ้าหลายคนจะรู้สึกเหมือนว่า แทบจะไม่เวลาให้นั่งหย่อนกายสบายใจระหว่างวัน หรือแม้แต่สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะก็ไม่ได้มีมากพอหรือเข้าถึงได้ง่าย ภาพที่เห็นเลยมักจะเป็นคนทำงาน จับจ่ายใช้สอย และใช้ชีวิตเร่งรีบในทุกๆ วัน มากกว่าการนั่งมองฟ้า วิ่งเล่นในสวนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ
ยิ่งใครทำงานแล้วเจอวัฒนธรรมองค์กรที่เร่งรีบ ทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ ต้องมีงานหลัก งานรอง งานเสริม ยิ่งรู้สึกเหมือนระยะเวลา 1 วันนั้นสั้นลงเรื่อยๆ จนแทบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน พ่วงมาด้วยแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือที่ชวนให้เรารู้สึกเร่งรีบโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะแอปฯ เตือนให้ซื้อของ แจ้งเตือนโซเชียลมีเดียไปจนถึงอีเมลที่กระตุ้นให้เรารู้สึกเหมือนสมองแปลงร่างเป็นร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง จนเริ่มมีคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่าง ‘Revenge Bedtime Procrastination’ หรือการเลื่อนเวลานอนของตัวเองด้วยความตั้งใจ เพราะอยากแก้แค้นเพื่อกู้คืนเวลาพักผ่อนของตัวเองกลับมา หลังจากวุ่นวายกับความรับผิดชอบในแต่ละวัน เลยกลายเป็นเพิ่มเวลาพักด้วย ‘การลดเวลานอน’ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมปัจจัยส่วนบุคคล เช่น การไม่กล้าเผชิญหน้าปัญหาหรือความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง เลยใช้ชีวิตรีบๆ ไว้ก่อนเพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกนั้น แต่ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็น ความกดดันหรือเหตุผลไหนๆ การใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยเดดไลน์ไฟลุกในทุกๆ ย่างก้าวคงไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อกายและใจของเราสักเท่าไร
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ?
ความเร่งรีบมักทำให้เราตีตัวออกห่างจากปัจจุบัน เริ่ม ‘มองไปข้างหน้า’ มากเกินไปจนอาจละเลย ‘สิ่งที่อยู่ตรงหน้า’ กลายเป็นว่ากำลังใช้ชีวิตกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง นั่นคืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง อาจเป็นการอยู่บ้านแต่มัวคิดเรื่องงาน การรับฟังเพื่อนโดยที่ใจเลื่อนลอยนึกถึงเรื่องอื่น การใช้เวลากับครอบครัว โดยที่ในหัวคำนวณเวลาตลอดว่าต้องรีบไปตอนกี่โมง จนท้ายที่สุดพอมองย้อนมาแล้ว ทุกอย่างดูเป็นความทรงจำอันแสนเลือนราง จำไม่ได้ว่าบ้านเราบรรยากาศเป็นแบบไหน เรื่องที่เพื่อนพูดวันนั้นคืออะไร เสียงหัวเราะของลูก กลิ่นอาหารที่แม่ทำถูกแทนที่ด้วยภาพความเร่งรีบของตัวเราเอง
นอกจากนี้ความรีบมักจะมาคู่กับความรู้สึกขาดแคลนเว้าแหว่ง ไม่พอใจกับตัวเองสักที กลายเป็นคนที่รู้สึกเศร้า เสียใจ หงุดหงิดได้ง่ายจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ กลายเป็นคนยืดหยุ่นได้ยากสะสมมาเป็นความเครียดเรื้อรัง ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง นอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม จดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้น้อยลง ซึ่งนอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ยังส่งผลในมิติอื่นๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เริ่มห่างเหินกันมากขึ้น เพราะเราไม่ได้ตั้งใจใช้เวลากับคนที่อยู่ตรงหน้ามากเพียงพอ ทั้งเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือความสัมพันธ์อื่นๆ ในชีวิต
มาลองใช้ชีวิตให้ช้าลงอีกหน่อย
ถ้าไม่แน่ใจว่าเรากำลังรีบจนเกินไปไหม ควรใช้ชีวิตให้ช้าลงแล้วหรือเปล่า เราอาจจะลองสังเกตตัวเองจากสัญญาณบางอย่าง เช่น
- รีบทำจนหลงลืมบางอย่างหรือทำผิดพลาดบ่อยๆ
- มักจะทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน และเริ่มรู้สึกว่าการจดจ่อลงมือทำทีละอย่างเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก
- รู้สึกหงุดหงิดง่ายและอารมณ์รุนแรงเวลาเจออะไรที่ไม่เป็นไปตามแผน แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่พอจะยืดหยุ่นได้
- รีบกับทุกเรื่องจนเริ่มแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนควรมาก่อน-หลัง เริ่มจัดลำดับความสำคัญไม่ถูก แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องเร็วไปหมด ตั้งแต่กินข้าว เดิน ขับรถ ไปจนถึงวิธีการพูดที่กลายเป็นเดอะแรปเปอร์แบบไม่รู้ตัว บ้างก็เผลอพูดแทรก หรือไม่ก็ตัดตัดบทคู่สนทนาเพราะจดจ่อกับอะไรนานๆ ไม่ไหว หรืออาจจะเป็นพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น พอขึ้นลิฟต์คนเดียวแล้วกดปุ่มปิดลิฟต์รัวๆ ทั้งที่ไม่ได้รีบไปไหน
นอกจากสัญญาณเหล่านี้แล้ว ถ้าเราสังเกตว่า ‘ความรีบ’ เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่และชีวิตประจำวัน นั่นก็เป็นอีกสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าเราควรใช้ชีวิตให้ช้าลงสักหน่อยแล้วล่ะ
แต่แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ เพราะแต่ละคนอาจมีวิธีใช้ชีวิตช้าๆ แตกต่างกันออกไป ถ้าไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนจริงๆ เราอาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น เมื่อรู้สึกกังวลเพราะมีอะไรให้ต้องทำเยอะแยะไปหมด เราอาจจะใช้เวลาไม่กี่วินาทีตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องทำ ‘ตอนนี้’ หรือเปล่า ลองทบทวนและจัดลำดับความสำคัญของแต่ละสิ่ง ค่อยๆ ทำทีละอย่างให้เสร็จแล้วค่อยขยับไปทำอีกอย่าง หรือบางคนอาจจะลดตัวกระตุ้นความรีบ เช่น ปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์ในวันหยุด เพื่อใช้เวลากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แบ่งเวลาไม่กี่นาทีต่อวันเพื่อจดจ่อกับสิ่งที่เราชอบจริงๆ และหลีกเลี่ยงการทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ได้บอกให้หยุดทำงาน เลิกวิ่งตามเป้าหมาย แล้วหันมาสโลว์ไลฟ์ตลอดเวลา เพียงแต่บางเสี้ยววินาทีของแต่ละวัน เราอยากชวนมาลองสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วดื่มด่ำกับห้วงเวลาตรงหน้า หรืออาจจะลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า
ในอนาคตหากมองย้อนกลับมา เราจะจดจำอะไรได้บ้าง? เป็นภาพที่เรากำลังใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ หรือความทรงจำที่อยากกอดเก็บไว้และไม่รู้สึก ‘เสียดาย’ ในภายหลัง
อ้างอิงจาก