ขณะที่ไล่สายตาดูประกาศรับสมัครงาน นอกจากขอบเขตการทำงานที่ตรงกับความถนัด กับเงินเดือนที่เหมาะสมแล้ว ‘สวัสดิการดีๆ’ ยังเป็นอีกเรื่องที่มนุษย์ออฟฟิศหลายคนกำลังมองหา
จากการสำรวจของ forbes advisor ปี 2023 พบว่า สวัสดิการที่ดีกว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนตัดสินใจเปลี่ยนงาน (รองลงมาจากเรื่องเงินเดือน) และการสำรวจเดียวกันนี้ ยังพบว่าคนทำงานกว่า 1 ใน 10 ยอมลดเงินเดือนของตัวเอง เพื่อเข้าถึงสวัสดิการที่ดีกว่า
แต่การมีสวัสดิการดีๆ จะช่วยให้การทำงานดีขึ้นจริงไหม? และสวัสดิการแบบไหนที่พนักงานต้องการมากที่สุด? ชวนมาสำรวจไปพร้อมกันในบทความนี้
ว่าด้วยสวัสดิการตามกฎหมาย
ถ้ามองในมุมกฎหมาย ในเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน ได้นิยามของ ‘สวัสดิการแรงงาน’ ไว้ว่าเป็น “การดำเนินการใดๆ ไม่ว่าโดยนายจ้าง สหภาพแรงงาน (ลูกจ้าง) หรือรัฐบาลที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ลูกจ้างสามารถมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร มีความผาสุกทั้งกายและใจ มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน มีความเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตไม่เฉพาะแต่ตัวลูกจ้างเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัวของลูกจ้างด้วย” โดยสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- น้ำสะอาดสำหรับดื่ม
- ห้องน้ำที่ถูกต้องตามสุขลักษณะและมีปริมาณเพียงพอ
- สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล ซึ่งหากมีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป จะต้องมีแพทย์แผนปัจจุบันอย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์และไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงในเวลาทำงาน แต่ถ้าไม่มีแพทย์ดังกล่าว นายจ้างสามารถทำการตกลงเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงแทน
ส่วนสวัสดิการนอกเหนือจากนี้คือสวัสดิการที่บริษัทจัดหาให้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นหลายบริษัทใช้สวัสดิการหลากหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดพนักงานเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน เช่น
- Hubspot มีวันลาหยุดแบบไม่จำกัด และถ้ายังทำงานที่นี่ต่อไปเรื่อยๆ ทุก 5 ปีจะมีวันหยุดเพิ่มขึ้นมาอีก 4 สัปดาห์โดยสามารถใช้วันหยุดนี้ได้โดยรับค่าตอบแทนตามปกติ
- BetterUp มีสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงานและครอบครัว รวมทั้งประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงและสินเชื่อเพื่อการศึกษา
- Google มีสิทธิพิเศษเจ๋งๆ เช่น บริการนวดฟรี คอร์สเรียนทำอาหารฟรี ยิมออกกำลังกายฟรีพร้อมคลาสสอน และหากพนักงานเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินให้คู่สมรสหรือคู่รักของพนักงานที่เสียชีวิต 50% ของเงินเดือนเป็นเวลา 10 ปี
- Campbell Soup Company มอบความคุ้มครองด้านการดูแลสุขภาพ 100% มียิมสำหรับออกกำลังกายและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี ส่วนผู้ปกครองจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น โรงเรียนอนุบาล ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และโปรแกรมหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี รวมทั้งห้องให้นมบุตรส่วนตัวสำหรับคุณแม่
เมื่อสวัสดิการสัมพันธ์กับผลงานและอัตราการลาออก
จะเห็นว่าแต่ละบริษัทมีสวัสดิการสำหรับพนักงานที่แตกต่างกันออกไป แต่คำถามที่ตามมาคือสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานดีขึ้นจริงไหม? และเมื่อเราไปหาคำตอบทำให้พบงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า สวัสดิการเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงานและช่วยให้พนักงานลาออกน้อยลง อย่างการศึกษาในปี 2019 พบว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงานส่งผลเชิงบวกต่อผลงานของพนักงาน เพราะถ้าพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สะดวกสบาย ก็สามารถทำงานได้อย่างสบายใจ และโฟกัสกับตัวงานได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น
ส่วนข้อมูลจาก aflac ในปี 2016 พบว่า พนักงานมากกว่า 60% มองว่าสวัสดิการทำให้พวกเขาอยากทำงานที่เดิมต่อไปนานๆ เช่นเดียวกับ การศึกษาในปี 2020 ที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าบริษัทให้สวัสดิการที่มั่นคง เช่น แผนการรักษาพยาบาล แผนการเกษียณอายุ จะช่วยให้มีอัตราการลาออกที่ต่ำกว่าและมีโอกาสทำกำไรสูงขึ้น ส่วนสวัสดิการหมวดอื่นๆ เช่น การจ่ายโบนัส ลาป่วยและลาพักร้อนโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการลาออกจากบริษัทมากนัก สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเพราะสวัสดิการด้านความมั่นคง ทำให้ผู้คนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ ในระยะยาว
นอกจากสวัสดิการจะช่วยเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ในแง่ของจิตใจ สวัสดิการยังเป็นสิ่งที่สื่อสารกับพนักงานไปในตัวด้วยว่า “บริษัทให้คุณค่ากับสิ่งที่เราทำ” เหมือนเป็นการชื่นชมโดยไม่ต้องใช้คำพูดนั่นเอง แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กลับมีสถิติที่บอกว่า 66% ของพนักงานจะลาออกหากพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการชื่นชมหรือมองเห็นคุณค่า โดยคนรุ่นมิลเลนเนียลเกือบ 8 ใน 10 ของการศึกษานี้ กล่าวว่าพวกเขาจะมองหาโอกาสใหม่ๆ ถ้าไม่รู้สึกว่าได้รับการชื่นชมจากเพื่อนร่วมงานหรือผู้นำในองค์กร
‘สวัสดิการด้านสุขภาพ’ สวัสดิการที่พนักงานต้องการมากที่สุด
แม้ปัจจุบันเราจะเห็นหลายบริษัทมีสวัสดิการที่น่าสนใจออกมา แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขจากการสำรวจความต้องการของพนักงานจะพบว่า ‘สวัสดิการด้านสุขภาพ’ เป็นเรื่องที่มาแรงแซงทุกสวัสดิการ เห็นได้จากการสำรวจของ SHRM (Society for Human Resource Management) ในปี 2022 ที่พนักงานในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ (88%) มองว่าสวัสดิการด้านสุขภาพสำคัญมากที่สุด และองค์กรกว่า 93% ในการสำรวจนี้มีบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) และ 91% มีบริการด้านสุขภาพจิต เช่นเดียวกับการสำรวจของ Forbes Advisor ในปี 2023 ที่สำรวจชาวอเมริกัน 1,000 คน และเจ้าของธุรกิจ 1,000 คน พบว่า สวัสดิการที่พนักงานต้องการและมองว่าสำคัญมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การดูแลสุขภาพที่ครอบคลุม (67%) รองลงมาคือ ประกันชีวิต (45%) แผนการเงินบำนาญและการเกษียณอายุ (34%) การลาหยุดงานโดยได้รับค่าจ้างตามปกติ (31%) และความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (23%) ตามลำดับ
สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วง COVID-19 กระตุ้นให้เราเห็นความสำคัญของสวัสดิการด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น บางคนได้รับสิทธิการเข้าพักใน Hospitel หรือเข้าถึงวัคซีนดีๆ ได้รวดเร็วจากสวัสดิการของบริษัท นอกจากนี้ สุขภาพยังเป็นเรื่องที่สั่นคลอนความมั่นคงในชีวิตได้มากที่สุด เพราะถ้าร่างกายไม่พร้อมเราก็ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แถมค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ยังแพงแสนแพง เริ่มตั้งแต่การป้องกัน อย่างการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ดี การเข้าถึงวัคซีน การตรวจสุขภาพประจำปี การเข้าพบจิตแพทย์ ไปจนถึงการทำประกันสุขภาพ ซึ่งถ้าบริษัทสามารถดูแลในเรื่องนี้ได้อย่างครอบคลุม ก็จะช่วยให้พนักงานใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกที่อุ่นใจและมั่นคงมากได้ขึ้น
ส่วนในมุมขององค์กร มีการศึกษาโดย Avalere Health พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วบริษัทที่มีสวัสดิการด้านสุขภาพโดดเด่นมีแนวโน้มจะได้รับ ROI (Return on Investment หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน) เป็นบวกที่ 47% ซึ่ง ROI นี้มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น พนักงานโปรดักทีฟมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลดลง ค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานใหม่และการรักษาพนักงานเดิมลดลง ดังนั้นสวัสดิการจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่บริษัทมอบให้กับพนักงานเท่านั้น เพราะถ้าบริหารจัดการได้ดี สวัสดิการเหล่านี้สามารถลดต้นทุน สร้างผลกำไร และสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม สวัสดิการเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างราบรื่น เหมือนมีพื้นฐานที่ดีให้พนักงานไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นๆ แล้วโฟกัสกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่การทำงานย่อมมีอีกหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน วัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน
เพราะต่อให้สวัสดิการดีแค่ไหน แต่ถ้าหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานท็อกซิก หรือต้องงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาให้ใช้สวัสดิการเหล่านั้น สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็คงมีค่าเท่าเดิมอยู่ดี
อ้างอิงจาก