จากสถานการณ์ที่ดีขึ้นในหลายๆ ประเทศ หลายบริษัทก็เริ่มพิจารณาการกลับเข้ามานั่งทำงานที่ออฟฟิศกันอีกครั้ง หลังจากที่นั่งทำงานที่บ้านกันจนมีของงอกมาหลายชิ้น จนแทบจะไม่ใช่บ้านแล้ว แทบจะเป็นออฟฟิศอีกที่นึงแล้ว พอต้องกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ (ของจริง) อีกครั้ง ปรากฎว่าเสียงแตก มีทั้งคนที่อยากกลับไปนั่งออฟฟิศใจจะขาด คนที่อยากให้พิจารณาวันเข้าออฟฟิศให้เป็นแบบ Hybrid Work และคนที่ไม่อยากกลับไปออฟฟิศอีกเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาคิดต่างกันนั้นคือ ช่วงวัยที่ต่างกัน
อย่างในหลายประเทศที่สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติกันได้แล้ว พื้นที่นอกบ้าน ที่เป็นดั่ง The Third Place อย่างสวนสาธารณะ ร้านอาหาร คาเฟ่ ก็สามารถให้ผู้คนออกมาใช้บริการตามปกติ แล้ว The Second Place อย่างที่ทำงานล่ะ มีหรือจะพลาด หลายบริษัท เริ่มหันมาพิจารณาการกลับเข้ามานั่งทำงานในออฟฟิศกันอีกครั้ง เมื่อไม่มีเรื่องน่ากังวลอะไรแล้ว ตัวออฟฟิศที่ถูกทิ้งร้างมานานก็ควรได้กลับมามีชีวิตชีวาเสียที แต่การพิจารณาเรื่องนี้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามบางอย่างขึ้นมา
The Great Resignation ปรากฎการณ์ลาออกครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญ หลังที่ผู้คนได้ใช้เวลาทำงานที่บ้านกันมาสักพัก และเมื่อต้องกลับเข้าไปนั่งออฟฟิศอีกครั้ง พวกเขาจึงลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงความต้องการของตัวเองต่องานในตอนนั้น ว่าพวกเขามีความสุขกับมันแค่ไหน นี่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ หรือเปล่า อาจเพราะในช่วงทำงานที่บ้าน เราเริ่มได้เห็นนโยบายในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ขององค์กร ได้มีเวลาตั้งคำถามในการทำงานของตัวเองมากขึ้น จนหลายคนเลือกที่จะลาออกในช่วงรอยต่อที่ต้องกลับเข้าไปนั่งทำงานแบบเดิมอีกครั้ง
การทำงานที่บ้านไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ออฟฟิศก็เช่นกัน
การทำงานที่บ้าน ได้กลายมาเป็นเครื่องมืออีกชิ้นขององค์กรในการจัดการดูแลพนักงาน แต่ทีนี้เครื่องมือนี้อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน มีทั้งคนที่มีความสุขกับการทำงานที่บ้าน ไม่ต้องฝ่ารถติดตอนเช้า ปิดคอมแล้วก็เลิกงานได้เลย เดินมานั่งดู Netflix สบายใจ กิจกรรมที่ไม่ต้องเร่งรีบ แถมไม่ต้องนั่งทำงานในสายตาของใคร จนรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ดีภายใต้ชายคาส่วนตัวนี้ แม้จะฟังดูดีแค่ไหน แต่ก็ยังมีคนที่เจ็บปวดจากนโยบายทำงานที่บ้านอยู่ไม่น้อย
เพราะบ้านของแต่ละคนนั้น มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป บางบ้านอยู่แบบครอบครัวใหญ่ บางบ้านไม่มีพื้นที่มากพอที่จะหามุมสงบๆ นั่งทำงานได้ เสียงแม่ที่ตะโกนให้ลงมากินข้าวและตามมาถึงห้องถ้าไม่ยอมลงไป จนมาจะเอ๋กับเราที่นั่งประชุมออนไลน์อยู่ ทั้งการประชุมที่ยาวนาน รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป หัวหน้าที่จับตามองลูกน้องมากขึ้น เพราะไม่มั่นใจว่าพวกเขาจะใช้เวลาไปกับการทำงานให้บริษัทตามเวลาทำงานปกติหรือเปล่า เรื่องกังวลเหล่านี้คอยทับถมอยู่ในความคิด จนกระทั่งมันสะสมเป็นความเครียดและภาวะหมดไฟในการทำงาน
ในทางกลับกัน ออฟฟิศ ก็เป็นพื้นที่ที่มีทั้งคนที่อยากกลับไปและไม่อยากกลับไป แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ แต่ละเจเนอเรชั่นนั้น มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ที่ต่างกันออกไป
รุ่นใหญ่ วัยละอ่อน รุ่นไหน คิดอย่างไรกับการกลับออฟฟิศ
งานวิจัยจาก เจมส์ ไบลีย์ (James R. Bailey) ศาสตราจารย์จาก George Washington University ได้ศึกษาถึงพฤติกรรมและความคิดเห็นของแต่ละเจเนอเรชั่น ต่อการกลับเข้าออฟฟิศอีกครั้ง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น โดย 93% ของคนทำงานในสหรัฐอเมริกานั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 รุ่น ได้แก่ Baby Boomer, Gen-X และ Millennial จึงใช้ 3 รุ่นนี้มาเป็นฟิลเตอร์ในมุมมองต่อการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ
เพื่อความชัดเจน มาขยายความกันอีกนิดว่าแต่ละรุ่นนั้น เป็นใคร อยู่ตรงไหนกันบ้าง เริ่มจาก Baby Boomers พวกเขาเกิดในค.ศ. 1946 ถึง ค.ศ. 1964 ถ้านับเป็นอายุก็อยู่ที่ 57 ถึง 75 ปี ถัดมาเป็น Gen-X เกิดในค.ศ. 1965 ถึง ค.ศ. 1980 ช่วงอายุอยู่ที่ 41 ถึง 56 ปี และสุดท้ายชาว Millennial เกิดในค.ศ. 1981 ถึง ค.ศ. 1996 ช่วงอายุอยู่ที่ 25 ถึง 40 ปี
นอกจากอายุที่แตกต่างกันแล้ว พวกเขายังมีความคิดเห็นต่อการกลับเข้ามานั่งในออฟฟิศที่แตกต่างกัน โดยในงานวิจัยจะใช้คำถาม 4 ข้อและคำตอบแบบการให้คะแนน 1-5 จากไม่เห็นด้วยถึงเห็นด้วย โดยคำถามมี ดังนี้
- คุณรู้สึกอย่างไรหากนายจ้างใช้นโยบายทำงาน 5 วันเมื่อกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ?
- คุณรู้สึกอย่างไรหากนายจ้างใช้นโยบายทำงาน 3-4 วันเมื่อกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ?
- เมื่อทำงานที่บ้าน ประสิทธิภาพในการทำงานของคุณ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่?
- เมื่อทำงานที่บ้าน ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กร พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่?
คำตอบที่ได้นั้น พบว่าชาวมิลเลนเนียลไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายกลับสู่ออฟฟิศเท่าไหร่นัก เพราะพวกเขาค่อนข้างเชื่อว่า การทำงานที่บ้านนั้น ช่วยให้พวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ส่วนเบบี้บูมเมอร์ คำตอบนั้นอยู่ที่กลางๆ แต่สำหรับเจ็นเอ็กซ์ พวกเขาอยากกลับออฟฟิศไม่ไหวแล้ว เพราะพวกเขารู้สึกว่า การทำงานที่บ้านนั้น ทำให้ผลงานของเขาไม่เจ๋งเหมือนอย่างเคย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกช่วงวัยเห็นพ้องต้องกัน พวกเขารู้สึกว่าการทำงานที่บ้านนั้น ต่อให้เขาชอบหรือไม่ชอบ แต่เขาก็รับมือและทำได้ดีกว่าตัวองค์กรแน่นอน
มาขยายคำตอบกันอีกนิด
จากผลการวิจัย คุณไบลีย์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ชาวมิลเลนเนียเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีไว้เป็นทั้งเพื่อน ความสนุกสนาน ไอเดีย ชีวิตส่วนตัว และการเชื่อมต่อกับโลกทั้งใบ พวกเขาเลยค่อนข้างชินกับการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับโลกภายนอกในขณะที่ตัวพวกเขาเองนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ในเมื่อเขาสามารถพูดคุย ส่งไฟล์ แสดงตัวอย่าง ได้ทุกที่ทุกเวลา มันเลยเกิดคำถามที่ว่า แล้วทำไมการเข้าไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศถึงยังจำเป็นสำหรับพวกเขาอยู่ล่ะ?
สำหรับเจเนอเรชั่นแห่งการเปลี่ยนผ่านอย่าง Gen X นั้น พวกเขาเป็นลูกๆ ของชาวเบบี้บูมเมอร์ และอาจเป็นพ่อแม่ของชาวมิลเลนเนียล พวกเขาค่อนข้างมีมุมมองต่อการทำงานในรูปแบบที่ใช้ได้จริง (practical) อย่างการใช้ eye contact ในการสื่อสาร วาทะศิลป์เป็นเลิศที่แสดงถึงความฉลาดทางอารมณ์ การแสดงหาโอกาส และพวกเขาค่อนข้างเชื่อใน connection อาจเป็นเพราะสิ่งนี้ก็ได้ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นเจเนอเรชั่นที่กำลังมีตำแหน่งเป็นผู้นำมากที่สุดในตอนนี้ (และอาจเป็นจุดพีคของวัยทำงานพอดี) และวิธีการทำงานที่เขาเชื่อนั้น ไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่นในการทำงานที่บ้าน
แต่สำหรับรุ่นเก๋าอย่างเบบี้บูมเมอร์ ที่คำตอบออกมาเป็นกลางๆ เข้าก็ได้ไม่เข้าก็ได้ เช่นเดียวกับการประเมินผลงานของตัวเองในช่วงทำงานที่บ้าน พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีในระดับกลางๆ นั่นอาจเป็นเพราะในช่วงวัยของพวกเขา ได้ทำงานหนักมาหลายสิบปี จนหลายคนได้เกษียณไปแล้ว ชีวิตการทำงานของคนที่ยังทำอยู่นั้นก็กำลังจะถึงปลายทางเช่นกัน การทำงานที่ไหน อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพวกเขาอีกต่อไป
แต่ละวัยคิดไม่เหมือนกัน หัวหน้าจะทำยังไง?
มีทั้งคนที่อยากเข้าและไม่อยากเข้า หากเราเปิดออฟฟิศไว้ แต่คนมานั่งทำงานแค่ 2 คนมันจะเปลืองทรัพยากร เกิดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นหรือเปล่า จะบังคับให้ทุกคนมานั่งเหมือนเดิม 5 วันต่อสัปดาห์ก็คงไม่ได้ จะไม่มาเลยก็ไม่ได้ นโยบายในวันเข้าทำงานอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่แต่ละออฟฟิศต้องพิจารณาให้ดี
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า สิ่งนี้มันก็เป็นเหมือนเครื่องมือในการทำงานเช่นกัน แม้เราไม่อาจใช้เครื่องมือเดียวให้เหมาะกับคนทุกคนแบบ 100% ได้ แต่เราก็สามารถเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะกับแต่ละคนได้เช่นกัน หากแต่ละคนต่างได้ใช้วิธีที่ตัวเองพอใจ คงสามารถแก้ปัญหาคนนั้นได้ทำงานที่บ้าน แต่ทำไมคนนี้ไม่ได้
หากปลายทางของการทำงาน คือ ผลงานที่ได้แล้วล่ะก็ เราอาจจะต้องวางความกังวลและเพิ่มความเชื่อใจในองค์กรให้มากขึ้น เมื่อพนักงานไม่ได้อยู่ในสายตาของเราระหว่างทำงาน แต่ถ้าหากเรายังกังวลอยู่ เราก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราอยากได้จากพนักงานนั้นคืออะไรกันแน่?
การทำงานแบบ Hybrid Working ที่ไม่จำเป็นให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โดยพิจารณาจากตำแหน่ง หน้าที่ ของแต่ละคน โดยตัวมันเองไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องเข้ากี่วันต่อสัปดาห์ หากอยากให้ทุกคนได้กลับเข้ามาออฟฟิศบ้างจริงๆ การประชุมประจำสัปดาห์ที่ออฟฟิศ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ทุกคนลดความเครียดจากการประชุมออนไลน์แสนยืดเยื้อ ไม่ได้ใจความ มาเป็นการพูดคุยกันต่อหน้า ระดมไอเดียร่วมกัน ใช้ภาษาพูดและภาษากายต่อกันได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องกังวลกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป
การทำงานที่บ้าน จากสิทธิพิเศษ กลายมาเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ ที่หลายองค์กรทั่วโลกหยิบมาพิจารณาใช้ อย่าเพิ่งหดหู่หรือดีใจจนเกินไป หลังจากนี้ เราอาจได้เห็นรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกนับไม่ถ้วนก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก