“อายุไม่เกิน 30 ปี” กลายเป็นคุณสมบัติที่เราได้เห็นบ่อยๆ ในประกาศรับสมัครงาน จนเราเข้าใจกันไปแล้วว่า บริษัทไม่ต้องการคนอายุมากกว่านี้เป็นพนักงานใหม่ พอถึงช่วงที่ขวบปีนำหน้าด้วยเลข 3 เราเลยไม่กล้าเปลี่ยนงานใหม่กันเสียแล้ว
ช่วงชีวิตที่อายุนำหน้าด้วยเลข 2 กำลังจะถึงหลักสุดท้าย กลายมาเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของผู้ใหญ่ตอนต้น ที่ต้องเจออีกครั้งหลังจากผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้ว ความคาดหวังจากหลากหลายทิศทางประเดประดังเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อช่วงเวลาของอายุเลข 3 ไม่อนุญาตให้เราลังเล หรือแม้แต่ตัดสินใจผิดพลาด แม้วันก่อนจะนอนฝันถึงวัยเด็กอันสดใส วันนี้กลับต้องสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต มีงานดีๆ มีครอบครัว ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพื่อให้ชีวิตเลข 3 ของเราเริ่มต้นได้อย่างสวยงาม เป็นแผนชีวิตที่เราไม่ได้สร้าง แต่จำต้องหยิบมันมาใช้ด้วยความกดดันจากสังคมรอบข้าง ทอดยาวไปไกลเกินกว่าเรามองตัวเองไว้ด้วยซ้ำ
เมื่อการหางานหลังจากอายุ 30 กลายเป็นเรื่องยาก นั่นหมายความว่าเรามีเวลาประมาณ 8 ปี นับจากการทำงานวันแรก (หลังเรียนจบ) เพื่อจะหางานที่ใช่ และต้องใช่มากพอจนเราไม่คิดจะเปลี่ยนงานอีก แต่ช่วงเวลา 8 ปีนี้ เพียงพอให้เราหางานที่ใช่ได้หรือเปล่า? ต่อให้เจองานที่ใช่แล้วจริงๆ เราไม่มีโอกาสจะเปลี่ยนใจอีกต่อไปแล้วหรือ?
ลองมองย้อนกลับไปในช่วงที่เราเป็นเด็กจบใหม่และเริ่มทำงานที่แรก เราใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเรียนรู้งานได้แบบไม่ต้องมีพี่เลี้ยง ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะกลมกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้อย่างสนิทใจ ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าเสียงของเราจะมีน้ำหนักพอให้คนในทีมรับฟัง ใช้เวลานานแค่ไหนที่เราเริ่มจะรู้แล้วว่าเช้าวันจันทร์ไม่ใช่วันที่น่าอภิรมย์สักเท่าไร ทั้งหมดนั่นอาจกินเวลาไปหลายปี กว่าเราจะเริ่มรู้สึกอยากขยับย้ายไปจากเกมด่านนี้ที่เราใช้เวลามานานมากพอแล้ว เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับที่นี่มากพอแล้ว หรือเริ่มรู้ตัวแล้วว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ที่เราจะใช้เวลาไปจนหมดวัยทำงาน
นั่นแค่ที่ทำงานที่แรก ที่ต่อไปเราก็ต้องกลับมาใช้เวลาแบบเดิมนั้นซ้ำๆ แล้วถ้าหากยังไม่ใช่อีก เกรงว่าอายุเส้นตายหมายเลข 3 จะรออยู่ข้างหน้าใกล้กว่าที่คิด หากยังไม่รีบหางานที่ใช่ก็เกรงว่าจะไม่ทันเสียแล้ว แต่ถ้าเราลองพักหายใจหายคอ และมองย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์ของเราดีๆ ก็เหมือนว่าเราจะมีเวลาหางานที่ใช่น้อยเกินไปหรือเปล่านะ?
ใครกันที่บอกว่าวัย 30 แก่เกินไปที่จะเปลี่ยนงาน ใครกันที่บอกว่าการเปลี่ยนงานคือความไม่มั่นคง ความคิดเหล่านี้ถูกส่งต่อมาจากไหน? งั้นเรามาย้อนดูสถิติกันดีกว่าว่า คนเจเนอเรชั่นไหนที่เปลี่ยนงานบ่อย และเจเนอเรอชั่นไหนที่ไม่นิยมเปลี่ยนงานเลยบ้าง
ผลการสำรวจจาก Bureau of Labor Statistics (BLS) ในปี 2023 พบว่าผู้ที่เกิดระหว่างปี 1957-1964 หรือที่เราเรียกว่าเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น ในช่วงที่พวกเขาอายุ 18-24 ปี ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนงานอยู่ที่ 5.7 ครั้ง เมื่ออายุขยับไปสู่ช่วง 25-34 ปี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ครั้ง ถึงช่วงอายุ 35-44 ปี ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 ครั้ง และช่วงอายุ 45-52 ปี ค่าเฉลี่ยกลับลดลงเหลือเพียง 1.9 ครั้ง นั่นหมายความว่า ยิ่งพวกเขามีอายุมากขึ้นเท่าไร ยิ่งตัดสินใจเปลี่ยนงานน้อยลงเท่านั้น
มาดูต่อในเจเนอเรชั่นอื่นๆ กันบ้าง ผลสำรวจจาก LinkedIn พบว่า คนเจนซี (Gen Z) และมิลเลนเนียล (Millennial) มีแนวโน้มเปลี่ยนงานในปี 2023 สูงกว่าคนช่วงอายุอื่นๆ จนเกิดคำศัพท์ ‘Job-Hopping’ ที่หมายถึงการเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันสั้น เพื่อแสวงหาประสบการณ์ หาความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งเทรนด์นี้เป็นที่นิยมอย่างมากของคนทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว พวกเขามักไม่ปักหลักปักฐานอยู่กับที่ไหนนานๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นบนความคิดง่ายๆ หากอยู่ที่ไหนแล้วเติบโตได้ พวกเขาก็พร้อมจะไป
แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่ไม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อยนัก หากสังเกตจากครอบครัว หรือคนรอบตัวของเราก็น่าจะพอเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา หากได้ทำงานในองค์กรที่มั่นคงสักครั้งแล้ว พวกเขาก็ไม่อยากรับความเสี่ยงกับงานใหม่ ที่ไม่มีทางรู้เลยว่าจะมั่นคงได้เท่าที่เก่าไหมจนกว่าจะได้ก้าวขาออกไปจริงๆ นั่นจึงอาจทำให้เกิดเป็นค่านิยมยึดติดอยู่กับที่ทำงานที่ใดที่หนึ่งนานๆ และรีบสร้างเนื้อสร้างตัวให้ไว เพื่อภาพครอบครัวในแบบที่วาดไว้
แล้วทำไมคนรุ่นก่อนถึงต้องยึดติดกับความมั่นคงขนาดนั้น?
หากย้อนกลับไปประมาณปี 1987 ช่วงเวลาที่ชาวบูมเมอร์เริ่มทำงาน เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวในระดับสูงมาก ความเจริญกระจายตัวจากเมืองหลวงสู่จังหวัดอื่นๆ สินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ขยายตัวตามไปอย่างรวดเร็ว แต่ความก้าวหน้านั้นกลับอยู่กับเราได้ไม่นาน เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นในปี 1997 ธุรกิจล้มระเนระนาด หากนับเป็นปีที่ได้ทำงานของพวกเขา นั่นอยู่ในช่วง 10 ปีแรกเท่านั้น ถือว่าอยู่ในช่วงอายุเลข 3 ตอนต้นที่กำลังก่อร่างสร้างตัว แต่ก็ดันมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จึงไม่แปลกที่คนยุคเบบี้บูมเมอร์เหล่านี้จะหวงแหนความมั่นคงและเกาะมันไว้แน่น เพราะในช่วงที่พวกเขาควรจะมั่นคงที่สุดในชีวิต กลับเป็นช่วงเวลาที่สั่นคลอนชีวิตพวกเขามากที่สุดเช่นกัน
ตอนนี้เหล่าเบบี้บูมเมอร์มีอายุมากพอที่จะเป็นพ่อคนแม่คน เป็นรุ่นพี่ในที่ทำงานที่มีประสบการณ์ชีวิตมากมาย และด้วยประสบการณ์เหล่านั้น พวกเขาจึงเลือกจะถ่ายทอดในสิ่งที่เขาคิด และสิ่งที่เขาทำตามแบบที่พวกเขาประสบพบเจอ แล้วกลายเป็นว่าหากมีงานที่มั่นคงแล้ว จงเกาะไว้อย่าได้ปล่อย เราเลยได้เห็นพ่อแม่ที่อยากให้ลูกมีความมั่นคง จนสามารถมีครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมก่อนอายุ 30
นั่นอาจทำให้อายุเลข 3 กลายเป็นเส้นตายสำหรับคนรุ่นต่อๆ มาจนลืมไปแล้วว่า เราทำงานมาได้เพียงแค่ 8 ปีเท่านั้นเอง เราอาจจะเจอทั้งงานที่ใช่ แต่คนไม่คลิก เจอวัฒนธรรมองค์กรที่คลิก แต่ค่าตอบแทนเหือดแห้งจนอยู่ไม่ไหว หรืออีกสารพัดปัจจัยที่สลับกันเข้ามาและออกไปตลอดอายุการทำงาน ดังนั้นกว่าจะได้เจองานที่ใช่ จนอยากจะฝากชื่อของเราเอาไว้คงไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น หากจะต้องมีแผนใดให้กับชีวิต ก็ขอให้เป็นแผนที่มันเหมาะกับชีวิตและสถานการณ์ที่เราต้องเจอ
คนบางคนเพิ่งจะพบว่าตัวเองชอบทำงานเงียบๆ คนเดียวที่บ้าน หลังจากใช้ชีวิตกับการทำงานในออฟฟิศที่คนพลุกพล่านมาตลอด บางคนเพิ่งจะพบว่าตัวเองมีความสามารถด้านอื่น นอกเหนือไปจากงานที่ทำอยู่ทุกวัน อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า เราไม่รู้เลยว่าตัวเราจะมีเงื่อนไขในชีวิตที่เปลี่ยนไปวันไหน การมีความมั่นคงไว้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่คงจะดีกว่าถ้าเป็นความมั่นคงในตอนที่เราพร้อมแล้วจริงๆ
แน่นอนว่าหลังอายุ 30 เรายังคงมีเรี่ยวแรงทำอะไรได้อีกมาก (แม้จะมีอาการปวดหลังและกรดไหลย้อนอยู่บ้าง) อย่ากลัวที่จะก้าวข้ามไปสู่ช่วงอายุเลข 3 อย่ากลัวที่จะออกไปหางานที่ใช่ อย่ากลัวจนกว่าเราจะพบว่า ทุกวันจันทร์กลายเป็นวันที่เราจะอยากดีดตัวไปทำงาน
อ้างอิงจาก