“พี่! ไม่! ได้! ใส่! อารมณ์!” เสียงพนักงานรุ่นใหญ่แผดกร้าว ดังก้องแผนก น้องพนักงานใหม่งง ไม่ใส่ยังขนาดนี้ ถ้าใส่จะขนาดไหน
หากย้อนไปในตอนเป็นเด็กใหม่ในที่ทำงาน หลายคนก็คงเคยเจอสถานการณ์คล้ายคลึงกันนี้ ไม่ว่าจะประสบพบเจอเอง หรือเป็นพยานรู้เห็นเรื่องราว เรื่องของเด็กสมัยนี้แสนไม่ได้เรื่องในสายตารุ่นใหญ่ กับพี่สมัยโน้นที่สกิลทำงานตีคู่มากับสกิลปาก เด็กรุ่นใหม่ไฟแรง มาพร้อมไอเดียร้อยแปด เห็นวิธีการทำงานเชยสะบัดแล้วมันขัดใจ อยากเสนออะไรใหม่ๆ ให้การทำงานก้าวไปข้างหน้า รุ่นพี่รีบยกมือทำปางห้ามญาติ ช้าก่อนไอ้หนู ถ้ามันทำง่ายขนาดนั้น แล้วฉันจะทำวิธีนี้ไปทำไมล่ะ ทุกอย่างมันไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอกนะ แต่พี่ครับ ถ้าไม่ลองแล้วจะรู้ไหม โอ๊ยก็บอกว่าวิธีนี้ดีแล้วไง เถียงให้มันได้อะไรขึ้นมา
ทั้ง 2 คนนี้ดูเหมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาคู่เด็ด ที่ได้ปะทะกันเมื่อไหร่ ชาวโต๊ะรอบข้างริงไซด์รอลุ้นว่าใครจะ K.O. ออกไปจากสนาม เพราะไม่มีใครมีท่าทีจะอ่อนข้อให้ใครสักครั้งเดียว แม้ว่าคู่นี้จะหมดไป ก็จะมีคู่ใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่เสมอ ราวกับการทำงานของเด็กรุ่นนี้กับพี่รุ่นนั้นไม่เคยเดินไปพร้อมกันได้เลย หรือเรื่องราวมะรุมมะตุ้มทั้งหมดนี้เป็นเพราะเจเนอเรชั่นที่ต่างกันนะ
แต่ละเจเนอเรชั่นนั้นทำงานต่างกันยังไง?
เจเนอเรชั่นต่างๆ เดิมทีเราเอาไว้แบ่งผู้คนไปตามยุคสมัย ว่าใครเกิดช่วงเวลาไหน ชีวิตพวกเขาช่วงนั้นโตมากับอะไรบ้าง ฟีลเรียกโดยรวมว่าเป็นคนรุ่นนั้น รุ่นนี้ แต่หลังๆ เนี่ย ผู้คนเริ่มให้น้ำหนักกับมันมากขึ้น เริ่มวิเคราะห์แจกแจงจริงจังว่าคนรุ่นนี้เนี่ย มีลักษณะนิสัยแบบนี้ เพราะสภาพสังคมในตอนนั้นเป็นแบบนั้นแบบนี้
แน่นอนว่าโลกการทำงานก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะมันเป็นแหล่งรวมคนหลายรุ่นเอาไว้ด้วยกัน ตั้งแต่เด็กจบใหม่ไฟแรง วัยทำงานเก็บเวลรอขึ้นเป็นใหญ่ วัยเก๋าที่เจนสนาม ไอเดียการแบ่งคนไปตามเจเนอเรชั่นในที่ทำงานจึงเกิดขึ้น พอคนจำนวนมากก็รับเอาสิ่งนี้ไป ก็อาจเกิดอคติบางอย่างตามมาเหมือนกัน ไอ้เด็กเจนนั้นมันต้องก้าวร้าว ไอ้เด็กเจนนี้มันจะหัวอ่อน มีแต่เจนแข็งแกร่งดั่งหินผา (ที่น้องๆ เรียกว่าไม่ฟังใคร) อย่างเราเท่านั้นที่จะอยู่รอด หรือย้อนกลับไปอีกทาง พี่คนนั้นไม่ปรับตัวอย่างกับไดโนเสาร์แบบนี้ จะอยู่รอดไปได้สักแค่ไหนกัน ต้องเจนแห่งการปรับตัว ลุกขึ้นมาฟาดกับสิ่งอยุติธรรมแบบฉันสิ ถึงจะเป็นความหวังของยุคสมัย
เราเองก็ไม่ได้อยากฟันธงว่าคนยุคไหนจะต้องเป็นแบบไหนเท่านั้น แค่อยากนำเสนอไอเดียของสิ่งนี้ว่า แต่ละเจเนอเรชั่นถูกมองว่ามีวิธีการทำงานที่ต่างกันอย่างไรบ้าง ส่วนจะเป็นไม่เป็น เชื่อไม่เชื่อ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณผู้อ่านได้แบบไม่มีปัญหาเลย
งั้นเราลองมาเริ่มกันที่รุ่นเก๋า ชาว Baby Boomers คือคนที่เกิดในช่วงปี 1946-1964 เกิดมาในสภาพสังคมที่ต้องอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ The Great Depression ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาจึงมองหาตำแหน่ง ศักดิ์ศรี ผลประโยชน์หลังเกษียณ เพราะให้ความสำคัญกับชีวิตในระยะยาว สไตล์การทำงานของพวกเขาเลยออกจะยึดอยู่กับระบบอาวุโส ต้องมีลำดับขั้น ถ้าเธอเป๊ะ ชั้นก็ต้องเป๊ะ ไม่ชอบการทำงานแบบยืดหยุ่นสักเท่าไหร่นัก
มาต่อกันที่ Gen X คือคนที่เกิดในช่วงปี 1965-1980 เป็นเจนที่เห็นพ่อแม่ของตัวเองทำงานอย่างหนัก เพื่อมีชีวิตที่ดี มั่นคง จนอาจได้ใช้เวลากับครอบครัวอย่างพร้อมหน้าน้อยเกินไป จนสไตล์การทำงานของพวกเขาจึงเป็นหมาป่าเดียวดาย ไม่เน้นทำงานเป็นทีม
และชาว Gen Y หรือ Millennials จำนวนแรงงานที่เยอะที่สุดในตลาดแรงงาน เกิดในช่วงปี 1981-1994 เติบโตมากับยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี เลยทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่น เปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ เพราะต้องผลักดันตัวเองให้ตามโลกที่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาให้ทัน แต่นั่นก็หมายถึงกับตำแหน่งการทำงานด้วยเหมือนกัน พวกเขาพร้อมจะก้าวไปสู่งานใหม่ ที่พวกเขารู้สึกว่าได้รับผลประโยชน์มากกว่า ไม่ได้รู้สึกว่าต้องยึดติดอยู่กับที่ใดเพื่อความมั่นคง
ปิดท้ายกันที่น้องใหม่ Gen Z เกิดในช่วงปี 1995-2009 เป็นรุ่นที่มีความหลากหลายมากที่สุด จึงให้ความสำคัญกับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์และความหลากหลายของพวกเขา งานที่พวกเขามองหาจึงเป็นงานที่มอบ well-being ใช้ชีวิตอย่างสมดุล มากกว่าชื่อเสียง เกียรติยศ ความมั่นคง อย่างคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา อาจส่งผลถึงทัศนคติ วิสัยทัศน์ในการทำงานของแต่ละช่วงวัย แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แม้จะไม่ใช่ทุกคน แต่ความเชื่อเหล่านี้กล่อมเกลาจนเกิดอคติบางอย่างไปเสียแล้ว ว่า Baby Boomers จะต้องเป็นคนหัวโบราณ Gen X เน้นให้ทำตามที่พี่บอกก็เพราะพี่คิดมา (เองคนเดียว) แล้วว่ามันดี Gen Y มีแต่ความขบถในหัว ถึงเวลาจริงก็ได้แต่ได้ครับพี่ดีครับผม แม้แต่ Gen Z น้องใหม่ก็ถูกมองว่าก้าวร้าว เอาแต่ความคิดตัวเอง สิ่งเหล่านี้คือภาพที่แต่ละช่วงวัยมองคนอื่น ลองนึกภาพว่าพวกเขาต้องทำงานร่วมกัน มันจะพะโล้แตกขนาดไหน
แต่ไม่มีเจนไหนที่เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด เรายังเจอ Baby Boomers แสนใจดี ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง Gen X ที่มักห่วงความสะดวกสบายในขั้นตอนการทำงานของน้องๆ Gen Y ที่กล้าลุกขึ้นมาสู้เพื่อใครสักคน (อย่างน้อยก็เพื่อตัวเอง) Gen Z ที่อ่อนน้อม อยู่เป็น อะไรเหล่านี้ก็มีให้เราเห็นอยู่เช่นกัน และอาจจะมากกว่ามายาคติเจเนอเรชั่นที่ได้ยินกันมาด้วยซ้ำ
งั้นสิ่งที่ทำให้น้องสมัยนี้กับพี่สมัยนั้นตีกันเป็นว่าเล่น มันอาจจะไม่ใช่เพียงเพราะเจเนอเรชั่นที่ต่างกันหรือเปล่านะ
สำรวจปัญหาลึกลงไปสิ่งไหนที่กวนใจเรา
“ไม่ชอบแม่ป้า Gen X เลย ทำแต่วิธีเดิมๆ ไม่พอ ยังมาแว้ดใส่เล่นใหญ่เว่อ”
“ยัยพี่ Gen Y เหมือนกัน ต่อหน้าทำเป็นบอกไม่ติดอะไร ลับหลังไปเม้าฉ่ำ”
แม้เราจะรู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่นี่มันช่างเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จนมีปัญหากับคนอื่นเขาไปทั่ว แต่สิ่งนี้ไม่ได้เพิ่งมามีเมื่อ Gen Y หรือ Gen Z เป็นน้องใหม่หรอก สิ่งนี้มันมีมาแสนนานอยู่คู่ออฟฟิศมาตั้งแต่วันเปิดตึก เมื่อคนเกิดปีไหนก็ทะเลาะกับใครๆ ได้ทั้งนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของนิสัยต่างวัยต่างเจนเพียงอย่างเดียว
หากเราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่ากำลังมีปัญหากับเรื่องช่วงวัยในการทำงานนี้อยู่ อาจจะต้องลองมาสำรวจกันดูดีๆ ว่าเบื้องหลังปัญหาอีรุงตุงนังเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของช่วงวัยหรือเรื่องอื่นๆ กันแน่
เราไม่พอใจที่พี่เขาเอาแต่วิธีโบราณเดิมๆ ไม่ยอมปรับเปลี่ยน แถมวีนฉ่ำมาชุดใหญ่ หากลองวางอคติลงไป ถ้าพี่เขาอธิบายกับเราดีๆ ว่าวิธีนี้ที่ต้องทำเพราะอะไร เราจะยอมเข้าใจเขามากขึ้นหรือเปล่า หรือเคสข้างต้นของพี่ Gen Y สิ่งที่เราไม่ชอบ อาจเป็นแค่เรื่องของความอ้อมค้อม เกรงใจเกินเหตุ
เบื้องหลังของสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นความไม่พอใจต่อวิธีการสื่อสารที่รุนแรงเกินเหตุ หรืออ้อมค้อมจนแทบไม่ได้ใจความ ไม่รับฟัง ยึดถือในตัวเองเกินไป ลืมคำนึงถึงคนอื่นที่อยู่ในสายพานงาน หากสิ่งเหล่านี้มันคือต้นตอของปัญหา นั่นแปลว่ามันอาจไม่ได้มาจากช่วงอายุเสมอไป ไม่ว่าจะเกิดกับเจนไหน เราก็จะไม่พอใจเหมือนกัน แปลว่าหากเราจะโทษอะไรสักอย่าง ก็ควรจะเป็นจุดต้นตอของมัน ไม่ใช่โทษช่วงวัยที่ห่างกันเพียงอย่างเดียว ฟีลว่าเกาให้ถูกจุดน่ะ
ในสักวันที่เราอายุมากขึ้น มากเท่าคนที่เราเคยเถียงตรงหน้า ประสบการณ์ที่เพิ่มพูนเข้ามา อาจเข้าใจเขามากขึ้นว่าสิ่งที่เขาทำในวันนั้นมันเพราะอะไร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกลายร่างเป็นพี่คนนั้นที่เราเคยไม่ชอบ เราไม่ต้องถูกโลกการทำงานกลืนกินเสียทั้งหมดก็ได้ ไม่ต้องวีนฉ่ำ ปล่อยเบลอ หรือทำอะไรที่เคยเจอมาแล้วเราไม่ชอบ เพียงแค่แสดงออกไปในแบบที่หากเราเป็นรุ่นน้องแล้วอยากได้รับ
สักวันที่เราอายุมากพอที่จะเป็นพี่คนนั้นของใครสักคน อย่าลืมรับฟังเสียงของรุ่นน้อง ในแบบเดียวกับที่เราเคยโหยหาในตอนนั้น เสียงของคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลัง ความหวัง ในแบบที่เราเคยมี หากในตอนนั้นเราเคยเรียกร้องวิธีการทำงานใหม่ๆ เรียกร้องการก้าวเดินไปข้างหน้า อยากให้สิทธิให้เสียงของเราทำงานเต็มที่ น้องใหม่ในวันนี้เองก็ต้องการไม่ต่างจากเราในวันนั้นเช่นกัน
วันนั้นเราเคยอยากให้รุ่นพี่เขาทำแบบไหน เราก็ลองเป็นคนแบบนั้นให้น้องเขาดู แค่ความตั้งใจนี้ก็ไม่ทำให้เรากลายเป็นพี่คนนั้นที่เราเคยเหม็นแล้ว
อ้างอิงจาก