“โดนเจ้านายเรียกแต่เช้าแบบนี้ เราต้องโดนดุแน่ๆ”
“พิมพ์ในกลุ่มแล้วไม่มีใครตอบเลย โกรธอะไรเราหรือเปล่านะ”
“เราคงทำงานนี้ได้ไม่ดีหรอก เราไม่ถนัดนี่นา”
ประโยคเหล่านี้ไม่ใช่การบ่นกระปอดกระแปดให้เพื่อนฟังระหว่างวัน หรือสเตตัสบ่นเรื่องชีวิตบนโซเชียลมีเดีย แต่เป็นเสียงอันคุ้นเคยอย่างเสียงในหัวของเราเอง หลายคน มีเสียงในหัวไว้พูดคุย ใช้สมาธิกับตัวเอง แต่บางคนก็ใช้เสียงในหัวคอยสะกิดเตือนว่ากำลังมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นหรือเปล่านะ เรากำลังทำอะไรพลาดไปหรือเปล่า เรื่องนี้จะต้องออกมาไม่ดีแน่ๆ ทั้งที่ยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้นจริงๆ เสียหน่อย มันอาจดูเหมือนเป็นการคาดคะเนเฉยๆ นี่นาว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่พลังด้านลบของมันในบางครั้งอาจมีมากเกินไป จนเกินลิมิตของการเตือนให้ระวัง จนกลายเป็นหวาดระแวงและบ่อนทำลายสุขภาพใจของตัวเองในที่สุด เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Negative Self-Talk’
แน่นอนว่าเราไม่สามารถหยุดเสียงในหัวที่วิ่งผ่านไปมาในสมองทุกวินาทีได้ ตราบใดที่เรายังมีสติ ยังรู้สึกตัว เราก็ต้องมีเสียงวิ่งผ่านความคิดของเราเสมอ แม้เราจะหยุดคิดไม่ได้ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงพลังด้านลบจากเสียงในหัวตัวเองที่คอยกดเราจนรู้สึกแย่ได้ ให้มันอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ในระดับที่ยังพอเป็นสัญญาณฉุกเฉินคอยเตือนให้เราระมัดระวัง แต่ไม่ให้มันมีมากเกินไปจนทำร้ายสุขภาพใจของเราเอง
Negative Self-Talk ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การระแวดระวังมากเกินไป แต่เป็นได้ทั้ง ความไม่เชื่อมั่นในตัวเองหรือในความสามารถของตัวเอง การมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน การคาดเดาว่ามันจะต้องเกิด worst cast เสมอ ไปจนถึงการชอบกล่าวโทษตัวเอง สิ่งเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในประโยคหลายรูปแบบ แต่โดยรวม มันคือความคิดในหัวที่เราสื่อสารกับตัวเอง แล้วมันเป็นลบมากเกินไปจากมุมมองของเราเองเช่นกัน
คิดลบไว้ก่อนไม่ดียังไง?
หลายครั้งมันอาจจะเป็นการเตือนให้เราระวังไว้ก่อนได้ เป็นการประเมินสถานการณ์อันรอบคอบได้ ถ้ามันอยู่ในขอบเขตที่ไม่มากเกินไปจนเราเกิดควบคุมอารมณ์ที่ตามมาไม่ได้ การคิดลบไว้ก่อน จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการใช้ชีวิตเท่าไหร่นัก แล้ว Negative Self-Talk มันไม่ดีจริงๆ น่ะหรอ? ในเมื่อเราไม่เคยพูดมันออกไป แล้วมันจะไม่ดีขนาดนั้นได้ยังไง?
งานวิจัยหัวข้อ ‘Psychological Processes Mediate the Impact of Familial Risk, Social Circumstances and Life Events on Mental Health’ โดย University of Liverpool และ University of Edinburgh ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ว่า Negative Self-Talk มันสามารถสร้างผลกระทบในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่ความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เรามักครุ่นคิดที่จะโทษตัวเองอยู่เสมอ ไปจนถึงผลกระทบถึงสุขภาพจิตของเราได้จริงๆ เพราะมันนำไปสู่ความรู้สึกไร้ความหวัง ไร้ความกระตือรือร้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคซึมเศร้าอีกด้วย สอดคล้องกับ งานวิจัยของ Harvard University ที่พบว่า การคิดลบอยู่เสมอและซ้ำกันบ่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เป็นผู้สูงอายุ มักจะประสบปัญหาของการรับรู้และความจำ มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการคิดลบซ้ำๆ
พอจะเห็นแล้วว่า การคิดลบไว้ก่อนนั้น ส่งผลกับสุขภาพใจของเราโดยตรง และหากมากเกินไปอาจสร้างความเครียดที่ส่งผลกับทั้งสุขภาพกายและใจจนพังไปทั้งร่างกายก็ได้ อย่าปล่อยให้ความคิดด้านลบนั้นกัดกิดเราไปเรื่อยๆ ลองมากันว่าเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง
ลองตั้งชื่อให้มันดูสิ
เสียงนั้นคอยกระซิบขึ้นมาทีไร เป็นอันต้องหนักใจเพราะความกังวลมากเกินไปทุกที ลองมาตั้งชื่อให้มันดูสิ สมมติว่าเราให้เจ้าของเสียงแห่งพลังงานด้านลบนี้ชื่อว่า ‘นายก.’ (อ่านว่า นาย-กอ) พอนายก.แผลงฤทธิ์เปล่งเสียงขึ้นมาเมื่อไหร่ เราเองก็ต้องรู้ตัวทันทีด้วยว่า นี่คือความคิดลบๆ ของนายก.นะ เขากำลังกล่อมให้เรากังวลมากเกินไปเหมือนทุกครั้ง สิ่งนี้คืองานถนัดของเขาเลยล่ะ
พยายามให้คิดเสมอว่า บางครั้ง ความกังวลที่มากเกินไปนี้ อาจเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยที่เราห้ามไม่ได้ เหมือนที่เราห้ามนายก.ไม่ได้ เราเลยยังคงได้ยินเสียงด้านลบนี้อยู่ แต่ว่าเราสามารถเลือกที่จะชั่งน้ำหนักได้ว่า เสียงของนายก.นี้ มักจะเป็นด้านลบแบบนี้เสมอ และส่วนใหญ่ก็จะเกินจริงแบบนี้แหละ เราเองก็อย่าไปให้น้ำหนักกับสิ่งนี้ให้มากนักเช่นกัน
ในตอนแรกเราเองก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าการตั้งชื่อให้มันจะช่วยได้ยังไง แต่เมื่อลองนึกภาพตามแล้ว เราพบว่าวิธีนี้นี่แหละที่ทำได้ง่ายและเห็นผลมากที่สุด
ความคิดนี้ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป
สำหรับใครที่ไม่ซื้อไอเดียที่แล้ว ลองมาดูไอเดียนี้กัน ตราบใดที่เรายังคงได้ยินเสียงแห่งพลังงานลบนี้ เราจะแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินก็ไม่ได้ เมื่อได้ยินแล้ว เราเองก็ต้องรู้เท่าทันความคิดของเราเอง ว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะแบบนี้ที่เราเป็นมาตลอด กี่ครั้งแล้วนะที่เรากังวลมากเกินไป ทั้งที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น กี่ครั้งกัน ที่เรากังวลเกินความเป็นจริงไป ทั้งที่เรื่องจริงมันไม่ได้เป็นปัญหาอย่างที่เราคิดเสียหน่อย
พยายามรู้ให้เท่าทันความคิดตัวเอง ว่าปีศาจบนไหล่ซ้ายกำลังกระซิบกระซาบกับเราอยู่ แม้เราจะกังวลกับมันไปมากเพียงใด ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเกิดขึ้นจริงตามที่เรากังวลไปเสียทุกครั้ง มันเคยเกิดขึ้นแบบนี้บ่อยๆ และมันอาจจะเกิดขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่มีความคิดไหนที่จะเป็นลบไปตลอดความกังวลนี้จะต้องหายไปในสักวัน ทางที่ดี ในขณะที่เรากังวลอยู่นี้ ลองหาทางออกให้กับเรื่องนี้เผื่อไว้ ดีกว่าการกังวลลอยๆ โดยที่เราเองไม่ได้อะไรเลยนอกจากความเครียดจนหัวฟู
มองหาข้อดีท่ามกลางข้อเสีย
แม้เรากังวลว่าเราอาจจะต้องโดนหัวหน้าดุเพราะถูกเรียกตัวแต่เช้า เราอาจกังวลว่าจะทำงานนี้ได้ไม่ดีอย่างที่ใครๆ หวัง เพราะเราไม่ได้เก่งในเรื่องนี้เท่าคนอื่น ท่ามกลางความกังวล ความหมดหวังนี้ ลองมองหาสิ่งดีๆ ในสถานการณ์แบบนี้ดูบ้างสิ เราอาจจะกำลังถูกเรียกไปดุจริงๆ ก็ได้ แต่เราก็จะได้รู้เสียทีว่าเราทำงานพลาดไปตรงไหน เราอาจทำโปรเจ็กต์ใหม่ได้ไม่เก่งเท่าคนนั้น แต่ถ้าเราไม่เริ่มลองตอนนี้เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เลย อย่างนี้ไงล่ะ
เพราะการมองตัวเองในแง่ลบ เกี่ยวพันกับการมองเห็นคุณค่าและความมั่นใจในตัวเอง พยายามเชียร์ตัวเองด้วยเรื่องดีๆ ท่ามกลางสถานการณ์แย่ๆ เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ยังไม่รู้ผลของมันเลยด้วยซ้ำว่ามันจะออกมาแย่อย่างที่คิดมั้ย แต่อย่างน้อยเราก็มีเรื่องดีๆ บางอย่างรอเราอยู่ในใจแล้ว
ไม่จำเป็นที่ต้องตื่นมาเป็นคนใหม่ มีแต่ความสดใสในวันพรุ่งนี้เช้า ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเอง คอยเติมความมั่นใจให้ตัวเอง ให้เท่ากับความกังวลที่มี คอยโอบกอดตัวเองด้วยพลังบวก ในตอนที่เรารู้สึกกังวลเหลือเกินว่าเรื่องร้ายๆ จะต้องเข้ามา จนกว่าปีศาจบนไหล่ซ้ายจะกลายเป็นแค่เสียงนกเสียงกาที่เราไม่ได้ใส่ใจมันมากนัก และพร้อมจะดีดมันลงจากไหล่ได้ทุกเมื่อ
อ้างอิงข้อมูลจาก