“ทำไมเราถึงห่วยขนาดนี้วะ!”
เคยพึมพำกับตัวเองแบบนี้บ้างมั้ย…
ถ้าเคย เราคือพวกเดียวกัน
เราคือพวกที่รู้สึกอยู่ทุกวันว่าตัวเองไม่เก่ง ทั้งที่พยายามแล้ว แต่ก็ยังสู้คนอื่นเขาไม่ได้ ทั้งที่อดหลับอดนอนแทบตาย สุดท้ายก็ทำไม่ได้อย่างที่หวัง ทั้งที่สู้แล้วสู้อีก สู้จนหมดแรง แต่ผลลัพธ์ก็มีเพียงความว่างเปล่า
เหนื่อย…เหนื่อยจริงๆ นะ
เราที่กำลังพิมพ์ข้อความนี้อยู่ก็รู้สึกเหนื่อยไม่ต่างจากทุกคน แต่ในคืนหนึ่งที่กำลังเหนื่อยและท้อมากๆ เราก็นึกได้ว่า แม้ชีวิตจะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่จริงๆ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราก็ลงแรงและใส่ใจไปไม่น้อยเลยนี่นา
เออ ก็ยังไม่เก่งอะไรหรอก แต่พอนึกๆ ดู วันนี้เราก็เดินมาไกลจากวันนั้นตั้งเยอะนะ เราเองก็ทำได้ดีเหมือนกันนะ นี่ล่ะมั้ง ที่เขาเรียกกันว่าการมองเห็นคุณค่าและรู้สึกขอบคุณตัวเอง
‘การเห็นคุณค่าในตนเอง’ หรือ ‘Self-Appreciation’ แท้จริงแล้วเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิต บทความจาก Psychology Today อธิบายว่า การมองเห็นคุณค่าคือขั้นตอนที่อยู่ถัดจากการรู้สึกภูมิใจและเห็นอกเห็นใจตนเอง เพราะมันเป็นการกระทำที่บ่งชี้ว่า เราได้อนุญาตให้ตัวเองโอบกอดและยอมรับในสิ่งที่เป็นอย่างแท้จริง เป็นการแสดงความขอบคุณอย่างซาบซึ้งในสิ่งซึ่งเราได้ลงมือทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสำเร็จลุล่วงหรือผิดพลาดใหญ่หลวงก็ตาม
แต่การจะขอบคุณตัวเองนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันเสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ถามจริงๆ เราจะชื่นชมตัวเองได้ยังไง ถ้าในมือขวายังไถฟีดไอจี แล้วเจอแอคหลุมเพื่อนเพิ่งโพสต์รูปตัวเลขเงินเดือนที่มากกว่าเราเป็นเท่าตัวเท่าตัว
เราจะรู้สึกขอบคุณตัวเองได้จริงๆ เหรอ ถ้ารุ่นน้องที่เริ่มทำงานพร้อมๆ กันมีรถและบ้านเป็นของตัวเองแล้ว ในขณะที่เรายังไม่มีอะไรสักอย่าง และคงแทบเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่ทำ หากบนไทม์ไลน์ของคนรอบตัวยังเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เหนือกว่าจนเราเทียบไม่ติด
ทุกอย่างเหล่านี้ทำให้เราย้อนถามตัวเองว่า ‘มีเรื่องไหนให้เราชื่นชมตัวเองได้จริงหรือ’
เพราะมันยากอย่างนี้นี่เอง เราเลยอยากแบ่งปันวิธีการที่อาจช่วยให้ทุกคนชื่นชมและขอบคุณตัวเองได้ง่ายขึ้น
1) ตกตะกอนและซึมซับในสิ่งที่ลงมือทำ
หนึ่งในวิธีขอบคุณตัวเองที่ง่ายที่สุดเริ่มต้นจากการ ‘Reflect’ หรือ ‘ไตร่ตรอง’ เพราะในวันที่ทุกอย่างถาโถม เรามักต้องโหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักอยู่กับตัวเอง การทำใจให้สงบ ปล่อยลมหายใจ แล้วนึกย้อนไปว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรบ้างจะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
บทความจาก Open University เล่าว่า แม้จะเป็นการรำลึกความหลัง แต่การทำสิ่งนี้จะช่วยทบทวนให้เราเข้าใจอีกครั้งว่าเรื่องราวในชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งไหนคือต้นตอ เราใช้วิธีการไหนรับมือ และในโค้งสุดท้าย เราผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้อย่างไร กระบวนการนี้จะช่วยขยายมุมมองให้เราเห็นสิ่งดีๆ ที่เคยทำ เปิดโอกาสให้เราย้อนมองความเก่งที่วันนั้นตัวเองมองข้ามไป หรือต่อให้ทั้งหมดที่นึกออกมีแต่ความผิดพลาด อย่างน้อยที่สุด มันก็จะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราย้ำกับตัวเองได้ว่า เราจะไม่พลาดแบบเดิมอีก
2) ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและหัวใจ
อ่านทีแรกอาจจะงงว่า การดูแลสุขภาพช่วยเรื่องการมองเห็นคุณค่าของตัวเองยังไง แต่จริงๆ แล้ว หลากหลายงานวิจัยชี้ว่าการรักษาสุขภาพ ทั้งหมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าของตัวเองได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
ตัวอย่างง่ายๆ คือเรามักจะเห็นคนที่ใส่ใจสุขภาพแสดงออกบ่อยๆ ว่าเขาภูมิใจในรูปร่างและระเบียบวินัยของตัวเอง ต่อให้ไม่ใช่คนที่มีหุ่นเฟิร์ม แข็งแรง ลำพังแค่มีพัฒนาการในเรื่องสุขภาพ น้ำหนักลดลงเล็กน้อยหรือระบบหายใจดีขึ้นนิดหน่อย เพียงเท่านี้ ความรู้สึกภูมิใจก็อาจจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นในหัวใจโดยที่หลายครั้งเราก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
สาเหตุของเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการใส่ใจในสุขภาพถือเป็นการสร้างความสำเร็จที่ใกล้ตัวที่สุด มองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายที่สุด ทั้งยังสะท้อนถึงความตั้งใจของเราได้อย่างมีนัยสำคัญ และในทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกาย ร่างกายของเราจะหลั่งโดพามีนหรือฮอร์โมนแห่งความสุขที่ช่วยให้รู้สึกพึงพอใจ ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำว่า การดูแลสุขภาพทั้งภายนอกและภายในมีส่วนช่วยให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองได้จริง
3) เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นให้น้อยลง
‘เหอะ ถ้าทำได้ก็ทำไปนานแล้วแหละ’
นี่น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ยากที่สุด อย่างที่รู้กันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นเราจึงคุ้นชินกับการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นมาตลอดเสมือนเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดตั้งแต่ยุคบุกเบิก หนำซ้ำ เทคโนโลยีที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถแสดงตัวตนได้มากและปรับแต่งได้ตามต้องการก็ยิ่งทำให้การไม่เปรียบเทียบแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งที่ไม่อยากรู้ เราก็เหมือนต้องรู้เรื่องของทุกคนตลอดเวลา ทั้งที่พยายามไม่มองหา ภาพของคนรอบตัวก็ปรากฏให้เห็นจนได้
เราเข้าใจดีว่าการหยุดเปรียบเทียบคือสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทว่าหากทำได้ การชื่นชมและมองเห็นคุณค่าของตัวเองก็จะง่ายขึ้นมากทีเดียว หรือถ้าการเลิกเปรียบเทียบดูจะทำยากเกินไป ก็อาจจะลองเปรียบเทียบโดยทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมด้วย เช่น เพื่อนที่โพสต์ว่าเงินเดือนมากกว่าเรา นั่นเพราะฐานเงินเดือนของสายงานเขามากกว่าเราแต่แรกหรือเปล่า หรือที่รุ่นน้องคนนั้นมีบ้าน มีรถ ตั้งแต่อายุยังน้อยก็อาจเป็นเพราะฐานะครอบครัวของเขาดีกว่าเรามาตั้งแต่ต้น การที่เราหาเงินมาได้มากขนาดนี้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองก็นับว่าเก่งมากแล้ว โอเค เราเศร้าได้เมื่อเทียบแล้วพบว่าเงินน้อยกว่า แต่พร้อมกันนั้น เราก็ควรเทียบด้วยว่า จริงๆ แล้วความพยายามและความเก่งของเราอาจจะไม่ได้น้อยไปกว่าเขาเลย
4) ประเมินวิธีการที่เราใช้พูดคุยกับตัวเอง
ทุกคนต่างมีเสียงในหัว และหลายครั้งเสียงนั้นก็เป็นศัตรูตัวฉกาจที่ตะโกนบอกเราว่าห้ามขอบคุณตัวเองเด็ดขาด แต่นับจากวินาทีนี้ เราอยากชวนทุกคนตั้งสติและลองสังเกตว่า ความคิดเชิงลบหรือการด้อยค่าตัวเองเกิดขึ้นตอนไหน และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจมันช้าๆ แล้วลองหาทางยุติวงจรเหล่านี้ ในแต่ละวัน พอรู้ตัวว่าเริ่มคิดเมื่อไหร่ก็จงเตือนตัวเองว่าอย่าถลำลึกจนเกินไป อย่าจมอยู่กับการตำหนิตัวเองจนมองข้ามความสำเร็จต่างๆ ที่เราเคยทำ
นอกจากนี้ วิธีการง่ายๆ ที่อาจลดทอนเสียงก่นด่าในหัวเราได้คือการถามความคิดเห็นของเพื่อน เพราะในหลายสถานการณ์ ตัวเราก็เหมือนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง กลายเป็นคนรอบข้างด้วยซ้ำที่มองเห็นสิ่งนี้ของเราได้เด่นชัดมากกว่า ดังนั้น ถ้าหาไม่เจอ ลองฟังเพื่อนดู เผลอๆ เราอาจเจอสิ่งที่น่าขอบคุณในตัวเองเต็มไปหมดก็ได้นะ
ถึงตรงนี้ เราก็หวังว่าทุกคนจะมองเห็นคุณค่า ชื่นชม และขอบคุณตัวเองจากก้นบึ้งของหัวใจได้มากขึ้น และเราก็ควรหมั่นทำมันอย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพราะนี่เองคือแรงใจของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เป็นแรงใจที่เริ่มต้นจากการตกตะกอนในสิ่งที่เคยทำ ดูแลสุขภาพเป็นประจำ และพยายามหยุดใช้เวลาอันมีค่าไปกับการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นจนหลงคิดว่าเราไม่สำคัญ
“แกเจ๋งมาก เข้มแข็งมากจริงๆ เก่งมากเลยนะที่สู้มาจนถึงวันนี้”
ลองบอกตัวเองแบบนี้หน้ากระจกดูสักครั้ง เพราะแม้เส้นทางที่เราผ่านมาจะไม่ยิ่งใหญ่ ทว่ากว่าจะผ่านมาได้ก็ไม่ง่ายไปกว่าคนอื่นเลย และที่สำคัญ ถึงแม้วันนี้จะยังไปไม่ถึงเป้าหมาย ก็จงอย่าลืมว่าเราหยุดพักเพื่อขอบคุณและสำรวจคุณค่าของตัวเองได้ทุกครั้งที่ต้องการ เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าคนรอบข้างจะชื่นชมหรือขอบคุณเรามากแค่ไหน มันก็คงไม่มีความหมายใดๆ หากเราไม่รู้สึกเชื่อและต้องการขอบคุณตัวเองจากใจจริง เพราะฉะนั้น…
“ขอบคุณที่สู้มาจนถึงวันนี้ เก่งมากแล้วนะ รักนะ”
อ้างอิงข้อมูล