ขึ้นชื่อว่าอาชีพที่มีการแข่งขันสูง คงเป็นอาชีพไหนไปไม่ได้นอกจาก ‘นักกีฬา’ ซึ่งหน้าที่และเป้าหมายของพวกเขาถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ ฝึกซ้อม แข่งขัน และเอาชัยชนะกลับมา
เรารู้กันดีว่า นักกีฬาคือบุคคลที่มีศักยภาพในด้านร่างกาย มีพละกำลัง มีความยืดหยุ่น รวมถึงมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น โค้ช ทีม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถือเป็นปัจจัยหลักช่วยให้พวกเขามีความชำนาญด้านกีฬาจนกลายเป็นมืออาชีพ แต่เมื่อยิ่งจริงจังกับการเล่นกีฬามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเผชิญกับภาวะทางจิตใจมากเท่านั้น โดยเฉพาะนักกีฬาทีมชาติที่ต้องแบกความคาดหวังและแรงกดดันเอาไว้เต็มบ่า
ทำให้ไม่ใช่เพียงความพร้อมทางด้านร่างกายเท่านั้นที่เป็นกุญแจสำคัญ เพราะพวกเขาต้องอาศัย ‘ความพร้อมทางด้านจิตใจ’ ด้วยเช่นกัน และทำให้มีอีกบุคคลหนึ่งที่นับว่าเป็นบุคคลสำคัญในสมการของความสำเร็จนี้ นั่นก็คือ ‘นักจิตวิทยา’ หรือ‘นักจิตบำบัด’ เกี่ยวกับการกีฬานั่นเอง
เมื่อนักกีฬาก็ต้องมีการบำบัดทางจิตใจ
หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เทนนิส—พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดสาวชาวไทย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวขอบคุณนักจิตวิทยาของเธอ หรืออีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทำให้เธอเอาชนะช่วงเวลาในอดีต ซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บปวดจากการพ่ายแพ้ มองเห็นแต่ความล้มเหลวของตัวเอง แต่นักจิตวิทยาก็ได้ช่วยให้เธอผ่านความยากลำบากนั้นมาได้ และสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้สำเร็จในการแข่งขันครั้งสำคัญของโลก
แล้วนักจิตวิทยามีความสำคัญยังไงต่อการเล่นกีฬานะ? หากไม่ใช่นักกีฬา น้อยคนอาจจะทราบว่ามี ‘จิตวิทยาการกีฬา’ (Sports Psychology) ซึ่งว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการเล่นกีฬา สมรรถภาพทางกาย การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมทางกายภาพอื่นๆ ทำให้นักจิตวิทยาการกีฬา (Sports Psychologist) หรือนักจิตบำบัดการกีฬา (Sports Psychotherapist) เลยได้เข้ามามีบทบาทในการฝึกซ้อมของนักกีฬาด้วย
ถึงแม้เราจะทราบดีว่าการเล่นกีฬาเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่เมื่อมีเรื่องของการแข่งขันหรือแพ้ชนะเข้ามา ย่อมส่งผลให้นักกีฬาเผชิญหน้ากับภาวะทางจิตใจที่ไม่พึงประสงค์อย่างเลี่ยงไม่ได้ มีผลการสำรวจพบว่า นักกีฬาทั่วไปจนถึงนักกีฬาชั้นแนวหน้าหรือมืออาชีพ สามารถประสบกับภาวะซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวลได้จากหลายสาเหตุ
ไม่ว่าจะเป็นความความหวังหรือแรงกดดัน การเปลี่ยนประเภทกีฬา การสูญเสียความสนุกสนาน ความกลัวที่จะล้มเหลว ความเครียดก่อนการแข่งขัน การรับมือกับความกังวล การฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ ความไม่แน่นอนจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาวะหมดไฟ การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ปัญหาด้านความสัมพันธ์ การรับมือกับความผิดหวัง หรือปัญหาด้านการโฟกัส
ทำให้เห็นว่าแม้จะเล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนานหรือความผ่อนคลาย แต่หากวันหนึ่งจริงจังถึงขั้นเป็นนักกีฬามืออาชีพที่จะต้องเข้าแข่งระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก ก็จะพบว่ายิ่งไต่ขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพบว่ามีความกดดันและความเครียดประดังประเดเข้ามามากเท่านั้น
ฉะนั้นแล้ว นอกจากจะต้องมีโค้ชเพื่อช่วยฝึกฝนสมรรถภาพทางด้านร่างกาย พวกเขาจึงจำเป็นจะต้องมีนักจิตวิทยาเพื่อคอยสนับสนุนและช่วยฝึกฝนทางด้านจิตใจ ให้มีความเข้มแข็ง อดทน มีสติ มีสมาธิ และพร้อมจะลงแข่งอยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬาประเภท E-sport เองก็ตาม ซึ่งพวกเขาก็ถือเป็นนักกีฬาประเภทหนึ่ง ที่ต้องมีการฝึกฝนเพื่อเข้าแข่งขันไปในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน โดยทีม MiTH และ Bacon ก็ออกมาเผยว่า พวกเขาเองก็มีนักจิตวิทยาคนเดียวกันกับพาณิภัค
โดยประวัติความเป็นมาของสาขาจิตวิทยาการกีฬา เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1970 หลังจากได้มีการก่อตั้ง International Society of Sport Psychology (ISSP) ขึ้นในปี ค.ศ.1965 จิตวิทยาการกีฬาก็ได้ถูกแนะนำให้จัดอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั่วอเมริกาเหนือ จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ.1980 หลักสูตรนี้ก็ได้มุ่งเน้นไปทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เริ่มเล็งเห็นว่า จิตวิทยาสามารถนำมาใช้ปรับปรุงสมรรถภาพทางกีฬาได้ ไปจนถึงการออกกำลังกายที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงสุขภาพ และลดระดับความเครียดของผู้คน
ดูเหมือนจะไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่อาชีพนักจิตวิทยาการกีฬาก็ถือว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่มาแรงในสหรัฐอเมริกา โดย American Psychological Association เผยว่า ผู้ที่ทำงานในแผนกกีฬาของมหาวิทยาลัย มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 60,000 ถึง 80,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 1 ถึง 3 ล้านบาทเลยทีเดียว
เมื่อใจพร้อม กายก็พร้อม
การเล่นกีฬาส่งผลให้เกิดภาวะทางจิตใจได้ขนาดนั้นเลยหรอ? สำหรับนักกีฬามืออาชีพ พวกเขามีกีฬาเป็นเหมือน ‘อัตลักษณ์’ ของตัวเองไปแล้ว คุณค่าในชีวิตของพวกเขาถูกกำหนดด้วยการแข่งขันกีฬา เมื่อพ่ายแพ้ก็จะดำดิ่ง เมื่อชนะก็จะรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย จึงไม่แปลกใจหากพวกเขาจะทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับกีฬามากกว่าคนทั่วไป หรือบางคนอาจมีคุณลักษณะของการเสพติดความสมบูรณ์แบบ ชอบการแข่งขันเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้เลยเจ็บปวดหนัก สุขภาพจิตของพวกเขาจึงสำคัญไม่แพ้สมรรถภาพทางกาย และหลายครั้งผลเสียก็ปรากฎให้เห็นในด้านอื่นๆ ของชีวิตนอกเหนือจากกีฬาด้วย
ดังนั้น สิ่งที่นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดจะเข้ามาช่วยเหลือก็คือ ช่วยพวกเขาให้มองเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อรู้ว่าจะต้องแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนที่จุดไหน ถ้านักกีฬามีปัญหาเรื่องการโฟกัส นักจิตวิทยาก็จะช่วยจัดการกับรับมือเมื่อต้องแข่งท่ามกลางเสียงเชียร์หรือสายตาผู้คนจำนวนมาก ช่วยลดความกังวลหรือความเครียดภายใต้แรงกดดัน โดยเฉพาะก่อนการเริ่มแข่งขันที่อาจต้องเจอคู่ต่อสู้ที่เก่งกาจ การเรียนรู้ที่จะทำร่างกายให้ผ่อนคลาย ลดความตึงของกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกว่าทำ relaxation techniques โดยการหายใจให้ถูกวิธี ก็จะช่วยให้ลดความกังวลได้ดี
หรือแม้กระทั่งหลังการแข่งขัน ซึ่งผลการตัดสินอาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความพยายามอย่างหนักของพวกเขา เมื่อพบกับความผิดหวังซำ้ๆ ก็ทำให้สามารถเกิดภาวะหมดไฟได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เริ่มไม่มีใจจะเล่นกีฬา ไม่อยากซ้อม หรืออยากวางมือไปเลยก็ได้ ความเศร้า ความสับสน ความโกรธ และความกลัวหลังจากการพ่ายแพ้ นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดสามารถช่วยได้ด้วยการพูดคุย และฟื้นฟูความมั่นใจนั้นขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดยังได้ร่วมมือกับโค้ช เพื่อเสริมสร้างความเชื่อใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทีม เรียกว่าเป็นการกระตุ้นนักกีฬาผ่านแรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) ถ้าทีมดี โค้ชดี พวกเขาก็จะมีกำลังใจในการแข่งขันมากขึ้น ไปจนถึงช่วยนักกีฬาตั้งเป้าหมายในอนาคต โดยการใช้วิธีที่เรียกว่า visualization โดยให้นักกีฬาได้จินตนาการภาพว่า สิ่งที่พวกเขาตั้งใจอยากจะให้เกิดคืออะไร พวกเขามองเห็นตัวเองในอนาคตยังไง หรือบางครั้งนักกีฬาอาจมีภาพในหัวที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน นักจิตวิทยาก็จะช่วยปรับให้พวกเขากลับมามีสติและโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ง่ายมากขึ้น และมีสภาพจิตใจที่พร้อมจะก้าวข้ามความท้าทายที่คาดเดาได้ยาก
จิตวิทยาการกีฬาทำให้เห็นว่า เมื่อใจพร้อม กายก็พร้อมตามไปด้วย พาณิภัคจึงได้กล่าวในโพสต์ของเธอว่า ตอนแรกเธอไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องฝึกฝนจิตใจ แทนที่จะไปเอาเวลาไปฝึกซ้อมเทควันโดมากกว่า แต่เธอก็ได้เข้าใจแล้วว่า นักจิตวิทยาช่วยให้เธอเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความพ่ายแพ้ ความผิดหวังในอดีต และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะแข็งแกร่งหลังจากนั้นได้ยังไงบ้าง
นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดการกีฬา ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักกีฬามืออาชีพมีความพร้อมสำหรับความท้าทายในการแข่งขัน อดทนต่อความรู้สึกที่ยากลำบาก และช่วยให้พวกเขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง แม้จะล้มเหลวสักกี่ครั้งก็ตาม แต่ยังช่วยสนับสนุนให้คนทั่วไปสนุกกับการเล่นกีฬา และเรียนรู้ที่จะยึดมั่นกีฬาในฐานะสิ่งที่ยกระดับชีวิต หรือความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น หากลบภาพจำเกี่ยวกับการไปหานักจิตวิทยาเท่ากับเป็นคนสติไม่ดีออกไปได้ เราก็จะพบกับประโยชน์อีกมากมายของการเข้าพบหรือได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรเหล่านี้
อ้างอิงข้อมูลจาก