“ตุนตูตั้บบบบ”
เสียงเด็กน้อยเจื้อยแจ้ว ร้องเรียกหาคุณครูด้วยเสียงพยัญชนะผิดเพี้ยนไป เราจะได้ยินเสียงนี้นับครั้งไม่ถ้วน เมื่อเปิดเข้าไปในช่อง ‘ตุนตูเต้อ’ บัญชีผู้ใช้งาน TikTok คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 ที่หลายคนคุ้นเคยกับคอนเทนต์น่ารักของเด็กๆ ที่แม้จะพูดไม่ชัดแต่ความขยันพูดเต็มร้อย
‘สะปีบออออ’ ‘ดาดาดนัด’ ‘หมอฉ่า’ และอีกสารพัดคำที่คุณครูจะต้องคอยแปลให้ถูกต้อง คำไหนยากเป็นพิเศษ พี่เลี้ยงอินเทอร์เน็ตก็จะมาช่วยกันถอดรหัสในคอมเมนต์ กลายเป็นความน่ารักแกมวิงเวียนกับคำศัพท์พิเศษของเด็กๆ ที่มีมาให้ตุนตูได้แปลในทุกวัน
แม้ช่องตุนตูเต้อจะมีคอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กๆ มากมายแค่ไหน แต่กลับไม่มีการเปิดเผยใบหน้าเด็กเลยสักคนเดียว พี่เลี้ยงอินเทอร์เน็ตจะได้รู้จักเด็กๆ ผ่านเสียงพูดคุยกับคุณครูเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นความตั้งใจของ ‘คุณครูเก้อ–บุษยมาส วิชาฤทธิ์’ หรือ ตุนตูเต้อที่เด็กๆ เรียกกัน เพราะต้องการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของเด็กๆ โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย ให้สอดรับกับ PDPA (Personal Data Protection Act) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตจริงของเด็กด้วยเช่นกัน
ในวันที่ช่องทางโซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ที่แสงส่องถึงเสมอ The MATTER อยากชวนทุกคนมาพูดคุยถึงกับคุณครูเก้อ ถึงความสำคัญของการรักษาความเป็นส่วนตัวของเด็ก และเชื่อว่าเราสามารถทำคอนเทนต์เกี่ยวกับตัวเด็กได้ แม้จะไม่เห็นหน้าเลยก็ตาม
ช่อง ‘ตุนตูเต้อ’ มีผู้ติดตามบน TikTok มากกว่า 3 แสนคน และมีการกดถูกใจเกือบ 14 ล้านครั้ง แน่นอนว่าส่วนใหญ่มาจากความเอ็นดูที่พี่เลี้ยงอินเทอร์เน็ตมีให้เด็กๆ ในชั้นเรียนอนุบาล 2 ด้วยความตั้งใจของครูเก้อเลือกมุมน่ารักของเด็กๆ ที่ได้เจอในทุกวัน อย่างการพูดคุยสัพเพเหระ ได้ฟังเด็กๆ เล่าเรื่องต่างๆ ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ก็ต้องมาช่วยกันทายอีกทีว่าหมายถึงอะไร จนพี่เลี้ยงอินเทอร์เน็ตหลายคน ตกหลุมรักความไร้เดียงสาของเด็กๆ ที่พยายามส่งเสียงเจื้อยแจ้วคุยกับคุณครู
คลิปแรกที่กลายเป็นกระแสไวรัล เป็นคลิปที่คุณครูพาไปดูว่าในหนึ่งวัน เด็กๆ จะเรียกคุณครูบ่อยแค่ไหน เป็นเสียงเด็กๆ ตะโกนเรียน “ตุนตู” แบบนี้ซ้ำๆ ตลอดทั้งวัน และนี่ก็เป็นที่มาของชื่อช่องตุนตูเต้อ ที่มาจาก คุณครูเก้อ นั่นเอง
พอได้รับความสนใจมากขึ้น ครูเก้อจึงมีคอนเทนต์เกี่ยวกับความน่ารัก น่าเอ็นดูของเด็กๆ มาอีกเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น คอนเทนต์ที่ออกมาทุกครั้ง จะไม่มีการบังคับหรือคะยั้นคะยอเด็กๆ เลย ในชั้นเรียนมีกัน 5 คนเท่านั้น พอครูตั้งกล้องขึ้นมา โดยหันให้เห็นเพียงครูเก้อคนเดียวเท่านั้น ก็จะมีเสียงเด็กๆ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาพูดคุย ตามเรื่องราวที่เขาสนใจ
“ช่องนำเสนอแต่เสียงของเด็กๆ พี่ๆ ก็เลยรับสารผ่านเสียงของเด็กๆ เขาก็จะสังเกตว่าน้องคนนี้พูดชัด คนนี้พูดไม่ชัด ถ้าเราไม่ตอบ เขาก็จะไม่หยุดเรียก เวลาเรียกก็ต้องคุยทุกคน คนที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เรียงไปเลย บางทีก็เข้าแถวมาคุย ว่าคนนี้จะคุยอะไร คนนี้คุยเสร็จคนต่อไปก็คุยต่อ”
พอต้องคุยกับเด็กๆ ทั้งวัน นอกจากเรื่องราวของเด็กๆ แล้ว หลายคนต่างชื่นชมวิธีการพูดคุย ตอบสนองกับเด็กอย่างใจเย็น ครูเก้อเล่าว่า แม้จะเป็นการพูดคุยกับเด็ก ก็ต้องใช้ความเป็นเหตุเป็นผลไม่ต่างกับผู้ใหญ่ เพื่อฝึกให้เขาเข้าใจสถานการณ์และคิดตามได้
เด็กในชั้นเรียนแม้จะมีเพียง 5 คน เด็กแต่ละคนต่างก็มีนิสัยส่วนตัวที่ต่างกันไป ทำให้ครูเก้อไม่อาจใช้วิธีเดียวกันกับทุกคนได้ จึงต้องเลือกวิธีพูดคุย รับมือ ให้เข้ากับตัวตนของเด็กแต่ละคนด้วย อย่างบางคนค่อนข้างติดผู้ปกครอง กว่าจะร่ำลากันหน้าโรงเรียนได้ ต้องกล่อมกันอยู่นาน บางครั้งก็พาลทำให้ไม่อยากเดินเข้าโรงเรียนเพราะอยากกลับบ้านพร้อมผู้ปกครอง
เป็นเรื่องปกติที่ตัวจิ๋ววัยอนุบาล 2 อาจทำความเข้าใจอะไรได้ทีละน้อย ครูเก้อเลยเลือกใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก ว่ามีสิ่งอื่นกำลังจะเกิดขึ้น มีสิ่งอื่นกำลังรออยู่ อาจจะเป็นเรื่้องที่เด็กชอบอย่างการวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ แทนที่การบังคับกันด้วยคำพูดหรือกำลัง นอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กเข้าใจสถานการณ์แล้ว ยิ่งทำให้เกิดบาดแผลทั้งทายกายและทางใจอีกด้วย
“ตอนแรกเริ่มจากเด็กเปิดเทอมอนุบาล 2 เขาก็จะงอแงเพราะเพิ่งเคยออกจากอ้อมอกพ่อแม่ เขาจะรู้สึกไม่คุ้นชินกับสถานที่ ไม่คุ้นชินกับคุณครู ไม่คุ้นชินกับเพื่อน เขาจะงอแงในช่วงแรกๆ ต้องคุยกับเขาเหมือนเป็นผู้ใหญ่เลยค่ะ พูดจาเป็นเหตุเป็นผลที่สุดว่าทุกคนต่างมีหน้าที่ คุณครูมีหน้าที่ เด็กๆ มีหน้าที่ แล้วที่สำคัญคือ สะท้อนความรู้สึกกับเขา เหมือนรับฟังเขาให้มากที่สุด ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรมาก็จะตอบกลับ อ๋อ คุณครูเข้าใจ คุณครูรู้ มันเลยทำให้เขาปรับตัวได้ง่ายขึ้นพออยู่ที่โรงเรียน”
ด้วยช่วงวัยนี้ของเด็ก เขาต้องการการตอบสนองในทุกครั้งที่เรียก อาจจะยังไม่มีเส้นแบ่งของความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่นัก เด็กๆ อาจจะเรียกเวลากินข้าวบ้าง เวลาเข้าห้องน้ำบ้าง ถึงขนาดที่ครูเก้อเล่าแบบติดตลกว่า เด็กๆ จะเรียกตลอดเวลาเลย ยกเว้นเวลานอนเท่านั้นที่จะไม่เรียก
การรับมือกับเด็กวัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงอย่างงั้น ครูเก้อเองมองว่าการตะคอก ดุ ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไหร่นัก จึงเน้นไปที่การใช้น้ำเสียงที่ต่างกันในการพูดคุย อย่างตอนคุยเล่น ชมเชย จะเป็นเสียงสูง แสดงถึงความสดใส อยากรู้อยากเห็น ตื่นเต้น ตอนจริงจัง ใช้เสียงนิ่ง แม้จะไม่ได้ขึ้นเสียง แต่เด็กๆ ก็จะรู้ถึงความแตกต่างได้ ว่าตอนนี้คุณครูกำลังอยู่ในอารมณ์แบบไหน
“ถ้าเวลาที่ต้องการความเป็นส่วนตัว จริงๆ เขาเรียกตลอด เข้าห้องน้ำก็เรียก นั่งเฉยๆ ก็เรียก แต่เวลาที่ไม่ว่าง อย่างเวลาคุยกับผู้ใหญ่ ก็สอนเขาว่าต้องรอ ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเรียกตุนตูได้ตลอดเวลา น้ำเสียงที่คุยกับเขาก็จะคนละเรื่องเลย เขาจะแยกออกว่าอันไหนเป็นการเป็นงาน อันไหนเวลาเล่น
บางครั้งใช้สีหน้า ยกนิ้วชี้ขึ้นมา เขาก็รู้ว่าต้องนิ่ง จะพยายามไม่ตะคอก เวลาจะใช้คำสั่งอะไร จะใช้เสียงโทนนิ่ง เวลาชมจะเป็นเสียงแปดเสียงเก้า เก๊งงงง ม้ากกกก เลยยยยย (เสียงสูง) เสียงสูงไปเลย เขาจะรู้ค่ะว่าเหตุการณ์นี้คือแบบไหน ถึงเวลาต้องทำอะไร โดยไม่ต้องตะเบ็งเสียงบอกเขา พอเพื่อนๆ เงียบกันหมด เขาก็จะไม่โผงผางขึ้นมาคนเดียว”
ในหลายคลิปเราจึงได้เห็นครูเก้อพยายามแสดงสีหน้า น้ำเสียงที่ชัดเจน เพื่อให้เด็กๆ รับรู้ถึงอารมณ์ของคุณครู จนหลายคนชื่นชมในความใจเย็นที่มีต่อเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ
เด็กไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน และอาจไม่ได้ทำตัวน่ารักได้ตลอดเวลา แม้ในสายตาคุณครูจะมองว่าเด็กๆ น่ารักขนาดไหน แต่ในทุกคอนเทนต์ที่จะเผยแพร่ ครูเก้อจะพยายามทบทวนเสมอว่าสิ่งนี้จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาหรือเปล่า ทั้งคลิปที่เห็นหน้าเด็กมากเกินไป หรือในตอนที่เด็กๆ อาจทำตัวไม่น่ารักบ้างในบ้างครั้ง
ครูเก้อเล่าว่า มีหลายคลิปเหมือนกันที่ครูเก้อต้องตัดสินใจไม่ลงหรือลบออก เพราะมีบางช่วงที่เด็กบางคนทำตัวไม่น่ารัก แม้จะไม่ได้เห็นหน้าหรือระบุไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นคือใคร แต่ครูเก้อก็ไม่อยากให้คนดูมาตัดสินเด็กคนนั้นจากช่วงเวลาสั้นๆ ในคลิป จึงต้องมีการไตร่ตรองเนื้อหาและความเป็นส่วนตัวอยู่เสมอ ทั้งความเห็นของครูและคนรอบตัว เพื่อให้มั่นใจว่าคลิปที่เผยแพร่ไป จะไม่มีดราม่าตามมาในภายหลัง
คอนเทนต์ที่เห็นจึงค่อนข้างเป็นธรรมชาติของตัวเด็ก จึงมีเด็กที่ได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วบ่อยๆ เพราะเป็นเด็กช่างพูด และเด็กบางคนค่อนข้างขี้อายก็อาจจะได้ยินลดหลั่นลงมาบ้าง
PDPA (Personal Data Protection Act) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นอีกหนึ่งคำได้ที่เราได้ยินอย่างแพร่หลายในช่วงหลังมานี้ ตัวกฎหมายนี้ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ป้องกันการละเมิด จัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน
สิ่งนี้ครอบคลุมทุกตัวบุคคล แน่นอนว่าย่อมคุ้มครองไปถึงเด็กๆ ด้วยความตั้งใจของครูเก้อ ที่อยากจะสนับสนุนต่อกฎหมาย PDPA และเคารพในสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในข้อ ‘สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง’ ครูเก้อจึงเลือกไม่เปิดเผยใบหน้าของเด็กๆ เลยแม้แต่คนเดียว
นอกจากนั้นยังขอความยินยอมจากผู้ปกครองและตัวเด็กเอง แม้จะไม่เปิดเผยใบหน้าและตัวตนของเด็กก็ตาม เราสามารถมองในมุมใจเขาใจเราได้เช่นกัน เวลามีใครโพสต์รูปที่มีเราอยู่ในนั้น เรายังเลือกที่จะให้ลงหรือไม่ให้ลง ให้แท็กหรือไม่ให้แท็ก เพราะเราต้องการได้รับความยินยอมก่อนรูปนั้นจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ แล้วทำไมเด็กจะไม่กังวลเรื่องนี้กัน?
“ขออนุญาตผู้ปกครองเรียบร้อยค่ะ มุมของผู้ปกครองจะมองว่า ขนาดพี่ๆ ออนไลน์ไม่เห็นหน้า ยังรักน้องๆ ขนาดนี้ ถ้าเห็นหน้าจะรักขนาดไหน แต่เก้อจะอธิบายให้เขาฟังว่าทำไมถึงไม่ได้ ด้วยความที่โรงเรียนครูอยู่ชนบท การจะไปอธิบายเรื่อง PDPA สิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก ผู้ปกครองอาจจะยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ เก้อจะอธิบายสั้นๆ หรือบอกว่าแค่ได้ยินเสียงก็น่ารักมากแล้วนะ”
เพราะสิ่งที่อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว มันจะสามารถทิ้งร่องรอยเอาไว้ไปได้ตลอดและอาจไปไกลกว่าที่เราคิดมาก Digital Footprint จึงสามารถวนกลับมาได้เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และอาจถูกเผยแพร่และบันทึกต่อๆ กันจากต้นฉบับ โดยที่เจ้าของภาพอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าใครมีภาพนี้อยู่ในมือบ้าง
เรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงความน่ากลัวของโลกอินเทอร์เน็ตหรือ Digital Footprint ที่จะติดตัวเด็กน้อยคนนั้นไป แต่เราอาจจะต้องย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของเรื่องว่าเด็กมีความยินยอมแค่ไหนในเรื่องนี้ ครูเก้อจึงให้ความเห็นว่า หากคุณครู บุคลลากรในโรงเรียนคนไหนจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับตัวเด็ก การไม่เปิดเผยใบหน้าของเด็กเลยจะเป็นทางที่ดีที่สุด ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลือกที่เราจะเลือกว่าทำหรือไม่เท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องเคารพในกฎหมายและสิทธิเด็ก
นอกจากเรื่องตัวบทกฎหมายแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะตามมาเมื่อครูเก้อเลือกไม่เปิดเผยใบหน้าเด็กๆ แล้ว นั่นคือความเป็นส่วนตัว ที่จะนำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิต
“พอคลิปเริ่มแมสขึ้นมา ก็มีคนเข้ามาทักทายเก้อบ้างเวลาอยู่ข้างนอก แต่เด็กๆ ที่เขายังแยกแยะไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่คนนี้มาด้วยจุดประสงค์อะไร เลยค่อนข้างเป็นห่วงมากกว่า กลัวจะเกิดเหตุที่ถูกล่อลวงได้”
ชื่อ ใบหน้า โรงเรียน โลเคชั่น ของเด็กๆ เป็นสิ่งที่ครูเก้อไม่เคยเปิดเผยเลย ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของเด็กๆ หากข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่ออกไป เท่ากับว่าคนที่เข้ามารับชมจะรู้ว่าเด็กหน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ในเวลาไหนบ้าง ซึ่งนั่นค่อนข้างสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาคุกคามตามมา
หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันทั่วไปก็ตาม หากมีใครเข้ามาพูดคุยกับเด็กๆ จำเด็กได้จากคลิปที่ลง เด็กๆ เองก็อาจจะแยกแยะไม่ได้ว่าใครคนนี้เข้ามาเพียงเพราะต้องการทักทายหรือมีจุดประสงค์แอบแฝง
เราพร่ำสอนเด็กๆ ในเรื่องความเป็นส่วนตัวอยู่เสมอ ให้คอยระแวดระวังหากใครมาแตะเนื้อต้องตัว มาละเมิดสิทธิ ละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ เราระแวดระวังสิ่งนี้จากคนรอบข้าง คนที่ไม่รู้จัก คนใกล้ตัวเด็กอย่างคุณครูเองจึงไม่ควรเป็นต้นเหตุของการเปิดเผยข้อมูลเด็กจนเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็กเสียเอง
นอกจากคอนเทนต์เด็กๆ ในรั้วโรงเรียนที่ต้องระมัดระวังแล้ว พ่อแม่เองก็อาจจะต้องระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลของลูกมากเกินไป จนทำให้มีใครเข้ามาประชิดตัวเด็กได้ เพราะรู้ข้อมูลว่าเด็กจะอยู่ที่ไหนเมื่อไหร่บ้าง
ความเป็นส่วนตัวจะนำมาซึ่งความปลอดภัย ตราบใดที่เด็กยังไม่อาจปกป้องตัวเองได้ และยังไม่อาจตัดสินใจด้วยตัวเอง 100% พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ย่อมมีหน้าที่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวเด็กด้วย