ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ขนมกับเด็ก’ คือของคู่กัน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบรรดาสินค้าที่เป็นขนมขบเคี้ยวหรือเครื่องดื่มนานาชนิด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกลุ่มที่แบรนด์อยากสื่อสารด้วยมากที่สุด และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า นี่คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กไทยจำนวนหนึ่งมีภาวะอ้วน
จากข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน จากการคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 นี่คือหนึ่งในข้อมูลที่ทำให้กรมอนามัย ได้ใช้อ้างอิงในการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีเนื้อหาโดยคร่าวคือ ผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ห้ามทำการตลาดหรือโฆษณาใดๆ ที่เป็นการกระตุ้นให้เด็กสนใจ โดย “เด็ก” ในที่นี้ หมายรวมถึงใครก็ตามที่อายุไม่ถึง 18 ปี
เกิดเป็นคำถามว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือหนึ่งในทางออกที่เหมาะสมที่สุดแล้วหรือไม่ ในยุคที่ข่าวสารข้อมูลไม่สามารถถูกปิดกั้นได้ในโลกออนไลน์ การไม่โฆษณา จะทำให้เด็กไม่เสียสุขภาพจากการบริโภคได้จริงหรือไม่ เราไปวิเคราะห์ประเด็นนี้กัน
ร่างพ.ร.บ. ควบคุม ในยุคโซเชียลฯ เบ่งบาน
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก จะเริ่มต้นมาด้วยเจตนาดีในการส่งเสริมให้เด็กไทย ห่างไกลจากโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคอ้วน ที่อาจเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม แต่รายละเอียดใน พ.ร.บ. ดังกล่าวคือการควบคุมการตลาดและการโฆษณาในทุกช่องทางทั้งบนโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการไม่ใช้ข้อความบนฉลากที่ดึงดูดให้เด็กสนใจ ห้ามแสดงถึงส่วนลดหรือคุณค่าด้านราคา ห้ามทำแคมเปญโปรโมชัน กระทั่งการชิงรางวัลต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือแม้แต่การห้ามนำสินค้าตัวอย่างไปให้ทดลอง
ความย้อนแย้งคือ พ.ร.บ. ควบคุมในลักษณะนี้ เกิดขึ้นในยุคที่โลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายดายแบบสุดๆ แม้ว่า พ.ร.บ. อาจจะครอบคลุมไปถึงการทำการตลาดผ่าน influencer ด้วยก็ตาม แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ ความเป็น user ที่พร้อมจะนำเสนอสิ่งที่ตนเองสนใจผ่านโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่สร้างอิทธิพลต่อการรับรู้ในวงกว้างได้มากที่สุด การปิดกั้นการทำการตลาดของแบรนด์ อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่แน่ว่าพลังของ user หรือผู้บริโภคเอง อาจกลายเป็นช่องทางในการทำตลาดรูปแบบใหม่ ที่สร้างการรับรู้และจูงใจได้มากกว่าแคมเปญการตลาดแบบเดิมก็เป็นได้
วุฒิภาวะกับอิสระในการแยกแยะด้วยตัวเอง
อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจ คือร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้กำหนดช่วงอายุในการควบคุมไว้ที่ต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงอายุที่มองได้ว่าสูงเกินความจำเป็น เพราะโดยทั่วไปแล้ว เด็กวัยรุ่นตอนต้นที่อายุเพียงแค่ 13 ปี ก็สามารถเสพสื่อและแยกแยะได้เองแล้วว่า ขนมและเครื่องดื่มไหนที่ทำลายสุขภาพ หรือการแยกแยะว่าอาหารชนิดไหนดีต่อสุขภาพได้แล้ว หากเปรียบเทียบกับการจัดเรตคอนเทนต์รายการในสื่อโทรทัศน์ของทีวีดิจิทัลไทยและ บริการสตรีมมิ่งบางราย มีการแบ่งช่วงอายุการรับชมของวัยรุ่นเหมือนกันคือ 13+ ส่วนเรต 18+ จะถูกจัดอยู่ในหมวดรายการสำหรับผู้ใหญ่แล้ว
เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรปิดกั้นจำกัดสิทธิหรือปิดกั้นอิสระในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงการจำกัดการโฆษณา ทำให้ขาดโอกาสในการเปรียบเทียบข้อมูล และตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเองได้
แก้ปัญหายั่งยืน ต้องไม่ปิดกั้น
ด้วยเหตุผลข้างต้นการควบคุมการทำการตลาดและโฆษณา อาจไม่ใช่ทางออกทั้งหมดในการแก้ปัญหาสุขภาพของเด็กและเยาวชน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เรียกว่าเกือบจะเป็นปลายทางหรือการหักดิบ ที่ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างแท้จริง เพราะปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญอย่างเช่น พันธุกรรม ความเครียด กิจวัตรประจำวัน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ ไปจนถึงแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายเป็นประจำ รวมไปถึงการมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
แม้ว่าเหตุผลในการร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวจะเริ่มต้นมาจากเจตนาที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน แต่ปลายทางของผลลัพธ์อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่ต้องการ เพราะการส่งเสริมสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ควรเป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการดูแลสุขภาพและการกินอย่างเข้าใจ ไม่ใช่การปิดกั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ควรให้ความร่วมมือ ในการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจนหรือปรับสูตร เพื่อเพิ่มทางเลือกในผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายแก่ผู้บริโภค และการตัดสินใจในเรื่องโภชนาการตามความต้องการได้
*ล่าสุดร่างพ.ร.บ. อยู่ระหว่างการปรับแก้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thansettakij.com/business/economy/599972
https://anamai.moph.go.th/th/news-anamai/43383
https://www.thaipbs.or.th/news/content/348066